Saturday, 18 May 2024
ยูเนสโก

วิเคราะห์!! สหรัฐฯ ขอกลับเข้ายูเนสโก หวั่น!! จีนสยายอิทธิพลแทนที่

(9 ก.ค. 66) รายการ ‘คุยผ่าโลก’ ได้เชิญ ‘อาจารย์สุดาทิพย์ จารุจินดา-อินทร’ มาพูดถึงนัยยะสำคัญในการกลับมาเป็นสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ของสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการถอนตัวออกจากยูเนสโกมาแล้วถึง 2 ครั้ง กลับมาครั้งนี้จะมีความหมายอย่างไร มาฟังกันเลย…

“เหตุผลที่ทำให้อเมริกาทนไม่ได้ เพราะจีนแผ่ขยายอำนาจ ซึ่งหากจะให้เปรียบเปรยก็เหมือนกับว่า แม้แต่สนามหญ้าหน้าสำนักงานยูเนสโก จีนก็บลัฟเป็นเจ้าภาพ ฮุบเข้าไปขยายอาณาเขตไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ถือเป็นการสู้กัน เพราะยูเนสโก มีทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาวัฒนธรรม ซอฟต์พาวเวอร์ และตัววิทยาศาสตร์ 

"ทั้งนี้ ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น ได้มีการถอนตัวมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมาจากการที่ ‘ยูเนสโก’ รับ ‘ปาเลสไตน์’ เข้ามาเป็นสมาชิกในสหประชาชาติ (UN) แม้เขาจะไม่ได้เป็น Full Member แต่ในส่วนยูเนสโกรับเป็น Full Member เลย ทำให้อเมริกาเดือดมาก รวมทั้งอิสราเอลก็โกรธมากเช่นกัน จึงทำให้อิสราเอลและอเมริกาถอนตัวทั้งคู่ อันนี้คือสาเหตุของการถอนตัวครั้งแรก แต่ในที่สุดภายหลังก็ได้ผันตัวกลับเข้าไป ส่วนอีกครั้งหนึ่งในสมัย ‘ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์’ ก็ได้มีคำสั่งให้ถอนออกมาจาก ‘ทีพีพี’ และอเมริกาแทบจะถอนตัวจาก NATO และถอดยูเนสโกตามมาติดๆ

"ทว่า ตอนนี้ ‘จีน’ กับ ‘อเมริกา’ กำลังขับเคี่ยวกันในเรื่องเทคโนโลยี หรือ AI ซึ่งตรงนี้จะเป็นการได้ประโยชน์จากยูเนสโกที่จะส่งผลต่อประเทศจีน ทำให้อเมริกาปล่อยให้จีนแผ่บทบาทนี้ไม่ได้ จึงทำให้ต้องยอมเข้าไป ‘ยูเนสโก’ อีกครั้งหนึ่ง และล่าสุดเพิ่งมีการลงมติไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีทั้งหมด 132 เสียง ที่เห็นชอบ แต่ก็มีอีก 10 ประเทศที่ออกเสียงคัดค้าน ซึ่ง 1 ในนั้นมี ‘อินโดนีเซีย’ อีกด้วย ทำให้เรื่องนี้น่าติดตามต่อไป โดยมีเวทียูเนสโกอีกหนึ่งพื้นที่ในการสู้รบกัน"

'ยูเนสโก' จ่อขึ้นบัญชี มรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย เหตุ 'การท่องเที่ยวขยายตัวเกินไป-ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น'

(1 ส.ค. 66) สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ เสนอข่าว Unesco recommends adding Venice to endangered list ระบุว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก-UNESCO) เสนอแนะให้เพิ่ม 'เวนิส' (Venice) เมืองในประเทศอิตาลี เข้าไปอยู่ในบัญชี 'มรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย' โดยเมืองดังกล่าวกำลังเสี่ยงต่อความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ จากการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการพัฒนาที่มากเกินไป รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยูเนสโกกล่าวโทษทางการอิตาลีว่า ขาดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาของเมืองที่งดงามแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเวนิสเป็นที่รู้จักในชื่อ 'ลา เซเรนิสซีมา' (La Serenissima) ซึ่งเป็นคำในภาษาอิตาเลียน แปลว่า 'เงียบสงบมาก' แต่สมญานามนั้นอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป ทั้งนี้ ยูเนสโกคาดหวังให้มีการอนุรักษ์พื้นที่อย่างจริงจังมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ โฆษกของเทศบาลเมืองเวนิส กล่าวว่า เทศบาลจะอ่านข้อเสนออย่างละเอียด และจะหารือร่วมกับรัฐบาลกลางของอิตาลี

เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจสำหรับทางการซึ่งถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวในการปกป้องเมืองประวัติศาสตร์และทะเลสาบโดยรอบ อย่างไรก็ตาม มัสซิโม คาซซิอารี (Massimo Cacciari) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเวนิส ได้ออกมาตอบโต้รายงานของยูเนสโกว่าเป็นการตัดสินโดยปราศจากความรู้ อีกทั้งยังเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ได้ให้เงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมืองต้องการการกระทำที่มากขึ้นและคำพูดที่น้อยลง

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน ยูเนสโกเคยเสนอให้ใส่ชื่อเวนิสในบัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตรายมาแล้วหนหนึ่ง แต่ก็ยกเลิกในนาทีสุดท้ายเพราะมาตรการฉุกเฉินบางอย่างที่นำมาใช้โดยรัฐบาลอิตาลี โดยเฉพาะการห้ามเรือขนาดใหญ่สัญจรในคลองซานมาร์โก เช่น เรือสำราญ รวมถึงคำมั่นสัญญาที่จะเปิดตัวแผนอนุรักษ์ที่มีความทะเยอทะยานสำหรับเมือง ขณะที่ยูเนสโกได้เรียกร้องเพิ่มเติมว่าควรขยายให้ครอบคลุมเรือประเภทใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดมลพิษ ถึงกระนั้น แผนฟื้นฟูเวนิสกลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง และยังคงเป็นภาพลวงตา

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ La Repubblica สื่อท้องถิ่นในอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกได้เขียนจดหมายหลายฉบับถึงรัฐบาลอิตาลีเพื่อขอข้อมูลอัปเดตและตารางเวลา คำตอบที่ได้รับถือว่าไม่เพียงพอ รายงานของยูเนสโกที่เผยแพร่ในสื่อดังกล่าว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินในเมืองนี้ขาดกลยุทธ์ในการจัดการกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นกำลังสร้างความเสียหายโดยทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ดังนั้นเวนิสซึ่งล้อมรอบด้วยน้ำจึงเสี่ยงต่อน้ำท่วมมาก นอกจากนี้ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 28 ล้านคนมาเยือนเวนิส ซึ่งนำไปสู่โครงการขยายเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างความเสียหายให้กับเมือง ยูเนสโกยังชี้ไปที่อาคารสูงว่าส่งผลกระทบทางสายตาอย่างมีนัยสำคัญต่อเมือง จึงควรก่อสร้างให้ห่างจากใจกลางเมือง

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ยูเนสโกระบุแหล่งมรดกโลก 55 แห่งทั่วโลกว่าอยู่ในอันตราย โดยมีอีก 204 แห่งที่หน่วยงานกำลังตรวจสอบอย่างแข็งขันเนื่องจากภัยคุกคามที่สถานที่เหล่านั้นกำลังเผชิญ อาทิ แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลียรอดพ้นจากการติดอันดับในปี 2566 ได้อย่างหวุดหวิด แม้ว่าจะยังคงอยู่ภายใต้ภัยคุกคามร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางน้ำ โดยจะทบทวนความพยายามในการอนุรักษ์แนวปะการังของรัฐบาลออสเตรเลียอีกครั้งในปี 2567

‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยแล้ว

ถือเป็นข่าวที่คนไทย โดยเฉพาะชาวเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันแสดงความยินดี หลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2447 ประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า เมืองอภัยสาลี ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า ‘เมืองศรีเทพ’

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ และพัฒนาจนกระทั่ง จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2527

ตลอดเวลาดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเส้นทางสู่การขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่องนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่…

>> เมืองโบราณศรีเทพ
>> โบราณสถานเขาคลังนอก
>> โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 2 คือความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ ขณะที่การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

กระทั่งนำไปสู่การเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) เมื่อพ.ศ.2562 และจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 ก.พ.2565

ต่อมาสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.2565

เมื่อผ่านการตรวจประเมินของผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมืองโบราณศรีเทพจึงได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของรัฐบาล ยังไม่สิ้นสุดเพียงการเฉลิมฉลองการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก

โดยแผนดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่อง การอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และ การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์
30 ปีมรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย...

สำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 3 แหล่ง ได้แก่…

1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534
2. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2534
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535

ดังนั้นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ แห่งที่ 4 จึงห่างกันนานถึง 30 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อีกด้วย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี

‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ประเพณีสงกรานต์ไทย’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(6 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

โดยมีวาระการพิจารณา ‘ประเพณีสงกรานต์ประเทศไทย’ ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โดยรัฐบาลมอบหมายให้ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม

‘สงกรานต์’ เทศกาลระดับโลก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ย้อนกลับไปวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับคนไทย เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก พิจารณาประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

สำหรับคำว่า ‘สงกรานต์’ มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า ‘การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว’ หรือ ‘การเปลี่ยนแปลง’ โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น ‘วันขึ้นปีใหม่ไทย’ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะในอดีตประเทศสยามใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางการจนกระทั่ง พ.ศ. 2431 ประกาศให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน จากนั้นใน พ.ศ. 2484 จึงเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคมมาจนถึงทุกวันนี้

เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่มีความสวยงามและเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน และความอบอุ่น จากกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ยิ่งใครที่อยู่ห่างไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเฉลิมฉลองและกล่าวคำอวยพรให้แก่กัน ดังนั้น ปัจจุบันปฏิทินไทยจะกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ

สำหรับคนที่เกิดและเติบโตในไทย ก็คงคุ้นเคยกับเทศกาลนี้เป็นอย่างดี โดยแต่ละวันก็มีความหมายแตกต่างกันดังนี้

วันที่ 13 เรียกว่า ‘วันมหาสงกรานต์’ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ จนครบ 12 เดือน อีกทั้ง รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’

วันที่ 14 เรียกว่า ‘วันเนา’ แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศีตั้งต้นปีเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัว’

วันที่ 15 เรียกว่า ‘วันเถลิงศก’ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มศกใหม่ การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย 1 องศา

นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ นับเป็นเทศกาลที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดย ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ได้กำหนดแผนงานซอฟต์พาวเวอร์ ปี 2567 เล็งผลักดันการเล่นน้ำสงกรานต์ตลอดทั้งเดือนเมษายน หวังทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก

นอกจากเล่นน้ำในวันสงกรานต์ 13-15 เมษายนแล้ว ยังมี ‘วันไหล’ ที่มักจะจัดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน โดยสถานที่เด่น ๆ ที่เรามักจะเห็นกันก็คือ วันไหลบางแสน, วันไหลพัทยา, วันไหลพระประแดง, วันไหลระยอง และวันไหลชลบุรี

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ
 

‘ครม.’ ไฟเขียว!! ดัน ‘ชุดไทย-มวยไทย’ เข้าคิวยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(26 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม รมว.วธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรมในการเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 2 รายการ คือ ชุดไทย และ มวยไทย

โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโก ให้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค.67 นี้

เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ ‘ต้มยำกุ้ง’ และ ‘เคบาย่า’ (มรดกร่วม 5 ประเทศ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ที่ยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2-7 ธ.ค.67 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และต่อด้วยรายการ ‘ผ้าขาวม้า’ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 แล้ว

นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยถึง ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ ดังนี้ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ

ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ในส่วน ‘มวยไทย’ (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน ‘จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม’ ซึ่งบันทึก โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère)

มวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรณคดี

รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่าง ๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง ปัจจุบัน มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ ชุดไทย และ มวยไทย นี้ เป็นการนำเสนอยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภทบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)

ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย 

1.รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003

2.การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้จะส่งเสริมความประจักษ์ และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ 

3.มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม

4.รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และ 5.เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดองค์รู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ และมนุษยชาติ ได้ในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th หัวข้อ องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาฯ ICH และติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม

‘กัมพูชา’ เตรียมเสนอ ‘สงกรานต์กัมพูชา’ เป็นมรดกโลก หวัง!! ‘วัฒนธรรมของบรรพบุรุษ’ ได้การยอมรับในระดับสากล

หลังจากที่ ‘ประเพณีสงกรานต์ของไทย’ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกมายาวนาน จนในปี 2566 ที่ผ่านมา ‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ไทย’ ให้เป็นมรดกโลกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในรายการบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ล่าสุดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘กัมพูชา’ ก็เตรียมเสนอ ‘สงกรานต์กัมพูชา’ หวังเป็นมรดกโลกเช่นกัน

โดยเมื่อวานนี้ (31 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ประกาศแผนเสนอรายชื่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ 7 รายการ และทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 3 รายการ เพื่อขึ้นบัญชีรายชื่อมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO)

สถานที่ 7 แห่งที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ได้แก่ อดีตเรือนจำเอ็ม-13 (M-13)/พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง/ศูนย์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองแอ็ก วัดบันทายฉมาร์ สถานที่ตั้งของอังกอร์เบอเรยและพนมฎา โบราณสถานภูเขาพนมอูดง ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย วัดเบ็งเมเลีย และอุทยานเทือกเขาพนมกุเลน

ส่วนทรัพย์สินอีก 3 รายการที่วางแผนยื่นเสนอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ได้แก่ สงกรานต์กัมพูชา กรอมา (Krama) ผ้าพันคอที่ทอแบบดั้งเดิม และประเพณีการแต่งงานแบบเขมร

“เราจะเสนอรายชื่อเหล่านี้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก เพื่อให้ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของเราได้รับการยอมรับและอนุรักษ์ในระดับสากล” ฮุนมาเนตกล่าว พร้อมเสริมว่าปกติแล้วการขึ้นทะเบียนจะใช้เวลาเกือบสองปี และแต่ละประเทศสามารถยื่นเสนอรายชื่อเป็นมรดกโลกของยูเนสโกได้ปีละ 1 รายการเท่านั้น

กัมพูชาจะยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนสงกรานต์กัมพูชาลงในรายการมรดกที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในปี 2025 และคาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี 2026

สงกรานต์เป็นคำภาษาสันสกฤตที่ใช้เรียกวันปีใหม่ตามปฏิทินทางพุทธศาสนา ซึ่งเทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศที่นับถือพุทธศาสนาในเอเชีย อาทิ กัมพูชา ไทย ลาว และเมียนมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top