Tuesday, 6 May 2025
ปาล์มน้ำมัน

“นายกฯ”สั่ง “ก.พาณิชย์-ตำรวจ”ตรวจสต๊อกปาล์มน้ำมัน ห้ามกักตุน ให้ก.เกษตรฯ คุมASF ระบาดในสุกร

นายธนกร  วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์สินค้าราคาแพง และสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน ที่เพิ่มสูงจากสภาพอากาศ ฝนตกต่อเนื่อง โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสต็อกปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่กักตุนสินค้า ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันทั้งระบบและส่งผล
กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคอุปโภคเป็นวงกว้าง โดยล่าสุดตำรวจร่วมบูรณาการกับพาณิชย์จังหวัด จัดชุดตรวจลงพื้นที่ตรวจสต็อกปาล์มน้ำมัน โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ตลอดจนคลังน้ำมันปาล์มฯ

โดยจะดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้กำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ  และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะแจ้ง หรือหากมีการแจ้งการครอบครองไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.137 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนั้น นายกฯ ติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการเรื่องการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามที่กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่สำรวจปริมาณซากสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศอย่างเข้มงวด ระหว่างวันที่ 20-25 ม.ค.จำนวน 773 แห่งตรวจพบซากสุกรสะสม จำนวน 18,727,824.545 กิโลกรัม

ชาวสวนปาล์มเฮ!! พาณิชย์ เคาะงบ 6,128 ล้านบาท ประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน รอบใหม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ปีที่ 4 โดยหลักเกณฑ์เหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมาทุกประการ ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาทครอบครัวละไม่เกิน 25 ไร่ และผลปาล์มต้องอายุ 3 ปีขึ้นไป 

โดยกำหนดจำนวนเกษตรกรไว้ 3.8 แสนครอบครัว จะมีการจ่ายเงินส่วนต่าง 12 งวด ถ้าราคาปาล์มในตลาด ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท โดยจะกำหนดราคาอ้างอิงทุก 30 วัน เริ่มจ่ายส่วนต่างงวดแรก 15 ก.ย. 65 – 15 ส.ค. 66 วงเงินที่เตรียมไว้สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างปาล์ม 6,128 ล้านบาท

พท. อัด ‘บิ๊กตู่’ สาละวนแต่เรื่องย้ายพรรค ไม่เหลียวแลเกษตรกร ปล่อยปาล์มล้นตลาดขายไม่ได้

(12 ม.ค. 66) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา ประธาน ส.ส.พรรค และประธานคณะทำงานนโยบายเกษตร พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความเดือนร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันภาคใต้ที่ขายผลผลิตไม่ได้ และราคากำลังตกต่ำสวนทางตลาดโลก จนเกษตรกรและอาชีพที่เกี่ยวข้องได้รับความเดือนร้อนถ้วนหน้าว่า ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันร้องเรียนผ่านว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยพื้นที่ภาคใต้อย่างล้นหลาม เนื่องจากได้รับความเดือนร้อนจากลานปาล์มปิดรับการรับซื้อ ด้วยข้ออ้างปาล์มล้นโรงงาน ผลผลิตตกค้างเป็นจำนวนมาก จึงต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เป็นความไม่ปกติจากรัฐบาลที่ไม่ดูแลปล่อยปละละเลย หรือจงใจเอื้อทุนผูกขาดให้เอาเปรียบเกษตรกร ทั้งนี้ ปาล์มน้ำมันถูกจัดเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย เป็นพืชพลังงานหลักที่มีศักยภาพในภาวะโลกต้องการใช้พลังงานสะอาดเป็นอย่างมาก จึงไม่มีความสมเหตุสมผลใดเลย ที่จะเกิดเหตุการณ์ผลผลิตปาล์มล้นตกค้างเป็นจำนวนมาก กระทบไปยังชาวสวนปาล์มรายเล็กรายน้อย ขายไม่ได้ราคา ทั้งที่ตลาดทั่วโลกมีความต้องการ เกษตรกรไทยมีสินค้า แต่ทำไมไม่ได้ขาย 

นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ปาล์มรวมทั้งพืชผลทุกชนิดของเกษตรกรไทย ต้องเจอปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำสวนทางตลาดโลก ทั้งที่ตลาดโลกในยุคความมั่นคงทางอาหารต้องการพืชผลการเกษตรเป็นอย่างมาก พืชผลเกษตรเป็นของดีมีคุณค่า หากอยู่ในมือรัฐบาลที่บริหารเป็น ตะวันออกกลางขุดน้ำมันจากดินเรียกน้ำมันแขก รวมกลุ่มค้าขายต่อรองรักษาเสถียรภาพราคากับมหาอำนาจในตลาดโลก จนร่ำรวย ตรงกันข้ามบ้านเราปลูกน้ำมันบนดินด้วยมือคนไทย เรียกน้ำมันไทยกลับอ่อนแอ ไร้อนาคต ไม่ได้รับการเหลียวแล ทั้งนี้ ส.ส.ภาคใต้อยู่ในพรรครัฐบาลทั้ง 3 พรรค แต่กลับทิ้งชาวสวนปาล์ม

‘นายกฯ’ สั่งด่วน!! แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ดันแนวทาง 'ระยะสั้น-ยาว' บรรเทาทุกข์เกษตรกรสวนปาล์ม

(25 ม.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและสั่งการให้แก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน เพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ซึ่งจากการทำงานอย่างบูรณาการของรัฐบาล ได้สำรวจปัญหาของพืชปาล์มน้ำมัน เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ถึงช่วงต้นปี 2566 มีผลผลิตปาล์มออกมามาก ทำให้มีผลผลิตปาล์มอยู่ในตลาดมาก ส่งผลให้ราคาปาล์มตกต่ำ ประกอบกับมีการลักลอบนำปาล์มนอกโควต้าเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ราคาปาล์มอยู่ที่ 4.80 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 20 ม.ค.66)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยให้ช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อ บรรเทาความเดือดร้อน ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนชาวสวนปาล์ม โดยในการแก้ไขของรัฐบาลแบ่งเป็นสองรูปแบบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ขอความร่วมมือสหกรณ์ในพื้นที่ให้ช่วยรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรแทนไว้ก่อน และสกัดการลักลอบนำเข้าปาล์มนอกโควต้า ซึ่งจากแนวทางการทำงานของรัฐบาล ทำให้ราคาปาล์มมีการปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ ปาล์มยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนปาล์ม การประกันราคาปาล์ม มีการจัดทำโครงสร้างกำกับราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงมีกฎเกณฑ์กำกับดูแลเรื่องปาล์มครบวงจร เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

‘สรรเพชญ’ ห่วง ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ กระทบศก.ภาคใต้ วอน!! รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน

(27 พ.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ความเห็น หลังชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดยกล่าวว่า “ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ เพราะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2565 ก็มีสัญญาณเตือนจากนักวิชาการมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง หรือกรณีที่อินโดนีเซีย ได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ความนิยมในการใช้รถอีวีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดลดน้อยลง 

ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่า สินค้าที่น่าเป็นห่วง คือ “ปาล์มน้ำมัน” แต่ด้วยภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านนี้โดยตรงในรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ และส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันเป็นที่น่าพอใจ 

เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาอยู่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชาวสวนปาล์มก็มีความหวังว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินงานเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นได้ ประกอบกับเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ช่วงก่อนเลือกตั้งประธาน สส. และประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น แก้ไขปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอ้างว่าปาล์มน้ำมันปิดรับการรับซื้อเพราะปาล์มล้นตลาดและทำให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำสวนทางตลาดโลก ในกรณีนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและเตรียมการรับมือไว้เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ซึ่งนายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุเรื่องเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ 3 เท่าเหมือนสินค้าเกษตรอื่น ๆ จึงส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันตกลงมาดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และกลายเป็นว่ารัฐบาลเองทำให้ราคาปาล์มน้ำมันสวนทางตลาดโลกและตกต่ำกว่ารัฐบาลในสมัยที่แล้ว  

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่นายภูมิธรรม ได้ออกมาสั่งการให้กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่สำรวจเพื่อติดตามราคาปาล์มน้ำมันว่า ตนคาดหวังอยากให้นายภูมิธรรม ได้ให้ความสนใจกับพื้นที่ภาคใต้มากกว่านี้ เหมือนความพยายามที่จะขายข้าวเก่า 10 ปีดังที่ปรากฏในข่าวปัจจุบัน เพราะปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และหวังให้นายภูมิธรรม แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงให้จบไปแค่ตอนนี้ แต่คาดหวังให้เกิดความยั่งยืนและไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกในอนาคต

'พีระพันธุ์' ขานรับ 'ก.เกษตร' เร่งช่วยชาวสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ แก้ปัญหาราคาตกต่ำ พร้อมหนุนไฟฟ้าระบบโซลาร์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่เกษตรกร

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ลงพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมเร่งแนวทางผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกและเศษถ้วยยางพาราเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยเกษตรกร รวมทั้งเร่งการสนับสนุนไฟฟ้าระบบโซลาร์เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำจากชาวสวนปาล์มและโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO ณ บริษัท ปาล์มทองคำ จำกัด อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ เพื่อพบพูดคุยปัญหากับชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำโดยตรง พบว่าปัจจุบันปัญหาลดน้อยลงแล้วและลานเทก็รับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนยางในราคาสูงขึ้น แต่ปัญหาคืออยากให้กรมการค้าภายในประกาศราคารับซื้อทะลายปาล์มในราคาสูงขึ้น เพราะราคาปุ๋ยกับค่าใช้จ่ายอื่นไม่ลดลง ส่วนปัญหาของโรงหีบหรือโรงสกัดคืออยากให้วางระบบการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานไบโอดีเซลให้มีความเป็นธรรมกับลานเทและโรงสกัดมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีกฎหมายกำกับดูแลลานเทและโรงสกัดแต่กลับไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโรงงานไบโอดีเซลในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ CPO และการขายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ รวมทั้งน้ำมัน B100 ที่นำมาผสมน้ำมันดีเซล ซึ่งนายพีระพันธุ์รับว่าจะนำไปพิจารณา ทั้งนี้ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน ทำงานร่วมกันเพื่อเร่งหามาตรการแก้ไขและช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน แม้ว่าจะไม่ใช่กระทรวงหลักที่ดูแลปัญหาดังกล่าว ทว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้กระทรวงพลังงานช่วยดำเนินการให้ผู้ค้าน้ำมัน เช่น ปตท. และ บางจาก รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B100 จากโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่นำมาใช้ผสมน้ำมันดีเซล ในราคาประมาณ 33-35 ต่อกิโลกรัม ตามที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ เนื่องจากมองว่าจะทำให้การรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO จากโรงหีบหรือโรงสกัดในราคาสูงขึ้นได้ จากนั้นโรงหีบหรือโรงสกัดก็จะไปซื้อผลปาล์มจากลานเทในราคาสูงขึ้น และจะทำให้ลานเทสามารถขยับราคารับซื้อผลปาล์มจากชาวสวนปาล์มสูงขึ้นด้วยตามลำดับ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับผู้ค้าน้ำมันให้รับซื้อน้ำมัน B100 ในราคาใดราคาหนึ่ง ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นโรงงานผลิตไบโอดีเซลเป็นขั้นตอนที่อยู่ห่างจากการซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ลานเทมาก จึงขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันที่จะซื้อน้ำมัน B100 จากโรงงานไบโอดีเซลต้องทำความตกลงกับโรงสกัดและลานเทว่าจะรับซื้อทะลายปาล์มจากชาวสวนปาล์มในราคาสูงขึ้นด้วยเสียก่อน ขณะเดียวกัน จะผลักดันการนำน้ำมันปาล์มดิบ CPO ขยะพลาสติก และเศษถ้วยยางไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำมันระบบไพโรไลซิสในชุมชนเพื่อช่วยลดมลภาวะและช่วยลดภาระด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกษตรกร

“ก่อนหน้านี้ เคยให้ความเห็นไว้ว่า หากต้องการจะช่วยเหลือชาวสวนปาล์มจริง ๆ แล้ว ควรให้กระทรวงพาณิชย์กำกับให้ลานเทรับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามกฎหมายมากกว่า เพราะปัญหาในปัจจุบันคือ ลานเทส่วนมากไม่รับซื้อผลปาล์มในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ในขณะที่โรงหีบหรือโรงสกัดส่วนใหญ่กลับเป็นผู้รับซื้อผลปาล์มจากลานเทตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ปัญหาอีกอย่างคือเรายังไม่มีการขึ้นทะเบียนลานเทว่า มีจำนวนเท่าใด ขนาดใด ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อมาดูกระบวนการรับซื้อปาล์มของลานเทในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศ จากนั้นจะนำไปสู่การบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนปาล์มอย่างยั่งยืนต่อไป”

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังได้รับฟังเสียงจากชาวสุราษฎร์ธานี ที่ต้องการให้ช่วยส่งเสริมไฟฟ้าจากแสงแดดหรือระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งนายพีระพันธุ์แจ้งให้ทราบว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมการที่จะสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในเรื่องนโยบายและงบประมาณ แต่ในระยะยาวต้องทำกฎหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและกำหนดมาตรการสนับสนุนอย่างยั่งยืนด้วย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้เจรจากับกระทรวงการคลังที่จะให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์รูฟ มาหักภาษีเงินได้ คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม. ได้ในเร็วๆ นี้ 

‘พีระพันธุ์‘ เตรียมออกกฎหมายแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน หลังกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 69

(6 พ.ย. 67) “พีระพันธุ์” ใช้โมเดลพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ เตรียมคลอดกฎหมายช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร
ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันโดยดึงกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมแก้ปัญหากับกระทรวงพลังงานแบบครบวงจรทั้งเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หวังช่วยหาทางออกให้เชื้อเพลิงชีวภาพภายหลังจากปี 2569 ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อปลดภาระกองทุนน้ำมันฯ คาดเตรียมตั้งคณะทำงานในสองสัปดาห์นี้ 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวใน
การบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต” ในกิจกรรมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาให้กับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และผู้เกี่ยวข้อง จัดโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ว่า แม้ว่าปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ไม่ได้หมายความว่า จะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นราคาขายปลีกน้ำมันจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว ยิ่งผสมยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมวัตถุประสงค์การนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมันเพราะมีราคาถูกนำมาผสมเพื่อลดราคาน้ำมันลง

“ในความเป็นจริงแล้วจุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซินไม่ได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ แต่เนื่องจากการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่าเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจด้วยว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็หลีกหนีไม่ได้เนื่องจากนโยบายนี้ได้ปล่อยดำเนินการมาเนิ่นนาน และไม่มีหน่วยงานอื่นช่วยคิดแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องพยายามช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกร”

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า มีแนวคิดจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาลตามพ.ร.บ.อ้อยและ
น้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้ โดยเล็งเห็นแนวทางของการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล เพราะหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบ จึงเตรียมยกร่างกฎหมายเหมือนพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโชคดีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรี โดยจะร่วมกันทำงานระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569 คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะมีคณะทำงานชุดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงานทำงานด้วยกัน โดยพยายามจะเร่งออกกฎหมายให้เป็นทางออกของกองทุนน้ำมันฯ ต่อไป

สำหรับกฎหมายอ้อยและน้ำตาลซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกัน ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายร่วมมือกับทางการตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังมองอนาคตการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพต้องวางฐานให้เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศมาลงทุน

‘พีระพันธุ์ - เอกนัฏ - อรรถวิชช์’ ประสานมือช่วยเกษตรกร ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

(18 พ.ย. 67) ‘พีระพันธุ์’ ตั้ง ‘อรรถวิชช์’ นั่งประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่เป็นธรรม พร้อมรับมือกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยไบโอดีเซลอีก 2 ปีข้างหน้า คาด 5-6 เดือนเห็นรูปร่าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569  พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีส่วนกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา  และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน  โดยมอบหมายให้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และคาดว่าภายใน 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายพีระพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และในอดีตน้ำมันปาล์มยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันเบนซินมีราคาแพง โดยนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ B 100   เนื่องจากน้ำมันปาล์มในช่วงเวลานั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินหลายเท่า 

แต่ปัจจุบัน  ราคาน้ำมันปาล์มตกอยู่ที่ประมาณ 41-42 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินที่นำมาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร  ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด  และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ  

ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ  1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3  นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20% 

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง จึงต้องร่างกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เพื่อเป็นการรองรับในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน และต้องเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดการนำผลผลิตไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล’ เพื่อวางระบบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล โดยมีการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันต่อไป

อนาคตอันสดใสของปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ด้วย กม.ใหม่ของ ‘พีระพันธุ์’ รับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน กระทั่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า ไทยเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของโลก แต่ในความเป็นจริงตลอดเวลาที่ผ่านมาการเกษตรของไทยในภาพยังขาดการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบเลย แม้กระทั่ง ‘ข้าว’ อันเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักซึ่งถือเป็นเรือธง (Flagship) ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าทางการเกษตรก็ตาม โดยพิจารณาจากความทุกข์ยากลำบากของชาวนาส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีจำนวนมากที่สุดของไทยแต่รายได้จากการทำนาปลูกข้าวกลับไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทั้ง ๆ ที่ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ ชาวนาส่วนใหญ่ต้องตกเป็นลูกหนี้ของพ่อค้า นายทุน และธกส. เรื่อยมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวข้องตรงทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ 

ในขณะที่ ‘อ้อย’ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อย และ น้ำตาลทราย ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และ วางแผนการการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึง วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย

และมีสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ‘อ้อย’ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการดูแลจากสองหน่วยงานดังกล่าว และวงจรของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้แทบจะไม่มีปัญหาและสร้างรายได้มหาศาลแก่ทุกภาคส่วนในวงจรดังกล่าว ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าวโดยสิ้นเชิง เพราะวงจรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างมากมายคือ ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้าข้าว ส่วนชาวนาผู้ข้าวยังคงทุกข์ยากลำบากและมีหนี้สินเช่นที่ได้เล่าแล้ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับปาล์มน้ำมันในไทยก็มีความคล้ายคลึงกับข้าว แต่ด้วยเป็นพืชที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าและแปรรูปเป็นผลผลิตได้มากกว่าเช่นกัน โดยสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นทั้งในรูปแบบของน้ำมันพืชที่ใช้ในการประกอบอาหาร และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมและเนยเทียม เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล รวมถึงเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งยังสามารถแปรรูปเป็น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนอาหารสัตว์ ด้วยการนำใบมาบดเป็นอาหารสัตว์ กะลาปาล์มสามารถทำเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิง ทะลายปาล์มใช้เพาะเห็ด และกระทั่งการปลูกลงดินไปแล้วก็ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

การผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ของไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ในระยะแรกภาครัฐกำหนดให้มีการผสมในอัตรา 2-3% เรียกว่า B2 ในปี พ.ศ. 2555 การผสมไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 5% (B5) และเพิ่มเป็น 7% (B7) ในปี พ.ศ. 2557 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลลงในบางช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศมีไม่เพียงพอ (ปี พ.ศ. 2558-59) และปรับเพิ่มสัดส่วนในช่วงที่มีผลผลิตส่วนเกินของปาล์มน้ำมัน (ปี พ.ศ. 2561-62) ทั้งนี้ ไบโอดีเซลจะเน้นผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ 

การนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งที่ความจริงแล้วความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเป็นเพียงผลพลอยได้ ด้วยภารกิจของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลสืบเนื่องมาจากนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว ทั้งยังไม่มีหน่วยงานอื่นใดร่วมช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกรต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล โดยปี พ.ศ. 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชย ซึ่ง ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นว่า ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังไม่มีการจัดการวงจรของปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ จึงมักจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยที่ ‘รองพีร์’ และคณะทำงานจึงได้ทำการศึกษาแล้วเห็นว่า การนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล จึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อยกร่างกฎหมายที่คล้ายกันกับพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายสำหรับปาล์มน้ำมัน โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ ‘สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย’ และ ‘สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย’ ในบริบทของ ‘ปาล์มน้ำมัน’ เพื่อกำกับ ดูแล และสนับสนุนวงจร ‘ปาล์มน้ำมัน’ และ ‘อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ’ จะทำให้ ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตที่สดใสต่อไป

อินโดนีเซียเปิดตัวใช้ 'ไบโอดีเซล B40' สะท้อนชาติเบอร์หนึ่งผลิตปาล์มน้ำมัน

(20 ธ.ค.67) ยูลิออต ตันจุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียเริ่มผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซล บี40 (B40) ที่ประกอบด้วยน้ำมันปาล์ม 40% และน้ำมันดีเซล 60% ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มมากกว่าปัจจุบันที่ใช้น้ำมันปาล์มเพียง 35% โดยไบโอดีเซล บี40 จะเริ่มนำมาใช้จริงในปี 2025

ตันจุงกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซล บี40 ไว้ที่ 15.62 ล้านกิโลลิตรภายในปี 2025 และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 โดยหลังจากนั้นจะมีการพัฒนาไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มถึง 50% ต่อไปในอนาคต

ด้านเอเนีย ลิสเตียนี เดวี อธิบดีฝ่ายการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ ยืนยันว่า การผลิตไบโอดีเซล บี40 ได้เริ่มต้นแล้วและผ่านการทดสอบการใช้งานทั้งในยานยนต์และการใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยานยนต์

แผนการเพิ่มการใช้ปาล์มน้ำมันเพื่อพลังงานสะอาดได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากการผลิตน้ำมันปาล์มในปริมาณมากของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับน้ำมัน B40 ประกอบด้วยไบโอดีเซล 40% และดีเซล 60%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top