เอกลักษณ์แห่งรัชสมัย ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ความหมายนัยแห่งองค์พระประมุข

‘ตราพระราชลัญจกร’ คือตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อเริ่มต้นรัชกาลในแต่ละรัชกาล เพื่อทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานราชการแผ่นดิน 

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระราชลัญจกรนี้ประกอบด้วยพระเอกลักษณ์อันเป็นนัยของแต่ละพระองค์ เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความเป็นพระประมุขของชาติ พระอิสริยยศ พระบรมเดชานุภาพ โดยผมได้เรียบเรียงมานำเสนอ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ ก.ค. ๒๕๖๗ ไล่เรียงจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้…

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปปทุมอุณาโลมมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ‘ด้วง’ จึงได้ใช้อักขระ ‘อุ’ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธยอยู่กลางล้อมรอบด้วยกลีบบัว อันเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๓๒๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุตนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ฉิม’ ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือพญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่งแต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติสถิตอยู่ ณ วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุตนาคเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ นอกจากนั้นยังปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้ เช่นเดียวกับในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘ทับ’ หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระปรมาภิไธย ทรงใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และมีปรากฏใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ เช่นเดียวกัน 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางพระราชลัญจกรเป็นรูป ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘มงกุฎ’ ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายา ที่ทรงผนวชว่า ‘วชิรญาณ’ ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏในเงินพดด้วงและเงินเหรียญกษาปณ์ นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระราชลัญจกรไปสลักหรือปั้นนูนเพื่อประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่พระองค์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลางพระราชลัญจกรมีพระราชสัญลักษณ์สำคัญคือ ‘พระเกี้ยว’ คือพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธย ‘จุฬาลงกรณ์’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘ศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ’ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่นสุริยกานต์ ข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์และสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่ง ‘ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน’ เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ประกอบด้วย ‘วชิราวุธ’ มีรัศมีเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘วชิราวุธ’ ซึ่งหมายความถึง ‘ศัตราวุธของพระอินทร์’ เรียกว่าพระราชกัญจกรพระวชิระประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวบริวาร ๒ ข้าง ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ทั้งยังใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวชิรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ทรงให้ใช้ปักบนธงเครื่องหมายประจํากองเสือป่า ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งยังเชิญไปประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรีเรียกว่า ‘พระราชลัญจกรพระแสงศร’ รูปพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศร ๓ องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ประชาธิปกศักดิเดชน์’ ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่า ‘เดชน์’ แปลว่า ‘ลูกศร’ ส่วนเบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีลักษณะเป็นรูปกลมโดยมีรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึง ‘แผ่นดิน’ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้างเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘อานันทมหิดล’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน’ พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยความยินดีของประชาชนชาวไทย เปรียบประหนึ่งพระองค์เป็น ‘พระโพธิสัตว์’ เสด็จฯ มาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นรูปกลมรีแนวตั้ง ประกอบด้วยรูป ‘พระที่นั่งอัฐทิศ’ ประกอบด้วยวงจักร ตรงกลางจักรมีอักขระเป็น ‘อุ’ หรือ ‘เลข ๙’ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ซึ่งแตกต่างจากรัชกาลก่อน ๆ 
.
พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรานี้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมพระราชทานนาม ‘ราชภัฏ’ แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งหมายถึง ‘คนของพระราชา’ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในเครือ ทั้งยังมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นภาพประธานในตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีลักษณะเป็นรูปกลมรี โดยประกอบด้วย ‘พระวชิระ’ คือ เทพศาสตราของพระอินทร์ นอกจากนี้ยังแปลว่า ‘สายฟ้าและเพชร’ นอกจากนั้นยังมีแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยด้านบนของพระวชิระมี ‘พระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงแทนคำว่า ‘อลงกรณ์’ ซึ่งแปลว่า ‘เครื่องประดับ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ‘มหาวชิราลงกรณ’ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวารอยู่ทั้ง ๒ ข้าง 

พระราชลัญจกรนอกจากเนื้อหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้นยังเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในหมวดพระราชสิริซึ่งประกอบด้วย พระสุพรรณบัตร ดวงพระราชสมภพและ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ซึ่งจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพระราชลัญจกรประจำรัชกาลต่าง ๆ ในมหาจักรีบรมราชวงศ์


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager