Monday, 7 April 2025
ม112

'พิธา' ดิ้น!! ยุบพรรค อัดบางกลุ่มเอาความภักดีไปหากินทางการเมือง แค่เอื้อผลประโยชน์ส่วนตน และไว้อ้างสนับสนุนการรัฐประหาร

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.67) ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

โดยนายพิธา กล่าวในภายย่อยถึงเส้นแบ่งระหว่างคดีของพรรคก้าวไกลกับคดีของพรรคอื่น ๆ ที่ถูกยุบมาในอดีต ซึ่งคือระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ที่ผ่านเป็นระเบียบกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่, พรรคไทยรักษาชาติ, พรรคไทยรักไทย หรือย้อนไปนานกว่านั้น ซึ่งไม่มีระเบียบข้อบังคับกฎหมายของ กกต.ในการรวบรวมพยานหลักฐานของการยุบพรรค แต่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีกระบวนการนี้เกิดขึ้น

นายพิธา กล่าวในภาพใหญ่ว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมด 33 พรรค มีนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ไปทั้งหมด 249 คนเป็นอย่างน้อย แต่มีอยู่หนึ่งพรรคที่รอดและถูกยกคำร้องเมื่อปี 2553 หรือ 14 ที่แล้ว เนื่องจากกระบวนการคำร้องมิชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนพรรคการเมืองในตอนนั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ และไม่ได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการ

นายพิธา กล่าวต่อว่า กระบวนการในการพิจารณายุบพรรคที่ กกต. ไม่ได้ทำตาม ทำให้ตนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อกล่าวหา ไม่มีโอกาสต่อสู้ ไม่มีโอกาสอธิบายให้ กกต.ฟัง และเป็นโอกาสที่ตนเสียไป ตนเชื่อเหลือเกินว่า ถ้า กกต. ทำตามระเบียบที่ตัวเองออกมาเอง ตนจะมีโอกาสได้อธิบายให้ กกต.เข้าใจ รวมถึงพยานหลักฐานหลาย ๆ ชิ้นที่เราได้มีโอกาสตรวจสอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เห็นภาพ และบุคคลที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบคดี ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอยู่เป็นจำนวนมาก

นายพิธา กล่าวถึงการอ้างอิงในข้อต่อสู้ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน ซึ่งถึงแม้ไม่ได้มีรูปแบบวาจาก็จริง แต่เป็นในแบบลายลักษณ์อักษร ซึ่ง ศ.ดร.สุรพล ได้เขียนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงถึงกระบวนการคณะกรรมาธิการเวนิส (la Commission de Venise) หรือชื่อเต็มว่า ‘คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย’ (la Commission Européen pour la Démocratie par le Droit) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กรณีการรับรองแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมือง ทั้ง 7 ข้อ

นายพิธา ย้ำว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบที่ดูจะย้อนแย้งกัน ๒ ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตย กับ พระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้

นายพิธา ชี้ว่า การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายพิธา ย้ำว่า แน่นอนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐาน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละประเทศนั้น ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม

นายพิธา ย้อนไปว่า ในประวัติศาสตร์ของเรา พระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาในการปรับตัวจนสามารถแผ่พระบารมีปกเกล้ามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว แตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่า และเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน

ดังนั้น การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบโดยใช้กำลัง หรือการกดปราบในนามของกฎหมาย แต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัยระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน

ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย

แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ในการสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้อง หรือพรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพ และความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย

‘ในฐานะผู้ถูกร้องขอเรียนต่อศาลว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก และจักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ’

'อ.ไชยันต์' ถาม 'อานันท์' หากบางพรรคมองไม่ผิด ปม '112-พฤติกรรม สส.' แต่มีคนอื่นๆ เห็นว่าผิด ควรหาทางออกหรือให้ใครเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

(5 ส.ค. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า...

กราบเรียนคุณอานันท์ ปันยารชุน ด้วยความเคารพอย่างสูง

ผมได้ชมคลิปที่ท่านให้สัมภาษณ์ล่าสุด (ที่มีการพูดถึงเรื่อง มาตรา 112) และทราบถึงความเห็นของท่านเกี่ยวกับการให้พรรคการเมืองจัดการดูแลพฤติกรรมของ สส. ในพรรค รวมถึงการให้สภาฯ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก สส. หรือพรรคการเมือง โดยไม่จำเป็นต้อง 'ใช้ศาล' โดยท่านได้ยกตัวอย่าง อังกฤษ และอเมริกา 

ผมเห็นด้วยครับว่า โดยเบื้องต้น พรรคและสภาฯควรหารือและหาทางออกด้วยตัวพรรคการเมืองเอง หรือโดยสภาฯ เพราะกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันได้กำหนดไว้อยู่แล้วด้วย ดังนี้ครับ

มาตรา ๒๒ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ

มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

คำถามหรือปัญหาคือ หากพรรคการเมืองไม่เห็นว่า สมาชิกของตนทำผิด มาตรา 22 และมาตรา 45   แต่มีคนอื่นๆ เห็นว่าผิด  

ผมจึงอยากจะกราบเรียนขอคำชี้แนะจากท่านว่า เราควรหาทางออกหรือหาหน่วยงานองค์กรใดเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในเรื่องสำคัญที่เห็นต่างนี้ครับ ถ้า 'ไม่ใช้' ศาลอย่างที่ท่านกล่าวในการให้สัมภาษณ์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้คำชี้แนะด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ไชยันต์ ไชยพร

ป.ล. อนึ่ง ผมดีใจมากที่ท่านกล่าวให้ความรู้แก่สังคมในเรื่อง ความเที่ยงธรรม (equity) นอกเหนือจาก ความยุติธรรม (justice) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัย ความซื่อสัตย์ ซื่อตรงในตัวคนเป็นสำคัญโดยภาษาอังกฤษมีคำว่า honesty และ integrity ที่แปลไทยเหมือนกัน แต่จริงๆ มันไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ

ผมจึงอยากขอความกรุณาให้ท่านช่วยให้ความรู้แก่สังคมถึงความหมายที่เหมือนและต่างกันของ honesty และ integrity ด้วยครับ

'อ.หริรักษ์' ชี้!! หากกฎหมายยุบพรรคการเมืองเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไข 112 ตามมุม 44 สส. ก็เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญตอบข้อโต้แย้งทั้งหมดของพรรคก้าวไกล และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญต่อกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คนเข้าชื่อกันขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ

ใครที่คิดว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา ต้องไปอ่านรายละเอียดเสียก่อนว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าบอกว่ากฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของสส.44 คน ก็เป็นการยิ่งกว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก เพราะไปยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ที่หมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มาเป็นดังนี้

มาตรา 135/5 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6

มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ หากข้อที่กล่าวหาที่ว่าเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...........

ข้อสรุปที่สำคัญคือ
1. โทษจำคุกสูงสุดของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์คือ 1 ปี หรือจะเสียค่าปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นการลดโทษลงมาให้เหลือเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และจำคุก 6 เดือน หรือปรับสองแสนบาทสำหรับ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต่ำกว่าโทษจำคุกบุคคลธรรมดา
2. หากติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีความผิด
3. หากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมิ่นประมาท เป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ
4. ยอมความได้ เพราะเอาออกจากหมวดความมั่นคง
5. ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และเป็นผู้เสียหายแทน

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โทษจำคุกเพียง 1 ปี หรือน้อยกว่า เสียค่าปรับเอาก็ได้ ยอมความก็ได้ หรือไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ก็เป็นไปได้

ถ้าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ สำนักพระราชวังต้องใช้เจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลได้ เพราะเหตุนี้ประธานรัฐสภาจึงไม่กล้าบรรจุเข้าวาระการประชุม และอย่าได้อ้างว่าเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำของพรรค เพราะการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ซึ่งใครๆก็มองออก และแท้ที่จริงแล้วต้องการยกเลิกมาตรา 112 แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก จึงจะแก้ไขให้มีผลใกล้เคียงกับการยกเลิกมากที่สุด

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการอ้าง 14 ล้านเสียงที่เลือกมา ต้องบอกด้วยว่าใน 14 ล้านเสียงที่เลือกมา มีกี่ล้านเสียงที่เลือกไม่ใช่เพราะต้องการให้ไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 มีจำนวนมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะทำแบบนี้ แต่เลือกเพราะอยากให้โอกาสคนหนุ่มสาวบ้างโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหนุ่มสาวพวกนี้จะไปทำอะไรต่อประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง และมีกี่ล้านเสียงที่เลือกเพราะไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะต้องการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท เลือกเพราะต้องการเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท สารพัดเหตุผล การที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกให้แล้ว จะไปทำอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมายก็ได้

การดิ้นรน การประกาศโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การประกาศยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม หมายถึงการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ได้ และการที่สถานทูตฝั่งตะวันตก 18 ประเทศ การแถลงการณ์ของสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่เป็นแนวร่วม ตลอดจนสำนักข่าวฝั่งตะวันตก ต่างออกมาประสานเสียงว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้น่าเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกับประเทศเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และน่าจะมีวาระหรือ agenda บางอย่างต่อประเทศไทย การยุบพรรคก้าวไกลอาจเป็นการขัดขวางวาระหรือ agenda นั้น ไม่ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการก็ได้

ขอให้ข้อมูลว่า นาย Ben Cardin วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวุฒิสมาชิกที่พยายามยื่นให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครก็ตามกล่าวหา หรือโจมตีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่ใน 38 รัฐในสหรัฐอเมริกา ให้กำหนดโทษเป็นคดีอาญาโดยให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก แต่ยังไม่สำเร็จ

ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยความไม่หวั่นไหวต่อการกดดันของพรรคก้าวไกลและแนวร่วมที่มีชื่อเสียงหลายคน จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องห่วงว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้คนที่สนับสนุนโกรธแค้นจนไประเบิดในคูหาเลือกตั้งครั้งต่อๆไปอย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศ เพราะความจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีคนที่ยังมองไม่เห็นอีกไม่น้อย แต่รับรองว่าไม่ใช่ตายสิบเกิดแสนอย่างที่คุยโม้กัน

สำหรับสส. 44 คนของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ขอให้โชคดี เพราะพวกคุณต้องการคำนี้มากกว่าใครๆในขณะนี้

‘ทักษิณ’ ใส่เสื้อเหลืองขึ้นศาลฯ ตรวจหลักฐานคดี ม.112 แง้ม!! ไม่กังวลเพราะเป็นคดีกระชับอำนาจ หลังปฏิวัติใหม่ๆ

(19 ส.ค. 67) ศาลอาญา นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญายื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดีย (The ChosunMedia) ของเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน

ซึ่งนายทักษิณได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 5 แสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ในวันนี้มีทีมทนายความประมาณ 6-7 คนมาศาล

ต่อมาเวลา 08.53 น. นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีนี้ ได้เดินทางมาศาล โดยสวมเสื้อสีเหลืองใส่สูทดำคลุมทับ พร้อมกล่าวก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดีว่า ไม่มีความกังวล เป็นคดีที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติใหม่ ๆ เป็นการใช้กฎหมายกระชับอำนาจ ส่วนเรื่องพยานเป็นเรื่องทนายความ หลังจากนั้นนายทักษิณได้เดินห้องขึ้นพิจารณาทันที

‘เอกนัฏ’ แจง ไปให้การศาลและเจ้าพนักงานเป็นประจำ ยัน!! ไม่เคยพูด “คำพูดของทักษิณ ไม่เข้ามาตรา 112”

(27 ส.ค. 67) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Harirak Sutabutr' ระบุข้อความว่า...

คุณวัชระ เพชรทอง ออกมาให้ข่าวว่า คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ มีชื่อเป็นพยานให้คุณทักษิณ ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว จากนั้นสำนักข่าวต่าง ๆ ต่างก็รายงานข่าวกันอย่างกว้างขวาง 

ฟังรายงานข่าวแล้วค่อนข้างสับสน บางสำนักรายงานว่า การไปเป็นพยานแต่ละฝ่ายคือ โจทก์และจำเลย จะต้องระบุรายชื่อพยานทางฝ่ายตัวเองยื่นต่อศาล แสดงว่าคุณทักษิณเสนอชื่อคุณเอกนัฏเป็นพยานฝ่ายจำเลย จึงมีคำถามว่า เหตุใดคุณทักษิณจึงเลือกคนที่เป็นศัตรูไปเป็นพยาน หรือเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอชื่อคุณเอกนัฏเป็นรัฐมนตรี ทำให้คนที่ไม่ได้ตามข่าวอย่างละเอียดเข้าใจไปต่าง ๆ นานา จนกระทั่งคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ออกมาให้ข่าวแทนคุณเอกนัฏว่า ที่คุณเอกนัฏไปเป็นพยานนั้น เป็นการให้ปากคำในชั้นการสอบสวนของตำรวจ ตำรวจมีหมายเรียกให้ไปให้ปากคำ ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ต้นปี จึงไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด 

หลังจากนั้นก็มีการตอบโต้คำอธิบายของคุณอรรถวิชช์จากฝ่ายต่าง ๆ ว่า ตำรวจจะไม่เรียกตัวไปให้ปากคำเองโดยไม่มีการระบุชื่อจากโจทก์หรือจำเลย ดังนั้นคุณทักษิณจะต้องระบุชื่อให้คุณเอกนัฏเป็นพยานฝ่ายจำเลยอย่างแน่นอน การที่คุณอรรถวิชช์ให้ข่าวเช่นนั้น จึงน่าจะไม่ใช่ความจริง

ในฐานะที่ผมเคยมีประสบการณ์ให้ปากคำกับตำรวจในคดีความผิดตามมาตรา 112 มาครั้งหนึ่ง จึงขอให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงดังนี้...

1. เมื่อมีผู้ไปร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้ที่กระทำสิ่งที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน จะทำการรวบรวมพยานหลักฐาน และถามความเห็นจากบุคคลต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นปี จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความมั่นใจในพยานหลักฐานแล้วก็จะส่งต่อไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด หากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ก็อาจไม่ส่งไปยังอัยการ และคดีก็จะจบลงในชั้นตำรวจ

2. ในชั้นการสืบสวนของตำรวจ ยังไม่มีโจทก์หรือจำเลย มีแต่ผู้ถูกกล่าวหา จึงยังไม่มีการเสนอรายชื่อพยานในชั้นนี้ไม่ว่าฝ่ายใด 

3. กรณีคุณทักษิณ เรื่องผ่านการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจไปถึงอัยการ และอัยการสูงสุดสั่งฟ้องไปแล้ว เรื่องในขณะนี้อยู่ที่ศาล และมีการนัดตรวจสอบพยานหลักฐานไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการสืบพยานแต่อย่างใด จะมีการสืบพยานครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปีหน้า

การที่คุณอรรถวิชช์ให้ข่าวว่าคุณเอกนัฏได้ไปให้การกับตำรวจไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว น่าจะคลาดเคลื่อนเพราะจากที่เป็นข่าว คดีนี้ผ่านจากตำรวจไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดหลายปีแล้ว แต่ที่ยังไม่สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นเพราะตัวคุณทักษิณอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถมาฟังคำสั่งของอัยการได้ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า ตำรวจ ได้เชิญคุณเอกนัฏไปให้ความเห็นในคดีคุณทักษิณหลายปีมาแล้ว ซึ่งคุณเอกนัฏเท่านั้นที่สามารถบอกได้ 

ผมเองเคยได้รับการติดต่อจากตำรวจซึ่งเป็นรองผู้กำกับจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อไปให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้ถูกร้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งไม่ใช่เป็นหมายเรียก และเราสามารถปฏิเสธไม่ไปก็ได้ แต่ผมก็ไป เมื่อไปถึงท่านรองผู้กำกับก็นำโพสต์ของบุคคลหนึ่งใน Social Media ซึ่งมีคำว่า 'เจ้านาย' ว่าอ่านแล้วคิดอย่างไร ซึ่งเราก็ต้องอ่านข้อความทั้งหมดเสียก่อน จึงจะให้ความเห็นได้ เพราะคำว่า 'เจ้านาย' จะหมายถึงใครย่อมขึ้นอยู่ว่าอยู่ในบริบทไหน ความเห็นเราจึงอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกร้องก็ได้ ซึ่งก็น่าจะคล้าย ๆ กับคดีคุณทักษิณที่มีคำว่า 'Palace Circle' ที่จะต้องตีความว่า หมายถึงใครบ้าง 

ดังนั้นหากคุณเอกนัฏไปให้ความเห็นต่อตำรวจในลักษณะที่ผมเคยไป ก็แสดงว่าคุณเอกนัฏไม่ได้เป็นพยานให้แก่คุณทักษิณแต่อย่างใด เพียงไปให้ความเห็นต่อตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีคุณทักษิณเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี คุณเอกนัฏควรต้องออกมาแถลงด้วยตัวเองว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันจนเลอะเทอะ และทำให้เสียชื่อเสียงไปโดยใช่เหตุ 

หวังว่าที่ยังเงียบอยู่คงไม่ใช่เป็นเพราะคุณเอกนัฏมีชื่อเป็นพยานให้จำเลยคือ คุณทักษิณในชั้นศาลจริง ๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเป็นการให้ความเห็นในชั้นตำรวจอย่างที่คุณอรรถวิชช์ให้ข่าว หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

ทั้งนี้ ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกมาโพสต์คอมเมนต์ข้อความขอบคุณ รศ.หริรักษ์ ที่ช่วยขยายความ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ว่า...

"ตำรวจออกหมายเรียกโดยอ้างว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ไปสอบเพิ่มเมื่อต้นปีจริงครับ ช่วงเดือนมีนาคม ผมไม่เคยเจรจา ซักซ้อมใด ๆ ครับ ในหมายเรียกไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์ช่วงไหน ระบุแต่ผู้ถูกกล่าวหา ข้อหา แต่ไม่ได้บรรยายพฤติกรรมครับ ซึ่งไม่นานมานี้ ผมเคยถูกเชิญโดยตำรวจไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีอื่น เราก็ไปตามหนังสือ ส่วนว่าจะต้องไปเป็นพยานในชั้นศาลหรือไม่นั้น ถึงวันนี้ ไม่ทราบเลยครับ ทราบแต่ว่าอัยการได้ส่งฟ้องไปแล้วครับ"

ขณะที่ด้าน ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ตอบคอมเมนต์ นายเอกนัฏ ด้วยว่า "ควรชี้แจงตั้งแต่ตอนโดนกล่าวหาแล้วนะครับ"

ขณะที่ รศ.หริรักษ์ ได้ตอบกลับคอมเมนต์ของ นายเอกนัฏ ด้วยว่า "เข้าใจแล้วครับ โล่งอกที่คุณเอกนัฏไม่ได้เป็นพยานให้จำเลย และไปให้ข้อมูลต่อตำรวจ เมื่ออัยการมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติม ขอบคุณที่ชี้แจงครับ"

ทั้งนี้ มีชาวเน็ตท่านหนึ่งเข้ามาถามคอมเมนต์ของนายเอกนัฏ ด้วยว่า "เรื่องตำรวจออกหมายเรียกหรือจะไปเองก็เรื่องนึง แต่สังคมอยากรู้ว่าคุณเอกนัฏพูดประโยคนี้ "…(การ)บอกว่าคำพูดของทักษิณไม่เข้ามาตรา 112 นั้น" ตามที่ วัชระ เพชรทอง กล่าวหา ว่าเป็นความจริงหรือป่าวก็แค่นั้นเอง"

ด้าน นายเอกนัฏ ตอบกลับทันทีว่า "ไม่เคยพูดประโยคนี้ครับ" ซึ่งชาวเน็ตก็มองว่า "หากมีการนำคำอ้างแบบนี้มาใช้ ก็สมควรดำเนินการฟ้องผู้กล่าวอ้างคืนเสียบ้าง"

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในมุมมองของชาวเน็ตส่วนใหญ่ ยังเห็นไปในทางเดียวกันอีกด้วยว่า "นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชอบทำอะไรเงียบๆ ไม่ค่อยออกมาตอบเรื่องใด ๆ ในทันที อย่างเรื่องดี ๆ ที่ทำไป ก็มักจะหายเข้ากลีบเมฆ แต่ถ้าเป็นเรื่องปมดรามาหรือประเด็นทางสังคม ก็มักจะปล่อยให้ถูกนำมาโจมตีและแพร่กระจายในโซเชียลโดยไม่มีการชี้แจงทันที... พรรค รทสช.ควรทำงานด้านการสื่อสารเพิ่มบ้าง"

'เพจดัง' แฉ!! 'โฟล์ค' ผู้สมัคร สส.เขต 1 พิษณุโลกแทน 'หมออ๋อง' รณรงค์ยกเลิก ม.112 มาโดยตลอด จี้!! พรรคเห็นด้วยใช่หรือไม่?

(2 ก.ย. 67) เพจ 'วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร' โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

#ทุกคนคะ นาย Folk (โฟล์ค-ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์) ผู้สมัคร เขต 1 พิษณุโลก พรรคส้ม เป็นแกนนำในการรณรงค์ ยกเลิก ม.112 มาโดยตลอด

ฝากพี่นักข่าวถาม Folk ด้วยนะคะ ถ้าเป็น สส. ยังจะเคลื่อนไหวยกเลิก ม.112 อีกหรือไม่คะ

และฝากถามพี่เท้ง พรรคส้มรู้ว่านาย Folk ต้องการยกเลิก ม.112 แต่ยังยืนยันส่งสมัคร แสดงว่าพรรคเห็นด้วยใช่หรือไม่คะ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติ ของ 'โฟล์ค' ในนามพรรคประชาชน ว่าเป็นสมาชิกพรรคครบ 90 วันหรือไม่ อีกด้วย

ทว่า ล่าสุดมีรายงานแจ้งว่า ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค แกนนำพรรคก้าวไกลได้เตรียมการเผื่อไว้ล่วงหน้า โดยส่ง 'โพล์ค' สมัครเป็นสมาชิกพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล

ต่อมาภายหลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล สส.พรรคก้าวไกล ย้ายเข้าสังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรรคประชาชน ทำให้ 'โฟล์ค' เป็นสมาชิกพรรคประชาชน เกิน 90 วัน มีคุณสมับติสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 จังหวัดพิษณุโลกได้

'อัครเดช-รวมไทยสร้างชาติ' ย้ำ!! นโยบายรัฐบาลใหม่ ห้ามแก้ ม.112 พร้อมชูโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับประชาชน

(4 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรีและฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ที่ประชุมได้มีมติ 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีการลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 5 กันยายน 2567 พรรครวมไทยสร้างชาติมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากมีความต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ การมีมติพรรคในการผ่านกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

นายอัครเดช กล่าวว่า ในเรื่องต่อมาคือนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะบรรจุในนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการแถลงนโยบายประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องแรกเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายพรรครวมไทยสร้างชาติขอยืนยันจุดยืนเดิมว่าจะต้องไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงห้ามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 และในประเด็นเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญ

นายอัครเดช กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายจะเป็นนโยบายของพรรคในเรื่องพลังงาน ที่จะต้องมีการสร้างโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมกับประชาชน และการดำเนินการตามแนวทางรื้อ-ลด-ปลด-สร้าง นโยบายนี้จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนได้อย่างมาก ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อร่างกฎหมายโครงสร้างพลังงานผ่านเป็นกฎหมายแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติขอยืนยันว่าพร้อมจะสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวที่ยกร่างโดยนายพีระพันธุ์ต่อไป

อุทาหรณ์!! จุดจบ 'สามนิ้ว' โดนคดี 112 ติดคุกยาวๆ ไร้คนเยี่ยมดูแล แม้แต่คนเคยปลุกปั่น วันนี้ก็เมิน

เวลาผมเขียนบทความในเรื่องที่เกี่ยวกับ 'บาปบุญคุณโทษ' ที่ใครสักคนกระทำเลว ๆ ต่อสถาบันเบื้องสูง ไม่ว่าจะด้วยตัวเอง, รับงานใครมา, ถูกหลอกใช้ หรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความเลวทรามอีกที เหล่านี้จะได้รับ 'กรรมสนอง' อย่างรวดเร็วและไม่ต้องรอถึงชาติหน้า มีให้เห็นมาแล้วนับไม่ถ้วน 

แต่ก็มักจะมีพวก 'ส้มสามนิ้ว' เข้ามาเยาะเย้ย ถากถาง เสียดสีผมว่าเป็น 'พวกหัวเก่า' เชื่อในสิ่งที่งมงาย ดีแต่บ้าบอยกยอว่า 'สถาบัน' นั้นศักดิ์สิทธิ์ ใครทำร้ายก็จะโดนเล่นงานให้ต้องพบวิบากกรรม

สิ่งที่ผมเขียน ผมเขียนมาจากประสบการณ์ตรงในชีวิต ผ่านการพบเห็นกับสองตามาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เขียนมาจากการที่มีพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านอบรมสั่งสอน และเตือนสติไว้อย่างหนัก ๆ ว่า จะล้อเล่นกับอะไรก็ได้ แต่ 'อย่าล้อเล่นกับสถาบัน' อย่านำสถาบันไปลบหลู่ดูหมิ่น หรือคิดล้มล้างทำลาย ด้วยสถาบันเบื้องสูงไม่ใช่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คือราก คือฐาน คือหลายองค์ประกอบของผู้คนชั้นสูงในอดีต ยังรวมถึงเหล่านักรบที่รักชาติยิ่งชีพ รักและยอมตายเพื่อพระมหากษัตริย์ไทย 'แผ่นดินทอง' จึงรอดปลอดภัยจากอุ้งมือฝรั่งมาเป็น 'แผ่นดินไทย' ที่งามสง่าอย่างเช่นทุกวันนี้ 

คงมีแต่ 'คนเสียสติ' และต้องมีระดับของความอกตัญญูสูงปี๊ดชนิดที่ 'สัตว์เดรัจฉาน' ยังเรียกพี่เท่านั้น ที่นอกจากจะไม่ตอบแทน กลับคิดร้าย จ้องทำลายสิ่งที่มีส่วนสำคัญให้ 'ไทยเป็นไทย' 

แท้ที่จริง การไม่คิดปกป้องดูแล ไม่ใส่ใจไยดี อยากแค่ใช้ชีวิตทำมาหากินไปวัน ๆ ก็ยังจะดีกว่ากลุ่มคนที่ 'ชูสามนิ้ว' ที่ตั้งใจเซาะกร่อนสถาบัน จนต้องโดนคดี 112 จนนับไม่ถ้วน

เพราะความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ตั้ง คนไทยรุ่นต่อรุ่น จึงส่งต่อแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งสถาบันเบื้องสูง ให้เป็น 'ศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ' เสมือนเป็นเสาหลักของความมั่นคงที่คนไทยต้องปกปักรักษาไว้ตราบนาน เราจึงต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบัน ใครก็ตามที่คิดร้าย ทำลาย ก็หนีไม่พ้นต้องโดนคดี  

ดังเช่นวันนี้ กลุ่มคน 'สามนิ้ว' ที่ถูกปลุกปั่นจากพรรคการเมืองที่คิดล้มล้างการปกครอง ต้องติดคุกกันระนาว พรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังตีตัวออกห่าง ปล่อยลอยแพ 'คนสามนิ้ว' ให้หมดอนาคตอยู่ในคุกโดยลำพัง 

แต่จงเชื่อเถิด ใครที่คิดร้ายต่อสถาบัน ไม่นานก็จะเกมตาม ๆ กันไป 

'เพนกวิน' โพสต์เฟซบุ๊กครั้งแรกหลังได้รับสถานะผู้ลี้ภัย เผยได้รับทุนเรียนต่อ ป.โท-เอก มหาวิทยาลัยระดับโลก

(2 ต.ค. 67) หลังจากเงียบหายไปตั้งแต่ 14 พ.ค. 67 เพนกวิน หนึ่งในแกนนำการชุมนุมเมื่อปี 2562 ได้แจ้งข่าวบนเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรกใน 'สถานะผู้ลี้ภัย' ว่า 

สวัสดีครับ เพื่อนพ้องและพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกคน

วันนี้ผมมีข่าวดีมาแจ้งให้พี่น้องทุกคนได้ทราบว่าผมได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกแบบเต็มจำนวนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศโลกเสรี การได้ศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกนั้นถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งของชีวิตผม แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึงจำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาต่อโดยไม่ได้ร่ำลาและแจ้งให้พี่น้องได้ทราบกันล่วงหน้า ตัวผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

นับจากวันนี้ไป ผมเชื่อว่าคงจะมีหลายคนซึ่งอาจยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองกับผมออกมาเย้ยหยันว่าผมเป็นนักโทษหนีคดี เหมือนกับที่เคยเย้ยหยันคนอื่น ๆ มาก่อน ขอใช้โอกาสนี้เรียนไปถึงกลุ่มคนเหล่านั้นว่าการดำเนินคดีความทั้งหลายกว่า 30 คดีที่ผมตกเป็นจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหานั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับการยอมรับในสังคมนานาชาติว่าเป็นการดำเนินคดีความทางการเมือง ไม่ใช่การดำเนินคดีทางอาญา อีกทั้งกฎหมายที่ใช้กล่าวหาและดำเนินคดีผม โดยเฉพาะกฎหมายมาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายป่าเถื่อน ล้าหลัง และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมนานาชาติ ผมจึงมิได้เป็นอาชญากรในสายตาสังคมอารยประเทศทั้งหลาย ในทางตรงกันข้าม บุคคลและระบอบที่ใช้กฎหมายป่าเถื่อนล้าหลังดำเนินคดีผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อปราบปรามทางการเมืองต่างหากที่จะถูกถือว่าเป็นอาชญากร

สำหรับเพื่อนพ้องและพี่น้องทุกคนที่ได้ร่วมฝัน ร่วมต่อสู้ และร่วมเป็นกำลังใจกับผมในตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณทุกความเชื่อมั่นและการสนับสนุนที่ทุกท่านมีให้ผมตลอดมาไม่ขาด หลังปี 2565 เป็นต้นมา เงื่อนไขทางกฎหมายได้จำกัดเสรีภาพทางการแสดงออกของผมเป็นอย่างมาก ผมขอให้คำมั่นว่าไม่ว่าตัวผมจะอยู่ ๆ แห่งหนตำบลใดหรือในสถานการณ์ใด ผมก็ยังคงเป็นผมคนเดิมที่ทุกท่านรู้จัก หัวใจของผมยังคงอยู่กับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยของประชาชนไทย รวมถึงความก้าวหน้าของประเทศชาติเราเหมือนที่เป็นตลอดมา

ในโอกาสนี้ ผมขอส่งใจให้กับมิตรสหายเพื่อนร่วมอุดมการณ์และพี่น้องประชาชนที่ต้องเผชิญหน้ากับการละเมิดสิทธิและปิดกั้นเสรีภาพโดยใช้กฎหมายที่ไร้ความเป็นธรรมเป็นข้ออ้าง โดยเฉพาะทนายอานนท์ นำภาและนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมกว่า 40 คน ผมขอเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด เพื่อลดความตึงเครียดในสังคมและฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมนานาชาติ ผมเชื่อว่าผู้คนในอารยประเทศนั้น หากได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยก็จะเรียกร้องเหมือนกันกับผมเช่นกัน

ท้ายที่สุดนี้ ผมเชื่อว่าหากพวกเราคนไทยยังไม่หยุดใฝ่ฝันถึงเสรีภาพ เสรีภาพและความเป็นธรรมที่แท้จริงก็จะมาถึงพี่น้องคนไทยทุกคนในเร็ววัน

ขอฝากรัก ศรัทธา และความนับถือมาถึงเพื่อนพ้องและพี่น้องทุกคนจนกว่าวันที่เราจะได้พบกันอีก

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้นายภาณุพงศ์ มะณีวงศ์ หรือ ไมค์ ระยอง ได้เป็นผู้ลี้ภัยไปแล้ว 

‘ธนกร’ อัดเต็มแรงใส่ ‘ธนาธร’ ละเมิดกฎหมายไม่ใช่ความเสมอภาค ย้ำชัด ๆ สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง หยุดหนุนหลังคนออกมาก้าวล่วง

(7 ต.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ  อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า พูดบนเวทีงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ที่พูดถึงความเสมอภาคในสังคมไทย ว่า 

การพูดถึงเรื่องคดีความต่าง ๆ ที่บุคคลกระทำความผิด ก็สมควรที่จะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่คดีที่พรรคการเมืองถูกตัดสินยุบพรรคและบุคคลที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น 

ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องการสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยให้มีสิทธิ เสรีภาพ มีความเจริญก้าวหน้ามีความเสมอภาคเท่าเทียม อย่างที่นายธนาธรกล่าวอ้าง  แต่เป็นการทำผิดละเมิดกฎหมายหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง เพราะไม่ใช่กับบุคคลธรรมดาแต่เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์ประมุขของรัฐ ถือเป็นความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง 

เมื่อถามว่าเหตุใดนายธนาธรถึงกล้าพูดชัดว่า ปี 2563-2564 รวมถึงการหาเสียงเรื่องการแก้ ม.112 ในปี 2566 มีการพูดเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในสังคม ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย และรู้สึกตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น 

นายธนกร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการพูดของนายธนาธรครั้งนี้ เป็นการเปิดเผยเจตนาเบื้องลึกเบื้องหลัง หรือ ธาตุแท้อย่างชัดเจน เพราะพูดด้วยความภาคภูมิใจ เสมือนหนึ่งว่าได้ร่วมสร้าง ประวัติศาสตร์นี้ขึ้นมา เพื่อให้สังคม กล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์เบื้องสูงได้อย่างหน้าตาเฉย ซึ่งตน ก็สงสัยและตั้งคำถามเหมือนกันว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศตรงไหน 

พร้อมขอตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์จากคำพูดนายธนาธร มองว่าความคิดในลักษณะนี้เป็นความไม่ปลอดภัยของชาติบ้านเมือง เพราะไม่มีคนไทยที่รักประเทศชาติ รักสถาบันฯ คนไหนเขาคิดกันแบบนี้  และตนไม่เห็นผู้นำพรรคการเมือง หรือองค์กร หน่วยงานใด สนับสนุนให้คนจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบัน ซึ่งเป็นการทำลายชาติแบบนี้

“ขอย้ำว่าสถาบันฯอยู่เหนือการเมือง และอย่านำเรื่องนี้ มาเกี่ยวโยงอ้างประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน พี่น้องประชาชนชาวไทย ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ เพราะทุกวิกฤตตั้งแต่ ภัยธรรมชาติ ภัยโรคระบาด ไปจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจ สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงไม่เคยทิ้งคนไทยเลย  จึงขอให้นายธนาธรและพวกทบทวนแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองเสียใหม่ อย่าเป็นพวกจาบจ้วง เซาะกร่อนบ่อนทำลายชาติ เห็นผิดเป็นชอบ หยุดพยายามโน้มน้าวให้คนไทยเห็นดำเป็นขาวแบบนี้เลย ถ้านายธนาธรบอกว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดีจริงๆ หยุดเถอะครับ หันไปทุ่มสรรพกำลัง นำกำลังคน สิ่งของไปช่วยพี่น้องที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในภาคเหนือจะดีกว่า“ นายธนกร ระบุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top