‘ปูติน’ ออกกฤษฎีกา ‘ฮุบทรัพย์สินมะกัน’ หากสหรัฐฯ ยึดทรัพย์รัสเซีย ตอบโต้การยึดสินทรัพย์รัสเซียในแบงก์อเมริกันที่ปันไปช่วยเหลือยูเครน

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียลงนามกฤษฎีกา กำหนดให้รัฐบาลเตรียมระบุสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรที่อาจถูก 'ยึด' เพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินของรัสเซียในอเมริกา

โดยเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นจากคณะผู้เจรจาของกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ได้มีการพูดคุยกันมานานหลายสัปดาห์แล้วว่าจะดึงเอาทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกอายัดไว้หลังเกิดสงครามในยูเครน ซึ่งมีทั้งในรูปสกุลเงินหลักและพันธบัตรรัฐบาลรวมมูลค่าราว 300,000 ล้านดอลลาร์ ออกมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

แม้การตอบโต้แบบ 'ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน' จะเป็นเรื่องยากสำหรับรัสเซีย เนื่องจากมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติที่ลดน้อยลงมาก แต่เจ้าหน้าที่และนักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลผ่านรอยเตอร์สในเดือนนี้ว่า มอสโกอาจจะหันไปใช้วิธียึดเงินสดของพวกนักลงทุนเอกชนแทน

กฤษฎีกาของ ปูติน ระบุว่า สหพันธรัฐรัสเซียหรือธนาคารกลางรัสเซียสามารถร้องขอให้ศาลรัสเซียพิจารณาได้ว่าทรัพย์สินของรัฐถูกยึด ‘โดยปราศจากความชอบธรรม’ หรือไม่ เพื่อเปิดทางไปสู่การเรียกร้องเงินชดเชย จากนั้นศาลจะมีคำสั่งบังคับชดเชยในรูปสินทรัพย์และทรัพย์สินของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ในรัสเซีย ตามบัญชีรายชื่อซึ่งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์ต่างชาติได้จัดทำเอาไว้

ในบรรดาทรัพย์สินของสหรัฐฯ ที่อยู่ในข่าย 'ถูกยึด' ได้นั้นรวมถึงตราสารหนี้ หุ้นในบริษัทของรัสเซีย อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ

ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตผู้นำรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัสเซียมีทรัพย์สินของรัฐบาลอเมริกันอยู่ในมือไม่มากนัก ดังนั้นมาตรการตอบโต้จึงต้องเป็นไปแบบ 'อสมมาตร' โดยเน้นที่ทรัพย์สินของเอกชนเป็นหลัก

กฤษฎีกาของ ปูติน ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินของบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ อาจตกเป็นเป้าหมายได้ แต่ก็ไม่ได้ให้นิยามชัดเจนว่า 'ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ' นั้นจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ใด

ทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงบุคคลและกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกจัดเอาไว้ในบัญชีพิเศษ ‘Type-C’ ที่รัสเซียประกาศใช้ หลังจากที่ส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 จนถูกสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนัก

เงินสดในบัญชี Type-C นี้จะไม่สามารถถูกยักย้ายถ่ายโอนออกนอกรัสเซียได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมอสโก

สหรัฐฯ เองก็ได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สามารถยึดทรัพย์สินรัสเซียที่มีอยู่ในธนาคารอเมริกัน และส่งมันไปช่วยเหลือยูเครน ในความเคลื่อนไหวที่มอสโกประณามว่า 'ผิดกฎหมาย'


ที่มา: MGROnline