‘รามัญประเทศ’ จาก ‘สุธรรมวดี’ สู่ ‘หงสาวดี’ ร่องรอยอาณาจักรสำคัญสู่ชนกลุ่มน้อยแห่งสุวรรณภูมิ

'มอญ' เป็นชนชาติเก่าแก่ ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่ากินเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" โดยอาณาจักรเริ่มแรกของมอญ มีตำนานกล่าวว่าเริ่มต้นขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แถบแคว้นมณีปุระ โดย 'พระเจ้าติสสะ' มีเมืองหลวงชื่อ 'ทูปินะ' 

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 241 เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระโอรสของพระเจ้าติสสะ 2 พระองค์จึงรวบรวมไพร่พลอพยพลงเรือสำเภามาถึงยังบริเวณอ่าวเมาะตะมะซึ่งเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาเกลาสะ ชัยภูมิเหมาะสมแก่การสร้างเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันข้าศึกได้ดี จึงลงหลักปักฐานสร้างเมืองใหม่จนรุ่งเรืองด้วยการค้าขาย และมีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา ทั้งรับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์และศาสนา 

ซึ่งความเจริญนั้นกระจายตัวอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ครอบคลุมเมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดี เมืองเมาะตะมะ และเมืองพะโค หรือหงสาวดี โดยเมืองทั้ง 3 นี้ มีความเจริญก่อตัวเป็นรูปธรรมไล่เลี่ยกับอาณาจักรทวาราวดี ทางฝั่งไทย แต่ทั้ง 3 เมือง ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า 'ดินแดนสุวรรณภูมิ' 

ก่อนที่ 'พระเจ้าสีหะราชา' บุตรบุญธรรมของพระราชโอรสในพระเจ้าติสสะ ได้สถาปนาอาณาจักรมอญขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีชื่อว่า 'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' จากจารึกกัลยาณี กล่าวว่า มีเมืองหลวงอยู่ ณ ตีนเขาเกลาสะ ทางใต้ของเมืองสะเทิมมีพระเจดีย์ชเวซายัน บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ในกัลป์นี้ รวมถึงองค์ที่พระควัมปตินำมาจากลังกา ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญทั้งในด้านการค้าขาย ด้านการเกษตร ด้านการชลประทาน และด้านศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งทั้งคนมอญและคนพม่าเชื่อว่า พระโสณะ พระอุตตระ ได้นำพระพุทธศาสนามาประกาศที่สุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิที่ว่าก็คือ 'สะเทิม' หรือ 'สุธรรมวดี' อันมีพื้นที่ครอบคลุมจากสะเทิมไปจรดอาณาจักรทวาราวดี 

'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' ถือได้ว่าเป็น 'รามัญประเทศ' ยุคแรก มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาถึง 59 พระองค์ เริ่มจาก 'พระเจ้าสีหะราชา' มาจนล่มสลายในสมัยของ 'พระเจ้ามนูหะ' ราวปี พ.ศ.1600 สืบเนื่องมาจากการรุกราน 'พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1' ของเขมร ได้เข้ายึดครองลพบุรี ก่อให้เกิดการอพยพใหญ่ของมอญทวารวดีเข้าสู่หงสาวดีและสะเทิม จากนั้นพวกเขมรก็เลยคืบเข้ามา จนทำให้ 'พระเจ้ามนูหะ' ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก 'พระเจ้าอโนรธา' แห่งอาณาจักรพุกามให้ยกทัพมาช่วยต้านทานกองทัพเขมร แต่ 'พระเจ้าอโนรธา' กลับฉวยโอกาสยึดครองอาณาจักรสะเทิม โดยปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า “พระองค์รับสั่งให้ยกทัพมายังกรุงสะเทิม นำพระไตรปิฎก นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลป์ และจับตัวพระเจ้ามนูหะกษัตริย์แห่งกรุงสะเทิมพร้อมด้วยพระมเหสีกลับไปพุกาม เมื่อยึดได้แล้วก็ถือโอกาสขยายอำนาจเข้ามาจนถึงลพบุรี ทั้งนี้ภายหลังพม่ายอมคืนลพบุรีให้เขมร โดยมีข้อแม้ว่าเขมรต้องยอมรับอำนาจเหนือดินแดนที่พม่าตีได้” 

ยุคที่สองของ 'รามัญประเทศ' คือยุค 'ราชวงศ์เมาะตะมะ-หงสาวดี' หรือ 'ยุคอาณาจักรหงสาวดี' เมื่ออาณาจักรพุกามอ่อนแอลงจากการรุกรานของมองโกล พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพุกามและสถาปนา 'อาณาจักรหงสาวดี' มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ อีกทั้งยังมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพราะพระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัยซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมากในเวลานั้น 

ต่อมาในสมัย 'พญาอู่' ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี มาจนถึงยุคราชบุตรของพระองค์คือ 'พระเจ้าราชาธิราช' พงสาวดีในยุคของพระองค์ประสบภาวะสงครามเกือบตลอดรัชสมัย โดยเฉพาะกับ 'อาณาจักรอังวะ' ในสมัยของ 'พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง' แต่พระเจ้าราชาธิราชทรงใช้พระราโชบายยุยงให้อังวะกับรัฐต่าง ๆ แตกกัน จึงสามารถป้องกันอาณาจักรไว้ได้ โดยในสมัยของ 'พระเจ้าราชาธิราช' นั้น แม้จะมีสงครามเกือบตลอดเวลา แต่อาณาจักรหงสาวดีก็เป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอลจากแม่น้ำอิรวดี ไปจรดทางตะวันออกที่แม่น้ำสาละวิน 

อาณาจักรมอญยุคนี้มาเจริญสูงสุดในสมัยของ 'พระนางเชงสอบู' ต่อด้วยสมัย 'พระเจ้าธรรมเจดีย์' เนื่องจากในระยะนั้นพม่าตกอยู่ในภาวะสงครามภายใน ทำการสู้รบกันเอง มอญจึงมีโอกาสในการทะนุบำรุงประเทศอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ กิจการในพุทธศาสนา ได้แก่ การบูรณะองค์พระเจดีย์ชเวดากอง การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต มีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม 

มอญในยุคหงสาวดีต้องสิ้นสุดลงในสมัยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' เพราะถูกพม่าแห่ง 'ราชวงศ์ตองอู' นำโดย 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' และขุนศึกคู่พระทัยอย่าง 'บุเรงนอง' บุกประชิดถึง 3 ครั้ง จนขาดกำลังในการต้านทาน อีกทั้งพันธมิตรอย่าง 'สอพินยา' เจ้าเมืองเมาะตะมะ ที่เป็นพี่เขยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' ก็แข็งเมืองไม่นำกำลังมาช่วย (ก่อนที่ 'สอพินยา' จะโดนกองทัพตองอูสังหารในเวลาต่อมา)  หงสาวดีจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าใน พ.ศ. 2082 โดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้รวมมอญกับพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน ด้วยการรับอารยธรรมต่าง ๆ ของมอญมาใช้ในราชสำนักพม่า ให้ชาวมอญเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ ของกองทัพ รวมทั้งย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงหงสาวดี 

ยุคที่สาม 'ยุคอาณาจักรหงสาวดีใหม่' หลังจากสมัยของ 'พระเจ้าบุเรงนอง' แห่งราชวงศ์ตองอู ชาวมอญไม่สามารถทนการกดขี่ข่มเหงจากพม่าได้อีก จึงได้เกิดกบฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายราชวงศ์ตองอู ขณะที่พม่าต้องทำสงครามทั้งกับจีนฮ่อและไทย มอญได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพลก่อการโดยมีผู้นำคือ 'สมิงทอพุทธิเกษ' (หรือพุทธิกิตติ) กู้เอกราชคืนมาจากพม่าพร้อมประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ. 2283 ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอังวะเพื่อทำลายล้างอาณาจักรพม่าที่อังวะซึ่งกำลังอ่อนแอให้สิ้นซากแต่ทำไม่สำเร็จแต่ก็ได้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของพม่าไว้ได้ทั้งหมด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2290 'พญาทะละ' ได้ยึดอำนาจสมิงทอพุทธิเกษ พร้อมทั้งได้ขยายอาณาเขตของหงสาวดีออกไปอย่างกว้างขวาง สามารถยึดพม่าตอนบนได้ใน พ.ศ. 2294 บุกเข้ายึดอังวะได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2294 เชื้อพระวงศ์อังวะถูกจับไปพะโค ซึ่งดูเหมือนว่ามอญกำลังจะรวมพม่าเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมอญได้สำเร็จ แต่ความประมาทอย่างหนึ่งที่กลายเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของหงสาวดี อันเป็นปัจจัยทำให้พม่าสามารถพลิกฟื้นและตีกลับได้ก็คือการรีบยกทัพกลับพะโคหลังจากได้ชัยชนะ โดยทิ้งกองทัพไว้เพียงสามกองทัพเพื่อต้านการลุกฮือของพม่า 

จากความผิดพลาดที่กล่าวมา ทำให้หัวหน้าหมู่บ้านชเวโบ (หรือมุกโชโบ) ชื่อ 'อองไชยะ' กล้าที่จะนำสมัครพรรคพวกเข้าตีกองทหารมอญที่ 'พญาทะละ' ทิ้งไว้จนแตกยับเยิน และแม้พญาทะละจะส่งกองทัพมอญไปสู้อีกกี่ครั้งก็ถูกต้านทานและได้รับความเสียหายกลับมาทุกครั้ง อีกทั้งทัพพม่าก็ได้ขยายตัวขึ้นเป็นกองทัพขนาดใหญ่และเข้มแข็ง เข้ารุกคืบ ยึดพื้นที่ตอนเหนือคืนไว้ได้เป็นส่วนมาก จากนั้น 'อองไชยะ' จึงได้สถาปนาราชวงศ์พม่าขึ้นใหม่คือ 'ราชวงศ์โก้นบอง' (คองบอง) พร้อมกับสถาปนาตนเองเป็น 'พระเจ้าอลองพญา' เพื่อนำพม่าต่อสู้กับมอญ 

เมื่อตีเท่าไหร่ก็ไม่แตก ทางทัพมอญจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีป้องกันเขตแดน โดยพยายามยึดพื้นที่ทางใต้เพื่อแสดงความเป็น 'รามัญประเทศ' ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังออกกฎต่าง ๆ เพื่อให้ไม่มีความเป็นพม่าอยู่ในพื้นที่ ทั้งประหารเจ้านายพม่าข้างอังวะ และเชื้อพระวงศ์ตองอูจนหมดสิ้น ทั้งยังบังคับให้พม่าทางใต้แต่งกายให้เป็นมอญทั้งหมด 

แต่เพียงแค่การป้องกันคงไม่เป็นผล เพราะในปี พ.ศ. 2295 พระเจ้าอลองพญา นอกจากจะยึดพม่าตอนบนไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ยังรุกคืบมาลงมายังพม่าทางใต้เรื่อย ๆ จนถึง ปี พ.ศ. 2300 อาณาจักรมอญก็ได้ปิดฉากลง โดยมี 'พญาทะละ' เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญ เพราะมอญต้องพ่ายแพ้อังวะอย่างราบคาบ จนคนมอญต้องอพยพหนีตายไปทั่วสารทิศ ในการณ์นี้ 'พระเจ้าอลองพญา' ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือมอญ โดยการเปลี่ยนชื่อ 'เมืองพะโค' จาก 'พะโค' ไปเป็น 'ย่างกุ้ง' ซึ่งแปลว่า 'สิ้นสุดสงคราม' ทำให้ 'รามัญประเทศ' ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวมอญกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน 


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager