Monday, 19 May 2025
สีจิ้นผิง

‘สี จิ้นผิง-ปูติน’ เตรียมร่วมหารือเชิงยุทธศาสตร์กลางพิธีรำลึกสงครามโลก ท่ามกลางคำขู่ของ ‘เซเลนสกี’ ลั่นชาติตะวันตก…คิดให้ดีก่อนร่วมงานที่รัสเซีย

(6 พ.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ทำเนียบเครมลินประกาศผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เตรียมหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ถึงการกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ พร้อมลงนามในเอกสารสำคัญหลายฉบับในช่วงงานรำลึกวันแห่งชัยชนะของรัสเซีย

สำหรับเนื้อหาการหารือจะครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้นำจากหลายประเทศ เช่น บราซิล เซอร์เบีย และสโลวาเกีย เดินทางไปร่วมงานรำลึก ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม รำลึกการที่สหภาพโซเวียตสามารถขับไล่นาซีกลับไปเบอร์ลินได้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้านประธานาธิบดีปูตินเสนอหยุดยิงกับยูเครนเป็นเวลา 3 วันในช่วงวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ปฏิเสธแนวคิดนี้ พร้อมยืนยันว่า “การหยุดยิงที่ไม่มีเงื่อนไข” ควรมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้มีผลอย่างแท้จริง โดยระบุว่า “ในเวลาเพียง 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้มันมีความหมายอะไรขึ้นมา”

เซเลนสกียังเตือนผู้นำต่างชาติที่วางแผนเดินทางไปรัสเซียในช่วงวันงานว่า “สำหรับทุกประเทศที่วางแผนจะเดินทางไปรัสเซียในวันที่ 9 พฤษภาคม เราไม่สามารถรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนของรัสเซียได้” โดยเป็นถ้อยแถลงระหว่างการแถลงข่าวตามรายงานของอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศยุทธศาสตร์ ‘เอเชียบริหารเอเชีย’ หวังลดบทบาทสหรัฐฯ ในภูมิภาค พร้อมประกาศแผนสร้างเสถียรภาพใหม่

(6 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ที่มุ่งเน้นการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย พร้อมประกาศ “เอเชียบริหารเอเชีย” โดยระบุว่า “เรื่องของเอเชีย คนเอเชียต้องจัดการเอง” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ว่าอาจถึงเวลาที่จะลดอิทธิพลในภูมิภาคนี้และเปิดทางให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเสถียรภาพ

ยุทธศาสตร์นี้ได้รับการขยายผลทันทีในการเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา โดยสี จิ้นผิงใช้โอกาสนี้เน้นย้ำการเป็น “เพื่อน” ของจีนในภูมิภาคและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันต่อต้านแรงกดดันจากภายนอก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในเอเชีย

การผลักดันแนวคิด “เอเชียบริหารเอเชีย” นั้นมีรากฐานมาจาก “Asian Security Concept” ที่จีนเคยประกาศไว้ในปี 2014 ซึ่งเสนอทางเลือกใหม่ให้กับประเทศในเอเชียในการรักษาความมั่นคงโดยไม่พึ่งพาการแทรกแซงจากสหรัฐฯ หรือประเทศตะวันตก โดยสีจิ้นผิงเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียสามารถจัดการปัญหาภายในได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับจีนยังคงมีอยู่ เนื่องจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และความไม่ไว้วางใจจากบางประเทศในภูมิภาคที่ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับเจตนาของจีนในระยะยาว แม้จะมีการเสนอแนวทางการร่วมมือ แต่หลายฝ่ายยังคงจับตาดูว่าใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารเอเชียในที่สุด

ทั่วโลกจับตา ‘วันแห่งชัยชนะ’ ที่เครมลิน เมื่อผู้นำโลกหลายประเทศตอบรับเข้าร่วมตามคำเชิญของ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’

(7 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มีกำหนดเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7–10 พฤษภาคมนี้ เพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี “วันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมัน" โดยระหว่างการเยือน ผู้นำจีนจะพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อกระชับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและรัสเซีย รวมถึงลงนามในข้อตกลงทวิภาคีหลายฉบับ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดระดับโลกที่ยังคงดำเนินอยู่

งานเฉลิมฉลองครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะของกองทัพโซเวียตเหนือกองกำลังนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัสเซียให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยสหภาพโซเวียตในขณะนั้นสูญเสียประชาชนกว่า 27 ล้านคน ซึ่งนอกจาก สี จิ้นผิง แล้วสำนักข่าว Sputnik ยังรายงานว่าผู้นำโลกหลายประเทศจะร่วมงาน รวมถึงผู้นำจากบราซิล เซอร์เบีย และสโลวาเกีย เพื่อแสดงจุดยืนทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้

‘สี จิ้นผิง’ ชี้ ‘ไต้หวัน’ เป็นส่วนหนึ่งของผลแห่งชัยชนะสงครามโลก ย้ำไม่มีใครหยุดการรวมชาติได้ พร้อมขอบคุณรัสเซียที่หนุนหลัง

(7 พ.ค. 68) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เผยแพร่บทความลงนามผ่านหนังสือพิมพ์ “กาเซตต์” ของรัสเซีย ก่อนเดินทางเยือนมอสโกเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปี “ชัยชนะแห่งมหาสงครามผู้รักชาติ” โดยระบุว่า การรวมชาติของจีน โดยเฉพาะการฟื้นฟูไต้หวัน คือกระแสธารทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

สีจิ้นผิงชี้ว่า ปี 2025 จะตรงกับวาระ 80 ปีแห่งการฟื้นฟูไต้หวัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างถึงเอกสารระหว่างประเทศสำคัญอย่างปฏิญญาไคโรและแถลงการณ์พอตส์ดัมที่ยืนยันอธิปไตยเหนือไต้หวันของจีน ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หมายเลข 2758

เขาระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์ภายในไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีแรงกดดันจากกองกำลังภายนอกเพียงใด ก็ไม่อาจขัดขวางเป้าหมายสูงสุดของจีนในการรวมชาติได้ พร้อมเน้นว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจโต้แย้งได้”

ผู้นำจีนยังกล่าวชื่นชมรัสเซียที่ยืนหยัดสนับสนุนหลักการจีนเดียวและการต่อต้านการแบ่งแยกไต้หวัน โดยมอสโกยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากจีน และสนับสนุนทุกมาตรการของรัฐบาลจีนในการบรรลุการรวมชาติ ซึ่งจีนให้ความสำคัญและขอบคุณต่อจุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซีย

การแถลงของผู้นำจีนในครั้งนี้ตอกย้ำจุดยืนอันแข็งกร้าวของปักกิ่งต่อไต้หวัน และสะท้อนการประสานสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ถือเป็นผลประโยชน์หลักร่วมกันของทั้งสองประเทศ

‘สี จิ้นผิง’ ถึงมอสโกร่วมเฉลิมฉลอง ‘วันแห่งชัยชนะ’ ครบรอบ 80 ปี ย้ำสัมพันธ์ ‘จีน-รัสเซีย’ คือแบบอย่างเพื่อนบ้านในศตวรรษใหม่

(8 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งจีน เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อเข้าร่วมพิธีครบรอบ 80 ปี 'วันแห่งชัยชนะ' ของรัสเซีย โดยออกแถลงการณ์ย้ำว่าจีนและรัสเซียได้ค้นพบแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้าน ผ่านมิตรภาพถาวรและความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้ง

ผู้นำจีนระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่เติบโตอย่างมั่นคงและเป็นอิสระ ซึ่งไม่เพียงนำประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ แต่ยังส่งเสริมเสถียรภาพระดับโลกและระเบียบโลกแบบพหุขั้วที่เท่าเทียม ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสรำลึกถึงชัยชนะสงครามต่อต้านฟาสซิสต์และการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติในปี 1945

จีนและรัสเซียยืนยันจะร่วมกันปกป้องหลักการระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ต่อต้านการเมืองเชิงอำนาจ และส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลโลกที่ยุติธรรม โดยสีจิ้นผิงเตรียมหารือเชิงลึกกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นทวิภาคีและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน

การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมพิธีวันแห่งชัยชนะของรัสเซียในรอบทศวรรษของผู้นำจีน โดยมีพิธีต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ท่าอากาศยานวนูโคโวในกรุงมอสโก พร้อมการคุ้มกันทางอากาศโดยกองทัพรัสเซีย แสดงถึงระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top