‘ฟิลิปปินส์ - อังกฤษ’ ย้ำจุดยืน!! ‘ไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า’ เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าแนะไทย ดูเป็นแบบอย่าง
เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า เผยความเคลื่อนไหวจากการประชุมยาสูบโลก ชี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ลุกขึ้นแถลงจุดยืนกลางที่ประชุมฯ ว่าจะเน้นนโยบายควบคุมยาสูบแบบสมดุล ทั้งทางด้านกฎระเบียบและการเก็บภาษี และจะไม่แบนบุหรีไฟฟ้า เพื่อป้องกันผลเชิงลบ ขณะที่อังกฤษระบุอัตราผู้สูบบุหรี่ลดต่ำสุด เป็นผลมาจากมาตรการที่ครอบคลุมรวมถึงการสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า แนะประเทศไทยเดินตามรอยสองประเทศ เพื่อประโยชน์ประเทศและผู้สูบบุหรี่
นายอาสา ศาลิคุปต เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ และเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" เผยความเคลื่อนไหวจากการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 9 หรือ FCTC COP 9 ระบุว่า “กระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์เป็นตัวแทนของประเทศลุกขึ้นเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทดแทนการสูบบุหรี่ เพื่อทำให้มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่กลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้ง ฟิลิปปินส์ยอมรับว่าการเก็บภาษีบุหรี่ทำให้รัฐบาลมีรายได้จำนวนมาก เพื่อใช้บริหารประเทศและทำกิจกรรมรณรงค์เลิกบุหรี่ แต่ฟิลิปปินส์รู้ว่าการเก็บภาษีอย่างสุดโต่งไม่ทำให้การเลิกบุหรี่สำเร็จได้ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบแบบสมดุลทั้งทางด้านกฎระเบียบและการเก็บภาษี และย้ำอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแน่นอน”
นายเทอโดโร ลอคสิน จูเนียร์ รมว.ต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมระหว่างการเปิดประชุม FCTC COP 9 ว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งทำให้เกิดตลาดใต้ดินและการลักลอบนำเข้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งฟิลิปปินส์เสนอว่าการแก้ปัญหาบุหรี่และตลาดใต้ดินบุหรี่ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการปรึกษาหารืออย่างครอบคลุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
ขณะที่ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษกล่าวว่า อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีบุหรี่ การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ และการสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับการควบคุม
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายลาขาดควันยาสูบ อีกรายกล่าวเสริมว่า “ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งสรุปตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ จึงเพิ่งผ่านร่างกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นกรอบควบคุมยาสูบรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้ดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่ได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันการขายผลิตภัณฑ์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนอังกฤษก็เป็นประเทศต้นแบบที่สนับสนุนเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่ สองประเทศนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิจารณาอย่างรอบคอบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย มาตรการที่ออกมาจึงมีการศึกษาข้อดีและผลกระทบอย่างรอบคอบแล้ว”
