Tuesday, 20 May 2025
อีลอนมัสก์

‘อีลอน มัสก์’ ทำมูลค่าทางการตลาด ‘X’ หายไป 71% นับตั้งแต่ทุ่มเงิน 44 พันล้านดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการ

เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.67) มูลค่าทางการตลาดของทวิตเตอร์ลดลงไปกว่า 71% นับตั้งแต่โดนเจ้าของเทสลา อีลอน มัสก์ ซื้อออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อตุลาคมปี 2022 ในดีล 44 พันล้านดอลลาร์ ก่อนจะเริ่มต้นปลดพนักงานครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อแพลตฟอร์มเป็น X และผจญมรสุมต่างๆ นานา โดนใบเหลืองเตือนจาก EU ข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และมัสก์โดนกระแสทวีตเหยียดยิวเล่นงานจนโฆษณาหนี

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานในวันอังคาร (2 ม.ค.) ว่า บริษัทการลงทุน Fidelity เปิดเผยว่าตั้งแต่หลังจากมหาเศรษฐีพันล้านเจ้าของเทสลา อีลอน มัสก์ ซื้อบริษัททวิตเตอร์ไปเมื่อตุลาคมปี 2022 ได้ในราคา 44 พันล้านดอลลาร์ พบว่ามูลค่าหุ้นตกลงไปกว่า 71.5%

Fidelity ซึ่งถือหุ้นอยู่ในทวิตเตอร์เปิดเผยในการรายงานของสื่อ Axios ของสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า แพลตฟอร์ม X ในชื่อปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ราว 12.5 พันล้านดอลลาร์ ในการเปิดเผย

ทวิตเตอร์นั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น X เมื่อกรกฎาคมปี 2023 และยังคงประสบปัญหามาโดยตลอด ตัวเลขผู้ใช้ประจำเดือนตกลงไป 15% ในปีแรกตั้งแต่มัสก์ซื้อท่ามกลางความวิตกการเพิ่มขึ้นของวาทะแสดงความเกลียดชัง หรือ hate speech บนแพลตฟอร์มซึ่งหลังจากที่มัสก์ซื้อทวิตเตอร์ออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ เขาสั่งปลดพนักงานออกไปไม่ต่ำกว่า 50% และลดการตรวจสอบลง ส่งผลทำให้ในกันยายนปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป EU ออกคำเตือนไปยังอีลอน มัสก์ หลังจากพบว่าแพลตฟอร์ม X ของเขามีอัตราสูงสุดของการโพสต์ข้อมูลปลอมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหมด

และล่าสุด อีลอน มัสก์ยังทำให้ X โดนแห่ถอนโฆษณาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังนับตั้งแต่มัสก์ได้ทวีตให้การสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดเหยียดชาวยิว อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส และส่งผลทำให้เจ้าของเทสลาออกมาตอบโต้การแห่ถอนโฆษณาจาก X ด้วยการกล่าวว่า “ขอให้บริษัทพวกนั้นไปลงนรกซะ” ระหว่างการให้สัมภาษณ์อยู่ในเมืองนิวยอร์ก ซิตี

มัสก์ซึ่งถูกนิตยสารฟ็อบส์จัดให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกมีความมั่งคั่ง 251 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อครั้งที่เขาซื้อทวิตเตอร์ไปเขาแสดงเหตุผลว่า “เป็นการซื้อเพื่อช่วยมนุษยชาติ”

และมัสก์ที่มีแนวคิดทางการเมืองนิยมฝ่ายขวาและพรรครีพับลิกันได้สั่งยกเลิกการแบนบุคคลทางการเมืองอื้อฉาวของสหรัฐฯ ทั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และนักจัดรายการวิทยุเจ้าของเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด อเล็กซ์ โจนส์ (Alex Jones) ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างมีคดีติดตัว

'ไซเบอร์ทรัก' ชนรถคู่กรณีกลางถนนรัฐแคลิฟอร์เนีย อีกฝ่ายพังยับ ด้าน ตำรวจเทกซัสถาม 'อีลอน มัสก์' ขอใช้เป็นรถตำรวจได้ไหม?

(5 ม.ค. 67) รอยเตอร์ส รายงาน ภายหลังรถไซเบอร์ทรักของเทสลา (Tesla Cybertruck) เกิดอุบัติเหตุชนกับรถคู่กรณีที่ 'พาโล อัลโต' (Palo Alto) รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเรื่องโจษจันไปทั่ว หลังภาพที่ปรากฏพบรถเก๋งฝ่ายตรงข้าม (โตโยต้า) อยู่ในสภาพยับเยิน แต่รถกระบะไฟฟ้าของเทสลานั้นแค่บุบ ขณะที่ตำรวจรัฐเทกซัสเกิดความสนใจและส่งทวีตหา 'อีลอน มัสก์' ว่า "ไซเบอร์ทรักเป็นรถตำรวจได้ไหม"

สำหรับเหตุการณ์นี้ ตำรวจทางหลวงรัฐแคลิฟอร์เนีย CHP ที่เดินทางไปจุดเกิดเหตุบนถนนสกายไลน์ บูเลวาร์ด (Skyline Boulevard) ในพาโล อัลโต (Palo Alto) ยืนยันว่า คนขับไซเบอร์ทรักเป็นวิศวกรเทสลาจากซานฟรานซิสโก และช่วงเกิดเหตุรถไม่ได้ใช้ระบบขับอัตโนมัติ

ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มาจากรถโตโยต้าที่ผู้ขับขี่วัย 17 ปี ได้ขับรถชนขอบแนวดินข้างทางและส่งผลทำให้รถพุ่งกลับเข้าไปบนถนนในเลนตรงข้ามและชนกับรถไซเบอร์ทรัก โดยตามการรายงานสภาพในพื้นที่พบว่า สภาพอากาศไม่แจ่มใสและถนนเปียกชื้น

หลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ตำรวจเมืองโรเซนเบิร์ก (Rosenberg) รัฐเทกซัส ได้ทวีตถาม 'อีลอน มัสก์'อย่างติดตลกเมื่อวันอังคาร (2 ม.ค.67) ที่ผ่านมา (อ้างอิงจาก NDTV ของอินเดีย) ว่า "คิดว่าไซเบอร์ทรักซึ่งมีสนนราคาสูงลิ่วถึง 60,990 ดอลลาร์ จะเป็นรถตำรวจได้ไหม?" ด้าน มัสก์ ก็ได้ตอบทวีตกลับมาด้วยว่า "100" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตอบรับในเชิงเห็นด้วย 100% นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ เคยออกมาประกาศบนแพลตฟอร์ม X ว่า "ผมเชื่อมั่นอย่างสูงว่า ไซเบอร์ทรักจะเป็นรถที่มีความปลอดภัยมากที่สุดสำหรับคนขับรถเองและสำหรับคนใช้ถนน"

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเพียงรายเดียว คือ ผู้ขับขี่รถเก๋งโตโยต้า ซึ่งปฏิเสธการไปโรงพยาบาล ส่วนภายในรถกระบะไฟฟ้าไซเบอร์ทรัก (Tesla Cybertruck) ซึ่งพบว่ามีผู้ที่โดยสารมาในรถด้วย 3 คน ปลอดภัยดี

เหตุการณ์นี้ ได้กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกในทันที เพราะเหมือนมีคนมาช่วยพิสูจน์ความแข็งแกร่งของ Tesla Cybertruck กันจริงๆ ให้เห็นแล้ว

'นิวรัลลิงก์' ฝังชิปในสมองของมนุษย์คนแรก ด้าน 'อีลอน' ฟุ้ง!! การทดสอบเป็นที่น่าพอใจ

(30 ม.ค.67) บริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบประสาทของสหรัฐ ที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ เปิดเผยว่า นิวรัลลิงก์ ได้ทำการปลูกถ่ายฝังไมโครชิปในสมองคนไข้มนุษย์รายแรกแล้วและคนไข้ฟื้นตัวเป็นอย่างดีเยี่ยม 

อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทนิวรัลลิงก์ ได้โพสต์ข้อความลงใน X ส่วนตัว ข้อความว่า การทดสอบในเบื้องต้นพบการทำงานของเซลล์ประสาทในระดับที่น่าพอใจ ผลิตภัณฑ์แรกของพวกเขาชื่อว่า Telepathy จะทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ได้โดยใช้ความคิด โดยเริ่มต้นจะใช้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้แขนและขาได้ อีลอน มัสก์ หวังว่ามันจะช่วยให้พวกเขาสื่อสารได้เร็วเท่ากับการพิมพ์จากมืออาชีพ

โดยเมื่อปีที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติ ให้ทางนิวรัลลิงก์ (Neuralink) สามารถดำเนินการการทดลองทางคลินิกในมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงถึงก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะทำให้เทคโนโลยีของเราสามารถช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้ในอนาคต ซึ่งนิวรัลลิงก์ ดำเนินการใช้หุ่นยนต์ฝังชิปเข้าไปที่สมองส่วนที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยเป้าหมายในเบื้องต้นคือการทำให้คนสามารถควบคุมเคอร์เซอร์ของคอมพิวเตอร์ หรือแป้นพิมพ์ คีย์บอร์ด ด้วยการใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว

‘ยูเครน’ โวย!! Starlink ให้กองทัพรัสเซียใช้ได้ไง ด้าน ‘อีลอน มัสก์’ แจง!! “มันเป็นแค่ข่าวปลอม”

สำนักหน่วยข่าวกรองของยูเครน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน Telegram ว่า ตอนนี้กองทัพรัสเซียกำลังใช้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ของ อีลอน มัสก์ ในเขตพื้นที่ยึดครองของรัสเซียในยูเครน พร้อมแนบหลักฐานเป็นคลิปสนทนาสั้น ๆ ที่ระบุว่าเป็นทหารรัสเซียที่คุยกันว่า ‘พวกเขากำลังใช้อินเทอร์เน็ตของ Starlink อยู่’ 

ด้าน อังเดรย์ ยูซอฟ ตัวแทนจากหน่วยข่าวกรองของยูเครนออกมากล่าวว่า ทางยูเครนมีหลักฐานการแอบใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ของกองทัพรัสเซียเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ปัญหาในเชิงระบบในไม่ช้า อีกทั้งยังเปิดเผยด้วยว่า กองกำลังฝ่ายรัสเซีย และพื้นที่ที่พบการใช้งาน ก็คือ กองพลจู่โจมทางอากาศที่ 83 ที่ปักหลักโจมตีในเมือง Klishchiivka และ Andriivka ในเขตแคว้นโดเนตสค์ ซึ่งตอนนี้อยู่ในพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย

Starlink เป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของอีลอน มัสก์ ปัจจุบันมีดาวเทียมส่งสัญญาณมากถึง 5,289 ดวง ครอบคลุมการใช้งานถึง 70 ประเทศในทุกทวีปทั่วโลก โดยอีลอน มัสก์ ได้เปิดให้ยูเครนใช้บริการ Starlink เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ช่วงเริ่มสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อสนับสนุนการตอบโต้ของกองทัพยูเครน 

แต่ทว่า ต่อมาความสัมพันธ์ของอีลอน มัสก์ และ รัฐบาลยูเครนเริ่มเย็นชาต่อกัน ตั้งแต่ที่อีลอน มัสก์ สั่งให้ระงับสัญญาณในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทางคาบสมุทรไครเมีย ทำให้กองทัพยูเครนต้องพับแผนการโจมตีไครเมียด้วยโดรนพิฆาตไป โดยอีลอน อ้างว่า การโจมตีของฝ่ายยูเครนในพื้นที่ไครเมียอาจทำให้สงครามเข้าสู่จุดที่เลวร้ายมากกว่าเดิม จนถึงขั้นสงครามนิวเคลียร์ได้ 

จนกระทั่งวันนี้ที่หน่วยข่าวกรองยูเครนออกมาแถลงว่า พบหลักฐานว่ากองทัพรัสเซียสามารถเข้าถึงบริการ Starlink ของอีลอน มัสก์ ได้แล้ว พร้อมข่าวลือแพร่สะพัดว่า รัสเซียซื้ออุปกรณ์สัญญาณถูกลิขสิทธิ์ของ Starlink ผ่านทางรัฐบาลดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เป็นเหตุให้อีลอน มัสก์ ต้องออกมาโพสต์ผ่าน X ว่า “มีการปล่อยข่าวปลอมมากมายว่า SpaceX กำลังจะเปิดสัญญาณ Starlink ให้รัสเซีย ซึ่งมันเป็นแค่ข่าวปลอม สิ่งที่พวกคุณควรรู้ไว้คือ เราไม่เคยขาย Starlink ให้รัสเซีย ไม่ว่าจะทางตรง หรือ ทางอ้อม ใด ๆ ทั้งสิ้น”

เช่นเดียวกับทางรัสเซีย ดมิตริ เพสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบเครมลิน ก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของยูเครนที่ว่า กองทัพรัสเซียแอบมาขโมยเสาสัญญาณ Starlink ไปใช้ หรือได้ใช้อินเทอร์เน็ต Starlink ในเขตยึดครองโดเนตสค์

แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ฝ่ายกองทัพรัสเซียจะเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตของ Starlink ได้ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ส่งสัญญาณตามขอบเขตทางภูมิศาสตร์ ทหารรัสเซียก็มีโอกาสเข้าถึง Starlink ในพื้นที่ของยูเครน และอาจทำการปลอมแปลงข้อมูลเขตภูมิศาสตร์ให้แสดงว่ากำลังใช้งานอยู่ในพื้นที่ที่ถูกบล็อก หรืออยู่นอกเขตบริการ Starlink ก็ทำได้เช่นกัน

ในยุค Internet of Things ทุกอย่างเสกสรรได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ไม่เว้นแต่ความได้เปรียบในการทำศึกสงครามที่ไม่ได้วัดด้วยปริมาณกำลังพลเสมอไป ดังนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสมอกันของฝั่งศัตรู ไม่ว่าจะซื้อใช้เอง ขอยืมใช้ หรือแอบใช้ ก็สร้างความระแวงได้เหมือนกัน

‘กลุ่มหัวรุนแรง’ วางเพลิงเสาไฟฟ้าข้างโรงงาน Tesla ในเยอรมัน อ้าง!! ต้องการโค่น ‘อีลอน มัสก์’ พร้อมตราหน้า ‘นักเทคโนโลยีฟาสซิสต์’ 

‘อีลอน มัสก์’ ฉุนขาด เมื่อโรงงานผลิตรถยนต์ Tesla ในแคว้นบรันเดินบวร์ค ของเยอรมัน กลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีของกลุ่มคนหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายจัด ที่ชื่อว่า ‘Vulkangruppe’ หรือ กลุ่มภูเขาไฟ ได้ลอบวางเพลิงเสาไฟฟ้าข้างโรงงาน ส่งผลให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง โรงงานรถยนต์ต้องหยุดชะงัก และ หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงไม่มีไฟฟ้าใช้ 

เมื่อวันอังคาร (5 มี.ค. 67) ที่ผ่านมา เกิดเพลิงไหม้เสาไฟที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าโรงงาน Tesla กระทบต่อระบบไฟฟ้าในโรงงานทั้งหมด จนต้องหยุดการผลิตชั่วคราว คาดว่าอาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะกลับมาเดินสายการผลิตรถยนต์ได้อีกครั้ง 

ต่อมาไม่นาน เว็บไซต์ ‘kontrapolis.info’ ของเยอรมัน ได้โพสต์จดหมายของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายในเยอรมัน ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มภูเขาไฟ (Vulkangruppe) ออกมาแสดงตนว่าเป็นผู้ก่อเหตุลอบวางเพลิงดังกล่าว ด้วยการตัดกระแสไฟเข้าโรงงาน Tesla เพื่อสร้างความปั่นป่วนจนต้องปิดโรงงาน

โดยทางกลุ่มได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการทำลายโรงงานยักษ์ใหญ่ระดับ Gigafactory ของ Tesla และโค่นล้ม อีลอน มัสก์ ที่ทางกลุ่มกล่าวหาว่าเขาเป็น ‘นักเทคโนโลยีฟาสซิสต์’ ที่เสวยสุขบนทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานผู้คน ซึ่งการทำลายอีลอน มัสก์ จะถือเป็นก้าวสำคัญของการปลดปล่อยระบอบปิตาธิปไตย (ระบอบที่ชายเป็นใหญ่) พร้อมลงชื่อท้ายจดหมายว่า ‘Agua De Pau’ ภูเขาไฟในประเทศโปรตุเกส

กลุ่มภูเขาไฟ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหัวรุนแรงซ้ายจัดกลุ่มหนึ่งในเยอรมัน ที่เคยก่อเหตุลอบวางเพลิงในกรุงเบอร์ลินมาตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้ชื่อ ‘Vulkangruppen’ โดยมักเล็งเป้าหมายไปที่ท่อสายเคเบิลบนทางรถไฟ, เสาสัญญาณวิทยุ, สายสัญญาณข้อมูลสื่อสาร หรือ รถยนต์ขององค์กรต่าง ๆ หลังก่อเหตุมักส่งจดหมายออกมาแสดงตนเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์พร้อมลงท้ายจดหมายด้วยชื่อภูเขาไฟที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟของไอซ์แลนด์ เช่น ‘Grimsvotn’, ‘Katla’ และ ‘Ok’ เป็นต้น 

กลุ่มภูเขาไฟ ไม่มีแกนนำชัดเจน มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกับระบอบอนาธิปไตย (ระบอบที่ปฏิเสธการมีอยู่ของรัฐบาล และ ลำดับชั้นทางสังคม) ซึ่งถือเป็นแนวคิดสุดขั้วที่สุดในอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้าย 

ต่อมาทางกลุ่มพยายามเข้ามามีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาสภาพอากาศโลก และถูกนำมาเป็นข้ออ้างหนึ่งในการโจมตีโรงงาน Tesla ในวันนี้ที่ Tesla ถูกโยงว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ทุนนิยมสีเขียว’ 

ด้านอีลอน มัสก์ ได้โพสต์ข้อความลงใน X ถึงกลุ่มภูเขาไฟว่า เป็นผู้ก่อการร้ายเชิงนิเวศที่โง่ที่สุดในโลก รักษ์โลกแบบใด ถึงมาโจมตีโรงงานที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แทนที่จะไปโจมตีโรงงานที่ผลิตรถยนต์พลังงานฟอสซิล แล้วจะบอกว่าเป็นนักขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 

อีลอน มัสก์ เปิดโรงงาน Tesla ในเยอรมันเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และยังเป็นการท้าทายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันที่เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกอีกด้วย

แต่ Tesla ก็กำลังมีประเด็นกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในเยอรมัน เมื่อ อีลอน มัสก์ วางโครงการที่จะขยายโรงงานในเยอรมันเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ Tesla ให้ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี เพื่อรองรับตลาดที่กำลังขยายตัวอย่างมากในยุโรป ซึ่งจำเป็นต้องถางพื้นที่ป่าเพิ่มอีกอย่างน้อย 420 เอเคอร์ จึงเกิดกระแสต่อต้านของกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านในพื้นที่ ที่มาปักหลักตั้งแคมป์เพื่อขัดขวางการถางป่าเพื่อขยายโรงงาน Tesla มาแล้ว

‘Tesla’ เตรียมเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ 6,700 คน เซ่นยอดขายสะดุดจากพิษสมรภูมิตลาด EV เดือด

‘Tesla’ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ภายใต้การนำของ ‘อีลอน มัสก์’ ประกาศปลดพนักงานระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ที่คราวนี้มีสัดส่วนพนักงานฝ่ายบริการด้านซอฟต์แวร์ และ ฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม รวมอยู่ด้วย 

แถลงการณ์ปลดพนักงานจาก Tesla เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้บริหารสูงสุดอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ ประกาศว่าจะยุบแผนกเทคโนโลยีการชาร์จประจุไฟฟ้า และจะลดจำนวนพนักงานในโรงงานทั่วโลกลงมากกว่า 10% 

และเมื่อวานนี้ (6 พ.ค. 67) พนักงานที่ต้องโดน Layoff รอบล่าสุดนี้ก็ได้อีเมลยืนยันจากทางบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการเปิดเผยผ่านสื่อว่า แค่เฉพาะโรงงานโซนอเมริกา ในรัฐเท็กซัส, แคลิฟอร์เนีย, เนวาดา, และนิวยอร์ก ก็มีพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างมากถึง 6,700 คนแล้ว

นับเป็นการลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่อีกครั้งของ Tesla อันเป็นผลพวงมาจากความกดดันเรื่องยอดขายที่ลดลงอย่างมาก ในสมรภูมิตลาดรถยนต์ EV ที่นักการตลาดต่างให้คำจำกัดความว่าเป็นการต่อสู้ในระดับ ‘นองเลือด’ จากคู่แข่งมาแรงอย่างค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่ส่งรถยนต์รุ่นใหม่เข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ตลาดรถยนต์ EV กลายเป็นสงครามราคาที่ห้ำหั่นกันดุเดือด

อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ลง รวมถึงแผนการใหม่ของอีลอน มัสก์ ที่จะเน้นเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์การขับขี่อัตโนมัติ, โรโบแท็กซี่ และ หุ่นยนต์มนุษย์ Optimus ก็เป็นปัจจัยที่ Telsa จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในบางทีม เพื่อเก็บทุนไว้พัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆเหล่านี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ของ Tesla สะท้อนถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ EV ที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด Xiaomi บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ของจีนก็กระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้แล้วเช่นกัน 

ล่าสุด ในงานแสดงยานยนต์นานาชาติ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่ถือเป็นหนึ่งในงานแสดงรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนงานจัดแสดงรถยนต์ EV แสดงให้เห็นถึงความต้องการในตลาดยังโตขึ้นได้เรื่อย ๆ

ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ได้เปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นใหม่ในงานมากถึง 278 คัน ที่ต่างแข่งขันกันอย่างเอาเป็น เอาตาย ทั้งในด้านเทคโนโลยีสุดล้ำ โปรโมชัน ลด แลก แจก แถม และกลยุทธการตัดขาคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง Xiaomi จนผู้บริหารบริษัทสมาร์ตโฟนชื่อดังออกมายอมรับว่า ค่ายรถคู่แข่งพยายามทำทุกอย่างเพื่อสกัดยอดจองของ Xiaomi ในงานนี้

หากตลาดรถยนต์ EV มีการแข่งขันเรื่องราคาเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากอัปเกรดเทคโนโลยีให้ล้ำหน้ากว่าใคร ซึ่งย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และต้องยอมกลืนเลือด ลดราคา อัดโปรโมชัน ยอมขาดทุนเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ 200 รายในจีนตอนนี้ น่าจะเหลือรอดเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียว หลังจากที่อุตสาหกรรมนี้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว 

เหลย จุน ประธานบริษัท Xiaomi เคยให้สัมภาษณ์กับ CCTV ของจีน เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมาว่า ในตลาดรถยนต์ EV ตอนนี้ นอกจาก Tesla แล้ว ทุกคนกำลังสูญเงินมหาศาลในตลาดนี้  

แต่ถึงแม้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีนยังยอมรับในความเป็นเจ้าตลาดโลกของ Tesla แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสงคราม นักรบย่อมมีบาดแผล ไม่ไว้เว้นแม้แต่ Tesla ที่เริ่มออกอาการไม่ดีกับยอดขายรถยนต์ EV ของตัวเอง จนต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อความอยู่รอด แถมสมรภูมินี้มีแนวโน้มว่ายังต้องรบกันอีกยาวไกล ซึ่งสุดท้ายจะเหลือผู้ผลิตกี่ค่าย ที่รอดตายจนถึงสนามรบสุดท้าย ก็ต้องมาดูกัน 

‘อีลอน มัสก์’ ร้องเอาผิด ‘เฟาซี’ หลังยอมรับให้ทุนสถาบันวิจัยอู่ฮั่น เพื่อพัฒนาดัดแปลงไวรัสโคโรน่าให้มีความสามารถแพร่เชื้อได้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 67 จากเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ กรณีนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซีอีโอบริษัทเทสล่าและสเปซเอ็กซ์ เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี อดีตรองประธานคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ช่วงปี 2564-2565 จากกรณีที่ผู้บริหารสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา (NIH) ยอมรับต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า NIH ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่สถาบันวิจัยไวรัสที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในการพัฒนาดัดแปลงไวรัสโคโรน่าให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีขึ้น (gain of function) ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุข้อความในเฟซบุ๊กว่า การให้ทุนในการสร้างไวรัสโควิด จาก สหรัฐไปยังสถาบันวิจัยไวรัส เกิดขึ้นก่อนการระบาดโควิดด้วยซ้ำ สิทธิบัตรวัคซีนของ NIH จดตั้งแต่ปี 2018 ต้นตอโควิดอยู่ที่นี่เอง

ยืนยันชัดเจนจากกรรมาธิการรัฐสภา ถาม NIH ว่า “NIH ให้ทุนสถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่นในการสร้างไวรัสใหม่ ที่มีความสามารถในการติดเชื้อและแพร่เชื้อ เกิดโรคได้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า gain of function”

คำตอบจาก NIH “ใช่ เราทำเช่นนั้น yes we did”

ในขณะเดียวกัน Elon Musk ประกาศ ต้องเอาโทษ Anthony Fauci ตัวการใหญ่ในเรื่องนี้ให้ได้

อีลอน มัสก์ เรียกร้องให้จับกุมและดำเนินคดีกับนายแพทย์ แอนโธนี เฟาซี เมื่อวันศุกร์ หลังจากที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ NIH เข้ามาเคลียร์กับสภาคองเกรส และยอมรับว่าให้ทุนสนับสนุนการวิจัย แก่สถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่น

ขณะเดียวกัน องค์กร EcoHealth alliance มีความผิด และพยายามจะกลบเกลื่อนปิดบังหลักฐานในการส่งผ่านทุนให้สถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่น และ รัฐบาลสหรัฐ department of Health and Services ตัดสินให้ยุติทุนใด ๆ ให้องค์กรนี้ รวมทั้งให้ถอดถอนสิทธิ์ขององค์การนี้ (disbarment)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามรายงานข่าวของนิวยอร์กโพสต์ ดังกล่าว ได้อ้างถึงคำให้การของนายแพทย์แอนโทนี่ เฟาซี่ ต่อสภาคองเกรส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งนายเฟาซี่ได้ให้การว่า NIH ไม่ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่สถาบันวิจัยที่อู่ฮั่นในการวิจัยไวรัส gain of function แต่อย่างใด

ทั้งนี้ การเรียกร้องของนายอีลอน มัสก์ ให้ดำเนินคดีนายเฟาซี่นั้น ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นข้อหาใด แต่ข้อหาที่ชัดเจนที่สุดคือข้อหาให้การเท็จและโกหกต่อสภาคองเกรส ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

‘อีลอน มัสก์’ ชี้ ไม่เห็นด้วย กับการขึ้นภาษียานยนต์ไฟฟ้าของจีน เผย!! เทสลาไม่เคยร้องขอให้เก็บภาษีเหล่านี้ ชี้!! เป็นการบิดเบือนการตลาด

(26 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา (Tesla) เผยว่าตัวเขาไม่เห็นด้วยกับประกาศของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขึ้นภาษียานยนต์ไฟฟ้าของจีน โดยระบุว่าทั้งเขาและเทสลาไม่เคยร้องขอให้เก็บภาษีเหล่านี้

มัสก์แสดงความเห็นข้างต้นเมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) ขณะตอบคำถามผู้เข้าชมผ่านระบบวิดีโอในงานมหกรรมวีวาเทค (VivaTech) การประชุมเทคโนโลยีประจำปีที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ตอัป จัดขึ้นในกรุงปารีสของฝรั่งเศส

“ที่จริงแล้วผมรู้สึกประหลาดใจด้วยซ้ำหลังมีประกาศภาษีดังกล่าว” มัสก์กล่าวหลังถูกถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของคณะบริหารของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มการเก็บภาษียานยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 100

มัสก์ระบุว่าเทสลามีการแข่งขันที่ค่อนข้างดีในตลาดจีนโดยไม่มีทั้งกำแพงภาษีหรือการอนุโลมผ่อนผันใดๆ พร้อมเสริมว่าตนไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีนำเข้า เนื่องจากสิ่งที่กีดขวางเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนหรือบิดเบือนการตลาดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก

อนึ่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) เทสลาได้เริ่มก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่แห่งใหม่ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เพื่อผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเมกะแพ็ก (Megapack) ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทฯ มองว่าเป็น “หมุดหมายสำคัญ”

โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่แห่งแรกของเทสลานอกสหรัฐฯ และเป็นโรงงานแห่งที่สองของเทสลาในเซี่ยงไฮ้ หลังมีการเปิดโรงงานเซี่ยงไฮ้กิกะแฟคทอรี ในปี 2019 ด้วยเงินลงทุนแรกเริ่มกว่า 5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.58 แสนล้านบาท)

‘X’ อนุญาตให้เผยแพร่คอนเทนต์ 18+ อย่างเป็นทางการ ภายใต้เงื่อนไขได้รับความยินยอม - มีเครื่องหมายถูกสีฟ้า

(4 มิ.ย.67) สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ (X) ของอีลอน มัสก์ อัปเดตนโยบายใหม่เพื่ออนุญาตเผยแพร่เนื้อหาผู้ใหญ่ได้อย่างเป็นทางการ

โดยภายใต้นโยบายอัปเดตใหม่นี้ อดีตแพลตฟอร์ม X ที่เคยใช้ชื่อว่าทวิตเตอร์ จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศได้ ตราบใดที่เป็นเนื้อหาที่ได้รับการยินยอมและมี ‘เครื่องหมายถูกสีฟ้า’

นโยบายที่ได้รับการปรับปรุงและอัปเดตมามากกว่า 1 อาทิตย์นั้น ตอกย้ำว่า ผู้ใช้งานสามารถผลิต เผยแพร่ และบริโภคเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศได้ตราบใดที่เป็นเนื้อหาที่ผลิตและเผยแพร่ด้วยความยินยอม

"การแสดงออกทางเพศ ไม่ว่าด้วยภาพหรือการเขียนสามารถเป็นรูปแบบการแสดงออกที่ถูกกฎหมายได้” แพลตฟอร์ม ระบุ

“เราเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของผู้ใหญ่ ในการมีส่วนร่วมหรือสร้างเนื้อหาที่สะท้อนความเชื่อ, ความปรารถนา และประสบการณ์ของพวกเขา รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ”

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาเหล่านี้จะระงับไม่ให้เผยแพร่แก่ผู้ใช้งานที่เป็นเด็ก และผู้ใช้งานผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการรับชม อีกทั้งผู้ใช้งานจะไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ได้รับการยินยอม เป็นที่คัดค้าน เนื้อหาทางเพศหรือเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อผู้เยาว์ และเนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมลามกอนาจาร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแพลตฟอร์ม X แตกต่างจากอินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก, ติ๊กต็อก และยูทูบ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ระงับเนื้อหาที่มีภาพเปลือยหรือเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ และภายใต้การบริหารของมัสก์ ‘X’ ได้ปรับลดการกลั่นกรองเนื้อหา และคืนสถานะบัญชีที่เคยถูกระงับก่อนหน้านี้ รวมทั้งบัญชีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ และอเล็กซ์ โจนส์ นักทฤษฎีสมคบคิด 

จากการดำเนินงานดังกล่าว มัสก์ โต้แย้งไว้ว่า เป็นการสนับสนุนเสรีภาพทางการพูด แต่นักวิจารณ์กล่าวโทษประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทสลาว่า เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพูดที่สร้างความเกลียดชัง และข้อมูลผิด ๆ

'อีลอน' เผย!! ผู้ถือหุ้นเทสลาโหวตอนุมัติค่าตอบแทน 2 ลลบ. หลังวางยา 'หากไม่ยอม อนาคตของเทสลาอาจมีความเสี่ยง'

(14 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา โพสต์ลงบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) ว่า ผู้ถือหุ้นเทสลาโหวตเห็นด้วยกับการอนุมัติแพ็กเกจค่าตอบแทน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่นายมัสก์ และโหวตสนับสนุนการย้ายสำนักงานใหญ่จากรัฐเดลาแวร์ไปยังรัฐเท็กซัส โดยนายมัสก์เผยว่าผลการลงคะแนนออกมาอย่างท่วมท้น

“ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนนะทุกคน!!” นายมัสก์โพสต์บนเอ็กซ์

ผลการลงคะแนนจะประกาศในที่ประชุมที่สำนักงานใหญ่ของเทสลาในรัฐเท็กซัส เวลา 16:30 น. ในวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น (หรือ 04.30 น. ของวันศุกร์นี้ ตามเวลาไทย)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ผลการนับคะแนนเบื้องต้นบ่งชี้ว่า เสียงสนับสนุนมาจากทั้งนักลงทุนสถาบันรายใหญ่และนักลงทุนรายย่อย

ก่อนหน้านี้ บริษัทนายหน้ารายใหญ่อย่าง Glass Lewis กับ Institutional Shareholder Services (ISS) ได้ขอให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนเสียงคัดค้านแพ็กเกจค่าตอบแทนของนายมัสก์ รวมถึงนักลงทุนรายใหญ่อย่างกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ ก็ได้ประกาศว่าจะโหวตคัดค้านด้วย

นอกจากเรื่องแพ็กเกจค่าตอบแทนกับเรื่องย้ายสำนักงานใหญ่แล้ว ผู้ถือหุ้นเทสลายังโหวตเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น การเลือกตั้งกรรมการบริษัทสองคนใหม่ ได้แก่ นายคิมบาล มัสก์ ผู้เป็นน้องชายของนายอีลอน และนายเจมส์ เมอร์ด็อก

ด้านนายเกร็ก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส โพสต์แสดงความยินดีกับนายมัสก์บนเอ็กซ์ว่า “ยินดีต้อนรับสู่รัฐที่ไม่มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล”

ทั้งนี้ เทสลาได้รณรงค์อย่างหนักเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติแพ็กเกจค่าตอบแทนจำนวนมหาศาลให้แก่นายมัสก์ โดยระบุในเว็บไซต์การประชุมประจำปีของบริษัทว่า “มูลค่าในอนาคตที่เรามีไว้ให้คุณนั้นกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เราต้องการคะแนนเสียงของคุณตอนนี้เพื่อปกป้องเทสลาและเงินลงทุนของคุณ”

นอกจากนี้ เทสลายังจัดกิจกรรมสุ่มเลือกผู้ถือหุ้น 15 คนที่ลงคะแนนเสียง ให้ไปทัวร์โรงงานเทสลาที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส โดยมีนายมัสก์และนักออกแบบรถยนต์ ฟรองซ์ ฟอน โฮลซ์เฮาเซน เป็นผู้นำทัวร์ด้วยตนเอง

เมื่อเดือนมี.ค. 2561 ผู้ถือหุ้นเทสลาส่วนใหญ่โหวตสนับสนุนแพ็กเกจค่าตอบแทนสำหรับนายมัสก์ แต่ในเดือนม.ค.ของปีนี้ ศาลรัฐเดลาแวร์ตัดสินให้แพ็กเกจดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมาในเดือนเม.ย. เทสลาได้รื้อฟื้นแพ็กเกจดังกล่าวอีกครั้ง โดยนางโรบิน เดนโฮล์ม ประธานบอร์ดฯ ได้ขอร้องให้นักลงทุน “ช่วยกันแก้ปัญหานี้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top