Sunday, 19 May 2024
สตูล

'สุริยะ' อัปเดต!! 'สะพานข้ามคลองตำมะลัง' เมืองสตูล คืบหน้า 75%  คาดเสร็จกลางปีนี้ ช่วยหนุน 'ศก.-ขนส่งสินค้าเกษตร-ประมง' ได้มาก

(7 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานพระราชานุมัติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 75 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะตำมะลัง ประมาณ 2,000 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง ที่ผ่านมาการเดินทางต้องสัญจรด้วยเรือข้ามฟาก ต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนบนเกาะตำมะลัง และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเดินทางระหว่างเกาะตำมะลังและแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือการอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง จังหวัดสตูล ทช. ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่ของตำบลตำมะลัง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทช. จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณานำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ 

จากนั้น ทช. จึงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ และได้เริ่มก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง ในปี 2563 มีจุดเริ่มต้นจากแยก ทล.406 บริเวณ กม. ที่ 93+900 ด้านขวาทาง ขนาด 2 ช่องจราจร ตรงเข้าสู่ ท่าเทียบเรือประมงเอกชนริมคลองตำมะลัง จากนั้นสะพานจะข้ามไปยังฝั่งบ้านตำมะลังเหนือ หมู่ที่ 2 ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและถนนดินไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนสาธารณะของหมู่บ้าน ใช้งบประมาณ 433.190 ล้านบาท 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างงานติดตั้งโครงสร้างราวกันตก งานพื้นสะพานช่วงกลางน้ำ งานติดตั้งชิ้นส่วนสำเร็จรูปพื้นสะพานและงานถนนคอนกรีตเสริมเหล็กฝั่งเกาะตำมะลัง โดยมีรายละเอียดการก่อสร้าง ดังนี้...

- ถนนต่อเชื่อมฝั่งแผ่นดิน บริเวณ กม. ที่ 0+000 - 0+690.500 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง ความยาว 660 เมตร

- สะพานข้ามคลองตำมะลัง บริเวณ กม. ที่ 0+690.500 - 1+491.500 เป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นสะพานเป็นแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า ความยาว 801 เมตร

- ถนนต่อเชื่อมสะพานฝั่งเกาะตำมะลัง บริเวณ กม. ที่ 1+491.500 - 2+750 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง ความยาว 1,200 เมตร ในส่วนการก่อสร้างลานจอดรถฝั่งเกาะตำมะลัง สามารถรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 80 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 126 คัน และก่อสร้างบันไดทางลาดขึ้นลงสะพาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินข้ามคลองตำมะลังได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ระหว่างการก่อสร้าง ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน กลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ ลักษณะโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน ความคืบหน้าโครงการ พร้อมทั้งได้ตอบข้อซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ครั้งที่ 3 ไปเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานมัสยิดบ้านตำมะลังเหนือ

‘ลุงซาเล้ง’ เล่าความประทับใจ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงรถซาเล้งพ่วงข้าง เผย สุดแสนปิติ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยได้ถวายงานเป็นพลขับให้พระองค์ท่าน

(17 ก.พ. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘มูลนิธิชัยพัฒนา’ ได้โพสต์ภาพเก่าเล่าเรื่อง เป็นภาพที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรถซาเล้งพ่วงข้าง คงเป็นภาพที่อยู่ในความประทับใจของใครต่อใครหลายคน

… แต่ใครจะรู้ว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

ด้วยภูมิศาสตร์ของโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะ การเดินทางซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนบนเกาะสาหร่ายจึงใช้รถมอเตอร์ไซค์และรถซาเล้งพ่วงข้างในการเดินทาง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ได้ประทับรถซาเล้งพ่วงข้างเฉกเช่นสามัญชนทั่วไป โดยมีคนท้องถิ่นนำรถของตนน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นรถพระที่นั่งขณะทรงงานบนเกาะ พร้อมทั้งถวายงานเป็นพลขับเพราะคุ้นชินและชำนาญพื้นที่

นายนาซาด หมัดตุกัง หรือ ‘คุณลุงขับซาเล้ง’ ที่เห็นในภาพ เคยถ่ายทอดความประทับใจที่ได้ถวายงานในวันนั้น ว่า…

“ขณะร่วมทาง พระองค์ได้ทรงสอบถามทุกข์สุขของชาวบ้าน พูดคุยอย่างเป็นกันเอง… ส่วนรถซาเล้ง ชาวบ้านละแวกนั้นจะเรียก ‘รถพระเทพฯ’ ...และหากถามถึงความรู้สึก ก็ตื่นเต้นมาก บอกไม่ถูก ผมเป็นมุสลิม เคยไปอยู่มาเลย์ แต่ก็กลับมาอยู่เมืองไทย เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีปัญหา คนเกาะอยู่กันสุขสบาย… ที่นี่เจริญขึ้นมาก เจ้าเหยียบเมืองตรงไหนก็เจริญ”

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊ก : มูลนิธิชัยพัฒนา
https://www.facebook.com/chaipattanafoundation/posts/801975968639531?ref=embed_post

สตูล  หนุน “เกาะหลีเป๊ะ” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว “หมอชลน่าน” ยกระดับระบบบริการสุขภาพตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการยกระดับระบบบริการสุขภาพตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย พร้อมเปิดอาคารใหม่ รพ.สต.บ้านหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ชี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นภาคการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดรับแพทย์อาสาหมุนเวียนมา รพ.สต.บ้านเกาะหลีเป๊ะ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เฉพาะได้มีแพทย์ดูแลสุขภาพ ขณะที่บุคลากรได้ทำงานควบคู่การพักผ่อน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ติดตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นนักท่องเที่ยวปลอดภัย พร้อมทั้งเปิดอาคารหลังใหม่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล และกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือเป็นจุดเด่นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก โดยในปี 2567 คาดการว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 34.5 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุข จึงสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยกำหนดให้เรื่องนักท่องเที่ยวปลอดภัยเป็นนโยบายเร่งรัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยว ดำเนินการผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ 1.ยกระดับเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ 2.ยกระดับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน/ระบบสาธารณสุขฉุกเฉิน 3.ยกระดับที่พักและอาหารปลอดภัย และ 4.ยกระดับสถานพยาบาลในพื้นที่ท่องเที่ยว 

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละประมาณ 500,000 – 1,000,000 คน มีผู้ประกอบการและพนักงานประมาณ 3,000 คน มีสถานพยาบาลรองรับการดูแลสุขภาพประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้แก่ คลินิกเอกชน 2 แห่ง และหน่วยบริการระดับปฐมภูมิของรัฐ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับบริการประมาณ 10,000 ราย ต่อปี จึงมีการก่อสร้างอาคาร รพ.สต.บ้านเกาะหลีเป๊ะหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม โดยใช้งบกลางจำนวน 80.7 ล้านบาท ตามโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเกาะหลีเป๊ะ รองรับการท่องเที่ยวนานาชาติ จังหวัดสตูล และในส่วนของการให้บริการ ได้จัดบริการการแพทย์ทางไกลในรูปแบบ Virtual OPD กับโรงพยาบาลสตูล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ด้วยระบบ Telemedicine ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น รพ.สต.บ้านเกาะหลีเป๊ะ ยังเป็นหน่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง สามารถทำการส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่ออย่างไร้รอยต่อ ทั้งการส่งต่อทางทะเลโดยเรือไปยังโรงพยาบาลสตูลและโรงพยาบาลละงู มีเรือที่ขึ้นทะเบียนในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 75 ลำ ตั้งแต่ ปี 2566 –มกราคม 2567 ส่งต่อผู้ป่วยแล้ว 199 ราย และการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์ (Sky doctor) ไปยังโรงพยาบาลสตูล ตั้งแต่ปี 2565 – พฤศจิกายน 2566 ส่งต่อผู้ป่วยแล้ว 17 ราย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย และยังมีโครงการแพทย์อาสา (Volunteer Doctor) หมุนเวียนให้บริการ ที่รพ.สต.บ้านเกาะหลีเป๊ะ ช่วยให้มีแพทย์ดูแลประชาชนในพื้นที่เฉพาะ สร้างความเชื่อมั่นด้านการรักษาพยาบาลให้กับนักท่องเที่ยวบนเกาะ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยเป็นการทำงานแบบ Workation คือ ทำงานควบคู่กับการพักผ่อน ได้รับความร่วมมือจากแพทย์สภา และได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากชมรมผู้ประกอบการบนเกาะ ในปี 2565 - 2566 มีแพทย์อาสาที่เข้ามาปฏิบัติงานถึง 80 คน โดยแพทย์ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขการปฏิบัติงานที่ได้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล หรือลงทะเบียนผ่าน https://www.facebook.com/doctorkohlipe “แพทย์อาสา เกาะหลีเป๊ะ” นอกจากนี้ รพ.สต.บ้านเกาะหลีเป๊ะ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ฝึกอบรมของศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ โรงพยาบาลสตูล ในหลักสูตรระบบ EMS/Referal System การท่องเที่ยวปลอดภัย การควบคุมโรคระบาด แพทย์อาสา และการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ชายแดน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ ด้วยนอกจากนี้ยังได้ชมการแสดง รองแง็ง ของน้องๆเยาวชนชาวเลอุรักลาโว้ย พร้อมกันเชิญท่านมาร่วมเต้นงานนี้ท่านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  โชว์ลีลาการเต้นรองเง็งในเพลงตะแล๊กแต๊กของพี่น้องชาวเลอุลักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะหลังเดินงานมาเปิดตัวอาคารของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบนเกาะ สร้างสีสันเสียงหัวเราะแก่พี่น้องที่ร่วมเข้าชม
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล

สตูล จัดโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ร่วมกับโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน”

ที่โรงเรียนบ้านแประ-ใต้ หมู่4 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานพิธีเปิดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” และโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.จังหวัดสตูล โดยมีนายชัยวุฒิ บัวทอง ปลัดจังหวัดสตูล นางสาวธัญรัศม์ ไตรพันธ์รัชตะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น แพทย์ พยาบาล สมาชิก พอ.สว. และสมาชิกเหล่ากาชาดสตูล ร่วมให้บริการประชาชนกันอย่างพร้อมเพรียง โดยมี นายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และผู้นำท้องที่ท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และคณะ ได้ร่วมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ตลอดจนคนพิการในพื้นที่ จากนั้นเดินเยี่ยมชมกิจกรรมในบูธของส่วนราชการต่างๆ และร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 2 ราย ซึ่งได้มอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภค-บริโภค เพื่อการดำรงชีพและเงินปัจจัยจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ป่วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และลงพื้นที่พบปะผู้นำศาสนาในพื้นที่ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ อีกด้วย โครงการจังหวัดเคลื่อนที่ เป็นโครงการที่จังหวัดสตูลจัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในเชิงรุก โดยให้ส่วนราชการต่างๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่มาเพื่อให้บริการและเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ห่างไกลในด้านต่างๆ และได้รับทราบถึงปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ถูกต้อง ซึ่งภายในกิจกรรมมีบริการตลาดนัดแก้หนี้ ด้านการเกษตร แรงงาน ประมง ปศุสัตว์ ที่ดิน การฝากเงินออม การเลือกใช้พลังงานทางเลือก การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจำหน่ายสินค้าราคาถูก และแจกพันธุ์กล้าไม้ฟรีแก่ประชาชนที่สนใจ รวมถึงหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ร่วมออกให้บริการดูแลรักษา แนะนำการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง เช่น มะเร็งเต้านม การตรวจรักษาโรคทั่วไป และตรวจรักษาทันตกรรม เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 26 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และลูกจ้างภาคการเกษตร ซึ่งได้รายงานประเด็นปัญหาและความต้องการของประชาชนพื้นที่คือ ประชาชนขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง , ปัญหาการปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง หมู่ที 1-6 และปัญหาสภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อไม่สะดวกในการสัญจร เป็นต้น โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำไปพิจารณาวางแผนและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสตูล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top