Friday, 4 July 2025
ฝรั่งเศส

จีนประณาม ‘มาครง’ กรณีเปรียบไต้หวันกับยูเครน ชี้เป็นคนละเรื่อง!!..ยันสองกรณีต่างกันโดยสิ้นเชิง

(2 มิ.ย. 68) จีนออกแถลงการณ์ประณามประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส หลังเจ้าตัวกล่าวในเวทีการประชุมความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ว่า หากรัสเซียสามารถยึดครองดินแดนยูเครนได้โดยไร้ข้อจำกัด ก็อาจเกิดเหตุการณ์คล้ายกันในไต้หวันหรือฟิลิปปินส์ได้ในอนาคต

สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำสิงคโปร์ตอบโต้ทันทีผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าการเปรียบเทียบกรณีไต้หวันกับยูเครนเป็นเรื่อง “ไม่อาจยอมรับได้” โดยชี้ว่าสถานการณ์ทั้งสองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และกล่าวหามาครงว่ามี “มาตรฐานสองแบบ” ในมุมมองทางการเมือง

จีนย้ำว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และจะเดินหน้าสู่การรวมชาติโดยสมบูรณ์ พร้อมเตือนให้เจ้าหน้าที่ไต้หวันหลีกเลี่ยงการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ ขณะที่หลายประเทศตะวันตกยังคงขายอาวุธและมีความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อปักกิ่ง

ด้านรัสเซีย ระบุว่าพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนที่ลงประชามติขอเข้าร่วมรัสเซียนั้น เป็นดินแดนที่ควรได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลเคียฟ และเรียกร้องให้ยูเครนถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว หากต้องการยุติความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

ซีอีโอ Telegram โวย ‘ฝรั่งเศส’ ละเมิดเสรีภาพ อึ้ง!! ‘อเมริกา’ ล้วงข้อมูลโดยไม่ต้องแจ้งผู้ใช้??

เมื่อวันที่ (9 มิ.ย. 68) ที่ผ่านมา ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) นักข่าวชาวอเมริกัน เผยแพร่บทสัมภาษณ์ล่าสุดกับ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยพูดคุยกันในเดือนเมษายน 2024 เพียง 4 เดือนให้หลัง ดูรอฟก็ถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมในปารีส ด้วยข้อหาหนักหลายรายการ เช่น เพิกเฉยต่อคำขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการกระจายซอฟต์แวร์แฮ็กและภาพลามกเด็ก รวมถึงฟอกเงินผิดกฎหมาย

ดูรอฟ ระบุว่า การสอบสวนในฝรั่งเศสยังไม่สิ้นสุด และหากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อาจยืดเยื้อนานถึง 2 ปี ขณะนี้เขาได้รับการปล่อยตัว แต่ยังต้องขออนุญาตหากต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางไปเยี่ยมลูกในดูไบ และมารดาที่ป่วยหนัก เขาเล่าว่าถูกจับกุมที่สนามบินและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนาน 4 วัน พร้อมล่ามชาวรัสเซียที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศสช่วยแปลระหว่างการสอบสวน

ล่ามคนดังกล่าวเล่าให้ดูรอฟฟังหลังทำหน้าที่ต่อเนื่องภายใต้แรงกดดันของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 วัน ว่า เธอเคยคิดว่าการออกจากรัสเซียมาฝรั่งเศสจะทำให้ได้พบกับเสรีภาพที่แท้จริง เพราะเชื่อในชื่อเสียงของฝรั่งเศสในฐานะดินแดนแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อได้สัมผัสด้วยตัวเองกับกระบวนการยุติธรรมฝรั่งเศส กลับไม่ใช่อย่างที่เธอคิด

ดูรอฟวิจารณ์การจับกุมว่า “น่าประหลาดใจมาก” เพราะ Telegram ไม่เคยเพิกเฉยต่อคำร้องขอที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมแย้งว่าฝรั่งเศสไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ เช่น การค้นหาช่องทางติดต่อผ่าน Google ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เขาย้ำว่า Telegram ไม่ได้สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมาย และการพุ่งเป้ามายังแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน เป็นการทำร้ายภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสเอง

นอกจากนี้ ดูรอฟยังเปิดเผยเหตุผลที่ไม่ย้ายทีมพัฒนา Telegram ไปยังสหรัฐฯ โดยระบุว่า ในฝรั่งเศสและอดีตสหภาพโซเวียต ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “gag order” หรือคำสั่งลับจากรัฐที่สามารถบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าของบัญชี หรือแม้แต่ไม่ต้องให้เขารู้ตัว เขาเชื่อว่าสิ่งนี้ละเมิดความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่ตั้งศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในอเมริกา

‘ปธน.มาครง’ ของฝรั่งเศส เสนอช่วยปมพิพาทชายแดน ยินดีจัดหาเอกสารให้ ‘ไทย-กัมพูชา’ หากต้องการ

(12 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความพร้อมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดหาเอกสารให้แก่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา หากจำเป็น เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาชายแดนระหว่างสองประเทศ โดยเปิดเผยระหว่างการหารือกับนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ผู้นำกัมพูชา ที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้

ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยโดยนายฌอง-ฟรองซัวส์ ตัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ระหว่างแถลงข่าวที่สนามบินนานาชาติพนมเปญ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 มิถุนายน โดยระบุว่าการพบปะกับผู้นำฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเยือนฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องมหาสมุทร ครั้งที่ 3

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้ย้ำจุดยืนของกัมพูชาในการแก้ปัญหาชายแดนกับไทยผ่านแนวทางสันติวิธี โดยเสนอ 4 แนวทางหลัก ได้แก่ การรักษามิตรภาพกับไทย, การเสนอข้อพิพาทปราสาทและพื้นที่บางส่วนให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ), การร่วมมือผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) และการใช้กลไกทวิภาคีเพื่อรักษาความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน

นายกฯ กัมพูชา ชี้แจงว่า การยกประเด็นข้อพิพาทชายแดนในการหารือกับผู้นำฝรั่งเศสครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อชี้แจงจุดยืนของกัมพูชา ไม่ใช่เพื่อขอการสนับสนุนใดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีมาครงได้แสดงความพร้อมในการช่วยเหลือด้านเอกสารหรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หากมีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมแนวทางแก้ไขอย่างสันติ

ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศที่เมืองนีซของผู้นำกัมพูชา ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเวทีหนึ่งที่กัมพูชาใช้ในการสื่อสารจุดยืนทางการทูตต่อเวทีโลกเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top