Monday, 7 April 2025
ศาลรัฐธรรมนูญ

‘แสวง’ เผย กกต.ส่งพยานหลักฐานเพิ่ม คดียุบพรรค ‘ก้าวไกล’ ชี้!! ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุด ตามที่กฎหมายให้อำนาจ

(15 มิ.ย.67) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณี ศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดียุบพรรคก้าวไกลว่า กกต. ได้ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นพยานบุคคลหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า คำวินิจฉัยเพียงพอแล้ว (ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินพรรคก้าวไกล) กกต.จึงได้ส่งเอกสารเพิ่มบางอย่างที่เป็นข้อกฎหมาย

ส่วนกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาให้ความเห็นว่า กกต. ตีความเป็นศรีธนญชัย นายแสวง ไม่ขอแสดงขอความเห็น ขอให้รอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส่วนที่คู่กรณีเห็นว่า กกต. ไม่มีอำนาจ หรือ ลุแก่อำนาจ อาจกระทบความเชื่อมั่นองค์กร นายแสวง กล่าวว่า เรารู้ว่าต้องทำอะไร ทำผิดทำเกินทำน้อยคงไม่ได้ ทุกเรื่องมีการกระทำมีข้อเท็จจริง คนที่ได้รับผลดีผลร้าย สิ่งนี้เกิดจากกฎหมายกำหนดไว้ก่อนว่า ลักษณะเช่นไรที่เป็นความผิด เมื่อมีข้อเท็จจริง กกต. ก็ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ท่านไม่ได้รับผลร้าย หรือผลดีจากการตัดสินของ กกต. ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ

เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร ส่วนความเชื่อมั่นผมว่าเราก็ทำตามกฎหมาย ประชาชนจะสงสัยก็เป็นจุดที่ทำให้เรา ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นเป็นหน้าที่ เราก็ทำอย่างดีที่สุดเท่าที่กฎหมายให้เราทำ

ขณะเดียวกันนายแสวงยืนยันว่าตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ไม่มีใบสั่ง หรือคำชี้นำ จาก กกต. หรือจากข้างนอก ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้อง ยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย นายแสวง กล่าวว่าเรื่องที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรคเลย หรือเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองอะไรเลย แต่มีคนเอามาโยงว่าสามารถที่จะยุบพรรคได้หรือไม่ จึงทำให้มีคนคิดว่าพรรคภูมิใจไทยก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสองกรณีนั้นแตกต่างกันมาก ส่วนฐานความผิดของพรรคภูมิใจไทยคือการอำพรางเรื่องหุ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองเลย แค่มีการเอาไปโยงกันเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อมีคนร้องต่อ กกต.มาก็ต้องมีการดำเนินการ ตรวจสอบเงินบริจาคว่ามีที่มาจากไหน เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ตัดสินที่คนบริจาคแต่ตัดสินด้วยกฎหมาย และคนที่มีอำนาจชี้ ซึ่งต้องรอหน่วยงานที่มีอำนาจ เป็นคนตัดสินซึ่งก็ไม่ใช่กกต. หรือนายทะเบียนโดยขณะนี้มีการตรวจสอบและถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ จนกว่าจะได้ข้อยุติ

นายแสวง ยังยกตัวอย่างกรณีการบริจาคของนายตู้ ห่าว ที่บริจาคให้กับพรรคพลังประชารัฐ มีคนบอกว่าเงินชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการพิสูจน์ว่าเงินชอบด้วยกฎหมายยังไง ก็ต้องรองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทรัพย์สินเช่นปปง. หรือป.ป.ส. เป็นต้น เป็นผู้ตัดสินมาก่อนจึงจะนำคำตัดสินมาใช้ได้ ทั้งนี้โดยกฎหมายพรรคการเมือง ไม่ได้ให้นายทะเบียนเป็นคนวินิจฉัย ว่าเงินนี้ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีอำนาจตัดสิน พร้อมยืนยันว่ากรณีการยื่นร้องพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นการยื้อเวลา เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยื่นมาตามช่องทางของนายทะเบียนจึงมีการตรวจสอบตามมาตรา 93 ไม่ได้เข้าเกณฑ์ในมาตรา 92 ซึ่งกฎหมายก็มีหลายวิธี

‘พิธา’ หารือ ‘ทูต-อุปทูต-เจ้าหน้าที่’ จากยุโรป 18 ประเทศ กรณี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ นัดวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกล

(3 ส.ค.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความใน X ว่า … 

ขอบคุณท่านทูต อุปทูตและเจ้าหน้าที่จากประเทศในยุโรป @EUinThailand ภายใต้การนำของท่านทูต @DavidDalyEUรวมทั้งหมด 18 ประเทศ ; ออสเตรีย, เบลเยียม, เช็กเกีย, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮังการี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์,โปแลนด์, โปรตุเกส,โรมาเนีย, สโลวาเกีย, สเปนและสวีเดน  ที่ได้แลกเปลี่ยนกับผมและทีมก้าวไกลเป็นอย่างดีครับ

มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.67) เอกอัครราชทูตและอุปทูตจากหลายประเทศ ได้พบปะพูดคุยกับ นายพิธา และคณะจากพรรคก้าวไกล ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเยอรมัน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติประชาธิปไตยในประเทศไทย และกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้

‘แกนนำคณะก้าวหน้า’ เตือน ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ อ้าง!! ยุบ ‘ก้าวไกล’ จะทำให้ไทยพลาดเก้าอี้ใน ‘ยูเอ็น’

(4 ส.ค. 67) นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มีประสบการณ์ผ่านคดียุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว วิเคราะห์คำตัดสินของศาลรธน.ในวันที่ 7 ส.ค.นี้โดยมองว่า พรรคก้าวไกลมีโอกาสรอดจากการถูกยุบพรรคจากเหตุผลทั้งบริบทการเมือง-ข้อกฎหมายและเรื่องของเวทีต่างประเทศ โดยเรื่องของเวทีต่างประเทศ ก็เพราะในเดือนหน้านี้ ศาลรธน.ของไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร (มีประธานศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่า จากประเทศสมาชิก 18-19 ประเทศ เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีมาร่วมงานประมาณเกือบ400 คน) ซึ่งจุดนี้ คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ เหตุใด ศาลรธน.จึงนัดตัดสินคดีสำคัญๆ ในช่วงนี้เพื่อให้เสร็จก่อนการประชุม ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ก็ไม่รู้ว่าจะแบกหน้าไปคุยกับเขาได้อย่างไร เพราะการที่จะสั่งยุบพรรคการเมือง มันต้องเป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ

นายชำนาญ ยังกล่าวอีกด้วยว่า นอกจากนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังรณรงค์อย่างหนัก เพื่อสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในวาระปี ค.ศ.2025-2027 ซึ่งเท่าที่ทราบถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่แค่เฉพาะคดี 112 ที่จะพบว่าเกือบทุกคดี จะไม่มีการให้ประกันตัวยกเว้นแค่บางคดี เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว แล้วยิ่งหากจะมายุบพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถ้าแบบนี้ ก็ปิดประตูตายได้เลย ไม่ต้องไปลุ้นให้เหนื่อย 

แกนนำคณะก้าวหน้า มองว่า ผลการลงมติของ 9 ตุลาการศาลรธน.วันที่ 7 ส.ค.นี้ จะไม่ออกมาแบบเอกฉันท์แบบตอนลงมติตัดสินคดีที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองฯ โดยอาจจะออกมา 5 ต่อ 4  หรือ 6 ต่อ 3 ประมาณนี้ ซึ่งแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่จะออกมา จะมีแค่สองแนวทางเท่านั้น คือ หนึ่ง “ไม่ยุบพรรคก้าวไกล” ส่วนหากจะออกมาเป็นแบบยกคำร้อง โดยใช้เหตุว่ากระบวนการพิจารณาของกกต.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย-ระเบียบของกกต. ถ้าออกมาแบบนี้ มันจะไม่ตัดสิทธิที่กกต.จะยื่นคำร้องเข้ามาใหม่อีกครั้งได้ เช่น หากตัดสินยกคำร้องด้วยเหตุว่า กกต.ไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง ก็ยังทำให้กกต.สามารถไปเช็กคำร้องคดีขึ้นมาใหม่ได้ อาจใช้เวลา 1-2 ปี ก็ว่าไป มันไม่ใช่การฟ้องซ้ำ เพราะฟ้องซ้ำคือการมาฟ้องคดีที่ตัดสินคดีไปแล้วแต่เป็นคดีประเภทเดียวกัน คู่ความคนเดียวกัน ข้อหาเดียวกัน มาฟ้องซ้ำอีก แต่ถ้าศาลรธน.ยกคำร้อง ก็หมายถึงทำไม่ถูกขั้นตอน ก็ยังให้ไปทำมาใหม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก แต่ก็อาจเป็นทางออกของเขา แต่มันก็จะเป็นชนักติดหลังพรรคก้าวไกลได้อยู่ว่า”อย่าดิ้นมาก”เดี๋ยวจะยื่นคำร้องไปศาลรธน.ใหม่ได้อีก ที่ก็ต้องไปตั้งอนุกรรมการไต่สวน-มีการเรียกพยานอะไรไปชี้แจง กว่าจะเสร็จอาจถึงช่วงตอนเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า และแนวทางที่สอง ก็คือ ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งหากจะเป็นแบบนี้ ก็แค่อิงคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ เมื่อ 31 ม.ค.2567 ก็พอ  

แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่า พรรคก้าวไกลจะรอดในคดียุบพรรค ก็เพราะหากก้าวไกลโดนยุบพรรค จะยิ่งแปรเป็นความคับแค้น ความเห็นใจ  อย่างคนที่อยู่กลางๆ เองเขาจะมีความเห็นใจ จนกลายเป็นคะแนนให้มาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น กับการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ทั่วประเทศในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า และตามด้วย เทศบาล -อบต. -กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา ถ้ายิ่งไปทำแบบนี้ คนก็จะยิ่งเลือกผู้สมัครท้องถิ่นของพรรคใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ดูได้จากที่ก้าวไกลได้ส.ส.และมีสมาชิกพรรคมากกว่าสมัยอนาคตใหม่

นายชำนาญระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล จะทำให้การเมืองไทยเหลือเพียงขั้วเดียว ซึ่งประสบการณ์ในอดีต ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไร หากการเมืองขั้วที่เหลืออยู่ เห็นหมดเสี้ยนหนาม ถ้าก้าวไกลหายไประยะหนึ่งจะยิ่งลำพองใจ สมัยก่อนก็เคยเห็นกันแล้ว ได้มา 377 เสียง ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง  แต่หากยังคงให้มีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็ยังทำให้เกิดการคานกัน-การถ่วงดุลกันได้อยู่ ทำให้จึงเชื่อว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งหลาย ก็คงคิดเก็บพรรคก้าวไกลไว้ก่อน  คือ ศาลรธน.เป็นคดีที่ตัดสินคดีการเมือง การเมืองมันพลิกผันได้ตลอดเวลา ผมเข้าใจเอาเองว่า ตอนนี้มันนิ่งแล้ว ฝ่ายผู้มีอำนาจเขาคิดว่าเขาชนะแล้ว เพราะแกนนำที่เคยเคลื่อนไหวเรื่อง 112 ก็ติดคุกกันเยอะ ส่วนพรรคก้าวไกลก็โดนฟรีซแช่แข็งเรื่อง 112 ทำอะไรไม่ได้ คือเขาคอนโทรลได้หมดทุกอย่างแล้ว เอาเฉพาะตอนนี้ และถ้าไม่ยุบก้าวไกล จะทำให้ก้าวไกล ก็จะมีโซ่ค้ำคออยู่ขยับเรื่อง 112 ไม่ได้

“เชื่อว่าไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องมีการไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนด้วยการจะไปยุบพรรคก้าวไกล แนวโน้มความเชื่อผม มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะยกคำร้อง ก็เช่นอาจจะออกมาไปในแนวทางว่ากกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการไต่สวนคำร้องตั้งแต่แรก  เพราะหากจะไปยกคำร้องว่าก้าวไกลไม่ผิด ทางศาลรธน.ก็มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ค้ำคอเขาอยู่ ที่สำคัญ หากไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล แต่จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ในคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลสั่งห้ามพรรคก้าวไกลกระทำการใดๆ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตรงนี้ก็จะค้ำคอพรรคก้าวไกลไว้ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปในเรื่อง 112 แต่หากมีการยุบพรรคก้าวไกล แล้วมีการไปตั้งพรรคการเมืองมาแทนก้าวไกล พรรคการเมืองตั้งใหม่ ก็จะไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ความตามคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองอีกต่อไปแล้วเพราะก้าวไกลโดนยุบพรรคไปแล้ว พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาแทน ก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับก้าวไกลอีกต่อไป คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อพรรคการเมืองใหม่ที่ขึ้นมาแทนพรรคก้าวไกล” นายชำนาญ กล่าวทิ้งท้าย

‘ดร.นิว’ ชำแหละ 9 ข้อแถโง่ๆ ที่ฟังไม่ขึ้นของ ‘พรรคก้าวไกล’ ฟาด!! เล่นแง่กฎหมายไปเรื่อย ตีความเข้าข้างตัวเองได้ ในทุกกรณี

(4 ส.ค. 67) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความระบุว่า …

ชำแหละ 9 ข้อแถโง่ๆ ที่ฟังไม่ขึ้นของพรรคก้าวไกล

ข้อ 1. ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยยุบพรรคได้อย่างไรในเมื่อมีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านมาก็มีการยุบพรรคที่ทำผิดให้เห็นๆ กันอยู่ แล้วถ้าพรรคก้าวไกลทำผิด ทำไมจะยุบไม่ได้?

ข้อ 2. ถ้าคิดว่าคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลก็ต้องดำเนินการเอาผิดกับ กกต. ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำมาแถให้พรรคก้าวไกลพ้นผิดไปได้

ข้อ 3. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรและคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ก็มีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสืบเนื่องมาจากการที่พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ก็แค่นำมาวินิจฉัยต่อไปว่าสมควรยุบหรือไม่ ไม่ใช่ข้อหาที่แตกต่างกันตามที่พรรคก้าวไกลแถแบบโง่ๆ

ข้อ 4. เมื่อบุคคลทำเกินมติพรรคถ้าพรรคไม่ยอมรับก็ต้องจัดการแต่เนิ่นๆ ในทุกกรณี แต่ทว่าพรรคก้าวไกลกลับไม่เคยจัดการใดๆ การอภิปรายบิดเบือนให้ร้ายในสภาก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้แต่ถวายพระพรก็ยังไม่มี แถมพรรคก้าวไกลยังออกหน้าประกันตัว สส. ผู้กระทำผิด ม.112 อย่างชัดเจนอีกด้วย

ข้อ 5. พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือหลักป้องปรามในการยุบพรรค พรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจนก็อาจเข้าข่ายโดนยุบพรรคเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้พรรคก้าวไกลยุยงปลุกปั่นมวลชนหรือใช้กำลังในการล้มล้างเสียก่อน

ข้อ 6. ยุบหรือไม่ยุบเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่ผู้วินิจฉัยเท่านั้น ส่วนจะสมควรแก่เหตุหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของศาล หากมองว่าการที่พรรคก้าวไกลสร้างความแตกแยกทางความคิดชี้นำไปสู่บั้นปลายของการล้มล้างซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงและการสูญเสีย เพียงแต่ยังไม่ได้ปรากฏขึ้นเป็นรูปธรรมเท่านั้น การยุบพรรคก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยกว่าเหตุ เพื่อยับยั้งความรุนแรงก่อนที่อนาธิปไตยจะเกิดขึ้นมาทำลายประชาธิปไตย

ข้อ 7-9. พรรคก้าวไกลเล่นแง่แถกฎหมายไปเรื่อย เพราะถ้าคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สิทธิในการเพิกถอนสิทธิจริงก็ควรจบตั้งแต่ข้อ 7. ไม่ใช่แถไปจนถึงข้อ 9. ในลักษณะต่อรองเป็นขั้นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่รู้กฎหมายจริง หากแต่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองสุดๆ ในทุกกรณี

ดังนั้น หากดูเพียงผิวเผินด้วยความไม่รู้กฎหมายก็อาจมองว่าพรรคก้าวไกลเก่งฉกาจที่สามารถยกข้อต่อสู้ทางกฎหมายขึ้นมาได้ถึง 9 ข้อ แต่ทว่าความเป็นจริง พรรคก้าวไกลก็แค่ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองแบบเด็กเอาแต่ใจ ไร้วุฒิภาวะ ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการและความเป็นจริงแต่อย่างใด

ดร.ศุภณัฐ

4 สิงหาคม พ.ศ. 2567

‘สรวงศ์’ เผย ‘เพื่อไทย’ ไม่มีคุยดึง ‘สส.ก้าวไกล’ ร่วมงาน หากถูกยุบพรรค ลั่น!! ไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ยัน!! ข้อตกลงเดิมที่เคยพูดคุยกัน ตอนจัดตั้งรัฐบาล

(4 ส.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้วและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาระบุว่ามีความพยายามจากพรรคร่วมรัฐบาลติดต่อดึง สส.พรรค ก.ก.ไปร่วมงานด้วย หากพรรคถูกยุบ ในฐานะพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล มองเรื่องนี้อย่างไร ว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงพรรคอื่น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ในส่วนของพรรค พท. ตนในฐานะเลขาธิการพรรคยืนยันว่าไม่มี

เมื่อถามว่า จะมีผลอะไรกับรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไร หากพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงเพิ่มขึ้นก็ต้องว่าไปตามข้อตกลงที่เคยพูดคุยกันตอนร่วมตั้งรัฐบาล

เมื่อถามถึง กรณีที่หากพรรค ก.ก.ถูกยุบ อาจจะมีปรับเปลี่ยนเรื่องเก้าอี้ประธานสภา และรองประธานสภา พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยกันใหม่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า จะต้องมีการพูดคุยกันแน่นอน แต่เบื้องต้นตนไม่อยากให้มีข่าวร้ายในการยุบพรรคใดๆ ทั้งสิ้น

'อ.ไชยันต์' ถาม 'อานันท์' หากบางพรรคมองไม่ผิด ปม '112-พฤติกรรม สส.' แต่มีคนอื่นๆ เห็นว่าผิด ควรหาทางออกหรือให้ใครเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

(5 ส.ค. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า...

กราบเรียนคุณอานันท์ ปันยารชุน ด้วยความเคารพอย่างสูง

ผมได้ชมคลิปที่ท่านให้สัมภาษณ์ล่าสุด (ที่มีการพูดถึงเรื่อง มาตรา 112) และทราบถึงความเห็นของท่านเกี่ยวกับการให้พรรคการเมืองจัดการดูแลพฤติกรรมของ สส. ในพรรค รวมถึงการให้สภาฯ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก สส. หรือพรรคการเมือง โดยไม่จำเป็นต้อง 'ใช้ศาล' โดยท่านได้ยกตัวอย่าง อังกฤษ และอเมริกา 

ผมเห็นด้วยครับว่า โดยเบื้องต้น พรรคและสภาฯควรหารือและหาทางออกด้วยตัวพรรคการเมืองเอง หรือโดยสภาฯ เพราะกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันได้กำหนดไว้อยู่แล้วด้วย ดังนี้ครับ

มาตรา ๒๒ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ

มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

คำถามหรือปัญหาคือ หากพรรคการเมืองไม่เห็นว่า สมาชิกของตนทำผิด มาตรา 22 และมาตรา 45   แต่มีคนอื่นๆ เห็นว่าผิด  

ผมจึงอยากจะกราบเรียนขอคำชี้แนะจากท่านว่า เราควรหาทางออกหรือหาหน่วยงานองค์กรใดเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในเรื่องสำคัญที่เห็นต่างนี้ครับ ถ้า 'ไม่ใช้' ศาลอย่างที่ท่านกล่าวในการให้สัมภาษณ์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้คำชี้แนะด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ไชยันต์ ไชยพร

ป.ล. อนึ่ง ผมดีใจมากที่ท่านกล่าวให้ความรู้แก่สังคมในเรื่อง ความเที่ยงธรรม (equity) นอกเหนือจาก ความยุติธรรม (justice) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัย ความซื่อสัตย์ ซื่อตรงในตัวคนเป็นสำคัญโดยภาษาอังกฤษมีคำว่า honesty และ integrity ที่แปลไทยเหมือนกัน แต่จริงๆ มันไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ

ผมจึงอยากขอความกรุณาให้ท่านช่วยให้ความรู้แก่สังคมถึงความหมายที่เหมือนและต่างกันของ honesty และ integrity ด้วยครับ

'อัครเดช-รวมไทยสร้างชาติ' ขอทุกฝ่าย 'หยุดชี้นำ-กดดันศาล' ปมยุบก้าวไกล ลั่น!! ต้องเคารพต่อคำพิพากษาของศาล เพื่อให้สังคมเดินหน้าไปได้

(6 ส.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยถึงกรณีวันนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ของพรรคก้าวไกล ว่า...

สำหรับกรณีการอ่านคำพิพากษาในคดียุบพรรคก้าวไกลนั้นตนขอเรียกร้องต่อทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บุคคล และองค์กรต่าง ๆ ให้ทุกฝ่ายหยุดให้ความเห็นในการชี้นำ หรือกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในการพิจารณาตัดสินคดีในศาลล้วนเป็นไปตามข้อกฎหมาย ประกอบกับพยานหลักฐาน การใช้ดุลยพินิจของศาลล้วนไม่เกินกว่าขอบเขตกฎหมาย การกดดัน หรือชี้นำศาลนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมขึ้น 

นายอัครเดช กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าคำพิพากษาจะเป็นเช่นใด ตนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขเพราะเมื่อมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นคำตัดสินของศาลย่อมชี้ขาด และระงับข้อพิพาทดังกล่าว กรณีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน 

"หากทุกฝ่ายเคารพและปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลแล้ว เชื่อว่าสังคมไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้" นายอัครเดช กล่าว

‘อนุทิน’ ไม่ขอแสดงความคิดเห็น คดี ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ลั่น!! ไม่ควรก้าวล่วงศาล เชื่อ!! ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

(6 ส.ค. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนสิงหาคม มองเรื่องนี้อย่างไรเพราะมีทั้งคดียุบพรรคก้าวไกลและคดีของนายกฯ ว่า เรื่องที่เกี่ยวกับศาล คำพิพากษา เราต้องไม่ให้ความเห็นอะไรเลย เพราะพูดไปพูดมาเดี๋ยวจะไปก้าวล่วง อันนี้วุ่นเลย ละเมิดอำนาจของศาล มันไม่ได้ 

เมื่อถามว่าในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความเป็นห่วงที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ได้เชิญทูต 18 ประเทศมาร่วมสังเกตการณ์ จะเป็นการชักศึกเข้าบ้านหรือไม่ โดยนายอนุทินร้อง “อู๊ยย อย่าไปถามอย่างนั้น ทูตเชิญท่านมั้ง ไม่ใช่ท่านเชิญทูต”

ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่านายพิธาได้เชิญทูตมาจับตาคดียุบพรรค นายอนุทินกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ ถ้ามาได้ เหมือนสมัยก่อนที่มีการเชิญทูต มาที่สถานีตำรวจเพื่อสังเกตการณ์ ตนจำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร แต่ก็มีทูตไป  ตนว่าดีเสียอีก จะได้เกิดความมั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามขั้นตอน มีความยุติธรรม 

เมื่อถามว่าเรื่องนี้ จะทำให้ถูกมองว่าต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “แหม แค่คนมาจ้องแค่นี้ แล้วบอกว่าแทรกแซง ก็คงไม่ใช่”

ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่าเดี๋ยวจะเหมือนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง นายอนุทินกล่าวว่า “จำไม่ได้ เกิดไม่ทัน”

ส่วนกรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความพยายามจะดึง สส.พรรคก้าวไกลไปร่วมพรรค นายอนุทินกล่าวว่า “ก็ไม่ใช่พรรคตน ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย”

‘ช่อ พรรณิการ์’ ชี้!! 18 ทูตต่างชาติ รู้มารยาททางการทูตดี ฟาก ‘รัชดา’ โต้กลับ รู้มารยาท แต่ก็ต้องใช้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจบริบททางสังคมนั้นๆ ด้วย

(6 ส.ค. 67) จากรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ ดำเนินรายการโดย ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ ได้สัมภาษณ์ ‘ช่อ-พรรณิการ์ วานิช’ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ และต่อสายสนทนาสดกับ ‘รัชดา ธนาดิเรก’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ถึงกรณี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีภาพถ่ายร่วมกับทูตต่างประเทศ และมีข้อมูลว่าจะเชิญทูตจำนวน 18 ประเทศมาร่วมฟังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค 

โดยในบางช่วงบางตอน ช่อ-พรรณิการ์ ได้กล่าวถึงประเด็นการมีมารยาททางการทูตว่า “ในเรื่องความรู้อันเกี่ยวกับมารยาททางการทูต ดิฉันเชื่อว่าบรรดาทูต 18 ประเทศมีไม่น้อยกว่าคุณรัชดาหรอก และมีมากกว่าดิฉันแน่นอน…

“ดิฉันก็ไม่คิดว่าดิฉันมีความรู้เรื่องมารยาท หรือวิธีการอันนุ่มนวลในการดําเนินการระหว่างประเทศเทียบเท่ากับทูต 18 ประเทศนี้ เพราะนั่นเป็นอาชีพของเขา ไม่ใช่อาชีพของดิฉัน เพราะฉะนั้นดิฉันว่าเรื่องมารยาท ทุกคนโดยเฉพาะคนที่เขาเป็นเอกอัครราชทูตของประเทศ ที่เป็นประเทศชนชั้นนําระดับโลกเขาทราบ…

“คุณสรยุทธ คุณไบร์ท เป็นนักข่าวก็ย่อมรู้เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพนักข่าว ดิฉันเป็นนักการเมืองก็รู้เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพของนักการเมือง นักการทูตย่อมรู้จรรยาบรรณวิชาชีพของนักการทูต อนุสัญญากรุงเวียนนาทุกคนก็ต้องอ่านว่าหน้าที่ทางการทูตมันมีอะไรบ้าง”

ต่อมาทางด้าน ‘รัชดา ธนาดิเรก’ ก็ได้กล่าวตอบกลับระหว่างสนทนากันว่า “ประเด็นที่คุณช่อบอกว่าทูตเจ้าหน้าที่ทูต 18 ประเทศ เขารู้ดีอยู่แล้วว่ามารยาททางการทูตคืออะไร ความรู้ที่ใช้บนอคติ ใช้บนฐานความคิดของเขาเพียงด้านเดียว ไม่เอามาประยุกต์ใช้กับบริบทสังคมไทย วัฒนธรรมไทย กฎหมายไทย อันนี้ดิฉันก็ไม่เชื่อว่าความรู้ในเรื่องมารยาทจะสามารถนํามาใช้ได้อย่างถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ…

ประเด็นมันอยู่ที่ว่าวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญกําลังวินิจฉัยว่าพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล ที่ศาลท่านเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบัน ซึ่งอันนั้นคือสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตย ศาลกําลังจะวินิจฉัยในทางใดทางหนึ่ง ไม่มีใครรู้ แต่ท่านเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทําลาย ดังนั้นจึงจําเป็นที่จะต้องมีการวินิจฉัย ทําไมต่างชาติไม่เข้าใจในเรื่องตรงนี้ พฤติกรรมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมันเซาะกร่อนบ่อนทําลายเสาหลักของประชาธิปไตย…

“แล้ววันนี้ศาลรัฐธรรมนูญคืออํานาจตุลาการเป็นอํานาจอธิปไตย เรากําลังจะใช้ คุณมายุ่งอะไร ดิฉันย้ำไม่ใช่ปฏิเสธสิทธิในการเห็นต่างของชาติอื่น ๆ เห็นต่างได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องมาแสดงออกในสถานการณ์วันนี้ แบบนี้ โพสต์เช่นนี้ อันนี้แย่หนักเข้าไปใหญ่ คุณจะเอาข้อมูลที่คุณได้รับทราบจากการพูดคุยกับนักการเมือง และไปประเมินสถานการณ์กับรัฐบาลของคุณ ทําได้ เป็นสิ่งที่ต้องทําอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่มาโพสต์ว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญกําลังจะวินิจฉัย ใช้อํานาจศาลตัดสินคดีที่มันเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นวิกฤติ อันนี้มันไม่ใช่เรื่องจะต้องทํา”

‘อียู’ ออกแถลงการณ์ แซะ 'ศาล รธน.' ยุบก้าวไกล ทำให้ไทยถอยหลังจากความหลากหลายทางการเมือง

เมื่อวานนี้ (7 ส.ค. 67) คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EEAS) ออกแถลงการณ์ Thailand: Statement by the Spokesperson on the dissolution of the main opposition party เนื้อหาระบุว่า การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในการยุบพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง คือ พรรคก้าวไกล ถือเป็นการถอยหลังของความหลากหลายทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่นำหน้าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีคะแนนเสียงมากกว่า 14 ล้านเสียง (จากทั้งหมด 39 ล้านเสียง)

ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้หากขาดพรรคการเมืองและผู้สมัครจำนวนมาก การจำกัดการใช้เสรีภาพในการรวมตัวและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ

สิ่งสำคัญคือทางการต้องแน่ใจว่าสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบธรรมทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อไปได้ โดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมืองที่พวกเขาได้รับเลือก

สหภาพยุโรป (EU) พร้อมที่จะขยายการมีส่วนร่วมกับประเทศไทยภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือที่ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงในประเด็นของความหลากหลายทางประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top