Sunday, 25 May 2025
อรรถวิชช์สุวรรณภักดี

'อรรถวิชช์' มอง!! ดิจิทัลวอลเล็ตในเชิงเศรษฐศาสตร์ มันจบแล้ว ชี้!! หากแท้ง ลองหวน 'แก้เครดิตบูโร' ช่วยประชาชนได้มากกว่า

(18 ม.ค.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีต สส.กทม. แชร์มุมมองเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่า…

ผมบอกได้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมันจบแล้วท่านนายกฯ สำหรับในมุมเศรษฐศาสตร์ มันจบแล้ว และหมายความว่ามันไม่ได้วิกฤต ซึ่งเรากําลังพูดในปี 2567 ในปีนี้ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจมันจะมีดังต่อไปนี้

1.) ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ ค่าเงินจะอ่อนตัวค่อนข้างมาก ซึ่งของเราไม่ได้เป็นอย่างงั้นในขณะนี้ และ 2.) ‘ทุนสํารองเงินตราระหว่างประเทศ’ คือ ทองคําก็ดี ดอลลาร์หรือเยนที่ต้องเอามาแบ็คในการพิมพ์แบงค์มันร่อยหรอ ที่เขาบอกเงินหมดเกลี้ยงคลังซึ่งก็คือทุนสํารองเงินตราระหว่างประเทศ ของเราขณะนี้เต็มพิกัดเยอะมาก และมีมากกว่าเงินในระบบหลายเท่าตัวด้วย 

ปัจจุบันเมื่อปี 2566 เขาเพิ่งประกาศว่าสถาบันการเงินกําไรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว…อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ใช่อีก ก็ไม่ได้เฟ้อหรือเละเทะไปไหน ในปีนี้ GDP ก็ขึ้นแดนบวก เพราะฉะนั้นในมุมความเป็นเศรษฐศาสตร์ในปีนี้มันจบล่ะโครงการนี้ มันไม่มีความชอบธรรมแล้ว

ดังนั้น ในมุมเศรษฐศาสตร์ที่มันจบแล้ว มันมีกฎหมายพรบ.วินัยทางการคลังมาตรา 53 โดยมาตรานี้ได้บอกว่าถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายนี้ออกได้ถ้ามันฉุกเฉินและจําเป็น แต่คุณต้องทําทั้ง ๆ ที่คุณใช้งบประมาณปกติประจําปีไม่ได้แล้ว ปีนี้กําลังคุยงบประมาณปี 2567 กันอยู่ พูดกันในสภาใช่ไหม แล้วมีไหมงบเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตข้างใน ซึ่งไม่มี…ก็จบแล้ว ไม่ต้องไปพูดเลยว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต เพราะว่ามันตั้งงบประมาณทัน แต่มันไม่ตั้ง 

แต่มันมีเรื่องหนึ่งที่ท่านนายกฯ มีความชอบธรรม คือความชอบธรรมของท่านนายกฯ มาจากประชาชน ท่านจะมีหน้าที่ต้องแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ไม่ใช่วิกฤตประเทศ ซึ่งเมื่อกี้ได้ย้ำแล้วนะ GDP เราอยู่แดนบวก มันเป็นวิกฤตของชาวบ้าน พวกเราคนเงินเดือนต้องสู้กับดอกเบี้ยที่สูง สู้กับภาระหนี้นอกระบบ ทําไมธนาคารพาณิชย์ไทยไม่แข่งขันส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ซึ่งสูงมาก ขณะที่ประเทศอื่นเขาอยู่กัน 2-3% แบงก์มันถึงกําไรเยอะ แล้วปีที่แล้วอเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะกลัวเงินเฟ้อ จึงพิมพ์แบงค์ใช้เอง เพื่อแจกประชาชน พอแจกเยอะก็จะเอาเงินกลับ เพราะเงินเฟ้อเยอะ ก็ดูดขึ้นดอกเบี้ย เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ประเด็นมันมีอยู่ว่าตอนขึ้นตามไม่มีปัญหาหรอก มันถึงมีกําไรทุกวันนี้ แล้วตอนกดลง มันกดลงได้เปล่า? ไม่ลงไง…

แล้วก็กลับมาว่าเกิดความตาย แล้วใครตาย? พวกเราไง พวกที่ไปผ่อนบ้านอยู่ 2-3 ล้านกว่า จากดอกหมื่นเดียว 3 ปีตรึงดอกเบี้ย พอขึ้นปีที่ 4 ดอกเบี้ยลอยตัว จากที่เคยจ่าย 10,000 บาท เป็นจ่าย 16,000-17,000 บาท ตายครับ…ไปเที่ยวก็ไม่ต้องไปเที่ยวไหนกันแล้ว

คือรัฐบาลเขามองว่าเขาแจกถ้วนหน้าทุกคน ไม่ใช่การไปช่วยเหลือคนจน เพราะเขามองว่าจะเอารายจ่ายภาครัฐอัดฉีดเครื่องยนต์ตัวนี้ให้ติด เพื่อไปกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเขามองเรื่อง GDP ดังนั้นคําถามคืออันนี้ประเทศวิกฤตไหม? คําตอบคือประเทศไม่ได้วิกฤต คุณแจกถ้วนหน้าไม่ได้ในสูตรนั้น ผมจึงบอกมันจบแล้วไง แต่ในกลับกันคนชั้นกลางคนจนนี่แหละที่วิกฤต ทําไมอัตราดอกเบี้ยมันขึ้น ก็ต้องถามว่าทําไมแบงก์พาณิชย์มันกําไรกระฉูดเมื่อปีที่แล้ว เพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมันไม่แข่งขันกัน…ทำยังไงคุณให้ธนาคารพาณิชย์แข่งเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งไม่ใช่เปิดแบงก์เพิ่มนะ และที่บอกว่าให้เปิดแบงก์เพิ่มเนี่ยผมว่าเป็นความคิดล้าหลังมาก เราเปิดแบงก์เพิ่มทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น อิสลามแบงก์ เอสเอ็มอีแบงก์ ลายเส้นแบงก์ย่อย เราเปิดหมด ไม่ใช่การเพิ่มแบงก์ เราต้องการเพิ่มในข้อแข่งขันในอัตราดอกเบี้ย เรื่องพวกนี้รัฐบาลต้องทํา ถึงบอกท่านว่าแล้วทําไมท่านไม่ใช้วิธีอื่นบ้าง? แก้กฎหมายเครดิตบูโรใครที่ติดหนี้อยู่แล้วจ่ายหนี้เรียบร้อย ให้ลบออกจากบัญชีไป เครดิตตอนนี้เวลาทําเป็นบัญชีนะ 3 ปี เหมือนบัญชีหนังหมา ดีบ้างไม่ดีบ้างอยู่ 3 ปี ไปปล่อยแบงก์ก็ไม่กล้าปล่อย

ดังนั้น ทําไมคุณไม่ทําแบบอเมริกาเป็น Credit Score บอกเป็นคะแนนเลย ถ้าคะแนนดีดอกต่ำ ถ้าคะแนนต่ำดอกแพง อย่างนี้มันก็เกิดการแข่งขันธนาคารไม่ใช่เพิ่มจํานวนธนาคาร แต่มันคือการให้ธนาคารแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

'อรรถวิชช์' เตรียมรับมือสร้างคอนโดสูงหน้า 'รร.บดินทรเดชา' พบที่จอดรถโครงการน้อย โอกาสเบียดแย่งที่จอดในละแวกมีสูง

(29 ก.พ.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้เปิดเผยถึงโครงการคอนโดที่มีจำนวนยูนิตมากกว่า 500 กำลังจะก่อสร้างขึ้นบริเวณตรงข้ามโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) วังทองหลาง ซึ่งอาจสร้างปัญหาด้านการจราจรในอนาคต เนื่องจากโครงการมีจำนวนที่จอดรถน้อยจนเกินไป ว่า...

“ผมมาเตรียมรับมือการสร้างคอนโดสูงในซอยแคบหน้าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งโครงการนี้ไม่ธรรมดามีถึง 11 อาคาร และแต่ละอาคารจะมี 8 ชั้น แล้วที่สําคัญห้องพักมีถึง 512 ห้อง แต่ในขณะที่ที่จอดรถมีเพียงแค่ 206 คัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแค่ 40% เท่านั้น ไม่ใช่ 1 ต่อ 1 และยังไม่รวมว่าถ้าเกิดมีญาติมาเยี่ยมหรือใครมาเยี่ยมอีก ซึ่งจะจอดรถกันตรงไหน”

“คราวนี้มาดูที่ถนนหน้าซอย ซึ่งเป็นถนนไปกลับสองเลน ไปเลนนึงและกลับเลนนึง ถ้ามีใครจอดรถเข้าสักคันนึง ทีนี้รถติดก็จะติดกันยาวเพราะว่าต้องเบี่ยงเข้าอีกเลนเพื่อแซงกันขึ้นมา”

จากนั้น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้ทำการวัดขนาดถนนหน้าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แล้วพบว่ามีขนาดกว้างทั้งสิ้น 6.90 เมตร

“ซึ่งขณะนี้ผมก็เลยไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณในซอยนี้ เขาก็ให้ความเห็นกันมาเป็นทิศทางเดียวกันเลยว่าติดตอนเช้าและตอนเย็นช่วงที่รับเด็กนักเรียน แต่ก็จะรู้สึกไม่โอเคถ้าหากมีคอนโดแห่งนี้เกิดขึ้นแล้วมีที่จอดรถไม่เพียงพอ หากถ้าตอนเช้าคนจากคอนโดมาจอดรถไว้แล้วไม่ยอมเอากลับไป ก็เท่ากับรถติดเป็นอัมพาตกันทั้งซอยเลยทีเดียว”

“ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาสําคัญเลยทีเดียวสำหรับในซอยที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตั้งอยู่ ดังนั้นก็หวังว่าการสร้างคอนโดจะทําไปด้วยความระมัดระวังมากกว่านี้ในเรื่องของที่จอดรถต้องเตรียมให้มีความพร้อมมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นที่เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้” นายอรรถวิชช์ กล่าว

'WAVE' แต่งตั้ง 'อรรถวิชช์' นั่งแท่นประธานกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป

(18 มี.ค.67) นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE ดำเนินธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่สนับสนุนให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้อย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า...

ทางบริษัทฯ ได้ทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 โดยมีมติแต่งตั้ง 'นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี' เป็นกรรมการใหม่ และประธานกรรมการบริษัทแทนนายแมทธิว กิจโอธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่ได้ลาออกไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป

สำหรับ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นอกจากเป็นนักการเมือง อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตเลขาธิการพรรคกล้า อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร หลักสี่ บางซื่อพญาไท พรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่ตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียน ปัจจุบันยังเป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN ) 

'อรรถวิชช์' ชู RECs 'ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด'  นวัตกรรมช่วยลดโลกร้อน เพิ่มขีดความสามารถผู้ส่งออกไทยสู้เวทีการค้าโลก

(23 เม.ย.67) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานกรรมการบริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยานในการให้ความร่วมมือกันระหว่าง ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยองค์กรและผู้ประกอบการไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า "ขณะนี้ผู้ส่งออกสินค้าไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซที่ทำให้โลกร้อนจำพวกคาร์บอน มีเทน และอื่น ๆ หากไม่มีมาตรการหักลบหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง จะโดนข้อกีดกันทางการค้าจากประเทศปลายทางหลายอย่าง เช่น ภาษีคาร์บอน หรือการถูกยกเลิกเป็นคู่ค้า"

โดย บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหามาตรการช่วยลดภาวะโลกร้อน และ ต้องการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเข้าสู้เวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด สามารถให้คำแนะนำ และมีนวัตกรรมที่สามารถจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยกลไก ที่เรียกว่า 'Renewable Energy Certificates : RECs' หรือ 'ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด'

"กลไกนี้ จะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ขาหนึ่งที่สร้างมลภาวะ ขณะที่อีกขาหนึ่งช่วยให้เกิดพลังงานสะอาด ให้หักกลบลบกันไป เพื่อช่วยลดโลกร้อน และเป็นการช่วยผู้ส่งออกไทยให้สู้กับต่างประเทศได้ นี่คือกติกาการค้าใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยต้องเจอครับ เป็นเรื่องยากที่ต้องทำให้ง่าย" ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

‘อรรถวิชช์’ ชี้!! รัฐบาลจัดงบฯ ขาดดุลเต็มพิกัด เข็น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แต่คุ้มไหมกับหนี้สาธารณะ?

(19 มิ.ย.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบ ‘แนวหน้าออนไลน์’ ในประเด็น (ร่าง) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่มีข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรงบฯ สำหรับโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หรือการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไว้เป็นพิเศษ ว่าเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพราะการจัดงบฯ ครั้งนี้หัวใจจะไปอยู่ที่โครงการดังกล่าว ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไร จะคล้ายกับที่ทุก ๆ รัฐบาลทำกันมา เช่น โครงสร้างพื้นฐานก็เดินต่อในกรอบเดิม

ทั้งนี้ ต้องเริ่มต้นจากการอธิบายก่อนว่า การจัดทำงบประมาณมี 3 รูปแบบ คือ 1.สมดุล หมายถึงรายรับ-รายจ่ายอยู่เท่ากัน 2.เกินดุล หมายถึงรายจ่ายจะน้อยกว่ารายรับ และ 3.ขาดดุล หมายถึงรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปประเทศไทยจัดทำงบประมาณขาดดุลกันมาตลอด แต่การขาดดุลก็มีการจำกัดไว้ กำหนดเส้นว่าห้ามขาดดุลเกินเท่าไร โดยมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามเกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีกร้อยละ 80 ของการชำระคืนเงินต้น ซึ่งล่าสุดรัฐบาลใช้โควตาแบบเต็มแม็กซ์ คือราว 8 แสนล้านบาท

“ปกติรัฐบาลอื่น ๆ เขาจะเกือบ ๆ เพราะเขาจะเว้นช่องไว้หน่อย ถ้าเกิดระหว่างปีมันมีเรื่องโน้นเรื่องนี้เกิดขึ้น เขาอาจจะของบประมาณเพิ่มเติมเข้าสภา เขาเรียกงบประมาณประจำปีฉบับเพิ่มเติม แต่เที่ยวนี้รัฐบาล งบ’68 กดเต็มแม็กซ์เลย คือต้องการขาดดุลแบบเต็มเพดาน เพราะเขาต้องการเอาทำเงินดิจิทัล ผมถึงบอกว่าดิจิทัลแจกใช้เงิน 5 แสนกว่าล้าน ในขณะที่ขาดดุลงบประมาณเต็มปีได้แค่ 8 แสนกว่า แต่ 8 แสนกว่าก็ต้องเอาไปจ่ายพวกเงินเดือนประจำ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เลยทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องใช้เงิน 3-4 แหล่งที่มาด้วยกัน” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อไปว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไล่ตั้งแต่งบประมาณฯ 2568 นอกจากนั้นยังดึงงบกลางที่นายกฯ สามารถใช้ได้ ของปีงบประมาณ 2567 มาใช้ด้วย อีกทั้งยังจะออก พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ฉบับเพิ่มเติม โดยก่อนหน้านั้น ร่างงบฯ’67 ทำค้างไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังขาดดุลไม่เต็มโควตา ก็จะจัดให้เต็มในช่วงปลายปีงบประมาณ สุดท้ายคือไปดึงเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะรวม ๆ จากแหล่งเหล่านี้มาให้ครบ 5 แสนล้านบาท

ส่วนที่บางคนไม่เชื่อว่าจะดึงเงิน ธ.ก.ส. มาได้ ก็ต้องบอกว่ามีช่องทางให้ทำได้ เช่น จัดโปรแกรมช่วยเหลือเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัล หากเป็นประชาชนทั่วไปก็แจกได้เลย แต่สำหรับเกษตรกรซึ่งลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. ก็แจกโดยให้เข้ากับกรอบกฎหมาย ธ.ก.ส. อาทิ การใช้เงิน 1 หมื่นบาทของเกษตรกร อาจไปใช้พัฒนาพันธุ์ข้าว หรือไปใช้ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ฯลฯ เป็นการลากผลสู่เหตุ-ลากเหตุสู่ผล เพื่อให้ใช้เงินได้ในกรอบของ ธ.ก.ส. เพราะหากจะใช้เงินของ ธ.ก.ส. ก็ต้องเขียนให้เชื่อมโยงกัน นักกฎหมายก็ต้องแฉลบให้มันลง

“ปกติโครงการจำนำข้าวก็ดี ประกันรายได้ก็ดี ไม่ว่าของเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ มันคือการแจกเงินทั้งสิ้น ประกันก็แจก จำนำก็แจก แจกอยู่รอบหนึ่งก็ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ต่อ Crop (การปลูก) ละกัน เขากะว่าก็เหมือนกัน แต่อาจจะไม่ทำจำนำ ทำน้อยหน่อย หรือทำประกันน้อยหน่อย แต่เอาเงินมาจ่ายตรงนี้แทน คือมันเป็นการ Frame (วางกรอบ) นโยบายใหม่ แต่แจกเหมือนเดิม” นายอรรถวิชช์ ระบุ

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับตนการทำอย่างอื่นคุ้มกว่าโครงการนี้ แต่หากไม่ทำพรรคเพื่อไทยก็เสียคน ดังนั้นก็ต้องดันกันสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อให้ออกมา โดยในทางเศรษฐศาสตร์ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) การทำให้เจริญเติบโต มีเครื่องยนต์ 4 ตัว คือ 1.การบริโภคภายในประเทศ ยิ่งบริโภคเยอะ เงินหมุนเยอะ GDP ก็โต 2.การลงทุน หากมีต่างชาติเข้ามาลงทุน เกิดการลงทุนใหม่ ๆ 3.รายจ่ายภาครัฐ ยิ่งเยอะ GDP ก็โต และ 4.ดุลการค้า ต้องส่งออกมากกว่านำเข้า ทั้ง 4 ตัวนี้ หากโตพร้อมกัน GDP ก็ขึ้น

แต่สิ่งที่ทำง่ายที่สุดคือการแจกเงิน หรือการจ้างคนเดินงบหลวงไปขุดดิน ขุดแล้วก็ฝัง ทำเท่านี้ GDP ก็ขึ้นแล้ว เพราะเกิดการจ้างงาน เป็นการนำงบประมาณลงไป ซึ่งก็ทำกันบ่อย ๆ มาหลายรัฐบาล ไม่ต้องคิดอะไรมาก ดัมพ์เงินแจกเงินลงไป เงินก็หมุน แต่ที่ชั่วหนักคือ หากมีการโกงเกิดขึ้น เพราะเงินจะไปอยู่ในกระเป๋าคนอื่น เงินไม่ได้ไปหมุน การบริโภคในประเทศก็จะไม่เกิด แต่หากแจกตรง ๆ ไม่มีการโกง รายจ่ายภาครัฐก็จะเกิด การบริโภคหมุน ดังนั้นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็จะคิดอยู่ใน 2 มุมเท่านั้น คือภาครัฐจ่ายเงินลงไปแล้วเกิดการบริโภคภายในประเทศ

“มันง่ายไปไหม? แต่เขาก็คิดแบบนั้น แล้วเขาคงต้องทำเดินไปแบบนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ภาระที่เราต้องจ่าย รัฐบาลต้องมีการจ่ายรายปีในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คราวนี้เวลาหนี้สาธารณะมัน อันนี้ผมพูดแย้งกันในคนเดียวกันนะเพื่อให้เห็นภาพมุมลบและมุมบวก คือรัฐบาลเขาบอกว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP มันอาจจะน้อยก็ได้ เพราะอะไร? เพราะถ้าเกิดผมอัดเงินลงไปแล้ว GDP มันก็ต้องขึ้น พอขึ้นตัวหารมันก็ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจจะลดลงก็ได้นะ เขาก็พูดในมุมนั้น แต่ถ้าพูดถึงในมุมยอดหนี้มันขึ้น ให้เห็นภาพว่าเขาคิดกันแบบนี้” นายอรรถวิชช์ กล่าว

‘เอกนัฏ – อรรถวิชช์’ นำทีมลุย!! กำจัด ‘กากพิษ – ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เร่ง!! ออกกฎหมาย บังคับใช้เข้มงวด เพื่อปราบปราม ‘โรงงานเถื่อน’

(24 พ.ย. 67) รายการข่าว3มิติ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ผนึกกำลังรวมทีมกัน เพื่อกำจัดกากพิษให้ประชาชน โดยเนื้อหาในรายการมีใจความว่า ...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า ที่แรกที่ผมไปก็คือที่ ‘วินโพรเซส’ เพื่อส่งสัญญาณว่าจากนี้ไป เราต้องไม่ปิดตา ที่มันเกิดขึ้นได้เนี่ยมันไม่ใช่เกิดด้วยความบังเอิญหรือไม่มีใครรู้ มันอยู่ที่ว่าเราจับไม่จับ ออกจับจริงมั้ยถ้าออกจับจริง ก็จะเจอแบบที่เราเจอทั้งผลิตในประเทศ ทั้งนําเข้ามา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า สิ่งที่กําลังทําขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือสั่งปราบปรามโรงงานเถื่อน 

ส่วนที่สองคือช่องโหว่ทางกฎหมายที่กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีกฎหมายเฉพาะมากํากับโดยตรง จึงได้ตั้งคณะทํางานร่างกฎหมายใหม่ในชื่อพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เจตนากฎหมายนี้ ก็เพื่อแยกโรงงานกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากโรงงานประเภทอื่นให้ชัดเจน

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใช้กํากับของเสีย พ.ร.บ.โรงงานของดี พรบ.กากกํากับดูแลของเสีย ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต้องกําจัด กากของเสียนิคมอุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบ ต้องกําจัดของเสีย และกรณีที่มีพวกที่เจตนาเป็นโจรรับกําจัดของเสียแล้วไม่ทํา กฎหมายก็ต้องรุนแรงพอที่จะไปจัดการกับพวกที่มีเจตนาเป็นโจร” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย 

ร่างพระราชบัญญัติการอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เอกนัฏ พร้อมพันธุ์กล่าวถึงมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทําหน้าที่เป็นประธานคณะทํางานร่างขึ้น

ซึ่งนายอรรถวิชช์ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า เวลาสั่งปิดโรงงาน สั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว ทําอะไรเค้าไม่ได้แล้วนะ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปแตะเค้าไม่ได้อีกเลย กากพิษก็ยังอยู่ในนั้น กว่าจะได้เงินเยียวยา กว่าจะเข้าไปเก็บกู้ซาก รอกันนานมาก

ภายใต้พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม เรามีการตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ขึ้นอีกอันนึง ทําหน้าที่ในการที่เข้าไปจัดการเยียวยาประชาชนได้ก่อนเลย รวมไปถึงเก็บกู้ได้ก่อนเลย รัฐเนี่ยแหละเข้าไปลุยฟ้องก่อน พอรัฐชนะ ค่อยเอาเงินวกกลับมาคืนกองทุน เยียวยาเร็ว กู้ซากเร็ว เอาสารพิษออกมาได้เร็ว เราไม่มีสินบนนําจับ แล้วก็ขอว่าไม่เข้าหลวงแต่มาเข้ากองทุนเลย คือสินบน เป็นศูนย์เลย เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น
.
ไม่ให้นําเข้าขยะ แต่จะให้นําเข้าเฉพาะวัตถุดิบเท่านั้น คราวนี้คุณต้องชัดเจน ห้ามมั่ว ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาคุณบี้รถยนต์เข้ามา คุณบี้มาเป็นทั้งคัน ก็บี้ส่งเข้ามา พอเข้ามา ก็มาแยกกันอีกที มันก็จะเหลือเศษที่ไม่มีความจําเป็น คราวนี้เวลาคุณเอาเข้ามาคุณเอาให้แน่ คุณไปแยกมาก่อนที่นู่นเลย ส่วนเบาะรถยนต์คุณแกะออกส่วนสายไฟแกะออกส่วนที่เป็นเหล็กแกะเข้าออก คือมันมาเป็นขยะไม่ได้ แต่ต้องมาเป็นโลหะที่มีคุณภาพ ที่ประเทศไทยถลุงไม่ได้เอง 

ร่างกฎหมายนี้ จะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วก็จะบรรจุเข้าสู่วาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมหน้า

‘อรรถวิชช์’ เผย!! กฎหมายส่งเสริม การใช้ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทะลุ!! ทุกขั้นตอน แจ้งที่เดียว วิศวกรเซ็นรับรอง ติดตั้งได้เลย

(11 ม.ค. 68) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ยกร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ค่อนข้างลำบากเนื่องจากต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน ถือถ้าเกิน 1,000 เมกะวัตต์จะต้องขออนุญาตมากถึง 5 หน่วยงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปีถึงจะได้รับอนุญาต

ดังนั้นกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะทะลุขั้นตอนการขออนุญาตหมดเลย เพียงแค่แจ้งที่เดียว และให้วิศวกรเซ็นรับรอง ซึ่งจะทำให้ความล่าช้าทั้งหมดหายไปทันที

ในขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพัฒนาตัว Inverter ขนาด 5 กิโลวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดสอบมาตรฐานซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย และเมื่อมีการผลิตมาวางจำหน่ายราคาจะลดลงครึ่งนึงจากสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาด 

เมื่อราคาถูก ประกอบกับการขออนุญาตติดตั้งง่ายขึ้น ประชาชนก็จะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากยิ่งขึ้น เป็นช่วงกลางวันใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วงกลางคืนเชื่อมต่อกับไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

‘พงศ์พรหม’ ชื่นชม!! ‘เอกนัฏ-อรรถวิชญ์-ฐิติภัสร์’ ในการสืบสวน อุตสาหกรรมก่อสร้าง เดินหน้าปราบ!! คอร์รัปชั่น แก้ปัญหาการผูกขาด รบกับอภิสิทธิ์ชนที่โกงชาติ เพื่อปชช.

(7 เม.ย. 68) นายพงศ์พรหม ยามะรัต นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี และอดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ การสืบสวนความผิดปกติของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยได้ระบุว่า ...

การสืบสวนความผิดปกติของอุตสาหกรรมการก่อสร้างรอบนี้ ต้องยกเครดิตให้คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ คุณโอ๋ และคุณเอ๋ (อรรถวิชญ์)
ผมรู้จักคุณเอ๋ส่วนตัว แต่อีก 2 ท่าน ผมไม่รู้จักอะไรส่วนตัวเลย และเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้เลือก รทสช.ด้วย

แต่วิกฤติรอบนี้ สร้าง “ตัวจริง” ให้แจ้งเกิดได้อย่างงดงามในฝั่ง “ขวาปฏิรูป”
ขอชื่นชมมากๆ แทนสังคมไทย

และฝากพรรคฝั่งขวา เช่นประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย (ปี 66 ผมไม่ได้เลือก 3 พรรคนี้เช่นกัน) ศึกษาการทำงานโดยเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักของคน 3 คนนี้ไว้ 
พรรคฝั่งขวาจะโตได้ ต้องมีเป้าหมายเป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง เหมือนที่ในหลวงทุกรัชกาลท่านพูดไว้เสมอ

พรรคก้าวไกลเขาได้รับความนิยมสูงมาก ไม่ใช่เพราะประชาชนอยากล้มเจ้า
แต่พรรคก้าวไกลเขามี 1 อุดมการณ์ที่ผมก็ชื่นชม คือการรบกับการคอร์รัปชั่น รบการผูกขาด รบอภิสิทธิ์ชนที่โกงชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ไม่ใช่สักแต่พูดว่ารักเจ้าไปเรื่อย แต่ผูกตัวเองกับระบบสูบเลือด สูบเนื้อประเทศชาติจนเสียหายแบบพรรคฝ่ายขวาส่วนใหญ่
เราจึงเห็น 2 พรรคฝ่ายขวาที่คนเค้าไม่เอาแล้ว ทั้งที่ประชาชนเคยนิยม ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่รอวันล่มสลาย หากไม่เปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง

หากคุณเอกนัฏ คุณโอ๋ คุณเอ๋ ยัง keep pace นี้ได้ ให้ยาวจนจบรัฐบาล
แถม “สลัด” สมาชิกพรรคฝั่ง “โกงยับ” ที่มาเป็นกาฝากในพรรคได้
อนาคตคนกลุ่มนี้จะสดใสมากในการเมืองไทยครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top