Friday, 4 April 2025
รถยนต์ไฟฟ้า

ประเมินสถานการณ์ 'EV' ปีหน้าจะเริ่มถูกกว่ารถสันดาปในหลายรุ่น หลังราคาแบตฯ รถยนต์ไฟฟ้ากำลังลดลงอย่างรวดเร็วถึง 90%

(18 ส.ค.67) Business Tomorrow เปิดเผยว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังเริ่มใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ จากปัจจัยดังนี้...

1) ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ทยอยปรับตัวลดลงถึง -90% ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2023 (รายงานจาก Department of Energy สหรัฐฯ)

2) ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ EV อยู่ที่ประมาณ 130 ยูโรต่อ kWh ลดลงจาก 1,319 ยูโรต่อ kWh ในปี 2008

3) การลดลงของราคาแบตเตอรี่ EV เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

4) ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นอาจเท่ากับรถยนต์สันดาปได้เร็วที่สุดในปี 2025

5) ค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำลงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น

6) Gartner ที่ปรึกษาระดับโลกคาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกว่ารถยนต์ 

7) การศึกษาของ JD Power พบว่าต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลา 5 ปีนั้น ต่ำกว่าการเป็นเจ้าของรถยนต์ ICE ใน 48 จาก 50 รัฐของสหรัฐฯ

8) แม้ว่าต้นทุนแบตเตอรี่จะลดลง แต่การเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้ายังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

#อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ รถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังจะมีราคาถูกกว่ารถยนต์สันดาปมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จากต้นทุนแบตเตอรี่ที่ทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งจะกลายเป็นอนาคตที่น่าติดตาม 

'วินฟาสต์' ถอยทัพ!! รอจังหวะดีๆ ค่อยกลับมา ไม่ฝืนเดินหน้าเพราะมีแต่เจ็บตัว เหตุ!! ตลาดไทยไม่ง่าย ภายใต้สงครามราคาดุที่เกิดขึ้นจากแบรนด์จีน

(21 ส.ค. 67) วินฟาสต์ (VinFast) แบรนด์รถไฟฟ้า 100% สัญชาติเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เป็นบริษัทในเครือของ Vingroup (VIC) ยักษ์ใหญ่ในเวียดนามที่ถือธุรกิจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และโรงแรม ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท (ปี 2566)

วินฟาสต์เริ่มขยายธุรกิจสู่ตลาดใหญ่ของโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และในปีนี้วินฟาสต์เล็งขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง และไทย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่วินฟาสต์จะเข้ามาทำตลาด ทั้งนี้เนื่องจากตลาดรถไฟฟ้าในบ้านเรากำลังเติบโตด้วยนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล

ในไทยวินฟาสต์ เข้ามาตั้งบริษัทลูกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คือ บริษัทวินฟาสต์ ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 108,360,000 บาท และในงานมอเตอร์โชว์ ปี 2024 นำรถเข้ามาอวดโฉมหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น VF e34 , VF5 ,VF6 , VF7, VF8, VF9 รวมถึงรถกระบะไฟฟ้า VF Wild ตัวใหม่ล่าสุดด้วย

แต่ยังไม่ทันได้ตั้งไข่มีกระแสข่าวออกมาว่า วินฟาสต์ ชะลอแผนการทำธุรกิจในไทย พร้อมเลื่อนเปิดตัวรถรุ่นแรก VF5 ออกไปแบบไม่มีกำหนด รวมถึงผู้บริหารคนแรก วู ดัง เยน ฮัง (Vu Dang Yen Hang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ วินฟาสต์ ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกสั่งให้กลับไปดูงาน วินกรุ๊ป ที่เวียดนามอีกต่างหาก และตอนนี้ยังไม่มีผู้รักษาการแทน ขณะเดียวพนักงานคนไทยฝ่ายการตลาดจะถูกให้ออกภายในสิ้นเดือนนี้ (สิงหาคม)  ด้วยเหตุผลว่าปีนี้ไม่มีการจำหน่ายรถในประเทศไทย

ซึ่งตอนนั้นเธอให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การเปิดตัวแบรนด์ของเราในประเทศไทยเป็นก้าวสำคัญภายใต้กลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ทั่วโลกของวินฟาสต์ ซึ่งจะเสริมสร้างฐานธุรกิจในประเทศศูนย์กลางยานยนต์ที่คึกคักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าครบทุกรุ่นของเราสะท้อนถึงบทบาทผู้นำของวินฟาสต์ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปฏิวัติการขนส่งสีเขียวของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่อนาคต ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน"

ประเทศไทยคือตลาดรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลในหลายด้าน จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2567 นี้ วินฟาสต์มุ่งมั่นที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วในตลาดประเทศไทย และเสริมสร้างความเป็นผู้นำในการบุกเบิกการพัฒนาการขับเคลื่อนสีเขียวและยั่งยืนทั่วโลก

บวกกับได้มีการพูดคุยกับดีลเลอร์ในช่วงแรกถึง 15 รายที่สนใจจะทำธุรกิจกับวินฟาสต์ อีกทั้งยังมีแผนเปิดโชว์รูมประมาณ 30 แห่งภายในปี 2567 แต่ปัจจุบันแผนคงถูกพับเก็บไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนดีลเลอร์ไม่รู้ชะตากรรม ว่าเหลือเท่าไร ถอดใจตามหรือเปล่า หรือจะเบี่ยงเบนไปขายแบรนด์อื่นหรือยัง

สาเหตุของการพับการทำธุรกิจในไทย น่าจะเกิดจากภายใต้ภาวะสงครามราคาที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ในตลาดไทยค่อนข้างรุนแรงด้วยแบรนด์จีน ขนาดรถค่ายญี่ปุ่นที่อยู่มานานยังซวนเซกันทั้งขบวน วินฟาสต์ในฐานะแบรนน้องใหม่จึงต้องทบทวนธุรกิจอีกรอบ เพราะการทำตลาดรถในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นอกจากจะมีตัวเล่นเยอะทั้งค่ายญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา และจีน คุณภาพสินค้า เครือข่ายการจำหน่าย การบริการหลังการขาย กลยุทธ์ในการทำตลาด และที่สำคัญชื่อเสียงของแบรนด์ การสร้างแบรนด์ ความน่าเชื่อถือต่อลูกค้าคนไทย ทุกอย่างต้องใช้เวลา ไม่สามารถใช้การตัดราคา รถราคาถูก และจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้

โจทย์ดังกล่าวข้างต้นสร้างความหนักใจให้กับวินฟาสต์ไม่มากก็น้อย ดังนั้นการถอยทัพกลับไปตั้งหลัก คิดทบทวนอีกครั้งก็ยังไม่สาย ที่สำคัญคิดว่าช่วงนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะรุกเข้ามาตลาดไทย เหตุการแข่งขันกำลังเดือด ถ้าโดดเข้าร่วมวงตอนนี้มีแต่เจ็บตัว การพักรบไปก่อน รอจังหวะดี ๆ ค่อยกลับมารุกธุรกิจก็ยังไม่สาย จะได้อยู่ยาว ๆ เป็นตัวเลือกให้กับคนไทย

GAC Aion Hyper เปลี่ยนชื่อเป็น HYPTEC โชว์หรูด้วยประตูปีกนก จัดเต็มทุกเทคโนโลยี

‘HYPER’ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น HYPTEC และไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนชื่อแบรนด์เท่านั้น แต่เป็นการปรับปรุงภาพลักษณ์และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น สะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีล้ำสมัยและการขยายตัวในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ

>>ความหมายและแรงบันดาลใจของ HYPTEC

การเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก HYPER เป็น HYPTEC เกิดจากการศึกษาวิจัยตลาดและความต้องการของลูกค้าทั่วโลกอย่างละเอียดลึกซึ้ง ชื่อ ‘HYPTEC’ ถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยชื่อแบรนด์มีที่มาจาก ‘Hyper’ สื่อถึงความสุดยอดและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ ‘Technology’ สื่อถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่หรูหรา แต่ยังล้ำหน้าด้วยคุณสมบัติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่โดดเด่น

HYPTEC ตั้งเป้าที่จะเป็นสัญลักษณ์ของ ‘Hyper Technology Life’ เพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่และเทคโนโลยีที่เหนือระดับให้กับผู้บริโภคทั่วโลก โดยมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความสะดวกสบาย ทั้งในแง่ของการใช้งานและความรู้สึกที่ได้รับจากการขับขี่

>>‘สีส้ม HYPTEC’ สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่

เพื่อเป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ HYPTEC ยังได้เปิดตัวสีแบรนด์ใหม่คือ ‘สีส้ม HYPTEC’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานและความสดใส สีนี้ถูกเลือกมาเพื่อสะท้อนถึงการเริ่มต้นใหม่และการมองไปข้างหน้า นอกจากนี้ สีส้ม HYPTEC ยังหมายถึง ‘สิ่งดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น’ ซึ่งเป็นการสื่อถึงพลังบวกและความมั่นคงในอนาคต

สีส้ม HYPTEC ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้บริโภคและตลาดโดยรวม โดยสีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในระดับสากล และเป็นสัญลักษณ์ของการเดินหน้าสู่ความสำเร็จในอนาคต
ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนา

หนึ่งในจุดแข็งของ HYPTEC คือความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ในระยะเวลาเพียงสองปี HYPTEC ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการในวงการยานยนต์ไฟฟ้า โดย HYPTEC ได้คิดค้น วิจัย และพัฒนา มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี ‘นาโนคริสตัล-อโมฟอร์ม’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มระยะทางการเดินทางได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ รวมถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Magazine Battery 2.0 ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล HYPTEC OS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขับขี่ในทุกสถานการณ์ 

HYPTEC ยังมีการปรับปรุงในด้านการสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่หรูหราและทันสมัย รถยนต์ไฟฟ้าของ HYPTEC ไม่เพียงแค่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาด แต่ยังถูกออกแบบให้มีความหรูหราสูงสุด ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เพียงต้องการรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังต้องการรถยนต์ที่สามารถสะท้อนถึงสถานะและรสนิยมของตนเอง

การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ HYPTEC สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอระยะทางการขับขี่ที่ยาวนาน การชาร์จที่รวดเร็ว หรือการสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่ล้ำสมัย HYPTEC ได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์ที่สามารถสร้างความประทับใจและความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค

>>เปิดตัวสู่ตลาดโลก

HYPTEC ไม่ได้มองเพียงแค่การสร้างชื่อเสียงในตลาดภายในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะขยายไปยังตลาดโลกอย่างจริงจังและยั่งยืน บริษัทได้วางแผนในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเปิดตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย และ อินโดนีเซีย) และจะขยายตลาดไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และยุโรป โดยมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ HYPTEC จะเข้าร่วมงาน Paris Motor Show ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่ HYPTEC จะได้นำเสนอแบรนด์สู่ตลาดภูมิภาคยุโรป เพื่อแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของ HYPTEC ในการสร้างชื่อเสียงและขยายตลาดในระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ

>>จาก HYPER สู่ HYPTEC ก้าวสู่อนาคตแห่งเทคโนโลยี

การเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก HYPER เป็น HYPTEC ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายตัวในตลาดโลก HYPTEC จะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่เหนือระดับในทุก ๆ การขับขี่ ด้วยความตั้งใจที่จะนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูงสุดให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก HYPTEC มุ่งหวังที่จะสร้างความประทับใจและความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

สำหรับลูกค้าที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้า AION รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่มาพร้อมกับฟีเจอร์และเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก สามารถเข้าไปทดลองขับได้ที่ศูนย์บริการ AION ทั่วประเทศ และสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Website : https://www.aionauto.com/
Facebook : https://www.facebook.com/AIONthailand
Instagram : https://www.instagram.com/aion_thailand/
X (Twitter) : https://x.com/AION_TH
Tiktok : https://www.tiktok.com/@aion_thailand
เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เลือกแพลตฟอร์ม EV AION

‘ไอออน’ ชูยุทธศาสตร์ดันไทยฮับฐานผลิตอีวี ‘อาเซียน’ เดินหน้าเร่งผลิตรุ่นใหม่ ขยายโชว์รูม - สถานีชาร์จ

(8 ต.ค.67) ‘ไอออน’ ยักษ์ใหญ่อีวีจีน ประกาศยุทธศาสตร์ขยายตลาดไทย ชูเป็นฮับหลักผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาค เดินหน้าเร่งเครื่องการผลิต เล็งเปิดตัว 2-3 รุ่นใหม่ วางโรดแมปขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้ครบ 200 แห่ง เพิ่มซูเปอร์ชาร์จให้ครบ 1,000 จุด ใน 2570 มุ่งสร้างบุคลากรอีวีไทยแข็งแกร่ง

นายโอเชี่ยน หม่า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (AION) กล่าวในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025:The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจว่า ตลาดอาเซียนมีพลวัตและมีแนวโน้มที่ดีสุดในโลก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก 

สำหรับไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 มีอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว รวมถึงมีภาครัฐบาลได้ร่วมสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่และมาตรการทางภาษีในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม พร้อมมีแผน 30@30 ในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

ทั้งนี้บริษัทได้วางยุทธศาสตร์ลงทุนและขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะยาวในประเทศไทย ที่มีความสอดคล้องกับแผนของภาครัฐ ทำให้บริษัทได้มีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศ เพื่อร่วมยกระดับภาคอุตสาหกรรมพลังงานใหม่กับยานยนต์ไฟฟ้าและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัว

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2567 ในโรงงานที่ระยอง อยู่ในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นฐานการผลิตในระดับโลก และถือว่าไทยเป็นฐานผลิตหลักในภูมิภาคอาเซียน รองรับการทำตลาดในประเทศไทย ส่งออกไปในภูมิภาคและขยายตลาดประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ขณะเดียวกันโรงงานในไทย ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับเดียวกับประเทศจีน ที่เป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะ และมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยสัดส่วน 45% พร้อมมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวรถยนต์ เข้ามาทำตลาดประเทศไทยแล้ว โดยมีรุ่นเรือธง ได้แก่ AION Y PLUS, AION ES และ Hyper HT ที่เป็นรุ่นพรีเมียม ซึ่งรถยนต์ที่ได้เปิดตัวในรุ่นต่างๆ ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย พร้อมกันนี้มีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในไทย จำนวน 2-3 รุ่น เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่องในทุกปี

เร่งแผนขยายโชว์รูม 100 แห่งในปี 2568
ขณะเดียวกันหลังเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่าหนึ่งปีแล้ว มีแผนขยายช่องทางจำหน่าย ผ่านการมีตัวแทนจำหน่าย โดยปัจจุบันมีโชว์รูมและบริการหลังการขายประมาณ 50 แห่ง และในปี 2567 พร้อมขยายเป็น 70 แห่ง ส่วนในปี 2568 มุ่งขยายให้ครบ 100 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าคนไทยได้รับประสบการณ์ที่ดี และได้รับความสะดวก เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับสถานีชาร์จความเร็วสูง โดยบริษัทเป็นแบรนด์เดียวได้ที่พัฒนาในด้านนี้ โดยได้มีการลงทุนสร้างไปแล้ว 8 แห่ง พร้อมวางแผนไว้ในปี 2567 จะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ครบจำนวน 25 แห่ง รวมถึงประเมินระยะยาว ภายในปี 2570 จะขยายเพิ่มสถานีชาร์จให้ได้ 200 แห่ง และมีหัวชาร์จรวม 1,000 จุด ครอบคลุมรวม 100 เมือง ทั่วประเทศ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น

“แผนในระยะต่อไป บริษัทมีความสนใจขยายการลงทุนใหม่ในไทยเพิ่มขึ้น รองรับการขยายรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

มุ่งสร้างศูนย์พัฒนาวิจัย-บุคลากรอีวีในไทย 
พร้อมกันนี้ ยังมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยส่งมอบรถยนต์ฝึกอบรมให้สถาบันการศึกษา 2 แห่ง ในไทย พร้อมฝึกอบรมพนักงานในพื้นที่จำนวนมาก เพื่อร่วมส่งเสริมการจ้างงาน ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม

อีกทั้งบริษัทได้ให้ความสำคัญในการลงทุนวิจัยและพัฒนาในไทยและในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ล้ำหน้า พร้อมร่วมสร้าง สังคมคาร์บอนต่ำในภูมิภาคอาเซียน และทำให้ในภูมิภาคอาเซียนมีโซลูชันพลังงานสีเขียวที่มีความยั่งยืน ทั้งหมดสอดรับกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำในระดับโลกในด้านนี้

“ตลอดการลงทุนสร้างโรงงานในไทย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พันธมิตร และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าการลงทุนและการพัฒนาในประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด พร้อมร่วมทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของประเทศไทยต่อไป และมีส่วนสนับสนุนต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์รถยนต์อีวี "ไอออน (AION) ก่อตั้งขึ้นปี 2560 ในจีน โดยภาพรวมตลาดโลกครองตำแหน่งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของจีนและอันดับที่ 3 ของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลก 

พร้อมกันนี้สร้างสถิติการผลิตและขายรถยนต์ 1 ล้านคันเร็วที่สุดในโลก ด้วยใช้เวลา 4 ปี 8 เดือน รวมถึงบริษัทติดอันดับ Fortune Global 500 ส่วนในไทยพบว่ากลุ่มจีเอซี กรุ๊ป (GAC Group) บริษัทแม่จากจีน ประกาศแผนลงทุนผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามูลค่า 6,400 ล้านบาทในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมมีแผนตั้งสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการ

AION จัดทริป Y So Amazing พาลูกค้า AION Y Plus เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยว นครราชสีมา - ปราจีนบุรี - นครนายก

AION เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ 'Y So Amazing Trip' ให้กับลูกค้า AION Y Plus ได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมแบบปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ สัมผัสอากาศดี ๆ ในเส้นทาง นครราชสีมา - ปราจีนบุรี - นครนายก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และสร้างชุมชน ในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 และมีแผนที่จะจัดกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความประทับใจและความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว AION Y Plus

ทริปนี้เริ่มต้นขึ้นในเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม 2567 โดยขบวนคาราวาน AION Y Plus ได้ออกเดินทางจากโชว์รูม AION โกลด์ อินทิเกรท มีนบุรี ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของผู้ร่วมเดินทางที่มารวมตัวกันตั้งแต่เช้า หลังจากลงทะเบียนและรับของที่ระลึก ผู้เข้าร่วมทริปได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางและรายละเอียดของกิจกรรมก่อนจะเริ่มออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางแรก คือ จังหวัดนครราชสีมา

จุดหมายแรกของทริปอยู่ที่ ร้านอาหารบ้านไร่ปลายเนิน เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางธรรมชาติและภูเขา ผู้เข้าร่วมทริปต่างเพลิดเพลินกับอาหารรสเลิศ พร้อมชมทิวทัศน์สวยงามของพื้นที่โดยรอบ

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ขบวนคาราวานได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ (Underground Powerhouse) ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจในฐานะโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า รวมถึงได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบข้างที่งดงาม สะท้อนถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ AION ในการสนับสนุนพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน

หลังจากจบทริปที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ขบวนคาราวานได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมเดอะเภรี เขาใหญ่ เพื่อเข้าพักผ่อนตามอัธยาศัย พร้อมกิจกรรมทำผ้าบาติก ในช่วงเย็นได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำในบรรยากาศที่อบอุ่น โดยสมาชิกผู้เข้าร่วมทริปต่างนั่งพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

วันที่สองของการเดินทาง ขบวนคาราวาน AION Y Plus มุ่งหน้าสู่ GranMonte หนึ่งในไร่องุ่นชื่อดังของเขาใหญ่ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบไวน์ ผู้เข้าร่วมทริปได้สัมผัสและเรียนรู้กระบวนการทำไวน์ตั้งแต่การปลูกองุ่นไปจนถึงการผลิตไวน์ รวมถึงสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติของไร่องุ่นอีกด้วย

หลังจากเยี่ยมชมไร่องุ่นกันอย่างจุใจแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เป็นแหล่งรวมสัตว์ป่าและพืชพรรณหลากหลายสายพันธุ์ ผู้เข้าร่วมทริปได้มีโอกาสเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมทั้งฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบบเต็มที่ สร้างความประทับใจให้กับทุกคน ที่ได้สัมผัสความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ขบวนคาราวานได้มุ่งหน้าต่อไปยังบ้านเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรและอาหารเป็นยา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังได้แวะชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย

ในวันสุดท้ายของทริป ขบวนคาราวาน AION Y Plus ได้เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ เขาอีโต้ จังหวัดนครนายก เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้เข้าร่วมทริปได้เพลิดเพลินกับการชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของจุดชมวิวผาหินซ้อน และจุดชมวิวเขาอีโต้ ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่กว้างไกลของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจะปิดท้ายการเดินทางด้วยการรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารวินเทจ การ์เด้น ผู้เข้าร่วมทริปร่วมกันถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกและเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

ทริป 'Y So Amazing Trip' ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus ผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าประทับใจ ไม่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ร่วมทริป แต่ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของ AION ในฐานะแบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้าและสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีคุณค่า นอกจากนี้ ทริปดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ AION Y Plus และสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนถึงแนวทางของบริษัทที่เน้นความเป็นมิตรและใส่ใจลูกค้า การจัดทริป 'Y So Amazing Trip' ในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการท่องเที่ยวธรรมดา แต่เป็นการมอบประสบการณ์ที่เหนือชั้นและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

ALL NEW MG3 HYBRID+ กวาดยอดขายกว่า 3 หมื่นคัน ย้ำ!! ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดดเด่นด้วย ‘นวัตกรรมไฮบริด’

(2 พ.ย. 67) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ย้ำภาพความสำเร็จของโกลบอลโมเดลรุ่นยอดนิยม ALL NEW MG3 HYBRID+ สร้างยอดขายทั่วโลกสองไตรมาสรวมกว่า 32,000 คัน พร้อมการันตี ความเชื่อมั่นด้วยรางวัลชั้นนำ อาทิ Affordable Car of the year 2024 จาก Auto Express UK และ รางวัล Best Value Car จาก The Business Car Awards ในสหราชอาณาจักร หลังปรากฏตัวครั้งแรกในงาน GENEVA INTERNATIONAL MOTOR SHOW 2024 และในประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ALL NEW MG3 HYBRID+ หนึ่งในโกลบอลโมเดลที่เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแบรนด์ เอ็มจี ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดดเด่นด้วยนวัตกรรม และแนวทางการพัฒนายนตรกรรมพื้นฐานที่เริ่มต้นจากรถยนต์ไฮบริด และเป็นรถยนต์ไฮบริดรุ่นล่าสุดของ เอ็มจี ที่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก้าวหน้าภายใต้การพัฒนาของ SAIC MOTOR และนับเป็นโมเดลแรกที่ผสานระบบ HYBRID+ ที่สะท้อนความตั้งใจในการมอบความสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านสมรรถนะและประสิทธิภาพการขับขี่ที่เหนือกว่า และยังเป็นเครื่องยืนยันให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นว่า ไฮบริดที่ดีกว่าต้อง HYBRID+ ของเอ็มจีเท่านั้น

ALL NEW MG3 HYBRID+ โดดเด่นด้านการผสานพลังงานระหว่างเครื่องยนต์และระบบไฟฟ้าอย่างลงตัว ทำให้สมรรถนะใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังคงความรู้สึกขับสนุกด้วยโกลบอลจูนนิ่งจากวิศวกรระดับโลกมาพร้อมเทคโนโลยีไฮบริดที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของการขับขี่ได้ถึง 8 รูปแบบ โดยมีอัตราสิ้นเปลืองที่ทำได้สูงสุดถึง 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร ทำระยะทางได้ไกลสูงสุดมากกว่า 800 กิโลเมตร มาพร้อมกับความแรง ด้วยอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 8 วินาที และอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 5 วินาที มาพร้อมดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ ในระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่าย รุ่นเริ่มต้นหรือรุ่น D อยู่ที่ 579,900 บาท และรุ่น X ในราคา 619,900 บาท

จุดเด่นหลักๆ ของรถยนต์ ALL NEW MG3 HYBRID+

• ALL NEW MG3 HYBRID+ เป็นโมเดลที่ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี และได้ประกาศราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยถือเป็นรถแฮทช์แบคไฮบริดรุ่นล่าสุดของ เอ็มจี และเป็นโกลบอลโมเดลรุ่นที่สองที่ผลิตจากโรงงาน เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี ณ จังหวัด ชลบุรี

• ALL NEW MG3 HYBRID+ ได้ทำการพัฒนาและปรับจูนทุกระบบโดยทีมวิศวกรระดับโลกเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งานจริงบนถนนทั่วโลก โดยผ่านการทดสอบในทุกสภาพเส้นทาง สภาพอากาศ รวมถึงวิ่งทดสอบในสถานการณ์ที่หลากหลาย พร้อมการออกแบบห้องโดยสารภายในให้มีความเงียบกว่ารถทุกรุ่นในระดับเดียวกัน

• ALL NEW MG3 HYBRID+ ให้มากกว่าในกลุ่มรถขนาดเล็ก B-Segment ด้วยการยกระดับระบบการทำงานของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้าให้มีการทำงานที่อิสระ ครอบคลุมโหมดการขับเคลื่อนที่หลากหลาย นำเสนอประสบการณ์การขับขี่ที่ครบครัน ทั้ง ประหยัดกว่า – ด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่ทำได้สูงสุดถึง 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร*กับน้ำมันหนึ่งถัง 36 ลิตร สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดมากกว่า 800 กิโลเมตร* แรงกว่า - แรงสุดในกลุ่มสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 8 วินาที และอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 5 วินาที มอบความคล่องตัวให้ความรู้สึกเหมือนขับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จ กว้างกว่า - กว้างที่สุดในคลาสเดียวกัน โดยเฉพาะห้องสัมภาระท้ายจุได้มากถึง 293 ลิตร และเมื่อพับเบาะสามารถจุได้มากถึง 1,037 ลิตร ปลอดภัยกว่า - ด้วยระบบความปลอดภัยมาตรฐาน ADVANCED SYNCHRONIZED PROTECTION SYSTEM ซึ่งรวมระบบADVANCED DRIVER ASSISTANCE SYSTEM (ADAS) หรือระบบอำนวยความสะดวกช่วยควบคุมการขับขี่ และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจำนวน 8 ระบบ พร้อมระบบเบรกอัจฉริยะ (Intelligent Brake System) เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหารถยนต์ในกลุ่ม City Car ที่มาพร้อมฟังก์ชันระบบความปลอดภัยที่ครบครัน และเทคโนโลยีที่โดดเด่นด้วยความประหยัด

• ALL NEW MG3 HYBRID+ การันตีความเชื่อมั่นด้วยรางวัลชั้นนำ อาทิ รถยนต์ที่มอบความคุ้มค่าที่สุด “Affordable Car of the year 2024” จาก Auto Express UK และ “รางวัล Best Value Car” จาก The Business Car Awards ในสหราชอาณาจักร พร้อมยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกันยายน รวมกว่า 32,000 คัน ทั้งยังเป็นรถยนต์ที่ผ่านคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการเข้ารับคัดเลือกรอบแรก และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 รุ่น ให้เข้าสู่รอบสุดท้ายของการตัดสิน รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2567 (THAILAND CAR OF THE YEAR 2024) โดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย - สรยท. (THAI AUTOMOTIVE JOURNALISTS ASSOCIATION – TAJA)

• ALL NEW MG3 HYBRID+ อีกหนึ่งรุ่นที่ตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ เอ็มจี ครบหนึ่งศตวรรษ ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ และเป็นโมเดลที่สะท้อนภาพแนวทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในการนำเสนอยนตรกรรมไฮบริดประสิทธิภาพสูงที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปภายใน โดยถือเป็นยนตรกรรมไฮบริดที่รวมทุกข้อดีของไฮบริดที่มี สู่ความลงตัวที่สุดในรุ่นนี้

บีโอไอ เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย เข้าสู่ซัพพลายเชนอีวี ผนึกกำลัง GAC AION จัดงาน 'AION Sourcing Day'

(7 พ.ย.67) บีโอไอจับมือ GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีน เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชน EV ผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน 'AION Sourcing Day' ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในอาเซียน เผยยอดเจรจาธุรกิจ 74 บริษัท คาดเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,250 ล้านบาท  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 บีโอไอ และบริษัท GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้ร่วมกันจัดงาน 'AION Sourcing Day' ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศสำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งได้เริ่มเปิดโรงงานผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเน้น 7 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior Parts, Exterior Parts, Electrical and Electronics Parts, Chassis Parts, Car Body Parts, Traction Motor Parts และ Battery Parts โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จาก 220 บริษัท และในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,250 ล้านบาท  

บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ GAC Group ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ด้วยยอดขายสะสมกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก และเป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 165 ของโลกจาก Fortune Global 500 โดย GAC AION ได้ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท โดยเฟสแรกได้ลงทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี โดยมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันยังใช้สำนักงานในไทยเป็น Regional Headquarters ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

“การจัดงานครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความร่วมมือระหว่างบีโอไอกับ GAC AION ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสเข้าสู่ Supply Chain ของ EV ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดย GAC AION ก็จะได้พบกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์ระดับโลกมาแล้ว อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานของ GAC AION จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ” นายนฤตม์ กล่าว

นายโอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GAC AION ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต จำหน่าย และการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำระบบการผลิตที่ครบวงจรมาใช้ในประเทศไทย ไม่เพียงแค่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่รวมถึงชิ้นส่วน แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ โดยจะร่วมกันส่งเสริมระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม EV ในไทยสู่ตลาดโลก โดยปัจจุบัน GAC AION มีโชว์รูม 50 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในปี 2568 และตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2570 นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มขยายสายการผลิตเพื่อผลิตรถรุ่น AION V ในช่วงกลางปี 2568 อีกด้วย

“GAC AION มีความเชื่อมั่นในอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาที่เน้นการเติบโตในระยะยาว ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งใจที่จะขยายฐานในประเทศไทย และนำระบบที่ครบวงจรเข้ามาพัฒนาต่อยอดในประเทศ งาน sourcing day ในครั้งนี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของ GAC Aion ที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตสู่ระดับโลก” นายโอเชียน หม่า กล่าว

นอกจากนี้ GAC AION มีเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาซัพพลายเชน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย โดยปัจจุบันมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศกว่าร้อยละ 47 และมีแผนจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มากขึ้นในอนาคต โดยเหตุผลสำคัญของ GAC AION ในการเลือกผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมี 3 ประการ คือ 1) ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยมีคุณภาพและมาตรฐาน 2) กลุ่มชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นขนาดใหญ่จะมีโอกาสมาก เพราะหากนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าการจัดซื้อในประเทศ และ 3) การจัดซื้อในประเทศมีข้อได้เปรียบเรื่องการบริการหลังการขาย ที่มีความสะดวกและรวดเร็วกว่า 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN และ BMW ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท

‘อัครเดช’ ชู!! ‘เอกนัฏ’ มีวิสัยทัศน์ สนับสนุน ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ผลักดัน!! ให้ไทย เป็นฐาน ‘อุตสาหกรรมรถ EV’ มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

(9 พ.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง GAC AION ได้จัดงาน AION Sourcing Day มีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดจะก่อให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ 2,250 ล้านบาท

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นจาก GAC AION ได้ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี และยังมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า การลงทุนของ GAC AION ในครั้งนี้ยังได้มีการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์จากผู้ผลิตในประเทศไทยมากกว่าที่ BOI กำหนดไว้ที่ 40% จึงเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของการเติบโตแบบยั่งยืนในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของประเทศ

ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้เชิญนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ  ร่วมพบปะและหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ GAC AION 

ในคราวนั้นนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ขอให้ทาง GAC AION สนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศให้มากกว่าที่ทาง BOI กำหนดที่ 40% เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทย อีกทั้งพิจารณาให้ผู้ผลิตของไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของทาง GAC AION และเพิ่มศักยภาพในการผลิตผ่านการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต จนนำมาสู่ความร่วมมือตามที่ได้มีการจัดงานAion Sourcing Day ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

เมื่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการนัดหารือกับผู้บริหารของบริษัท GAC AION พร้อมด้วย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม และนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าว ส่งเสริมให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต้นแบบสำหรับนักลงทุนหรือผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจากผู้ประกอบการของคนไทยหรือผู้ประกอบการ SME ไทย

สำหรับแนวทางดังกล่าวจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเมื่อได้รับตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงได้ส่งเสริมแนวนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 

นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า ในเดือนธันวาคมที่จะถึง ทาง GAC AION ได้เชิญนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปเยือนมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพบผู้นำระดับสูงของมณฑลเพื่อสานต่อความร่วมมือทั้งในด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย

ขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมทางรถไฟ สร้างตู้ขนส่งโดยเฉพาะ มั่นใจปลอดภัยไม่ระเบิด

(20 พ.ย.67) บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด ได้ดำเนินการทดลองขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าปริมาณมากครั้งแรกของประเทศเมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.) โดยรถไฟบรรทุกแบตเตอรี่ลิเธียม จำนวน 3 ขบวน เดินทางออกจากเทศบาลนครฉงชิ่ง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

รายงานระบุว่าจีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรายใหญ่ที่สุดของโลก และนี่เป็นก้าวสำคัญของการขนส่งแบตเตอรี่ยานยนต์ ซึ่งจัดเป็นสินค้าอันตรายและเดิมทีขนส่งทางทะเลหรือทางถนนเท่านั้น โดยการขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมมีความเสี่ยงตรงที่อาจเกิดไฟลุกไหม้หรือระเบิดหากถูกเขย่ากระแทก

เจี่ยผิง รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขาเฉิงตู จำกัด กล่าวว่าการทดลองเดินรถครั้งนี้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียมโดยเฉพาะ โดยตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวผลิตจากวัสดุไม่ติดไฟ พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน อุณหภูมิ และอุปกรณ์ระบายอากาศไว้ด้วย

เจี่ยชี้ว่าการขนส่งทางรางจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมของจีน เนื่องจากสามารถขนส่งได้มากกว่าการขนส่งทางบกและรวดเร็วกว่าการขนส่งทางทะเล

บริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของจีน แสดงความยินดีกับการทดลองเดินรถครั้งนี้ โดยหลิวเจี๋ย ฝ่ายห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของบริษัทฯ กล่าวว่าการทดลองขนส่งทางรางถือเป็นการรับรองประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่ลิเธียมภายในประเทศเพิ่มเติม

หลิวทิ้งท้ายว่าการขนส่งทางรางเปิดช่องทางใหม่อันมีประสิทธิภาพในการขนส่งแบตเตอรี่ลิเธียม และจะกระตุ้นการส่งออกด้วยต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลงและประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์ที่พัฒนาดีขึ้น

ซีอีโอ Xiaomi ชี้!! ใช้เวลาแค่ 230 วัน ขายรถไฟฟ้าได้ 1 แสนคัน ขิงใส่!! ‘Tesla’ ใช้เวลานานกว่า ‘7 ปีครึ่ง’ กว่าจะมาถึงจุดนี้

(24 พ.ย. 67) เล่ย จุน (Lei Jun) ซีอีโอของ Xiaomi กล่าวว่า เทสลา (Tesla) ใช้เวลาถึงเจ็ดปีครึ่งในการขายได้ถึง 100,000 คัน แต่ Xiaomi ใช้เวลาเพียงแค่ 230 วันเท่านั้น และเรียกความสำเร็จของบริษัทว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์ที่ไม่มีใครเคยพบเห็นมาก่อน’ ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์

‘เสียวหมี่’ (Xiaomi ) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 5.3 พันล้านหยวน หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบ 100,000 คันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวครั้งแรกในเดือนมีนาคม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top