Tuesday, 20 May 2025
รัสเซีย

‘ปูติน’ ออกกฤษฎีกา ‘ฮุบทรัพย์สินมะกัน’ หากสหรัฐฯ ยึดทรัพย์รัสเซีย ตอบโต้การยึดสินทรัพย์รัสเซียในแบงก์อเมริกันที่ปันไปช่วยเหลือยูเครน

เมื่อวานนี้ (23 พ.ค. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียลงนามกฤษฎีกา กำหนดให้รัฐบาลเตรียมระบุสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรที่อาจถูก 'ยึด' เพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์สินของรัสเซียในอเมริกา

โดยเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นจากคณะผู้เจรจาของกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ได้มีการพูดคุยกันมานานหลายสัปดาห์แล้วว่าจะดึงเอาทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกอายัดไว้หลังเกิดสงครามในยูเครน ซึ่งมีทั้งในรูปสกุลเงินหลักและพันธบัตรรัฐบาลรวมมูลค่าราว 300,000 ล้านดอลลาร์ ออกมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

แม้การตอบโต้แบบ 'ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน' จะเป็นเรื่องยากสำหรับรัสเซีย เนื่องจากมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติที่ลดน้อยลงมาก แต่เจ้าหน้าที่และนักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลผ่านรอยเตอร์สในเดือนนี้ว่า มอสโกอาจจะหันไปใช้วิธียึดเงินสดของพวกนักลงทุนเอกชนแทน

กฤษฎีกาของ ปูติน ระบุว่า สหพันธรัฐรัสเซียหรือธนาคารกลางรัสเซียสามารถร้องขอให้ศาลรัสเซียพิจารณาได้ว่าทรัพย์สินของรัฐถูกยึด ‘โดยปราศจากความชอบธรรม’ หรือไม่ เพื่อเปิดทางไปสู่การเรียกร้องเงินชดเชย จากนั้นศาลจะมีคำสั่งบังคับชดเชยในรูปสินทรัพย์และทรัพย์สินของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ในรัสเซีย ตามบัญชีรายชื่อซึ่งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์ต่างชาติได้จัดทำเอาไว้

ในบรรดาทรัพย์สินของสหรัฐฯ ที่อยู่ในข่าย 'ถูกยึด' ได้นั้นรวมถึงตราสารหนี้ หุ้นในบริษัทของรัสเซีย อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ

ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตผู้นำรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัสเซียมีทรัพย์สินของรัฐบาลอเมริกันอยู่ในมือไม่มากนัก ดังนั้นมาตรการตอบโต้จึงต้องเป็นไปแบบ 'อสมมาตร' โดยเน้นที่ทรัพย์สินของเอกชนเป็นหลัก

กฤษฎีกาของ ปูติน ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินของบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ อาจตกเป็นเป้าหมายได้ แต่ก็ไม่ได้ให้นิยามชัดเจนว่า 'ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ' นั้นจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ใด

ทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงบุคคลและกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกจัดเอาไว้ในบัญชีพิเศษ ‘Type-C’ ที่รัสเซียประกาศใช้ หลังจากที่ส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 จนถูกสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนัก

เงินสดในบัญชี Type-C นี้จะไม่สามารถถูกยักย้ายถ่ายโอนออกนอกรัสเซียได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลมอสโก

สหรัฐฯ เองก็ได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สามารถยึดทรัพย์สินรัสเซียที่มีอยู่ในธนาคารอเมริกัน และส่งมันไปช่วยเหลือยูเครน ในความเคลื่อนไหวที่มอสโกประณามว่า 'ผิดกฎหมาย'

'นายกฯ ผู้ดี' ปลื้ม!! G7 ไฟเขียวใช้ทรัพย์รัสเซีย 50 พันล้านดอลลาร์ 'ตัวเปลี่ยนเกม' ช่วยยูเครนในด้านการทหารและเศรษฐกิจ

(14 มิ.ย. 67) บีบีซีของอังกฤษรายงานว่า ที่ประชุมกลุ่มประเทศ G-7 ที่อิตาลี เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ได้เห็นชอบสามารถใช้ทรัพย์สินรัสเซียที่โดนแช่แข็งเพื่อช่วยเหลือในการต่อสู้ขัดขวางรัสเซีย

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่มีฉากโมเมนต์เดินเหมือนมีท่าทีมึนงงออกไประหว่างการถ่ายภาพหมู่ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีหญิงอิตาลี จอร์เจีย เมโลนี อ้างอิงจากเดลีเมลของอังกฤษ จะอาศัยไหวพริบรีบดึงตัวกลับมาร่วมการถ่ายภาพหมู่ที่เห็นปู่ไบเดนดึงแว่นกันแดดคู่ใจขึ้นสวมอย่างอารมณ์ดี นั้นกล่าวยืนยันว่า

เป็นอีกหนึ่งการเตือนใจต่อ “รัสเซีย” ว่า “พวกเราจะไม่ยอมอ่อนข้อให้”

เดลีเมลรายงานว่า การถ่ายภาพหมู่วันพฤหัสบดี (13 มิ.ย.) ของบรรดาผู้นำ G-7 นี้ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่ บอร์โก อิกนาเซีย (Borgo Egnazia) ในบรินดิซี (Brindisi) โดยมีการแสดงการโดดร่มเวหาโดยหน่วยทหารพลร่มอิตาลีที่มีธงชาติสมาชิกปรากฏในการแสดงเป็นที่ประทับใจไปทั่ว และระหว่างที่ผู้นำทุกคนรวมประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำลังรวมกลุ่ม และปรบมือแก่ทหารหน่วยพลร่มที่ถึงพื้นต่อหน้า

แต่ทว่าปู่ไบเดน เหมือนเดินออกไปหันหน้าออกไปด้านนอกและชูมือให้กำลังใจแก่ทหาร และนายกรัฐมนตรีอิตาลีในขณะที่ยังคงพูดคุยกับผู้นำคนอื่น ๆ แต่เดินถอยห่างในเวลาเดียวกันเพื่อคว้าตัวไบเดนให้กลับมาร่วมการถ่ายภาพ และผู้นำสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นดึงแว่นกันแดดสีดำคู่ใจเพื่อร่วมการถ่ายภาพหมู่ครั้งสำคัญ

บีบีซีชี้ว่า เงินจำนวน 50 พันล้านดอลลาร์เป็นเงินกู้ให้แก่ยูเครนนี้ไม่คาดว่าจะส่งไปได้เร็วก่อนสิ้นปี แต่ถูกมองว่าเป็นเหมือนการแก้ปัญหาในระยะยาวในการสนับสนุนยูเครนด้านการทหาร และเศรษฐกิจ

และภายในการประชุมข้างเคียงของที่ประชุม G-7 นั้น ประธานาธิบดีไบเดนได้พบประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี สำหรับการลงนามร่วมกันในข้อตกลงความมั่นคงระยะเวลา 10 ปี

ซึ่งเนื้อหาภายในข้อตกลงระดับทวิภาคีนี้วอชิงตันจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครน รวมไปถึงการฝึก แต่ข้อตกลงไม่ได้มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการส่งกำลังทหารอเมริกันเข้ายูเครน โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างออกมาแสดงความชื่นชมว่า เป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์

บีบีซีรายงานว่า มูลค่าทรัพย์สินรัสเซียที่ถูก G-7 พร้อม EU แช่แข็งมีราว 325 พันล้านดอลลาร์ และเงินก้อนนี้เพิ่มดอกเบี้ยร่วม 3 พันล้านดอลลาร์/ปี

กลุ่ม G-7 ที่เป็นชาติอุตสาหกรรมร่ำรวยของโลก ประกอบไปด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก ที่กำลังตกที่นั่งลำบากในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมาถึงในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ได้ออกมาแสดงความชื่นชมข้อตกลงอนุมัติใช้ทรัพย์สินรัสเซีย 50 พันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยยูเครนนี้ว่า “เป็นตัวเปลี่ยนเกม”

'ชาวรัสเซีย' เริ่มหวั่น!! หลังเกิดเหตุกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงถล่มแคว้นดาเกสถาน ชวนกังวล-ไม่แน่ใจ 'เครมลิน' จะคุมเหตุรุนแรงในประเทศได้อยู่อีกหรือไม่?

เกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นอีกครั้งในแคว้นดาเกสถาน ทางตะวันตกด้านชายฝั่งทะเลแคสเปียนของรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาในกรุงมาฮัชคาลา เมืองหลวงของแคว้น และ เมืองเดอร์เบนท์ ที่อยู่ริมชายฝั่ง  

โดยกลุ่มก่อการร้าย ที่ภายหลังระบุว่าเป็นกลุ่มชาวมุสลิมหัวรุนแรง จำนวน 4 คนได้โจมตีกรุงมาฮัชคาลา ส่วนอีก 2 คนก่อเหตุในเมืองเดอร์เบนท์ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ด้วยการกราดยิงเข้าไปในป้อมตำรวจ โบสถ์คริสต์ออร์โทดอกซ์ และโบสถ์ยิว แล้วจุดไฟเผา เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บถึง 46 ราย และ เสียชีวิตกว่า 20 ราย ซึ่ง 15 ใน 20 รายนี้ เป็นตำรวจ

ทางการรัสเซียรายงานว่าได้จัดการวิสามัญคนร้ายไป 5 ราย และได้มีการจับภาพการดวลปืนเสียงดังสนั่นระหว่างผู้ก่อการร้าย และ เจ้าหน้าที่ ในหมู่บ้านที่เคยเงียบสงบในเมืองเดอร์เบนท์ที่กลายเป็นคลิปข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วรัสเซีย และเกิดคำถามถึงรัฐบาลกลางรัสเซียว่า ละเลยภัยซ่อนเร้นในบ้านตัวเองหรือไม่?

ดาเกสถาน เป็นแคว้นทางตอนใต้ฝั่งตะวันตกติดกับทะเลแคสเปียน มีพรมแดนติดกับเชสเนีย, จอร์เจีย และ อาเซอร์ไบจาน ถือเป็นแคว้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย และมีพลเมืองกว่า 83% เป็นชาวมุสลิม

แต่ทั้งนี้ เดอร์เบนท์ เมืองสำคัญในแคว้นนี้กลับได้รับสมญานามว่าเป็น 'เมืองแห่ง 3 ศาสนา' อันได้แก่ศาสนาอิสลาม, คริสต์ และ ยูดาห์ เนื่องจากเมืองนี้มีที่ที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย และ ชุมชนชาวยิวรุ่นบุกเบิกมานานหลายชั่วอายุคน ที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงมานานแล้ว 

หากไม่นับรวมเหตุการณ์กราดยิงในคอนเสิร์ต ฮอลล์ ใจกลางกรุงมอสโก เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 145 ราย โดยกลุ่มก่อการร้าย ISIS-K ออกมาประกาศแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุครั้งนั้น แคว้นดาเกสถาน ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มักเกิดเหตุโจมตีชุมชนชาวคริสต์ และ ชาวยิว ในพื้นที่มานานหลายสิบปีแล้ว  

สาเหตุหนึ่งมาจากแคว้นนี้เป็นแหล่งลี้ภัยของกลุ่มลัทธิหัวรุนแรงจากเชสเนีย และแคว้นใกล้เคียง มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นเมืองด่านหน้าของการปะทะกันระหว่างกองกำลังรัสเซีย กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในช่วงสงครามเชสเนีย 

จนทำให้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เมืองนี้มักเกิดเหตุไม่สงบอยู่เนือง ๆ โดยตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และ โบสถ์สำคัญทางศาสนาคริสต์ และยิว มักถูกใช้เป็นเป้าหมายในการก่อเหตุ

อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมของแคว้นดาเกสถาน ค่อนข้างอ่อนแอ และ ย่ำแย่จากภายใน มีการคอร์รัปชันภายในรัฐบาลท้องถิ่น อัตราการว่างงานสูง ความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา และ ศาสนาในแคว้น เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของประชากรในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแหล่งฟูมฟักชั้นดีของลัทธิก่อการร้าย 

และจากเหตุก่อการร้ายในดาเกสถาน เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงในประเทศไม่เคยหายไปไหน และรอคอยโอกาสที่จะสร้างความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบเครมลิน ยังคงปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นแห่งความรุนแรงในภูมิภาคคอเคซัสเหนือ (แคว้นที่อยู่คั่นกลางระหว่างทะเลอาซอฟ ทะเลดำทางทิศตะวันตก และทะเลแคสเปียนทางตะวันออก รวมถึง ดาเกสถานด้วย) และยืนยันว่าสังคมรัสเซียมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากพอ ที่จะไม่สนับสนุนการก่อการร้ายในชุมชนของพวกเขา เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่เคยออกมากล่าวหลังเหตุกราดยิงในคอนเสิร์ต ฮอลล์ ในกรุง มอสโกว่า รัสเซียไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมหัวรุนแรง เพราะเชื่อมั่นในความสามัคคีระหว่างศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์ในรัสเซียอันเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากในโลก ส่วนภัยจากเหตุก่อการร้ายเป็นการแทรกซึมของฝ่ายยูเครน และ อริชาติตะวันตก 

แต่ใช่ว่าชาวรัสเซียทุกคนจะคิดเช่นนี้ และกำลังมองว่ารัฐบาลรัสเซียกำลังใช้ทรัพยากรของประเทศไปทุ่มให้กับสงครามในยูเครนมากเกินไปจนละเลยภัยซ่อนเร้นภายในบ้าน อันเป็นปัญหาที่หมักหมมค้างเติ่งที่รัฐบาลมองข้ามมานานนับสิบปี 

สำหรับเหตุกราดยิงกลางเมืองในดาเกสถาน ที่อุกอาจขนาดถล่มป้อมตำรวจ เผาโบสถ์คริสต์-ยิว ยิงบาทหลวงเสียวิต โดยเจาะจงเลือกช่วงเทศกาล Trinity Sunday ของชาวคริสต์ออร์โทดอกซ์พอดี และห่างจากเหตุก่อการร้ายของกลุ่ม ISIS-K ในกรุงมอสโกเพียงไม่กี่เดือนนั้น ก็ชวนให้ชาวรัสเซียเริ่มไม่แน่ใจว่า รัฐบาลเครมลินจะคุมสถานการณ์ของกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศได้อยู่หรือไม่

เชื้อไฟสงครามปะทุ!! เตรียมดันราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หลังภัย 'ตะวันออกกลาง' และ 'รัสเซีย' ยังคุกรุ่น

(25 มิ.ย.67) หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก ประจำสัปดาห์วันที่ 17-21 มิ.ย. 67 และแนวโน้มในสัปดาห์วันที่ 24-28 มิ.ย. 67 โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์สงครามคุกรุ่นในตะวันออกกลางและรัสเซีย

- นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล นาย Benjamin Netanyahu ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 67 ว่า การโจมตีกลุ่มฮามาส (ในฉนวนกาซา) กำลังจะสิ้นสุดลง และเป้าหมายของกองทัพอิสราเอลจะเปลี่ยนไปเป็นที่ชายแดนทางตอนเหนือของอิสราเอลติดกับเลบานอน ทั้งนี้กองทัพอิสราเอลประกาศจะปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ต่อฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งอาจส่งผลให้ความขัดแย้งลุกลามกลายเป็นสงครามในภูมิภาค

- วันที่ 21 มิ.ย. 67 ทหารยูเครนใช้โดรน (Unmanned Aerial Vehicles) โจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซีย 4 แห่ง กำลังการกลั่นรวมกว่า 400,000 บาร์เรลต่อวัน (ประมาณ 6% ของกำลังการกลั่นรวม) ทำให้เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้ อนึ่งรัสเซียใช้โรงกลั่นดังกล่าวผลิตเชื้อเพลิงให้เรือรบที่ปฏิบัติการในทะเลดำ

- Energy Information Administration (EIA) รายงานว่าอุปสงค์น้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 21.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากประชาชนจำนวนมากออกมาใช้รถยนต์ช่วงฤดูขับขี่ท่องเที่ยว (วันที่ 27 พ.ค.-2 ก.ย. 67)

- Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานว่าปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 67 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.7% อยู่ที่ 5.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดระบบ 

หมายเหตุ >> SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ภายใต้การเร่งผลักดันให้เกิดโดย ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่กองทุนน้ำมันได้มากขึ้น โดยในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศจนเพียงพอสำหรับการใช้งานในประเทศได้ถึง 90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณสำรองเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นธรรมในประเทศได้ 

ซ้ายตกขอบ!! เสียงสะท้อนผลเลือกตั้ง 'ฝรั่งเศส-อังกฤษ'  คนยุโรปเริ่มล้มทุกรัฐบาลที่หนุนสงครามยูเครน-แซงชั่นรัสเซีย

(7 ก.ค.67) เพจ ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การเมืองในเวทีโลก โดยได้ระบุว่า ...

เลือกตั้งอังกฤษเมื่อสองวันที่แล้วยืนยันว่าคนยุโรปล้มทุกรัฐบาลที่สนับสนุนสงครามยูเครน แซงค์ชันรัสเซีย รับผู้อพยพแอฟริกาเหนือและยูเครนเข้ามาแบบไร้สติ

ทั้งหมดล้วนเป็นแนวทางที่ส่งผลให้คนยุโรปอยู่ยาก จนลง เพราะของแพง รัฐสวัสดิการเอาไม่อยู่ ถูกรัฐจับทำงานจนแก่ 

ถ้าชิงตายก่อนถึงเกณฑ์รับเงินก้อนจากรัฐ อดได้เอ็นจอยการหอบเงินที่สะสมทั้งชีวิตมาอยู่เป็นป๋าที่พัทยา

รัฐบาลริชชี สุนัก แพ้ราบคาบ อดีตนายกอย่างลิซ ทรัสส์ สอบตกในเขตตัวเอง จบ 14 ปี ของรัฐบาล Conservatives ภายใต้นายก 5 คน 

วันนี้ฝรั่งเศสเลือกตั้งรอบสอง ฝ่ายซ้าย ฝ่ายกลางรวมพลังบล็อก ฝ่ายขวา ไม่ต่างจากช่วงที่ฝ่ายขวาไทยบล็อกก้าวไกลเมื่อปีที่แล้ว 

สองลุงของฝรั่งเศส (เมลลองฌอง-มาครอง) ฉลาดกว่าสองลุงของไทย มีการถอนตัวผู้ลงสมัครทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลาง จะได้ไม่ตัดคะแนนกันเองในแต่ละเขต

ไล่ประท้วงไล่ตีกันทั้งประเทศ เพราะไม่มีเพจของคนหน้าตาดีบอกให้ไปนอนก่อนแล้วค่อยว่ากันใหม่

มองกันว่าฝ่ายขวาจะชนะแต่ไม่ขาด แต่ก็ยังจะเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายขวาฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นรัฐบาลในห้วง 80 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แนวทางนโยบายจะเป็นผลประโยชน์ฝรั่งเศสต้องมาก่อน ไม่เอาผู้อพยพ ไม่ส่งทหารไปยูเครน

นายกวิคเตอร์ ออร์บัน จากฝ่ายขวาของฮังการีเป็นประธานหมุนเวียนอียูระยะ 6 เดือนไปตลอดถึงสิ้นปี 

สิ่งแรกที่ทำคือหาทางจบสงครามยูเครน-รัสเซีย แบกตำแหน่งประธานอียูไปคุยกับปูตินถึงที่

ไปแบบไม่สนหน้าใครในอียู

เดือน พ.ย. สหรัฐเลือก ปธน ถ้าทรัมป์ที่คะแนนนำอยู่ชนะ แนวร่วมรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศจะกว้างและครอบคลุมมาก

เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองครั้งใหญ่ของโลก ที่เกิดจากความงี่เง่าของฝ่ายซ้ายตะวันตกล้วนๆ 

โอกาสได้จบสงครามดีที่สุดในรอบ 3 ปี กำลังมา 

แต่ถ้าจบที่รัสเซีย จะย้าย theater มาทะเลจีนใต้หรือไม่

นักการทูต ทหาร ฝ่ายความมั่นคงไทย ทบทวนตำราศรีธนญไชยเตรียมไว้ได้เลย

เราเน้นแนวทางรบด้วยปาก

นอกนั้นมาช่วยกันสาธุ 99 ได้ครับ

‘อินเดีย’ร่วมทุนกับ ‘รัสเซีย’ ตั้ง Indo-Russia Rifles Private Limited (IRRPL)  โรงงานผลิตปืนเล็กยาวตระกูล AK ในเมือง Korwa เขต Amethi รัฐอุตตรประเทศ

(7 ก.ค.67) แรกเริ่มเดิมที กองทัพอินเดียได้ทำการผลิตปืนเล็กยาวบรรจุกระสุนเองแบบ L1A1 ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ผลิตในประเทศในช่วงปลายทศวรรษปี 1950 ต่อมาช่วงกลางทศวรรษปี 1980 กองทัพอินเดียตัดสินใจพัฒนาปืนเล็กยาวขนาด 5.56×45 มม. (กระสุนมาตรฐาน NATO) เพื่อทดแทนปืนเล็กยาวที่ได้เลิกผลิตไปแล้ว โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอาวุธ (ARDE) เมือง Pune ได้ออกแบบปืนเล็กยาว INSAS ของอินเดียเอง และกองทัพอินเดียนำมาใช้ในปี 1990 และกลายเป็นปืนเล็กยาวจู่โจมมาตรฐานของทหารราบสังกัดกองทัพบกอินเดีย อย่างไรก็ตาม เพื่อยุติการใช้ปืนเล็กยาว Lee–Enfield แบบลูกเลื่อนที่ยังใช้งานในกองทัพอินเดียอยู่ให้เร็วที่สุด ในช่วงปี 1990–92 อินเดียจึงต้องจัดหาปืนเล็กยาวตระกูล AKM ขนาด 7.62×39 มม. จำนวน 100,000 กระบอกจากรัสเซีย ฮังการี โรมาเนีย และอิสราเอล

ในช่วงแรกปืนเล็กยาว INSAS สร้างขึ้นโดยใช้คุณสมบัติที่หยิบยืมมาจากปืนเล็กยาวหลายรุ่น ทั้งไม่ได้ออกแบบและผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของกองกำลังรักษาความมั่นคงของอินเดีย แม้ว่า ปืนเล็กยาว INSAS จะรับใช้กองทัพอินเดียนานกว่า 30 ปี แต่ก็เริ่มล้าหลังเมื่อพิจารณาถึงความต้องการของสงครามสมัยใหม่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปืนเล็กยาว INSAS ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบที่มากขึ้น ด้วยปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นจากการใช้งานของกองกำลังในแนวหน้าซึ่งกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติการ ตัวอย่างเช่น แม็กกาซีนพลาสติกของปืนเล็กยาว INSAS แตกร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีรายงานว่า ปืนเล็กยาว INSAS ร้อนมากจนเกินไปในระหว่างการสู้รบที่ยาวนาน จึงทำให้การทำงานของปืนเล็กยาว INSAS ผิดปกติ จนปืนเล็กยาวรุ่นนี้ไม่น่าเชื่อถือสำหรับปืนเล็กยาวมาตรฐานทั่วไป

สืบเนื่องมาจากความขัดข้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้ ในเดือนเมษายน 2013 รัฐบาลอินเดียจึงต้องเปลี่ยนปืนเล็กยาว INSAS ของกองกำลังตำรวจติดอาวุธกลาง (CRPF) ด้วยปืนเล็กยาวรุ่น AKM เพื่อให้มั่นใจว่า CRPF จะประสบความสำเร็จมากขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่ม Naxalites ดังนั้น จากความล้มเหลวเหล่านี้และความต้องการปืนเล็กยาวที่เปลี่ยนไปของกองกำลังติดอาวุธของอินเดีย จึงมีการประกาศในช่วงต้นปี 2017 ว่า ปืนเล็กยาว INSAS จะถูกปลดประจำการ และแทนที่ด้วยปืนเล็กยาวที่สามารถยิงกระสุนขนาด 7.62×51 มม. ของ NATO ได้

แต่ด้วยความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานระหว่างอินเดียและรัสเซีย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางทหาร อินเดียและรัสเซียจึงร่วมทุนกันจัดตั้ง Indo-Russia Rifles Private Limited (IRRPL) โรงงานผลิตปืนเล็กยาวตระกูล AK ขึ้นในประเทศอินเดีย โดย IRRPL เป็นการร่วมทุนระหว่าง 4 บริษัท ณ ปี 2023 AWEIL (อินเดีย) ถือหุ้นที่ 42.5% Munitions India Limited (อินเดีย) ถือหุ้น 8% Kalashnikov Concern (รัสเซีย) ถือหุ้น 42% และ Rosoboronexport (รัสเซีย) ถือหุ้น 7.5% และได้รับอนุญาตสิทธิบัตรให้ผลิตปืนเล็กยาวจู่โจม AK-203 จำนวน 600,000 กระบอก ซึ่งใช้กระสุนขนาด 7.62×39 มม. สำหรับ AK-203 เป็นปืนเล็กยาวจู่โจมรุ่น 200 ซีรีส์ที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและเป็นรุ่นหนึ่งของปืนเล็กยาวจู่โจม AK-Pattern ของรัสเซียในปัจจุบัน ซีรีส์ 200 นั้นอิงรายละเอียดทางเทคนิคจากปืนเล็กยาวตระกูล AK-100 และปืนเล็กยาวรุ่น AK-12 ซึ่งมีราคาแพงกว่า โดยปืนเล็กยาว AK-203 เป็นปืนเล็กยาวจู่โจมรุ่นใหม่ล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากปืนเล็กยาว AK-47 ของอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบัน

ในระหว่างงาน Defense Expo 2020 ที่เมืองลัคเนา พลตรี Sengar (อดีต CEO และกรรมการผู้จัดการ) ประกาศว่าโรงงาน IRRPL ในเมือง Amethi จะผลิต AK-203 ได้ 75,000 กระบอกต่อปีเป็นเวลา 10 ปี โดยผลิตปืนเล็กยาว AK-203 จำนวน 670,000 กระบอกสำหรับกองทัพอินเดีย การผลิตปืนเล็กยาว AK-203 เริ่มเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2023 ในเดือนพฤษภาคม 2024 ปืนเล็กยาวชุดแรกจำนวน 27,000 กระบอกได้รับการส่งมอบ ในขณะที่อีกชุดหนึ่งจำนวน 8,000 กระบอกจะได้รับการส่งมอบในเดือนกรกฎาคม 2024 รวม 35,000 กระบอก ปัจจุบัน พลตรี SK Sharma, SM (Bar), VSM จากกองทัพบกอินเดีย ทำหน้าที่เป็น CEO และกรรมการผู้จัดการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากอินเดียและรัสเซีย ฝ่ายละ 8 คน

‘แบงก์โลก’ เผย!! ‘รัสเซีย’ ขยับขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูง สวนทางความพยายามชาติตะวันตกคว่ำบาตรนานกว่า 2 ปี

(9 ก.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…ธนาคารโลกชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียสวนทางกับการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว

การจัดอันดับรายได้ประชาชาติประจำปีของธนาคารโลกล่าสุด แสดงให้เห็นว่า รัสเซียได้เลื่อนระดับจากประเทศที่มีรายได้ ‘ปานกลางระดับบน’ ไปเป็นประเทศที่มีรายได้ ‘สูง’ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ธนาคารวัดรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ตามวิธีการย้อนหลังไปถึงปี 1989 และอัปเดตการจัดหมวดหมู่นี้ทุก ๆ วันที่ 1 กรกฎาคม โดยอิงตาม GNI ต่อหัวของปีปฏิทินก่อนหน้า รายได้วัดในหน่วยเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐ

“กิจกรรมทางเศรษฐกิจในรัสเซียได้รับอิทธิพลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทหารในปี 2566 ในขณะที่การเติบโตยังได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้า (+6.8%) ภาคการเงิน (+8.7%) และการก่อสร้าง (+6.6%)” บล็อกของธนาคารโลกระบุ

“ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นทั้ง GDP ที่แท้จริง (3.6%) และ GDP เล็กน้อย (10.9%) และ GNI (ตามวิธีคำนวณ Atlas Method) ของรัสเซียต่อหัวเพิ่มขึ้น 11.2%” ธนาคารโลกกล่าวเสริม

การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นแม้หลังจากที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเรียกเก็บมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหลายพันครั้งจากความขัดแย้งในยูเครน โดยระบุอย่างเปิดเผยว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการทำลายเศรษฐกิจรัสเซียและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในมอสโก

“ไม่มีเศรษฐกิจใดในโลก แม้แต่จีน ที่สามารถทนต่อการรุกรานทางการเงินและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับรัสเซียได้” ศาสตราจารย์ Alexander Dynkin นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียและประธานสถาบันวิจัยแห่งชาติ Primakov ด้านเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวกับ The Economic Times

“เราพึ่งพาตนเองได้ในด้านทรัพยากรพลังงาน วัตถุดิบ และอาหาร เรามีตลาดแรงงานที่มีทักษะ วิทยาศาสตร์พื้นฐานของเราอยู่ในระดับโลก ระบบนวัตกรรมระดับชาติของเราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอำนาจอธิปไตยทางเทคโนโลยีและเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่ว่างอยู่”

ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย กล่าวถึงนักลงทุนที่งานประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังเติบโตแม้จะมีการคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนัก และประเทศได้ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย AP รายงาน

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียคือการต่อสู้ในยูเครน ซึ่งขณะนี้มีความสำคัญต่อรัสเซียในเชิงเศรษฐกิจพอ ๆ กับในทางการเมือง แบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่ก็หายไป หรือกลับมาทำธุรกิจใหม่ในคราบของแบรนด์รัสเซีย แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักในเชิงเศรษฐกิจสำหรับชาวรัสเซียส่วนใหญ่ โดยการใช้จ่ายของรัฐจำนวนมหาศาลสำหรับยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับทหารอาสาสมัคร ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง

เศรษฐกิจของรัสเซียจะเติบโตต่อไปในปีนี้ แม้จะมีการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ตามข้อมูลจากธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรป (EBRD) ในลอนดอน

EBRD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ของรัสเซียจะขยายตัว 2.5% ในปี 2024 และกลับมาอยู่เหนือระดับที่เห็นก่อนปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนในปี 2022 นั่นแสดงถึงการยกระดับครั้งใหญ่จากคำแนะนำก่อนหน้านี้ที่ 1.0% ที่ให้ไว้ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ในขณะที่รัสเซียชดเชยผลกระทบของการคว่ำบาตรด้วยรายจ่ายมหาศาลสำหรับเครื่องจักรสงครามของตน แต่ยังคงชะลอตัวลงอย่างมากจากการเติบโต 3.6% ในปี 2566

“มันไม่สมจริงเลยที่จะคาดหวังว่าการคว่ำบาตรรัสเซียจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ ดังที่หลาย ๆ คนคาดหวังไว้” Beata Javorcik หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ EBRD กล่าวกับ AFP ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัสเซียได้ “มุ่งความสนใจไปที่เศรษฐกิจของตนไปที่ความพยายามในการทำสงคราม” เธอกล่าว “นี่กำลังนำไปสู่การเติบโตที่เร็วขึ้น” แต่ “การเติบโตนี้แปลไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนหรือเปล่า เป็นเรื่องที่น่าสงสัย” 

“การเติบโตของรัสเซียในระยะกลางจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในกรณีที่ไม่มีการคว่ำบาตร” เธอกล่าว

ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่าประเทศใดมีรายได้สูง ประเทศนั้นจะต้องมีรายได้ประชาชาติ หรือ GNI (ผลรวมของรายได้ประเภทต่าง ๆ ของบุคคลในระบบเศรษฐกิจ ได้รับในฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ) มากกว่า 14,005 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 13,845 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณก่อนหน้า การปรับค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ GDP deflators (ตัววัดค่าเฉลี่ยของระดับราคาของสินค้าทุกชนิดที่รวมอยู่ใน GDP) ของจีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และยูโรโซน

ธนาคารโลกกำหนดเศรษฐกิจของโลกไว้ 4 กลุ่มรายได้ ได้แก่ ต่ำ ปานกลางระดับล่าง ปานกลางระดับบน และสูง ซึ่งการจำแนกประเภทจะได้รับการอัปเดตทุกปีในวันที่ 1 กรกฎาคม

การแบ่งประเภทประเทศตามประเภทรายได้มีการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วงเวลานับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยในปี 1987 พบว่า 30% เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ และ 25% เป็นประเทศที่มีรายได้สูง สำหรับปี 2023 ประเทศที่มีรายได้ต่ำลดเหลือ 12% และประเทศที่มีรายสูงถึง 40% ในหมวดผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นเป็น 40%

อย่างไรก็ตาม ขนาดและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก นี่คือไฮไลต์บางส่วนของแต่ละภูมิภาค

- 100% ของประเทศในเอเชียใต้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำในปี 1987 ในขณะที่ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียง 13% ในปี 2023

- ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีส่วนแบ่งของประเทศที่มีรายได้ต่ำในปี 2023 (10%) สูงกว่าในปี 1987 ที่ไม่มีประเทศใดถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้

- ในละตินอเมริกาและแคริบเบียนสัดส่วนของประเทศที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 1987 เป็น 44% ในปี 2023

- ยุโรปและเอเชียกลางมีสัดส่วนของประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2023 (69%) ต่ำกว่าปี 1987 (71%) เล็กน้อย

- นอกจากรัสเซีย แล้วยังมีอีก 2 ประเทศ คือ บัลแกเรียและปาเลา ที่ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ประมวลเหตุการณ์ ส่งผลปลายทางสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ปิดฉากด้วย ‘ยูเครน’ ยอมแพ้ ไม่ใช่การเจรจาข้อตกลงร่วมกัน

“Ukraine war will end in surrender”
By STEPHEN BRYEN
02/07/2024

นี่ความคิดเห็นจาก ‘สตีเฟน ไบรเอน’ ผู้สื่อข่าวอาวุโสแห่งเอเชียไทมส์ ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ

โดย ‘สตีเฟน ไบรเอน’ ยังระบุเพิ่มอีกว่า “แล้วมันก็จะไม่มีการเจรจาใด ๆ กับเซเลนสกี เมื่อกองทัพยูเครนพังครืนลงมา และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้าแทนที่”

นอกจากนี้ ‘สตีเฟน ไบรเอน’ ยังได้วิเคราะห์จุดจบแห่งสงครามในครั้งนี้ด้วยว่า สงครามยูเครนจะยุติลงด้วยการยอมจำนน ไม่ใช่ด้วยการทำข้อตกลงภายหลังการเจรจาต่อรองกัน นี่เป็นความรู้สึกของผมในเรื่องที่ว่าสงครามคราวนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังทิศทางไหน และเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมฝ่ายต่าง ๆ จึงไม่สามารถที่จะเจรจาเพื่อทำความตกลงกัน

การตั้งแง่เล่นเล่ห์เหลี่ยมเพื่อมุ่งชิงความได้เปรียบกันในช่วงหลัง ๆ มานี้ ที่ทำให้การเจรจากันยังเกิดขึ้นไม่ได้จนแล้วจนรอด ปรากฏตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ในคำประกาศซึ่งอยู่ในคำสัมภาษณ์ที่ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน บอกกับสื่อฟิลาเดลเฟีย อินไควเรอร์ (Philadelphia Inquirer) [1] ในสหรัฐฯ

ในคำสัมภาษณ์นี้ เซเลนสกีกล่าวว่า มันไม่สามารถที่จะมีการเจรจาโดยตรง [2] ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย แต่อาจจะมีการเจรจากันทางอ้อมโดยผ่านฝ่ายที่สาม ในฉากทัศน์ซึ่งเสนอขึ้นมาโดยเซเลนสกีนี้ ฝ่ายที่สามจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง และการทำความตกลงใด ๆ จะต้องเป็นการตกลงกับคนกลางนี้เท่านั้น ไม่ใช่การตกลงระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทั้งนี้เซเลนสกีเสนอแนะด้วยว่ายูเอ็นสามารถแสดงบทบาทเช่นนี้ได้

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ของเซเลนสกีไม่สามารถที่จะเป็นจุดเริ่มต้นอะไรขึ้นมาได้หรอกด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ แต่ข้อใหญ่ที่สุดก็คือความเป็นจริงที่ว่าประดารัฐซึ่งกำลังทำสงครามกันอยู่ จำเป็นที่จะต้องตกลงกันโดยตรงในเรื่องการยุติการสู้รบขัดแย้ง

การอาศัยฝ่ายที่สามเป็นผู้นำเอาข้อตกลงใด ๆ มาปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมานั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีหวังจะประสบความสำเร็จเอาเลย อย่างที่ข้อตกลงมินสก์ (Minsk agreement) ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า (ไม่ว่าฉบับปี 2014 หรือปี 2015) ได้แสดงให้เห็นกันอยู่แล้ว ข้อตกลงมินสก์ทั้งสองฉบับ ถือเป็นกรณีลูกผสมซึ่งมีการลงนามรับรองโดยรัสเซีย, ยูเครน, และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe หรือ OSCE)

แต่แล้วยูเครนปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงเหล่านี้ และ OSCE ก็ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าไร้ทั้งเขี้ยวเล็บและไร้ทั้งเจตนารมณ์ ที่จะพยายามและบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง การตกลงกันในคราวนั้นยังได้รับการหนุนหลังจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ถึงแม้ทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้ร่วมลงนามหรือมีพันธะผูกพันทางกฎหมายไม่ว่าในลักษณะใดก็ตามทีที่จะต้องสนับสนุนข้อตกลงซึ่งออกมา

‘ข้อเสนอ’ เช่นนี้ของเซเลนสกี แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นเพียงม่านควันอีกอันหนึ่งซึ่งเขาปล่อยออกมาเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ยูเครนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ต้องการทำความตกลงกับรัสเซีย ทั้งนี้มีพลังที่เข้มแข็ง 3 พลังด้วยกันที่ยังคงคอยดึงรั้งเซเลนสกีเอาไว้ไม่ให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา

พลังหรือเหตุผลข้อสำคัญที่สุดก็คือ การที่เพลเยอร์ชาวแองโกล-แซกซอนตัวหลักในนาโต้ ซึ่งก็คือ ‘สหรัฐฯ’ และ ‘สหราชอาณาจักร’ มีท่าทีคัดค้านอย่างแข็งขันไม่ต้องการให้มีการเจรจาใด ๆ กับรัสเซีย สหรัฐฯ นั้นกำลังกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาสามารถทำได้ โดยรวมไปถึงการใช้การแซงก์ชั่นและมาตรการทางการทูตต่าง ๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการสนทนาใด ๆ กับรัสเซียไม่ว่าในหัวข้อใด ๆ (นอกเหนือจากเรื่องการแลกเปลี่ยนเชลยศึก)

เหตุผลประการที่สองคือกฎหมายของยูเครน ที่อุปถัมภ์โดยเซเลนสกี ซึ่งมีเนื้อหาระบุห้ามไม่ให้มีการเจรจาใด ๆ กับรัสเซีย รัฐสภาของยูเครนที่มีชื่อว่า เวอร์คอฟนา ราดา (Verkhovna Rada) สามารถที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวได้ภายเวลา 1 นาโนวินาที ถ้าเซเลนสกีร้องขอให้พวกเขากระทำเช่นนั้น ทว่าเขาไม่น่าจะอยากให้ทำหรอก

เซเลนสกีคือผู้ที่ควบคุมรัฐสภายูเครนเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งได้จับกุมหรือเนรเทศพวกนักการเมืองฝ่ายค้านให้ออกไปอยู่นอกประเทศ ตลอดจนควบคุมหนังสือพิมพ์และสื่ออื่น ๆ การใช้กำปั้นเหล็กของเซเลนสกีเช่นนี้หมายความว่า ตัวเขาเองจะไม่ยอมเป็นผู้เปิดทางให้มีการเจรจาโดยตรงอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นแล้ว เซเลนสกียังได้ลงนามประกาศใช้กฤษฎีกาประธานาธิบดีฉบับหนึ่ง ที่ห้ามไม่ให้มีการเจรจาใด ๆ [3] กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

สำหรับเหตุผลประการที่สาม เกี่ยวข้องกับแรงกดดันต่อเซเลนสกีจากพวกนักชาตินิยมฝ่ายขวาสายแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็รวมไปถึงกองกำลังอาวุธอาซอฟ (Azov brigade) ที่เป็นพวกนาซีใหม่ (neo-Nazi) ซึ่งเวลานี้ถูกนำมารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพยูเครนแล้ว หลักฐานโดยตรงที่แสดงให้เห็นถึงแรงบีบคั้นนี้ก็คือการปลด พลโท ยูริ โซดอล (Lieutenant General Yuri Sodol) ผู้บังคับบัญชาระดับท็อปของกองกำลังฝ่ายเคียฟที่อยู่พื้นที่แคว้นคาร์คอฟ (Kharkov)

**(คาร์คอฟ Kharkov ในภาษารัสเซีย หรือ คาร์คิฟ Kharkiv ในภาษายูเครน เป็นชื่อแคว้นและเมืองเอกของแคว้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน และประชิดติดกับชายแดนรัสเซีย โดยที่เมืองคาร์คอฟยังเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครนอีกด้วย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Kharkiv_Oblast และ https://en.wikipedia.org/wiki/Kharkiv)

โซดอล โดนข้อกล่าวหาจากพวกผู้นำกองกำลังอาซอฟ [4] ว่ากำลังสังหารชาวยูเครนมากยิ่งกว่าชาวรัสเซียอีกในการสู้รบทำศึกที่คาร์คอฟ อาซอฟส่งข้อความนี้ของตนไปยังรัฐสภา และเซเลนสกีก็กระทำตามด้วยการปลดโซดอล

ตั้งแต่ที่โซดอลถูกปลด สถานการณ์ของยูเครนตามแนวเส้นปะทะระหว่างยูเครนกับรัสเซียตลอดทั้งแนวรบทีเดียวก็อยู่ในสภาพเลวร้ายลงไปอีก ความสูญเสียจากการสู้รบของฝ่ายยูเครนอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยในบางวันมีผู้ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บมากถึง 2,000 คนทีเดียว

ฝ่ายรัสเซียได้ยกระดับการโจมตีของพวกเขาด้วยการใช้ลูกระเบิดนำวิถี FAB (FAB glide bombs) ขนาดต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าอสุรกาย FAB-3000 [5] ที่อัดวัตถุระเบิดแรงสูงเข้าไป 3,000 กิโลกรัม ซึ่งลูกหนึ่งเพิ่งถูกทิ้งลงใส่ศูนย์บัญชาการกองทัพบกยูเครนแห่งหนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ของภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ที่ถูกขนานนามว่า นิวยอร์ก (New York) [6] และมีรายงานว่าสังหารบุคลากรทางทหารของยูเครนไปไม่น้อยกว่า 60 คน

**(ดอนบาส Donbas เป็นภูมิภาคในยูเครนตะวันออกที่ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ Donetsk กับแคว้นลูฮันสก์ Luhansk หรือ ลูกันสก์ Lugansk ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas)**

ทางรัสเซียยังบอกด้วยว่า เซเลนสกีนั้นไม่สามารถที่จะเป็นคู่เจรจาของฝ่ายตนได้ เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งของเขาหมดไปตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม อันที่จริงก็มีความสับสนอยู่เหมือนกันเกี่ยวกับฐานะตามกฎหมายของเซเลนสกีในเรื่องนี้ แต่พวกผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกยูเครนต่างคิดว่า ตำแหน่งผู้นำของประเทศนี้ควรที่จะถูกส่งต่อให้แก่ประธานรัฐสภายูเครน [7] นับแต่ที่วาระของเซเลนสกีหมดสิ้นลง

ประธานรัฐสภายูเครนคนปัจจุบันคือ ‘รัสลัน สเตฟานชุค’ (Ruslan Stefanchuk) เวลานี้เขามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคักยิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน ถึงแม้เขายังไม่เคยแสดงการคัดค้านที่เซเลนสกียังคงปกครองประเทศต่อไปก็ตามที

ขณะเดียวกันนั้น เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ในสมรภูมิแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝ่ายรัสเซียกำลังเล็งดูแล้วว่า เวลากำลังใกล้จะสุกงอมเต็มทีแล้วที่กองทัพยูเครนถ้าหากไม่พังครืนลงไปก็จะต้องขอยอมแพ้ หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง

แต่ไม่ว่าจะเป็นในกรณีไหน ก็จำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลยูเครนในบางลักษณะ บางทีอาจจะกระทำโดยคณะผู้นำทางทหารชั่วคราวที่คัดเลือกขึ้นมาโดยรัสเซีย นี่จะเปิดทางให้ฝ่ายรัสเซียสามารถกำหนดข้อตกลงในการยอมจำนน เอากับรัฐบาลชุดที่จะขึ้นมาแทนที่

การยอมแพ้ของกองทัพยูเครน และข้อตกลงที่ทำกับรัฐบาลซึ่งรัสเซียแต่งตั้งขึ้นมา ย่อมจะทำให้นาโต้เข้าเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในยูเครนต่อไปไม่ได้แล้ว

นี่อาจเป็นการเปิดประตูไปสู่การสนทนาด้านความมั่นคงระหว่างนาโต้กับรัสเซียขึ้นมาในท้ายที่สุด ในทันทีที่นาโต้บดย่อยและกลืนกินสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเหตุผลที่ทำไมมันจึงเกิดขึ้นมา ทั้งนี้ ต้องถือเป็นเรื่องโชคร้าย การนำเอาพวกผู้นำทางการเมืองอย่าง มาร์ค รึตเตอ (Marc Rutte) เข้าสู่นาโต้ ย่อมไม่ใช่ลางดีสำหรับอนาคตของกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงกลุ่มนี้

**(รึตเตอร์ อำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2024 เพื่อเข้าเป็นเลขาธิการองค์การนาโต้คนถัดไปต่อจาก เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก Jens Stoltenberg โดยมีกำหนดเริ่มดำรงตำแหน่งใหม่นี้ในวันที่ 1 ตุลาคม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Mark_Rutte)**

ถ้าหากฝ่ายรัสเซียเป็นผู้ชนะในยูเครน ซึ่งดูน่าจะเป็นเช่นนั้นมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สารสำคัญที่สุดจากเรื่องนี้สำหรับนาโต้ ก็คือว่า กลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงกลุ่มนี้ต้องยุติการขยายตัวของตนเองเสียที และมองหาหนทางในการทำความตกลงเพื่อดำเนินการกับรัสเซียในยุโรป ซึ่งมีเสถียรภาพยิ่งกว่าที่เป็นมา

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ

ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

เชิงอรรถ
[1] https://www.inquirer.com/opinion/zelensky-ukraine-war-interview-trudy-rubin-20240630.html
[2] https://www.rt.com/russia/600232-zelensky-model-talks-russia/
[3] https://www.livemint.com/news/world/ukraine-zelensky-signs-decree-rule-out-negotiation-russia-vladimir-putin-impossible-11664876727245.html
[4] https://unn.ua/en/news/details-of-the-complaint-that-krotevych-wrote-against-general-sodol-became-known
[5] https://x.com/NewRulesGeo/status/1807719236216746085
[6] https://sputnikglobe.com/20240701/watch-russian-forces-pound-new-york-in-donbass-with-fab-3000-guided-bomb-1119203142.html
[7] https://carnegieendowment.org/russia-eurasia/politika/2024/03/is-zelenskys-legitimacy-really-at-risk?lang=en

'ไบเดน' ออกอาการเบลอ สับสนระหว่าง ‘มิตร-ศัตรู’ เรียก ‘เซเลนสกีแห่งยูเครน’ สลับเป็น ‘ปธน.ปูตินแห่งรัสเซีย’

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกอาการเบลออีกครั้ง คราวนี้พูดผิดระหว่างแนะนำตัวประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ต่อเวทีประชุมซัมมิตนาโต โดยเรียกเป็นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย คู่อริของเซเลนสกีแทน ความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการแถลงข่าวครั้งสำคัญ ที่อาจเป็นตัวตัดสินชะตากรรมการเสนอตัวชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัยของเขาเลยทีเดียว

ผู้นำวัย 81 ปีของสหรัฐฯ รีบแก้คำผิดด้วยตนเอง ส่วน เซเลนสกี พูดติดตลกว่าเขาดีกว่าปูติน 

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของไบเดนในครั้งนี้ได้โหมกระพือความกังวลหนักหน่วงยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอายุอานามของเขาและความเฉียบแหลมทางปัญญา ตามหลังผลงานหายนะในศึกประชันวิสัยทัศน์กับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

"ตอนนี้ผมขอส่งมอบเวทีนี้ให้แก่ประธานาธิบดียูเครน ผู้ซึ่งมีความกล้าหาญและความมุ่งมั่น คุณสุภาพสตรีและคุณสุภาพบุรุษ ขอต้อนรับ ประธานาธิบดีปูติน" เขากล่าวระหว่างแถลงต่อที่ประชุมซัมมิตนาโตในวอชิงตัน

ไบเดน หันหลังออกจากโพเดียม ก่อนย้อนกลับไปและเปล่งเสียงออกมาว่า "ประธานาธิบดีปูติน! เขากำลังเอาชนะประธานาธิบดีปูติน นั่นคือประธานาธิบดีเซเลนสกี" กระตุ้นให้ เซเลนสกี ดาวตลกทางทีวี ที่กลายมาเป็นผู้นำยามศึกสงครามของยูเครน รับมือกับการรุกรานของรัสเซีย ตอบกลับว่า "ผมดีกว่าเขา"

พวกรีพับลิกันคู่แข่งของไบเดน รุดแพร่กระจายคลิปดังกล่าวภายในเวลาไม่กี่นาที

การพูดผิดในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีเท่าไหร่สำหรับไบเดน เนื่องจากหลังจากนี้เขามีกำหนดแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ในรูปแบบที่โฆษกทำเนียบขาว คารีน ฌอง ปิแอร์ เรียกว่าเป็นการแถลงแบบ ‘บิ๊กบอย’ หรือที่แปลว่า คนที่โตแล้ว ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวครั้งสำคัญของเขาครั้งแรกนับตั้งแต่ศึกดีเบต

การแถลงข่าวนี้จะเป็นการดวลไมค์แบบไม่เตรียมบทระหว่างไบเดนกับสื่อมวลชน ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้นำสูงสุดวัย 81 ปี ที่กำลังเผชิญกับข้อเคลือบแคลงด้านความพร้อมในทางร่างกายและความเฉียบแหลมของไหวพริบ ในการลงสนามการเมืองในศึกเลือกตั้งผู้นำสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องดังระงมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากพรรคเดโมแครตของเขาเองให้เขาถอนตัว

ทั้งนี้ การแถลงข่าวดังกล่าวมีกำหนดเริ่มขึ้นตอนเวลา 18.30 น.(ตรงกับเมืองไทย 05.30 น.) แต่คาดหมายว่าอาจล่าช้าราว 1 ชั่วโมง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกร้องให้ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024

มีสมาชิกเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 14 คน ที่เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ชายที่เอาชนะ ทรัมป์ เมื่อ 4 ปีก่อน ถอนตัวออกมา เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกจากเดโมแครต 1 ราย

ผลโพลหนึ่งที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) พบว่ามีชาวเดโมแครตมากกว่าครึ่ง บอกว่า ไบเดน ควรยุติการเสนอตัวชิงเก้าประธานาธิบดีสมัย 2 และ 2 ใน 3 ของชาวสหรัฐฯ เชื่อว่าเขาควรถอนตัวจากการชิงชัย

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่าบรรดาผู้ช่วยเก่าแก่ของประธานาธิบดีบางส่วนกำลังหารือกันในการหาทางโน้มน้าวให้ไบเดนถอนตัวออกมา อย่างไรก็ตามทำเนียบขาวรุดออกมาตอบโต้ในเวลาต่อมา ระบุรายงานข่าวนี้เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง

ไบเดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคนช่างพูด กลับกลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่แถลงข่าวน้อยกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ๆ และครั้งหลัง ๆ มักเป็นการแถลงข่าวร่วมกับพวกผู้นำต่างชาติเท่านั้น แถมแต่ละครั้งยังจำกัดให้ถามได้เพียงแค่ 2 คำถาม

เมื่อประกอบกับการที่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน มันจึงนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเนียบขาวกำลังปกป้องผลกระทบทางอายุที่กำลังเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ รายนี้

ไบเดน ยืนยันว่าเขายังคงมุ่งมั่นในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายน และด้วยที่เขาคว้าชัยในศึกหยั่งเสียงของพรรคเดโมแครต ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะบีบให้เขาถอนตัว

‘นักกีฬารัสเซีย-เบลารุส’ ต้องร่วมโอลิมปิก 2024 ภายใต้ชื่อ ‘AIN’ เหตุสงครามยูเครนทำให้ถูกแบน จนต้องแข่งขันอย่างไร้ประเทศ

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ถือเป็นงานแข่งขันกีฬาระดับโลก ที่แต่ละประเทศในโลกจะส่งตัวแทนนักกีฬาต่างส่งนักกีฬาตัวแทนมาแข่งขันในงานนี้ พร้อมตราสัญลักษณ์ ธงชาติ หากนักกีฬาชาติได้รับชัยชนะ จะถือเป็นเกียรติประวัติ ผลงานความภาคภูมิใจของชาตินั้น ๆ

แต่ทว่า ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 2024 นี้ กลับมีนักกีฬาที่ลงสนามในนาม ‘AIN’ ที่ย่อมาจาก Athlètes Individuels Neutres ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง นักกีฬาเป็นกลางรายบุคคล และใช้ธงขาวที่แสดงสัญลักษณ์ AIN แทนธงชาติตามสัญชาติของนักกีฬา 

โดย AIN เป็นชื่อที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อนุมัติให้กับนักกีฬาจากรัสเซีย และ เบลารุส ใช้เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในปารีส โอลิมปิก 2024 นี้ แต่จะไม่อนุญาตให้นักกีฬาภายใต้ชื่อ AIN แสดงสัญลักษณ์ใด ๆ ก็ตามที่สื่อถึงชาติของตนระหว่างการแข่งขันกีฬา รวมถึงการใช้เพลงชาติเมื่อนักกีฬาจาก AIN ชนะเลิศ ได้เหรียญทองอีกด้วย เงื่อนไขนี้เป็นผลพวงจากที่รัสเซีย และ เบลารุส ถูกคว่ำบาตรจากเหตุการณ์รุกรานยูเครนในปี 2022 เป็นต้นมา

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องด้วยรัสเซียเคยถูกแบนในการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ในปี 2020 มาก่อนจากคดีอื้อฉาวเรื่องการใช้สารกระตุ้นต้องห้าม แต่ทีมนักกีฬารัสเซียคนอื่น ๆ ยังสามารถเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้ชื่อ ‘คณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซีย’ หรือ ROC ได้ 

แต่สำหรับโอลิมปิกคราวนี้ มีประเด็นการเมืองที่ต่างออกไป และเป็นครั้งแรกที่เบลารุส ถูกแบน จึงทำให้นักกีฬาของเบลารุส และ รัสเซีย ต้องลงแข่งขันภายใต้ชื่อใหม่ ‘AIN’ ใช้เพียงตราสัญลักษณ์บนพื้นขาว และใช้เพลงบรรเลงที่กำหนดโดยคณะกรรมการโอลิมปิก เมื่อขึ้นรับเหรียญรางวัลเท่านั้น

และไม่ใช่นักกีฬารัสเซีย และ เบลารุส ทุกคนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันในนาม AIN ได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสหพันธ์กีฬานานาชาติแต่ละแห่งก่อน แม้ว่านักกีฬาจะมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ก็ตาม 

อีกทั้งนักกีฬา AIN ไม่ถือเป็นทีม หรือเป็นตัวแทนของชาติใด จึงไม่สามารถเข้าร่วมในขบวนแห่นักกีฬาในพิธีเปิดที่แม่น้ำแซนได้ รวมถึงตัวแทนรัฐจากทั้งรัสเซีย และ เบลารุส จะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีใด ๆ ในงานโอลิมปิกครั้งนี้ และเหรียญรางวัลที่ได้จากการแข่งขันของนักกีฬา AIN ก็จะไม่ถูกรวมอยู่ในตารางเหรียญรางวัลด้วยเช่นกัน

จึงถือว่า รัสเซีย และ เบลารุส ได้ถูกแบนจากการเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก 2024 แล้ว แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยูเครนบางคนแย้งว่า ทาง IOC ไม่ควรอนุญาตให้นักกีฬารัสเซีย และ เบลารุสคนใดเลยเข้าร่วมการแข่งขันเลย แม้ว่าจะอยู่ในนาม AIN ก็ตาม 

แต่คณะกรรมการ IOC ได้กล่าวในแถลงการณ์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับยูเครนเมื่อเดือนมกราคม 2023 ว่า ‘ไม่ควรมีนักกีฬาชาติใดถูกกีดกันเพียงเพราะหนังสือเดินทางของพวกเขา’

แต่หาก IOC ใช้ประเด็นเรื่องการรุกรานยูเครน ในการแบนรัสเซีย และ เบลารุส จึงเกิดคำถามว่า IOC ควรใช้มาตรฐานเดียวกันกับประเด็นความขัดแย้งในสงครามกาซาด้วยหรือไม่? 

โดยมีการยื่นคำร้องจากผู้ร่วมลงนามหลายแสนคนให้แบนอิสราเอลจากการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เช่นเดียวกับ รัสเซีย และ เบลารุส จากเหตุใช้กำลังทหาร และ การโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอลเข้าถล่มเขตพลเรือนในฉนวนกาซ่า อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 4 หมื่นคน ในจำนวนนั้นมีนักกีฬาชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 400 คน 

แต่สุดท้าย อิสราเอลสามารถเข้าร่วมงาน ปารีส โอลิมปิก 2024 โดยได้ส่งนักกีฬา 88 คน เข้าร่วมแข่งขันในกีฬา 16 ประเภท

สมเป็นมหกรรมกีฬาของโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และการเมืองที่แท้จริง

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top