Thursday, 2 May 2024
สิ่งแวดล้อม

‘สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.’ แนะ!! ลดใช้แคดเมียม พัฒนาวัสดุทดแทน ชี้!! แม้มีประโยชน์มาก แต่โทษมหันต์ต่อมนุษย์ ถ้าคุมได้ไม่ดี

(11 เม.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ปัจจุบันแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยแร่แคดเมียมเป็นโลหะหนัก ได้มาจากการถลุงแร่สังกะสี ตะกั่วและทองแดง แคดเมียมสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ อาทิ การชุบโลหะ เพื่อเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน การสึกหรอ ป้องกันสนิม เป็นสารเคลือบ ใช้ในชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ทางทะเล เม็ดสี ทำแบตเตอรี่ ปุ๋ยและอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนแคเมียมจะมีประโยชน์ต่อการผลิตสิ่งต่างๆที่พวกเราต้องใช้งานกันชีวิตประจำวันของทุกคน

แต่เมื่อมีประโยชน์มาก โทษก็เยอะตามมาด้วย หากการบริหารจัดการแร่หรือกากแคดเมียมไม่ดีพอ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในปัจจุบันมักใช้วิธีฝังกลบกากลงดินในการทำลาย ก็เป็นเหตุให้สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศในบริเวณโดยรอบได้อย่างง่ายดาย มิหนำซ้ำยังเกิดกรณีการลักลอบขุดกากขึ้นมาขายต่ออีกที่กำลังเป็นข่าว และเกิดขึ้นในหลายจังหวัดรวมถึงเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศูนย์กลางของประเทศ การลักลอบดังกล่าว ก็กระทำโดยผิดกฎหมาย ขาดองค์ความรู้และหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ตลอดจนการเก็บในโกดังหรือคลังสินค้าก็ไม่ได้มาตรการ จึงเป็นความอันตรายและเป็นภัยต่อสังคมโดยองค์รวม

ในส่วนของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากแคดเมียมนั้น มีหลายผลกระทบมาก ไม่ว่าจะเป็น การปนเปื้อนในดินและน้ำ หากยิ่งใกล้แหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นห้วย หนอง คลอง แม่น้ำ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ลดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดความหลากหลายทางชีวภาพ ปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์และสุขภาพของประชาชนในบริเวณโดยรอบ มลพิษทางอากาศ ที่อาจเกิดขึ้นจากการขนย้ายกากอย่างไม่ได้มาตรฐานอาจปล่อยฝุ่นละออง เกิดการฟุ้งกระจาย ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนได้ การสัมผัสหากมีปริมาณเกินไป ร่างกายจะสะสมพิษได้นานหลายปี มีผลร้ายต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น มีปฏิกิริยากับระบบไต ปอด กระดูกพรุน ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบสืบพันธุ์รวมถึงโรคอิไต อิไตด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ควรมีการลดใช้แคดเมียม ด้วยการเร่งพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาทดแทน ภาครัฐควรออกมาตรการควบคุมให้ธุรกิจรับซื้อของเก่า เศษเหล็ก, เศษพลาสติก, พอลิเมอร์ เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือผ่านกระบวนการเพื่อนำกับมาใช้ซ้ำใช้ใหม่ รวมถึงโรงงานหลอมโลหะในทุกที่ทั่วราชอาณาจักร มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีกฎหมายออกมาบังคับเฉพาะ เพื่อเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิดในอนาคต ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่สาธารณะ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลความเป็นไปในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือให้ความรู้แก่ประชาชน ทางสาธารณสุข สุขอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส การอยู่ใกล้ หากมีความจำเป็นต้องเข้าใกล้ ควรใส่หน้ากากป้องกันสารพิษ หลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากแหล่งที่มาไม่ชัดเจน เพราะแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที อาจปนเปื้อนในอาหารที่เรากำลังรับประทาน ในน้ำที่เรากำลังดื่มหรือในอากาศที่เรากำลังหายใจอยู่ก็เป็นได้

‘สนพ.’ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ‘5 แผนพลังงานชาติ’ คาด!! แล้วเสร็จ-พร้อมยื่น ครม.พิจารณาภายใน ก.ย.นี้

‘แผนพลังงานแห่งชาติ’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดทิศทางว่า ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนา และวางนโยบายด้านพลังงานไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเมื่อโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘พลังงานสะอาด’ เป็นกุญแจสำคัญที่พาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นที่จับตามองว่า แผนพลังงานที่จะออกมาในเดือนกันยายนนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

>> 1 แผนหลัก 5 แผนรอง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ‘แผนพลังงานชาติ’ (National Energy Plan 2024) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แผน ดังนี้ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งประเมินว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

>> PDP 2024 เพิ่มพลังงานสะอาด

สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของระบบ 2.ราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และ 3.สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP 2018 เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซลาร์จะมีสัดส่วนเยอะที่สุด ตามด้วยพลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล รวมถึงจะบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage)

ด้าน นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมพลังงานลมบ้าง ถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในแผน PDP 2024 จากเดิมที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ที่มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันก็จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 1,500 เมกะวัตต์ และกำลังรอเปิดเพิ่มอีกที่เหลือจนครบ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะความปลอดภัยที่ต้องหารือกัน

นอกจากนี้ แผน PDP ฉบับล่าสุดยังเพิ่มพลังงานทางเลือกใหม่อีก 5% อาทิ พลังงานไฮโดรเจนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากแผน PDP 2018 ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งตั้งกำลังผลิตไว้ประมาณ 70 เมกะวัตต์ พร้อมบรรจุเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ในแผนฉบับใหม่นี้ด้วย

>> รักษาระดับไฟฟ้า Base Load

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 8 เมษายน 2567 พบว่า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ไฟพีก) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับไฟพีกระบบที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน มีค่าเท่ากับ 34,826.5 เมกะวัตต์ แต่ทาง สนพ.คาดว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 35,000-36,000 เมกะวัตต์

ดังนั้นกำลังผลิตของพลังงานฟอสซิลที่เป็นโรงไฟฟ้า Base Load ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ รวมถึงรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากในช่วงกลางวันเป็นช่วงกลางคืนมากขึ้น โดยปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงเหลือประมาณ 30%

“เรายังไม่สามารถระบุกำลังผลิตทั้งหมดของพลังงานหมุนเวียน เพราะไฟฟ้าที่อยู่ในระบบกับไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริงต่างกัน ประเมินว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริง 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งเราต้องผลิตให้พอดีกับความต้องการใช้ไฟให้ได้ ถ้าสมมุติว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องทำไฟฟ้าในระบบให้ได้ 30,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์ที่ไม่สามารถผลิตไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยดินฟ้าอากาศ ทำให้เราต้องมาประเมินว่า ไฟฟ้าที่เราสามารถพึ่งพาได้จากพลังงานหมุนเวียนมีเท่าไหร่” นายวีรพัฒน์ กล่าว

>> จ่อเพิ่มสัดส่วน RE อีก 40%

รายงานสถิติพลังงานประเทศไทย 2566 ระบุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ปี 2565 ว่า เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ 1.ก๊าซธรรมชาติ 114,637 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 53% 2.ลิกไนต์/ถ่านหิน 35,523 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 17% 3.การนำเข้า 35,472 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 16%

4.พลังงานหมุนเวียน 21,876 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 10% 5.พลังงานน้ำ 6,599 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 3% และ 6.น้ำมัน 1,731 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 0.8% โดยประมาณ

โดยสามารถแยกแหล่งที่มาพลังงานหมุนเวียนในระบบของการไฟฟ้าปี 2565 ดังนี้ ไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 338.73 เมกะวัตต์

ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 2,077.71 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าพลังงานน้ำจากในประเทศอยู่ที่ 123.80 เมกะวัตต์ โดยมีแผนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 กำลังผลิตอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบันติดตั้งสำเร็จแล้วที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ ส่วนการนำเข้าพลังงานน้ำอยู่ที่ 4,461.903 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลมมีกำลังผลิตรวม 1,502.31 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์อยู่ที่ 2,917.33 เมกะวัตต์

>> ส่องพลังงานหมุนเวียนรายภาค

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พบว่า สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 รายภูมิภาค มีความแตกต่างกันตามศักยภาพการผลิตและวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต

โดยสามารถแยกได้ดังนี้ ภาคเหนือมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 1,101.80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานโซลาร์ 48% พลังงานชีวมวล 41% พลังงานลม 5% พลังงานน้ำ 5% และพลังงานก๊าซ 1%

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตก มีกำลังผลิตรวม 2,614.87 เมกะวัตต์ ซึ่ง 72% ของกำลังผลิตรวมมาจากพลังงานโซลาร์ ส่วนพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 23% ตามด้วยพลังงานก๊าซ 3% และพลังงานน้ำ 2%

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตรวม 2,575.68 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 50% ตามมาด้วยพลังงานชีวมวล 27% พลังงานโซลาร์ 18% พลังงานก๊าซ 4% และพลังงานน้ำ 1%

และสุดท้ายภาคใต้ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 661.53 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 48% พลังงานลม 22% พลังงานก๊าซ 22% พลังงานโซลาร์ 6% และพลังงานน้ำ 2%

ดังนั้น หากแผน PDP 2024 ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2580 นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 40% นับเป็นความท้าทายของภาคพลังงานไทยครั้งใหญ่ที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาคด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top