Friday, 17 May 2024
หมอยง

‘หมอยง’ เผย WHO กำหนดชื่อฝีดาษลิงเป็น Mpox แล้ว ช็อก!! ‘ไทย’ พบผู้ป่วยมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(2 ส.ค. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ฝีดาษวานร Mpox’ ระบุว่า

วานร องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อเป็น Mpox เพื่อไม่ต้องการให้ใช้ชื่อสัตว์ สถานที่ บุคคลมาตั้งชื่อ ให้เป็นตราบาป ดังเช่นถ้าเรียกฝีดาษลิง ทุกคนจะไปโทษลิง ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้

การระบาดทั่วโลกของฝีดาษ Mpox รวมทั้งสิ้น รวม 90,000 ราย พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยมีรายงานแล้วมากกว่า 120 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยอดในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเดือนมิถุนายน ที่มีเทศกาล

โรคไม่รุนแรงจึงเห็นได้ว่าอัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบาดวิทยา สำหรับโรคที่ไม่รุนแรง จะยากในการควบคุม ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการตรวจกรองเฝ้าระวัง การดูแลรักษา และวัคซีนป้องกัน ได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนกว่า

ในอนาคต โรคนี้คงไม่หมดไป เพราะเกี่ยวข้องกับสัมผัส เพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มพิเศษ และจะยังคงมีการระบาดในประเทศที่ระบบสาธารณสุข ที่ การควบคุม ป้องกัน และการศึกษา รวมทั้งวัคซีนในการป้องกันที่มีทรัพยากรน้อยกว่า

ประเทศไทยที่พบกว่า 100 ราย ก็ไม่ได้น้อย และยังมีการพบประปรายอยู่ตลอด แต่ความตื่นตัว ของโรคนี้ในปัจจุบัน น้อยกว่าในระยะแรกๆ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจ การระบาดของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการระบาดในประเทศไทย

‘หมอยง’ ชี้ RSV เด็กเล็กติดซ้ำได้ แถมบางคนเป็นทุกปี เหตุเพราะ ‘วัคซีน’ ที่ไม่ได้รับการพัฒนาในตัวเด็ก

(25 ก.ย. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า RSV เป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก เด็กบางคนเป็นทุกปี

RSV เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นได้อีก เด็กบางคนเป็นได้ทุกปี โดยพบว่าในการเป็นครั้งแรกจะมีอาการมากที่สุด โดยปกติมากกว่า 80% จะได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดาและภูมินี้จะหมดไปที่ประมาณ 6 เดือนหลังคลอด

เด็กจึงมีโอกาสติด RSV ครั้งแรกหลัง 6 เดือนขึ้นไปได้สูง และเป็นเด็กเล็กอาการที่เกิดหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ จึงค่อนข้างเด่นชัด และเป็นเหตุให้ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้ามีอาการมากถึงกับต้องให้ออกซิเจน

แต่โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะเป็นการแบบประคับประคองรอเวลาแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจาก RSV ในประเทศไทยพบน้อยมากๆ ยกเว้นในประเทศยากจนที่เด็กขาดอาหาร ร่างกายไม่แข็งแรง

เมื่อเป็นแล้วภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถที่จะปกป้องการติดเชื้อในปีต่อไปได้ ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก

จากการศึกษาของเราที่ศูนย์ ในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจำนวน 81 ราย 72 ราย ติดเชื้อซ้ำอีก 1 ครั้ง 9 รายติดเชื่อซ้ำอีก 2 ครั้ง รวมเป็นติดเชื้อ 3 ครั้ง และส่วนใหญ่เกิดภายในอายุ 5 ปี แต่จากการศึกษาทางด้านภูมิคุ้มกันมีเด็กบางคนเมื่ออายุถึง 5 ปี ติดเชื้อทุกปี แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเท่านั้น

เด็กที่ติดเชื้อและได้รับการวินิจฉัยที่เราทำการศึกษา 81 ราย เราศึกษาลงลึกถึงสายพันธุ์ของ RSV เรารู้ว่าสายพันธุ์ของ RSV มี 2 สายพันธุ์หลักคือ A และ B และมีสายพันธุ์ย่อย ของ A และ B อีกเป็นจำนวนมาก การศึกษาลงลึกของพันธุกรรมเราพบว่าปีนี้ติดเชื้อ RSV A ปีต่อไปก็สามารถติดสายพันธุ์ A ได้อีก หรือเป็นสายพัน B ก็ได้ ดังแสดงในรูป ในทำนองกลับกันสายพันธุ์หลักไม่ได้ช่วยป้องกันข้ามสายพันธุ์เลย และก็ไม่ช่วยป้องกันสายพันธุ์เดียวกัน รวมทั้งสายพันธุ์ย่อยที่เราพบเช่นสายพันธุ์ ON1 เมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังติดเชื้อซ้ำในปีต่อไปได้

เหตุผลดังกล่าว RSV จึงมีปัญหาในการพัฒนาวัคซีนอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็ก ถึงแม้ว่าจะมีการนำวัคซีนมาใช้ในผู้สูงอายุหรือสตรีตั้งครรภ์ แต่เชื่อว่าการป้องกันจะอยู่ระยะสั้น

‘หมอยง’ เผย สาเหตุเด็กป่วย ‘ปอดบวม-ปอดอักเสบ’ ในจีน คาด เพราะภูมิต้านทานลดลง ชี้!! เป็นการระบาดตามฤดูกาล

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Yong Poovorawan’ จากบทเรียนของการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้ขณะนี้มีการตระหนักถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเมืองเหลียวหนิง โดยระบุว่า…

จากบทเรียนของการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทำให้ขณะนี้มีการตระหนักถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจ ในเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเมืองเหลียวหนิง

กลุ่มอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็ก มีไข้สูงและมีการอักเสบลงปอด ทางการจีนได้แถลงตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน และจากบทเรียนโควิด 19 องค์การอนามัยโลกจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้ออก Statement ให้ทางการจีนสอบสวนและให้ข้อมูล จนกระทั่ง 22 พฤศจิกายน โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดต่างๆ และมาตรการในการป้องกัน

เมื่อดูตามเหตุการณ์ ฤดูนี้เป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ โรคทางเดินหายใจจะมีการระบาดมากตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ‘RSV Rhinovirus Parainfluenza’ และมักจะระบาดในเด็กโดยเฉพาะเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มก้อนได้

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ผ่านมามีการระบาดอย่างมากของไข้หวัดใหญ่ RSV และไวรัสทางเดินหายใจ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเข้มงวด เพราะการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้โรคที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ ก็ไม่ระบาดไปด้วย

หลังจากมีการผ่อนคลายโควิด 19 ภูมิต้านทานต่อโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กก็จะลดลง หรือไม่มีภูมิต้านทาน จึงทำให้ปีนี้มีการระบาดอย่างมาก ของ ไข้หวัดใหญ่ RSV และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ

ถ้าเป็นโรคอุบัติใหม่อย่างเช่นโควิด 19 ในการระบาดเริ่มต้น เราจะพบในผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กทั้งหมดจะไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคอุบัติใหม่ จึงทำให้เกิดมีความรุนแรงขึ้น ต่อมาไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงของโรค ประชากรส่วนใหญ่ก็มีภูมิต้านทานมากขึ้น ความรุนแรงโรคจึงลดลง และประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต่อไปก็จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็ว การเกิดโรคอุบัติใหม่ หรือ ‘ไวรัสตัวใหม่’ น่าจะวินิจฉัยได้แล้ว การตรวจ รหัสพันธุกรรมหาไวรัสตัวใหม่ ในปัจจุบันทำได้เร็วมาก เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว (มีการพูดถึงว่ามีการระบาดเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม)

จากข้อมูลทั้งหมดขณะนี้ จึงอยากจะคิดว่าการระบาดในจีนครั้งนี้ น่าจะเป็นโรคไวรัสที่รู้จักกันอยู่แล้ว มาพบมากเป็นกลุ่มก้อนหลังจากที่มีการผ่อนคลายของโควิด 19 แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากประเทศจีน

'หมอยง' เลคเชอร์ 10 ข้อ 'วัคซีนโควิด' บทสรุป 4 ปี กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

(25 ธ.ค.66) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โควิด-19 วัคซีนกาลเวลาเป็นที่พิสูจน์’ ดังนี้…

โควิด-19 วัคซีน กาลเวลาเป็นที่พิสูจน์

ในระยะแรกที่เริ่มมีการใช้วัคซีนในประเทศไทย ที่มีวัคซีนอย่างจำกัดมาก มีความต้องการสูง ประเทศไทยได้วัคซีนเชื้อตายเข้ามาเริ่มแรก ผมและคณะได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด มีการฉีดสูงไขว้ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มีการว่ากล่าวให้ร้าย (bully) อย่างมาก ถูกดึงเข้าสู่การเมือง ขณะนี้กาลเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ข้อมูลที่กล่าวไว้ ถูกต้องทุกประการ ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการระบาด ขอให้เป็นสังคมอุดมปัญญา จะขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโควิดวัคซีน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ

1.วัคซีนโควิด-19 มี 4 ชนิด คือ ก. เชื้อตาย (inactivated vaccine; sinovac, sinopharm) ข. ไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca; AZ) ค. mRNA วัคซีน ได้แก่ (Pfizer, Moderna) ง. โปรตีนสับยูนิต ได้แก่ Novavax

2.วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน จะมีประสิทธิภาพดีในเดือนแรกๆ หลังฉีด และระยะเวลาที่นานขึ้น จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพจึงไม่แตกต่างกัน ไม่มีวัคซีนเทพ

3.วัคซีนเชื้อตาย กระตุ้นภูมิต้านทานได้เท่ากับการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ต่ำกว่า วัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA

4.วัคซีนที่ใช้มากที่สุดในโลก คือ เชื้อตาย ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณวัคซีนที่ฉีดในโลก  โดยเฉพาะใช้มากในเอเชียและแอฟริการวมทั้งอเมริกาใต้ ประเทศที่ใช้วัคซีนดังกล่าวอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้สูงมากเท่าประเทศที่ใช้ mRNA วัคซีน อเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ซึ่งห่างกับประเทศจีนมาก หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย และไทย อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำกว่าอเมริกา และยุโรปมาก

5.วัคซีนทุกตัว มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ตามหลักการของวัคซีน ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายจะใช้เทคโนโลยีเดิม เช่นเดียวกับวัคซีน ไวรัสตับอักเสบ A, Polio ที่เป็นเชื้อตาย อาการข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย น้อยกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA มาก รวมทั้งอาการของหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ก็พบได้น้อยกว่า

6.วัคซีนเชื้อตายราคาถูกกว่า mRNA มาก และการใช้ก็เก็บได้ง่าย เชื้อตายขวดละ 1 คน ขณะที่ mRNA ขวดละ  7-10 คน ทำให้เหลือทิ้งมาก และต้องเก็บที่อุณหภูมิลบ 70 องศา แต่วัคซีนเชื้อตายเก็บที่ตู้เย็นธรรมดาคือ 4 องศา การบริหารจัดการง่ายกว่า ความสูญเสียทิ้งน้อยกว่า

7.การให้วัคซีนสูตรไขว้ เป็นทางออกที่ทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย ของวัคซีนเชื้อตายมีระดับภูมิต้านทานสูง เช่น ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย mRNA ผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับการให้ mRNA 3 เข็ม ข้อมูลเผยแพร่ในวารสาร PGH (doi: 10.1080/20477724.2022.2108646) และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับสูตรไขว้

8.การให้สูตรไขว้ที่ใช้ในประเทศไทย เข็มแรกให้เชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย ไวรัสเวกเตอร์ AZ ภูมิต้านทานที่ได้ดีกว่าการให้ เชื้อตาย 2 เข็ม หรือไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก

9.วัคซีนเชื้อตายอาการข้างเคียงเช่นไข้และอื่นๆ น้อยกว่าไวรัสเวกเตอร์และ mRNA  มาก วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ AZ จะมีอาการข้างเคียงมากในเข็มแรก และจะน้อยลงในเข็มที่ 2 และ 3 ขณะเดียวกันภูมิต้านทานก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะ vector ถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของเราที่เกิดขึ้นจากเข็มแรก ส่วน mRNA อาการข้างเคียงในเข็มที่ 2 จะมากกว่าเข็มแรก และจะมากขึ้นอีกถ้ามีการให้หลายๆ ครั้ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การให้สูตรไขว้ทำให้ได้ mRNA จำนวนครั้งลดน้อยลง และระดับภูมิต้านทานไม่ได้แตกต่างกัน ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีนและในทางปฏิบัติการให้ครบ หมายถึงให้อย่างน้อย 3 เข็ม

10.การได้รับวัคซีนไม่ว่าจะกี่เข็ม ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพียงแต่ว่าลดความรุนแรง เพราะระยะฟักตัวของโควิด 19 สั้นมากเพียง 2 วัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่มีวัคซีนเทพ ประสิทธิภาพที่แจงกันมาแต่แรก ส่วนใหญ่จากการศึกษาระยะสั้น ถ้าติดตามยาวออกไปก็จะรู้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

เมื่อผ่านมาครบ 4 ปีแล้ว ประชากรส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ 90  ติดเชื้อไปแล้วร่วมกับได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ จึงเป็นภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม เป็นภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงลง ความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นก็ลดลง โรคได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และมียารักษาที่ดีขึ้นและเพียงพอ ไวรัสไม่ได้หายไปไหน การปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจ เป็นการทำที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด 19 เท่านั้นยังรวมถึงโรคหายใจอื่นๆ อีกด้วย

‘หมอยง’ ชี้!! 'JN.1' เข้าสู่สายพันธุ์หลักโควิด19 ในไทย เหมือนหวัดทั่วไป ‘ติดง่าย-แต่ไม่รุนแรง’ คลายตัวช่วงเดือน 2-3

(11 ม.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้’ ระบุว่า...

ในที่สุด การคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย

จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่าสายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา

สายพันธุ์ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pilora ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด

เป็นตามคาดหมาย สายพันธุ์นี้เข้ามาสู่ประเทศไทย เริ่มเด่นชัดในเดือนธันวาคมและแน่นอนหลังปีใหม่นี้ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ JN.1 สายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเล่น

ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้

ขณะนี้ทางศูนย์ ได้ติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงทำจำนวนได้ไม่มาก เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังแสดงในรูป จะเห็นว่าสายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนนี้สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น

ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่มีผลอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทย ที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา

‘หมอยง’ เผย ‘โควิด-19’ มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น พร้อมเตือนให้ระวังสายพันธุ์ HK.2 ติดง่ายกว่าเดิม

(13 พ.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬา โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โควิด19 สายพันธุ์ที่ระบาดอย่างมากและการเฝ้าระวังต่อไป’ โดยระบุว่า…

การระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และระวังสายพันธุ์ที่เกิดใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากสายพันธุ์เดิม

การติดตามสายพันธุ์ทั่วโลก ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ JN โดยเฉพาะสายพันธุ์ JN.1 หรืออยู่ในเครือญาติของ JN.1

สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดง่ายกว่า สายพันธุ์ JN.1 คือสายพันธุ์ HK.2 กำลังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สายพันธุ์นี้ก็เป็นลูกของ JN.1 ที่กลายพันธุ์ออกมา

สำหรับประเทศไทยการติดตามสายพันธุ์ถึงเดือนเมษายน ขณะนี้ในประเทศไทย มีการศึกษากันน้อยมาก ทางศูนย์ติดตามสายพันธุ์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ว่าจะเป็นสายพันธุ์อะไรที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์ก็จะรู้หมด เพราะขณะนี้มีตัวอย่างเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะแนวโน้มของการระบาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่มีอาการน้อย ยกเว้นในกลุ่มเปราะบางเท่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top