Saturday, 26 April 2025
มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#11 พันธมิตรของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : “ไทย” (2)

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ไห้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไทยยืนยันว่า การช่วยเหลือเวียตนามใต้เป็นการหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากสหรัฐฯ จากการสนับสนุนรัฐบาลไซง่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งการมีส่วนร่วมของไทยเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรโลกเสรีของสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง

คำร้องขอของประธานาธิบดีจอห์นสัน ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยในปี 1964 : “ข้าพเจ้าตระหนักดีและซาบซึ้งอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของท่านกับรัฐบาลของท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าประเทศไทยจะหาวิธีเพิ่มขอบเขตและขนาดของความช่วยเหลือแก่เวียตนามใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโลกเสรีที่จะร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์” และ “แถลงการณ์ของรัฐบาลไทย 3 มกราคม 1967” ความว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเวียตนามใต้ และจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์ตามที่ได้ประกาศไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งหน่วยทหารไปช่วยต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เมื่อยังอยู่ห่างไกลจากประเทศของเรา รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งหน่วยรบหนึ่งกองพันเพื่อมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสู้รบในเวียดนามใต้ในอนาคตอันใกล้”

ปัจจัยที่โดดเด่นหลายประการทำให้ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ประการแรก รัฐบาลไทยเชื่ออย่างยิ่งว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามไม่เพียงแต่ต่อประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย พวกเขาตั้งใจที่จะปราบปรามภัยคุกคามนี้ก่อนที่มันจะทำลายล้างพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอเมริกาในภูมิภาคนี้
ประการที่สอง ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของไทย ลัทธิอาณานิคมไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจของคนไทยแต่อย่างใด เพราะไทยไม่เคยถูกปกครองโดยมหาอำนาจชาติเจ้าอาณานิคม และแม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอังกฤษในพม่าทางด้านตะวันตก และจากฝรั่งเศสในอินโดจีนทางด้านตะวันออก แต่ไทยก็ไม่เคยยอมสละอำนาจอธิปไตยของชาติไป ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านและความไม่ไว้วางใจชาวยุโรปและอเมริกาน้อยกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด 
ประการที่สาม ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติภารกิจทางอากาศในเวียตนามเหนือและเวียตนามใต้ (รวมทั้งลาวและกัมพูชาด้วย) อาทิ สามารถลดค่าใช้จ่ายของเครื่องบิน B-52 ที่ต้องบินจากฐานทัพอากาศในเกาะกวมถึงเที่ยวบินละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มทำการบินจากฐานทัพต่าง ๆ 7 แห่งในประเทศไทย (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา (โคราช) นครสวรรค์ (ตาคลี) นครพนม อู่ตะเภา และดอนเมือง (กรุงเทพฯ))  ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 สหรัฐฯ ใช้เงิน 250 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงฐานทัพเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วงสงคราม ในเดือนตุลาคม 1967 กำลังรบชุดแรกของไทยเดินทางมาถึงเวียตนามใต้เพื่อร่วมรบกับทหารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ โดยได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 9 สหรัฐฯประจำการอยู่ที่ค่ายแบร์แคท ใกล้เมืองเบียนฮัว กองกำลังเหล่านี้ได้แก่ กรมทหารอาสาสมัคร (กองกำลังจงอางศึก) ซึ่งเป็นกำลังรบชุดแรก ในปี 1968 กองกำลังจงอางศึกถูกแทนที่ด้วยกองพลทหารอาสาสมัครของกองทัพบกไทย (กองพลเสือดำ) ผู้สังเกตการณ์ทางทหารในเวียตนามใต้ส่วนใหญ่ระบุในรายงานว่า กองกำลังของไทยทำการรบในเวียตนามใต้อย่างองอาจและกล้าหาญ เป็นที่ชื่นชอบของกองทัพอเมริกัน ทหารไทยหลายนายได้นำเครื่องรางมากมายหลายชนิดติดตัวมาเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ตามความเชื่อของตน ซึ่งทหารอเมริกันหลายนายที่ได้รับการแบ่งปันเครื่องรางเหล่านั้นต่างก็มีความเชื่อเช่นนั้นด้วย

วีรกรรมสำคัญของทหารไทยในเวียตนามใต้ อาทิ (1)สมรภูมิฟุกโถ (Phuoc Tho) ในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 1967 เวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่กำลังพลของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 กรมทหารอาสาสมัคร จำนวน 3 หมวด (ประมาณ 90 นาย) กำลังตั้งฐานปฏิบัติการควบคุมเส้นทาง ถนนสายสมเกียรติ (สาย 319) ซึ่งเป็นถนนยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายเวียตกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง และเข้าไปมีอิทธิพลในหมู่บ้านฟุกโถ ปรากฏว่าฝ่ายเวียตกงได้ส่งกำลังจำนวน 11 กองพัน (เพิ่มเติมกำลัง) เข้ามาในบริเวณที่ทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ และเริ่มการโจมตีโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดยิงปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ไปทางตะวันตกประมาณ 3.5 ก.ม. เพื่อตรึงมิให้ปืนใหญ่ฝ่ายไทยยิงสนับสนุนกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ระดมยิงฐานที่ตั้งของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 อย่างรุนแรง

หลังจากนั้นข้าศึกได้ส่งหน่วย ทหารราบจำนวน 1 กองพันบุกเข้าโจมตีรอบฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 โดยเข้าตี 3 ทิศทาง คือ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ฝ่ายไทยได้ใช้อาวุธทุกชนิดที่มีเข้าสนับสนุน เพื่อผลักดันการเข้าตีของข้าศึก แต่เนื่องจากข้าศึกมีจำนวนมากกว่า จึงสามารถฝ่าแนวลวดหนามเข้ามาได้ ทหารไทยในแนวรบได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตลอดเวลา โดยไม่ยอมผละจากที่มั่น ส่วนกำลังทหารปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของฝ่ายไทยพยายามยิงสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา การรบได้ดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. ข้าศึกเห็นว่าคงไม่สามารถยึดที่มั่นของไทยได้จึงเริ่มถอนกำลังกลับ การรบได้ยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ภายหลังการสู้รบยุติลง ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บสาหัสอีก 23 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 48 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 95 ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ 90 ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก สรุปแล้วสามารถสังหารเวียตกงได้กว่า 185 ศพ) และบาดเจ็บ 80 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 2 คน พร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

(2)การรบที่บินห์สัน (Binh Son) ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กันยายน 1968 เวลาประมาณ 03.15 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่ 2 และ 3 ของกองพันทหารราบที่ 3 ของไทย โดยเข้าตี 5 ทิศทางเป็น 2 ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียตกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายไทยเพียง 180 – 200 หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมากจนต้องถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บสาหัส 11 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 15 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 65 ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ 30 ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 01.35 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ 3 กองพันทหารราบที่ 3 ของไทย เป็น 2 ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกลได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียตกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้นเมื่อเวลา 03.00 น. ผลปรากฏว่า ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 4 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 41 ศพ ยึดอาวุธยุโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 3 คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 00.25 น. เวียตกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่3 กองพันทหารราบที่ 3 โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน 3 ทิศทาง กรมทหารราบที่ 31 ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผลฝ่ายเวียตกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่นถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 87 ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นกองกำลังของไทยได้ทำการรบในอีกหลาย ๆ สมรภูมิ และในทุกสมรภูมินั้นทหารไทยทำการรบจนประสบชัยชนะด้วยดีสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงกันข้ามมากมาย 

ในช่วงสงครามเวียตนาม รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นเวียดนามใต้ เช่นเดียวกับทหารเวียตนามใต้ ทหารไทยได้รับการฝึกฝนและจัดเตรียมอุปกรณ์โดยสหรัฐฯ ขนส่งด้วยเรือและเครื่องบินของสหรัฐฯ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน แต่ไทยก็ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเวียตนามใต้ ลาว และกัมพูชาในเวลาต่อมา แม้ว่าในที่สุดแล้วทั้งสามประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แต่ยุทธศาสตร์ของไทยในการควบคุมภัยคุกคามนอกประเทศก็นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี ทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของกองทัพไทยสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศของตนเป็นผลสำเร็จ สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินต่อไประหว่างเดือนกันยายน 1967 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1972 มีทหารไทยเกือบ 40,000 นายหมุนเวียนประจำการในเวียตนามใต้ ในจำนวนนี้ 351 นายเสียชีวิต และอีก 1,358 นายได้รับบาดเจ็บ แต่ความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กองทัพไทยผูกติดกับระบบอาวุธยุทโธปกรณืของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี การรบตามแบบของกองทัพสหรัฐฯ นั้นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ให้เป็นไปตามบริบทของไทยเองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่า ยังต้องมีการซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้พึ่งพิงสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว และยังมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งขั้วตรงข้ามกับสหรัฐฯ อีกด้วย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#12 พันธมิตรของเวียตนามเหนือ : ลาว-เขมรแดง -สหภาพโซเวียต

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทุ่มเท กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณมากมายมหาศาลเข้าสู่เวียตนามใต้ สหภาพโซเวียตก็มีทั้งบทบาทและส่วนร่วมในเวียตนามเหนือเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในฐานะที่เป็นอำนาจคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหภาพโซเวียตขณะที่ยังไม่ขัดแย้งแตกคอกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปยังเวียตนามเหนือ ทั้งมอสโกและปักกิ่งหวังที่จะรวมและขยายคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ไม่เพียงแต่การเติบโตขึ้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียจะช่วยให้สร้างสมดุลกับตะวันตกในสงครามเย็นเท่านั้น แต่ยังเกิดผลประโยชน์ต่อทั้งรัสเซียและจีน การสนับสนุนของโซเวียตและจีนมีความสำคัญต่อฮานอยและมีส่วนทำให้เวียตนามเหนือประสบชัยชนะในที่สุด

ปารีส ในปี 1920 โฮจินมินห์ได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส สามปีต่อมาเขาเดินทางไปมอสโก ซึ่งเขาได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีคอมมิวนิสต์และการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังเป็นตัวแทนของเวียตนามประสานงานกับองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Communist International : Comintern) ซึ่งเป็นองค์การที่ทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดปฏิวัติ ล้มล้างนายทุนและจักรวรรดินิยมตามแบบการปฏิวัติของบอลเชวิก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโฮจิมินห์มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เต็มตัว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในเวียตนามเพียงเล็กน้อย เพราะ โจเซฟ “สตาลิน” พยายามที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพันธมิตรสงครามฝ่ายตะวันตกอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว และเลือกที่จะไม่เป็นปฏิปักษ์พวกเขาด้วยการสนับสนุนเวียตมินห์ ในปี 1946-47 “สตาลิน” ยังคงไม่ไว้วางใจในกลุ่มคอมมิวนิสต์ของเอเชีย โดยมองว่าอ่อนแอ ไม่มีวินัย และชื่อเสียงไม่ดี อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ของตนเองและความเป็นชาตินิยม ปลายปี 1949 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ความตึงเครียดของสหรัฐอเมริกา-โซเวียตเพิ่มขึ้น และชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์นำโดย “เหมาเจ๋อตง” ในจีน (ตุลาคม 1949) เป็นพัฒนาการที่มีความรุนแรงที่สุดในยุคสงครามเย็น มกราคมปี 1950 มอสโกได้ให้การยอมรับ “โฮจิมินห์และเวียดมินห์” ในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ และ 'เจ้าหน้าที่' ของเวียตนาม โฮจิมินห์ได้เดินทางไปมอสโกและแสวงหาการสนับสนุนทางทหารจากสหภาพโซเวียตเพื่อสงครามอิสรภาพกับฝรั่งเศส แต่ “สตาลิน” ซึ่งยังมีความสนใจอยู่ในยุโรปได้ปฏิเสธการพูดคุยเจรจา โดยสนับสนุนให้ “เหมาเจ๋อตง” เป็นพันธมิตรคอมมิวนิสต์สนับสนุนเวียคมินห์แทน

ในเบื้องต้นจีนให้การสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ปัญหาระหว่างเวียตนามเหนือและจากความพยายามที่จะครอบงำของจีน ทำให้ในที่สุดก็ทำให้เวียตนามเหนือหันไปหาสหภาพโซเวียตเพื่อขอความช่วยเหลือ ก่อนปี 1967 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือทางทหารโดยการฝึกอบรมบุคลากรกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ต่อมาสหภาพโซเวียตได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่, ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางทหารอื่น ๆ ให้เวียตนามเหนือ กล่าวกันว่า ทีมงานชาวโซเวียตรัสเซียเป็นผู้ยิงเครื่องบินรบไอพ่นแบบ F-4 Phantoms ของสหรัฐฯ ตกที่เมือง Thanh Hóa ในปี 1965 ภายหลังจากการสลายตัวของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เจ้าหน้าที่ของสหพันธรัฐรัสเซียยอมรับว่า ในช่วงสงครามเวียตนาม สหภาพโซเวียตได้ส่งทหารราว 3,300 นายประจำการในเวียตนามเหนือ

นอกจากนี้เรือหาข่าวของสหภาพโซเวียตในทะเลจีนใต้ได้ส่งคำเตือนล่วงหน้าแก่เวียตนามเหนือ โดยทำการตรวจหาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 อเมริกันที่บินจากเกาะโอกินาวาและเกาะกวม เครื่องบินและทิศทางจะถูกบันทึกไว้แล้วส่งไปทำการวิเคราะห์ละคำนวณเป้าหมายการทิ้งระเบิด เพื่อแจ้งเตือนให้ย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญ คำเตือนล่วงหน้าเหล่านี้ทำให้เวียตนามเหนือมีเวลาพอที่จะย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ให้ปลอดภัยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และในขณะที่มีการทิ้งระเบิดซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี 1968-1970 ด้วยการแจ้งเตือนทำให้เวียตนามเหนือไม่สูญเสียผู้นำทหารหรือพลเรือนเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ยังมีการขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เวียตนามเหนือพัฒนาวิธีโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านสหรัฐฯ

ระหว่างปี 1953 ถึง 1991 สหภาพโซเวียตส่งมอบอาวุธยุทโธปกร์ให้เวียตนามเหนือประกอบด้วยรถถัง 2,000 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 1,700 คัน ปืนใหญ่ 7,000 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานมากกว่า 5,000 กระบอก ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ 158 ระบบ และเฮลิคอปเตอร์ 120 ลำ ในช่วงสงครามสหภาพโซเวียตส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เวียตนามเหนือมูลค่าปีละ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงเรียนทหารและสถาบันการศึกษาของโซเวียตได้ฝึกบุคลากรทางทหารของเวียตนามเหนือมากกว่า 10,000 คน ในปี 1964 นักบินเครื่องบินขับไล่เวียตนามเหนือและพลปืนต่อต้านอากาศยานได้รับการฝึกฝนในสหภาพโซเวียต โดยมีที่ปรึกษาโซเวียตยังถูกส่งไปประจำการในเวียตนามเหนือ ในช่วงต้น ๆ เมื่อกองทหารเวียตนามเหนือยังคงไม่คุ้นเคยกับอาวุธต่อสู้อากาศยานของสหภาพโซเวียต ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตได้เข้าจัดการระบบปืนด้วยตัวเองและทีมงานได้ยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกด้วย มีรายงานว่า ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตทีมหนึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกถึง 6 ลำ

KGB ยังช่วยพัฒนาความสามารถของ Signals Intelligence (SIGINT) ของเวียตนามเหนือผ่านการดำเนินการที่รู้จักกันใน “โปรแกรม Vostok” ซึ่งเป็นโปรแกรมข่าวกรองและการจารกรรม โปรแกรมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจจับและเอาชนะทีมคอมมานโดของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ที่ส่งไปยังเวียตนามเหนือ โซเวียตยังช่วยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียตนามเหนือรับสมัครชาวต่างชาติในวงการทูตระดับสูงในหมู่พันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ภายใต้โครงการลับ "B12, MM" ซึ่งสามารถจัดทำเอกสารความลับระดับสูงนานเกือบทศวรรษหลายพันรายการ รวมถึงเป้าหมายของการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B-52 ในปี 1975 SIGINT ได้ทำลายข้อมูลจากพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามแม้ว่าทหารและเจ้าหน้าที่ของสหภาพโซเวียตจะถูกระบุให้เป็น“ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารของโซเวียต” เนื่องจากสหภาพโซเวียตอ้างว่าไม่มี “ทหาร” ในสงครามเวียตนาม แต่ก็สูญเสียเจ้าหน้าที่ไป 16 นาย แม้การมีส่วนร่วมของสหภาพโซเวียตนั้นจะไม่มากเท่ากับกรณีสหรัฐฯ กับเวียตนามใต้ แต่สำหรับเวียตนามเหนือแล้ว ถือเป็นความช่วยเหลือที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสหภาพโซเวียตได้ถือโอกาสนี้ในการทดสอบทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีการรบที่ดำเนินการในสถานการณ์จริง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#13 'จีน' พันธมิตรสำคัญของเวียตนามเหนือ

สงครามเวียตนามเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของโลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แม้ว่าจะเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'จีน' ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามเวียตนาม โดยจีนให้การสนับสนุนทางการทหารแก่เวียตนามเหนือในการสู้รบกับเวียตนามใต้และสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม

เดือนตุลาคม 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ก่อตั้งขึ้น และเดือนมกราคม 1950 สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียตนาม (DRV) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งนี้เปลี่ยนสถานการณ์ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งกับเวียตมินห์ และส่งผลโดยตรงต่อสงครามเวียตนามในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของเหมาเจ๋อตุงมีบทบาทสำคัญในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ในเดือนเมษายน 1950 เวียตมินห์ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากจีนอย่างเป็นทางการรวมทั้งอุปกรณ์ที่ปรึกษาและการฝึกอบรม จีนเริ่มส่งที่ปรึกษาของตนและต่อมาได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารของจีน (CMAG) เพื่อช่วยเหลือเวียตมินห์ ซึ่งนำโดยนายพลเว่ยกัวชิง กับพลเอกอาวุโสเฉินเกิง นี่คือจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือของจีน

ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 และช่วงส่วนใหญ่ของทศวรรษ 1960 เหมาเจ๋อตุงเหมาถือว่าสหรัฐอเมริกาเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงและการปฏิวัติของจีน และอินโดจีนถือเป็นหนึ่งในสามแนวรบ (อีกสองแนวรบคือ เกาหลี และไต้หวัน) ซึ่งเหมาเจ๋อตุงมองว่า เสี่ยงต่อการรุกรานโดยประเทศจักรวรรดินิยม  ดังนั้นการสนับสนุนโฮจิมินห์ของเหมาเจ๋อตุง จึงเริ่มต้นด้วยความกังวลด้านความมั่นคงของจีน ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเสื่อมถอยลงในปี 1968 สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของจีนเปลี่ยนไปเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความขัดแย้งชายแดนจีน-โซเวียตในเดือนมีนาคม 1969 เหมาเจ๋อตุงได้กล่าวว่า สหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน จากนั้นได้เริ่มปรับนโยบายของจีนให้เข้ากับสหรัฐฯ และสนับสนุนให้เวียตนามเหนือบรรลุข้อตกลงสันติภาพ อย่างเด็ดขาด เมื่อจีนพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกา “เวียดนามเหนือยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างสิ้นหวังกับอเมริกา” ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียตนามเหนือ และทำให้จีนลดความช่วยเหลือทางทหารต่อเวียดนามเหนือลงตั้งแต่ช่วงปี 1969-1970 เป็นต้นมา

การสนับสนุนของจีนสำหรับเวียตนามเหนือเมื่อสหรัฐฯ เริ่มเข้าแทรกแซงในเวียตนาม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และบทบาทในการสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารหลายแสนคน ฤดูร้อนปี 1962 เหมาเจ๋อตงได้ตกลงที่จะจัดหาอาวุธปืนจำนวน 90,000 กระบอกให้กับเวียตนามเหนือโดยเป็นการให้เปล่า ต่อมาในปี 1965 จีนส่งหน่วยต่อสู้อากาศยานและกองพันวิศวกรรมไปยังเวียตนามเหนือเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทหารจีนสร้างถนนและทางรถไฟขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกองทัพเวียตนามเหนือสำหรับการสู้รบในเวียตนามใต้ จีนส่งกองกำลัง 320,000 นาย และส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าปีละ 180 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 1964 ถึง 1975 จีนได้มอบความช่วยเหลือทางทหารให้กับเวียดนามเหนือประกอบด้วย อาวุธปืนเล็ก 1,922,897 กระบอก ปืนใหญ่ 64,529 กระบอก กระสุนปืนเล็ก 1,048,207,000 นัด กระสุนปืนใหญ่ 17,074,000 นัด เครื่องรับ-ส่งวิทยุ 30,808 เครื่อง โทรศัพท์สนาม 48,922 เครื่อง รถถัง 560 คัน เครื่องบินรบ 164 ลำ ยานยนต์ 15,771 คัน กองกำลังจีนชุดสุดท้ายถอนตัวออกจากเวียตนามเหนือในเดือนสิงหาคม 1973 โดยทหารจีน 1,100 นายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 4,200 นาย

ทั้งนี้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้อ้างว่า ระหว่างสงครามเวียตนามกองกำลังต่อสู้อากาศยานของจีนสามารถสร้างความสูญเสียแก่กองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ มากถึง 38% ในปี 1967 รัฐบาลจีนได้เปิดตัวโครงการลับทางทหาร "โครงการ 523" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหาทางรักษาโรคมาลาเรียเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังเวียตนามเหนือ (PAVN) ซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย เป็นผลให้ Tu Youyou นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและทีมงานค้นพบ Artemisinin TU สำหรับการรักษาโรคมาลาเรีย จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 2015 นอกจากเวียตนามเหนือแล้ว จีนยังได้ให้การสนับสนุนเขมรแดงเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับเวียตนามเหนือ โดย จีนได้มอบอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การฝึกฝนทางทหารแก่เขมรแดงในช่วงสงครามกลางเมือง และยังคงช่วยเหลือต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น เขมรแดงได้เปิดฉากโจมตีเวียตนามอย่างดุเดือดในปี 1975-1978 และเมื่อเวียตนามตอบโต้ด้วยการบุกโค่นรัฐบาลเขมรแดง จีนก็ได้เปิดตัวบุกเวียตนามในปี 1979

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#14 พันธมิตรเวียตนามเหนือ จากหลายชาติคอมมิวนิสต์

“เเชโกสโลวาเกีย” สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวาเกีย (ปัจจุบันแยกเป็น 2 ประเทศแล้วคือ เช็ก และ สโลวัก) เป็นสมาชิกของสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (องค์การพันธมิตรทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (Cold War)) และตลอดสงครามเวียตนามได้จัดส่งความช่วยเหลือไปยังเวียตนามเหนือมากมายทั้งปืนเล็กยาวหลายหมื่นกระบอก รวมถึงปืนค.และปืนใหญ่ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เชโกสโลวาเกียส่งให้เวียตนามเหนือได้แก่ ปืนพกกล VZ 61 ŠKORPION และปืนเล็กยาวจู่โจม VZ 58 ความร่วมมือกับเชโกสโลวาเกียทำให้มีการพัฒนาความสามารถทางอากาศของเวียตนามเหนือตั้งแต่ปี 1956 ครูการบินขาวเชโกสโลวาเกียได้ทำการฝึกให้นักบินชองกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ (VPAF) ในประเทศจีน และช่วยในการพัฒนากองทัพอากาศเวียตนามที่ทันสมัยด้วยเครื่องบินรบแบบ Aero Ae-45, Aero L-29 Delfín และ Zlín Z 26ที่สร้างโดยเชโกสโลวาเกียเอง ตลอดสงครามระหว่างปี 1966 ถึง 1972 มีนักบินเวียตนามเหนือทั้งหมด 17 นายสามารถยิงเครื่องบินรบสหรัฐฯ ตกตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไป และตัดเป็น “เสืออากาศ (ACE)”

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นในปี 1956 ด้วยโครงการระยะสั้น โดยเด็กนักเรียนชาวเวียดนามเหนือประมาณ 100 คนถูกส่งไปยังเมือง Chrastava ในภูมิภาค Liberec เด็กส่วนใหญ่กลับเวียตนามเหนือหลังจากโครงการสี่ปีสิ้นสุดลง แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ยังคงศึกษาต่อและก่อตั้งชุมชนเวียตนามที่ยังคงอยู่ในเมือง Chrastava จนถึงทุกวันนี้ ความร่วมมืออย่างเป็นทางการมากขึ้นระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นในอีกสิบปีต่อมา เชโกสโลวาเกียและเวียตนามเหนือลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับในปี 1967 อนุญาตให้ชาวเวียตนามเหนือทำงานหรือศึกษาในเชโกสโลวาเกีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและสิ่งทอ 

“เกาหลีเหนือ” ผลมาจากการตัดสินใจของพรรคแรงงานเกาหลีในเดือนตุลาคม 1966 เกาหลีเหนือ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี) ได้ส่งฝูงบินเครื่องบินขับไล่ที่ 921 และ 923 ของกองทัพอากาศเกาหลีเหนือไปยังเวียตนามเหนือเพื่อสนับสนุนเวียตนามเหนือในต้นปี 1967 มีนักบินเกาหลีเหนือ 200 นาย และหน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของเกาหลีเหนือ 2 หน่วยประจำการในเวียตนามเหนือ ในช่วงสงครามเวียตนาม เกาหลีเหนือยังส่งอาวุธกระสุนและเครื่องแบบสองล้านชุดให้กับสหายของพวกเขาในเวียดนามเหนือ Kim Il Sung ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นได้บอกกับนักบินของเขาว่า "ให้สู้รบในสงครามเหมือนกับว่าท้องฟ้าเวียตนามเป็นของพวกเขาเอง" เกาหลีเหนือให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่เวียตนามเหนือเป็นจำนวนมาก ในปี 1968 นักเรียนเวียตนามเหนือประมาณ 2,000 คนได้รับการศึกษาในเกาหลีเหนือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามจากปี 1968 ความสัมพันธ์ระหว่างเปียงยางและฮานอยเริ่มเสื่อมลงด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การที่เกาหลีเหนือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเวียตนามเหนือที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับสหรัฐอเมริกาและตอบสนองต่อข้อตกลงสันติภาพปารีส  ในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชาเกาหลีเหนือได้เข้าร่วมแผนการจีนในการสร้าง "แนวร่วมของอาณาจักรทั้งห้าในเอเชีย" (จีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา) ในขณะที่เวียตนามเหนือปฏิเสธ เมื่อสงครามเวียตนามสิ้นสุดลงในปี 1975 รัฐบาลเวียตนามเหนือประสบความสำเร็จในการรวมประเทศซึ่งแตกต่างจากเกาหลีเหนือ ในช่วงสงครามกัมพูชา – เวียดนาม ผู้นำเกาหลีเหนือได้ประณามการรุกรานของกองกำลังเวียดนามในกัมพูชา และให้การสนับสนุนเขมรแดง (Khmer Rouge)  อีกทั้งยังสนับสนุนจีนในช่วงสงครามชิโน-เวียดนาม เวียดนามมาไม่พอใจสิ่งที่เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวของเกาหลีเหนือ และ 2 ชาติคอมมิวนิสต์นี้กลายเป็นคู่แข่งมากกว่ามิตรประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกัน Pol Pot เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาและผู้นำเขมรแดงได้ไปเยือนเกาหลีเหนือซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศ Pol Pot ได้ไปเยือน

“คิวบา” การมีส่วนร่วมในเวียตนามเหนือของสาธารณรัฐคิวบาภายใต้ Fidel Castro นั้น ทั้งเวียดนามและคิวบาไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก จึงไม่ทราบว่า ในช่วงสงครามมีที่ปรึกษาทางทหารของคิวบาจำนวนมากในเวียตนามเหนือ มีรายงานหลายฉบับระบุว่า นักบินคิวบาได้บินเครื่องบินขับไล่ในการรบทางอากาศกับนักบินอเมริกันเหนือเวียตนามเหนือ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันคนหนึ่งที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์แบบ Sikorsky H-34 ได้ใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบ M-79 ยิงเครื่องบินลำเลียง An-2 ซึ่งบินนักบินชาวคิวบาในภาคเหนือของลาว ซึ่งเป็นเครื่องบินชนิดที่ถูกใช้ในการโจมตี Lima 85 ฐานลับสุดยอดของสหรัฐฯ ในลาว เชื่อว่าบินโดยนักบินชาวคิวบาเช่นกัน (Lima 85 ทำหน้าที่ชี้เป้าให้เครื่องบินอเมริกันในการทิ้งระเบิดเวียตนามเหนือ) มีข้อกล่าวหามากมายจากอดีตเชลยศึกของสหรัฐฯ ที่ถูกชาวคิวบาทำทารุณกรรมในเรือนจำของเวียตนามเหนือในช่วงสงคราม ซึ่งถูกเรียกว่า "โปรแกรมคิวบา" (ซึ่งเวียตนามเหนืออ้างว่า เป็นการศึกษาทางจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮานอย) พยานในเรื่องนี้รวมถึง จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิก และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2008 ผู้เคยเป็นเชลยศึกในเวียตนามเหนือ

ในบรรดาที่ปรึกษาทางทหารชาวคิวบาเหล่านี้หลายพันคนที่เรียกกันว่า "Giron Brigade" ทำหน้าที่รักษาเส้นทางหมายเลขเก้า หรือ เส้นทางโฮจิมินห์ที่เริ่มจากเวียตนามเหนือผ่านลาวและกัมพูชาไปยังเวียตนามใต้ มีทหารอเมริกันจำนวนมากที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในเวียตนามและลาวถูกจับหรือถูกฆ่าตายตามเส้นทางโฮจิมินห์ โดยทุกครั้งมักจะมีปรึกษาทางทหารชาวคิวบาหลายคนร่วมอยู่ด้วยเสมอ รายงานฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ระบุว่า เชลยศึอเมริกัน 18 นายถูกควบคุมตัวที่ค่าย Phom Thong ในลาวโดยมีปรึกษาทางทหารจากโซเวียตและคิวบาสอบสวนอย่างใกล้ชิด โดยมีทหารเวียตนามเหนือรักษาการณ์ภายนอก

“เยอรมนีตะวันออก” สงครามเวียดนามเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเองภายใต้สหภาพโซเวียต และมีโอกาสเผชิญหน้ากับ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน...ผู้รุกราน" โดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียตนามเหนือ (BộCông an) มีความสนใจเป็นพิเศษที่จะรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ (STASI) ของเยอรมนีตะวันออกในการจัดตั้งหน่วยข่าวกรองและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ด้วย STASI ได้รับการยกย่องว่ามี "เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีสไตล์ในการทำงานที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์" กระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียตนามได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยข่าวกรองโซเวียตและเยอรมันตะวันออกจนได้รับการจัดอันดับว่ามีความสำคัญที่สุดในกลุ่มสังคมนิยม เยอรมนีตะวันออกได้ให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยให้เวียตนามเหนือ อาทิ การจัดทำ "Green Dragon" บัตรประจำตัวนักรบเวียตนามเหนือที่แฝงตัวในเวียตนามใต้ซึ่งยากที่จะปลอมแปลงหรือทำซ้ำ 

การมีส่วนร่วมของเยอรมนีตะวันออกในสงครามเวียตนามนั้นกว้างขวางและมากมายหลากหลายมิติ ความช่วยเหลือที่จับต้องได้เช่น การฝึกอบรมงานด้านข่าวกรองให้เจ้าหน้าที่เวียตนามเหนือ และในปี 1967 ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียง เวชภัณฑ์ ไปยังเวียตนามเหนือ รวมไปถึงความช่วยเหลือทางการเงิน ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และมนุษยธรรม การศึกษาและการฝึกอบรมเฉพาะด้าน และการศึกษาสำหรับกลุ่มชาวเวียตนามเหนือในเยอรมนีตะวันออก การรณรงค์ที่สำคัญในเยอรมนีตะวันออกที่ประสบความสำเร็จ อาทิ "Blood for Vietnam" ในปี 1968 ซึ่งสมาชิกสหภาพการค้าของเยอรมนีตะวันออก 50,000 คนได้ร่วมกันบริจาคเลือดให้กับเวียตนามเหนือ 

หลังจากการรวมชาติของสองเวียตนามประสบความสำเร็จในปี 1975 ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเยอรมนีตะวันออกและเวียดนามยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในเยอรมนีตะวันออกอย่างรุนแรง เยอรมนีตะวันออกและเวียดนามได้ลงนามในสัญญาในเดือนเมษายน 1980 สำหรับการจัดส่งพนักงานรับเชิญชาวเวียดนาม 200,000 คนไปทำงานในเยอรมนีตะวันออก ในทางกลับกันเยอรมนีตะวันออกให้ความช่วยเหลือเวียดนามในการพัฒนาด้านต่าง ๆ และนำเข้าสินค้าเช่น กาแฟ ชา ยาง และพริกไทย จากเวียดนาม ปัจจุบัน ชาวเวียดนามเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเอเชียที่มีจำนงนมากที่สุดในเยอรมนี

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top