Friday, 4 April 2025
รถยนต์ไฟฟ้า

ค่ายแดนซามูไร ใช้กลยุทธ์ รถไฮบริดราคาต่ำล้าน สกัดดาวรุ่ง รถอีวีจีน เน้นข้อดี ‘ราคาไม่แพง-กินน้ำมันน้อย-ไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จ’

เมื่อวานนี้ 7 เม.ย.67 Business Tomorrow รายงานว่า มหกรรมการจัดแสดงยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ BANGKOK INTERNATIONAL MOTOR SHOW 2024 ในโค้งสุดท้ายของเกมยานยนต์บนพื้นที่จัดแสดง ผลปรากฎว่า ยอดจองรถ 11 วันที่ผ่านมา ก็คือ วันที่ 25 มีนาคม -4 เมษายน 2567 มีจำนวน 29,449 คัน โดย 10 ลำดับแรก คือ

1. Toyota 5,579 คัน
2. Honda 2,983 คัน
3. MG 2,164 คัน
4. CHANGAN 1,812 คัน
5. MITSUBISHI 1,647 คัน
6. IZUSU 1,635 คัน
7. GWM 1,608 คัน 
8. GAC AION 1,506 คัน 
9. NISSAN 1,374 คัน
10. NETA 1,282 คัน

ทั้งนี้มีบางแบรนด์ดังโดยเฉพาะ BYD เลือกที่จะไม่รายงานผลในตอนนี้ โดยจะรายงานในการรวมผลวันสุดท้าย

ไฮไลท์คงจะเป็น Toyota ยักษ์ใหญ่จากแดนซามูไรที่คราวนี้ยังคงยกทัพชิงตลาด ณ งานมอเตอร์โชว์ 2024 โดยยังคงชนะราบคาบไปที่ยอดจองกว่า 5.5 พันคัน ซึ่งหนีห่างเพื่อนร่วมประเทศอย่าง Honda ไปราว 2.5 พันคัน และที่สามตามมาด้วยแบรนด์จีนอย่าง MG ที่แม้จะมีดราม่าใหญ่ที่มีผู้ใช้มาประกาศเรียกร้องกลางงานถึงปัญหาที่ได้รับจากแบรนด์ 

การเดินเกมของค่ายญี่ปุ่นครั้งนี้คือ การนำเสนอรถยนต์แบบไฮบริด โดยนำสองโมเดลใหม่น่าจับจองอย่าง YARIS CROSS และ COROLLA CROSS ที่เป็นรถยนต์รูปแบบไฮบริดที่มีราคาที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เริ่มต้นเพียง 7.8 แสนกว่าบาท ทำให้การครอบครองเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น อีกทั้งรถยนต์ไฮบริดมีความน่าสนใจกว่ารถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องกังวลสาธารณูปโภคสนับสนุนแบบที่ชาร์จของอีวี หรือการกินน้ำมันที่น้อยกว่ารถยนต์สันดาป 

Toyota ยังกล่าวในงานแถลงข่าวมอเตอร์โชว์ว่า พวกเขายังเลือกเส้นทางการนำเสนอสินค้าหลากหลายรูปแบบโดยมองถึงการทำอีวีในอนาคต แต่ก็ยังคงนำเสนอพลังงานเก่า พลังงานไฮบริด และมองถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนพลังงานไฮโดรเจนเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ในส่วนของเกมราคาของฝั่งจีนกลับอาจเป็นการเดินหมากผิดที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจีนอาจชะงักลงไปบ้าง แม้ยอดของฝั่งจีนจะขยับขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังถูกพี่ใหญ่อย่าง Toyota ทิ้งห่าง และท่าทีของยักษ์ใหญ่อย่าง BYD ที่ใครต่างมองว่าจะเข้ามาท้าชนเจ้าตลาดอย่างญี่ปุ่น กับมีท่าที ‘ดูเชิง’ ด้วยการเปลี่ยนกลยุทธ์การรายงานรายวันเป็นรวมยอดวันเดียว ทำให้ทั้งหลายสำนักรวมถึงนักเลงรถยนต์บนโลกออนไลน์ต่างเคลือบแคลงท่าทีนี้ว่า BYD อาจจะไม่มั่นใจยอดขายหรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม Motor Expo 2023 ปลายปีที่ผ่านมา Toyota ครองแชมป์ไปที่ 7,245 คัน ตามด้วยอันดับ 2 Honda 6,149 คัน ส่วนอันดับ 3 ก็ไล่ที่สองมาแบบหายใจลดต้นคออย่าง BYD ที่ 6,119 คัน มาดูกันว่าในวันสุดท้ายของการจัดแสดงนี้ ชาติไหนจะเข้าป้าย แล้วจะทิ้งห่างไปได้มากแค่ไหนกัน

เรียบเรียงจาก กรังปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล, Motor Expo 2023, Toyota

‘Tesla’ กำไรไตรมาสแรกดิ่งฮวบ 55% ท่ามกลางสงครามรถยนต์อีวีที่เข้มข้น

(24 เม.ย.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เทสลา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสแรกของปี 2024 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้น แต่หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้น หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาได้ประกาศว่าจะเร่งแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง

เทสลาได้เปิดเผยว่า เทสลามีผลกำไรในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 40,570 ล้านบาท จากรายได้ของเทสลา 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 785,362 ล้านบาท ถือว่ามีผลกำไรลดลง 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นของเทสลากลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 11% ในการซื้อขายหลังตลาดปิด หลังเทสลาให้คำมั่นว่าจะเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาถูกลง โดยการประกาศดังกล่าวมีขึ้นขณะที่บรรดานักลงทุนต้องการให้มัสก์ออกมาแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เทสลากำลังลดลง และข่าวการปลดพนักงานเทสลาทั่วโลกราว 14,000 คนเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายของเทสลากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงการเรียกคืนรถยนต์ Cybertruck รุ่นใหม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเร่งเครื่องยนต์

ถึงแม้ว่าเทสลาจะกำลังใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่เทสลายังให้รายละเอียดว่าพวกเขาเตรียมที่จะเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่มีราคาถูกลง โดยมัสก์เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้สร้างความพอใจให้แก่นักลงทุนบางส่วนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ชี้แจงถึงแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่บอกว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

สหรัฐฯ หมายตาลงทุนฐานผลิต EV ในไทย หวังใช้ทานกระแส ‘รถยนต์ EV’ สัญชาติจีน

รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจสกัดการไหลบ่าของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เข้าตลาดสหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 100% ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะ Tesla ที่ยอดขายตกหนักจากการแย่งชิงตลาดของรถยนต์แบรนด์จีนด้วยกลยุทธ์การตัดราคาสู้ จนยอดจองรถยนต์รุ่นใหม่ของ Tesla ชะลอตัวลงอย่างมากทั้งในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป 

ซึ่งล่าสุด Tesla เพิ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกลงอีก 10% และชะลอการลงทุนในแผนกพัฒนาการชาร์จประจุไฟ  และดูเหมือนสถานการณ์ก็ยังไม่ฟื้นตัวนัก ส่งผลให้หุ้นของ Tesla ตกลงไปแล้วถึง 30% ช่วงเวลาแค่ 4 เดือนของปีนี้ (2567) 

หากปล่อยไว้เช่นนี้ ธุรกิจของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับรถยนต์ราคาประหยัดของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ จึงตัดสินใจสกัดการเข้าตลาดของ สินค้าพลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีถึง 100% โดยเฉพาะรถยนต์ EV ในรุ่นที่ราคาต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ (3.68 แสนบาท) ที่ตอนนี้มีให้เห็นล้นตลาดสหรัฐฯ 

แต่ว่าสถานการณ์ของ Tesla ซับซ้อนกว่านั้น เนื่องจาก Tesla มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีนด้วย ที่ผลิตรถยนต์ป้อนทั้งตลาดจีน และต่างประเทศ ที่ทำให้ Tesla ถูกกดดันหนักทั้ง 2 ด้าน จากมาตราการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลถึงต้นทุนราคาชิ้นส่วนอุปกรณ์ของ Tesla ที่ผลิตในจีน และการต้องปรับตัวแข่งขันอย่างดุเดือดกับผู้ผลิตรถยนต์จากจีนด้วย 

ดังนั้น Tesla จำเป็นต้องมองหาตลาดใหม่ในเอเชีย นอกเหนือจากจีน ที่มีศักยภาพการเติบโตไม่แพ้กัน ที่ตอนนี้มีอยู่ 2 แห่งที่เข้าตาอีลอน มัสก์ ประเทศแรกคือ อินเดีย ที่อยู่ในความสนใจของ Tesla มานานแล้ว ส่วนอีกประเทศหนึ่งก็คือ ไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ที่กระแสเครื่องยนต์สะอาดกำลังมาแรงมาก

ทางการไทยเคยมีการพูดคุยกับ Tesla มาได้ 2-3 ปี แล้วในช่วงที่ อีลอน มัสก์ กำลังมองหาทำเลที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ระดับ Gigafactory ในเอเชีย ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่อยู่ในใจของอีลอน มัสก์ และเคยวางแผนที่จะมาสำรวจทำเลถึงในประเทศไทยแต่ต้องยกเลิกการเดินทางไปก่อน 

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากสำหรับ Tesla ทั้งในแง่ฐานลูกค้า ที่จะช่วยให้ Tesla พึ่งพาตลาดยุโรป และ อเมริกา น้อยลง และยังเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากจีน ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งไทยเป็นที่รู้จักในฉายา ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ มานานหลายปี จากแรงงานที่ทักษะเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และความสามารถในการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ที่จะช่วยให้ Tesla สามารถลดการพึ่งพาแหล่งผลิตในจีนได้ และยังมีความพร้อมในการรองรับความต้องการในตลาดเอเชีย และ ทวีปอื่น ๆ ได้ด้วย

เคร็ก เออร์วิน นักวิเคราะห์การวิจัยอาวุโสของ Roth Capital ซึ่งดูแล Tesla กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยต้นทุนที่ต่ำได้เหมือนอย่างจีน แถมยังสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการควบคุมจากรัฐบาลปักกิ่ง นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีงบประมาณอุดหนุน และสิ่งจูงใจทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้และดึงดูดผู้ผลิตจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ เซท โกลด์สตีน นักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นของ Morningstar ซึ่งดูแล Tesla ยังกล่าวถึงข้อดีของไทยอีกว่า “การส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปมีผลกระทบทางการเมืองน้อยกว่าจีน และถึงแม้ว่ารถยนต์ที่ผลิตในไทย ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินสนับสนุนจาก Inflation Reduction Act กฎหมายที่ช่วยเหลือด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แต่โอกาสที่รถยนต์จากไทยจะเจอกำแพงภาษีสูงลิ่วแบบที่จีนต้องเจอมีน้อยมาก ๆ”

และต่อให้ไม่เข้าตลาดสหรัฐฯ ก็ยังมีตลาดในอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 650 ล้านคนรองรับอยู่ และยังเป็นตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่มีค่ายรถยนต์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่างก็มาตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคอยู่ที่ไทย 

เป้าหมายของไทย คือ การเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตระดับโลก ด้วยข้อเสนอด้านภาษีที่จูงใจ และยังตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปในประเทศ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดรถยนต์ EV ที่สำคัญมากทั้งจากมุมมองของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอย่าง ฮอนด้า และ โตโยต้า ก็วางแผนที่จะลงทุนกว่า 4.1 พันล้านเหรียญในการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยแล้ว

ยังไม่นับเรื่องการค้นพบแหล่งแร่ลิเธียมเกือบ 15 ล้านตันในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่จะทำให้ไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเอเชียมากขึ้นไปอีก 

เซท โกลด์สตีน ยังเสริมว่า “หากประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่สามารถผลิตรถยนต์ EV และ รวมถึงส่วนประกอบได้ในราคาถูกและยังสามารถส่งออกได้อย่างอิสระ ก็ไม่แปลกใจที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รวมทั้ง Tesla จะพิจารณาการสร้างฐานผลิตใหม่ในประเทศไทย ที่เป็นทางเลือกที่ดีนอกเหนือจากจีน”

และยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของรถยนต์ค่ายอื่น ๆ ต่อยุทธศาสตร์การบุกตลาดอย่างหนักของรถยนต์ EV จากจีนได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการรักษาตำแหน่ง ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ไว้ให้ได้ เพราะกำลังถูกท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และ อินโดนิเซีย ที่ต้องการแย่งบัลลังก์เจ้าแห่งการผลิตรถยนต์จากไทยด้วยเช่นกัน 

สำรวจความนิยมคนไทยในรถ EV หดจาก 31% เหลือ 20% สวนทางความนิยม 'ไฮบริด' ที่หวนพุ่งแรงแตะ 19%

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ เผยผลสำรวจ ‘2024 Global Automotive Consumer Study’ พบว่าความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ของคนไทย ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 31% เหลือเพียง 20% ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) แม้ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid electric vehicle: HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เป็น 19% เกือบจะเท่ากับ BEV

คุณภาพของสินค้ายังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูงสุด 53% โดยปัจจัยที่คนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อคือ คุณสมบัติของรถ สมรรถนะ และ ปัจจัยด้านราคา ในสัดส่วนที่ 53%, 51% และ 47% ตามลำดับ

เหตุผลอันดับแรกที่คนไทยเลือกใช้ BEV คือ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 73% เป็นเหตุผลเดียวกันกับการเลือกใช้ HEV/PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ในอัตราส่วนเท่ากันที่ 73% ในขณะที่เหตุผลในการเลือกใช้ ICE อันดับแรกคือ ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ 78%

ดีลอยท์ฯ ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวนกว่า 27,000 คนจาก 26 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.66 เกี่ยวกับความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคยานยนต์ ครอบคลุมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 5,939 คน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคคนไทยประมาณ 1,000 คน โดยได้ทำการวิเคราะห์ร่วมกับผลการสำรวจข้อมูล Thailand Automotive Consumer Survey 2024 ที่ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือน เม.ย.67 กับผู้บริโภคคนไทยอีก 330 คน

*แนวโน้มและมุมมองผู้บริโภคต่อยานยนต์ไฟฟ้า

ผลสำรวจในปี 2567 พบว่าความนิยมของคนไทยในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 31% เหลือเพียง 20% โดยรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่แนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 36% เหลือเพียง 32% ขณะที่รถยนต์ไฮบริด (HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ร้อนแรงขึ้นมา โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเกือบจะเท่ากับ BEV จาก 10% ในปี 66 เป็น 19%

แนวโน้มความนิยมของคนไทยต่อ ICE สอดคล้องกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน แต่สวนทางกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ความนิยมใน ICE ดีดตัวสูงขึ้น สำหรับตลาดรถมือสองในไทย ICE (Internal Combustion Engine) เป็นทางเลือกอันดับ 1 ที่ 54% ตามมาด้วยกลุ่มรถไฮบริด (HEV) และ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ที่ 38% รั้งท้ายด้วย BEV ที่ 9%

เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่คนไทยเลือกใช้ BEV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 71% กังวลกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ 49% ได้แก่ ความกังวลกับสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว และ ประหยัดเรื่องค่าบำรุงรักษา ส่วนเหตุผลคนที่ไทยเลือก HEV/PHEV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 68% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทาง และ 37% ต้องการลดปัญหาฝุ่น ควัน และก๊าซเรือนกระจก

และสำหรับกลุ่มที่เลือกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE 78% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ 67% ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือความคาดหมาย (เช่น แบตเตอรี่ หรือระบบที่เกี่ยวข้อง) และ 52% ต้องการความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษา และการปรับแต่ง

จากการสำรวจ พบว่า คนไทยเปิดรับกับ BEV มากขึ้น โดยความกังวลของคนไทยที่มีต่อ BEV ระหว่างปี 66 และ 67 ในภาพรวมปรับลดลงทุกมิติ โดยมิติที่กังวลสูงสุด ได้แก่ สถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ ปรับลดจาก 48% เป็น 46% ระยะทางในการขับ ปรับลด จาก 44% ในปี 66 เป็น 39% ผลสำรวจพบว่า คนไทยปรับตัวกับเวลาในการชาร์จรถได้นานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาที่รับได้มากที่สุดขยับมาอยู่ที่เวลาประมาณ 21- 40 นาที ที่ 38% ขยับเพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 25%

การชาร์จไฟฟ้าที่บ้านยังคงเป็นความต้องการสูงที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางเลือกในการชาร์จไฟฟ้านอกบ้านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสถานีบริการน้ำมัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปีที่แล้วเป็น 34% ในปีนี้ ที่น่าสนใจคือความนิยมในการชาร์จไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 29% การชาร์จไฟฟ้าที่สถานีเฉพาะสำหรับ BEV ปรับลดลงมาจาก 51% เหลือเพียง 21% ส่วนระยะทางคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จต่อครั้งขยับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยข้อมูลในปี 67 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 44% มีความเห็นว่าระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ควรมีระยะทางระหว่าง 300 ถึง 499 กิโลเมตร

*ปัจจัยในการซื้อรถของคนไทย

ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถคันต่อไปมีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยปัจจัยเรื่องราคาเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 66 เป็น 47% ด้านสมรรถนะปรับเพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 51% และ คุณสมบัติต่าง ๆ ของรถ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 53% คุณภาพของสินค้า ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูงสุดในปี 67 แต่ลดจาก 64% เป็น 53% ความคุ้นเคยในแบรนด์ปรับลดจาก 33% เป็น 31% ภาพลักษณ์ของแบรนด์ปรับลดจาก 37% เป็น 34%

ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 64% มีความสนใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ ๆ สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ในอัตราที่เท่า ๆ กับมาเลเซีย แต่รองจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลว่า มีเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องการ (52%) อยากลองอะไรใหม่ ๆ (49%) และมองหารถที่ราคาจับต้องได้ (36%)

สำหรับประสบการณ์ในการซื้อรถของคนไทย ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น VR หรือ AR ที่สามารถมอบประสบการณ์ในการเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ และความสะดวกจากธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ แต่คนไทยถึง 92% ยังต้องการที่จะได้สัมผัสตัวรถจริงก่อนการตัดสินใจ โดย 91% ต้องการทดลองขับรถจริงก่อน ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับการได้เจรจาในรายละเอียดต่าง ๆ กับพนักงานขาย คนไทย 74% สะดวกจ่ายเงินด้วยการผ่อนชำระ 21% ต้องการซื้อรถด้วยเงินสด และ 5% ต้องการผ่อนแบบบอลลูน

แต่คนไทยรุ่นใหม่ (ช่วงอายุ 18-34 ปี) 47% สนใจบริการแบบสมัครสมาชิก (Vehicle Subscriptions) มากกว่าการเป็นเจ้าของรถ โดยผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 82% ตอบว่าค่าบำรุงรักษาและราคาอะไหล่ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกรุ่นรถมากถึงมากที่สุด โดย 63% ยินดีจะซื้อแพ็กเกจค่าบำรุงรักษาแบบเหมาจ่าย ได้แก่ น้ำมันเครื่อง อะไหล่สิ้นเปลือง และ ค่าบริการ และ 84% ยินดีที่จะซื้อประกันอุบัติเหตุสำหรับแบตเตอรี่หากใช้รถ BEV

"การเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคทั่วโลก ช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ ๆ ทั้งในระดับโลก และ ระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการยกระดับคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2024 รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากประหยัดน้ำมัน ลดความกังวลเรื่องระยะทาง และลดการปล่อยมลพิษ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สามารถปรับตัวรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า และปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ" มร. ซอง จิน ลี Automotive Sector Leader, ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว

นายมงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "ความเข้าใจในมุมมองของผู้บริโภคทำให้เรามองเห็นทิศทางในการปรับตัวของอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานีชาร์จ สินเชื่อ สื่อสาร หรือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน ผู้ผลิตที่สามารถนำเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าและให้ความมั่นใจในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเกินของลูกค้าในระยะยาวได้ จะได้รับความเชื่อมั่นซึ่งจะกลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว สำหรับผู้บริโภค ก็จะได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันที่ดุเดือด มีทางเลือกที่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งตัวรถเอง ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์"

นายโชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดยานยนต์ในประเทศไทย ผลจากการวิเคราะห์แนวโน้มและเก็บข้อมูลตามบริบทจากรายงานต่าง ๆ ของดีลอยท์ยืนยันให้เห็นแล้ว ว่าคนไทยไม่ได้คิดแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ"

‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ ออกแถลง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทย ย้ำ!! เป็น ‘ค่ายเดียวจากจีน’ ที่ตั้งโรงงานผลิตเต็มรูปแบบที่ระยอง 

(2 มิ.ย.67) จากสภาวการณ์ทั่วโลกและสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ทำให้เกิดข่าวลือด้านลบกับการดำเนินงานของบริษัทค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เราขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของเรายังคงดำเนินไปด้วยความมั่นคงและแข็งแกร่ง ทั้งด้านการขายและบริการหลังการขาย รวมถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าชาวไทย ทั้งลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้าในอนาคตของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถ เราเป็นแบรนด์จากประเทศจีนเพียงรายเดียวในปัจจุบันที่มีโรงงานผลิตแบบเต็มรูปแบบที่จังหวัดระยองและดำเนินการผลิตมาเป็นเวลามากกว่า 3 ปี รวมถึงนำพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น SVOLT, HYCET, NOBO, MIND และ Exquisite สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทยหลายพันคน รวมถึงมีรถยนต์พลังงานใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในวงกว้าง และครอบคลุมในหลากหลายเซ็กเมนต์ ที่เป็นโอกาสทางการขายใหักับพาร์ทเนอร์ สโตร์ของเรา ทั้งไฮบริด ปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า 100% รวมถึงยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการใช้และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระดับภูมิภาคอีกด้วย 

สุดท้ายนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ขอขอบพระคุณสื่อมวลชน พันธมิตรทางธุรกิจ และลูกค้าทุกท่านที่ได้มอบความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ด้วยดีเสมอมา เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตไปพร้อมกับคนไทยและประเทศไทยในระยะยาวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

GWM Thailand

'จีน' เรียกร้อง 'สหภาพยุโรป' ทบทวนแผนรีดภาษีรถ EV นำเข้าจากจีน เตือน!! อย่าหลงเดินทางผิด เพียงเพื่อปกป้องอุตฯ ยานยนต์ของตัวเอง

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 67 รัฐบาลจีนเรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนแผนรีดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีน และ ‘อย่าหลงเดินทางผิด’ เพียงเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเอง หลังจากที่อียูได้ประกาศมาตรการขึ้นภาษีรถอีวีจีนสูงสุดในอัตรา 38.1% โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป

จีนยังขู่จะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ประกาศแผนขึ้นภาษีดังกล่าว

“เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตแล้ว หากจีนและอียูสามารถร่วมมือกันในประเด็นการค้าและเศรษฐกิจได้ก็จะเป็นการดีที่สุด” บทความแสดงความคิดเห็นของสำนักข่าวซินหวา ระบุ

“อียูเองก็จะมีความคุ้มทุน (cost-effective) มากขึ้น หากอาศัยข้อได้เปรียบของจีนเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมรถอีวีของตนเอง”

ไม่ถึง 1 เดือนหลังจากที่สหรัฐฯ ขยับอัตราภาษีรถอีวีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 100% บรัสเซลส์ก็กระโดดร่วมวงต่อสู้นโยบายอุดหนุนของปักกิ่งโดยเตรียมที่จะขึ้นภาษีในอัตราตั้งแต่ 17.4% สำหรับรถยนต์ BYD และสูงสุด 38.1% สำหรับรถยนต์ SAIC นอกเหนือไปจากภาษีนำเข้ามาตรฐาน 10% ที่ใช้อยู่แล้ว และนั่นทำให้อัตราภาษีสูงสุดที่เรียกเก็บพุ่งขึ้นไปเกือบถึง 50% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของอียูแทบไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบรรดาค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว โดยราคาหุ้น BYD ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงขยับพุ่งขึ้นกว่า 7% ในการซื้อขายช่วงเช้า ส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นก็ขยับขึ้น 4.5%

“อัตราภาษีที่อียูประกาศออกจะให้ผลในเชิงบวกกับ BYD ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับที่เราคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะสูงถึง 30% และนั่นทำให้ภาพรวมการส่งออกของ BYD ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น” 

รายงานของ Citi ระบุ ราคาหุ้น Geely Auto ขยับพุ่ง 2.5% และ Xpeng เพิ่มกว่า 2% เช่นเดียวกับหุ้นของ Nio ที่ปรับเพิ่ม 3.5% ขณะที่ราคาหุ้น SAIC Motor ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ปรับตัวลดลง 1%

ในทางกลับกัน ราคาหุ้นค่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของยุโรปซึ่งมีจีนเป็นตลาดใหญ่กลับดิ่งลง (12 มิ.ย.) สืบเนื่องจากความกังวลว่าจีนอาจจะใช้มาตรการแก้แค้น

แม้ว่าค่ายรถยุโรปจะต้องเผชิญความท้าทายจากรถอีวีราคาถูกสัญชาติจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาค ทว่ามาตรการรีดภาษีของ EU กลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์สักเท่าไหร่

บรรดาค่ายรถเยอรมนีนั้นต้องพึ่งยอดขายในจีนมากเป็นพิเศษ และเกรงว่าจะถูกปักกิ่งเล่นงานแก้แค้น ขณะที่ค่ายรถยุโรปหลาย ๆ เจ้าก็นำเข้ารถยนต์ของตัวเองที่ผลิตในจีนเช่นกัน

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เคยออกมาแถลงย้ำหลายครั้งว่ายุโรปจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้จีนส่งรถอีวีที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเข้ามาท่วมตลาดยานยนต์ยุโรป

‘รถยนต์ไฟฟ้าจีน’ คว้าส่วนแบ่งตลาดในยุโรป 11% ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในเดือนมิถุนายน

เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.67) Business Tomorrow รายงานว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนคว้าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปไปถึง 11% ในเดือนมิถุนายน ทำสถิติสูงสุดใหม่ ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์เร่งส่งออกเพื่อหนีภาษีที่เข้มงวดของสหภาพยุโรปซึ่งมีผลบังคับใช้ต้นเดือนนี้

ด้าน บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ คอร์ป (SAIC) เป็นผู้นำในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG4 Hatchback จำนวนมากสู่ตัวแทนจำหน่าย ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย Dataforce ซึ่งรวบรวมตัวเลขดังกล่าว รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม สามารถจำหน่ายให้กับลูกค้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม

ตัวเลขของ Dataforce แสดงให้เห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนมากกว่า 23,000 คัน ได้รับการจดทะเบียนทั่วทั้งภูมิภาคในเดือนดังกล่าว ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยเพิ่มขึ้น +72% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นสองเท่าของการเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมในยุโรปสำหรับเดือนมิถุนายน รถยนต์นำเข้าจากจีนของผู้ผลิตรถยนต์ตะวันตก รวมถึง Volvo Car AB, BMW AG และ Tesla ก็ต้องเสียภาษีใหม่เช่นกัน

ในช่วงเดือนต่อ ๆ ไป จะมีการจับตาอย่างใกล้ชิดว่ายอดขายจะสามารถรักษาไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากภาษีใหม่ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้แล้ว ภาษีชั่วคราวของสหภาพยุโรปทำให้เอสเอไอซี ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 38% ในขณะที่ บีวายดี ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 17% จากอัตราภาษีศุลกากรเดิม 10%

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองทวีปกำลังเร่งเพิ่มการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในยุโรปเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีใหม่ ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งและบรัสเซลส์มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นสงครามการค้า

‘NETA’ หั่นราคา NETA V รุ่นแรก เหลือ!! 399,000 บาท พร้อมฟรีประกันภัยชั้น 1 - Wallbox พิกัดศูนย์ย่านนนทบุรี

(31 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า’ สะเทือนอีก เมื่อโลกออนไลน์เปิดเผยว่า ค่ายรถยนต์ EV ดังอย่างเนต้า (NETA) เตรียมลดราคาจำหน่าย เนต้า วี (NETA V) และ เนต้า วี-ทู (NETA V-II) จากเดิมลงไป 110,000-120,000 บาท

โดย NETA V รุ่น LITE จะลดราคาลงจากเดิม 120,000 บาท ทำให้ราคาขาย 549,000 บาท ลดราคาลงมาเหลือ 429,000 บาท ส่วน NETA V-II SMART จะลดราคาลง 110,000 บาท จากเดิม 569,000 บาท ทำให้ราคาลงไปอยู่ที่ 459,000 บาท

นอกจากนี้ NETA ลดราคา NETA V รุ่นแรก เหลือเพียง 399,000 บาทเท่านั้น โดยภาพดังกล่าว เป็นศูนย์ที่อยู่ย่านนนทบุรี ถือเป็นล็อตสุดท้ายราคาใหม่ ฟรีประกันภัยชั้น 1 และฟรี Wallbox อีกด้วย

‘สศอ.’ ชี้ รัฐบาลเปิดกว้างรับผู้ผลิตรถยนต์ EV ทุกสัญชาติ พร้อมออกมาตรการสนับสนุนรอบด้านอย่างต่อเนื่อง

(7 ส.ค.67) นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกรณีที่มีประเด็นรัฐบาลไทยทำอุตสาหกรรมผลิตรถในประเทศที่เคยเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ กลายเป็นตำนานหลังให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าอีวี ส่งผลให้รถไฟฟ้าจีนยอดพุ่งทำยอดขายรถสันดาปค่ายญี่ปุ่นที่ผลิตภายในประเทศลดลงทันที รวมถึงมีการย้ายฐานกลับกระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไทยต้องปิดตัวหรือปลดคนงาน และทำให้มาเลเซียขึ้นแชมป์กลายเป็นเบอร์ 2 แทนที่ไทยนั้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) โดยบางประเทศมีมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในปี 2578 หรือบางประเทศมีมาตรการภาษีควบคุมการนำเข้า เพื่อให้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข่งขันได้ และสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก ดังนั้นรัฐบาลไทยตึงเปิดกว้างโดยส่งเสริมการลงทุนและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ตั้งแต่รถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ล้วน (BEV)

ตลอด 25 ปี รัฐบาลไทยมีนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในประเทศ โดยเปิดกว้างสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ทุกสัญชาติ และมีมาตรการสนับสนุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น สิทธิประโยชน์ภาษีและมิใช่ภาษี รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนามาตรฐาน ศูนย์ทดสอบและวิจัยยานยนต์ และการพัฒนาแรงงานฝีมือ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศ รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมการใช้ เช่น มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ EV3 และ EV3.5 โดยที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์สัญชาติ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และไทย เข้าร่วมกว่า 14 ราย ซึ่งได้ให้การอุดหนุนเงินสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ รวม 6,700 ล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับ BEV รวม 18 โครงการ เป็นเงิน 39,000 ล้านบาท กำลังการผลิตตามแผนรวม 400,000 คันต่อปี ขณะเดียวกัน ยังมีในส่วนของการเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การเพิ่มเติมกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญในเขต Freezone เพื่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ

สำหรับสาเหตุของการปิดตัวโรงงานผลิตรถยนต์ ICE และการลดกำลังการผลิต ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 GDP โตน้อยกว่าร้อยละ 2 โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2566 สืบเนื่องจากผลกระทบของปัญหาหนี้เสียในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวด โดยเฉพาะรถกระบะ ICE (ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีการผลิตหรือใช้รถกระบะ BEV) เพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้จากสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง

ทั้งนี้ สภาพตลาดในประเทศที่ชะลอตัวจากเหตุผลข้างต้น ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องลดกำลังการผลิต และผู้ผลิตรถยนต์ 2 ราย มีแผนที่จะปิดโรงงาน คือ โรงงานซูบารุ ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 หลังจากยุติการผลิตในประเทศมาเลเซียในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกไปไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ โดยในปี 2566 มีจำนวนพนักงาน 400 คน มีการผลิต/จำหน่ายรถยนต์ รวม 1,600 คัน และนำเข้าชิ้นส่วนจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โรงงานซูซูกิ จำนวนพนักงาน 800 คน ประกาศเตรียมยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยภายในช่วงสิ้นปี 2568 เนื่องจากการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลก ถึงแม้จะยุติการผลิตในประเทศ แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ส่งให้กับบริษัท ซูซูกิฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีการผลิตส่งให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นด้วย โดยในปี 2566 มีการผลิตประมาณ 11,000 คัน

นอกจากนี้ แรงงานที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการเตรียมแผนรองรับ เช่น การพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมเตรียมความพร้อมแรงงานทักษะฝีมือ สำหรับความต้องการของผู้ผลิตรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงาน และมีแผนการผลิตในปี 2567-2568 ซึ่งมีความต้องการแรงงานกว่า 5,000 คนต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2567 สศอ. ร่วมกับสถาบันยานยนต์ พัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมแรงงานฝีมือจาก 2 โรงงาน และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งการพัฒนา Platform เชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้ใช้ เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ (REM) สำหรับ ICE และยานยนต์สมัยใหม่

“นอกจากการสนับสนุน BEV รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เช่น HEV และ PHEV ตั้งแต่ปี 2560 อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ผลิตยานยนต์ ICE ซึ่งเป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการส่งเสริมการผลิตรถยนต์กึ่งไฟฟ้า หรือ รถยนต์ไฮบริด (HEV) ภายใต้มาตรการส่งเสริม การลงทุน มาตรการภาษีสรรพสามิต และมาตรการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตรถยนต์ HEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 มีการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดการผลิตเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 รวม 85,916 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดหลักเกณฑ์ผู้รับสิทธิ โดยให้ความสำคัญกับการปล่อย CO2 การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และการพัฒนาระบบช่วยเหลือการขับขี่ (ADAS) ซึ่งมีผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมมาตรการแล้ว ประมาณ 4-5 ราย และมีตัวเลขการลงทุนรวมใน 4-5 ปีข้างหน้า ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท” นางวรวรรณกล่าว

‘นายกฯ มาเลเซีย’ เผย Tesla พับแผนตั้งโรงงาน 'ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย' เหตุ!! เพลี่ยงพล้ำ การแข่งขันอันดุเดือด ไม่สามารถแข่งขันสู้ รถอีวีจากจีนได้

(10 ส.ค.67) เว็บไซต์ ‘เดอะสเตรทไทม์ส’ ในสิงคโปร์รายงานอ้างการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียว่า ‘เทสลา อิงค์’ (Tesla) ได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกแผนการสร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว เนื่องจากปัญหาการเพลี่ยงพล้ำของบริษัทและการแข่งขันที่ดุเดือดจากประเทศจีน

อันวาร์กล่าวว่า ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเทสลามาโดยตรง

ซาฟรุลได้รับข้อมูลล่าสุดนี้มา ซึ่งเป็นเพราะเทสลากำลังเพลี่ยงพล้ำและไม่สามารถแข่งขันกับรถอีวีจากจีนได้

นี่คือรายงานโดยตรงที่เราได้รับ ไม่ใช่มาจากการรายงานข่าวของสื่อ อันวาร์กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ขณะตอบคำถามเกี่ยวกับกระแสข่าวว่าเทสลาได้พับแผนตั้งโรงงานใน 3 ประเทศอาเซียน เพื่อหันไปโฟกัสเรื่องการทำสถานีชาร์จ  

อย่างไรก็ตาม อันวาร์กล่าวว่าแผนที่จะลงทุนในมาเลเซียนั้นยังเป็นแค่ไอเดียในช่วงแรกเริ่มเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันเทสลามีเพียงการตั้งสำนักงานขายและโชว์รูมในประเทศไทยและมาเลเซีย  

ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีของไทยได้เปิดเผยว่า เทสลากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลไทยเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีขึ้นในประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้เพิ่มข้อเสนอให้เทสลาเกี่ยวกับการใช้พลังงานสีเขียว 100% ในโรงงาน

ทางด้านซาฟรุล อาซิส กล่าวว่าทางกระทรวงไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่าเทสลาจะมาเปิดโรงงานในประเทศมาเลเซีย และเทสลาเองก็ไม่เคยประกาศแผนว่าจะตั้งโรงงานที่นี่เช่นกัน 

ส่วนรายงานล่าสุดที่เทสลาพับไอเดียการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอาเซียนนั้น ซาฟรุลกล่าวว่า ไม่ได้มาจากแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของเทสลา แต่มาจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top