Monday, 7 April 2025
ม112

‘รวมไทยสร้างชาติ’ สวนกระแส ย้ำ จุดยืนไม่นิรโทษมาตรา 112 เด็ดขาด ‘เพื่อไทย’ ไร้ข้อสรุปโยนประชุมวิปรัฐบาลอีกรอบ ด้านพรรคอื่นยังสงวนท่าที

(16 ต.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำสัปดาห์นี้คงไม่มีเรื่องไหน วาระไหนที่จะสำคัญไปกว่าการเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ในเนื้อในมีการให้ความเห็นถึงการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญารวมอยู่ด้วย 

THE STATES TIMES ได้ทำการสำรวจความเห็นจากทุก ๆ พรรค และทุกฝ่ายทางการเมือง ดูเหมือนหลาย ๆ พรรคพยายามสงวนท่าที แต่หนึ่งพรรคแม้จะอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนนั้นคือพรรครวมไทยสร้างชาติ

‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาแถลงหลังจากการประชุมพรรค ย้ำชัด ๆ ว่า

พรรครวมไทยสร้างชาติจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะมีมติงดออกเสียงในการลงมติรายงานฉบับดังกล่าว ทั้งในชั้นการรับทราบ และการเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ

ด้วยเหตุผลว่าเป็นการยืนยันในมติเดิมของพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า จะไม่เห็นชอบในรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความสมบูรณ์ ขาดข้อสรุปที่ชัดเจน ดังที่เคยได้แจ้งไปเมื่อมีมติพรรครวมไทยสร้างชาติในวันที่ 26 กันยายน 2567 ซึ่งในครั้งนี้รายงานที่พิจารณาก็ยังมีเนื้อหาเช่นเดิม

นอกจากนี้นายอัครเดชยังมีการย้ำจุดยืนและหยิบยกเอาอุทาหรณ์ข้อเท็จจริงที่เคยเกิดมาแล้วออกมา 

จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ

หากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมเอาผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ด้วยแล้วมีความเสี่ยงว่าการกระทำดังกล่าวจะละเมิดต่อกฎหมาย เช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องในทำนองเดียวกันมาแล้ว 

ขณะที่อีกฟากฝั่งทางการเมืองพรรคประชาชน โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคออกมาแถลงว่า พรรคยังยืนยันในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 

ท่ามกลางบรรยากาศที่ขมุกขมัว ทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังคงวุ่น จับต้นชนปลายไม่ถูก การประชุมพรรคที่นำโดยสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค ยังหาข้อสรุปในเรื่องรายงานนิรโทษกรรมไม่ได้ 

โดยที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติให้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ที่จะจัดขึ้นในวันนี้(16 ต.ค. 67)เพื่อหาข้อสรุป 

เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการเมืองไทยในอนาคต เนื่องจากรายงานฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการตรากฎหมายนิรโทษกรรมในอนาคต ว่าจะรวมเอาผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 อยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่

ผู้ที่สนใจการเมืองไทยกรุณาติดตามโดยพลัน

‘เพื่อไทย’ มีมติหนุนข้อสังเกต-รายงานนิรโทษกรรม ด้าน ‘นพดล’ ย้ำ พท.ไม่มีความคิดล้างผิด ม.110 และ 112

(24 ต.ค. 67) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส.พรรค ถึงการลงมติวาระพิจารณาการลงมติโหวตจะรับข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หรือไม่ ว่า รายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาว่าจะมีหรือไม่มีมาตรา 112 รายงานนี้เป็นเพียงผลการศึกษาว่าหากต้องทำกฎหมายนิรโทษกรรมต้องทำอย่างไร ซึ่งตนพยายามอธิบายมาหลายครั้งและนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ก็พูดชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 จากการฟังในที่ประชุมทั้งหลายก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น ฉะนั้น จึงได้ย้ำว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพียงแค่ตอนนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย เพียงแค่เป็นวาระการศึกษากฎหมาย 

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ประชุมจะลงมติกันในวันนี้ได้หรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานสส.พรรค พท. ได้ถามความเห็นอย่างรอบด้าน จึงมีข้อสรุปว่าร่างรายงานนี้ที่เป็นรายงานที่เสนอโดยพรรค พท. และได้มีการประชุมกมธ.มา 19 ครั้ง ซึ่งกมธ.ไม่มีใครคัดค้านในรายงานนี้ว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ในที่ประชุมพรรค พท.จึงมีความเห็นว่าเราจะรับทราบรายงาน รวมถึงเห็นชอบกับข้อสังเกต ส่วนพรรคอื่นจะไม่เห็นชอบ ก็แล้วแต่แต่ละพรรค แต่พรรค พท.ควรเห็นชอบเพราะเป็นรายงานของพรรค พท.ที่เสนอ แต่เมื่อถึงเวลาจะไม่เห็นชอบมันผิดข้อเท็จจริง แต่หากสมาชิกจะเห็นแตกต่างกันไป เราก็ไม่ว่าอะไร ให้เป็นดุลยพินิจแต่ละคน แต่โดยหลักจะไปในแนวทางที่เห็นชอบ 

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลควรโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ การที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไร ตนทราบ แต่ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เราไม่ได้ว่าอะไรกัน 

ด้านนายนพดล กล่าวว่า จากที่ตนเคยอภิปรายไปและพรรค พท. ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพรรค พท.ไม่มีนโยบายและไม่มีความคิดที่จะนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ฉะนั้น การที่มีบางสื่อนำเสนอไปว่าพรรค พท.จะดันนิรโทษกรรมมาตรา 112 จึงไม่ต้องกับข้อเท็จจริง ย้ำว่าพรรค พท.จะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 

เปิดข้อมูล ‘แกนนำม็อบปี 63’ โดน 112 ไปแล้วอย่างน้อย 12 คน ลี้ภัย 2 ราย เพนกวิน-ไมค์ ระยอง จับตา หลังรายงานนิรโทษล่มในสภา

(24 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลในฐานข้อมูลของ 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' ที่รับทำคดีให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้เสียหาย หรือเหยื่อทางการเมือง เผยแพร่ข้อมูลสถิติว่า นับตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ถึง 20 ต.ค. 2567 มีบุคคลถูกจับกุมข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี โดยสรุปมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 77 คดี คดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวน 163 คดี

โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 162 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร้องทุกข์ 11 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปร้องทุกข์ 9 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร้องทุกข์ 1 คดี ส่วนที่เหลือคือคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

โดยพฤติการณ์ส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งข้อหามาจาก การปราศรัยในที่ชุมนุม 59 คดี การแสดงออกอื่น ๆ เช่น การติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น 72 คดี คดีเกี่ยวกับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ 169 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี

สำหรับบรรดาแกนนำมวลชนเมื่อปี 2563 นั้นถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีอย่างน้อย 12 คน เช่น 'อานนท์ นำภา' มี 25 คดี ปัจจุบันศาลตัดสินไปแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 20 วัน 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' หรือ 'เพนกวิน' มี 14 คดี โดยศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 2 ปี แต่เจ้าตัวได้หลบหนี และลี้ภัยอยู่ต่างประเทศในขณะนี้ เช่นเดียวกัน 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่มีคดีติดตัว 9 คดี ตัดสินแล้ว 1 คดีโทษจำคุก 4 ปี แต่เจ้าตัวหลบหนีลี้ภัยไปแล้วเช่นกัน

ขณะที่ 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มี 10 คดี เบนจา อะปัญ 8 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 6 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ วรรณวลี ธรรมสัตยา เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี ส่วน 'ไบรท์' ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อดีตแกนนำม็อบช่วงปี 2563-2564 แต่ปัจจุบันเขาอ้างว่ากลับตัวกลับใจ และยอมรับคำสารภาพทุกข้อหา มีคดีติดตัว 8 คดี

นี่ยังไม่นับบรรดา 'มวลชน' ที่ติดสอยห้อยตาม 'ม็อบราษฎร' อีกหลายคนที่ต้องโทษติดคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีตามมาตรา 112 อีกหลายคดีเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดคือบุคคลที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยคดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ดังนั้นกลุ่มคนข้างต้น จะได้รับอานิสงส์ในการ 'นิรโทษกรรม' หรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น

ผลการพิจารณาปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมีผู้ลงมติ 428 คน ลงมติเห็นด้วย 152 คน ไม่เห็นด้วย 270 คน งดออกเสียง 5 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

จดหมายจาก ‘ขนุน-สิรภพ’ ผู้ต้องขังคดี 112 บรรยายถึง ‘ฤดูหนาวที่แสนร้อน’ ในโลกหลังกำแพง

(29 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กบัญชี Sirapob Phumphengphut ของ ขนุน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หนึ่งในแกนนำม๊อบเมื่อช่วงปี 2563 ซึ่งปัจจุบันถูกจำคุกจากการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้โพสต์ว่า..

20 นาทีในทุกวันกับ จดหมาย 1 ฉบับที่มีค่าทางจิตใจ

ฤดูหนาวที่แสนร้อนนนนนนนนน

28/10/2024
สวัสดีครับแม่ เมื่อคืนที่ผ่านมาอากาศร้อนมากจนทำให้ การนอนนั้นยากมาก จากเหงื่อ ไอร้อน ทั้งสัญญาณที่บอกว่าฤดูหนาวกำลังจะมาเยือน (แม้จะเย็นแค่วันสองวันก็ตาม) อย่างพระอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าอย่างรวดเร็ว ฝนที่ค่อย ๆ จากไป ท้องฟ้าที่ค่อนข้างโปร่ง (จากบทสนทนาพี่อานนท์กับพี่หนุ่ม) แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปคือ ความหนาวเย็น  นอนไม่หลับ ร้อน!!!!!!

รูปที่เห็นคือภาพที่หนุนวาดหลังพี่อานนท์ชี้ท้องฟ้าที่ค่อยๆมืด ไม่รู้สิถ้าหนุนได้อยู่บ้านคงดีกว่านี้ "ถึงจะร้อนก็มีแอร์เย็น ๆ" "ถึงจะร้อนก็มีน้ำเย็น ๆ ให้ดื่ม" "ถึงจะร้อนก็ได้ออกไปห้างฯ หอสมุด ร้านกาแฟเพื่อหลบร้อน" แต่พอหนุนถูก พรากสิทธิการประกัน สิ่งทั่วไปพวกนี้กลับดูราวเป็นเพียงความฝันที่ทำได้เพียง ระลึกถึง "ไม่มีที่ใดสุขเท่าบ้าน"

หนุนหวังว่า กระบวนการอำนวยความยุติธรรม จะเกิด/ ปฏิบัติกับ ผู้ต้องขังทางการเมือง ในเร็ววัน การประกัน คือหัวใจสำคัญที่จะสามารถ พาหนุนกลับบ้านได้ สุดท้ายหนุนไม่อยากอยู่ในสภาพอากาศร้อน ๆ แบบนี้ เพราะผื่นร้อนขึ้นง่ายมาก ทั้งการอ่านหนังสือก็ทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร หนุนอยากกลับบ้าน จะได้กลับไปทำตามความฝันดังที่ควรจะเป็นซักที

"คิดถึงแม่ ป๊า นะครับ"
ปล. เวลาร้อนชวนคิดอะไรไม่ออก

18.00 น. 27/10/2024
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ผู้ต้องขังคดี 112 เปิดหน้าอกเป็นรอย 112 จากการกรีด ในห้องศาลขณะฟังคำตัดสิน

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ได้โพสต์ข้อความว่า 

บันทึกจากห้องพิจารณาคดีที่ 707 : รอยกรีด 112 บนหน้าอก #เก็ทโสภณ ประท้วงกระบวนการยุติธรรมและปัญหาของมาตรา 112 

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2567 เวลา 09.36 น.
ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 707 ศาลอาญา 
กับรอยเลือดบนหน้าอก 'เก็ท' โสภณ ที่ถูกกรีดเป็นคำว่า ‘112’

ช่วงเช้าของวันที่ 29 ต.ค. 2567 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดี #มาตรา112 ของ 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จากเหตุปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ ในวันแรงงานสากลปี 2565 ภายใต้กิจกรรม #แจกน้ำยาให้หมามันกิน 

เก็ทถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังห้องพิจารณาคดี แต่ก่อนที่ศาลจะเริ่มอ่านคำพิพากษา เก็ทเดินเข้าไปในคอกพยาน และขออนุญาตศาลแถลงบางอย่าง ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา เสียงพูดคุยในห้องก็เริ่มเงียบลง ทุกสายตาในห้องพิจารณาคดีจ้องมาที่เก็ท

เก็ทยืนตรง สายตามองไปที่ผู้พิพากษา และถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก แต่มีสิ่งหนึ่งที่แปลกตาไป นั่นคือมีรอยแผลจากการกรีดบริเวณหน้าอก เป็นตัวเลข 112 ก่อนเขาเริ่มเอ่ยคำแถลงมีเนื้อหาที่พอจดบันทึกได้

“..ท่านอาจมองว่าการถอดเสื้อเป็นเรื่องไร้มารยาท การเอามีดมากรีดอกเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ถ้าท่านเห็นว่าสิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องผิดปกติ มีสิ่งที่ผิดปกติกว่านั้น

“การจับคนเข้าคุกไปดำเนินคดี การที่ใช้มาตรา 112 มากกว่า 300 คน ทั้งที่สำนักพระราชวังไม่ได้ฟ้อง สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เป็นโจทก์ร่วม ในการพิจารณาคดีมีสิ่งผิดปกติมากมาย บางคนไม่ได้สิทธิประกันตัว บางคนโดนถอนประกัน 

“เวลาที่ศาลตัดสิน สมเหตุสมผลกับพฤติการณ์หรือไม่ บางครั้งเราแสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ทำไมโทษถึงหนัก อย่างที่อานนท์โดนโทษจำคุกสี่ปี

“อย่างที่ท่านกำลังจะตัดสินผมวันนี้ ท่านไม่ได้แค่ทำร้ายผม แต่ทำร้ายครอบครัวผม คนรักผม และเพื่อนผมด้วย 

“ท่านกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคม เราจะอยู่กันอย่างไรถ้าเราหยิบความจริงมาพูดกันไม่ได้ แสดงความเห็นไม่ได้ แม้ว่ามันจะมีประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ถ้ามันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

“ผมให้ความเคารพท่าน ไม่ใช่แค่ฐานะผู้พิพากษา แต่เป็นสถาบันตุลาการด้วย ท่านไม่ใช่แค่ศาลใต้พระปรมาภิไธยเท่านั้น ท่านศักดิ์สิทธิ์ในนามสถาบันตุลาการ สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้

“ผมอยากให้คำตัดสินของท่านวันนี้สั่งสอนผม และประชาชนที่มาสังเกตการณ์วันนี้ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกหรือผิด และประชาชนไทยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่าไหร่

“ผมใช้มีดกรีดอกตัวเอง แต่ละแผลมันเจ็บมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ท่านรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เด็กอย่างรุ่นผมคิดได้ ท่านก็ต้องคิดได้ว่ามาตรา 112 มีปัญหา ตั้งแต่การดำเนินคดี การฟ้อง และการพิพากษา 

“ท่านผู้พิพากษามีศักดิ์และสิทธิในการแก้ปัญหาความผิดปกตินี้ที่มันเกิดขึ้น แต่ถ้าท่านเพิกเฉย มองว่าเป็นเรื่องปกติ ทำตามหน้าที่ มันก็คือการหล่อเลี้ยงปัญหาที่เกิดขึ้น

“วันนี้ท่านจะพิพากษาผมยังไงก็แล้วแต่ แต่ผมยืนยันว่ามาตรา 112 มีปัญหา

“เวลาผมนอนอยู่ในคุก ไม่ทำอะไร เดี๋ยวก็พรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้า เวลาเปลี่ยน สังคมไม่ได้เปลี่ยน สังคมมันเปลี่ยนแปลงเพราะคน

“ผมชื่นชม ถ้าท่านยึดมั่นในอุดมการณ์ พิพากษาอย่างเป็นกลาง ปราศจากอคติ แต่ผู้พิพากษาอีกหลายคนที่ไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่เมื่อใส่ชุดครุยแล้ว ก็ควรที่จะไม่มีอคติ

“อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อท่านถอดชุดครุยก็เป็นประชาชนเหมือนกัน”

ในคดีนี้ ศาลพิพากษาว่าเก็ทมีความผิดฐาน 'หมิ่นประมาทกษัตริย์' ตามมาตรา 112
ลงโทษจำคุกใน 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ 

หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เสียงบทสนทนาในห้องก็เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เก็ทหันหลังกลับไปหาประชาชนหลายสิบคนที่นั่งอยู่ในห้อง หลายคนก็เดินมาให้กำลังใจ สวมกอด ถามไถ่เกี่ยวกับรอยกรีดตัวเลขนั้น ในขณะที่บางคนก็นั่งมองอยู่ห่าง ๆ และบางคนก็ร้องไห้ออกมา

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เตรียมพาตัวเก็ทออกจากห้องพิจารณา เขาต้องบอกลาเพื่อน ครอบครัว รวมไปถึงคนรักอีกครั้งหนึ่ง 

แทนที่จะได้กลับบ้าน เก็ทต้องกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เขาถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี 2 เดือนเศษ ขณะก็ถูกนับโทษจำคุกรวมทั้งหมดในสามคดีเป็น 8 ปี 6 เดือน

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ชำแหละ!! 'เพนกวิน' เสียจุดยืน!! เหมือนซากศพ เดินได้พูดได้

(5 ม.ค. 68) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ว่า …

เสียอะไร

เพนกวินเสียจุดยืน อะไรคือจุดยืนของเพนกวิน

ที่รู้แน่ๆ เพนกวินทิ้งมวลชนที่ปลุกระดม ให้คนอื่นออกมาร่วมต่อสู้ ไม่ต้องกลัวสู้กับสถาบัน สู้ล้มล้างม.112

แต่ตอนนี้ กวิ้นสบายแล้ว เมกาให้ที่อยู่ ให้ทุนเรียนหนังสือ ให้เงินใช้

ทิ้งมวลชนให้ตกระกำต่อสู้กับคดี 112 นี่คือ ตัวอย่างของผู้นำที่ดีมากๆ คนหนึ่ง

ภาพข่าวเพนกวินเข้าพบ ออท.เมกา แสดงว่า สนิทสนมซี้กันเป็นพิเศษ

ไม่แปลกใจที่เพินกวินไปโผล่เมกา ซุกปีกพญาอินทรีเมกา

นับจากนี้ เพนกวินจะเหมือนซากศพ เดินได้พูดได้แต่หมดความน่าเชื่อถือ

นอกจากจะชวนคนอื่นๆอพยพตามไปอยู่ เมกาใหญ่โตคงพอรับผู้ศรัทธาได้นับหมื่นคน

‘ป.ป.ช.’ ร่อน!! ข้อกล่าวหา ยัน!! มีพยานหลักฐาน เพียงพอว่า ‘มีมูลความผิด’ ‘เจี๊ยบ อมรัตน์’ เจ้าตัวเดือด!! จัดฟาดกลับ หลังเห็นคำขวัญของ ป.ป.ช.

(15 ก.พ. 68) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส. พรรคก้าวไกล และหนึ่งใน 44 สส. ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงในกรณีร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กทันทีหลังได้รับเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งระบุว่า “มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ามีมูลความผิด”

นางอมรัตน์ แสดงความไม่พอใจ ว่า 1.การประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 จะทำได้ศาลต้องเป็นผู้อนุมัติ นั่นหมายถึงศาลสมรู้ร่วมคิดกับดิฉันเซาะกร่อนบ่อนทำลายและล้มล้างการปกครองใช่หรือไม่ แล้วป.ป.ช.ส่งหมายเรียกให้ศาลมารับทราบข้อกล่าวหาหรือยัง

ยังมีนักวิชาการหลาย ๆ ท่านไปร่วมประกันตัวเพื่อให้ลูกศิษย์ได้กลับมาเรียนหนังสือในระหว่างต่อสู้คดีด้วย พวกเขามีความผิดด้วยหรือไม่
2.อำนาจหน้าที่เสนอกฎหมายใหม่ แก้ไขกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยยังเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

3.มีบทบัญญัติหรือข้อห้ามใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และในอดีตก็เคยมีการแก้ไขมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

4.กกต.เป็นผู้อนุญาตให้ใช้นโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็น 1 ใน 300 นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล แสดงว่า กกต. ก็สุมหัวร่วมทำความผิดนี้ด้วยหรือไม่

ทำไมไม่เรียกกกต.ไปรับทราบข้อกล่าวหาพร้อม ๆ กัน

ท้ายที่สุด นางอมรัตน์ ยังกล่าวถึงปัญหามโนธรรมของ ป.ป.ช. ที่ไม่ได้รักษาหลักการที่ถูกต้อง และเสียดสีว่า “เห็นคำขวัญบรรทัดสุดท้ายแล้วอยากอาเจียน”

‘ตั้ง อาชีวะ’ งง!! GUไปเกี่ยวอะไร กับการปล้น ‘กรุสมบัติเก่าของอยุธยา’ อายุกว่า 500 ปี ก่อนรับคำขอโทษ!! จาก ‘บาส Go Went Go’ กรณีมี ‘หมายจับ 112’ ไปโผล่ ในรายการ

(8 มี.ค. 68) จากกรณีที่ช่อง Go Went Go ได้นำภาพหมายจับคดี112 ของ ‘ตั้ง อาชีวะ’ (ที่ยังมีอายุความ) ไปใช้ในรายการตอนที่มีชื่อว่า ‘ตามรอยตำนานลี้ลับ 6 วัดร้างสุดเฮี้ยนในอยุธยา’ ซึ่งมีช่วงนาทีที่ 9.43 โดยได้มีการบรรยายพร้อมภาพประกอบเล่าเรื่องราวของการปล้นกรุเก่าอายุ 500 ปี แล้วดันไปมีภาพหมายจับของ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ขึ้นไปอยู่ในนั้น ซึ่งทำให้คนดูเข้าใจผิดว่า คนในภาพหมายจับ คือคนไปปล้นสมบัติ

ล่าสุด ‘ตั้ง อาชีวะ’ ได้โพสต์ข้อความ โดยระบุว่า ...

สวัสดีครับทุกคน จากประเด็นของช่อง Go Went Go นะครับที่ทางทีมงานได้นำภาพหมายจับคดี112 ของผม (ที่ยังมีอายุความ) ไปใช้ในรายการตอนที่มีชื่อว่า 'ตามรอยตำนานลี้ลับ 6 วัดร้างสุดเฮี้ยนในอยุธยา' ซึ่งมีช่วงนาทีที่9.43 ได้มีการบรรยายพร้อมภาพประกอบเล่าเรื่องราวของการปล้นกรุเก่าอายุ 500 ปี แล้วดันไปมีภาพหมายจับของผมขึ้นไปอยู่ในนั้น ซึ่งคนดูอาจจะสามารถเข้าใจผิดได้ในกรณีนี้เช่น คนในภาพหมายจับคือคนไปปล้นสมบัติ,ตั้งอาชีวะไปปล้นสมบัติของอยุธยา หรือตั้งอาชีวะผู้ที่เกิดในปี2534นั่งเครื่องย้อนเวลาไปปล้นสมบัติเก่าของอยุธยา เป็นต้น 

คือตอนแรกผมก็ไม่ทราบนะครับว่ามีภาพผมไปปรากฏอยู่ในรายการนี้ จนกระทั่งพี่คนสนิทของผมที่ไทยได้รับชมรายการดังกล่าวแล้วส่งมา ต้องยอมรับตรงๆนะครับผมก็เคืองอยู่นั่นแหละ โมโหเลยโพสต์ไป1โพส (เคืองดิ พวกจากไทยโทรมา ว้าย ไอตั้งโจรปล้นสมบัติอยุธยา) ผมก็เลยส่งข้อความไปหาทางเพจ และได้โทรข้ามประเทศไปเพื่อจะขอคุย แต่ไม่มีใครรับสายในตอนแรก

หลังจากที่ผมโพสต์ไปไม่นาน คุณบาส Panupat Sukanlayaruk ก็รีบติดต่อกลับมา พร้อมแก้ไขสถานการณ์โดยทันที เช่นการล็อกคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นส่วนตัวเพื่อแก้ไขบางช่วงบางตอน และได้โพสต์ขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเพจของคุณบาส 

ต้องบอกก่อนนะครับว่า เราได้พูดคุยกัน และคุณบาสก็แสดงความขอโทษอย่างจริงใจ และทีมงาน-ทีมตัดต่อก็ได้ส่งข้อความมาขอโทษผมด้วยเช่นกัน กรณีนี้ถ้าพูดกันตามตรงก็คือเป็นความผิดพลาดของทางทีมงานจริงๆนะครับ ซึ่งคุณบาสเองก็ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอื่นๆ เลยไม่ได้มีเวลาเช็กงานดังกล่าว ก็ถือว่าความผิดพลาดครั้งนี้ของทีมงานให้เป็นบทเรียนไปนะครับ น้องที่ทำตัดต่ออาจจะไม่ได้เช็กข้อมูลจริงๆ ซึ่งผมเองก็ได้บอกกับคุณบาสตอนสนทนากันว่า "โอเคครับ ผมน้อมรับคำขอโทษจากคุณแล้วนะ ทางทีมงานเขาอาจจะพลาดจริงๆ ไม่ต้องไปว่าพวกเขาแรงนะ ห้ามไล่น้องเขาออกนะ"

สุดท้ายนี้นะครับ ก็ต้อขอบคุณคุณบาส และทีมงาน ที่จัดการทุกอย่างได้รวดเร็วมากๆ และผมรู้สึกได้ว่าเป็นการขอโทษที่แสดงออกมาด้วยความจริงใจ

ศาลเชียงใหม่ สั่งจำคุก 'อานนท์ นำภา' 2 ปี คดีปราศรัยผิด ม.112 รวมโทษจำคุกถึงตอนนี้ 20 ปี 19 เดือน

(27 มี.ค. 68) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ว่า วันนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาคดี #ม112 ของอานนท์ นำภา กรณีปราศรัยหอศิลป์ มช. วันที่ 23 พ.ย. 63 เห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง คำปราศรัยของจำเลยทำให้สถาบันเบื้องสูงเสื่อมเสีย

ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ฟังไม่ขึ้น เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะใช้ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ จะใช้จนกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐมิได้

พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี

รวมโทษจำคุกของอานนท์ตอนนี้ 20 ปี 19 เดือน 20 วัน ทุกคดียังไม่สิ้นสุด

‘พอล แชมเบอร์’ นักวิชาการชื่อดัง ม.นเรศวร ถูกจับข้อหา ม.112 หลังกองทัพภาคที่ 3 เข้าแจ้งความ ฐานหมิ่นสถาบันฯ

(4 เม.ย.68) นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้จับกุม นายพอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชื่อดัง สังกัด ม.นเรศวร โดยระบุว่า...

“ด่วน! จับนักวิชาการต่างชาติข้อหา #ม112 ตำรวจบุกจับ ‘ดร. พอล แชมเบอร์ส’ นักวิชาการชื่อดังด้านไทยศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุมีหมายจับจากศาลพิษณุโลก ฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ โดยกองทัพภาคสามเป็นผู้แจ้งความ … นี่เรามีรัฐบาลพลเรือนที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นจริงๆ ใช่มั้ย”

ขณะที่ นายเชตวัน เตือประโคน ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาชน โพสต์ข้อความว่า “พอล แชมเบอร์ส หนึ่งในนักวิชาการชาวต่างชาติ ม.นเรศวร ที่ศึกษาเรื่องทหารไทยและการเมืองเมืองไทยมากที่สุดคนหนึ่งถูกจับข้อหา ป.อาญา ม.112 ซึ่งคดีนี้แจ้งความโดย กองทัพภาค 3

เราอยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตยจริงเหรอ? นี่คือรัฐบาลพลเรือนที้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริงเหรอ? ทหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนจริงเหรอ?

เมื่อวานก็จับมือเผด็จการทหารพม่า วันนี้ก็มีนักวิชาการถูกจับกุม

สิทธิมนุษยชนไม่สนใจ เสรีภาพทางวิชาการถูกย่ำยีป่นปี้หมดแล้วครับ”

สำหรับ ดร. พอล แชมเบอร์ เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์และที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการต่างประเทศ ของ Center of ASEAN Community Studies คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

พอล แชมเบอร์ มีผลงานเป็นหนังสือและบทความในวารสารวิชาการจำนวนมาก โดย งานเขียนส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการศึกษาบทบาทของกองทัพในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง

ทั้งนี้ งานของพอล แชมเบอร์ เป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจบทบาทของกองทัพไทยตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนในประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ ตลอดจนแนวโน้มในอนาคตของบทบาททางการเมืองของทหารในสังคมไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top