Saturday, 5 April 2025
สีจิ้นผิง

จับมือจีนลุยศก.-ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เดินหน้ารถไฟไทย-จีน

(6 ก.พ. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไทยยังได้ร่วมพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์วีรชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน  

ในการหารือ นายกรัฐมนตรีแพทองธารกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่สถาปนามาเป็นเวลา 50 ปี และได้พัฒนาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน รวมถึงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ  

นางสาวแพทองธารเสนอแนวทางความร่วมมือในอนาคตโดยให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นให้ประชาชนมีกินมีใช้ มีความปลอดภัย และมีความพร้อมต่ออนาคต รวมถึงสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ  

ทั้งสองผู้นำยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องในการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และโครงการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่ทั้งสองประเทศให้การสนับสนุน

'อิ๊งค์' ปลื้ม!! เยี่ยมคารวะ 'ปธน.สี จิ้นผิง’ ยังได้พบผู้นำระดับสูงของจีนอีก 2 คน นายกรัฐมนตรี ‘หลี่ เฉียง’ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ‘จ้าว เล่อจี้’

(8 ก.พ. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า … 

นอกเหนือจากการเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผลสำเร็จจากการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ดิฉันยังได้พบหารือกับผู้นำระดับสูงของจีนอีกสองท่านที่กรุงปักกิ่งด้วย คือ

1. ประชุมหารือกับท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ซึ่งดิฉันได้ขอบคุณท่านนายกหลี่ฯ ที่เชิญเยือนและต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้งสองฝ่ายพร้อมกระชับความร่วมมือในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล เช่น EV AI เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานทางเลือก การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การยกระดับมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า เชื่อมโยงนวัตกรรมทางการเงินและตลาดทุน การพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนหารือแนวทางร่วมมือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญเราจะยกระดับความร่วมมือแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาคอลเซ็นเตอร์

ดิฉันยังได้เชิญท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ฯ เยือนไทยในโอกาสปีทองแห่งมิตรภาพไทย - จีน ซึ่งท่านได้ตอบรับด้วยความยินดี

ดิฉันได้ร่วมกับท่านนายกหลี่ฯ เป็นสักขีพยานการลงนามเอกสารความร่วมมือ

สองฝ่ายรวม 13 ฉบับ ครอบคลุมผลประโยชน์หลายสาขา เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีนิวเคลียร์ อวกาศ และ AI

2. พบหารือท่านจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งเราเห็นพ้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น และส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ด้วยทุนการศึกษา วัฒนธรรม และ soft power

ทั้งหมดนี้ดิฉันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเร่งรัดการดำเนินผลให้เป็นรูปธรรมในโอกาสแรก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน และการดำเนินความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งในอนาคต 50 ปีข้างหน้าต่อไปค่ะ

‘เทพไท’ เย้ย!! 'นายกฯอิ๊งค์' เยือนจีน ได้แต่ภาพ ไม่ได้ผล ชี้!! แค่การลงนามใน ‘MOU’ แบบพื้นๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

(9 ก.พ. 68) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ‘เทพไท – คุยการเมือง’ เรื่อง อุ๊งอิ๊ง เยือนจีน ได้ภาพมากกว่าผล?

หลังจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับจากการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 แล้ว ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัว ถึงความสำเร็จที่ได้เซ็นเอ็มโอยู 13 ฉบับ ซึ่งน่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต ที่ผู้นำประเทศเดินทางไปเยือนกัน จะมีพิธีการลงนามในเอ็มโอยูกันเป็นปกติ

แต่อย่าลืมว่าการเดินทางไปเยือนประเทศจีนของนางสาวแพทองธารในครั้งนี้เป็นการเดินทางเยือนในโอกาสครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งเป็นวาระสำคัญ น่าจะมีประเด็นสำคัญเป็นกรณีพิเศษมากกว่าการลงนามในเอ็มโอยูแบบพื้นๆ

ในขณะเดียวกันการเดินทางเยือนประเทศจีนครั้งนี้ ก็ไม่มีประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนในต่างประเทศเสนอ และให้ความสำคัญเลย แม้แต่สำนักข่าวซินหัวของจีน ก็ลงข่าวแค่ภาพที่นางสาวแพทองธารจับมือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงเท่านั้น ไม่มีเนื้อข่าวประกอบ หรือคำอธิบายเพิ่มเติมเลย

ส่วนการเสนอข่าวของสื่อไทย ก็เป็นการเสนอข่าวการสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีที่ติดตามคณะของนางสาวแพทองธาร ทุกคนจะเน้นในประเด็นที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ชื่นชมนางสาวแพทองธารและรัฐบาลไทย ที่ได้ตัดกระแสไฟฟ้าชายแดนพม่า 5 จุด เพื่อสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ นางสาวแพทองธารเองก็รู้สึกปลื้มกับคำชมนี้มากด้วยเช่นกัน

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมรัฐบาลจึงเร่งการตัดไฟชายแดนพม่าอย่างเร่งด่วนให้ได้ ก่อนที่นางสาวแพทองธารจะออกเดินทางไปเยือนประเทศจีน ทำให้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เร่งตัดไฟตอนเวลา 9 โมง ก่อนที่นางสาวแพทองธารขึ้นเครื่องบินไปประเทศจีน 3 ชั่วโมง  ถ้าหากว่าไม่มีประเด็นการตัดไฟก่อนไปเยือนประเทศจีน คงไม่มีประเด็นอะไรไปอวด ให้นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ชื่นชมและขอบคุณ

สำหรับประเด็นข่าวที่เสนอกันในสื่อโซเชียลมากที่สุด ไม่ใช่ประเด็นวาระงานการเยือนประเทศจีน แต่เป็นเรื่องการแต่งตัวของนางสาวแพทองธาร ที่ถูกวิจารณ์เรื่อง หมวก เสื้อผ้า และกางเกง รวมไปถึงรองเท้าที่สวมใส่ ว่ามีความเหมาะสมกับภาวะผู้นำประเทศหรือไม่

สรุปได้ว่าการเดินทางไปเยือนประเทศจีนของนางสาวแพทองธารในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญ ได้เพียงแค่การสร้างภาพการเดินทางไปเยือน แต่ผลสัมฤทธิ์ของเนื้องานกลับไม่มีเลย นับว่าเป็นการเสียโอกาสของประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง

เปิดประวัติบอดี้การ์ดสาวจีน อารักขานายกฯแพทองธารระหว่างเยือนปักกิ่ง

(10 ก.พ.68) เพจเฟซบุ๊กลึกชัดกับผิงผิง สื่อมวลชนจากจีน ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเยือนจีนของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย โดยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ การมาถึงของนายกรัฐมนตรีไทยได้รับความสนใจจากชาวจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะได้รับการชื่นชมในความสวยและท่าทางที่พูดจาดีแล้ว ยังมีบอดี้การ์ดหญิงที่จีนจัดให้คอยอารักขานายกรัฐมนตรีไทยก็ได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน

บอดี้การ์ดหญิงที่กล่าวถึงคือ เหยียน เยว่เสีย (严月霞) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบอดี้การ์ดหญิงชื่อดังของจีน โดยเธอเกิดในครอบครัวที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกอูซูจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีความสามารถสูงในหลายด้าน ทั้งในด้านการยิงปืนและมวยจีน อีกทั้งยังเคยแสดงความสามารถโดยการเอาชนะนักคาราเต้ห้าคนในเวลาเดียวกันด้วยมือเปล่า นอกจากนี้ เธอยังมีความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ สามารถรับมือกับการโจมตีจากแฮกเกอร์ในด้านความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตได้อย่างดีเยี่ยม

ด้วยรูปร่างหน้าตาที่สะสวยและความสามารถในการป้องกันภัยที่โดดเด่น จึงไม่แปลกใจที่เธอได้รับการขนานนามว่าเป็น 'บอดี้การ์ดหญิงอันดับ 1 ของจีน'

ระดมทีม All-Star! เปิดลิสต์ผู้นำบริษัทเทคจีนร่วมโต๊ะหารือสีจิ้นผิง

เมื่อวันที่ (17 ก.พ. 68) ที่ผ่านมา สำนักข่าวซีซีทีวีของจีนเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนได้จัดประชุมสัมมนานัดพิเศษ เพื่อเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคเอกชนของจีนที่ทำเนียบรัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่ง  โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้พบปะกับผู้ประกอบการจากภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงหลายราย

ที่น่าสนใจคือมีตัวแทนจากภาคธุรกิจสายเทคโนโลยีของจีนรายใหญ่หลายรีาย เข้าร่วมการหารือดังกล่าว อาทิ 

เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) – ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ หัวเว่ย (Huawei) ผู้นำระดับโลกด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี 5G

หวัง ฉวนฝู (Wang Chuanfu) – ประธานและซีอีโอของ BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน

หลิว หยงห่าว (Liu Yonghao) – ผู้ก่อตั้งบริษัท New Hope ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของจีน

อวี๋ เหรินหรง (Yu Renrong) – ผู้ก่อตั้งและประธานของ Will Semiconductor บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของจีน

หวัง ซิงซิง (Wang Xingxing) – ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Unitree Robotics ผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

เล่ย จุน (Lei Jun) – ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Xiaomi บริษัทสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ IoT ชั้นนำ

นอกจากนี้  CMG สื่อท้องถิ่นจีนยังเผยให้เห็นผู้บริหารระดับสูงที่คุ้นหน้าคุ้นตาเข้าร่วมประชุม เช่น

โพนี่ หม่า (Pony Ma) – ซีอีโอของ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเกมและโซเชียลมีเดีย

แจ็ค หม่า (Jack Ma) – ผู้ก่อตั้ง Alibaba บริษัทอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีระดับโลก

และรวมถึง เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) – ผู้ก่อตั้ง DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังมาแรงในเวลานี้ 

ไฮไลท์สำคัญของการประชุมนี้คือการปรากฏตัวของ ‘แจ็ค หม่า’ผู้ก่อตั้ง Alibaba ที่หายหน้าไปจากสื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลับมาในงานฉลองครบรอบ 20 ปี ของ Ant Group เมื่อปลายปี 2024 หลังจากหายไปนานถึง 4 ปี การที่เขามาพบ สี จิ้นผิง จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลจีนที่เริ่มหันมาสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี

ในการกล่าวสุนทรพจน์ของ สี จิ้นผิง เขาเน้นถึงการขจัดอุปสรรคในการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม พร้อมทั้งยืนยันจะสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทเอกชนจีนโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีเผชิญแรงกดดันจากการควบคุมของภาครัฐ ทำให้บรรยากาศในวงการเทคโนโลยีจีนเข้าสู่ยุคมืด มูลค่าหุ้นและผลประกอบการได้รับผลกระทบหนัก ส่งผลให้หลายซีอีโอถอยห่างจากสื่อ ซึ่งแจ็ค หม่าเป็นหนึ่งในนั้น

การที่รัฐบาลจีนเรียกบิ๊กเทคจีนเข้าพบครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณสำคัญของการผ่อนคลายมาตรการ และสะท้อนถึงการที่จีนกำลังมองเห็น AI และเทคโนโลยีเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อภาคเอกชนของจีน โดยเน้นย้ำว่าธุรกิจเอกชนเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ปัจจุบัน ภาคเอกชนจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยคิดเป็น 48.6% ของการค้าต่างประเทศ 56.5% ของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 59.6% ของรายได้ภาษี และมีส่วนในการสร้าง GDP มากกว่า 60% นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งคิดค้นนวัตกรรมกว่า 70% และสร้างการจ้างงานในเขตเมืองมากกว่า 80%

หลี่ หย่ง หัวหน้านักวิจัยจากสถาบัน D&C Think Tank ให้สัมภาษณ์กับ CGTN ว่าการคัดเลือกบริษัทเอกชนชั้นนำเข้าร่วมประชุมสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนในการสนับสนุนเทคโนโลยีเอกชน โดยย้ำว่าการพัฒนาภาคเอกชนเป็นรากฐานของ "สังคมนิยมที่มีลักษณะจีน"

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงคือการปฏิเสธแนวคิด "เอกชนต้องถอยจากเศรษฐกิจ" (Exit Theory) พร้อมยืนยันว่าตำแหน่งของภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ โดยรัฐบาลจีนยังคงสนับสนุน และสภาพแวดล้อมการลงทุนจะยังคงเหมือนเดิม

ตามมติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ออกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2024 จีนจะเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต เช่น AI เทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่ การบินและอวกาศ พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ อุปกรณ์ไฮเอนด์ และควอนตัมเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

เผยตัวจริงผู้บริหาร DeepSeek เหลียง เหวินเฟิง นักพัฒนา AI จีน ผู้อยู่เบื้องหลังคู่แข่งตัวฉกาจของ ChatGPT

(21 ก.พ.68) โลกกำลังจับตามอง 'DeepSeek' ปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม AI ระดับโลก ถึงขั้นทำให้หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ร่วงระนาว และถูกพูดถึงในระดับ 'Talk of the World' บางฝ่ายถึงกับกังวลว่าอาจเกิด 'AI War' ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ชื่อของ DeepSeek ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่กรุงปักกิ่ง โดยมีบรรดาผู้นำจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, BYD, Huawei, CATL, Xiaomi, Tencent, Meituan และแน่นอน DeepSeek

บุคคลที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในงานนี้คือ เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) นักพัฒนา AI ชาวจีนวัย 40 ปี ผู้ก่อตั้ง DeepSeek และกลายเป็นบุคคลที่สื่อเทคโนโลยีทั่วโลกจับตามอง ในฐานะซีอีโอหนุ่มที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับผู้นำสูงสุดของประเทศเคียงข้างเจ้าของธุรกิจระดับแนวหน้า

เหลียงเกิดเมื่อปี 1985 ที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง มีความหลงใหลในคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก แม้ไม่ได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยในตะวันตก แต่เขาจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) หรือ 'เจ้อต้า' เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และต่อปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมข้อมูลและสื่อสาร ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของจีนในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมข้อมูลและการสื่อสาร

หลังจากเรียนจบ เขาเริ่มต้นทำงานในแวดวงเทคโนโลยีที่หางโจว ก่อนขยายเส้นทางสู่เฉิงตู และก่อตั้งสตาร์ตอัปของตัวเอง ในช่วงชีวิตการทำงาน เหลียงตั้งรกรากอยู่ในหางโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน และเคยทำงานในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ 

ในปี 2015 เหลียงเข้าสู่โลกสตาร์ตอัปอย่างเต็มตัวด้วยการร่วมก่อตั้ง High-Flyer กองทุนเฮดจ์ฟันด์ประเภท Quantitative Hedge ที่ใช้ AI วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและซื้อขายหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติ ความสำเร็จจากธุรกิจนี้ทำให้เขาสั่งซื้อ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของ Nvidia นับพันชิ้น ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อพัฒนา AI ของตัวเอง

DeepSeek ไม่ใช่แค่ AI ทั่วไป แต่มันสามารถแข่งขันกับ ChatGPT ได้อย่างสูสี โดยใช้ต้นทุนเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ตามที่รายงานข่าวระบุ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่บริษัท AI ตะวันตกใช้ไปหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่ทำให้ DeepSeek เป็นที่จับตามองคือความสามารถในการพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพสูง แม้จีนจะถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงชิปประมวลผลระดับสูงของ Nvidia แต่ทีมของเหลียงสามารถ "ปลดล็อกศักยภาพ" ของ GPU รุ่นเก่าให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

"วิศวกรของ DeepSeek รู้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพของ GPU ที่มีอยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่เทคโนโลยีล่าสุดก็ตาม" นักวิจัย AI ที่ใกล้ชิดกับบริษัทกล่าว

DeepSeek ยังเลือกใช้ โมเดลแบบเปิด (Open-Source) ซึ่งต่างจาก OpenAI ที่เน้นการปกป้องเทคโนโลยีของตัวเอง โดยเหลียงเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้จะช่วยดึงดูดคนเก่งและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในวงการ AI

การที่เหลียงเป็นผู้บริหารด้าน AI เพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับสีจิ้นผิง พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สุขภาพ และกีฬา เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานของรัฐบาล

การเข้าร่วมประชุมระดับสูงของเหลียงตอกย้ำ เขาถือเป็นบุคคลสำคัญในยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน ท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ตลาด AI ของจีนคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 5.6 ล้านล้านหยวน (765 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของ China International Capital Corp (CICC)

"ผมเชื่อว่านวัตกรรมคือหัวใจสำคัญ" เหลียงกล่าว "จีนเคยขาดความมั่นใจในการพัฒนา AI ระดับแนวหน้า แต่เราต้องกล้าที่จะลองและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ผมอยากแสดงให้โลกเห็นว่าจีนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากศูนย์ได้"

สื่อมวลชนอาวุโส วิเคราะห์ ‘มังกรหยก’ หลังจากได้ชม ชี้!! นี่คือ ‘สีจิ้นผิง’ ในยุคปัจจุบัน ดำเนิน!! นโยบายการทูต สร้างมิตรภาพเชิงบวกกับนานาชาติ ‘ไม่รุกราน-ไม่รังแกใคร’

(23 ก.พ. 68) นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ ‘มังกรหยก’ โดยมีใจความว่า ...

ผมเขียนบทความนี้ในฐานะคนดูหนังที่ไม่มีข้อมูลเชิงลึกในการสร้างหนัง แต่มีโอกาสไปจีนบ่อยๆ และอ่านโน่นนี่นั่นเอามาปะติดปะต่อกัน หลังจากที่ชม มังกรหยก เวอร์ชั่น ล่าสุดของ ฉีเคอะและเซียวจ้าน ดังนี้

1 . มังกรหยก ภาคนี้ คือหนังสงครามที่มี บรรดายอดฝีมือห้ำหั่นกันราวกับ Superhero เทคนิคอลังการ สนุกสนานตลอดเรื่อง

2 ฉีเคอะ จับเอา ก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง โยนเข้าไปในสงครามระหว่างมองโกล กับ ชาวกิม และชาวฮั่นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ตัดตัวละครอื่นๆออกไปเกือบหมด เน้นสงครามของเจงกิสข่านที่จะบุกจีน

3 มังกรหยก ภาคนี้จึงเป็นหนังสงครามที่ไม่ขาดอรรถรสหนังกำลังภายในของชาวยุทธภพ ความสนุกสุดมันจึงบังเกิดทั้งฉากสงครามและฉากดวลของยอดยุทธภพ

4 ก๊วยเจ๋ง กับ อึ้งย้ง แสดงบทบาทของการเป็น ผู้รักชาติเต็มที่ ตามเนื้อเรื่องในมังกรหยก ที่ทั้งคู่ต่อต้านการรุกรานของมองโกล

5 หนังนำเรื่องพิชัยสงครามของ งักฮุย วีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีแห่งราชวงศ์ซ่ง มาเน้นในเนื้อหาเป็นพิเศษ

6 ผมขยายความเรื่อง “งักฮุย ” นิดนึง คือ งักฮุยได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ในยุคก่อน “กวนอู” เขาได้รับอิทธิพลจากแม่ที่สั่งสอนให้เขาจงรักภักดีต่อแผ่นดินและต่อต้านศัตรูจากชนเผ่านอกกำแพงใหญ่

7 งักฮุย เห็นการล่มสลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ เมื่อโตขึ้นเขาเข้ารับราชการทหารในราชวงศ์ซ่งใต้ โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า 精忠報國 จิงจงเป้ากว๋อ (ซื่อตรง ภักดี ตอบแทน ชาติ)

8 ผมดูหนังแล้ว คิดเล่นๆว่า “งักฮุย” คือ บุคคลที่กิมย้งใช้เป็นแคแรคเตอร์ “ก๊วยเจ๋ง” ทั้งเกิดในสมัยซ่ง มีแม่เป็นผู้คุ้มครองผลักดันให้รักชาติ จน ก๊วยเจ๋ง ยืดหยัดต่อต้านเจงกิสข่านด้วยจิตวิญญาณผู้รักชาติ

9 งักฮุย เป็นวีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์ของชาวจีนมาหลายร้อยปี จนกระทั่ง “ราชวงศ์ชิงของแมนจู” เข้ายึดจีนปกครองชาวฮั่น ราชวงศ์ชิง จึงส่งเสริม “กวนอู” ขึ้นมาเป็นสัญญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ จงรักภักดี จนคนทั่วไปนับถือ กวนอูมากกว่า “งักฮุย” เพราะ “งักฮุย ต่อต้าน ชนกลุ่มน้อยที่มารุกรานชาวฮั่น” แต่ กวนอู ไม่มีการต่อต้านชนเผ่าอื่น ( กวนอู เป็นนับถือมานานแล้ว ดังจะเห็นว่าในสมัยราชวงศ์หมิง สร้างศาลเจ้ากวนอูไว้บนกำแพงด่านเจี่ยยู่กวน สุดเส้นทางสายไหม เมื่อแมนจูมาปกครอง แมนจูกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตชาวฮั่น รับวิถีชาวฮั่นมาใช้บริหารบ้านเมือง รวมทั้งส่งเสริมการนับถือเทพเจ้ากวนอูมากขึ้น)

10 แต่ “มังกรหยก 2025” สร้างบทสรุปความสามัคคี แม้เริ่มต้น มองโกลจะมีท่าทีรุกไล่ทำสงครามกับจีน สุดท้ายก็ยอมล่าถอยในยุคเจงกิสข่าน ก่อนจะมาอีกครั้งในยุคหลังจนยึดจีนได้และก่อตั้งราชวงศ์หยวน 

11 “ก๊วยเจ๋ง” จะมีบทพูด เน้นว่า วีรบุรุษที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่ไปรุกรานแผ่นดินอื่น ทำร้ายฆ่าฟันคนอื่น แต่วีรบุรุษแท้จริง ต้องบำรุงแผ่นดิน บำรุงสุขให้ประชาชน …

12. ถ้าเราไปจีนทุกวันนี้เราจะเห็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชนเผ่า 56 เผ่าในประเทศจีน อยู่ทั่วทุกแห่งหน…มองโกล ในมังกรหยก เวอร์ชั่นยุค สีจิ้นผิง จึงเป็นชนเผ่าแห่งมิตรภาพ

13 “สีจิ้นผิง” จะมีสุนทรพจน์สำคัญอยู่ประเด็นหนึ่งคือ เขายึดหลักการสร้างมิตรภาพเชิงบวกกับนานาชาติ ไม่รุกราน ไม่รังแก ใคร บางสุนทรพจน์เขาจะยกเรื่อง “แม่ทัพเรือเจิ้งเหอ” ที่นำกองทัพเรือไปสร้างไมตรีกับทุกประเทศทั่วน่านน้ำในยุคจักรพรรดิราชวงศ์หมิง โดยยึดหลัก ไปอย่างมีไมตรี ไม่รุกรานยึดครองใคร

14 สาระสำคัญหนึ่งในมังกรหยก คือ นโยบายการทูตของจีนปัจจุบัน 

15 ผมสงสัยอยู่ประเด็นเดียวคือ อาวเอี้ยงฮง พิษประจิม…ถ้าเอาการเมืองระหว่างประเทศมาตีความ…อาวเอี้ยงฮง จะหมายถึงใคร

16 แล้ว อาวเอี้ยงฮง ทำศึกกับ เจงกีสข่าน วินาศสันตะโร…จนต้องจบสิ้นในสมรภูมิด้วยน้ำมือมองโกล…..หนังจะต้องการสื่ออะไร

17 หรือจะบอกว่า ใครอย่ามาครอบงำแผ่นดินมองโกลเพื่อสร้างให้มองโกลต้องมาขัดแย้งกับเพื่อนบ้านอย่างจีน (เหมือนยูเครนกับรัสเซีย)

18….ผมก็เขียนไปเรื่อยเปื่อยตีความไปตามความคิดข้อมูลที่เคยได้ยินได้อ่านมา…ถูกผิดอย่างไรช่วยแนะนำด้วยครับ

มังกรหยก สนุกเสมอ อมตะตลอดกาล

ใครจะเน้นวิเคราะห์ความรักหนุ่มสาวสามเส้า ก็ได้

ใครจะเน้นวิเคราะห์เนื้อหาที่ดัดแปลงใหม่ก็ได้

ไปชมเถอะครับ…คุ้มค่าทุกนาที

ฉีเคอะ นายแน่มาก

เซียวจ้าน …นายเป็น ก๊วยเจ๋ง ที่เจ๋งจริงๆ

‘สีจิ้นผิง’ แอบยิ้ม!! ‘ทรัมป์’ กลับมาเป็น ปธน. เข้าทางจีน หลังจัดการ!! ลงดาบ ‘USAID’ ฐานที่ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน

(24 ก.พ. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn เกี่ยวกับ สีจิ้นผิง และทรัมป์ โดยมีใจความว่า ...

#สีจิ้นผิง แอบอมยิ้ม  อีกปรากฏการณ์ที่ช่วยอธิบายว่า ทำไม #ทรัมป์ กลับมา คือ #เข้าทางจีน  #Trump  

พรรคฝ่ายค้านของ #ฮ่องกง คือพรรคประชาธิปไตยแห่งฮ่องกง (Democracy Party of Hong Kong) เตรียมจะยุบพรรคด้วยตัวเอง !! (สีจิ้นผิงไม่ได้สั่งนะ) 

โปรดสังเกตว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลทรัมป์ โดยอิลอน มัสถ์ จัดการลงดาบกับ  #USAID ที่ละเลงงบประมาณไปยุ่งกับเรื่องชาวบ้าน 
#ท่อน้ำเลี้ยงจากต่างประเทศ แห้งเหือดลง แก๊งการเมืองไม่ถูกใจสีจิ้นผิงใน #ฮ่องกง ก็คงไปต่อยากนะคะ  #HongKong

‘ทรัมป์’ เผยเป็นนัย ‘สี จิ้นผิง’ อาจบินสู่สหรัฐฯ หารือประเด็นร้อน

(18 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแย้มว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน อาจจะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ในอนาคตอันใกล้ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในระหว่างการปรากฏตัวที่งานประชุมสาธารณะในสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทรัมป์ได้กล่าวว่า การเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดที่ยืดเยื้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองประเทศยังคงมีข้อขัดแย้งในหลายด้าน รวมถึงการเก็บภาษีสินค้าจีนที่สหรัฐฯ กำหนดไว้รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการค้า และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 

แหล่งข่าวจากรัฐบาลจีนระบุว่า การเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า และความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่มีผลดีต่อทั้งสองประเทศ โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างต้องการลดความตึงเครียดที่มีอยู่ และหาทางปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการบริหารจัดการข้อขัดแย้งอย่างยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน จีนหวังว่าจะสามารถเพิ่มความเข้าใจและความไว้วางใจ ระหว่างทั้งสองประเทศได้และมุ่งเน้นไปที่การร่วมมือในระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจทั่วโลก

การเยือนครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะได้พูดคุยเกี่ยวกับข้อขัดแย้งทางการค้า และหาทางออกร่วมกันเพื่อบรรเทาความตึงเครียดในพื้นที่เศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าการเจรจานี้อาจจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ และจีน ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ในการจัด “การประชุมสุดยอดวันเกิด” (Birthday Summit) ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงวันเกิดของประธานาธิบดีสีตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน แต่การหารือยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่มีการระบุวันที่ชัดเจน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top