Friday, 4 July 2025
ฝรั่งเศส

'นักประวัติศาสตร์' ไขความลับ!! 'เลือดชั่ว' ในเพลงชาติฝรั่งเศส จากสู้รบกับต่างชาติ กลายเป็นประหัตประหารคนในชาติเดียวกันเอง

(1 ส.ค. 67) เดวิด บุญทวี นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'เลือดชั่ว' ในเพลงชาติฝรั่งเศส...เลือดใคร? ระบุว่า...

เพลงชาติฝรั่งเศสชื่อ 'ลามาร์กเซแยส' (La Marseillaise) ที่ 'แอกเซลล์ ซังต์ ซีเฮล' (Axelle Saint-Cirel) ร้องบนหลังคากรองด์ปาเลส์ในวันเปิดโอลิมปิกนั้น เป็นการร้องด้วยลีลาโอเปรา ซึ่งปกติเราจะคุ้นหูกับท่วงทำนองแบบเพลงมาร์ช ที่มีลีลาคึกคักปลุกเร้าให้ฮึกเหิมมากกว่า

ท่อนสร้อยของเพลงที่ถือเป็น 'วรรคทอง' มีเนื้อร้องว่า “หยิบอาวุธขึ้นสู้เถิดผองชน จัดตั้งหน่วยรบของท่าน หน้าเดิน หน้าเดิน ให้เลือดชั่วของพวกมันไหลท่วมรอยไถของพวกเรา”  

(ฝรั่งเศส Aux armes, citoyens! Formez vos bataillons! Marchons! Marchons! Qu'un sang impur. Abreuve nos sillons!

อังกฤษ Grab your weapons, citizens! Form your battalions! Let us march! Let us march! May impure blood. Water our furrows!)

น่าสนใจว่า 'เลือดชั่ว' ที่ผู้แต่งเพลงนี้ต้องการให้ 'ไหลท่วม' คือเลือดของใคร?

เพลงลามาร์กเซแยส ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 1792 โดยนายทหารชื่อ โกลด-โจแซฟ รูเช เดอ ลีส์ล (Claude Joseph Rouget de Lisle) ในชื่อเพลงที่แท้จริงว่า 'เพลงรบแด่กองทัพแห่งไรน์' (Chant de guerre pour l’armée du Rhin) 

ด้วยจุดประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อปลุกใจทหารฝรั่งเศสที่กำลังเดินทัพไปรบกับกองทัพแห่งจักรวรรดิปรัสเซียและออสเตรีย

ด้วยเนื้อร้องและท่วงทำนองที่ติดหูง่ายและเร้าใจ ทำให้ในเวลาต่อมา ทหารอาสาสมัครจากเมืองมาร์กเซย์นำเพลงนี้ไปร้องในกรุงปารีสในช่วงเวลาของการปฏิวัติ จนได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ชาวปารีสเรียกเพลงด้วยชื่อใหม่แบบง่าย ๆ ว่า 'บทเพลงของชาวมาร์กเซย์' (La Marseillaise)

เนื้อร้องท่อนสร้อยที่ยกมาข้างต้น กลายเป็นวรรคทองทีเด็ดที่ฝ่ายปฏิวัติใช้ในการปลุกเร้าฝูงชนให้เกิดอารมณ์รุนแรง อยากทำลายล้างเข่นฆ่าคนเห็นต่างหรือฝ่ายต่อต้าน 

และมันก็ได้ผล…

หลังความวุ่นวาย การจลาจล และการนองเลือดตลอดช่วง 4 ปีผ่อนคลายลง (โดยเฉพาะหลังจากกลุ่มแกนนำการปฏิวัติถูกตัดหัวด้วยกิโยติน ด้วยคำสั่งจากฝ่ายปฏิวัติด้วยกันเอง) เพลงลามาร์กเซแยส ก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นเพลงชาติฝรั่งเศสเมื่อปี 1795

แต่ชะตากรรมของเพลงนี้ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะเมื่อถึงยุคสมัยของจักรพรรดินโปเลียน เพลงนี้ก็ถูกปลดจากการเป็นเพลงชาติและห้ามร้องหรือบรรเลงเด็ดขาด กระทั่งถึงปี 1879 ในสมัยสาธารณรัฐ จึงได้กลับมาเป็นเพลงชาติอีกครั้ง

กลับมาที่ 'เลือดชั่ว'

แน่นอนว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้ประพันธ์เพลงนี้ ตั้งใจให้หมายถึงเลือดของทหารปรัสเซียและออสเตรีย (ที่ทำสงครามกับฝรั่งเศส) แต่ฝ่ายปฏิวัตินำเพลงนี้มาปลุกระดมฝูงชนให้เข้าเข่นฆ่าฝ่ายต่อต้าน จน ‘เลือดชั่วของพวกมันไหลท่วมรอยไถของพวกเรา’

จากสู้รบกับกองทัพต่างชาติ กลายเป็นประหัตประหารคนในชาติเดียวกันเอง

'เลือดชั่ว' ก็คือเลือดของชาวฝรั่งเศสที่ถูกชาวฝรั่งเศสด้วยกันเองเข่นฆ่า และที่ไหลท่วมรอยไถของกรุงปารีสนั้น ก็มีเพียงน้อยนิดที่เป็นเลือดของชนชั้นสูง เพราะเกือบทั้งหมดเป็นเลือดของชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นชนชั้นเดียวกับฝูงชนฝ่ายปฏิวัติ เป็นเลือดของประชาชนที่เห็นต่าง!!

ที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือ ชะตากรรมของ โกลด-โจแซฟ รูเช เดอ ลีส์ล ผู้ประพันธ์เพลงนี้ ที่ต่อมาถูกจำคุกด้วยข้อหา 'ทรยศต่อชาติ' เพราะเขาได้ออกมาประท้วงต่อต้านการกักขังและเข่นฆ่าสมาชิกราชวงศ์ 

โชคดีที่โกลด-โจแซฟ รอดชีวิตจากการถูกตัดหัวมาได้อย่างหวุดหวิด เลือดของตนจึงไม่ต้องกลายเป็น 'เลือดชั่ว' ที่ไหลท่วมรอยไถเสียเอง 

เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็ออกจากคุกมาใช้ชีวิตอย่างยากจนข้นแค้น ต้องยังชีพด้วยเศษขนมปัง ขณะที่หูก็ยังได้ยินเสียงฝูงชนขับร้องเพลงของตนไปตามท้องถนน 

ในที่สุดก็เสียชีวิตลงอย่างคนอนาถา 

แต่กว่าทางการฝรั่งเศสจะนึกขึ้นได้ว่านี่คือ ผู้ประพันธ์เพลงชาติ แล้วย้ายศพมาไว้ที่ 'สุสานวีรบุรุษ' อย่างแองวาลิดส์ กลางกรุงปารีส (ที่เดียวกับที่ฝังศพของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) ก็ต้องรอจนถึงปี 1915 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 79 ปีหลังการเสียชีวิต

***เกร็ด : ปี 2014 หรือสิบปีที่แล้วนี่เอง นักแสดงชื่อดังชาวฝรั่งเศส ลองแบร์ต วิลซง (Lambert Wilson) เคยให้สัมภาษณ์ว่าเนื้อเพลงลามาร์กเซแยสนั้น ‘โหดเหี้ยม บ้าเลือด ล้าหลัง เหยียดชาติ และกลัวคนต่างชาติ’ (Les paroles sont épouvantables, sanguinaires, d’un autre temps, racistes et xenophobes) 

และตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนฝรั่งเศสถึงยังร้องเพลงท่อน ‘ให้เลือดชั่วของพวกมันไหลท่วมรอยไถของพวกเรา’ กันอยู่ได้ โดยไม่ละอายใจ

(คนต่างชาติในที่นี้ ก็คือกองทัพปรัสเซียและออสเตรียที่ทำสงครามกับฝรั่งเศส)

‘นักเตะฝรั่งเศส’ ปะทะเดือด ‘นักเตะอาร์เจนตินา’ หลังกรรมการ เป่านกหวีดจบเกม ปม!! เหยียดเชื้อชาติ ทำตะลุมบอนวุ่นวาย ‘อองรี’ ขอโทษที่ไม่สามารถระงับเหตุได้

(3 ส.ค.67) ภายหลังจบเกมการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ 2024 รอบก่อนรองชนะเลิศ ที่สนาม สต๊าด มัตมุต-อัตลานติก บอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส คืนวันที่ 2 ส.ค.67 ระหว่างทีมชาติ ‘ฝรั่งเศส’ พบกับทีมชาติ ‘อาร์เจนตินา’ โดยผลการแข่งขันเป็นทีมเจ้าภาพ เอาชนะ ทัพฟ้าขาวไปได้ 1-0 และหลังสิ้นเสียงนกหวีดจบเกมได้เกิดเหตุเหตุการณ์เดือดผู้เล่นทั้งสองทีมตะลุมบอนกัน

ทั้งนี้ ก่อนเกมการแข่งขัน ทั้ง 2 ทีมถูกจับตามองเป็นพิเศษอยู่แล้ว เนื่องจากมีประเด็นเหยียดเชื้อชาติกันมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2022

ต่อมา เอนโซ แฟร์นานเดซ มาเติมเชื้อไฟกับการร้องเพลงดูถูกผู้เล่นฝรั่งเศส หลังคว้าแชมป์โคปา อเมริกา ก่อนหน้าโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีส จะเริ่มต้นขึ้นไม่กี่สัปดาห์

สำหรับเกมเมื่อคืนวันศุกร์ เพลงชาติอาร์เจนตินาก็ถูกโห่ขับไล่จากแฟนบอลที่บอร์กโดซ์ เช่นเดียวกับผู้เล่นอาร์เจนตินาที่ถูกโห่เป็นระยะด้วย

จนกระทั่งสิ้นเสียงนกหวีดจบเกม ระหว่างที่ผู้เล่นฝรั่งเศสกำลังวิ่งลงไปในสนามเพื่อฉลองชัยชนะ พวกเขาเกิดไปปะทะกับผู้เล่นอาร์เจนตินาที่ไม่พอใจอะไรสักอย่าง จนเรื่องราวลุกลาม ผู้เล่นและทีมงานกรุเข้าหากัน ทั้งห้ามทัพและผสมโรง

ขณะที่ เอนโซ มิโลท์ ผู้เล่นฝรั่งเศสถูกใบแดงหลังจากที่เกมจบลงแล้วด้วย

โดยมีรายงานข่าวว่า ในอุโมงค์เข้าสนามก็มีเหตุการณ์วุ่นวายในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก

เธียร์รี่ อองรี กุนซือทีมตราไก่ให้สัมภาษณ์หลังเกม ยืนกรานว่า ชัยชนะในเกมนี้ไม่ใช่การแก้แค้นอาร์เจนตินา ที่เคยชนะพวกเขาตอนฟุตบอลโลก

"เราไม่ถือว่านี่คือการแก้แค้น เพราะฟุตบอลโลกมันคืออีกทีม" อองรี กล่าว

"ผมต้องขอโทษสำหรับเหตุการณ์วุ่นวายในช่วงหลังจบเกม มันไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการและผมไม่สามารถควบคุมมันได้ อันที่จริง พวกเขาได้ให้ใบแดงผู้เล่นด้วย"

'อ.ไชยันต์' แชร์!! การยุบพรรคในฝรั่งเศส โดนมาแล้วเกือบ 100 พรรค จาก 'รัฐบาล-ศาล' ถาม!! อยากให้ไทย เปลี่ยนจากศาล รธน.มาเป็นรัฐบาลสั่งยุบพรรคได้แบบฝรั่งเศสไหม?

(27 ส.ค. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ระบุว่า… “มารู้เรื่องการเมืองฝรั่งเศสกันครับ” / “การยุบพรรคการเมืองในฝรั่งเศส” รายงานตรงจากกรุงปารีส โดย คุณ ‘ณิเชล’

Bonjour de Paris, สวัสดีจากปารีสค่ะ

วันนี้ ณิเชลจะมาแชร์เรื่องการยุบพรรคการเมืองของประเทศฝรั่งเศสโดยย่อให้ค่ะ

พรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ต้องจดเป็นสมาคม (association) ก่อน ตามกฎหมายเกี่ยวกับสมาคม (la loi du 1er juillet 1901)

หากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ได้ละเมิด มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยและรัฐอธิปไตย (sovereign state), มาตรา 3 ของกฎหมายเกี่ยวกับสมาคม (la loi du 1er juillet 1901)

ทั้งรัฐบาลและศาล ‘ทริบูนาล จูดิซีแยร์’ (tribunal judiciaire) สามารถยุบพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองได้

รัฐบาลมีอำนาจยุบพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง โดยการออก ‘เดเคร’ (décret = decree) ตาม มาตรา L212-1 ของกฎหมายความมั่นคง หลังจากที่ได้มีมติในการประชุม ‘กงไซย์ เด มินิสตร์’ (Conseil des ministres = council of ministers) ของประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีความมั่นคง ‘มินิสตร์ ดังเตรีเยอร์’ (ministre d’Intérieur)

พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ที่เข้าเกณฑ์ถูกยุบ ส่วนมากเป็นพวกหัวรุนแรง ‘เอ็กซเทร็ม’ (extrême ) ทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ที่ :

1.สร้าง Discrimination, เหยียด (racist), เกลียดชาวต่างชาติ (Xenophobia)

2.ยุยงให้มีการเกลียดชังหรือสร้างความรุนแรงต่อกลุ่มคน ด้วยเหตุผลเชื้อชาติ, เพศ และ sexual orientation

3.ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงติดอาวุธ

4.มีลักษณะเป็น ‘มีลิส’ (milice) คือ กองกำลังกึ่งทหารทางการเมือง ตามกฎหมาย 10 มกราคม 1936 (แก้ไขเพิ่มเติมในปี 1972)

5.ต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองเอง (independentist, separatist)

6.เข้าข่ายการก่อการร้าย (terrorist)

ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมาย ‘มีลิส’ ในปี ค.ศ. 1936 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 มีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองถูกยุบ รวมกันเกือบ 100 กลุ่ม/พรรค

ล่าสุด เป็น :

1.พรรคเล็กขวาจัด ชื่อ Civitas ‘ซีวีตัส’ มีแนวทางเน้นศาสนา, ต่อต้านชาวยิว (anti-semistism) และการสมรสเท่าเทียม ถูกยุบในวันที่ 4 ตุลาคม 2023 โดยรัฐบาล

2.กลุ่มการเมืองขวาจัด ใช้ความรุนแรง ชื่อ Les Remparts ‘เล ร็องปาร์’ อยู่ที่เมือง Lyon ‘ลียง’ ทางตอนใต้ มีแนวทางในการต่อต้านผู้อพยพ (immigrant) และเกลียดชาวต่างชาติ (Xenophobia) ถูกยุบในวันที่ 26 มิถุนายน 2024 โดยรัฐบาล

Voilà, à la prochaine (วัวลา อา ลา โพรเช็น) ไว้พบกันครั้งหน้าค่ะ

#ณิเชลการเมืองฝรั่งเศส

ศ.ดร.ไชยันต์ โพสต์ความเห็นเพิ่มเติมว่า คำถามสำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญในบ้านเรา คือ ถ้าบ้านเรา เปลี่ยนจากศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นให้รัฐบาลมีอำนาจออกกฎหมายยุบพรรค และ ศาลสามารถยุบได้ ตามแบบฝรั่งเศส จะยอมรับและเป็นธรรมมากกว่าไหมครับ?

เปิดฉาก ‘พาราลิมปิกเกมส์ 2024’ ณ กรุงปารีส สุดอลังการ ‘แวว สายสุนีย์-ฟิว อธิวัฒน์’ นำทัพนักกีฬาไทยร่วมขบวนพาเหรด

(29 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมครั้งที่ 17 ที่กรุงปารีสเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส ได้ฤกษ์เปิดฉากเมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ ในครั้งนี้มีทั้งหมด 169 ทีมเข้าแข่งขัน ประกอบด้วย 167 ประเทศภาคีสมาชิก, ทีมเรฟูจี หรือทีมผู้ลี้ภัย และ NPA ทีม จากรัสเซีย กับเบลารุส เข้าร่วมการแข่งขันมีทั้งหมด 22 ชนิดกีฬาชิงชัยทั้งสิ้น 549 เหรียญทอง 

เริ่มต้นด้วย ‘ขบวนพาเหรด’ จากประตูชัยนโปเลียน หรือ อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล ไปบนถนน ฌ็อง-เซลิเซ่ ซึ่งจะมีคณะผู้แทนจากทั่วโลกเข้าร่วมกับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่กว่า 6,000 คน พร้อมการแสดงแสงสีเสียง ผ่านธีมที่ใช้ครั้งนี้เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์และ ‘ประวัติศาสตร์และความขัดแย้ง’ โดยมี โธมัส จอลลี่ เป็นผู้กำกับ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่กำกับ-ออกแบบพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2024 และการออกแบบท่าเต้นโดย อเล็กซานเดอร์ เอ๊คมัน ก่อนจะสิ้นสุดที่ พลาส เดอ ลา คองคอร์ด เออร์บัน สปอร์ตส์ พาร์ค

โดยทีมชาติไทย ‘แวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ และ ‘ฟิว อธิวัฒน์ แพงเหนือ’ นำทัพนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย เดินเข้าสู่พิธีเปิด พร้อมกับเจ้าภาพแสดงชุดแรก เวลคัมทูปารีส

สำหรับการแข่งขันจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 8 กันยายน 2567

'ฝรั่งเศส' วุ่น!! 'ฝ่ายซ้าย' เตรียมยื่นถอดถอน 'มาครง' หลังถูกเมินเสนอชื่อคนฝ่ายตนเป็นนายกฯ ทั้งที่ชนะเลือกตั้ง

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศ เผยว่า พรรค France Unbowed (LFI) แนวร่วมฝ่ายซ้ายซึ่งคว้าเก้าอี้มาได้มากที่สุดในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อทำการถอดถอนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส หลังจาก มาครง ปฏิเสธเสนอชื่อ ลูซี คาสเตต์ แคนดิเดตของพวกเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

"ร่างญัตติสำหรับเริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ถูกส่งถึงสมาชิกรัฐสภาแล้วในวันนี้ สำหรับร่วมลงนาม" มาทิลเด ปาโนต์ แกนนำของ LFI ในรัฐสภา เขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อวันเสาร์ (31 ส.ค.)

ทั้งนี้ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน ทางพรรค LFI ซึ่งมี 72 ที่นั่ง ในสมัชชาแห่งชาติ 577 ที่นั่ง จำเป็นต้องรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10% ขอสมาชิกรัฐสภา ภายใต้ญัตติดังกล่าว ทั้งนี้มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ระบุไว้ว่าประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ในกรณีละเลยต่อการทำหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี

"มาครง ปฏิเสธทำตามเสียงโหวตของประชาชน ดังนั้นเราต้องปลดเขา" ปาโนต์กล่าว พร้อมแชร์ร่างญัตตินี้ ซึ่งเน้นย้ำว่า "สมัชชาแห่งชาติ (สภาล่าง) และวุฒิสภา สามารถและต้องปกป้องประชาธิปไตยต่อการโน้มเอียงเข้าหาเผด็จการของประธานาธิบดี"

อย่างไรก็ตาม บรรดาสมาชิกสภาโต้แย้งต่อแนวร่วมฝ่ายซ้าย ว่า การเจรจาต่อรองทางการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดี ในกรณีที่ มาครง พยายามหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับตั้งแต่ กาเบรียล อัตตาล ลาออกไปเมื่อเดือนที่แล้ว

สำหรับ LFI คือส่วนหนึ่งของแนวร่วมพันธมิตรนิวป็อปปูลาร์ฟรอนต์ (NFP) ร่วมกับพรรคโซเชียลิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกรีนส์ ซึ่งโผล่ขึ้นมาในฐานะผู้ชนะในศึกเลือกตั้ง ที่มีขึ้นหลังจากมาครง ประกาศยุบสภาก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรนี้ไม่ถึงขั้นครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด บีบให้ มาครง ต้องเข้าสู่การเจรจาเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.) มาครง ปฏิเสธเสนอชื่อ คาสเตต์ ข้าราชการพลเรือนซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด แต่เป็นแคนดิเดตของแนวร่วม NFP เป็นนายกรัฐมนตรี อ้างว่ารัฐบาลหนึ่งที่นำโดยฝ่ายซ้าย จะคุกคามเสถียรภาพของสถาบันการเมือง

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนฝรั่งเศส เน้นว่าสถานการณ์เช่นนี้คงเป็นเรื่องยากในการหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่จะไม่ถูกเขี่ยพ้นจากตำแหน่งในทันที ในการลงมติไม่ไว้วางใจ

ปัจจุบัน มาครง ยังคงเพิกเฉยแคนดิเดตของแนวร่วมนิว ป็อปปูลาร์ ฟรอนต์ และแหล่งข่าวใกล้ชิดกับเขา เผยว่าเขาเชื่อว่าสมดุลอำนาจควรขึ้นอยู่กับพรรคสายกลางหรือฝ่ายขวากลางมากกว่า

เช่นดียวกับพรรคอาร์เอ็น ซึ่งกวาดเก้าอี้มาเป็นอันดับ 3 ในศึกเลือกตั้ง เน้นย้ำว่าพวกเขาจะขัดขวางแคนดิเดตจากแนวร่วมฝ่ายซ้าย โดยอ้างว่า NFP เป็นตัวแทนของความอันตรายที่มีต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สันติสุขของพลเมือง และแน่นอนว่าเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของประเทศ

5 กันยายน พ.ศ. 2336 ‘ยุคแห่งความเหี้ยมโหด’ เริ่มต้นขึ้นใน ‘ฝรั่งเศส’ เมื่อ ‘สภาแห่งชาติ’ หนุนก่อการร้ายเพื่อผลักดันการปฏิวัติฝรั่งเศส

วันนี้ในอดีต 5 กันยายน พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) การปฏิวัติฝรั่งเศส: สภาแห่งชาติเริ่มต้นสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว เมื่อสภาลงมติสนับสนุนการก่อการร้ายซึ่งได้ปราบปรามและสังหารศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่เป็นเวลาสิบเดือน

เหตุการณ์นี้เรียกว่า ‘สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว’ หรือ ‘The Terror’ (la Terreur) เป็นสมัยแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้น โดยถูกกระตุ้นจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแยกทางการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน คือ ฌีรงแด็ง (Girondins) และฌากอแบ็ง (Jacobins) 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 'สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว'

-มีการประหารชีวิต 'ศัตรูแห่งการปฏิวัติ' จำนวนมาก ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ในหลักหมื่น โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน 16,594 คน และอีก 25,000 คน ถูกประหารชีวิตอย่างรวบรัดทั่วฝรั่งเศส

-'กิโยติน' กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์การปฏิวัติ ซึ่งมีการประหารชีวิตบุคคลสำคัญจำนวนมาก เช่น มารี อ็องตัวแน็ต และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทั้งผู้สนับสนุนการปฏิวัติ ฟิลิปป์ เอกาลีเต (หลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 2 ดยุคแห่งออร์เลอองส์) มาดามโรลองด์และกลุ่มฌีรงแด็ง มีอีกหลายคน อาทิ อ็องตวน ลาวัวซีเย นักเคมีบุกเบิก ที่ต้องมาสังเวยชีวิตด้วยเช่นกัน 

-ระหว่าง ค.ศ. 1794 ฝรั่งเศสสมัยปฏิวัติถูกรุมเร้าด้วยการคบคิด โดยศัตรูทั้งในและนอกประเทศ 

-ภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าว ถูกชนชั้นสูงฝรั่งเศสคัดค้าน หลังจากสูญเสียเอกสิทธิ์ที่ได้รับสืบทอดมา 

-นิกายโรมันคาทอลิกโดยทั่วไป ที่คัดค้านการปฏิวัติ ถูกเปลี่ยนนักบวชเป็นลูกจ้างของรัฐและบังคับให้ต้องปฏิญาณความจงรักภักดีต่อชาติ 

-สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ต้องสู้รบในสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่เจตนาทำลายการปฏิวัตินี้เสียเพื่อป้องกันมิให้ลุกลาม

-การขยายของสงครามกลางเมือง และการรุกคืบของกองทัพต่างด้าวต่อดินแดนของชาติ ได้ก่อวิกฤตการณ์การเมืองและเพิ่มการแข่งขันระหว่าง ฌีรงแด็ง กับ ฌากอแบ็ง ซึ่งหัวรุนแรงกว่า โดยฝ่ายหลังนี้ ต่อมาได้รวมกลุ่มในกลุ่มแยกรัฐสภา เรียกว่า Mountain และพวกเขาได้การสนับสนุนจากประชากรกรุงปารีส 

-สภาฝรั่งเศสตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1793 เพื่อปราบปรามกิจกรรมต่อต้านการปฏิวัติภายในประเทศและเพิ่มกำลังทหารฝรั่งเศสเพิ่มเติม ผ่านศาลปฏิวัติ 

-ผู้นำสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวใช้อำนาจเผด็จการอย่างกว้างขวาง และใช้ประหารชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากและการกวาดล้างทางการเมือง โดยมีการปราบปรามเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ค.ศ. 1794 ซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่า 'la Grande Terreur' (the Great Terror) 

นสุดลงด้วยรัฐประหารวันที่ 27 กรกฎาคม 1794 ซึ่งนำไปสู่ปฏิกิริยาเดือนแตร์มีดอร์ (Thermidorian Reaction) ซึ่งผู้สนับสนุนสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวหลายคนถูกประหารชีวิต รวมทั้ง มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์...

จากภาพ: การประหารชีวิตรอแบ็สปีแยร์

‘อุ้ม ศศิราวรรณ อินทโชติ’ เจ้าของเหรียญทองแดงคนแรก ของนักกรีฑาไทย จากเด็กสาวแขนพิการ ที่พูดน้อย เก็บตัว สู่ความภาคภูมิใจของคนไทย

(8 ก.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘เสียงจากทหารเรือ’ ได้โพสต์ข้อความสุดซึ้งเกี่ยวกับ ‘อุ้ม ศศิราวรรณ อินทโชติ’ เจ้าของเหรียญทองแดงคนแรก ของนักกรีฑาไทย โดยได้ระบุว่า ...

ชีวิตดั่งเทพนิยายขีดเขียนบทให้เธอเดิน
เธอคือสาวงามแห่ง ‘ทุ่งนครลำดวน’
เธอคือ นักกรีฑาหญิงไทยคนแรก ที่คว้าเหรียญพาราลิมปิกมาครอง
จากเด็กสาวที่อยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของห้องเรียน
เป็นเด็กที่เก็บตัว พูดน้อยด้วยความพิการแขน
วันนี้เธอทำสำเร็จแล้ว
เธอคือความภูมิใจของ ‘พ่อแม่’ วันที่เธอได้เหรียญครั้งแรกจากการแข่งขัน แม่เธอวิ่งเอาเหรียญไปโชว์ทั่วหมู่บ้าน
และวันนี้ เธอเป็นความภาคภูมิใจขคนไทย
ที่อยากจะบอกก้องโลกว่าภูมิใจและดีใจกับเธอเช่นเดียวกัน

สาวน้อยวัย 21 ปีจาก ‘แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒธรรม เลิศล้ำสามัคคี’ #ศรีสะเกษ สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาไทย โดยการคว้า ‘เหรียญทองแดง’ พาราลิมปิก ปารีส สำเร็จ ศศิราวรรณ อินทโชติ  

เธอมีหน้าตาที่สะสวย แต่เป็นคนพูดน้อยเก็บตัว และพิการแขนข้างหนึ่ง หรืออาจจะเรียกให้เข้ากับคนยุคนี้ว่า ‘introvert’ นั้นเอง ด้วยแววตาของ ‘คุณครู’ โรงเรียนศรีรัตนวิทยา ที่ศรีสะเกษ ของเธอเห็นว่านี่จะเป็นโอกาสให้เธอเป็นนักกีฬาสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคตจึงแนะนำ

จากเด็กผู้หญิงที่เก็บตัวมาตลอด ลองเริ่มหัดวิ่งเธอใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ขอย้ำว่าเพียง 6 เดือนเท่านั้น ก็สามารถติดธงชาติไทยที่น่าอกเป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ที่น่าภาคภูมิใจที่สุดเมื่อออกไปแข่งครั้งแรกที่ได้เหรียญรางวัลกลับมาทันที แต่ดูเหมือนคนที่ภูมิใจมากที่สุดน่าจะเป็น ‘คุณแม่’ ของเธอเสียมากกว่า แม่เธอเอาเหรียญรางวัลวิ่งไปโชว์ ‘คุณป้า’แถวบ้านไปทั่วเลย

ด้วยความสุดยอดของเธอก่อนมาแข่ง ‘พาราลิมปิก’ เธอสร้างบ้านหลังใหม่หลังงามให้พ่อแม่ของเธอสำเร็จ จากรายได้แห่งการวิ่ง

และแล้วรางวัลแห่งชัยชนะก็มาถึง อุ้ม ศศิราวรรณ อินทโชติ สร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญทองแดง พาราลิมปิก ในการแข่งขัน กรีฑา 200 เมตรหญิง คลาส T47 โดยเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 25.20 วินาที ที่ สนาม สต๊าด เดอ ฟรองซ์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

เธอบอกหลังคว้าเหรียญสำเร็จว่า 

ดีใจมาก แต่ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้เหรียญแค่เข้าชิงก็ดีใจสุดๆแล้ว ขอบคุณทางบ้านที่เป็นกำลังใจให้วันนี้หนูทำสำเร็จแล้ว

'มาครง' ผ่าทางตัน!! เขี่ยพรรคอันดับ 1 เป็นฝ่ายค้าน แต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ด้วยนักการเมืองฝ่ายขวา

(23 ก.ย. 67) เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 67 ว่า ในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานตั้งแต่การเลือกตั้งที่ไม่มีผู้ชนะเด็ดขาดในเดือนกรกฎาคม

คณะรัฐมนตรีที่ประกาศโดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้มีแชล บาร์นีเย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศวัย 73 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวเรือใหญ่ในการนำรัฐบาลเสนอแผนงบประมาณปี 2568 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของฝรั่งเศสซึ่งเข้าขั้นเลวร้าย

บาร์นีเย ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาและอดีตผู้เจรจาของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเบร็กซิต ต้องทำหน้าที่อันยากลำบากในการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มาครงอนุมัติ ขณะที่พันธมิตรฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภาพร้อมบดขยี้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ด้วยญัตติไม่ไว้วางใจ หลังจากผิดหวังที่กลุ่มของตนไม่ได้เป็นแกนหลักในรัฐบาลชุดใหม่

กลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลายเป็นพลังทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับที่นั่งมากเพียงพอต่อการตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ พันธมิตรฝ่ายซ้ายเป็นกลุ่มที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภา โดยมีฝ่ายกลางของมาครง และฝ่ายขวาจัดได้คะแนนไล่เรียงกันลงมา แต่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และทั้งสามฝ่ายไม่มีใครยอมจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลผสม ตลอดจนการนำเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาทำงานร่วมกับมาครง เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสต้องรอรัฐบาลใหม่นานกว่า 11 สัปดาห์

มาครงชั่งน้ำหนักทางการเมืองอย่างรอบคอบก่อนเลือกฝ่ายขวามากกว่าฝ่ายซ้าย เขายอมเลือกนายกรัฐมนตรีจากฝั่งขวาเพื่อหวังให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากทั้งสายกลางของเขาและฝ่ายอนุรักษนิยม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ได้รับเสียงตอบรับไม่ค่อยดีนักจากฝ่ายขวาจัดที่เรียกคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่าเป็นสัญญาณของการกลับคืนสู่ลัทธิมาโครนิสต์และดูไม่มีอนาคตเลย

ขณะที่ฝ่ายซ้ายจัดเรียกคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า "รัฐบาลของผู้แพ้การเลือกตั้ง และรัฐบาลหัวรุนแรงที่ไม่สนใจประชาธิปไตย"

ก่อนการประกาศคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ผู้คนหลายพันคนออกมาเดินขบวนบนท้องถนนในกรุงปารีสและเมืองอื่น ๆ ของฝรั่งเศสเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย

พวกเขาคัดค้านคณะรัฐมนตรีซึ่งพวกเขาบอกว่าไม่สะท้อนผลที่แท้จริงของการเลือกตั้ง และรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีบุคลากรจากฝ่ายซ้ายเลย ทั้งๆที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับหนึ่งในรัฐสภา

มีแชล บาร์นีเยจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 1 ตุลาคม จากนั้นเขามีหน้าที่เร่งด่วนในการส่งแผนงบประมาณไปยังสมัชชาแห่งชาติโดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมการขาดดุลงบประมาณและหนี้สินของฝรั่งเศสที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นด่านทดสอบสำคัญครั้งแรกของรัฐบาลชุดใหม่

ก่อนที่บาร์นีเยจะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาล ฝรั่งเศสกำลังเข้าใกล้สถานะละเมิดกฎงบประมาณของสหภาพยุโรป โดยคาดการณ์ไว้ว่าการขาดดุลภาคสาธารณะของฝรั่งเศสจะสูงถึง 5.6% ของจีดีพีในปีนี้ และสูงเกิน 6% ในปี 2568 ขณะที่กฎของสหภาพยุโรปกำหนดเพดานการขาดดุลไว้ที่ 3% เท่านั้น

บาร์นีเยกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า "ผมค้นพบว่าสถานการณ์งบประมาณของประเทศนั้นเลวร้ายมาก และสถานการณ์นี้ต้องการมากกว่าแค่คำแถลงที่สวยหรู"

ทั้งนี้ กำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ครั้งแรกจะเริ่มในช่วงบ่ายวันที่ 23 กันยายน

‘มาครง - เนทันยาฮู’ ปะทะเดือด หลังการโจมตีใน ‘เลบานอน’ ชี้!! มุ่งเป้าไปที่ ‘ผู้รักษาสันติภาพ’ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

(19 ต.ค. 67) ท่ามกลางการโจมตีเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพในเลบานอน ประธานาธิบดีมาครงและนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูกำลังแลกฝีปากกัน ตามข้อมูลของพระราชวังเอลิเซ มาครงแสดงความไม่พอใจต่อการโจมตีดังกล่าวในการสนทนาทางโทรศัพท์ เขากล่าวว่าอิสราเอลต้องหยุดมุ่งเป้าไปที่ผู้รักษาสันติภาพทันที เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

แต่อิสราเอลเน้นย้ำว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กองทหารสหประชาชาติแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็กล่าวหากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เลบานอนที่ใช้พวกเขาเป็นโล่กำบัง

สื่อฝรั่งเศสยังรายงานคำเตือนจากมาครงถึงเนทันยาฮูว่า เนทันยาฮูไม่ควรลืมว่าอิสราเอลก่อตั้งขึ้นโดยการตัดสินใจของสหประชาชาติ มีรายงานว่ามาครงกล่าวถึงประเด็นนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่อิสราเอลจะตีตัวออกห่างจากการตัดสินใจของสหประชาชาติ

เนทันยาฮูตอบโต้ด้วยความโกรธเคืองต่อคำพูดของมาครง และประกาศกร้าวเป็นการเตือนความจำสำหรับประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสว่า อิสราเอลไม่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยการตัดสินใจของสหประชาชาติ แต่เกิดจากชัยชนะในสงครามอาหรับ-อิสราเอลที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1948

ในส่วนของมาครง เขาพูดพาดพิงถึงแผนการแบ่งดินแดนของสหประชาชาติสำหรับปาเลสไตน์ ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองในปี 1947 ดังนั้น หลังจากสิ้นสุดอาณัติของอังกฤษ ปาเลสไตน์ควรถูกแบ่งออกเป็นรัฐสำหรับชาวยิว และอีกรัฐหนึ่งสำหรับชาวอาหรับ กรุงเยรูซาเล็มควรได้รับสถานะพิเศษ ซึ่งแผนดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาใช้

โยนาธาน อาร์ฟี-ประธานองค์กรของชาวยิวในฝรั่งเศส วิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของมาครง ‘หากความคิดเห็นเหล่านี้เป็นจริง ก็ถือเป็นความผิดพลาดทั้งในอดีตและทางการเมือง’ เขาโพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X นั่นหมายถึง ‘การดูแคลนประวัติศาสตร์ร้อยปีของไซออนิสต์ และการเสียสละของผู้คนนับหมื่นนับพัน’

นอกจากนี้ ความคิดเห็นของประธานาธิบดีมาครงยังสนับสนุนผู้โต้แย้งสิทธิในการดำรงอยู่ของอิสราเอลอีกด้วย อาร์ฟีกล่าว

PIA โดนจวกเละ เปิดเส้นทางบินปารีส แต่ภาพชวนระทึก คล้ายโศกนาฏกรรม 9/11

เมื่อวันที่ (10 ม.ค.68) สายการบินประจำชาติปากีสถาน ‘ปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์’ หรือ PIA ได้กลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างอิสลามาบัดและปารีสอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency) สั่งระงับการบิน เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถของหน่วยงานการบินของปากีสถานในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดสากล  

ในวันเปิดเที่ยวบินดังกล่าว โซเชียลมีเดียของ PIA ได้เผยแพร่ภาพโปรโมตการกลับมาของเส้นทางบินนี้ แต่กลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นเครื่องบินของสายการบินพุ่งตรงไปยังหอไอเฟล พร้อมฉากหลังเป็นสีของธงชาติฝรั่งเศส และข้อความว่า "Paris, we are coming today."  

ภาพนี้ทำให้ผู้คนในโซเชียลมีเดียนึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 ที่เครื่องบินถูกใช้เป็นอาวุธในการโจมตีอาคารในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2001 ส่งผลให้เกิดเสียงตำหนิในโลกออนไลน์ เช่น “คนทำกราฟิกของสายการบินควรเรียนประวัติศาสตร์ใหม่,” “ทีมการตลาดควรถูกไล่ออก,” และ “ใครคิดว่าโฆษณานี้เหมาะสม?”  

เกี่ยวกับประเด็นนี้ อิสฮัก ดาร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถาน เปิดเผยต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า นายกรัฐมนตรีชาห์บาซ ชารีฟ ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และตำหนิว่าการเผยแพร่ภาพดังกล่าวเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบ ระบุผู้รับผิดชอบทันที อีกทั้งให้ถอดภาพจากแคมเปญโปรโมตทันที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top