Monday, 21 April 2025
สหรัฐอเมริกา

‘ปูติน’ ออกกฤษฎีกา ‘ฮุบทรัพย์สินมะกัน’ หากสหรัฐฯ ยึดทรัพย์รัสเซีย ตอบโต้การยึดสินทรัพย์รัสเซียในแบงก์อเมริกันที่ปันไปช่วยเหลือยูเครน

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียลงนามกฤษฎีกา กำหนดให้รัฐบาลเตรียมระบุสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรที่อาจถูก 'ยึด' เพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินของรัสเซียในอเมริกา

โดยเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นจากคณะผู้เจรจาของกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ได้มีการพูดคุยกันมานานหลายสัปดาห์แล้วว่าจะดึงเอาทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกอายัดไว้หลังเกิดสงครามในยูเครน ซึ่งมีทั้งในรูปสกุลเงินหลักและพันธบัตรรัฐบาลรวมมูลค่าราว 300,000 ล้านดอลลาร์ ออกมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

แม้การตอบโต้แบบ 'ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน' จะเป็นเรื่องยากสำหรับรัสเซีย เนื่องจากมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติที่ลดน้อยลงมาก แต่เจ้าหน้าที่และนักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลผ่านรอยเตอร์สในเดือนนี้ว่า มอสโกอาจจะหันไปใช้วิธียึดเงินสดของพวกนักลงทุนเอกชนแทน

กฤษฎีกาของ ปูติน ระบุว่า สหพันธรัฐรัสเซียหรือธนาคารกลางรัสเซียสามารถร้องขอให้ศาลรัสเซียพิจารณาได้ว่าทรัพย์สินของรัฐถูกยึด ‘โดยปราศจากความชอบธรรม’ หรือไม่ เพื่อเปิดทางไปสู่การเรียกร้องเงินชดเชย จากนั้นศาลจะมีคำสั่งบังคับชดเชยในรูปสินทรัพย์และทรัพย์สินของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ในรัสเซีย ตามบัญชีรายชื่อซึ่งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์ต่างชาติได้จัดทำเอาไว้

ในบรรดาทรัพย์สินของสหรัฐฯ ที่อยู่ในข่าย 'ถูกยึด' ได้นั้นรวมถึงตราสารหนี้ หุ้นในบริษัทของรัสเซีย อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ

ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตผู้นำรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัสเซียมีทรัพย์สินของรัฐบาลอเมริกันอยู่ในมือไม่มากนัก ดังนั้นมาตรการตอบโต้จึงต้องเป็นไปแบบ 'อสมมาตร' โดยเน้นที่ทรัพย์สินของเอกชนเป็นหลัก

กฤษฎีกาของ ปูติน ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินของบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ อาจตกเป็นเป้าหมายได้ แต่ก็ไม่ได้ให้นิยามชัดเจนว่า 'ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ' นั้นจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ใด

ทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงบุคคลและกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกจัดเอาไว้ในบัญชีพิเศษ ‘Type-C’ ที่รัสเซียประกาศใช้ หลังจากที่ส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 จนถูกสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนัก

เงินสดในบัญชี Type-C นี้จะไม่สามารถถูกยักย้ายถ่ายโอนออกนอกรัสเซียได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมอสโก

สหรัฐฯ เองก็ได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สามารถยึดทรัพย์สินรัสเซียที่มีอยู่ในธนาคารอเมริกัน และส่งมันไปช่วยเหลือยูเครน ในความเคลื่อนไหวที่มอสโกประณามว่า 'ผิดกฎหมาย'

‘จีน’ เผย รายงานความเลวร้าย ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ในสหรัฐอเมริกา ชี้!! ความเป็น ‘เจ้าโลก’ สร้างวิกฤตเพิ่มการ 'เหยียดเชื้อชาติ-เหลื่อมล้ำ-ละเมิดสิทธิ'

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 67) สำนักงานสารนิเทศของสภาแห่งรัฐจีน (China's State Council Information Office ) ออกรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 โดยเปิดเผยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงของประเทศด้วยข้อเท็จจริงและตัวเลข

รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดําเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนชาวอเมริกัน และข้อกังวลระหว่างประเทศ

รายงานระบุว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกายังคงเลวร้ายลงในปี 2566 และเสริมว่าสิทธิมนุษยชนกําลังมีการแบ่งขั้วมากขึ้นในประเทศ

ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่ปกครองมีอํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่คนธรรมดาส่วนใหญ่กลับถูกกีดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย ‘สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเขาถูกเพิกเฉย’
สังเกตว่า สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองลดลงเหลือเพียงการพูดคุยในสหรัฐอเมริการายงานนี้ดึงความสนใจไปที่ปัญหาที่เลวร้ายลงรวมถึงความรุนแรงจากปืนการต่อสู้ของพรรคพวกความโหดร้ายของตํารวจและระบบความรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายของตํารวจที่ไม่มีประสิทธิภาพการจําคุกจํานวนมากและการบังคับใช้แรงงานการแบ่งขั้วทางการเมืองการจัดการการเลือกตั้งและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่ลดลง

โรคเรื้อรังของการเหยียดเชื้อชาติยังคงมีอยู่" รายงานระบุ โดยเน้นว่าชาวแอฟริกันอเมริกันเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติอย่างร้ายแรงและความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมายและบริการทางการแพทย์

ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียประสบกับการเลือกปฏิบัติที่รุนแรงขึ้นสิทธิของชนพื้นเมืองอเมริกันถูกละเมิดอย่างต่อเนื่องและ "อุดมการณ์เหยียดเชื้อชาติกําลังแพร่กระจายอย่างรุนแรงในสหรัฐอเมริกาและทะลักข้ามพรมแดน

รายงานระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นทําให้ชีวิตคนยากจนยากลําบากอย่างยิ่ง โดยตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมถูกตีตราว่าเป็น ‘ชีสสวัสดิการ’ ในสหรัฐอเมริกา และปรากฏการณ์ของ "ความยากจนในที่ทํางาน" ก็แพร่หลาย โดยช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้นอีก

สหรัฐอเมริกายังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และยังคงเป็นรัฐสมาชิกสหประชาชาติเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกล่าวเตือนถึงการละเมิดสิทธิสตรีและเด็กในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันนักการเมืองได้ ‘ละทิ้งสิทธิและสวัสดิการของผู้อพยพ’

ในต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ไล่ตามลัทธิเจ้าโลกมานานฝึกฝนลัทธิฝ่ายเดียวและการเมืองเชิงอํานาจและสร้างวิกฤตด้านมนุษยธรรม

ในสหรัฐอเมริกา สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพิเศษที่คนเพียงไม่กี่คนได้รับเท่านั้น ปัญหาสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ของประเทศคุกคามและขัดขวางการพัฒนาที่ดีของสาเหตุสิทธิมนุษยชนโลกอย่างร้ายแรง รายงานระบุ

รายงานประกอบด้วยคํานํา สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกลายเป็นการพูดคุยที่ว่างเปล่า โรคเรื้อรังของการเหยียดเชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้น การละเมิดสิทธิสตรีและเด็กอย่างต่อเนื่อง การต่อสู้ที่บีบคั้นหัวใจของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร และความเป็นเจ้าโลกของอเมริกาสร้างวิกฤตด้านมนุษยธรรม

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เปิดบัญชี TikTok มีผู้ติดตามทันทีกว่า 3 ล้าน คลิปแรกมีคนดูกว่า 56 ล้าน  เผย!! เปิดไว้ใช้สื่อสารกับชาวอเมริกัน ทั้งที่เมื่อก่อนนั้น เคยพยายามสั่งแบน แต่ไม่สำเร็จ

(3 มิ.ย.67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดตาม TikTokจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน ทันทีที่เขาเปิดบัญชีใช้แพลตฟอร์ม TikTok แอปพลิเคชันสำหรับแชร์คลิปวิดีโอสั้นเป็นวันแรก พร้อมกับลงคลิปลงใน TikTok เมื่อช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ผ่านมา ตามวันเวลาในสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ วัย 77 ปี เปิดใช้บัญชี TikTok ในชื่อว่า @realdonaldtrump และได้โพสต์คลิปวิดีโอสั้นคลิปแรกลงใน TikTok

เป็นภาพวิดีโอที่เขาพบปะกับเหล่าบรรดาผู้สนับสนุน ขณะไปชมรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานของยูเอฟซี ที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งปรากฏว่า มีผู้รับชมคลิปดังกล่าวใน TikTok จำนวนมากกว่า 56 ล้านคน พร้อมกันนี้ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวหลังจากเปิดบัญชี TikTok ว่า ตนจะใช้เครื่องมือทุกประเภทที่มีอยู่ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับชาวอเมริกัน สำหรับ ประวัติความสัมพันธ์ของนายทรัมป์ กับ TikTok นั้น ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฐฯ เคยพยายามแบน TikTok เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) แต่ถูกศาลขัดขวาง จึงทำให้แบนไม่สำเร็จ

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของ ‘ราชอาณาจักรฮาวาย’ ถูกโค่นโดยนายทุน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหรัฐอเมริกา’


มลรัฐฮาวาย (Hawaii) เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวายได้รวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 50 ในวันที่ 21 สิงหาคม 1953 โดยฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,700 กม. (2,300 ไมล์) แต่เดิมฮาวายถูกเรียกว่า ‘หมู่เกาะแซนด์วิช’ (Sandwich Islands) ชื่อนี้ถูกตั้งโดย ‘เจมส์ คุก’ เมื่อเขาแล่นเรือมาพบเกาะในปี 1778) มีจำนวนประชากรราว 1,455,271 คน (ข้อมูลปี 2015) โดยมีนครโฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ภาษาทางการของรัฐคือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฮาวาย ฮาวายได้มีชื่อเล่นของรัฐว่า ‘รัฐอโลฮา’ (Aloha State) ซึ่งคำว่า ‘อโลฮา’ เป็นคำทักทายในภาษาฮาวาย มีความหมายถึง ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ (ใช้ตามแต่โอกาส)


อย่างไรก็ตาม มลรัฐฮาวายประกอบไปด้วยเกาะสำคัญๆ 8 เกาะ ซึ่งก็คือ (1) Ni’ihau, (2) Kauai, (3) Oahu เป็นที่ตั้งเมืองหลวงคือ นครฮอนโนลูลู เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ, (4) Maui, (5) Molokai เนื้อที่ 260 ตารางไมล์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองฮาวาย, (6) Lanai, (7) Kaho’olawe และ (8) Hawaii หรือ Big Island เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 4,000 ตารางไมล์


(ธงชาติของราชอาณาจักรฮาวาย)

โดย มลรัฐฮาวาย แต่เดิมคือราชอาณาจักรฮาวาย (Kingdom of Hawaii) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 1795 และล่มสลายไปประมาณปี 1893 - 1894 ราชอาณาจักรฮาวายก่อตั้งขึ้นโดย พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงชนะสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี พระองค์ได้ปราบดาภิเษกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ราชอาณาจักรฮาวายมีระบอบการปกครองแบบมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ปี 1795 จนกระทั่งปี 1840 และ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 1840 จนกระทั่งปี 1893 ราชวงศ์คาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1810 ถึงปี 1893 ราชอาณาจักรฮาวายปกครองโดยอีกสองราชวงศ์คือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา และ ราชวงศ์คาลาคาอัว หลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 สวรรคต พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ทรงปกครองฮาวายต่อมาตามลำดับ ช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีลิโฮลิโฮ พระอัครมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ และมีคูฮินา นูอิทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คล้ายกับนายกรัฐมนตรี)


(พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

ทั้งนี้ พระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย (ราชวงศ์คาลาคาอัว) ทรงไม่มีรัชทายาท รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงต้องเลือกระหว่างสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 กับเดวิด คาลาคาอัว ในระหว่างการตัดสินนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย จนในที่สุด ‘เดวิด คาลาคาอัว’ ก็ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งฮาวายง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง พระองค์จึงต้องประกาศแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์


(สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

การล่มสลายของราชอาณาจักรฮาวาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายครองราชย์ ด้วยเพราะ นักธุรกิจชาวยุโรปและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาต้องการผนวกฮาวายให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าน้ำตาลในฮาวายให้ได้มาก ๆ  (สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากฮาวายมากที่สุด โดยนายทุนใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอเมริกัน) จึงเริ่มกระบวนการการผนวกฮาวาย โดยเริ่มจากการจัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัย’ ขึ้นเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับสมเด็จพระราชินีฯ จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้ส่งเรือรบพร้อมนาวิกโยธินเข้ามายึดฮาวาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy* ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีและพระราชวงศ์ฮาวายไม่อาจต้านทานได้ การปฏิวัติฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 1893 โดย ‘แซนฟอร์ด บี ดอล’ และพรรคพวกได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฮาวายขึ้น เพื่อปกครองฮาวายจนกว่าจะถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับกุมพระราชินีและพระราชวงศ์และสั่งจำคุก จากนั้นก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ราชอาณาจักรฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 7 กรกฎาคม 1898 โดยฮาวายได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรฮาวาย
*อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy’ https://thestatestimes.com/post/2024042211


(พิธีเชิญธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสาหน้าพระราชวังโอลานิ หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองฮาวายได้สำเร็จ)

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ทรงถูกจับกุมเมื่อ 16 มกราคม 1895 พระองค์ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ทำงานหนัก และปรับ 5,000 ดอลลาร์ โดยพระองค์ถูกขังในพระราชวังโอลานิ ผู้สนับสนุนพระองค์ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีโจเซฟ นาวาฮี เจ้าชายคาวานานาโคอา โรเบิร์ต วิลค็อก และเจ้าชายโจนาห์ คูฮิโอ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณในที่พักเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1896 สาธารณรัฐฮาวายก็คืนสิทธิการเป็นพลเมืองแก่พระองค์ หลังจากพ้นโทษ พระองค์ก็ทรงอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1917 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง พระบรมศพของพระองค์ได้รับการจัดพิธีฝังอย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตประมุขแห่งรัฐ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถูกบริจาคให้ "กองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีเพื่อเด็กกำพร้าและยากจน" ซึ่งกองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ปกครองราชอาณาจักรฮาวาย โดยครองราชย์เพียง 2 ปี


(Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)


(Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา (1) Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar บุตรีของเจ้าหญิง Helena Kalokuokamaile Wilcox แห่งราชวงศ์ Kalokuokamaile และ (2) Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele ผู้นำชาตินิยมฮาวาย และมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม Nation of Hawai'i เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง Pu'uhonua o Waimānalo หมู่บ้านวัฒนธรรมฮาวาย และโครงการฟื้นฟูการเกษตรแบบดั้งเดิมของ Lo'i kalo (taro paddy) ใน Waimānalo, Hawai'i Pu'uhonua ซึ่งภาษาฮาวายมีความหมายว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘สถานที่หลบภัย’ โดยกลุ่ม Nation of Hawai'i ซึ่งทำหน้าที่บริหารหมู่บ้านถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีอธิปไตยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชอาณาจักรฮาวายที่เป็นเอกราช ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา โดย Kanahele ได้อ้างตัวเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 Kanahele กลายเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจอธิปไตยของฮาวาย ซึ่งต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลกลางและความเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ทั้งสองต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายจนปัจจุบัน 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

ทีมผู้สร้างโปรแกรม AI ของ Stanford ยอมรับผิด หลังลอกผลงานของทีมนักพัฒนา AI จากจีน

เรื่องอื้อฉาวของแวดวง AI วันนี้ ต้องยกให้กับข่าวการโพสต์ข้อความขอโทษอย่างเป็นทางการจาก 2 สมาชิกในทีมนักพัฒนาโปรแกรม AI จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันการศึกษาระดับโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ถูกจับได้ว่าลอกงานเขียนโปรแกรมของทีมนักพัฒนา AI ของจีน

2 สมาชิกคนดังกล่าวคือ Siddharth Sharma และ Aksh Garg หนึ่งในสมาชิกทีมพัฒนา Llama3-V ที่ใช้รูปแบบโมเดลภาษาของ Meta AI ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวว่าเป็นรูปแบบภาษาที่มีความล้ำหน้า หลากหลาย ที่ใช้ไฟล์ขนาดเล็กกว่า GPT งานของ Open AI ค่ายคู่แข่งหลายเท่า 

ซึ่ง Llama3-V เพิ่งปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยทีม Stanford AI และได้เปิดหลักสูตรอบรม Llama3-V ตัวใหม่ ที่เคลมว่ามีศักยภาพเหนือกว่าโปรแกรมอื่น ๆ อย่าง GPT-4V Gemini Ultra และ Claude Opus ในราคาคอร์สละ 500 ดอลลาร์ 

แต่ต่อมา ผู้ที่เข้าร่วมคอร์ส Llama3-V ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมโครงสร้างโปรแกรมของ Llama3-V หลายจุด เหมือนกับ โปรแกรม MiniCPM-Llama3-V 2.5 ผลงานของบริษัท ModelBest ที่ร่วมกับทีมนักพัฒนาจาก มหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน ไม่มีผิดเพี้ยน และได้นำโค้ดของทั้ง 2 โปรแกรมมาเทียบให้ดู เพื่อให้ชาวเน็ตผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมมาพิสูจน์ความเหมือน

จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาบริษัท ModelBest ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า โปรแกรมที่พัฒนาโดยทีมจากสแตนฟอร์ดนั้น ใช้โค้ดเหมือนกับ MiniCPM ของจีนจริง และยังมีความสามารถที่เหมือนกันคือ สามารถแยกตัวอักษรจีนโบราณได้ และมีจุดบกพร่องในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย จึงยืนยันได้ว่าเป็นการลอกผลงานจริง 

หลี ต้าไห่ ประธานบริษัท ModelBest ยังกล่าวอีกว่า "การได้รับการยอมรับจากทีมพัฒนาระดับนานาชาตินั้นเป็นเรื่องดี และเราเชื่อมั่นในการสร้างสังคมที่เปิดใจกว้าง มีความร่วมมือ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราก็อยากให้ผลงานของทีมเราได้ถูกค้นพบ และได้รับการยกย่องอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไม่ใช่ในลักษณะนี้”

เมื่อหลักฐานชัดเจน 2 สมาชิกจากทีมผู้พัฒนา Llama3-V ก็ได้ออกมาโพสต์ยอมรับความผิด และขอโทษทีมผู้สร้าง MiniCPM ผ่าน X จากการทำงานที่ขาดความรอบคอบ จนสร้างปัญหาให้กับทีมงานทั้งหมดของโปรเจกต์ Llama3-V และกับทีม MiniCPM ของจีน รวมถึงผู้ที่ติดตามผลงานวิชาการของทีมนักศึกษาสแตนฟอร์ด และสถาบัน ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในแวดวงนักพัฒนา AI เป็นวงกว้าง เริ่มจาก คริสโนเฟอร์ แมนนิ่ง ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ และ ภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความประณามผ่าน X ถึงเรื่องอื้อฉาวนี้ว่า "ปลอมตั้งแต่ยังไม่สร้าง ก็เป็นได้แค่สินค้าไร้ราคาในซิลิคอน วัลเลย์" 

ด้าน ลูคัส เบเยอร์ นักวิจัยประจำห้องแล็บ AI DeepMind ของ Google แสดงความเห็นผ่านโซเชียลเช่นกันว่า จากข่าวนี้ทำให้คนในวงการได้รู้จัก MiniCPM-Llama3-V 2.5 ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ดีทีเดียว เพียงแค่คนไม่ค่อยสนใจเพราะมองว่าเป็นผลงานของนักพัฒนาจีน ไม่ใช่งานของเด็ก Ivy League เท่านั้นเอง  

หลิว จือหยวน หัวหน้าทีมวิจัยของ ModelBest และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ได้โพสต์ข้อความผ่าน WeChat เช่นกันว่า ตอนที่เราเริ่มโครงการนี้ เรารู้ถึงช่องว่างที่ห่างมากระหว่างเทคโนโลยี AI ของจีนในตอนนั้น กับ งานพัฒนาชั้นนำของชาติตะวันตกอย่าง Sora และ GPT-4 แต่เราก็พัฒนาได้เร็วมาก จาก Nobody แห่งวงการเมื่อสิบปีก่อนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกุญแจขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ได้ในวันนี้

ในขณะที่ข่าวนี้ ทำให้ทีมหนึ่งดับ แต่อีกทีมหนึ่งกำลังจะดัง เป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้นว่า 'AI ของทีมจีนนั้นดูแคลนไม่ได้' เพราะยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้ามากเท่าไหร่ ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ

‘ศาล’ ตัดสิน!! ‘ลูกชายโจ ไบเดน’ ทำผิดทางอาญา โทษจำคุกสูงสุด 25 ปี ฐานปลอมข้อมูลเพื่อซื้อปืน

(12 มิ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายวัย 54 ปี ของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาทั้ง 3 ข้อหา สืบเนื่องจากการปลอมแปลงเอกสารทางราชการว่าเขาไม่ได้เสพสารเสพติด เพื่อซื้อปืนลูกโม่เมื่อปี 2561 แต่อย่างใด โดยความผิดทางอาญานี้มีโทษฐานจำคุกสูงสุด 25 ปี แต่เขาไม่น่าที่จะได้รับโทษสูงสุดเพราะถือเป็นความผิดครั้งแรก และยังไม่ชัดเจนว่าผู้พิพากษาจะตัดสินให้เขาต้องเข้าคุกด้วยหรือไม่

ด้านประธานาธิบดีไบเดนได้ออกแถลงการณ์หลังจากที่ศาลได้ตัดสินว่าลูกชายของเขามีความผิดจริงว่า เขาเคารพกระบวนการพิพากษาของประเทศและฮันเตอร์กำลังเตรียมการที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป กระบวนการตัดสินของศาลนั้นเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่ไบเดนเตรียมกล่าวถ้อยแถลงในเรื่องการลดความรุนแรงจากการใช้ปืน และการยกเลิกข้อกฎหมายว่าด้วยการครอบครองปืนที่ Gun Safety Action Fund องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในรัฐวอชิงตัน ซึ่งนายไบเดนปฏิเสธการกล่าวถึงลูกชายของเขาระหว่างการกล่าวถ้อยแถลงในงานนี้

อย่างไรก็ดี ไบเดนได้เจอกับบุตรชายเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังคำตัดสิน เมื่อเครื่องบินของเขาลงจอดที่วิลมิงตัน ซึ่งเขาได้เข้าไปโอบกอดฮันเตอร์ทันที โดยไบเดนจะใช้เวลาร่วมกับครอบครัวก่อนที่จะออกเดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำจี 7 ที่อิตาลี ในวันรุ่งขึ้น ขณะที่ตลอดเวลาในการพิจารณาคดี นางจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐก็อยู่เคียงข้างฮันเตอร์ตลอดเวลา และยังจับมือของเขาเดินออกจากศาลหลังรับฟังคำพิพากษาด้วย

นอกจากคดีนี้แล้ว นายฮันเตอร์ยังต้องขึ้นศาลที่รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อต่อสู้กับข้อหาการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่ากว่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายนด้วย

ทั้งนี้ นายเดวิด ไวส์ ซึ่งนอกจากจะเป็นอัยการในคดีนี้ ซึ่งถูกเสนอชื่อในตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐเดลาแวร์โดนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ กล่าวว่าคำตัดสินของศาลในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครที่อยู่เหนือกฎหมาย

‘ทรัมป์’ เหน็บแรง!! ‘เซเลนสกี้’ เซลล์แมนที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ มาเยือนสหรัฐฯ ทีไร ได้เงินกลับบ้าน 5-6 หมื่นล้านดอลฯ เสมอ

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อดีตผู้นำสหรัฐฯ เหน็บแรง ‘โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้’ ผู้นำยูเครน กลางงานปราศรัยหาเสียงที่เมืองดีทรอยต์ ในรัฐมิชิแกนว่า เป็นเซลล์แมนที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมืองที่เคยมีอยู่ในโลกนี้ ใครจะหาเงินจากรัฐบาลอเมริกันได้เก่งเท่าเซเลนสกี้ไม่มีอีกแล้ว
.คำพูดที่สื่อถึงผู้นำยูเครนนี้ ทรัมป์ ได้กล่าวไว้ในงานเดินสายหาเสียงครั้งที่ 2 ที่เมืองดีทรอยด์ ซึ่งจัดโดย ‘Turning Point USA’ กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นฐานเสียงหลักของทรัมป์เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 67 ที่ผ่านมา 

และได้วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณอย่างสูญเปล่าของรัฐบาลไบเดน ตั้งแต่การลงทุนในนโยบาย Green Transformation (การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว) ว่าเป็นการหลอกลวงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  

อีกทั้งกล่าวถึงผู้นำยูเครนว่า "ผมบอกพวกคุณได้เลย เซเลนสกี้เป็นเซลล์แมนที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว ทุกครั้งที่เขามาเยือนประเทศเรา เขาจะกลับไปพร้อมเงิน 5-6 หมื่นล้านดอลลาร์ของพวกเราเสมอ"

ซึ่งตัวเลข 6 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ทรัมป์พูดถึง มาจากงบช่วยเหลือยูเครนที่เพิ่งผ่านสภาคองเกรสเมื่อช่วงเดือนเมษายนของปีนี้ จากการผลักดันของโจ ไบเดน ว่าหากงบนี้ไม่ผ่าน ยูเครนเสียดินแดนเพิ่มให้รัสเซียแน่นอน

ทรัมป์ยังกล่าวติดตลกด้วยว่า "มันหวานเจี๊ยบมากคุณเอ๊ย เซเลนสกี้เพิ่งจะออกจากประเทศเราไป 4 วันด้วยเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ พอกลับถึงบ้าน เขาบอกว่าจะเอาอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ มันไม่มีวันจบหรอกครับ" 

และไม่ใช่ครั้งแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวประชดเซเลนสกี้ ด้วยการยกฉายาเซลล์แมนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคให้ ย้อนไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในงานปราศรัยที่รัฐโอไฮโอ ทรัมป์เคยพูดถึงเซเลนสกี้ในทำนองนี้มาก่อนแล้ว อีกทั้งวิจารณ์นโยบายการสนับสนุนยูเครนของรัฐบาลไบเดนว่า แทนที่จะส่งเงินให้ยูเครนทุกครั้งที่เซเลนสกี้มาขอ ทำไมไม่ให้เป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสมแทน

ทรัมป์ให้สัญญาว่า เขาจะยุติการให้เงินสนับสนุนแก่ยูเครนทันทีที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ที่จะถึงนี้ อีกทั้งยังอ้างว่า รัสเซียจะไม่รุกรานยูเครนอย่างแน่นอนหากเขาชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว อีกทั้งยังเคยกล่าวอ้างว่าเขาสามารถยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ทันที หากได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง 

ด้านสื่อยูเครนออกมาตอบโต้ถ้อยคำปราศรัยของทรัมป์ที่จะหยุดเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เนื่องจาก โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้เซ็นรับรองร่างกฎหมายเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนจำนวนกว่า 6.1 หมื่นล้านเหรียญไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

และตั้งแต่เกิดเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐ ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1.12 แสนล้านดอลลาร์ และล่าสุดปีนี้เพิ่งจากอนุมัติเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนก้อนใหม่อีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์โจมตีรัฐบาลไบเดนมาตลอด ถึงนโยบายการทุ่มเงินสนับสนุนยูเครนอย่างพิลึกพิลั่น พร้อมค่อนแคะว่า กลุ่มชาติสมาชิก NATO คงหัวเราะจนงอหาย ที่เห็นรัฐบาลไบเดนส่งเงินให้เปล่ากับยูเครนมากมายมหาศาล ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นเงินยืมที่ยูเครนต้องจ่ายคืน

ถึงแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะให้คำมั่นสัญญากับชาวอเมริกันว่าเขาจะไม่ยอมทุ่มเงินภาษีประชาชนให้กับสงครามนอกบ้าน และจะเป็นคนยุติสงครามยูเครน แต่มีเงื่อนไขว่าเขาต้องชนะการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้เสียก่อน แต่ก็ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่านั่นคือคำพูดเพื่อ ‘หาเสียง’ เท่านั้น 

เพราะเมื่ออยู่ในฐานะผู้นำสหรัฐอเมริกาจริง ๆ ย่อมมีหน้าที่ในการธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นชาติมหาอำนาจโลก ที่เสียเงินไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้ และเชื่อเถอะว่า เซลล์แมนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค รู้วิธีหาเงินจากอีโก้ของชาติมหาอำนาจได้ดีที่สุด

‘Peace Corps’ หน่วยงานสันติภาพของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ผ่านอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกัน

กว่า 60 ปีมาแล้ว ในยุคที่สงครามเย็นยังคงคุกรุ่นและรุนแรง นอกจากการเสริมสร้างและพัฒนากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานภาคพลเรือนเพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตขนานกันไปด้วย หน่วยงานพลเรือนหนึ่งซึ่งมีบทบาทในภารกิจนี้ และยังดำรงคงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ‘Peace Corps’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘หน่วยงานสันติภาพ’ แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมเรียกชื่อหน่วยงานด้วยชื่อภาษาอังกฤษทับศัพท์

(ประธานาธิบดี John F. Kennedy กับเหล่าอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เมื่อ 28 สิงหาคม 1961) 

ทั้งนี้ ‘Peace Corps’ เป็นหน่วยงานและโครงการอิสระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จัดหา ฝึกอบรม และจัดส่งอาสาสมัครเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1961 ตามคำสั่งผู้บริหาร 10924 (Executive order (10924)) ของประธานาธิบดี John F. Kennedy และได้รับฉันทานุมัติจากสภาคองเกรสในเดือนกันยายน 1962 โดยรัฐบัญญัติ ‘Peace Corps’ 

(‘Sargent Shriver’ ผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ กับประธานาธิบดี Kennedy)

โดยผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ คือ ‘Sargent Shriver’ ผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี John F. Kennedy เอง โดย ‘Shriver’ เขาเป็นสามีของ ‘Eunice Kennedy Shriver’ จึงเป็นบิดาของ ‘Maria Shriver’ อดีตภรรยาของ ‘Arnold Schwarzenegger’ พระเอกคนเหล็ก อดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

(‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ผู้เสนอแนวคิด ‘Peace Corps’)

แนวคิดของ ‘Peace Corps’ เกิดจากในปี 1950 ‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ได้นำเสนอในบทความเรื่อง ‘ข้อเสนอสำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยสันติภาพโดยรวม’ ว่า สหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครเพื่อส่งเยาวชนอเมริกันไปทั่วโลกเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรม และโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา โดยสุนทรพจน์ของ ‘Reuther’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุว่า...

“ผมพูดมานานแล้วว่าผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ได้รับการฝึกฝนให้ร่วมกับคนหนุ่มสาวอื่น ๆ ในโลกจะถูกส่งไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ตำราเรียน อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ และชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนช่วยเหลือให้สามารถพึ่งตนเองด้วยเครื่องมือแห่งสันติภาพ แทนที่คนอเมริกันหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องถูกส่งไปพร้อมกับอาวุธสงคราม”

ในเดือนสิงหาคม 1960 หลังการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครตประจำปี ‘Walter Reuther’ ได้ไปพบกับ John F. Kennedy ที่เพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเคนเนดีและการจัดบุคลากรของฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่ง Kennedy ได้ให้คำมั่นที่จะสร้างหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่จะกลายเป็นหน่วยสันติภาพ โดย Kennedy ได้ประกาศแนวคิดสำหรับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1960 ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรณรงค์ในช่วงดึกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์บนบันไดของอาคาร Michigan Union ต่อมาเขาได้ขนานนามองค์กรนี้ว่า ‘Peace Corps’ 

วันที่ 1 มีนาคม 1961 ประธานาธิบดี Kennedy ลงนามคำสั่งบริหารที่ 10924 เพื่อเริ่มการก่อตั้งองค์กร ‘Peace Corps’ อย่างเป็นทางการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกระแสความรู้สึกแห่งการต่อต้านสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกที่สาม ประธานาธิบดี Kennedy มองว่า ‘Peace Corps’ เป็นวิธีการตอบโต้มุมมองแบบเหมารวมต่อกรณี ‘Ugly American’ (อเมริกันที่น่าชัง) และ ‘Yankee imperialism’ (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้ ‘แยงกื้’ เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกชาวอเมริกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

จนกระทั่งประมาณปี 1967 ผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ‘ความถนัดทั่วไป’ (ความรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอาสาสมัคร ‘Peace Corps’) และความถนัดทางภาษา โดยวันที่ 28 สิงหาคม 1961 อาสาสมัครกลุ่มแรกได้ออกเดินทางไปยังกานาและแทนกันยิกา (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนีย) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1961 และภายในระยะเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครมากกว่า 7,300 คน ทำงานใน 44 ประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนในเดือนมิถุนายน 1966 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรแห่งนี้

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่มีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 1962 มีอาสาสมัครมากกว่า 5,600 คนปฏิบัติงานในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มากมาย ตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาชนบท สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังทำงาน 2 โครงการหลักคือ การศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การดำเนินการตามภารกิจของ Peace Corps สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกันในด้านมิตรภาพและการพัฒนา

โครงการการศึกษาในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยจะร่วมสอนกับครูชาวไทยในห้องเรียน ช่วยแนะนำแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และช่วยเหลือนักเรียนฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครเจ้าของภาษา พื้นที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือมีทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โครงการนี้สนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูในโรงเรียนประถมศึกษาของไทยได้ปรับปรุงและประยุกต์ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ และเพื่อออกแบบบทเรียนและสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนหลักสูตรบูรณาการ นอกจากนี้แล้ว อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากมายในด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในโครงการเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการเยาวชนเพื่อการพัฒนา (The Youth in Development : YinD) อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทผู้ใหญ่ของพวกเขา โครงการ YinD นี้สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลไทยที่เห็นว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนได้รับรู้และพัฒนาทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ เยาวชนหมายถึงผู้ที่มีอายุ 9-15 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รับความเห็นชอบจากพันธมิตรภาครัฐ อาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งเยาวชนเข้าถึงทรัพยากรของเมืองใหญ่ได้น้อย ดังนั้น งานส่วนใหญ่ของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ในโครงการ YinD คือการช่วยให้เยาวชนเปิดใจและพัฒนาทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและชีวิตสำหรับเยาวชนเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จำนวน 43 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ คือการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดหาชาวอเมริกันหนุ่มสาว ที่มีทักษะในสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และการพัฒนาชุมชน อาสาสมัครคือพลเมืองชาวอเมริกันซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำโครงการเฉพาะในบางประเทศตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของอาสาสมัครเหล่านั้น หลังจากการฝึกอบรมทางเทคนิคเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะรับความคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นพวกเขาอาจขอขยายเวลาอาสาสมัครได้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้รับคำแนะนำให้เคารพประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้ภาษาในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพที่ของประเทศที่ปฏิบัติงานได้

ในปีแรก ‘Peace Corps’ มีอาสาสมัคร 900 คนใน 16 ประเทศ และขึ้นถึงจุดมากที่สุดในปี 1966 ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,556 คนใน 52 ประเทศ หลังจากการลดงบประมาณในปี 1989 จำนวนอาสาสมัครลดลงเหลือ 5,100 คน แม้ว่าเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาและนำไปสู่การเติบโตอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ภายในวันครบรอบ 50 ปี ในปี 2001 มีอาสาสมัครมากกว่า 8,500 คนทำงานใน 77 ประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกันมากกว่า 240,000 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ และทำงานใน 142 ประเทศ

(Carol Spahn ผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน)

Carol Spahn ผู้เคยเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ปฏิบัติงานในประเทศโรมาเนียระหว่างปี 1994 ถึง 1996 เป็นผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน และ ‘Peace Corps’ ได้รับงบประมาณปีละ 410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,114.61 ล้านบาท) น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘Peace Corps’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงและให้ประสิทธิผลอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยยังคงยึดติดกับ ‘นโยบายเรือปืน’ (Gunboat Policy) อยู่จนทุกวันนี้ หากสหรัฐฯ ใช้งบประมาณสำหรับกิจการ ‘Peace Corps’ เพียง 10% ของงบประมาณทางทหาร มั่นใจว่า  แน่นอนที่สุด จะมีประเทศต่าง ๆ และประชาชนพลโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจและด้วยความจริงใจมากขึ้นอย่างมากมาย

‘ตำรวจสหรัฐฯ’ โหด!! ยิงดับเด็ก 13 ปี  หลังถือปืนปลอมวิ่งหนีเจ้าหน้าที่

(1 ก.ค.67) มาร์ก วิลเลียมส์ ผู้บังคับการตำรวจเมืองยูติกา แถลงว่า เมื่อคืนวันศุกร์ (28 มิ.ย.67) เจ้าหน้าที่ได้เรียกตรวจ เอ็นยาห์ เอ็มเวย์ และเด็กชายวัย 13 ปีอีกคน เนื่องจากทั้งสองมีรูปพรรณสัณฐานตรงกับผู้ต้องสงสัยในเหตุปล้นในเมืองยูติกา เมื่อเร็ว ๆ นี้

ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนเด็กทั้ง 2 คน เอ็นยาห์ เอ็มเวย์ ได้ฉวยโอกาสวิ่งหนีไป ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไล่ตาม ระหว่างนั้นตำรวจสังเกตเห็นบางอย่างที่คล้ายอาวุธปืนสั้น

จากนั้นเจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้กดเด็กชายลงกับพื้น แต่ระหว่างที่กำลังต่อสู้กันนั้น ตำรวจอีกนายก็ลั่นกระสุน 1 นัดใส่เด็กบริเวณหน้าอก เขาได้รับการปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุ แต่ไปเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลวีนน์ ผู้บังคับการตำรวจระบุ

เมื่อคืนวันเสาร์ (29 มิ.ย.67) ตำรวจได้เผยแพร่วิดีโอบันทึกเหตุการณ์จากกล้องติดตามตัวเจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งกินเวลานานหลายนาที หลังจากชาวบ้านในท้องที่เกิดเหตุส่งเสียงโห่แสดงความขุ่นเคืองแทรกเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่ผู้บังคับการตำรวจเมืองยูติกาแถลงข่าว ซึ่งมีครอบครัวของเด็กชายเข้าร่วมด้วย 

ไมเคิล กาลิเม นายกเทศมนตียูติกา วิงวอนขอให้ชาวเมืองอยู่ในความสงบ “เราตระหนักดีเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ และเราอยากรับประกันว่าจะมีการทำความเข้าใจกับทุก ๆ รายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ภาพในคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่เด็กชายวิ่งหนีเขาได้เล็งบางอย่างเข้าใส่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตะโกนบอกกันเองว่า “ปืน” ก่อนที่ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นปืนปลอม

ตำรวจแก้ต่างว่า เจ้าหน้าที่เชื่อว่าพวกเขาเห็นอาวุธปืนจริง ก่อนจะทราบว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเพียงปืนปลอมเลียนแบบปืนกล็อก 17 ที่สามารถยิงกระสุนบีบีกันได้เท่านั้น

รายงานข่าวระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 นาย อยู่ระหว่างลาดตระเวนในพื้นที่ทางตะวันตกของยูติกา เพื่อสืบสวนเหตุปล้น 2 คดีที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงเมื่อเร็ว ๆ นี้

'ชาวกะเหรี่ยง' พลัดถิ่นประท้วงตำรวจมะกัน หลังยิงสวน 'เด็กกะเหรี่ยง' วัย 13 ดับ

ชุมชนผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงออกมาไว้อาลัยต่อการเสียชีวิต Nyah Mway เด็กวัยรุ่นชายชาวกะเหรี่ยงวัยเพียง 13 ปี ที่ถูกตำรวจสหรัฐฯ ยิงเสียชีวิต เพราะเข้าใจว่าเขาเป็นขโมย และใช้อาวุธปืนเล็งตำรวจ

เหตุสลดเกิดขึ้นที่เมืองยูทิกา ในรัฐนิวยอร์ก เมื่อเวลา 22.15 น. ของคืนวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุลักขโมย โดยมีผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวเอเชีย 2 คน หนึ่งในผู้ต้องสงสัยพกพาอาวุธปืน จึงได้ออกลาดตระเวนตามท้องถนนในเมือง และได้พบกับ Nyah Mway และเพื่อน ๆ ที่เพิ่งกลับจากงานเลี้ยงฉลองจบชั้นเกรด 8 พอดี 

ตำรวจจึงสั่งให้กลุ่มของ Nyah Mway หยุดเพื่อจับกุมตัว เพราะเข้าใจว่าเขาเป็นคนร้ายที่กำลังตามหา แต่ทว่า Nyah Mway ขัดขืนและวิ่งหนี ตำรวจจึงวิ่งไล่ และเห็นเขากำลังชักอาวุธคล้ายปืนออกมา ตำรวจจึงตัดสินใจยิงสวนทันทีเข้าที่ทรวงอก ทำให้ Nyah Mway บาดเจ็บสาหัส และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ส่วนอาวุธที่ Nyah Mway พกมา ทราบในภายหลังว่าเป็นเพียงปืนปลอมเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้แก่ นายแอนดรูว์ ซิทรินิติ, นาย บรูซ แพทเตอร์สัน และ นาย ฮัสเนย์ รับราชการตำรวจมาแล้วตั้งแต่ 2-6 ปี ถูกสั่งให้พักงานโดยได้รับค่าแรงเพื่อการสอบสวนเป็นการภายใน 

เมื่อถูกถามว่าตำรวจทั้ง 3 นายนี้ มีโอกาสถูกดำเนินคดีหรือไม่ กรมตำรวจยูติกายอมรับว่าข้อมูลหลักฐานมีความซับซ้อน ที่ต้องรอผลการสืบสวนจากสำนักงานสืบสวนพิเศษแห่งรัฐนิวยอร์ก ว่าเหตุการณ์นี้ละเมิดกฎหมายของรัฐหรือไม่ แต่ทางตำรวจยูติกา ก็ได้แสดงความเสียใจต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และครอบครัวของเด็กและเยาวชนที่เสียชีวิต

เมื่อสื่ออเมริกันพยายามติดต่อครอบครัว Nyah Mway แต่ทางครอบครัวให้สื่อสารผ่าน เพจ GoFundMe ที่เป็นเพจระดมทุนช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง ที่ประสงค์ลี้ภัยมายังสหรัฐอเมริกา โดยครอบครัวของ Nyah Mway คือหนึ่งในชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนที่ลี้ภัยสงครามออกจากพม่า มาตั้งรกรากในสหรัฐฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

สำหรับ เมืองยูติกา ในรัฐนิวยอร์ก กลายเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยในพม่าที่ลี้ภัยมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ด้วยความหวังที่จะได้อยู่อย่างสงบสุขในดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเรื่องเศร้า จากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชนต่อพวกเขาอีก 

เพจ GoFundMe ระบุอีกว่า Nyah Mway เป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่ชอบไปขี่จักรยาน เล่นกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นเด็กดีของครอบครัว ไม่เคยทำตัวสร้างปัญหา หรือทำผิดกฎหมายมาก่อน  

นั่นจึงทำให้ชุมชนผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในเมืองยูติกาส่วนหนึ่งไปรวมตัวประท้วงกันที่ศาลาว่าการเมือง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในขณะที่กรมตำรวจยูติกากำลังแถลงข่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเด็กชายชาวกะเหรี่ยง 

โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ Nyah Mway พร้อมทั้งตะโกนว่า “No Justice, No Peace” หรือ "ไร้ความยุติธรรม ก็ไร้สันติ" ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แผ่นดินใดที่ยังไร้ซึ่งความยุติธรรม ก็ยากที่จะหาสันติภาพได้ ไม่ว่าแผ่นดินนั้นจะอยู่บริเวณไหนของโลกก็ตาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top