Monday, 6 May 2024
ฮ่องกง

เว็บเทรด ‘Hotbit’ ของฮ่องกง ประกาศยุติให้บริการ หลังบริษัทประสบปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2022

เมื่อวาน 22 พ.ค. 66 Hotbit กระดานเทรด Crypto ที่จดทะเบียนในฮ่องกง ประกาศว่า จะยุติการดำเนินงานในวันที่ 22 พฤษภาคม และขอให้ผู้ใช้บริการทำการถอนเงินออกก่อนเวลา 11.00 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคมตามเวลาไทย

สำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ บริษัทได้ให้เหตุผลว่า การดำเนินงานของบริษัทเริ่มย่ำแย่ลง หลังจากอดีตสมาชิกทีมคนหนึ่งถูกสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022 และบริษัทถูกสั่งให้ยุติการดำเนินธุรกิจเป็นเวลาหลายสัปดาห์

Hotbit ยังได้อ้างถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในวงการ Crypto ด้วยว่า สถานการณ์เหล่านั้นก็ส่งผลต่อบริษัทด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการล่มสลายของ FTX และวิกฤตการธนาคารที่ส่งผลให้ USDC หลุด Peg ทำให้เงินทุนของบริษัทไหลออกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ทีมของ Hotbit ยังเชื่อด้วยว่า กระดานเทรดแบบรวมศูนย์ ‘มีความยุ่งยากมากขึ้น’ และ ‘ดูเหมือนว่าจะไม่ตอบสนองต่อเทรนด์แนวโน้มในระยะยาว’ พร้อมกล่าวว่า หนทางเดียวในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การทำให้กระดานเทรดมีความกระจายศูนย์ หรือยอมรับกฎระเบียบต่าง ๆ

บริษัทยังได้กล่าวโทษการโจมตีทางไซเบอร์และการใช้ประโยชน์จาก ‘โปรเจกต์ที่มีข้อบกพร่องโดยผู้ไม่ประสงค์ดี’ ที่ส่งผลให้กระดานเทรดแห่งนี้เดินทางมาถึงคราวล่มสลาย

หลังจากการประกาศนี้ถูกเผยแพร่ คนในชุมชน Crypto หลายคนได้ออกมาบ่นตัดพ้อว่า พวกเขาไม่สามารถถอนเงินออกจากกระดานเทรดได้
 

แอร์สาวสายการบินดังของฮ่องกง ดูถูกผู้โดยสารจีน บอกจะไม่ให้ผ้าห่ม หากผู้โดยสารพูดภาษาอังกฤษไม่ได้‼

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 โลกโซเชียลได้แชร์เรื่องราวสุดดรามา ที่กำลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโซเชียลจีนอยู่ในขณะนี้ ถึงเรื่องของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน ‘คาเธ่ย์ แปซิฟิค แอร์ไลน์’ (Cathay Pacific Airlines) หรือภาษาจีน คือ ‘国泰航空’ เป็นสายการบินของฮ่องกง ได้ใช้ถ้อยคำดูถูกผู้โดยสารจีนที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ โดยระบุว่า…

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2023 บนเที่ยวบิน CX987 จาก เฉิงตู เดินทางไปยังฮ่องกง ได้มีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 3 คน ที่ได้แสดงพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ และเหยียดผู้โดยสารชาวจีน ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

เนื่องจากผู้โดยสารชาวจีน ต้องการผ้าห่ม จึงขอกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่กลับโดนพนักงานตอบกลับมาว่า “Can You Speak English?” “If you cannot say blanket in English , you cannot have it”

แปลเป็นไทยคือ “คุณพูดอังกฤษได้มั้ย ถ้าพูดไม่ได้ คุณก็จะไม่ได้ผ้าห่มไปหรอก”

ซึ่งทางผู้โดยสารจีนรายนี้ก็พยายามนึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษ และพูดขึ้นมาว่า ‘Carpet’ ซึ่งแปลว่า ‘พรม’

ปรากฏว่ากลับโดนแอร์สาวบนเครื่อง หัวเราะขบขันด้วยความตลก แล้วแอร์สาวก็พูดภาษาอังกฤษตอบไปว่า “Carpet is on the floor” (พรมก็อยู่ที่พื้นไง)

ปรากฏว่ามีผู้โดยสารท่านอื่นที่เห็นเหตุการณ์ ก็ได้อัดคลิปเสียงสนทนานั้นเอาไว้ แล้วก็โพสต์ลงโซเชียลจีน ว่าตนรู้สึกแย่มากๆ ทำไมแอร์โฮสเตส ต้องปฏิบัติแย่ๆ กับคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แบบนี้ด้วย

ล่าสุดกลายเป็นประเด็นร้อน มีชาวจีนจำนวนมากต่างออกมาประนามสายการบินคาเธ่ แปซิฟิก และจะร่วมกันแบนสายการบินนี้ไม่ขอใช้บริการอีก

ร้อนถึงทางสายการบินต้องรีบออกมาประกาศชี้แจงและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประกาศปลดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้ง 3 คน ให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานแล้ว

ในส่วนความคิดเห็นชาวจีน มีหลายความเห็นออกมาแชร์ประสบการณ์ว่า ตนก็เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ เมื่อบินกับสายการบินนี้มาแล้ว ส่วนตัวคิดว่าแย่มากๆ ที่พนักงานมีทัศนคติแย่ๆ แบบนี้ และสายการบินทำถูกแล้ว ที่รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม

'ฮ่องกง' จัดงานเฉลิมฉลองคืนสู่มาตุภูมิจีนครบ 26 ปี ประชาชนร่วมชม 'ศิลปะ-วัฒนธรรม' สุดประทับใจ

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกวันสำคัญของชาวจีน-ฮ่องกง เพราะเป็นวันครบรอบ 26 ปีที่ฮ่องกงส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่มาตุภูมิของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ซึ่งบรรยากาศตามถนนสายต่าง ๆ ในฮ่องกงยังคงเงียบสงบ และไม่ได้มีการวางแผนชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแต่อย่างใด

โดยในวันดังกล่าวได้มีพิธียกธงขึ้นเสาที่จัดขึ้น ณโกลเด้น โบฮิเนีย สแควร์ (Golden Bauhinia Square) ซึ่งมีนายจอห์น ลี ผู้นำฮ่องกงและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนเข้าร่วม

สำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 26 ปี การกลับคืนสู่มาตุภูมิของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน คณะผู้จัดงานได้เชื้อเชิญมณฑลส่านซี ซานตง และเหลียวหนิงของแผ่นดินใหญ่ของจีน พร้อมด้วยบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายแห่งในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า มาร่วมจัดนิทรรศการและการแสดงที่สวนสาธารณะวิคตอเรียพาร์กของฮ่องกง

งานดังกล่าวนำเสนอผลงานศิลปะโดดเด่นและกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลายรายการที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โซนนิทรรศการของมณฑลส่านซีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสวัฒนธรรมยุคราชวงศ์ถังโบราณของจีน

(บันทึกภาพวันที่ 30 มิ.ย. 2023)

‘ICAC’ สุดยอดหน่วยปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน ผู้ปัดกวาดเกาะฮ่องกง ลบภาพจำดินแดนแห่งการคดโกง

‘ICAC’ (The Independent Commission Against Corruption) ของฮ่องกง… สุดยอดต้นแบบแห่งการปราบปรามคอร์รัปชันทุจริตโกงกิน

การปราบปรามการทุจริตโกงกินของประเทศใด ๆ ก็ตาม ไม่มีวันที่จะสำเร็จหากหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของประเทศนั้น ๆ ทำงานในเชิงรับ (Defensive) ตัวอย่างที่ดีที่สุดและพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ถึงความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก (Offensive) ก็คือหน่วยงานปราบปรามทุจริตของฮ่องกง อย่าง ‘ICAC’ ซึ่งทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด นับแต่ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นในเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) เลยขอนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงเรื่องราวของ ICAC ซึ่งยาว แต่มีประโยชน์มากครับ

การปราบปรามการทุจริตของฮ่องกงเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันกรณีหนึ่งของโลก ด้วยเหตุที่ฮ่องกงในอดีตเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่า แค่ย่างเท้าก้าวออกจากบ้านก็ต้องจ่าย สินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อยคนหนึ่ง (ฮ่องกงในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ฮ่องกงจึงกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และกลายเป็น ‘เขตปกครองพิเศษ’ ภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นแห่งแรกของจีน)

ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 รัฐบาลอังกฤษส่ง Sir. Murray MacLehose มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (Governor of Hong Kong) ผลงานชิ้นสำคัญของ MacLehose คือ การตั้งหน่วยงานปราบปรามการทุจริต ขึ้นเมื่อ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) หน่วยงานนี้มีชื่อว่า ‘Independent Commission Against Corruption’ หรือ ‘ICAC’ ความสำเร็จของฮ่องกงที่กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ เป็นสวรรค์ของบรรดานักช้อปทั้งหลาย มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั้นถือเป็นยุคที่บูมสุด ๆ ของเกาะแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลงานของ ICAC

‘ICAC’ เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อปราบปรามและป้องกันการทุจริต โดยมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการปัดกวาด กำจัดการทุจริตโกงกินที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้จนสะอาดสะอ้าน ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันบรรเทาเบาบางลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ จนเกาะสะอาดแห่งนี้คว้าตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคมาครองได้ในที่สุด ซึ่งนับเนื่องมาถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้วที่องค์กรนี้มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตามภารกิจนี้มา

เดิมการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในฮ่องกง เป็นเพียงแผนกหนึ่งของกรมตำรวจฮ่องกง แต่ทว่า ตำรวจฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ขึ้นชื่อในเรื่องการเรียกร้องสินบนมากที่สุด ชนิดชาวบ้านร้านตลาดต่างเอือมระอา ภาพลักษณ์ตำรวจฮ่องกงในยุคนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘โจรในเครื่องแบบ’ ที่รีดไถเก็บค่าคุ้มครองสุจริตชน หนำซ้ำยังอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มมาเฟีย โดยแลกกับผลประโยชน์จากการรับส่วย สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ทำให้ชาวฮ่องกงมีต้นทุนในการดำรงชีวิตแพงขึ้น เพราะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการใช้บริการภาครัฐ หรือไม่ก็แลกกับการที่ผู้รักษากฎหมายจะไม่มากลั่นแกล้ง หรือยัดเยียดข้อหาให้ ฮ่องกงกำลังตกอยู่ในสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างฮวบฮาบของจำนวนประชากร และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ล้วนเป็นตัวเร่งเร้าจังหวะก้าวของการพัฒนา ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ภาครัฐเองในเวลานั้น ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ดูจะไม่มีวันอิ่มของจำนวนประชากร ที่นับวันจะขยายตัวยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เช่นนี้เอง ที่เป็นเสมือนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่เหล่าผู้คนประเภทไร้ศีลธรรมทั้งหลาย หลายคนได้หันไปใช้วิธีที่เรียกว่า ‘เข้าหลังบ้าน’ เพียงเพื่อยังชีพ และให้ได้มาซึ่งสิ่งพิเศษนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ‘เงินค่าน้ำร้อนน้ำชา’, ‘เงินสกปรก’, ‘เงินเก๋าเจี๊ยะ’ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ จึงไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่คนฮ่องกงคุ้นเคย แต่ต้องจำใจยอมรับมันว่าได้กลายเป็น ‘วิถีชีวิตอันไม่อาจปฏิเสธได้’ ไปเสียแล้ว

ในสมัยนั้น คอร์รัปชันได้ลุกลามไปทั่วในภาคเอกชนของฮ่องกงไม่ว่าจะเป็นพวกห้างร้านต่างๆ ก็ต้องจ่ายเงินให้พนักงานดับเพลิงเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าคนพวกนี้จะโผล่หน้ามาตอนเกิดไฟไหม้จริงๆ หรือเวลายื่นคำร้องขอติดตั้งโทรศัพท์บ้านสักเครื่องก็ต้องจ่ายค่า ‘หยอดน้ำมัน’ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ ‘โทรศัพท์’ มาใช้งาน พนักงานรถพยาบาลก็ไม่วายเรียกร้องเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาก่อนจะออกไปรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หรือแม้แต่นางพยาบาลเองยังเรียกร้องเงินค่า ‘ทิป’ ก่อนจะหยิบกระโถนฉี่ หรือเอาน้ำสักแก้วมาบริการผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย มันเป็นไปได้ถึงเพียงนี้คิดดูเถิด การหยิบยื่นเงิน ‘เก๋าเจี๊ยะ’ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ถูกคน ยังเป็นเรื่องจำเป็นในการติดต่อเพื่อเช่าแฟลตการเคหะ ฝากลูกเข้าโรงเรียน รวมทั้งเพื่อความคล่องตัวในการติดต่อราชการอีกสารพัดเรื่อง 

ปัญหาคอร์รัปชันได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในฮ่องกงเรื่อยมา ทว่ารัฐบาลในสมัยนั้นดูเหมือนจะไร้น้ำยาที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ ความอดทนของประชาชนต่อเรื่องนี้นับวันจะน้อยลงๆ ทุกที หลายคนจึงเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจโจมตีความไม่เอาไหนของรัฐฯ ในการจัดการกับปัญหานี้ ในช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่ 1970 ปรากฏว่าผู้คนในสังคมได้รวมพลังกันแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานี้กันอย่างแข็งขัน จนเกิดเป็นพลังทางสังคมที่รัฐฯ ไม่อาจทำเป็นหูทวนลมต่อไปได้ สาธารณชนได้ทำการกดดันฝ่ายบ้านเมืองชนิดกัดไม่ปล่อย เพื่อให้รัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรการอันเฉียบขาดในการสะสางปัญหาอันเรื้อรังนี้เสียที

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ผู้ก่อตั้งหน่วย ICAC

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกง) ในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่ง 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982)) ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลความจำเป็น ที่จะต้องจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริต ในสุนทรพจน์ของเขาที่แสดงต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) จนในที่สุดได้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการอิสระป้องกันและปราบปรามการทุจริต’ หรือ ‘Independent Commission Against Corruption’ (ICAC) ขึ้นมาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974)

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของฮ่องกง คือ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจ หรือตระหนักถึงอันตรายของปัญหาคอร์รัปชัน และมองว่าเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติจนทำให้มีส่วนร่วมในการปราบคอร์รัปชัน ทั้งภายในองค์กรของตัวเอง และที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐมากขึ้น องค์กรธุรกิจภาคเอกชนที่ไปขอคำแนะนำเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันจาก ICAC มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2537 ICAC เริ่มรณรงค์เรื่องจริยธรรมทางธุรกิจและต่อมาอีก 18 เดือนมีบริษัทและสมาคมการค้ากว่า 1,200 แห่ง ประกาศเรื่องประมวลจรรยาบรรณของบริษัท (Code of conduct)

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ฮ่องกงประสบความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน : 

ปัจจัยแรก การยอมรับสภาพปัญหาและความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล ทำให้ความพยายามในการปราบปรามคอร์รัปชันได้ผลคือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดตระหนักถึงความเลวร้ายของปัญหาคอร์รัปชัน และมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเน้นว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะต้องใช้เวลาแก้ไขอย่างต่อเนื่องมากกว่ามาตรการระยะสั้น อย่างกรณีของฮ่องกง ข้าหลวงใหญ่เป็นผู้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอิสระ เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชัน (ICAC) โดยตรง และตั้งเป็นองค์กรอิสระจากการแทรกแซงการเมือง เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อถือ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างองค์กรนี้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการคัดเลือกและตรวจสอบพนักงานอย่างมีคุณภาพ ให้เงินเดือนและสวัสดิการสูง เพื่อให้เป็นองค์กรที่อยู่ได้อย่างยาวนาน ต่างจากการรณรงค์การปราบปรามการคอร์รัปชันระยะสั้นในหลายประเทศ ซึ่งมักเป็นการหาเสียงทางการเมือง มากกว่าจะมีความจริงใจในการปราบปรามการคอร์รัปชัน และทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

ปัจจัยที่ 2 การมีองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส คือ ICAC ของฮ่องกงจะมีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานอย่างเข้มงวดมาก ๆ คือจะต้องคัดเลือกคนที่เก่ง ทั้งมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์สูง เจ้าหน้าที่ของ ICAC จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการสูง แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวตามวินัย และมีการตรวจสอบภายในอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกเย้ายวนใจให้เป็นผู้คอร์รัปชันเสียเอง ในบางประเทศที่เจ้าหน้าที่ด้านนี้มีอำนาจมากอาจเป็นดาบสองคม หากพวกเขาหลงทางใช้อำนาจไปในทางที่ผิดได้ จะทำให้การปราบปรามคอร์รัปชันไม่ได้ผล

ปัจจัยที่ 3 การมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีการวางแผนที่ดี คือ มียุทธศาสตร์ในการจัดปราบคอร์รัปชันระยะยาวที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ สงครามปราบคอร์รัปชันไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการจับกุม ลงโทษผู้ทำคอร์รัปชันและปรับปรุงกลไกการทำงานของราชการ สิ่งที่จำเป็น คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนขั้นพื้นฐานด้วย ยุทธศาสตร์ในการปราบปรามคอร์รัปชันของฮ่องกง คือ การทำสงครามด้านคอร์รัปชัน 3 ทางพร้อมกันแบบบูรณาการ คือ การสอบสวน การป้องกัน และการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทางแรก มีหน่วยปฏิบัติการที่ทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับรายงานหรือมีการร้องเรียนเข้ามา ทางที่ 2 มีหน่วยป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกัน เพื่อลดโอกาสในการคอร์รัปชัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทางที่ 3 มีหน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชนทำงานด้านให้การศึกษา ให้ประชาชนตระหนักถึงความเลวร้ายของคอร์รัปชัน และแสวงหาการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพลเมืองด้วย ‘หน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชน’ (Community Relations Department) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราว 200 คน ตั้งขึ้นมาด้วยความตระหนักว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติประชาชนเรื่องการคอร์รัปชันให้ได้เท่านั้น จึงจะสามารถปราบคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่โตลึกซึ้งได้อย่างแท้จริง งานที่หน่วยนี้ทำ คือ พยายามอธิบายกฎหมายการต่อต้านสินบนให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ ให้การศึกษาเด็กนักเรียนที่โรงเรียน และกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชัน ด้วยการรายงานข่าวหรือข้อสงสัยเรื่องการคอร์รัปชันให้องค์กร ICAC ทราบ

การที่จะทำเช่นนี้ได้เจ้าหน้าที่จะต้องมียุทธวิธีเฉพาะและทำงานใกล้ชิดกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน จนกระทั่งประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงจะเป็นกำลังที่สำคัญในการยกระดับทางศีลธรรม และปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กรภาคเอกชนที่จะช่วยป้องกันการคอร์รัปชัน ความสำเร็จด้านหนึ่งขององค์กร ICAC คือ การที่องค์กรทำให้สาธารณชนเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลง และเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

การทำงานในด้านการสอบสวนและลงโทษผู้ทำผิดได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนเชื่อถือองค์กร ICAC และช่วยรายงานข้อมูลมาให้องค์กร ICAC มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือในการป้องกันคอร์รัปชันมากขึ้น แม้ 3 หน่วยนี่จะทำงานคนละด้าน แต่ก็มีความร่วมมือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะการทำงานประสบความสำเร็จของแต่ละหน่วยนั้น จะช่วยให้หน่วยอื่น ๆ ทำงานได้สำเร็จมากขึ้น

ปัจจัยที่ 4 การใส่ใจต่อรายงานข้อร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันทุกฉบับ ปัจจัยที่จะทำให้ประชาชนไว้วางใจ และร่วมมือในการรายงานร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันมาที่ ICAC ก็คือ ICAC จะรับและติดตามสอบสวนรายงานที่ประชาชนร้องเรียนมาทุกเรื่อง แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยและจะตอบให้ประชาชนทราบด้วยว่า เรื่องที่ร้องเรียนมานั้นสอบสวนไปถึงไหน ผลเป็นอย่างไร เพื่อที่ประชาชนจะได้ไว้วางใจว่า เรื่องที่พวกเขาร้องเรียนไปไม่ได้หายเข้ากลีบเมฆ และประชาชนจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยรายงานให้ ICAC อีกในครั้งต่อไป แม้บางเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นเรื่องปัญหาของหน่วยงานรัฐมากกว่าจะเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แต่ ICAC ก็ไม่โยนทิ้งตะกร้า แต่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่พึ่งที่หวังได้

ปัจจัยที่ 5 การรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ ICAC รักษาความลับของผู้ร้องเรียนอย่างเข้มงวด เพราะการร้องเรียนนั้นมีความเสี่ยงอยู่ คนที่จะร้องเรียนต้องมีความกล้าและความมั่นใจว่า ICAC ต้องปกปิดชื่อผู้ร้องเรียน โดยไม่ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายภายหลัง การบันทึกข้อมูลของผู้ร้องเรียนในคอมพิวเตอร์และระบบไฟล์ จะมีการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลอย่างดี จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น จึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ เจ้าหน้าที่คนอื่นไม่เกี่ยวข้องจะเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลที่ใช้ไปและหมดความจำเป็นแล้วจะถูกทำลาย กฎหมายของฮ่องกงยังให้ ICAC มีสิทธิไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลของตนได้ด้วย

ปัจจัยที่ 6 การมีปัจจัยแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อให้ ICAC ทำงานประสบความสำเร็จ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันอย่างเอื้ออำนวยต่อการปราบปรามคอร์รัปชัน ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกงเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงาน ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ICAC คนอื่น ๆ และรายงานตรงต่อข้าหลวงใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานอื่นหรือนักการเมืองข้าราชการคนอื่น ๆ เข้าไปแทรกแซง ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลและรัฐสภาในเรื่องงบประมาณประจำปี เจ้าหน้าที่ของ ICAC ต้องทำตามระเบียบเงื่อนไขการจ้างงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การปฏิบัติงานของ ICAC เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง

เพื่อป้องกันไม่ให้ ICAC ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด จะมีระบบการตรวจสอบ ICAC ที่เข้มงวด งานของ ICAC จะถูกชี้นำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษา 4 คณะ สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษามาจากตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แต่งตั้ง และยังมีคณะกรรมการคณะที่ 5 ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายบริหารของรัฐสภามีหน้าที่พิจารณาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน ICAC ผู้ที่เป็นประธานกรรมการทั้ง 5 ชุด ไม่ใช่เลขาธิการ ICAC แต่เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ปัจจัยที่เอื้ออำนวยอย่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ระบบกฎหมายของฮ่องกงสนับสนุนให้ ICAC ทำงานปราบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ICAC มีอำนาจที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะคอร์รัปชันโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ สามารถร้องขอต่อศาลสั่งห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกประเทศได้ สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีและตู้นิรภัยของผู้ต้องสงสัยได้ เรียกร้องให้ผู้ต้องสงสัยต้องแสดงสถานการณ์ทางการเงินโดยละเอียด รวมทั้งเข้าไปตรวจค้นที่บ้านพักของผู้ต้องสงสัย ถ้าการสอบสวนโยงใยไปถึงบุคคลอื่น ICAC ก็สามารถตามไปตรวจสอบคนคน นั้น เพื่อที่จะโยงในเรื่องการคอร์รัปชันทั้งหมดได้

อาวุธที่สำคัญข้อหนึ่งที่ระบบกฎหมายฮ่องกงยื่นให้ ICAC คือ การที่ ICAC สามารถตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทรัพย์สินมากและไม่อาจอธิบายได้ หรือใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินกว่ารายได้ประจำจากเงินเดือน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นไม่สามารถอธิบายต่อศาลได้ว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นมาอย่างไร เขาจะถูกถือว่าคอร์รัปชัน กฎหมายนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐของฮ่องกงต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์เพิ่มขึ้น (B.E.D.DE Speville The Experience Of Hong Kong, China in Combating Corruption 5 Daniel Kaufmann. FINANCE AND DEVELOPMENT, September 2005, V.42 NO. 3.)

การคอร์รัปชันในระบบราชการของฮ่องกงเมื่อ 30 ปีที่แล้วถูกขจัดไป แต่ปัญหาใหม่คือ การคอร์รัปชันในภาคเอกชนที่สลับซับซ้อน ซึ่งต้องการการติดตามแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น การที่ฮ่องกงกลับคืนจากการอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษมาเป็นเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region – Sar) ของจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ก็ทำให้โฉมหน้าการเมืองเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง

แม้ระบบกฎหมายฮ่องกงจะรองรับการดำรงอยู่ของ ICAC ในฐานะองค์กรอิสระต่อไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในประเทศจีนอยู่มาก โดยทั่วไปแล้วการปราบปรามคอร์รัปชันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฮ่องกงให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรืองต่อไป รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานทำนองเดียวกันในกวางตุ้ง และมณฑลอื่น ๆ ของจีน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจีนเอง การปราบคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองและข้าราชการคงดำเนินต่อไป ยกเว้นจะมีการคอร์รัปชันในระดับข้าราชการที่สูงมาก ๆ แต่ประสบการณ์ของฮ่องกงก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นให้ศึกษาได้ว่า แม้แต่ประเทศที่เคยมีวัฒนธรรมการจ่ายสินบนใต้โต๊ะที่เรียกว่า ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ อย่างถือเป็นเรื่องปกติ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเลิกวัฒนธรรมแบบนี้ได้ ถ้ามีการรณรงค์อย่างจริงจัง (ขอบคุณที่มา นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) อาจารย์วิทยากร เชียงกูล)

ทุกวันนี้หน่วยงานต่อต้านและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของบ้านเรามีทั้ง (1) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการสอบสวนกลส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ (3) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งยังคงทำงานเชิงรับ และทำงานไม่ได้เหมือนและไม่ได้เท่ากับ ICAC ของฮ่องกง เช่นนี้แล้วต่อให้เราท่านตายแล้วเกิดใหม่อีก 7 ชาติ สถานการณ์ทุจริตโกงกินในบ้านเราก็จะยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิมอยู่ต่อไป

ชมคลิป ดร.โญ มีเรื่องเล่า เรื่อง ICAC  ออกอากาศทาง ททบ5 เมื่อ 18 เมษายน 2562 https://youtu.be/51-6j8wRBVk

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘ญี่ปุ่น’ โวย!! ถูก ‘จีน’ ขู่ หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล ด้าน ‘ฮ่องกง’ แบนนำเข้าอาหารทะเล ฉุดธุรกิจร้านอาหารดิ่ง 30%

(28 ส.ค. 66) สำนักข่าวรายงานว่า ภาคธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในเกาะฮ่องกงคาดหมายว่า ธุรกิจร้านอาหารของตนจะตกลงมากถึง 30% ได้ หลังจากทางการสั่งแบนนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ที่มีผลแล้วในวันที่ 24 สิงหาคม จากการที่ญี่ปุ่นทำการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ผ่านการบำบัดเรียบร้อยแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

‘นายไซม่อน หว่อง’ ประธานสหพันธ์ร้านอาหารและการค้าที่เกี่ยวข้องของฮ่องกง กล่าวว่า เราคาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะปรับลดลงไปราว 20-30% หรืออาจมากกว่านั้นสำหรับร้านอาหารไฮเอนด์ ที่ส่วนใหญ่นำเข้าวัตถุดิบที่บินส่งตรงจากญี่ปุ่นมายังฮ่องกงภายในวันเดียวกันเลย และหากวัตถุดิบที่เป็นอาหารทะเลดังกล่าวไม่มีความหลากหลาย หรือไม่มีปริมาณเพียงพอสำหรับร้านอาหาร ธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าการขาดแคลนอุปทานจะไม่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากผู้ค้าให้ความสำคัญกับการรักษาลูกค้าไว้เป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้ออกมาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเล รวมถึงเกลือและสาหร่ายทะเล จาก 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม รวมถึงจากโตเกียว, จังหวัดฟุกุชิมะ และนางาโนะ ซึ่งคิดเป็น 10% ของอาหารทะเลญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในฮ่องกง

ส่วนมาเก๊า เกาะเพื่อนบ้านที่อยู่ใต้อาณัติปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ ก็สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นเช่นกัน ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่สั่งแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด

วันเดียวกัน ‘นายฮิโรคาสุ มัตสึโนะ’ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงแสดงความเสียใจอย่างยิ่ง กรณีที่มีโทรศัพท์ข่มขู่เข้ามาอย่างมาก โดยมีต้นสายจากจีนในการข่มขู่คุกคามที่เกี่ยวเนื่องกับการปล่อยน้ำเสีย จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเลของญี่ปุ่น

โดยนายมัตสึโนะกล่าวว่า พัฒนาการเหล่านี้เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งและเรามีความเป็นห่วง กังวล

ด้านกระทรวงต่างประเทศของจีนยังไม่ได้ให้ความเห็นต่อท่าทีนี้ของโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น

‘จีน’ เตือน ปชช.รับมือ ‘พายุซาวลา’ คาดถล่ม ‘ฮ่องกง’ บ่ายนี้ ทำรถไฟ-สายการบินวุ่น!! ถูกระงับ-ยกเลิกการเดินทางชั่วคราว

(1 ก.ย. 66) สถานการณ์เส้นทางพายุซาวลาล่าสุด จีนประกาศเตือนภัยไต้ฝุ่นระดับสูงสุด โดย ซูเปอร์ไต้ฝุ่นซาวลาเคลื่อนตัวเข้าใกล้ฮ่องกงและชายฝั่งทางตอนใต้ของแผ่นดินใหญ่ โดยมีหลายเมืองเลื่อนวันเปิดภาคเรียนออกไป เพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของฮ่องกง ระบุว่า ซูเปอร์ไต้ฝุ่นซาวลา เคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมสูงสุด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลา 18.00 น.ของวันพฤหัสบดี อยู่ห่างประมาณ 370 กิโลเมตร จากตะวันออกเฉียงใต้ของฮ่องกง ศูนย์กลางการเงินของจีน

ไต้ฝุ่นลูกนี้ จะทำให้เกิดฝนตกหนักและกระแสลมแรงในวันศุกร์ (1 ก.ย.) และระบุว่า ระดับภัยคุกคามคาดว่าจะเพิ่มเป็น “ที8” ซึ่งเป็นคำเตือนภัยสูงสุดอันดับ 3 ของฮ่องกง ในช่วงเช้าวันศุกร์

ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่ เตือนภัยรุนแรงที่สุดในระบบเตือนภัย 4 ระดับของประเทศ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ คาดว่าไต้ฝุ่นซาวลาจะพัดขึ้นฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งแห่งใดแห่งหนึ่งบริเวณจากเขตฮุ่ยไหลถึงฮ่องกง อย่างเร็วสุดภายในบ่ายวันศุกร์ แต่มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ไต้ฝุ่นอาจมุ่งหน้าสู่ตะวันตก และผ่านน่านน้ำมณฑลกวางตุ้งโดยไม่ขึ้นฝั่ง

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การให้บริการรถไฟทั่วมณฑลกวางตุ้ง ถูกระงับชั่วคราว ขณะที่หลายเมืองในมณฑลภาคใต้แห่งนี้ ซึ่งรวมทั้งซัวเถา, ซานเหว่ย, เจียหยาง และเฉาโจว เลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันจันทร์

‘สายการบินแอร์ไลน์ คาเธ่ แปซิฟิก’ ระบุว่า ได้ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดทั้งขาเข้าและออกฮ่องกง ระหว่างเวลา 13.00 น.ของวันเสาร์ ถึง 09.00 น.ของวันเสาร์ตามเวลาในไทย

‘เก้า สุภัสสรา’ เผยประสบการณ์ทริประทึก วิ่งวุ่นหาเที่ยวบินกลับไทย หลัง ‘จีน’ ประกาศเตือนพายุ 3 ลูกจ่อถล่ม ‘ฮ่องกง’ ล่าสุดปลอดภัยแล้ว

‘เก้า สุภัสสรา’ โพสต์ไอจีเผยความเคลื่อนไหววันนี้ หลังเจอทริปโกลาหลที่ฮ่องกง พายุเข้า 3 ลูก ต้องรีบวิ่งแจ้นมาสนามบินสุดทุลักทุเล ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว แต่แฟนคลับอดเป็นห่วงหนักมากไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 66 ‘เก้า สุภัสสรา ธนบุตร’ ดาราสาววัย 28 ปี ได้ออกมาโพสต์เล่าประสบการณ์ทริปการเดินทางระทึกที่สุดเท่าที่ตัวแสนจะบอบบางของเธอเคยเจอมา

หลังจากสาวเก้าเดินทางไปทริปที่ประเทศฮ่องกง แล้วบังเอิญต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนหนัก จากมรสุมพายุเข้าเต็มเปาถึง 3 ลูก จนทำดาราสาวมากความสามารถต้องวิ่งโร่ตีไฟลต์เครื่องบินกลับด่วน แถมต้องออกแรงวิ่งจนแข้งขาอ่อนเพื่อไปสนามบินให้ทันเวลาอีกด้วย

โดยเนื้อหาทั้งหมดที่เก้า สุภัสราเขียนเล่าไว้ในสตอรี่ไอจี ระบุว่า…

“ทริปนี้ โกลาหลมาก ต้องบินกลับพรุ่งนี้แต่พายุเข้า เลยรีบวิ่งมาสนามบินเพื่อหาไฟท์กลับให้ได้ภายในคืนนี้ ทุกไฟท์คือเต็มหมด ทั้งไป ตปท. รอบๆ ไทยก็ด้วย เราเลยตั้งใจรอสแตนด์บายบายทุกสายการบินที่บินไปไทย เพื่อรอที่นั่งหลุด และใช่ค่ะ!! มีคนหลุดพอดีจำนวนคนเราพอดี เราได้กลับไทยก่อนที่ไฟท์พรุ่งนี้จะแคนเซิลทั้งหมด”

“ได้นั่งสายการบิน airasia ecoได้ราคา 13,000 บาทกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ เพราะว่าเรามีงานถ่ายโฆษณาวันที่ 2 กองจะพังเพราะเราไม่ได้ ! ทริป คือ ทุลักทุเลตั้งแต่ขาไปยันกลับ เป้อกับพี่นิวที่จะมาด้วยกันคือวีซ่าแชงเก้นไม่ให้พาสปอร์ตคืน ทำให้สองคนอดบินไปพร้อมกัน แต่สุดท้ายก็ออกเช้าวันที่เราใกล้จะขึ้นเครื่องไปพอดี สองคนก็เลยตามมาช่วงเย็น”

“กลับมาต่อที่ทริปนี้ ตอนจะกลับ รีบกลับ รร. แพ็กของและวิ่งมาสนามบินหน้าตาตื่นมาก รู้สึกที่คิดถูกในการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะไม่งั้นน่าจะไม่ได้กลับอีกหลายวันเลย”

“มีพายุทั้งหมด 3 ลูก คนตุนของกันแล้ว บางพื้นที่ราบต่ำอพยพแล้ว เพราะดวงจันทร์เต็มดวงทำให้น้ำขึ้นสูงกว่าปกติ พวกเราโชคดีมากที่เดินทางกลับมาได้และปลอดภัย”

“ขอบันทึกให้เป็นทริปที่สนุกที่สุดเท่าที่เคยไปมา ไม่เคยตื่นเต้น ระทึกอะไรเท่านี้มาก่อน ขอให้เดือนกันยาใจดีกับพวกเราด้วยเถอะ”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความตระหนกตกใจของแฟนคลับที่หลาย ๆ คนอาจจะยังรู้สึกคลายความกังวลถึงนักแสดงสาวขวัญใจลงไม่ได้ แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่ารอดพ้นวิกฤตที่พาตะลึงมาได้แบบปลอดภัยแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องขออนุญาตนำเซตปลอบประโลมความเป็นห่วงที่ส่งไปถึงได้แค่ในโซเชียล แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่ต้องแสดงออกด้วยเซตภาพถ่ายเซตแฟชั่นเผยความงามเบา ๆ ของเจ้าตัวที่ลงเปิดเผยความดีต่อใจไว้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา โดยเป็นโพสต์ที่ตัวแม่สายความงามแบบมีรสนิยมนี้ได้ติดแคปชันเบา ๆ ไว้ว่า “สวยแบบเต็ม 10 ไม่หักก 💗”

‘ฮ่องกง’ เจอน้ำท่วมใหญ่ ‘ถนน-สถานีรถไฟใต้ดิน-ห้าง’ ได้รับผลกระทบหนัก สั่งปิดรร.-ให้ปชช.ทำงานที่บ้าน พร้อมประกาศเตือนพายุฝนอยู่ระดับสูงสุด

(8 ก.ย.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพีรายงานว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักบนเกาะฮ่องกง ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมสูงเป็นวงกว้างในฮ่องกง ทำให้ถนนหนทาง ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟใต้ดิน จมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ทางการฮ่องกงได้สั่งปิดโรงเรียน และขอให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน

ข่าวระบุว่า ฝนที่ตกลงมาถือว่าเป็นฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 140 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมาของฮ่องกง ส่งผลให้น้ำหลายสายไหลลงมาตามพื้นที่เนินเขา ขณะที่ทางการออกประกาศเตือนความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม

ทั้งนี้ มีคลิปวิดีโอที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นถนนหลายสายที่มีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ขณะที่อีกคลิปหนึ่ง เป็นภาพของเจ้าหน้าที่รถไฟใต้ดินต้องเดินลุยน้ำเข้าไปในสถานี เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้น้ำจากถนนทะลักเข้าไปภายในสถานี

โดยมีรายงานว่า อุโมงค์ข้ามท่าเรือของฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักที่เชื่อระหว่างเกาะฮ่องกงกับเกาลูน ก็ถูกน้ำท่วมสูงเช่นกัน รวมไปถึงย่านแหล่งข้อปปิ้งอย่างไฉหว่าน ที่ก็ปรากฏภาพของน้ำท่วมสูงด้วย

ด้านสำนักงานสังเกตการณ์ฮ่องกง รายงานว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน จนถึงเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันที่ 8 กันยายน อยู่ที่ระดับ 158.1 มิลลิเมตร และว่า ฝนที่ตกหนักครั้งนี้ เกิดขึ้นจากร่องความกดอากาศน้ำที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่เหลือจากไต้ฝุ่นไห่ขุย

โดยตอนใต้ของจีนเพิ่งจะเจอกับไต้ฝุ่น 2 ลูก คือ เซาลา และไห่ขุย ขณะที่ฮ่องกงเองไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไต้ฝุ่นทั้งสองลูกดังกล่าว

ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนพายุฝนระดับ ‘สีดำ’ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และว่า จะมีฝนตกลงมากว่า 200 มิลลิเมตรบนเกาะหลักของฮ่องกง เกาลูน และบางส่วนของฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของนิวเทอร์ริทอรีส์

นอกจากนี้ ยังมีรายงานปิดจุดผ่านแดนผู้โดยสารและสินค้าบางแห่ง ที่เชื่อมระหว่างฮ่องกับกับเมืองเสิ่นเจิ้นของจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากน้ำที่ท่วมสูง

‘ม.ฮ่องกง’ มอบทุนเรียนฟรี หนุน ‘นักเรียนไทย’ มากศักยภาพ จ่อเดินหน้าขยายความร่วมมืออีก 40 โรงเรียน ภายในปี 66

(8 ต.ค. 66) ศาสตราจารย์เบนเนต ชิ คิน ยิม ผู้บริหารฝ่ายรับนักศึกษาใหม่ ‘The University of Hong Kong’ เปิดเผยว่า ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะ ได้จัดกิจกรรม Thailand Admission Tour 2023 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรายงานความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 จากการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยไปศึกษาที่ The University of Hong Kong จาก 3 แห่ง ประกอบด้วย

1.) กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
2.) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
3.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปัจจุบันมีนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าวได้รับทุนไปศึกษาต่อแล้วกว่า 10 ทุนการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนไทยกำลังศึกษาที่ The University of Hong Kong กว่า 166 คน ผลการหารือ The University of Hong Kong พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยศักยภาพสูง เพื่อรับทุนไปศึกษาต่อที่ The University of Hong Kong และในปี 2566 จะขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนในไทยอีก 40 แห่ง

ทั้งนี้ ‘The University of Hong Kong’ มหาวิทยาลัยอันดับที่ 26 ของโลก จากการจัดลำดับของ ‘QS World University Rankings’ และเป็นอันดับ 1 ของโลกด้าน Most International University in the World จากการจัดอันดับของ ‘Times Higher Education’

‘นายกฯ เศรษฐา’ บินลัดฟ้า หารือทวิภาคีกับ ‘ฮ่องกง’ หวังเดินหน้า EEC เชื่อมโยง เขตเศรษฐกิจ GBA

(9 ต.ค.66) ณ ทำเนียบผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีมุ่งส่งเสริมพลวัตความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยง ประเทศไทยและฮ่องกงเป็นพันธมิตรทางการค้า และการลงทุนที่สำคัญ อีกทั้งต่างยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกันและกันอีกด้วย รวมถึงได้ชื่นชมความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) ของฮ่องกงด้วย หวังให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน พร้อมเชิญผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเยือนไทยด้วย

ด้านผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ที่ดี และเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ และจุดหลอมรวมระหว่างตะวันออก และตะวันตกอีกทั้งประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันต่อยอดผลประโยชน์เศรษฐกิจ และการเงินการธนาคาร ในสภาวะความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฮ่องกงมีบทบาทที่สำคัญ เชื่อมจีนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก ตลอดจนบทบาทในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคด้านการค้า การเงิน และบริการ

โดยไทยสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนให้แก่ฮ่องกง และจีนได้ ซึ่งรวมถึงการเป็นประตูสำหรับธุรกิจ ตลอดจนสินค้า และบริการจากฮ่องกง และจีนได้ จึงหวังที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย เชิญชวนฮ่องกงมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

โดยไทยหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือเชิงลึกกับฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง และนโยบายการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อประสาน และเชื่อมโยง EEC กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top