Friday, 24 May 2024
ภูมิใจไทย

‘ชูวิทย์’ บุก กกต. ยื่นสอบ ‘ภท.’ ปมรับเงินบริจาค มั่นใจ!! หลักฐานแน่น ยุบพรรคได้ 100%

(17 มี.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยเข้าข่าย ขัดมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ และให้ กกต.พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคภูมิใจไทย

โดยนายชูวิทย์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงว่า ตามมาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โอนหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประมาณ 190 ล้าน ให้ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนนั้น ไม่ได้เป็นการโอนหุ้นจริง เพราะจากการตรวจสอบนายศุภวัฒน์ไม่มีรายได้ ไม่มีการยื่นเสียภาษี จึงถือเป็นการโอนหุ้นให้นอมินีที่เป็นพนักงานในบริษัทถือแทน โดยที่นายศักดิ์สยามยังเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว และการที่บริษัทดังกล่าว ได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมอยู่นั้น จึงเป็นการรู้อยู่แล้ว แต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้บริษัทดังกล่าวได้รับงานกว่า 104 โครงการ 1,500 ล้านบาท โดยมอบอำนาจให้นอมอนี นำเงินที่ได้บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยหลายครั้ง เงินดังกล่าวจึงได้มาโดยมิชอบ

ดังนั้น นายศักดิ์สยาม ในฐานะเลขานุการพรรคภูมิใจไทย จึงรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเงินมาจากไหน ทั้งนี้การนายศักดิ์สยามและพรรคภูมิใจไทยรับเงินบริจาคจาก หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และนายนายศุภวัฒน์ จึงเข้ามาตรา 72 ซึ่งเปรียบเหมือนต้นไม้พิษ ผลไม้ก็เป็นพิษ

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า โดยหลักฐานที่ตนยื่นให้ กกต.ในวันนี้ มีทั้งหมด 8 รายการ ประกอบด้วย บัญชีรายชื่อผู้บริจาคให้พรรคภูมิใจไทย, สำเนาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ, สำเนาการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายศักดิ์สยาม, งบการเงินของบริษัทศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991), งบการเงินของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น, สำเนาโอนหุ้นของนายศักดิ์สยาม, สัญญากรมทางหลวง และรายชื่อบริษัทที่มีสถานะร้าง

เข้าทางปืน ‘พลังประชารัฐ-ก้าวไกล’ ‘ปชป.-รสทช.’ ร่อแร่ ‘ภท.’ สายไหมไม่รอด

ปฏิกิริยาต่อประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 66 บางพรรคร้องเฮ บางพรรคร้องโฮ…

เฉพาะสนาม กทม. ที่มีประชากร 5,394,910 คน เฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.1 คนเท่ากับ 163,482.212 นั้น...กกต. เคาะแบบที่1 ออกมาใช้ ‘อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี’ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ไปยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนประกาศแบ่งเขตดังกล่าวทันที…

เหตุผลหลักของอรรถวิชช์ คือ ผิดหลักเกณฑ์ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตา 27(1) ที่ระบุหลักเกณฑ์ให้ ‘รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ หรือต้องมีอำเภอ (เขต) หลัก แต่ปรากฏว่าจาก 33 เขตเลือกตั้งเป็นการรวมตำบล (แขวง) โดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง...

ไม่เพียงแค่พรรคชาติพัฒนากล้า...แม้แต่พรรคเพื่อไทย โดยสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม. และ ดร.อิ่ม ธีรรัตน์ สำเร็จวณิชย์ โฆษกพรรคก็ออกมาแถลงในแนวเดียวกัน...แต่ราย ดร.อิ่ม เธอคิดฟุ้งไปหน่อยว่าอาจเป็นแผนทำให้การเลือกตั้งโมฆะ…

‘ภูมิใจไทย’ เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. กทม. 33 เขต ด้าน ‘พุทธิพงษ์’ ลั่น!! ขอทุ่มเททำงานเพื่อ ปชช.

(18 มี.ค. 66) ที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผอ.การเลือกตั้ง กทม. พรรคภูมิใจไทย เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ทั้ง 33 เขต ประกอบด้วย

เขต 1 พระนคร สัมพันธวงศ์ ดุสิต บางรัก น.ส.สิริอร ม้ามณี
เขต 2 สาทร ราชเทวี ปทุมวัน น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์
เขต 3 บางคอแหลม ยานนาวา นายนรเสฏฐ์ เธียรประสิทธิ์
เขต 4 คลองเตย วัฒนา นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา
เขต 5 ห้วยขวาง วังทองหลาง นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ
เขต 6 ดินแดง พญาไท น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์
เขต 7 บางซื่อ ดุสิต นายพชร ภูมิจิตร
เขต 8 จตุจักร หลักสี่ น.ส.ศลิษา สิงหเสนี
เขต 9 บางเขน จตุจักร หลักสี่ น.ส.พีร์ปภาอร เสถียรไทย
เขต 10 ดอนเมือง นายณัฏฐ์  มงคลนาวิน

เขต 11 สายไหม นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ
เขต 12 บางเขน สายไหม ลาดพร้าว นายศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์
เขต 13 ลาดพร้าว วังทองหลาง นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์
เขต 14 บางกะปิ วังทองหลาง นายอำพล ขำวิลัย
เขต 15 คันนายาว บึงกุ่ม นายอิทธิเดช สุพงษ์
เขต 16 คลองสามวา นายณัฐดนัย ชนิตร์วัฒน์
เขต 17 หนองจอก คลองสามวา นายนิกม์ แสงศิรินาวิน
เขต 18 หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร
เขต 19 มีนบุรี สะพานสูง นายพงษ์เพชร เพชรสุวรรณคดี
เขต 20 ลาดกระบัง นายเอกฤทธิ เจียกขจร

เขต 21 ประเวศ สะพานสูง นางสกุลรัตน์ ทิพย์วรรรณงาม
เขต 22 สวนหลวง ประเวศ นายมณฑล โพธิ์คาย
เขต 23 พระโขนง บางนา น.ส.มณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์
เขต 24 คลองสาน ธนบุรี ราษฎรบูรณะ น.ส.เจณิสตา เตชะโสภณมณี
เขต 25 ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ นายเจริญศักดิ์ มณีรัตนสุบรรณ
เขต 26 จอมทอง บางขุนเทียน นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี
เขต 27 บางบอน บางขุนเทียน นายสุทธิชัย เมฆสุวรรณ
เขต 28 หนองแขม บางบอน จอมทอง พญ.ศรันย์รัสย์ อภิวรานันทกุล
เขต 29 บางแค หนองแขม น.ส.ธัณยาการย์ เตชะพัฒน์สิริ
เขต 30 บางแค ภาษีเจริญ น.ส.ศุภิกา พัฒน์ธนันภู
เขต 31 ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน นายพศิน ชาญศิลป์
เขต 32 บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน ธนบุรี น.ส.อัชญา จุลชาต
เขต 33 เขตบางพลัด บางกอกน้อย นายจักรพันธ์ พรนิมิตร

โดย นายพุทธิพงษ์ ปราศรัยตอนหนึ่งว่า พรรคภูมิใจไทยจะเดินหน้าขอโอกาสรับใช้คน กทม. เราไม่ได้พูดเฉย ๆ และเราไม่ได้แค่พูดแล้วทำ แต่ก่อนพูดเราทำ พวกเราได้ทำไปแล้ว สิ่งที่ตนจะนำเสนอในวันนี้อาจจะต่างจากทุกพรรคการเมือง เพื่อบอกว่าทำไมประชาชนต้องเลือกพรรคภูมิใจไทย

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กทม.คือประเทศไทย คือที่รวมตัวของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่เข้ามาพร้อมความหวัง มาเรียน มาศึกษา พรรคภูมิใจไทย จึงต้องมาขอรับใช้พี่น้องคน กทม.ผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยได้ศึกษา ได้คิดวิเคราะห์จนตกผลึกแล้วว่า ปัญหาของคน กทม.คืออะไร เรามีความพร้อมมากกว่าพรรคอื่น กทม.ในวันนี้ ถ้าคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็ได้แบบเดิม เราจึงต้องมองว่าจะพัฒนา กทม.ไปข้างหน้าอย่างไร พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคแรกและพรรคเดียวที่นำเสนอนโยบายของ กทม.แบบแบ่งตามกลุ่มเขต ตามสภาวะแวดล้อมและปัญหา เป็น 4 พื้นที่” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

‘เสี่ยหนู’ ไม่กังวล เสียคะแนนนิยม ปม ‘ชูวิทย์’ โจมตี  ชี้ ปชช. มีสิทธิ์ตรวจสอบ เปรียบ ‘ภท.’ เป็นภูเขาทอง

(18 มี.ค. 66) ที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวภายหลังการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กทม. 33 เขต พรรคภูมิใจไทย ว่า ผู้สมัครและผู้บริหารพรรคลงพื้นที่ทุกวัน พบปะชาวบ้านในชุมชนย่อยต่าง ๆ ซึ่งพบว่า ประชาชนให้การตอบรับกระแสของพรรคดีขึ้นเป็นอย่างมาก ชาว กทม. ชื่นชมในนโยบายต่าง ๆ อาทิ นโยบายเรื่องสุขภาพ การแก้ปัญหาฝุ่นละอองทางอากาศ ค่าครองชีพ เป็นต้น

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หลังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ออกมาคัดค้านพรรคภูมิใจไทย จะทำให้เสียคะแนนนิยมในพื้นที่ กทม.หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวสั้น ๆ ว่า “ไม่กังวล” และการเคลื่อนไหวของนายชูวิทย์ก็ไม่มีปัญหา เพราะพรรคภูมิใจไทยเปรียบเหมือนภูเขาทอง ส่วนที่เหลือก็ไปคิดกันเอาเอง

‘พุทธิพงษ์’ เผย ‘ภท.’ แบ่งพื้นที่กทม. 4 กลุ่ม แก้ปัญหาตรงจุด มั่นใจ 8 ส.ส.แชมป์เก่า พร้อมดึง ‘เอกภพ สายไหมต้องรอด’ ร่วมทัพ

‘พุทธิพงษ์’ ชี้ นโยบาย กทม.พรรคภูมิใจไทย แบ่งกลุ่ม 4 พื้นที่แก้ปัญหาเฉพาะที่ ตรงจุด ถ้าคิดและทำแบบเดิม ก็ได้เหมือนเดิม มั่นใจ 8 ส.ส.แชมป์เก่าครองใจคนกรุงเทพฯ ได้ เพราะพูดแล้วทำทุกนโยบาย ดึง “เอก สายไหมต้องรอด” ร่วมทัพ
(19 มี.ค.66) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งกรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครกว้างใหญ่ เป็นเมืองหลวงและเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ ถ้าคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็ได้แบบเดิม หากจะพัฒนากรุงเทพฯ ไปข้างหน้า พรรคภูมิใจไทยจึงขอแบ่งพื้นที่กรุงเทพฯเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ โดยมองจากสภาพแวดล้อมและปัญหา มีกรุงเทพฯชั้นใน, กรุงเทพฯเหนือ, กรุงเทพฯตะวันออก และกรุงเทพฯฝั่งธน เพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์และความต้องการของพี่น้องประชาชน

ซึ่งจากการลงไปติดตาม รวมรวบรับฟังปัญหาจากพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน โดยต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันด้วยนโยบาย ซึ่งพรรคเตรียมพร้อมไว้แล้ว พร้อมระบุด้วยว่า พรรคภูมิใจไทย คัดเลือกคนทำงานจริงมาจากในพื้นที่ ที่สำคัญมีอดีต ส.ส.กทม.ถึง 8 เขต พร้อมจะทำงานให้คนกรุงเทพฯอย่างจริงจังต่อเนื่อง และทั้ง 33 ว่าที่ผู้สมัครล้วนเป็นคนที่พร้อม คิด พูดและลงมือทำจริง ทุกนโยบาย

‘อนุทิน’ แจงทานข้าว ‘ลุงป้อม’ ปัดขอช่วยเหลือคดี ‘ศักดิ์สยาม’ รับดัล ‘ภท.-พปชร.’ ลงตัว หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง

หัวหน้าภท.ปัดกินข้าว ‘บิ๊กป้อม’ ขอช่วยคดี ‘ศักดิ์สยาม’ รับคุยการเมือง ปิดดีลจับขั้ว ‘ภท.-พปชร.’ หากไม่มีอุบัติเหตุการณ์การเมือง ย้ำพร้อมนั่งนายกฯ ในฐานะพรรค 70 บวก

วันนี้ (19 มี.ค.66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารรสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการชั่วโมงข่าวเสาร์อาทิตย์ ทางไทยพีบีเอส โดยยอมรับว่า วงรับประทานอาหารระหว่างแกนนำพรคภูมิใจไทย และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นการนัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ประสานขอเข้าพบพลเอกประวิตร

โดยในวงอาหาร ได้มีการพูดคุยและประเมินสถานการณ์การเมืองร่วมกัน และอาจจะเรียกได้ว่า ดีลระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐลงตัวแล้ว เพราะการทำงานร่วมกันมาตลอด 4 ปี ไม่มีปัญหาใด ๆ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

“ภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ ทำงานร่วมกันมา 4 ปี ถ้าไม่มีอุบัติเหตุ หรือ เหตุจำเป็นยิ่งยวด เราไม่มีปัญหา สิ่งใดไม่เข้าใจก็เคลียร์กันครบทุกเรื่อง” นายอนุทิน กล่าว

ผู้ดำเนินรายการ ถามถึงความสัมพันธ์กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังมีข้อสังเกตความไม่ลงรอย จากการสั่งพักโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นายอนุทิน ยืนยันว่า ความสัมพันธ์กับพลเอกประยุทธ์ยังคงเดิม ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีความแข็งแรง มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน

‘ลุงหนู’ เมินดรามา มุ่งหาเสียงขายนโยบาย ตั้งธงคว้า ‘100 ที่นั่ง ส.ส.’ เป็นแกนนำตั้ง รบ.

(21 มี.ค.66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวภายหลังการยุบสภา ว่า พรรคภูมิใจไทย มีความพร้อมในการเลือกตั้ง และเราเตรียมมานานแล้ว จากนี้ ก็มีแต่จะเร่งสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน ที่ผ่านมา มีการบอกว่า เราดำเนินการเพื่อไปเป็นพรรคตัวแปร แล้วร่วมรัฐบาล ขอบอกว่า ถ้าคิดแบบนั้น เรามีแค่ 30-40 เสียง ก็ได้แล้ว ไม่ต้องตั้งใจจะเอามากมาย แต่พรรคภูมิใจไทย และตนมองว่า นอกจากโอกาสทำงาน เราต้องพาประเทศไทยไปสู่ความรุ่งเรือง อย่างมั่นคง มีความปรองดอง อันนี้สำคัญ และเป็นความโดดเด่นของพรรคเราด้วย เราต้องนำทั้งฝ่ายอนุรักษ์ และฝ่ายประชาธิปไตย มาร่วมมือกันเดินหน้าพัฒนาประเทศ

“เราต้องสร้างให้พี่น้องประชาชนแข็งแรงก่อน ถ้าฐานมันแข็งแรง ส่วนอื่น ๆ ก็แข็งแรง ถ้าฐานอ่อนแอ มันก็พังทั้งหมด ตอนนี้ ประชาชน ต้องหาทางให้อยู่ดี กินดี ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เราเลยมีนโยบายพักหนี้ 3 ปี ไม่เกิน 1 ล้านบาท เราเลยมีนโยบายเกษตรร่ำรวย เพื่อช่วยเหลือประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงการตั้งเป้าจำนวน ส.ส. ที่พรรคภูมิใจไทยจะได้รับ นายอนุทิน กล่าวว่า น่าจะถึง 100 เสียง ปัจจุบัน มีประมาณ 75 ที่นั่ง เป้าของเราไป 100 แล้วตอนนี้ เมื่อถามย้ำถึงตัวเลข 70 ที่นั่ง นายอนุทิน กล่าวว่า อันนั้นเป็นข้อมูลของโพลทั่วไป แต่เป้าของเราต้องแตะหลัก 100  

‘ภูมิใจไทย’ ครองที่ 1 ผลโพล LINE TODAY พรรคที่ ปชช. จะเทคะแนนให้ในการเลือกตั้ง 66

(21 มี.ค.66) ไลน์ทูเดย์ได้เปิดเผยผลโหวต ในหัวข้อ ‘เลือกตั้งปี '66 คุณจะลง
คะแนนให้ ‘พรรคการเมือง’ ใด ? (เปิดโหวตสัปดาห์ที่ 1 วันที่ 14-20 มีนาคม)’ มีร่วมโหวตทั้ง
สิ้น 96,558 คน โดยผลการสำรวจ อันดับ 1 ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 45,655 คะแนน หรือคิดเป็น
47.28%

อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 19,061 คะแนน คิดเป็น 19.74% 
อันดับ 3 พรรคก้าวไกล 9,838 คะแนน คิดเป็น 10.19% 
อันดับ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ 7,885 คะแนน คิดเป็น 8.17% 
อันดับ 5 พรรคพลังประชาชน 6,898 คะแนน คิดเป็น 7.14%

‘ภูมิใจไทย’ แจง!! เงินบริจาคถูกต้องตาม กม. ยัน!! ที่ผ่านมาแค่ 'ชูวิทย์' จินตนาการไปเอง

(22 มี.ค.66) ที่พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายธนิต ศรีประเทศ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หนึ่งในทีมกฎหมายพรรค ภท. ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นต่อ กกต.ให้ยุบพรรคภท. อันเนื่องมาจากเงินบริจาคพรรคการเมือง ไม่เป็นไปตาม ม.72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยนายศุภชัย กล่าวยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ การบริจาคเงินให้พรรคการเมือง เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ได้กำหนดรายละเอียด ว่า ถ้าหากจะมีการดำเนินการใดๆ จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ที่แบ่งเป็นสองส่วนคือการบริจาคเงินจากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งเมื่อมีการบริจาคจากทั้ง 2 ส่วน ทางพรรคภท.ในฐานะเป็นผู้รับบริจาค จะต้องตรวจสอบว่า แหล่งที่มาของเงินถูกต้องหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าเราทำถูกต้องทุกประการ โดยยอดบริจาค ตั้งแต่ปี 2561 -ปัจจุบัน อยู่ที่ 355,033,639 บาท แบ่งเป็นปี 2561 จำนวน 10 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 161 ล้านบาท ปี2563 จำนวน 24,884,289 บาท ปี 2564 จำนวน 35,952,000 บาท ปี2565 จำนวน 123,197,350 บาท และปี2566 จำนวน 8,730,000 บาท โดยทั้งหมดบริจาคเป็นเงินสด รวมถึงมีบางส่วนที่บริจาคเป็นทรัพย์สิน ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนแล้วแจ้งต่อ กกต. เพื่อประกาศต่อสาธารณะ และขอยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ด้านนายธนิต กล่าวยืนยันว่า การบริจาคของพรรคเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของกกต. รวมถึงมีระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้หมดแล้ว ที่พรรคการเมืองจะต้องพึงสังวร เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมือง โดนโทษจนถึงขั้นถูกยุบพรรค ขณะที่ขั้นตอนการบริจาคทั้ง ในส่วนของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ได้กำหนดไว้ให้บริจาคไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะต้องมีหลักฐานยืนยัน อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือบริคณห์สนธิ (ตราสารที่ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทได้ตกลงร่วมกันจัดทำขึ้น) หนังสือลงนามมอบอำนาจต่างๆ ที่จะต้องรวบรวมแล้วส่งไปยัง กกต.ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหลังจากส่งให้กกต.ตรวจแล้ว ก็จะต้องไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบในแง่ของนิติบุคคลอีกด้วย ทั้งนี้เงินบริจาคไม่สามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้ ซึ่งจะต้องนำมาดำเนินการ เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งเท่านั้น

‘ศุภชัย’ โว!! มีผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อเกิน 100 คน ยัน!! ยังไม่มีใครย้ายหนี แม้ กกต. แบ่งเขตทับซ้อน

(22 มี.ค.66) ที่พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงถึงการความคืบหน้าของผู้สมัครส.ส.พรรคภูมิใจไทย ว่า ขณะนี้มีผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เกินกว่า 100 คน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหา ส่วนส.ส.แบบแบ่งเขต ในบางเขตมีผู้เสนอตัวสมัครรับเลือกตั้งเกินกว่า 1 คน แต่บางเขตก็ยังขาดอยู่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top