'อรรถวิชช์' มอง!! ดิจิทัลวอลเล็ตในเชิงเศรษฐศาสตร์ มันจบแล้ว ชี้!! หากแท้ง ลองหวน 'แก้เครดิตบูโร' ช่วยประชาชนได้มากกว่า

(18 ม.ค.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีต สส.กทม. แชร์มุมมองเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่า…

ผมบอกได้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมันจบแล้วท่านนายกฯ สำหรับในมุมเศรษฐศาสตร์ มันจบแล้ว และหมายความว่ามันไม่ได้วิกฤต ซึ่งเรากําลังพูดในปี 2567 ในปีนี้ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจมันจะมีดังต่อไปนี้

1.) ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ ค่าเงินจะอ่อนตัวค่อนข้างมาก ซึ่งของเราไม่ได้เป็นอย่างงั้นในขณะนี้ และ 2.) ‘ทุนสํารองเงินตราระหว่างประเทศ’ คือ ทองคําก็ดี ดอลลาร์หรือเยนที่ต้องเอามาแบ็คในการพิมพ์แบงค์มันร่อยหรอ ที่เขาบอกเงินหมดเกลี้ยงคลังซึ่งก็คือทุนสํารองเงินตราระหว่างประเทศ ของเราขณะนี้เต็มพิกัดเยอะมาก และมีมากกว่าเงินในระบบหลายเท่าตัวด้วย 

ปัจจุบันเมื่อปี 2566 เขาเพิ่งประกาศว่าสถาบันการเงินกําไรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว…อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ใช่อีก ก็ไม่ได้เฟ้อหรือเละเทะไปไหน ในปีนี้ GDP ก็ขึ้นแดนบวก เพราะฉะนั้นในมุมความเป็นเศรษฐศาสตร์ในปีนี้มันจบล่ะโครงการนี้ มันไม่มีความชอบธรรมแล้ว

ดังนั้น ในมุมเศรษฐศาสตร์ที่มันจบแล้ว มันมีกฎหมายพรบ.วินัยทางการคลังมาตรา 53 โดยมาตรานี้ได้บอกว่าถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายนี้ออกได้ถ้ามันฉุกเฉินและจําเป็น แต่คุณต้องทําทั้ง ๆ ที่คุณใช้งบประมาณปกติประจําปีไม่ได้แล้ว ปีนี้กําลังคุยงบประมาณปี 2567 กันอยู่ พูดกันในสภาใช่ไหม แล้วมีไหมงบเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตข้างใน ซึ่งไม่มี…ก็จบแล้ว ไม่ต้องไปพูดเลยว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต เพราะว่ามันตั้งงบประมาณทัน แต่มันไม่ตั้ง 

แต่มันมีเรื่องหนึ่งที่ท่านนายกฯ มีความชอบธรรม คือความชอบธรรมของท่านนายกฯ มาจากประชาชน ท่านจะมีหน้าที่ต้องแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ไม่ใช่วิกฤตประเทศ ซึ่งเมื่อกี้ได้ย้ำแล้วนะ GDP เราอยู่แดนบวก มันเป็นวิกฤตของชาวบ้าน พวกเราคนเงินเดือนต้องสู้กับดอกเบี้ยที่สูง สู้กับภาระหนี้นอกระบบ ทําไมธนาคารพาณิชย์ไทยไม่แข่งขันส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ซึ่งสูงมาก ขณะที่ประเทศอื่นเขาอยู่กัน 2-3% แบงก์มันถึงกําไรเยอะ แล้วปีที่แล้วอเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะกลัวเงินเฟ้อ จึงพิมพ์แบงค์ใช้เอง เพื่อแจกประชาชน พอแจกเยอะก็จะเอาเงินกลับ เพราะเงินเฟ้อเยอะ ก็ดูดขึ้นดอกเบี้ย เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ประเด็นมันมีอยู่ว่าตอนขึ้นตามไม่มีปัญหาหรอก มันถึงมีกําไรทุกวันนี้ แล้วตอนกดลง มันกดลงได้เปล่า? ไม่ลงไง…

แล้วก็กลับมาว่าเกิดความตาย แล้วใครตาย? พวกเราไง พวกที่ไปผ่อนบ้านอยู่ 2-3 ล้านกว่า จากดอกหมื่นเดียว 3 ปีตรึงดอกเบี้ย พอขึ้นปีที่ 4 ดอกเบี้ยลอยตัว จากที่เคยจ่าย 10,000 บาท เป็นจ่าย 16,000-17,000 บาท ตายครับ…ไปเที่ยวก็ไม่ต้องไปเที่ยวไหนกันแล้ว

คือรัฐบาลเขามองว่าเขาแจกถ้วนหน้าทุกคน ไม่ใช่การไปช่วยเหลือคนจน เพราะเขามองว่าจะเอารายจ่ายภาครัฐอัดฉีดเครื่องยนต์ตัวนี้ให้ติด เพื่อไปกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเขามองเรื่อง GDP ดังนั้นคําถามคืออันนี้ประเทศวิกฤตไหม? คําตอบคือประเทศไม่ได้วิกฤต คุณแจกถ้วนหน้าไม่ได้ในสูตรนั้น ผมจึงบอกมันจบแล้วไง แต่ในกลับกันคนชั้นกลางคนจนนี่แหละที่วิกฤต ทําไมอัตราดอกเบี้ยมันขึ้น ก็ต้องถามว่าทําไมแบงก์พาณิชย์มันกําไรกระฉูดเมื่อปีที่แล้ว เพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมันไม่แข่งขันกัน…ทำยังไงคุณให้ธนาคารพาณิชย์แข่งเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งไม่ใช่เปิดแบงก์เพิ่มนะ และที่บอกว่าให้เปิดแบงก์เพิ่มเนี่ยผมว่าเป็นความคิดล้าหลังมาก เราเปิดแบงก์เพิ่มทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น อิสลามแบงก์ เอสเอ็มอีแบงก์ ลายเส้นแบงก์ย่อย เราเปิดหมด ไม่ใช่การเพิ่มแบงก์ เราต้องการเพิ่มในข้อแข่งขันในอัตราดอกเบี้ย เรื่องพวกนี้รัฐบาลต้องทํา ถึงบอกท่านว่าแล้วทําไมท่านไม่ใช้วิธีอื่นบ้าง? แก้กฎหมายเครดิตบูโรใครที่ติดหนี้อยู่แล้วจ่ายหนี้เรียบร้อย ให้ลบออกจากบัญชีไป เครดิตตอนนี้เวลาทําเป็นบัญชีนะ 3 ปี เหมือนบัญชีหนังหมา ดีบ้างไม่ดีบ้างอยู่ 3 ปี ไปปล่อยแบงก์ก็ไม่กล้าปล่อย

ดังนั้น ทําไมคุณไม่ทําแบบอเมริกาเป็น Credit Score บอกเป็นคะแนนเลย ถ้าคะแนนดีดอกต่ำ ถ้าคะแนนต่ำดอกแพง อย่างนี้มันก็เกิดการแข่งขันธนาคารไม่ใช่เพิ่มจํานวนธนาคาร แต่มันคือการให้ธนาคารแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย