Sunday, 19 May 2024
สตูล

กระบี่ - เกษตรกระบี่ ลุยตรวจสวนทุเรียน ห้ามตัดทุเรียนอ่อนขาย คาดโทษหนัก จำ-ปรับ

วันที่ 15 มิ.ย.64 นายชูศักดิ์ วณิชวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบการตัดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ของเกษตรกรในพื้นที่ ต.เขาเขน และปลายพระยา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มากที่สุดของจังหวัด เพื่อแนะนำและให้ความรู้แก่ชาวสวนทุเรียน ในการตัดทุเรียนคุณภาพออกขาย หลังพบว่าชาวสวนทุเรียนเริ่มทะยอยตัดผลทุเรียนออกจำหน่าย เบื้องต้นยังไม่พบผู้กระทำผิด

นายชูศักดิ์ วณิชวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในช่วงนี้จนถึงเดือน ก.ย.จะเป็นช่วงที่ทุเรียนของ จ.กระบี่ ออกสู่ตลาด ประกอบกับกรมส่งเสริการเกษตร ได้สั่งคุมเข้มเรื่องคุณภาพมาตรฐานของทุเรียน ห้ามมีการนำทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายโดยเด็ดขาด เนื่องจากชาวสวนบางคน เร่งตัดทุเรียนอ่อนออกขาย เพื่อหวังทำกำไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค และอาจส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเมื่อถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ

สำหรับในพื้นที่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ ต.เขาเขน และต.ปลายพระยา มีเนื้อที่ปลูกกว่า 1,600 กว่าไร่ ให้ผลผลิต แล้ว 816 ไร่ จำนวน 398 ตัน มูลค่า กว่า 50 ล้านบาทในส่วนผลผลิตทุเรียนทั้งจังหวัดในพื้นที่จังหวัดกระบี่ มีไม่ต่ำกว่า 1,457 ตัน ให้ผลผลิตแล้ว 3,269ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 4,978 ไร่ สำหรับราคาจำหน่ายคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2563 โดยราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 – 140 บาท ซึ่งประเทศจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก มีปริมาณความต้องการมาก คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนราว 204 ล้านบาทเศษ

ขอฝากไปยังผู้บริโภคหากพบเห็นการซื้อขายทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีบทลงโทษผู้กระทำผิด จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่นายสมสมเกียรติ โกฎิกุล อ.58 ปี ประธานแปลงทุเรียน อ.ปลายพระยา กล่าวว่า การตัดทุเรียนอ่อนไปขายเหมือนกับตัดไปทิ้ง เชื่อว่าชาวสวนไม่ทำอย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่พบทุเรียนอ่อนขายอยู่ตามท้องตลาด เกิดจากพ่อค้าคนกลางมารับซื้อแล้วฝืนตัดทุเรียนไป เพื่อให้ได้ตามใบสั่ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ เมื่อมีการเข้มงวดทำให้ทุเรียนอ่อนไม่สามารถส่งออกได้ ถูกคัดแยกออกมาจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด และเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ แต่เชื่อว่าจากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง

สตูล - สมาคมประชาคมคนตาบอดไทยมอบถุงยังชีพ 41 ชุด พร้อมเงินจำนวน 20,500 บาท ช่วยเหลือเยียวยาคนตาบอดในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19

ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รับมอบถุงยังชีพ จำนวน 41 ถุง และเงินสดจำนวน 20,500  บาท จาก นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทยและคณะ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนตาบอดในพื้นที่จังหวัดสตูลที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 จำนวน 41 ราย โดยให้ทางจังหวัดสตูลได้ไปจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้พิจารณาคัดเลือกเพื่อส่งมอบถุงยังชีพพร้อมเงินสดช่วยเหลือรายละ 500 บาท ให้แก่คนพิการทางการมองเห็นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 องค์กรละ 1 ราย จำนวน 41 แห่ง โดยมีพันจ่าเอก สาคร สิทธิศักดิ์ ท้องถิ่นจังหวัดสตูล และนางประทุม อู่เจริญ คลังจังหวัดสตูล ร่วมรับมอบด้วย

ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ยังคงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะช่วยเหลือคนตาบอดในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการช่วยเหลือคนตาบอดที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 โดยการโอนเงินผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์ เลขที่บัญชี 4-8101-4002-4 ประเภทบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดในประเทศไทย หรือร่วมบริจาคเป็นสิ่งของ เพื่อใช้ในการจัดทำถุงยังชีพ สามารถบริจาคด้วยตนเอง หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ ที่ 63/374 หมู่บ้านบางใหญ่ซิตี้ ซอย 10/11 หมู่ที่ 6 ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี 11140 สอบถามรายละเอียดโทร. 08-9994-6656


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - เหล่ากาชาดสตูล ส่งมอบชุดธารน้ำใจ กู้ชีวิตฝ่าวิกฤตโควิด 100 ชุด และฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,000 แคปซูล พร้อมของใช้จำเป็น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล

วันนี้ 9 สิงหาคม 2564 ณ ท่าเรือ อาคีร่า คาร์โก้ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมทบ “ชุดธารน้ำใจ กู้ชีวิตฝ่าวิกฤต COVID-19” จำนวน 100 ชุด น้ำดื่ม จำนวน 100 แพ็ค ฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,000 แคปซูล ชุดหน้ากากอนามัย สบู่ แชมพู เจลแอลกอฮอล์จำนวน 33 ชุด สเปรย์กันยุง จำนวน 15 ขวด มุ้ง จำนวน 10 หลัง ผ้าห่ม จำนวน 10 ผืน พร้อมกันนี้ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลสนับสนุนชุดเครื่องนอนและพัดลมจำนวนหนึ่งด้วย.เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ผู้กักตนเองอยู่ในบ้านพัก หรือผู้กักกันในสถานกักกันโรคท้องที่ (LQ) ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

ทั้งนี้ หากประชาชนผู้กักตนเองอยู่ในบ้านพัก (HQ) ประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ถูกเลิกจ้างงาน หรือไม่มีรายได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก โรค COVID-19 มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนชุดธารน้ำใจฯ หรือความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ สามารถแจ้งทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ เพื่อพิจารณาคัดกรอง และร้องขอรับความช่วยเหลือผ่าน แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” และหากเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ประสบความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 /ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ/ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล หมายเลขโทรศัพท์ 074 711 998, 093 583 7496 หรือ Facebook page “เหล่ากาชาดจังหวัดสตูล”

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ภายในวันอาทิตย์นี้ (7 ส.ค.64) จะทยอยนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งทั้งหมด และงดการท่องเที่ยว หยุดการเดินเรือ และงดการเดินทางเข้าออกเกาะหลีเป๊ะ เป็นเวลา 28 วัน (วันที่ 9 ส.ค.- 5 ก.ย.64) ส่วนเรือขนส่งสินค้าอุปโภค - บริโภค ยารักษาโรคเวชภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน เรือขนส่งขยะ จะมีพนักงานคัดกรอง ส่วนพื้นที่มีที่การแพร่ระบาดบนเกาะหลีเป๊ะทางจังหวัดสตูลมีมาตรการล็อคดาวน์เดินทางเข้าออก 14 วัน และพื้นที่อื่น ๆ ประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21:00 น ถึง 04:00 น. ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน ออกนอกพื้นที่เฉพาะมีเหตุจำเป็น เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - อบจ. สร้างจุดเช็คอินใหม่ ในกิจกรรมการวาดภาพฝาผนัง “ศิลปะชุมชนละงู” (Satun Street Art) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

วันนี้ 16 สิงหาคม 2564 ที่ ห้องประชุมธรรมาภิบาลเทศบาลตำบลกำแพง ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานปิดกิจกรรมการวาดภาพฝาผนัง “ศิลปะชุมชนละงู” ( Satun Street Art) โดยมีนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง หัวหน้าส่วนราชการ คณะศิลปินจิตอาสาและผู้นำชุมชนในพื้นที่ละงู ร่วมพิธีปิดฯ หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เยี่ยมชมศิลปะชุมชนละงู จำนวน 6 จุด รวม 26 ภาพ พร้อมถ่ายรูปเช็คอินอย่างสวยงาม นอกจากนี้ได้มีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ร่วมวาดภาพ และผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภาพวาด “ศิลปะชุมชนละงู” เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเป็นแกนหลักร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนชาวสตูล เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีแหล่งท่องเที่ยวในมิติใหม่ ๆ เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจังหวัดสตูลเพิ่มขึ้น และใช้เวลาท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลให้นานยิ่งขึ้น เป็นภาพวาดศิลปะฝาผนังในพื้นที่เทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู โดยมีเป้าหมายวาดภาพ จำนวน 6 จุด รวม 26 ภาพ ซึ่งแต่ละภาพแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวละงู เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมและถ่ายรูปได้แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปินจิตอาสา และศิลปิน ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลกำแพงซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จุดวาดภาพ และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากภาคเอกชนอีกด้วย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายแล้ว เข้ามาเยี่ยมชมถ่ายรูปเช็คอินเยือนถิ่นละงู และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้มีการส่งเสริมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลในอนาคต นับว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเที่ยวจังหวัดสตูลเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัด

สตูล - ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล จัดกิจกรรม "อาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล"

วันนี้ 1 กันยายน 2564  ที่ บารารีสอร์ท ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล (ศรชล.จังหวัดสตูล) จัดกิจกรรม "อาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล" ในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนาวาเอก จุมพจน์ เสนาะพิณ รองผอ.ศรชล.จังหวัดสตูล ,หัวหน้าส่วนราชการ และเครือข่ายอาสาสมัครนักดำน้ำเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ทะเลของจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล รวมถึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงาม มีการพัฒนาตามแนวชายฝั่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาขยะเพิ่มขึ้นตามมา การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากลดปริมาณขยะในทะเลแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้กับชุมชน ชาวประมง ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะรอเพียงหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลด้านการรักษาทรัพยากรให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณเพียงฝ่ายเดียวคงเป็นไปได้ยาก ประชาชน และทุกภาคส่วน จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปกป้องรักษา ร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และใช้ประโยชนร่วมกันอย่างยั่งยืน

นาวาเอก จุมพจน์ เสนาะพิณ ผอ.ศรชล.จังหวัดสตูล กล่าวว่า กิจกรรม "อาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2564 มีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นเครือข่ายอาสาสมัครนักดำน้ำ จำนวน 20 คน ดำน้ำลงไปเก็บขยะใต้ทะเลขึ้นมาทำลาย เพื่อลดปริมาณขยะในทะเล และบริเวณชุมชนชายฝั่ง โดยไม่ให้มีผลกระทบกับแหล่งทรัพยากรทางทะเล ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟู แหล่งทรัพยากรแนวปะการัง แหล่งปะการังเทียม ที่ได้รับความเสียหายจากการปกคลุมของขยะชนิดต่าง ๆ รวมถึงเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก และสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ชุมชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ ในการป้องกันขยะลงสู่ทะเล ต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - บริการฉีดวัคซีนแบบ boat drive through ให้ชาวเลกลุ่ม 608 นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

วันนี้ 6 กันยายน 2564 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ท่าเรือตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล  จังหวัดสตูล ทีมแพทย์โรงพยาบาลสตูล สาธารณสุขอำเภอเมือง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ลงพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนแบบ boat drive through ให้กับกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง, หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ซึ่งเป็นชาวเลอูรักลาโว้ย ที่เดินทางมาจาก ตำบลตำมะลัง ตำบลปูยู รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน เข้ารับการฉีดวัคซีน

นายยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า พื้นที่ ตำบลตำมะลัง มี 3 หมู่บ้าน มีกลุ่มเป้าหมาย 608 ทั้งหมด 834 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 197 คน ส่วนที่ตำบลปูยู มี 3 หมู่บ้าน มีกลุ่มเป้าหมาย 608 ทั้งหมด 467 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 46 คน สำหรับการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย 608 วันนี้ มีผู้ลงทะเบียนมาแล้ว 80 คน และกลุ่มเป้าหมาย walk in เข้ามาเพิ่ม 10 คน ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนเช่นกัน เนื่องจากวันนี้ทีมแพทย์ได้เตรียมวัคซีนมาสำหรับฉีดกลุ่มเป้าหมาย 608  ซึ่งวันนี้มีผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนจากตำบลตำมะลัง ตำบลปูยู และลงไปให้บริการเชิงรุกในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน จำนวน 95 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ มีคนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง อยู่ด้วย 5 คน

โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล,นาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล พร้อมสื่อมวลชนได้ไปให้กำลังใจด้วย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - ผู้ว่าฯสตูล พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ร่วมกับองค์กรมุสลิม เดินหน้ามอบถุงปันสุข ให้แก่ผู้ที่กักตัว และจะส่งมอบให้พื้นที่ต่าง ๆ ครบทั้ง 7 อำเภอ

วันนี้ 7 กันยายน 2564 นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายอรุณ อุมาจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล ร่วมกับองค์กรมุสลิมในจังหวัดสตูล นาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล,นายยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอเมืองสตูล ร่วมส่งมอบถุงปันสุข โดยผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ เพื่อส่งมอบให้กลุ่มเสี่ยงที่กักตัวเองที่บ้าน ในพื้นที่อำเภอเมืองสตูล 3 แห่ง ประกอบด้วย ตำบลฉลุง 34 ถุง, ตำบลบ้านควน 30 ถุง และเขตเทศบาลคลองขุด (วัดหน้าเมือง) 100 ถุง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมคณะ ได้เดินมอบถุงปันสุข ถึงครัวเรือน พร้อมให้กำลังผู้ที่กักตัวด้วย

นายอรุณ อุมาจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล กล่าวว่า สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล ร่วมกับองค์กรมุสลิมในจังหวัดสตูล มีแนวคิดจะจัดกิจกรรมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในจังหวัดสตูลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการเดินหน้ามอบถุงปันสุข ให้แก่ ผู้ที่กักตัวที่ LQ , HQ และเยียวยาครอบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในเบื้องต้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านของการประกอบอาชีพ ทั้ง 7 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสตูล

ทั้งนี้ นายอรุณ อุมาจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล เชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมแบ่งปันน้ำใจบริจาคเงินสมทบทุน ในโครงการคนสตูลจะดูแลกัน ร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี สนง.กอจ.สตูล โครงการคนสตูลจะดูแลกัน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เลขที่บัญชี 586-1-28877-1 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 089-8785731 และ 081-7987303


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.ฉีดวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม ให้แก่กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลาม พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หลังได้รับวัคซีนมาจำนวน 5,000 โดส

ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคาร 100 ปี สธ. โรงพยาบาลสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดและตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) โดยมีผู้รับบริการเป็นกลุ่มผู้นำศาสนาจากทั้ง 7 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 1,166 ราย มารับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโรงพยาบาลสตูล โดยมีอาสาสมัครหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสตูล ให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึง 16.00 น.  

สำหรับวัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนทางเลือกที่ได้รับพระราชทานจาก จาก ศาตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัตติยราชนารี  โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ที่จะฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ที่ยังไม่ได้เคยรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดใดมาก่อน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในพื้นที่จังหวัดสตูล การฉีดวัคซีนพระราชทานได้ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม และได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิ พอ.สว. ได้จัดสรรวัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม จำนวน 5,000 โดส เพื่อฉีดให้กับชาวจังหวัดสตูล จำนวน 2,500 ราย (รายละ 2 โดส) ใน 7 อำเภอของจังหวัดสตูลโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดของวัคซีน ผู้นำศาสนา และประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล


ภาพ/ข่าง  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้ประชาชน จังหวัดสตูล 144,000 ชิ้น

วันนี้ 16 กันยายน 2564 ที่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทาน หน้ากากอนามัย โดยมีนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธีฯ

โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดส่งสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวน 2,880 กล่อง กล่องละ 50 ชิ้น รวมเป็นจำนวน 144,000 ชิ้น ให้กับนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ อำเภอละ 288 กล่อง สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล 288 กล่อง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล 288 กล่อง เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงประชาชนชาวจังหวัดสตูล ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบรมราชูปถัมภ์" แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ ทรงห่วงใยทุกข์ยากของประชาชนชาวจังหวัดสตูล และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน สามารถผ่านความทุกข์ยากเดือดร้อนในเบื้องต้นต่อไปได้


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สตูล - เปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมทร รามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

วันนี้ 4 ตุลาคม 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน (ศูนย์สารภี) ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ร่วมรับชมพิธีเปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน” ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย“ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมทร รามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล และปล่อยปลา ปลูกต้นไม้ และโอกาสนี้ผู้ว่าราชการสตูล ได้มอบสิ่งของอุปโภค-บริโภคให้แก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่อำเภอละงู ผ่านนายธานี หะยีมะสาและ นายอำเภอละงู จำนวน 22 ชุด อีกด้วย

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน จำนวน 76 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 และจัดตั้งเป็นสถานที่บ่มเพาะภาวะผู้นำ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และการบริหารจัดการชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคส่วน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ สร้างเสริมอุดมการณ์ การทำงานเพื่อสาธารณะ ในรูปแบบผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชน มีบทบาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกรมการพัฒนาชุมชน กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการเปิดป้าย “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” ในส่วนภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top