‘อรรถวิชช์’ ชี้!! รัฐบาลจัดงบฯ ขาดดุลเต็มพิกัด เข็น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แต่คุ้มไหมกับหนี้สาธารณะ?

(19 มิ.ย.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบ ‘แนวหน้าออนไลน์’ ในประเด็น (ร่าง) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ที่มีข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรงบฯ สำหรับโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หรือการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไว้เป็นพิเศษ ว่าเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพราะการจัดงบฯ ครั้งนี้หัวใจจะไปอยู่ที่โครงการดังกล่าว ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไร จะคล้ายกับที่ทุก ๆ รัฐบาลทำกันมา เช่น โครงสร้างพื้นฐานก็เดินต่อในกรอบเดิม

ทั้งนี้ ต้องเริ่มต้นจากการอธิบายก่อนว่า การจัดทำงบประมาณมี 3 รูปแบบ คือ 1.สมดุล หมายถึงรายรับ-รายจ่ายอยู่เท่ากัน 2.เกินดุล หมายถึงรายจ่ายจะน้อยกว่ารายรับ และ 3.ขาดดุล หมายถึงรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปประเทศไทยจัดทำงบประมาณขาดดุลกันมาตลอด แต่การขาดดุลก็มีการจำกัดไว้ กำหนดเส้นว่าห้ามขาดดุลเกินเท่าไร โดยมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามเกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีกร้อยละ 80 ของการชำระคืนเงินต้น ซึ่งล่าสุดรัฐบาลใช้โควตาแบบเต็มแม็กซ์ คือราว 8 แสนล้านบาท

“ปกติรัฐบาลอื่น ๆ เขาจะเกือบ ๆ เพราะเขาจะเว้นช่องไว้หน่อย ถ้าเกิดระหว่างปีมันมีเรื่องโน้นเรื่องนี้เกิดขึ้น เขาอาจจะของบประมาณเพิ่มเติมเข้าสภา เขาเรียกงบประมาณประจำปีฉบับเพิ่มเติม แต่เที่ยวนี้รัฐบาล งบ’68 กดเต็มแม็กซ์เลย คือต้องการขาดดุลแบบเต็มเพดาน เพราะเขาต้องการเอาทำเงินดิจิทัล ผมถึงบอกว่าดิจิทัลแจกใช้เงิน 5 แสนกว่าล้าน ในขณะที่ขาดดุลงบประมาณเต็มปีได้แค่ 8 แสนกว่า แต่ 8 แสนกว่าก็ต้องเอาไปจ่ายพวกเงินเดือนประจำ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เลยทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องใช้เงิน 3-4 แหล่งที่มาด้วยกัน” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อไปว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไล่ตั้งแต่งบประมาณฯ 2568 นอกจากนั้นยังดึงงบกลางที่นายกฯ สามารถใช้ได้ ของปีงบประมาณ 2567 มาใช้ด้วย อีกทั้งยังจะออก พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ฉบับเพิ่มเติม โดยก่อนหน้านั้น ร่างงบฯ’67 ทำค้างไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังขาดดุลไม่เต็มโควตา ก็จะจัดให้เต็มในช่วงปลายปีงบประมาณ สุดท้ายคือไปดึงเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะรวม ๆ จากแหล่งเหล่านี้มาให้ครบ 5 แสนล้านบาท

ส่วนที่บางคนไม่เชื่อว่าจะดึงเงิน ธ.ก.ส. มาได้ ก็ต้องบอกว่ามีช่องทางให้ทำได้ เช่น จัดโปรแกรมช่วยเหลือเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัล หากเป็นประชาชนทั่วไปก็แจกได้เลย แต่สำหรับเกษตรกรซึ่งลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. ก็แจกโดยให้เข้ากับกรอบกฎหมาย ธ.ก.ส. อาทิ การใช้เงิน 1 หมื่นบาทของเกษตรกร อาจไปใช้พัฒนาพันธุ์ข้าว หรือไปใช้ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ฯลฯ เป็นการลากผลสู่เหตุ-ลากเหตุสู่ผล เพื่อให้ใช้เงินได้ในกรอบของ ธ.ก.ส. เพราะหากจะใช้เงินของ ธ.ก.ส. ก็ต้องเขียนให้เชื่อมโยงกัน นักกฎหมายก็ต้องแฉลบให้มันลง

“ปกติโครงการจำนำข้าวก็ดี ประกันรายได้ก็ดี ไม่ว่าของเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ มันคือการแจกเงินทั้งสิ้น ประกันก็แจก จำนำก็แจก แจกอยู่รอบหนึ่งก็ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ต่อ Crop (การปลูก) ละกัน เขากะว่าก็เหมือนกัน แต่อาจจะไม่ทำจำนำ ทำน้อยหน่อย หรือทำประกันน้อยหน่อย แต่เอาเงินมาจ่ายตรงนี้แทน คือมันเป็นการ Frame (วางกรอบ) นโยบายใหม่ แต่แจกเหมือนเดิม” นายอรรถวิชช์ ระบุ

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับตนการทำอย่างอื่นคุ้มกว่าโครงการนี้ แต่หากไม่ทำพรรคเพื่อไทยก็เสียคน ดังนั้นก็ต้องดันกันสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อให้ออกมา โดยในทางเศรษฐศาสตร์ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) การทำให้เจริญเติบโต มีเครื่องยนต์ 4 ตัว คือ 1.การบริโภคภายในประเทศ ยิ่งบริโภคเยอะ เงินหมุนเยอะ GDP ก็โต 2.การลงทุน หากมีต่างชาติเข้ามาลงทุน เกิดการลงทุนใหม่ ๆ 3.รายจ่ายภาครัฐ ยิ่งเยอะ GDP ก็โต และ 4.ดุลการค้า ต้องส่งออกมากกว่านำเข้า ทั้ง 4 ตัวนี้ หากโตพร้อมกัน GDP ก็ขึ้น

แต่สิ่งที่ทำง่ายที่สุดคือการแจกเงิน หรือการจ้างคนเดินงบหลวงไปขุดดิน ขุดแล้วก็ฝัง ทำเท่านี้ GDP ก็ขึ้นแล้ว เพราะเกิดการจ้างงาน เป็นการนำงบประมาณลงไป ซึ่งก็ทำกันบ่อย ๆ มาหลายรัฐบาล ไม่ต้องคิดอะไรมาก ดัมพ์เงินแจกเงินลงไป เงินก็หมุน แต่ที่ชั่วหนักคือ หากมีการโกงเกิดขึ้น เพราะเงินจะไปอยู่ในกระเป๋าคนอื่น เงินไม่ได้ไปหมุน การบริโภคในประเทศก็จะไม่เกิด แต่หากแจกตรง ๆ ไม่มีการโกง รายจ่ายภาครัฐก็จะเกิด การบริโภคหมุน ดังนั้นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็จะคิดอยู่ใน 2 มุมเท่านั้น คือภาครัฐจ่ายเงินลงไปแล้วเกิดการบริโภคภายในประเทศ

“มันง่ายไปไหม? แต่เขาก็คิดแบบนั้น แล้วเขาคงต้องทำเดินไปแบบนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ภาระที่เราต้องจ่าย รัฐบาลต้องมีการจ่ายรายปีในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คราวนี้เวลาหนี้สาธารณะมัน อันนี้ผมพูดแย้งกันในคนเดียวกันนะเพื่อให้เห็นภาพมุมลบและมุมบวก คือรัฐบาลเขาบอกว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP มันอาจจะน้อยก็ได้ เพราะอะไร? เพราะถ้าเกิดผมอัดเงินลงไปแล้ว GDP มันก็ต้องขึ้น พอขึ้นตัวหารมันก็ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจจะลดลงก็ได้นะ เขาก็พูดในมุมนั้น แต่ถ้าพูดถึงในมุมยอดหนี้มันขึ้น ให้เห็นภาพว่าเขาคิดกันแบบนี้” นายอรรถวิชช์ กล่าว


ที่มา : Naewna