Friday, 4 July 2025
ฝรั่งเศส

‘มาครง’ ไม่ขัด!! บรรดาชาติตะวันตกส่งทหารไปยูเครน ฟากประเทศที่ 3 พร้อมหนุน ‘เงินทุน-อาวุธ’ บู๊หมีต่อ

ไม่นานมานี้ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แถลงหลังเสร็จสิ้นการหารือของผู้นำยุโรป 20 ประเทศว่าด้วยยูเครน ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส โดยสาระสำคัญอยู่ที่ ‘ฝรั่งเศส’ ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ว่า ประเทศตะวันตกอาจส่งทหารไปยูเครน แต่เขาจะยังคงใช้ ‘ยุทธศาสตร์ความคลุมเครือ’ ในประเด็นนี้ต่อไป

มาครงกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม 20 ผู้นำยุโรปครั้งนี้ ยังเห็นพ้องที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศต่าง ๆ ที่ช่วยรัสเซียให้เลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ใช้อยู่

มาครง ยังกล่าวสนับสนุนโครงการจัดซื้อกระสุนหลายแสนนัดจากประเทศที่ 3 ให้แก่ยูเครน ซึ่งริเริ่มโดยสาธารณรัฐเช็ก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มาครง เคยแสดงท่าทีคัดค้านการจัดซื้อกระสุนให้ยูเครน จากประเทศที่ 3 ที่ไม่ใช่ยุโรป เพราะหวังว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมอาวุธของยุโรปก่อน

ด้าน นายกรัฐมนตรี มาร์ค รุทเทอ ของเนเธอร์แลนด์ เต็งหนึ่งที่อาจได้ขึ้นเป็นเลขาธิการนาโตคนใหม่ เปิดเผยหลังเข้าร่วมประชุมที่ปารีสดังกล่าวว่า เนเธอร์แลนด์จะให้เงิน 100 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยราว 4,000 ล้านบาท ช่วยในโครงการจัดซื้อกระสุนให้ยูเครนที่ริเริ่มโดยสาธารณรัฐเช็ก โดยจัดซื้อจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

สำหรับปัญหาขาดแคลนกระสุนกำลังเป็นปัญหาวิกฤตของยูเครน หลังยุโรปกำลังจะล้มเหลวในเป้าหมายส่งกระสุนปืนใหญ่ 1 ล้านนัดให้แก่ยูเครนภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่งผลให้ยูเครนกำลังเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิภาคตะวันออกของประเทศ เหล่านายพลของยูเครนที่กำลังทำศึกกับรัสเซีย ต่างบ่นถึงปัญหาขาดแคลนทั้งอาวุธและทหาร

‘สภาฝรั่งเศส’ รับรองสิทธิ ‘การทำแท้ง’ ในรัฐธรรมนูญ หลังออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง เมื่อกว่า 50 ปีก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ ‘การทำแท้ง’ เป็นเสรีภาพของพลเมืองภายใต้กฎหมายสูงสุด ถือเป็นชาติแรกของโลก

ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่บัญญัติเสรีภาพการทำแท้งไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นหมายความว่า สิ่งอื่นใดจะมาล้มล้างเสรีภาพนี้ไม่ได้

โดยหลักการทางกฎหมาย เสรีภาพคือภาวะโดยอิสระของมนุษย์ แม้จะไม่มีกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองไว้ บุคคลก็ยังคงมีเสรีภาพนั้น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องนับถือศาสนาใด และทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกศาสนาที่จะนับถือ

ในทำนองเดียวกัน เสรีภาพในการทำแท้งนี้ก็หมายความว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการตัดสินใจทำแท้ง โดยที่ใครก็มาละเมิดความคิดหรือบังคับไม่ให้ทำไม่ได้

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส จะต้องมีเสียงข้างมาก 3 ใน 5 ซึ่งในการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทำแท้งให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากสภาสูงและสภาล่างของรัฐสภาฝรั่งเศส ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ถึง 780 ต่อ 72 เสียง

การลงคะแนนเสียงล่าสุดถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการนิติบัญญัติ หลังก่อนหน้านี้วุฒิสภาฝรั่งเศสและรัฐสภาต่างเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างท่วมท้นเมื่อต้นปีนี้

การแก้ไขระบุว่า เพื่อให้ “การทำแท้งเป็นเสรีภาพที่พลเมืองในฝรั่งเศสจะได้รับอย่างแน่นอน” แต่ผู้ร่างกฎหมายบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการเรียกการทำแท้งอย่างชัดเจนว่าเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช่แค่เสรีภาพ

ฝ่ายนิติบัญญัติยกย่องความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นหนทางสร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศสในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของการสนับสนุนสิทธิการเจริญพันธุ์ ขณะที่อิสระในการทำแท้งกำลังถูกคุกคามในสหรัฐฯ และบางส่วนของยุโรป เช่น ฮังการี

หลังจากการโหวต หอไอเฟลก็สว่างไสวด้วยคำว่า ‘ร่างกายของฉัน ทางเลือกของฉัน’

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กาเบรียล แอตทาล กล่าวก่อนการลงคะแนนเสียงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเป็น ‘หนี้’ ผู้หญิงทุกคนที่ในอดีตเคยถูกบังคับให้ทนทำแท้งผิดกฎหมาย และบอกว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เรากำลังส่งข้อความถึงผู้หญิงทุกคน ร่างกายของคุณเป็นของคุณเอง”

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิสตรีสากล

ฝรั่งเศสออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งเป็นครั้งแรกในปี 1975 หลังจากการรณรงค์ที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซิโมน เวล

ในฝรั่งเศส การทำแท้งเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่เพราะพวกเขารู้สึกว่ามาตรการนี้ไม่จำเป็น โดยสิทธิการเจริญพันธุ์ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 25 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 1958

คริสตจักรคาทอลิกเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ประกาศต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดย Pontifical Academy for Life ซึ่งเป็นหน่วยงานของวาติกันซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรม กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในยุคของสิทธิมนุษยชนสากล เราไม่มี ‘สิทธิ’ ที่จะปลิดชีวิตมนุษย์”

‘ฝรั่งเศส’ เสนอร่าง กม.ห้ามคนวิจารณ์ ‘วัคซีนโควิด mRNA’ เพราะจะกลายเป็นความผิดทางอาญา มีโทษทั้งจำ-ปรับ

เมื่อไม่นานมานี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ในฝรั่งเศสที่อาจทำให้การวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA กลายเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงิน 45,000 ยูโร สถานการณ์นี้เป็นบททดสอบสมดุลระหว่างเรื่องสาธารณสุขและเสรีภาพการแสดงออก โหมกระพือประเด็นถกเถียงทั่วโลกเกี่ยวกับค่านิยมประชาธิปไตยและอำนาจของรัฐบาลในยุคศตวรรษที่ 21

โดยข้อเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้ กระพือเสียงอึกทึกครึกโครมบนท้องถนนของฝรั่งเศส ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลในหมู่พลเมือง โดยเวลานี้บรรดาสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างดังกล่าว ที่อาจเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านสาธารณสุขในประเทศแห่งอย่างรุนแรง

รายงานข่าวระบุว่า ข้อเสนอร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายทำให้การวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA เป็นความผิดทางอาญา ความเคลื่อนไหวที่มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงินอย่างหนักหน่วง 45,000 ยูโร (ประมาณ 1,750,000 บาท) อย่างไรก็ตาม แก่นกลางในประเด็นนี้ไม่ใช่แค่การคลอดกฎหมายฉบับหนึ่ง แต่มันเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการทดสอบสมดุลระหว่างการปกป้องระบบสาธารณสุขกับการธำรงไว้ซึ่งข้อเท็จจริงตามระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

ปมคำสัญญาของประเด็นโต้เถียงนี้ก็คือท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว พวกผู้เสนออ้างว่ายามที่กำลังเผชิญโรคระบาดใหญ่ระดับโลก ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับวัคซีนอาจเป็นอันตราย และเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่ความลังเลใจของประชาชนในการเข้ารับวัคซีน และบ่อนทำลายความพยายามสกัดการแพร่ระบาดของไว้รัส พวกเขามองว่ากฎหมายเช่นนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องความผาสุกโดยรวม

อย่างไรก็ตาม พวกวิพากษ์วิจารณ์มองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการบุกรุกเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างน่าเป็นกังวล พวกเขาเกรงว่าการลงโทษพวกที่วิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA อาจกลายเป็นแบบอย่างของการกัดเซาะเสรีภาพการแสดงออก ต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นแบ่งใดๆ ในอนาคตเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุขกับเสรีภาพการแสดงออก

ฝรั่งเศสไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังหาทางจัดการเกี่ยวกับสมดุลระหว่างความจำเป็นด้านสาธารณสุขกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยหลายชาติทั่วโลกได้บังคับใช้มาตรการต่างๆ ในการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่ บางส่วนเลือกใช้ยุทธการมอบการศึกษาแก่ประชาชน ขณะที่อื่นๆ ใช้มาตรการทางกฎหมายอันเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะว่าพวกเขาเล็งเป้าเล่นงานพวกวิพากษ์วิจารณ์วัคซีน mRNA โดยเฉพาะ และกำหนดบทลงโทษรุนแรง

ท่ามกลางการถกเถียงทั้งในแง่ของกฎหมายและในทางการเมือง ผู้คนชาวฝรั่งเศสมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างผสมผสานและมีหลายมุมมอง ไล่ตั้งแต่สนับสนุนรัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดกับการบิดเบือนข้อมูล ไปจนถึงแสดงความกังวลใหญ่หลวงต่อผลกระทบที่น่าตกใจต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

'ธนาธร' ซื้อบ้าน 'นายปรีดี พนมยงค์' ที่เคยใช้อาศัยขณะลี้ภัยฝรั่งเศส หวังให้ผู้คนได้ 'จดจำ-รำลึก' ประวัติศาสตร์การปกครอง 24 มิ.ย. 2475

เมื่อวานนี้ (1 เม.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดเผยในรายการNEWSROOM ทางยูทูบ Thairath Online Originals เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 เมษายน 2567 ระบุว่าตนและภรรยาได้ซื้อบ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ฝรั่งเศส เรียบร้อยแล้ว

“เราอยากให้คนรำลึก อยากให้คนจำประวัติศาสตร์ 2475 เวลาเราไปอเมริกาคนจะเชิดชู 4th of July Independence Day ส่วนฝรั่งเศสเชิดชู คุกบัสตีย์ (Bastille Day) วันที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ที่เชิดชูสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพของประชาชน แต่วันที่ 24 มิถุนา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นวันชาติที่ถูกหลงลืมไป ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ 24 มิถุนา ก็หายไป เราต้องบอกว่า เราต้องต่อสู้กับเรื่องพวกนี้ เพื่อให้คนตระหนัก ให้คนระลึกถึงความสำคัญของคนที่ต่อสู้ผลักดันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนไทยมาก่อนหน้าเรา”

“เมื่อปีที่แล้ว ทางชาวเวียดนามเจ้าของบ้าน มีความประสงค์อยากจะขาย เพราะคุณยายที่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มานานได้เสียชีวิต เราเลยคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะเก็บบ้านนี้ไว้ เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อจะให้มีการพูดถึงอาจารย์ปรีดี ที่ต่อสู้ทางการเมืองจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วก็เสียชีวิตในบ้านหลังนี้”

หลังจากนั้น นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ (x) ระบุว่า นายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ ได้ซื้อบ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 โดยระบุข้อความดังนี้
ธนาธร ได้ซื้อบ้านหลังที่ อ.ปรีดี พนมยงค์ เคยไปอาศัยลี้ภัยและเสียชีวิตที่นั่น ตั้งอยู่ที่เมืองอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ไว้เรียบร้อยแล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนได้จดจำรำลึกถึงประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญจัดเป็นวันชาติไทย

แต่ในปัจจุบันนี้ ปวศ.ที่เกี่ยวข้องกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ได้มีความพยายามถูกทำให้ลบเลือนและสูญหายไป

โดยจะมีการจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส

'พลโทนันทเดช' หยัน!! ซื้อบ้านเก่าของปรีดีที่ฝรั่งเศส แค่ละครฉากหนึ่ง ชี้!! เป็นการลงทุนแค่สลึงเดียว แต่คิดจะเอากลับคืนมาเป็นล้าน

(19 เม.ย. 67) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า...

บ้านเก่าของอาจารย์ปรีดี ที่ฝรั่งเศส หรือจะเป็นร้านกาแฟอีกร้านหนึ่งแค่นั้น

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เท่ากับเป็นการมองย้อนหลังไปหารากเหง้าของตัวเอง เพราะประวัติศาสตร์ คือ ต้นธารของสังคม และชีวิตผู้คนไม่ว่าจะเป็นไพร่ ผู้ดี หรือชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปฎิวัติ 24 มิถุนา 2475 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เขียนถึงกันมากมายหลายแง่มุม หลายทัศนะ แล้วแต่ความใกล้ชิดกับผู้คนในประวัติศาสตร์ หรือความเชื่อที่ได้รับมา หรือผลประโยชน์ที่ผูกพันกับตัวเอง จนกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเป็นกลางได้จริงในเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 แค่ดูหนังสือที่ขายในท้องตลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า มีแต่ผู้เขียนที่แข่งขันกันชื่นชมต่อคณะราษฎรเกือบ 80%

ดังนั้นเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 จึงถูกนำมาผลิตเป็นหนังสือ ขายแล้วขายเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น โดยไม่มีใครสนใจว่าข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร แค่ขอให้ตัวเองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชื่อ คณะราษฎร เท่านั้นก็พอ 

การซื้อบ้านเก่าของอาจารย์ ปรีดี ที่ฝรั่งเศส ก็คล้ายคลึงกัน มันเป็นแค่ละครฉากหนึ่งของพรรคการเมือง พรรคหนึ่ง ที่พิมพ์หนังสือออกมาขายเด็ก แล้วไม่มีคนอ่าน จึงลงทุนซื้อบ้านของ อาจารย์ปรีดี ซึ่งอุปมาเหมือนเป็นการลงทุนแค่สลึงเดียว แต่จะเอากลับคืนมาเป็นล้าน ยิ่งกว่าซื้อทองเก็งกำไร เห็นแล้วก็น่าสงสาร คณะราษฎร ที่วันเวลาผ่านมากว่า 90 ปีแล้ว ก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลเพียงบางกลุ่ม ..ก็แค่นั้นเอง

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ ลงนามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ณ กรุงโตเกียว ทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนกลับคืน หลังสิ้นสุดข้อพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 83 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน เป็นผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม

ทั้งนี้ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นจนถึงในปัจจุบัน

7 มิถุนายน พ.ศ. 2197 วันขึ้นครองราชย์ ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 14’ กษัตริย์ผู้ทรงวางรากฐานแฟชั่นในฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือ หลุยส์มหาราช ทรงมีพระสมัญญานามว่า สุริยกษัตริย์ อีกทั้ง ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2197 อีกทั้งยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก 

อย่างไรก็ตาม เดิมทีในอดีต…ศูนย์กลางความมั่งคั่งและแฟชั่นไม่ได้อยู่ที่ฝรั่งเศส แต่กลับอยู่ที่สเปนและอิตาลี สินค้าแฟชั่นหลายอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราชประสงค์ที่จะให้ฝรั่งเศสเป็นที่เชิดหน้าชูตาและได้รับการมองว่ายอดเยี่ยมที่สุด จึงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระราชวังแวร์ซายที่มีความสวยงามอลังการ แต่ก็มาพร้อมกฎระเบียบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องมารยาท พิธีการ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมราชสำนัก’ ที่กำหนดสถานภาพและเกียรติภูมิของบุคคลนั้น ๆ

สิ่งนี้นำมาซึ่งแฟชั่นการแต่งกายที่แตกต่างกันไปในแต่ละพิธีการ โดยในทุก ๆ วัน เหล่าขุนนางและข้าราชบริพารจะเข้าเฝ้าเพื่อชื่นชมการแต่งกายของพระองค์ อีกทั้งขุนนางแต่ละคนยังต้องแต่งตัวเพื่อให้เป็นที่โดดเด่นจนต้องพระเนตรและได้รับการชื่นชมหรือจดจำจากพระองค์

การแข่งขันในการแต่งกายของเหล่าขุนนางต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าแฟชั่นเพิ่มสูงขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และรัฐมนตรีคลังจึงได้ปฏิรูปและส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องประดับ น้ำหอม ให้ยกระดับคุณภาพ จนกลายเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน

ควันหลง ‘Tout à fait Thaï 2024’ งานเทศกาลไทยสุดอลังในกรุงปารีส เชื่อมสัมพันธ์ 2 ชาติ ผ่านเอกลักษณ์ไทย โดนใจชาวฝรั่งเศสรุ่นเก่า-ใหม่

(4 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และ นาย Alberto Rodriguez นายกเทศมนตรีเมือง Breux-Jouy ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดงานเทศกาลไทยในกรุงปารีส ภายใต้ชื่อ Tout à fait Thaï Exhibition & Village: Heritage of the World ณ วัดพระเชตุพน กรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม โดยมี ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และ นาง Jocelyne Guidez วุฒิสมาชิกของเขต Essonne ประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมด้วย

โดยคำนึงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งดำเนินมากว่า 330 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นรากฐานของความผูกพันและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนสองฝ่าย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส จึงได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับทีมประเทศไทยประจำกรุงปารีส นำงาน Tout à fait Thaï ซึ่งจัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 กลับมาอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ ความเข้าใจอันดี และความไว้วางใจระหว่างประชาชน ในห้วงเวลาสำคัญซึ่งความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศขณะนี้ก้าวหน้าและขยายตัวโดยรอบด้าน จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำสองฝ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Tout à fait Thaï Exhibition & Village: Heritage of the World 2024 เน้นนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ อาทิ โขน แม่ไม้มวยไทย การนวดไทย โดยมี อเมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ได้มาร่วมสร้างสีสันและถ่ายทอดความเป็นไทย ผ่านการแต่งกายด้วยชุดไทย

ขณะเดียวกันยังมีคอนเสิร์ตของศิลปินไทยร่วมสมัยวง 4Mix และ แอลลี่ อชิรญา นิติพน เพื่อดึงดูดความสนใจของคนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ให้เข้าถึงความเป็นไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น

การจัดงานครั้งนี้ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ถึงแม้ว่าวัดพระเชตุพน กรุงปารีส ตั้งอยู่ห่างไกลจากใจกลางกรุงปารีสถึง 40 กิโลเมตร ก็ยังมีผู้มาร่วมงานทั้งคนไทยและฝรั่งเศสจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศฝรั่งเศสกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขจากการประเมินของเทศบาลเมือง Breux-Jouy อันแสดงถึงความเข้มแข็งของประชาคมไทยในฝรั่งเศสอีกด้วย

ขณะที่มีคนไทยทั้งที่มาร่วมงานและร่วมออกร้านขายอาหารและสินค้าไทยกว่า 30 ร้าน การเปิด Thai Massage Pavilion คลินิกมวยไทย และการสอนภาษาไทยเบื้องต้นโดยนักศึกษาภาควิชาภาษาไทย ของสถาบันภาษาและอารยธรรมแห่งชาติอินัลโก้

ท่านทูตศรัญย์กล่าวว่า โดยที่ไทยและฝรั่งเศสมีความเป็นหุ้นส่วนแห่งความร่วมมือที่แน่นแฟ้น ประกอบกับที่ทั้งสองฝ่ายจะฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 340 ปีของการติดต่อครั้งแรกในปี 2568 และ 170 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569 เอกอัครราชทูตเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศจะก้าวสู่ความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่ยั่งยืนต่อไปจากรากฐานความสัมพันธ์ที่มั่นคงในปัจจุบัน และหวังว่า สถานเอกอัครราชทูตจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาสำหรับการจัดงาน Tout à fait Thaï ครั้งต่อๆ ไป

หากเปรียบเทียบ Tout à fait Thaï เป็นแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนฝรั่งเศสมายาวนาน ความสำเร็จอย่างสูงของการจัดงานครั้งนี้นับเป็นเครื่องยืนยันถึงโอกาสที่ฝ่ายไทยสามารถใช้ประโยชน์อย่างจริงจังจากความนิยมไทยอย่างสูงในหมู่ชาวฝรั่งเศสในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยวและมวยไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งช่วยสร้างความยั่งยืนด้านความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ตลอดจนรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ของไทยในฝรั่งเศส

ทั้งนี้ งาน Tout à fait Thaï ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ Tout à fait Thaï the series ได้แก่ การแสดงพิเศษ ‘ชุดเกร็ดโขน’ ซึ่งอำนวยการสร้างโดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และการจัดงานวันแห่งภาพยนตร์ไทยในกรุงปารีสโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และการออกแบบและจัดสวนวิถีไทย ตามรูปแบบภูมิปัญญาไทยในงานจัดสวนประจำปีของฝรั่งเศสชื่อ Jardins, jardin อีกด้วย

'ปิยบุตร' มอง!! อำนาจการยุบสภาของ 'มาครง' แบบไม่ต้องรับผิดชอบ อาจทำให้เห็น 'ระบอบกษัตริย์แบบสาธารณรัฐ' ในฝรั่งเศสอีกไม่นาน

(11 มิ.ย.67) รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) มีเนื้อหา ระบุว่า...

[การยุบสภาของ Macron ทำให้มีโอกาสมากที่นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสคนถัดไปจะมาจากพรรคขวาจัด]

รัฐธรรมนูญ 1958 ของสาธารณรัฐที่ 5 + การแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงในปี 1962 ของเดอโกลล์ (ซึ่งแก้รัฐธรรมนูญโดยวิธีที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใช้ช่องมาตรา 11 นำไปออกเสียงประชามติโดยไม่ผ่านรัฐสภาก่อน) + แนวปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีแต่ละคนที่บงการนายกรัฐมนตรีได้ 

= ทำให้ระบอบที่เรียกกันว่า 'กึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี' มีแนวโน้มขยับไปเป็น 'กษัตริย์แบบสาธารณรัฐ' หรือ Monarchie républicaine มากยิ่งขึ้น 

กล่าวคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาด โดยไม่ต้องรับผิดชอบ สั่งฝ่ายบริหารได้ สั่งนายกรัฐมนตรีได้แต่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา แถมมีอำนาจพิเศษแบบ มาตรา 16 อำนาจกดปุ่มนิวเคลียร์ และอำนาจยุบสภาได้ตามอำเภอใจด้วย 

ในระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ มีอำนาจยุบสภา แต่ไม่สามารถยุบสภาได้ตามอำเภอใจ ต้องมาจากการริเริ่มของนายกรัฐมนตรี และเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด (ให้นึกถึงกรณี เยอรมนี และ UK) 

ในระบบประธานาธิบดี ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา (ให้นึกถึงกรณี USA) 

เมื่อค่ำวานนี้ Macron ยุบสภา เป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดของตนเอง โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในทางการเมือง ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะตนเอง ก็ยังอยู่ตำแหน่งต่อถึงปี 2027 

ส่วนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภา (ซึ่งเสียงของพรรคฝ่ายค้านก้ำกึ่งกับพรรครัฐบาลพอสมควร) ต้องพ้นจากตำแหน่งหมด ไล่ให้คนอื่น ๆ ไปเลือกตั้งกันใหม่ ส่วนตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อ สบายใจ อีก 3 ปี

ฟังสุนทรพจน์แถลงเมื่อวานแล้ว ทำทีว่านี่คือความรับผิดชอบจากผลการเลือกตั้งสภายุโรป นับว่าน่าขยะแขยงทีเดียว รับผิดชอบประสาอะไร ตนเองอยู่ต่อ แต่ให้คนอื่นพ้นจากตำแหน่งหมด และทำให้สภาที่มีเสียงฝ่ายซ้ายก้ำกึ่งกับรัฐบาล หายไปด้วย

(ลองเปรียบเทียบดู ถ้าลองให้ประธานาธิบดีเยอรมนี หรือกษัตริย์อังกฤษ ยุบสภา ได้ตามอำเภอใจ อะไรจะเกิดขึ้น) 

นี่คือ จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 1958 นับวัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะกลายสภาพเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ เพียงแต่ว่ามาจากการเลือกตั้งทุก 5 ปี เท่านั้น 

การยุบสภาของ Macron จะยิ่งทำให้พรรคขวาจัดได้ที่นั่งในสภามากขึ้น อารมณ์ผู้คนต้องการคนมาถ่วงดุลกับ Macron และคนที่มีกระแสสูง (ดูจากผลการเลือกตั้งล่าสุด 9 มิ.ย.) ก็คือ Jordan Bardella นักการเมืองหนุ่ม ผู้เชี่ยวชาญการใช้สื่อโซเชียล โดยเฉพาะ TikTok วัย 28 ปี จากพรรคขวาจัด Rassemblement national (RN) นั่นเอง 

พรรค RN เตรียมประกาศแคมเปญ เลือกตั้ง สส.30 มิ.ย. นี้ คือ การเลือกให้ Bardella เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ว่า ก่อนฤดูร้อนนี้ เราจะเห็นประเทศฝรั่งเศส มีนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคขวาจัด และเสียงข้างมากในสภา มาจากพรรคขวาจัด 

ส่วน Macron ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เอารัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือ ให้ประโยชน์แก่ตนเองสูงสุด ลอยตัวอยู่เหนือความรับผิดใดๆ เป็นประธานาธิบดีหล่อๆ เท่ๆ พูดจาคำใหญ่โตสวยๆ ทิ้งทวน 3 ปีสุดท้าย สบายใจเฉิบ (ครบสองวาระ ลงเลือกตั้ง 2027 ไม่ได้แล้ว) 

พอถึงปี 2027 อาจเห็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาจากพรรคขวาจัด

'มารีน เลอเปน' คว้าชัยเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรก  ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของ 'ซ้าย-กลาง-พันธมิตรมาครง'

(1 ก.ค.67) เอ็กซิทโพลระบุว่า พรรคขวาจัดของฝรั่งเศส National Rally (RN) ของนางมารีน เลอเปน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ตามผลโพลก่อนหน้านี้ แต่ต้องรอการเลือกตั้งรอบ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม จึงจะบอกได้ว่า พรรคฝ่ายขวาจะสามารถยึดครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งฝรั่งเศสได้ในท้ายที่สุดหรือไม่

การสำรวจเอ็กซิทโพลของหลายสำนัก อาทิ Ipsos, Ifop, OpinionWay และ Elabe เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรค RN คว้าชัยด้วยคะแนน 33.2% ตามด้วยพรรค New Popular Front ที่ 28.1% และพรรค Ensemble presidential alliance ของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่ได้ไป 21%

ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พรรคขวาจัดเอาชนะพรรคคู่แข่งฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางไปได้อย่างสบาย ๆ รวมถึงเอาชนะกลุ่มพันธมิตรของมาครง ทำให้การเลือกตั้งรอบแรกกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในเดิมพันของมาครงที่ประกาศเลือกตั้งล่วงหน้า หลังากที่พรรคแนวร่วมของเขาประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

จอร์แดน บาร์เดลลา หัวหน้าพรรค RN วัย 28 ปี ประกาศความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศว่า “ผมตั้งเป้าที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของชาวฝรั่งเศสทุกคน หากชาวฝรั่งเศสลงคะแนนให้เรา”

ทั้งนี้ พรรคขวาจัดของฝรั่งเศสไม่เคยชนะการเลือกตั้งรัฐสภารอบแรกมาก่อน สิ่งที่มารีน เลอเปน ผู้นำที่เป็นที่รู้จักในฐานะตัวแทนพรรคขวาจัด และบาร์เดลลา หัวหน้าพรรค RN คนปัจจุบันต้องการ คือเสียงข้างมาก 289 ที่นั่งจาก 577 ที่นั่ง โดยการคาดการณ์บ่งชี้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้สิ่งที่ต้องการในการเลือกตั้งรอบ 2 ด้วยเช่นกัน

หากไม่มีเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ ฝรั่งเศสอาจประสบกับภาวะสภาแขวน หรือการมีรัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยในรัฐสภา ซึ่งจะทำให้พรรค RN ไม่สามารถที่จะผลักดันแผนการต่าง ๆ ที่ประกาศไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับผู้อพยพ การปรับลดภาษี รวมถึงการควบคุมบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

การเลือกตั้งรอบแรกนี้ยังมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ที่ราว 65-69% ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2022 ซึ่งบ่งชี้ว่าที่สุดแล้วการเลือกตั้งรอบ 2 อาจเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 3 พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งรอบแรก เมื่อพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายกลางไม่ได้จับมือเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งครั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์กับพรรค RN มากกว่า ทำให้เริ่มมีการรณรงค์จากพรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางที่เรียกร้องให้ผู้สมัครจากพรรคที่ได้คะแนนตามมาในลำดับ 3 ลาออกเพื่อไม่ให้ตัดคะแนนเสียงกันเอง

ขณะที่มีรายงานว่า ผู้ที่ไม่พอใจต่อชัยชนะของพรรค RN ได้ออกมาประท้วงต่อต้านชัยชนะของพรรคขวาจัดทันทีที่ทราบผลเอ็กซิทโพลที่จัตุรัสปลาสเดอลาเรปูบลิก กลางกรุงปารีส


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top