Friday, 3 May 2024
สิ่งแวดล้อม

‘บิ๊กป้อม’ ย้ำ ‘ทส.’ ดูแล-ปกป้องสิ่งแวดล้อม คืนอากาศบริสุทธิ์ หนุนยกระดับท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(9 ส.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้มีการพิจารณา เห็นชอบประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 3 พื้นที่ (จ.กระบี่, จ.พังงา และ จ.สุราษฎร์ธานี) เพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม และให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเท่าเทียม และได้เห็นชอบรายงาน EIA งานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า จ.กาญจนบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 รวมทั้งงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับนิคมอุตสาหกรรม จ.กาญจนบุรี และเห็นชอบ EIA โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำปาง เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎร บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภคบริโภค

นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจาก พีเอ็ม 2.5 ตั้งแต่ระยะเตรียมการ ระยะเผชิญเหตุ และระยะบรรเทา รวมถึงมาตรการตลอดทั้งปี เพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหาพีเอ็ม 2.5 ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพในปีต่อไป

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับให้ ทส.และผู้เกี่ยวข้อง กำกับ ติดตามการดำเนินงานของเจ้าของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว โดยให้มีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด พร้อมได้กล่าวชื่นชม ทส.และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ทุ่มเท เสียสละการทำงานอย่างเต็มที่ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล มีธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เดินทางมายังประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ จากรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้

‘วีระศักดิ์’ ชี้ ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ จะล้อมเราทุกคน หากยังไม่เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราเอง

เมื่อไม่นานมานี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวในช่วงหนึ่งของรายการ คนบันดาลไฟ ตอน ‘คนดลใจ’ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่า…

“…อย่าปล่อยให้ทุกอย่างสายเกินแก้… เพราะโลกอยู่ในมือเราทุกคน
…ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะล้อมเราทุกคน ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนในใจของเรา…”

‘BLACKPINK’ รับพระราชทานเครื่องราชฯ จากคิงชาลส์ที่ 3 ในฐานะทูตสิ่งแวดล้อม COP 26 ที่ทำให้เยาวชนตระหนักถึง

(23 พ.ย.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเปิดพระราชวังบักกิงแฮม ณ กรุงลอนดอน เพื่อจัดงานเลี้ยงต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล และภริยา คิม กอน-ฮี พร้อมกับแขกพิเศษอย่างศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังระดับโลกอย่าง 4 สาว วง 'BLACKPINK' เนื่องในโอกาสกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งนี้ 4 สาว 'BLACKPINK' ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงระดับ State Banquet นี้ ยังได้รับพระราชดำรัสชื่นชมจากคิงส์ชาร์ลส์อีกด้วย

ล่าสุดอินสตาแกรมของสำนักพระราชวังสหราชอาณาจักร เผยแพร่คลิปทั้งสี่สาวได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE-Member of the Most Excellent Order of the British Empire ในฐานะทูตสิ่งแวดล้อม COP 26 จากสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทั้ง 4 สาวอย่างเป็นกันเอง โดยตรัสว่า “เราหวังว่าเราจะได้ชมการแสดงสดของพวกคุณบ้างในบางโอกาส”

โดยพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ชื่นชมทั้ง 4 สาวเนื่องจากเป็นเหมือนตัวแทนที่จะทำให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปสู่สายตาผู้ฟังทั่วโลก และชื่นชมที่พวกเขาจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เช่นเดียวกับการเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก

สำนักพระราชวังอังกฤษ ระบุว่า สมาชิกวง 'BLACKPINK' ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช ในบทบาทของผู้สนับสนุน COP26 สำหรับการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ในปี 2021

‘วีระศักดิ์’ ยกธุรกิจทั่วโลกเริ่มตื่นตัว ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’ ชูหลัก ‘5 P’ ช่วยภาคธุรกิจปรับประยุกต์ในงาน AFECA

เมื่อไม่นานนี้ ณ ห้องบอลรูม ที่ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทางสหพันธ์สมาคมการจัดการประชุมและนิทรรศการแห่งเอเชีย ‘Asian Federation of Exhibition & Convention Associations’ หรือ ‘AFECA’ ได้เดินทางเข้ามาจัดการประชุมนานาชาติ ‘ASIA 20 BUSINESS EVENTS FORUM’ ที่ประเทศไทย โดยมีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 170 คน

โดยงานนี้ได้เชิญ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานบอร์ด TCEB เป็น Keynote Speaker ของการประชุมในหัวข้อ ‘Business Events & Future Implications’ ซึ่งนายวีระศักดิ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของธุรกิจต่างๆ ในระดับโลกที่กำลังพยายามตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการจัดการความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจกำลังดำเนินการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างตื่นตัว

นายวีระศักดิ์ เสนอให้วงการธุรกิจปรับมุมมองจากการเป็น Business Community ที่มักมีไว้เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน ให้ยกระดับสู่การเป็น Business for Humanity ด้วยหลักการ 5 P ของสหประชาชาติ คือ ‘People - Planet - Peace - Partnership’ และสุดท้าย คือ ‘Prosperity’ ซึ่งแปลว่า ‘รุ่งเรือง’ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ภาคธุรกิจสามารถรับพนักงานผู้พิการให้อยู่ตามภูมิลำเนาบ้าน เพื่อปลูกป่าในนามของบริษัท ทำให้ได้ทั้งเรื่องของ ‘ESG’ (Environment Social Responsibility และ Good Governance) ไปในตัวด้วย

‘ฮ่องกง’ เปิดตัว ‘รถบัส 2 ชั้น’ ขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจนคันแรก พร้อมสถานีเติมเชื้อเพลิง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมให้บริการปีหน้า

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮ่องกง ‘ซิตีบัส’ (Citybus) ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทาง ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน รายงานการเริ่มต้นทดลองใช้งานรถบัส 2 ชั้นพลังไฮโดรเจนคันแรก และสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถบัสแห่งแรกของเมือง ซึ่งมีกำหนดให้บริการแก่สาธารณะในเดือนมกราคมปีหน้า

‘จอห์น ลี’ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง กล่าวว่าความคืบหน้านี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้งานยานยนต์พลังงานใหม่ในฮ่องกง โดยยานยนต์พลังไฮโดรเจนสามารถเดินทางในระยะไกลและเติมเชื้อเพลิงได้เร็ว ทำให้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพ สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำทั่วโลก

ซิตีบัส ระบุว่า การเติมเชื้อเพลิงของรถบัสพลังไฮโดรเจนคันแรกนี้ ใช้เวลาราว 10 นาที และรถบัสรุ่นใหม่ที่ล้ำหน้ากว่านี้จะวิ่งได้ไกลถึง 400 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง โดยรถบัสพลังไฮโดรเจนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถบัสน้ำมันดีเซล เพราะปล่อยเพียงน้ำขณะใช้งาน ซึ่งซิตีบัสวางแผนทดแทนรถบัสน้ำมันดีเซลทั้งหมดด้วยรถบัสพลังไฮโดรเจน ภายในปี 2045

ทั้งนี้ รถบัสพลังไฮโดรเจนคันแรก เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่ง อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของฮ่องกง

การแถลงนโยบายในปีนี้ของจอห์น ลี ระบุว่า รัฐบาลฮ่องกงจะกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไฮโดรเจนในฮ่องกงในปีหน้า และเริ่มต้นงานเตรียมการแก้ไขกฎหมายอันจำเป็นต่อการผลิต จัดเก็บ ขนส่ง และใช้งานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ภายใต้แนวคิดเสนอร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติในปี 2025

‘ซีพีเอฟ’ ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสมดุลเพื่อธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึก ‘พนักงาน-คู่ค้า’ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

(4 ธ.ค. 66) นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสุงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก  ทาง ซีพีเอฟ ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG (Environment Social Governance) และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคที่ประชาชนทุกคนในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งทรัพยากรป่า ไม้ น้ำ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  สนับสนุนความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"เราตระหนักดีว่า ในการดำเนินธุรกิจ ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำ อากาศต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างธรรมชาติที่ดีให้กับสังคม และสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ " นางกอบบุญ กล่าว

ซีพีเอฟ กำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ อาทิ  การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Management) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ( Biodiversity and Ecosystem) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Change Management and Net-Zero)

การดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต พัฒนามาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) บริหารจัดการฟาร์มสุกรรักษ์โลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำหรือระบบอีแวป (EVAP) ใช้ระบบบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊ส (Biogas) ช่วยลดกลิ่น กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ลดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการผลิตอาหาร ให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กลุ่ม SCG พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้  บริษัทฯได้จัดทำนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน  โดยตั้งเป้าหมายร้อยละ 100 ของการจัดหาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพด  ปลาป่น น้ำมันปาล์ม กากถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยึดแนวทาง ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ในการจัดหาผลผลิต รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพิ่มผลผลิต ปลอดการเผาตอซัง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย

ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมความตระหนักของพนักงาน รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป๋าชายเลน โครงการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั้งกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ กิจกรรมกับดักขยะทะเล ในโครงการ CPF Restore the Ocean  ที่นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ อาทิ  กระถางต้นไม้ และถาดใส่ของ ซึ่งโครงการดังกล่าว สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ด้านสังคม สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ และด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเล

นางกอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ส่งเสริมให้คู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความรู้ให้คู่ค้า SMEs ช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการนำส่วนของผลประหยัดที่เกิดขึ้น  มาลงทุนกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ขณะเดียวกัน ได้จัด โครงการ ‘ปันรู้ ปลูกรักษ์’ โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ที่ซีพีเอฟเข้าไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความรู้กับเยาวชนเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

'วีระศักดิ์' พาชม 10 ปีแห่งการพัฒนาที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อมของ ปตท. จาก 12 ไร่รกร้างกลางกรุง กลายร่างเป็นนิเวศป่ากลางเมืองแสนอุดม

เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.67) ประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะกรรมาธิการฯ ไปสำรวจศึกษาตัวอย่าง 'ป่าในกรุง' ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงทุนซื้อที่ดินเอกชนที่เคยเป็นกองขยะรกร้างจำนวน 12 ไร่ ในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาพัฒนาให้กลายเป็นนิเวศป่ากลางเมือง ด้วยแนวคิดสถาปนิกญี่ปุ่น ดร.มิยาวากิ อากิระ ที่ต้องการเลียนแบบป่าท้องถิ่นธรรมชาติ เน้นให้พืชหลากชนิด หลากเรือนชั้น แข่งกันโตในแนวพุ่งสูงขึ้นสู่ฟ้า โดยปลูกต้นไม้อย่างน้อย 5 ต้นต่อตารางเมตร

จากนั้นสร้างทางเดินชมธรรมชาติที่ยกระดับต่าง ๆ ขึ้นจนถึงเรือนยอดไม้ และต่อด้วยหอคอยสูงเท่าอาคาร 9 ชั้น เพื่อให้สามารถชมสวนป่ากลางกรุงได้ด้วยวิว 360 องศา

จากประสบการณ์ปลูกป่าล้านไร่ ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ที่นี่จึงเรียนรู้ที่จะรวบรวมดินปลูกตัวอย่างจากทั่วภาคกลาง รวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยมีในเขตกรุงเทพเเละปริมณฑลมาไว้กว่า 270 ชนิด

เริ่มโครงการเมื่อ 2557 แบ่งพื้นที่เป็นสระน้ำ 10% ใช้เป็นที่ตั้งอาคารดินเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ 15% อีก 75% ใช้ปลูกป่า ที่มีทั้งโซนไม้เบญจพรรณ ป่าผลัดใบไปจนถึงป่าชายเลน

เพียง 10 ปีผ่านไป ที่นี่ดึงดูดให้ได้พบเจอนกนานาพันธุ์ที่หาชมยาก เข้ามาปรากฏตัวมากถึง 74 ชนิด จาก 37 วงศ์ 

ที่นี่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมทุกวันอังคารถึงอาทิตย์ (มีกิจกรรมนำชมทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากทำการจองเวลานัดหมายไว้ล่วงหน้า)

ที่นี่ยังอนุญาตให้หน่วยงานและกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาขอใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ 'ปลูกป่าในใจคน' และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า "ที่นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อัตคัดอย่างมหานครใหญ่ นับเป็นกรณีที่ควรแก่การยกย่อง และเหมาะสมต่อการผลักดันนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่นการได้รับยกเว้นภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การได้รับอัตราค่าไฟฟ้าสาธารณะ การใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิชาการ  การฝึกปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงกล้าไม้ สำหรับคนเมืองต่อไป…"

14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมวิชาการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใส่ใจระยะยาว เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ‘The 3rd International Conference on Environment, Livelihood, and Services 2022’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา

โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษา ได้แสดงผลงานวิจัย และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก และการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา’ โดยทรงเน้นย้ำว่าถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจระยะยาว เพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่น แต่ส่งผลระดับนานาชาติ

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิชัยพัฒนา ยังจัดตั้ง ‘กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)’ ขึ้น เพื่อจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 122 แห่งใน 56 จังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชอาหารเพื่อการบริโภค นับว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีกทางหนึ่ง”

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวและจัดเตรียมทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมความพร้อมรับภัยธรรมชาติและมลภาวะแวดล้อม , เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม มีวิทยากรพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากต่างประเทศ ร่วมบรรยาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

‘อุตฯ ฟอกหนังไทย’ ปรับตัวเดินตาม ‘BCG โมเดล’ ตามเทรนด์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับ ‘คุณสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ที่ปรึกษาและกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฟอกหนังของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของภาคการส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด 

โดยคุณสุวัชชัย กล่าวว่า “ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป สงครามที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควรในมุมมองของเศรษฐกิจ อย่างกรณียุโรปเองก็ประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปศุสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น วัตถุดิบมีอัตราแพงขึ้น ซึ่งเครื่องหนังเปรียบเสมือนสินค้าฟุ่มเฟือย อัตราการใช้งานก็ลดลงทำให้มูลค่าตลาดลดลง ส่วนทางสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกัน ทำให้ส่งผลกระทบทั้ง Supply Chain ในระดับโลก ต้องบอกว่าเมืองไทยเรามีการส่งออกโดยได้รับคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ส่งออกในห่วงโซ่นี้ทำให้ได้รับผลกระทบจาก Supply Chain อยู่พอสมควร”

คุณสุวัชชัย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยในตลาดโลกว่า “ประเทศไทยมีการส่งออก ขนมิงค์ (Mink Hair) หนังวัว ไปยังทวีปยุโรป เบาะรถยนต์ ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ส่วนกระเป๋าเดินทางก็ส่งออกอันดับต้น ๆ และรองเท้านำเข้ามาผลิตและประกอบเพื่อส่งออกกลับไปจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นของเครื่องหนังไทยที่ต่างชาติยอมรับ คือ ความประณีตในการตัดเย็บ รูปแบบดีไซน์ และคุณภาพดีสม่ำเสมอ ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น รวมถึงมีสินค้าหลากหลายรูปแบบมากกว่า เช่น หนังปลา หนังงู เป็นต้น  ซึ่งในอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยมีการนำเข้าและส่งออก อยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกับกระเป๋าและเครื่องใช้ในการเดินทาง รองเท้า น่าจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท”

คุณสุวัชชัย ระบุเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันทางสมาคมฟอกหนังไทยได้สร้างความร่วมมือกับทางสมาคมรองเท้า กระเป๋า เพื่อพัฒนาให้เกิด Young Designer รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อทำอย่างไรให้แบรนด์ไทยได้ครองใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนความต้องการของผู้ประกอบการต่อภาครัฐในปัจจุบัน คือ 

1.ต้นทุนการดำเนินงานลดน้อยลง 
2.ข้อกำหนดทางการค้าเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฟอกหนัง เช่น การขยาย FTA ให้มากขึ้น, ข้อกำหนดด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”

คุณสุวัชชัย ยังได้กล่าวถึงเทรนด์การทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ปัจจุบันสมาคมฟอกหนังไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟอกหนังเน้นเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต้องย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ใช้ การผลิต ออกแบบจะต้องอยู่ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเริ่มพัฒนาสินค้าไปในทิศทางนี้แล้ว เช่น เมื่อผลิตสินค้าสารเคมีจะต้องไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

“ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็ส่งเสริม BCG โมเดลและเริ่มผลักดันผู้ประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณสุวัชชัย เน้นย้ำ

ส่วนเป้าหมายของอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ปัจจุบันเราพยายามปรับตัวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น เรามุ่งเน้นไปที่ทำหนังอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากที่สุด การบำบัดน้ำเสียตอนนี้มีอยู่ในเขตประกอบการของเรา ซึ่งมีบ่อหนึ่งเราปิดบ่อเลย แต่เราได้แก๊สมีเทน (Methane) และเน้นไปด้านไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อได้พลังงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นที่แรกในเมืองไทย ที่สามารถเอาสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มาเป็นพลังงานได้ 

อุตสาหกรรมฟอกหนังไทยถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอด อยากฝากถึงประชาชนว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจ เราเป็นหนึ่งใน 45 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เราไม่ได้มานั่งแก้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของมลพิษ แต่เราพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปในชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อม หรือติดตามเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เข้มข้นขึ้น สำหรับการจัดการกลิ่น น้ำเสีย ปัจจุบันสามารถเช็กได้ว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร 

“การฟอกหนังใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ การใช้สารเคมีที่แตกต่างจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าสู่ BCG โมเดล เพื่อทำให้มลพิษลดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” คุณสุวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย

‘กฟผ.’ ปรับโซนใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ อัดแน่น ‘ความรู้-ความสนุก-สื่อทันสมัย’ จูงใจเรียนรู้เรื่องพลังงานอย่างมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดรอบพิเศษแก่คณะสื่อมวลชน ชมนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ที่ปรับปรุงใหม่ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ โดยมีนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. และผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้นำชม ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 

กฟผ. ปรับปรุงนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง โซน ที่ 2 และ 5 ด้วยเทคโนโลยีสื่อจัดแสดงที่ทันสมัย ให้เยาวชนและผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์อันตื่นตาตื่นใจไปกับการเรียนรู้ด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้กลยุทธ์ EGAT Carbon Neutrality ของ กฟผ. โดยจัดแสดง ผ่าน 5 สัมผัสพิเศษ 5 เทคนิคจัดแสดง ดังนี้

โซนที่ 2 Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon:
1. Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon นิทรรศพลังงานแห่งอนาคตกับการสร้างประสบการณ์ร่วมในโลกเสมือน พาทุกคนร่วมเดินทางไปสัมผัสความรู้สึกเมื่อโลกที่เราอาศัยอยู่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และความงดงามของโลกแห่งจินตนาการที่ทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ในดินแดนคาร์บอนเรืองแสง ผ่านเทคนิค Interactive Immersive Experience & Theater 6D - 8K ภาพยนตร์ 6 มิติ บนจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ความยาวถึง 30 เมตร

โซนที่ 5 Right Carbon สร้างสมดุลคาร์บอน:
2. Carbon คือผู้ร้ายจริงหรือ แกะร่องรอยปริศนาผู้อยู่เบื้องหลังภาวะโลกเดือด จุดเริ่มต้นของปัญหาภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ตามหา Carbon ที่อยู่รอบตัวเราผ่านเทคนิค AR Interactive

3. พลังงานขับเคลื่อนชีวิต ย้อนเวลาสู่ก้าวแรกแห่งการค้นพบพลังงานไฟฟ้าเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. และสนุกกับเกมการเรียนรู้ด้านพลังงานรูปแบบ Self-learning ผ่านเทคนิค Model Interactive Projection Mapping Graphic Wall

4. Welcome to ELEXTROSPHERE ภารกิจขับเคลื่อนโลกสู่ ‘EGAT CARBON NEUTRALITY’ ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ลด ชดเชย กักเก็บ อาทิ การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และทางเลือกในการจัดการพลังงานแห่งอนาคต ผ่านเทคนิค Projection Mapping Interactive & AR Interactive

5. แต่งแต้มจินตนาการให้แก่โลก ELEXTROSPHERE สนุกกับกิจกรรมกักเก็บ Carbon เพื่อสร้างสมดุลพลังงานยั่งยืน คืนชีวิตแก่ ต้นไม้แสงนิรันดร์ และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกใหม่ Right Carbon ด้วยการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ แต่งแต้มสีสันให้กับ ELEXTROSPHERE ผ่านเทคนิค Touch Screen L&S Interactive Projection Mapping

นอกจาก 2 โซนใหม่เอี่ยมล่าสุดแล้ว ยังมีอีก 5 โซนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น โซน 1 จุดประกาย จุดประกายแสงแรกในตัวคุณ ลงทะเบียนรับ RFID แปลงร่างเป็น AVATAR ผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า 

โซน 3 คืนสู่สมดุล สัมผัสชีวิตอนาคตที่มีความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี 

โซน 4 สายน้ำแห่งความภูมิใจ สัมผัสภารกิจแห่งในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ป่าต้นน้ำสู่สายน้ำเจ้าพระยาควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย 

โซน 6 โลกที่ยั่งยืน สำรวจโลกพลังงานไฟฟ้าการบริหารจัดการกับการใช้ไฟฟ้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

โซน 7 แสงนิรันดร์ ประมวลผลการเรียนรู้และรวมพลังสร้างแสงแห่งสุขนิรันดร์

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง หรือ โทร. 0-2436-8953


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top