Friday, 9 May 2025
ปัญญาประดิษฐ์

‘จีน’ จ่อสนับสนุน 'อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฯ' ขับเคลื่อนด้วย ‘AI’ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ด้าน ‘การสื่อสาร-กีฬา-สุขภาพ-ชำระเงิน’

(25 มิ.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เผยว่าจีนจะสนับสนุนการบริโภคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทครุ่นใหม่ เช่น อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

คณะกรรมการฯ จะทำงานเพื่อผลักดันการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-คอมพิวเตอร์ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาหลายเทคโนโลยี เช่น จอแสดงผลที่ยืดหยุ่น ซูเปอร์ชาร์จ ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ และโมเดลขนาดใหญ่บนอุปกรณ์ อีกทั้งจะสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะในด้านต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร ความบันเทิง กีฬา การติดตามสุขภาพ และการชำระเงินผ่านมือถือ

จีนมีแผนสำรวจการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์โดยใช้โมเดลปัญญาประดิษฐ์ และขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะในการทำความสะอาด การพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการ การดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ ตลอดจนการศึกษาและการฝึกอบรม

ขณะเดียวกัน จีนจะส่งเสริมโมเดลการผลิตใหม่ ๆ เช่น การปรับแต่งตามความต้องการลูกค้าแบบย้อนกลับ (reverse customization) การออกแบบแบบเฉพาะบุคคล และการผลิตที่ยืดหยุ่น รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มการรับรู้ของผู้บริโภคและการเจาะตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ

‘OpenAI’ วางแผนเปิดตัวแชตบอต ‘Strawberry’ โดดเด่น ‘คิดเป็นเหตุเป็นผล’ แตกต่างจาก AI ตัวอื่น

(11 ก.ย. 67) ดิ อินฟอร์เมชัน (The Information) เว็บไซต์ข่าวด้านเทคโนโลยีรายงานว่า โอเพนเอไอ (OpenAI) วางแผนที่จะเปิดตัว ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เน้นการใช้เหตุผล ภายในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

รายงานดังกล่าวระบุว่า ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) จะแตกต่างจาก AI การสนทนาอื่น ๆ ตรงที่สามารถ ‘คิดก่อนตอบ’ แทนที่จะตอบคำถามในทันที โดยจะเน้นการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล สำหรับคำถามด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์

และจากข้อมูลที่มีในตอนนี้ ระบุได้ว่า ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) ยังรองรับเฉพาะข้อความตัวหนังสือ และให้คำตอบเป็นตัวหนังสือเท่านั้น จึงยังไม่ใช่โมเดล AI แบบสื่อผสมผสาน (Multimodal)

อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่าผู้ใช้งานจะได้ใช้ ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) ในรูปแบบใด และต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือไม่ ส่วนทางด้าน OpenAI ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานข่าวนี้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้ปัญญาประดิษฐ์ ปราบโกง ตรวจจับความผิดปกติหุ้น เตือนนักลงทุนได้ทันท่วงที

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวางแผนใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ท่ามกลางกรณีการฉ้อโกงที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  

นาย อัสสเดช คงสิริ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การใช้ AI จะช่วยตรวจจับความผิดปกติของราคาหุ้นและพฤติกรรมการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมแจ้งเตือนนักลงทุนทันท่วงที ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเตือนล่าช้าและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ทันเวลา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยลดลง  

"ทุกวันเราต้องติดตามข่าวสารและรายงานมากถึง 300 รายการเกี่ยวกับความผิดปกติของบริษัทจดทะเบียน การนำ AI มาใช้จะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และส่งมอบการแจ้งเตือนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายอัศเดชกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา  

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ทางการกำลังเพิ่มมาตรฐานเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลตลาดทุนไทย หลังจากมีกรณีฉ้อโกงของบริษัทในตลาดหลายกรณีตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

จีนปูพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน เปิดสอนในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยมต้น

(3 ธ.ค.67) กระทรวงศึกษาธิการของจีนเปิดเผยแผนยกระดับการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเกิดใหม่

กระทรวงฯ เรียกร้องความพยายามสำรวจแนวทางการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียนประถมและมัธยม พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นในการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ความสนใจวิทยาศาสตร์ และทักษะดิจิทัลในเด็กนักเรียน

โรงเรียนควรจัดหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ผนวกปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่เนื้อหาการเรียนการสอนทั่วไป และประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเด็กนักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นประถม

ครั้นเลื่อนชั้นสู่ประถมปลายและมัธยมต้น เด็กนักเรียนควรมุ่งเน้นทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ก่อนจะมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โครงการปัญญาประดิษฐ์และสำรวจการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยในชั้นมัธยมปลาย

แผนริเริ่มนี้มุ่งรวบรวมทรัพยากรที่มีคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการศึกษาอัจฉริยะระดับชาติ ซึ่งจะเพิ่มหมวดหมู่ปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอันใกล้

นอกจากนั้นกระทรวงฯ กระตุ้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง เปิดห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์และโถงนิทรรศการให้นักเรียนประถมและมัธยมเข้าถึงด้วย

หวยจิ้นเผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เปรียบเปรยปัญญาประดิษฐ์เป็น 'กุญแจทอง' สำหรับระบบการศึกษา และตอกย้ำศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ในการกำหนดทิศทางอนาคตของการศึกษา พร้อมกับคว้าโอกาสและรับมือความท้าทาย

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 จีนคัดเลือกโรงเรียน 184 แห่ง เป็นฐานนำร่องการสำรวจปรัชญา ต้นแบบ และโครงการการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยมีเป้าหมายพัฒนากรณีตัวอย่างและประสบการณ์ที่สามารถต่อยอด ซึ่งจีนจะเพิ่มฐานนำร่องดังกล่าวในอนาคต

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 

จุฬาฯ เติมหลักสูตร Non-Degree จบได้ใน 6 เดือนรับตลาดแรงงานอนาคตโลก

(9 ม.ค. 68) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ World Economic Forum เผยรายงาน Future of Jobs 2025 ชี้ให้เห็นว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานอย่างมหาศาล โดยอาชีพเก่าอาจหายไปถึง 92 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน อาชีพใหม่ที่อาศัยทักษะด้าน AI และ Big Data จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัว โดยการออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะเหนือกว่า AI  

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจบริษัทกว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคนใน 22 อุตสาหกรรม และ 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีข้อมูลสำคัญดังนี้  ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม,  92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการปรับตัวของเศรษฐกิจ, การเติบโตสุทธิของการจ้างงานทั่วโลก จะอยู่ที่ 7% หรือประมาณ 78 ล้านตำแหน่ง  

อย่างไรก็ตาม งานบางส่วนที่ถูกดิสรัปไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นดิจิทัล โดยต้องการแรงงานที่มีทักษะรอบด้านและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ  

ปัจจัยสำคัญเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงานในปี 2573  รายงานยังชี้ถึง 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ได้แก่:  
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงาน  
2. สิ่งแวดล้อม การรับมือกับสภาพภูมิอากาศสร้างความต้องการแรงงานด้านพลังงานหมุนเวียน  
3. ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  
4. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เช่น ประชากรสูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว  
5. ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก การค้าระหว่างประเทศและข้อจำกัดทางการค้า  

ขณะที่ 10 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกภายในปี  2573 ประกอบด้วย

ทักษะด้าน AI และ Big Data
Analytical thinking ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
Creative thinking ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
Networks and cybersecurity ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล
Leadership and social influence มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้
Resilience, flexibility and agility ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่น และคล่องตัว
Empathy and active listening มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง
Motivation and self-awareness มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน
Talent management ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร
Curiosity and lifelong learning มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต

ในปี 2573 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก โดยในไทย ทักษะที่โดดเด่น คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ในขณะที่ระดับโลกเน้นทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูล ความฉลาดในการใช้งานเทคโนโลยี และทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์

กลยุทธ์สำคัญ 4 ประการสำหรับประเทศไทย

1. สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change:ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
2. สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization: มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
3. Human Replacement: งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation 
4. Enhancing Dynamic Work Role: มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งสู่การเป็น The University of AI โดยมีเป้าหมายในการสร้าง คนพันธุ์ใหม่ หรือ ‘Future Human’ ที่ไม่เพียงแค่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) แต่ยังต้องมีทักษะพิเศษอย่าง II (Instinctual Intelligence) หรือ ‘ปัญญาสัญชาตญาณ’ ที่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ที่ไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้ การเป็น ‘คนพันธุ์ใหม่’ ไม่ใช่แค่การมีสมองที่เฉลียวฉลาด แต่ยังต้องมีหัวใจที่ดีงาม เพื่อใช้พลังของเทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคม”

ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้และพัฒนา AI โดยให้ความสำคัญกับการ Reskill และ Upskill เพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับ "งานแห่งอนาคต" ซึ่งบุคลากรต้องมีทักษะที่หลากหลายและสามารถนำไปใช้ได้จริง

“สิ่งที่สามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ได้คือปัญญาสัญชาตญาณ ความเข้าใจโลก และการฝึกฝนจนชำนาญ” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าว

ดร.วิเลิศเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอนปริญญา 2-4 ปี มาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน และมุ่งเน้นสร้าง “skill incubator” เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเน้นการสอนที่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

“มหาวิทยาลัยต้องสร้างบุคลากรที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ แต่ต้องมีความฉลาดที่ไม่ล้าสมัย” ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วิเลิศระบุว่า ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาที่เน้นปริญญาและใช้เวลา 2-4 ปีไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกต่อไป มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีหลักสูตร Non-degree ที่เน้นการศึกษาระยะสั้น 6 เดือน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการถ่ายทอดความรู้ผ่านเทคโนโลยี AI และเข้าใจศักยภาพของผู้เรียน การเปลี่ยนสถาบันให้เป็น “skill incubator” จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องมุ่งบ่มเพาะพรสวรรค์และพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้แก่บุคลากร เพื่อให้พวกเขาเข้าใจศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ไม่เพียงแต่สอนความรู้ แต่ต้องเน้นการพัฒนาความฉลาดที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างยั่งยืน

“วันนี้หากประเทศไทยต้องการคนที่มีทักษะใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากปริญญาตรี แต่อาจนำคนที่จบปริญญาตรีแล้วมาพัฒนาทักษะเพิ่มในเวลา 6 เดือน การศึกษาของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องนำความรู้เหล่านั้นไปสู่สังคม ทั้งในหลักสูตร Degree และ Non-degree”

จุฬาเปิดตัว 'ChulaGENIE' คู่แข่งแชทจีพีที ตั้งเป้าปีนี้เปิดให้คนทั่วไปใช้งาน

(9 ม.ค.68) ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมโดยร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) นำเสนอรายงาน The Future of Jobs 2025 เพื่อเสนอแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะและอาชีพในช่วงปี 2568–2573  

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วยการร่วมมือกับ Google Cloud สร้างแพลตฟอร์มเจนเนอเรทีฟเอไอ (Generative AI) ภายใต้ชื่อ ChulaGENIE ที่มีความสามารถคล้ายกับ ChatGPT โดยมุ่งสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา  

ดร.วิเลิศ อธิบายว่า ChulaGENIE มีความพิเศษแตกต่างจากแพลตฟอร์ม AI อื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ปัจจุบันการใช้งานยังจำกัดเฉพาะบุคลากรและนักศึกษาภายในจุฬาฯ แต่ในอีก 2–3 เดือนข้างหน้า มีแผนจะขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการยืนยันตัวตนผู้ใช้เป็นหลัก  

ในระยะยาว มหาวิทยาลัยมีแผนขยายการใช้งาน ChulaGENIE สู่ประชาชนทั่วไป พร้อมวางเป้าหมายเปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้นการต่อยอดแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืน  

“ประเทศไทยไม่ควรหยุดอยู่เพียงการใช้งาน AI แต่ควรก้าวสู่การเป็นเจ้าของและผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนรอบด้านและรองรับเทรนด์โลกในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้าย

เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia บุกจีน ไม่หวั่นถูกสอบ-คุมเข้มเรื่องชิป AI จากสหรัฐฯ

(14 ม.ค. 68) เจนเซน หวง ซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ อินวิเดีย (Nvidia) เตรียมเดินทางเยือนจีนในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการสอบสวนธุรกิจของบริษัทในจีนและการประกาศข้อจำกัดใหม่จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการส่งออกชิป AI ไปยังต่างประเทศ ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

แหล่งข่าวเผยว่า หวงมีกำหนดเดินทางถึงเมืองเซินเจิ้นราววันที่ 15 มกราคม ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับพนักงานในบริษัท และจะเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังกรุงไทเปในช่วงปลายสัปดาห์

การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อินวิเดียกำลังเผชิญความท้าทายจากข้อจำกัดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อการจำหน่ายชิป AI ระดับสูงให้แก่ต่างประเทศ บริษัทได้แสดงความไม่พอใจต่อมาตรการดังกล่าว โดยระบุว่าอาจกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ ในเวทีโลก

ในขณะเดียวกัน ทางการจีนได้เริ่มกระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด ซึ่งอาจเพิ่มความท้าทายให้กับการดำเนินธุรกิจของอินวิเดียในประเทศที่ก่อนหน้านี้ก็ต้องเผชิญมาตรการควบคุมจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าการเยือนครั้งนี้จะมีการพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนหรือไม่

'ดร.สันติธาร' ตั้ง 5 คำถาม 'DeepSeek' AI จีนตัวเปลี่ยนเกมท้าชนมหาอำนาจ

(28 ม.ค. 68) ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า การผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอจากจีนที่อาจเปลี่ยนโลก 5 คำถามสำคัญที่ตามมา จากการผงาดขึ้นมาของ DeepSeek เอไอของจีนที่เป็นกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในตอนนี้ 

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลก แต่ยังมาจังหวะที่สหรัฐฯเปลี่ยนรัฐบาลพอดี เสมือนเป็นการ‘สะบัดหาง’ครั้งสำคัญของปีงูเล็กเลยกว่าว่าได้และอาจมีผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย (ใครไม่ได้ตามข่าวนี้ผมแปะลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับเอไอตัวนี้ไว้ในคอมเมนท์ครับ)

ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเปิดอย่างน้อย 5 ประเด็นสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ จึงอยากลองแชร์ไว้เผื่อไปช่วยคิดและติดตามกันต่อครับ
1.จีน vs อเมริกา. การมาของ DeepSeek ตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีเอไอของอเมริกายังนำโลกอยู่จริงไหม หรือจีนสามารถวิ่งไล่กวดได้แล้วแม้จะไม่ได้เข้าถึงชิปคุณภาพสูงสุดที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯและพันธมิตร  และหากไล่กวดได้จริงตามตัวเลขการทดสอบความสามารถเอไอต่างๆที่ออกมา ต่อไปสหรัฐฯจะตอบโต้อย่างไร:

-จะเพิ่มความเข้มข้นของสงครามการค้า-เทคโนโลยีเพื่อให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ได้ยากขึ้นไปอีกไหม หรือ/และ
-จะทุ่มทุนยิ่งกว่าเดิมสร้างกับโครงการเอไอขนาดยักษ์อย่าง Stargate ที่มูลค่าที่ประกาศเกือบเท่าเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ
แต่ในทางกลับกันก็มีคนบอกว่าเพราะไปจำกัดการเข้าถึงชิปของจีนนี่แหละเลยทำให้เขาต้องคิดค้นวิธีใหม่ที่สร้างเอไอได้ประหยัดกว่าเดิม ทำ‘กันดารกลายเป็นสินทรัพย์‘

2.ความสิ้นเปลืองทรัพยากร. การที่ Deepseek ใช้เงินในการพัฒนาเอไอน้อยกว่า พวกบริษัทเทคโนโลยีดังๆของอเมริกาประมาณ 20-30x และ ใช้ชิปที่ไม่ได้ ’ทรงพลัง‘ เท่า (มีคนบอกว่าชิปที่พวกเขาใช้ แค่นักเรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยในอเมริกายังมีใช้เลย) ทำให้เกิดคำถามสำคัญในหมู่นักลงทุนและบริษัทเทคฯว่า “เอ้ะ ที่เราลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อให้ได้ชิปที่ทรงพลังที่สุดนี่จริงๆแล้วมันจำเป็นหรือเปล่า” สรุปเราจ่ายไปเพื่อซื้อ ’เนื้อ’ หรือ ’ไขมัน’ กันแน่? หรือว่า: เงินอาจจะไม่ใช้มากขนาดนั้น ชิพอาจจะไม่ต้องทรงพลังขนาดนั้น พลังงานก็อาจจะไม่ต้องใช้หนักขนาดนั้น นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นวงการเทคฯและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องตื่นตระหนกตกใจพานิคร่วงกันเป็นแถวเมื่อวานนี้

3.โมเดลแบบเปิด vs ปิด. คนส่วนใหญ่อาจมองสงครามเอไอเป็นระหว่างสหรัฐฯ vs จีน แต่สำหรับคนในวงการเทคโนโลยีอีกศึกที่คุกรุ่นมานานคือระหว่าง โมเดลแบบเปิด (Open source) ที่เสมือนเปิด ‘สูตรลับ‘ หรือ โค๊ดให้คนอื่นสามารถเอาไปศึกษา ใช้พัฒนาต่อยอดได้ กับ โมเดลแบบปิดที่ไม่ได้เปิดข้อมูลเหล่านี้ เช่น ChatGPT Deepseek คือเป็นแบบเปิด จึงทำให้เกิดคำถามว่าโมเดลแบบเปิดนี้มันเจ๋งจนไล่กวดโมเดลแบบปิดที่ซ่อนสูตรลับของตัวเองแล้วหรือ? นึกภาพหากร้านอาหารอร่อยมากๆเปิดสูตรให้คนเอาไปทำที่บ้านแล้วทำออกมามันอร่อยไม่แพ้ร้านแพงๆที่เก็บสูตรเป็นความลับ ต่อไปใครจะอยากไปจ่ายแพงเพื่อกินที่ร้าน 
แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่าแล้วต่อไป Deepseek จะยังเปิดสูตรตัวเองไปเรื่อยๆแบบนี้ไหม หรือวันดีคืนดีก็จะปิดมันและเก็บตังค์ค่าใช้แพงๆ และ/หรือ จะมีการเอาข้อมูลของ User ไปใช้อย่างไรเพราะบางคนก็ห่วงเรื่อง data governance

4.ผู้นำ-ผู้ตาม. Deepseek ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆเท่านั้นในการพัฒนาเอไอที่มี ความสามารถใกล้เคียงกับโมเดลรุ่นใหม่ ของ OpenAI โดยใช้โมเดลของ OpenAI ช่วยเทรนสอนโมเดลของตนเองด้วย เสมือนOpenAI เป็นจอมยุทธ์ที่ฝึกแทบตายกว่าจะบรรลุเคล็ดวิชาใหม่ แต่พอนักเรียนมาเลียน/เรียนต่อแป๊บเดียวสามารถได้วิชาระดับเดียวกันมาได้  (ภาษานักลงทุนคือ Moat หรือคูเมืองป้องกันปราสาทเรา มันไม่ได้ข้ามยากเท่าที่คิด) จึงทำให้เกิดคำถามว่าวงการเอไอนี่ผู้นำได้เปรียบมากจริงไหม หากผู้ตามสามารถตามได้เร็วขนาดนี้และยังทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก แบบนี้มันยังคุ้มที่จะลงทุนพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำ ‘บรรลุเคล็ดวิชาใหม่ๆ‘ ไหม เพราะผู้นำด้านเอไออาจถูกดิสรัปง่ายกว่าที่คิด

5.อนาคตของเอไอ. ในมุมผู้พัฒนาและลงทุนกับเอไอ คำถามเหล่านี้อาจทำให้ขนหัวลุก แต่ในมุมของผู้ใช้ พัฒนาการนี้ก็อาจมองในมุมบวกได้เช่นกัน
- ต้นทุนพัฒนาเอไอถูกลงทำให้ค่าบริการถูกลง คนเข้าถึงได้มากขึ้น
-เอไออาจสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น
-โมเดลแบบเปิดอาจทำให้คนเก่งๆทั่วโลก สามารถศึกษาและเอาไปพัฒนาต่อยอดได้ สร้างเอไอที่ตอบโจทย์และเหมาะกับบริบทของสังคมตนเอง 
- การพัฒนาเอไออาจมีการแข่งขันมากขึ้น Generative AI กลายเป็น‘เทคโนโลยีโหลๆ’ขึ้น ผลักดันให้หลายเจ้าอาจต้องหามุมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนวอื่นมากขึ้น คิดเรื่องแอพพลิเคชันมากขึ้น ไม่ใช่ทุ่มเงินสร้างมันสมองที่ฉลาดอย่างเดียว จึงอาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายขึ้น 
ในทางกลับกันการที่แต่ละประเทศต่างแข่งกันสร้างสุดยอดเอไออาจทำให้ต่างลดความสำคัญด้านการกำกับดูแลความเสี่ยง ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดเอไอแบบอันตรายต่อสังคมขึ้นหรือไม่ 

แน่นอนว่าเรายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ Deepseek อีกมากและก็เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจมีการหักมุมจากผู้เล่นอื่นอีกที่ไม่ใช่ DeepSeek เลยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็คิดว่า 5 ประเด็นนี้คือคำถามที่เราควรตั้งและช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดกับเทคโนโลยีที่มีโอกาสเปลี่ยนโลกและกระทบเราทุกคนในอนาคตครับ

AI จีนเซนเซอร์จริงมั้ย ลองให้วิจารณ์ถึง 'สีจิ้นผิง'

(29 ม.ค. 68) หลังจากมีกระแสการเปิดตัว DeepSeek โมเดลแชทบอท AI ตัวใหม่สัญชาติจีนที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ระบุว่าใช้ต้นทุนต่ำที่ใช้เงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ในการสร้างและพัฒนามันขึ้นมา ซึ่งน้อยกว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ในอเมริกาใช้จ่ายไปมาก ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเอไอ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างโมเดลเอไอ เนื่องจาก DeepSeek ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับคู่แข่งในสหรัฐฯ พูดให้ชัดคือถูกกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของความเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหรัฐฯ

เหตุผลที่ DeepSeek ได้รับความนิยมเนื่องจากมันเป็นผู้ช่วยเอไออันทรงพลังซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT โดยคำอธิบายในแอปสโตร์ระบุว่า แอปฯ นี้ออกแบบมาเพื่อ "ตอบคำถามของคุณและปรับปรุงชีวิตของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ" 

ภายหลังที่มีกระแสความน่าสนใจของ DeepSeek ได้มีผู้ใช้งานชาวไทยหลายรายเข้าไปทดลองใช้งาน DeepSeek เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับ  ChatGPT ด้วยการตั้งคำถามหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง ซึ่งผู้ใช้งานในไทยหลายรายแชร์ว่า DeepSeek ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนด้านการเมือง

ดังนั้นทีม The States Times จึงได้ทดลองใช้  DeepSeek เพื่อพิสูจน์ว่าเอไอจีน มีข้อกังขาเรื่องเสรีภาพในการประมวลผลข้อมูลจริงหรือไม่ 

จากการทดลองถามคำถาม "ให้วิจารณ์การทำงานของสีจิ้นผิง" เอไอจีนได้ระบุคำตอบที่ ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนไร้การเซ็นเซอร์ โดยกล่าวถึงทั้งด้านดีของผู้นำจีนโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม และด้านการเมือง การปราบทุจริตคอรัปชัน แต่ก็กล่าวถึงข้อเสียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็น การจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก การขยายอิทธิพลในพรรคคอมมิวนิสต์ 

แต่อย่างไรก็ตาม DeepSeek ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่ก็ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น การประเมินผู้นำคนนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและค่านิยมของแต่ละบุคคล"

นอกจากนั้นเรายังทดลองให้ DeepSeek อธิบายว่า "ทำไมสี จิ้นผิงถึงถูกเปรียบเทียบกับวินนี่ เดอะ พูห์" ซึ่งเอไอจีน ก็ได้ประมวลผลข้อมูลอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยไม่มีการเซนเซอร์แต่อย่างใด โดยเอไอจีน ยอมรับว่าเหตุที่ สีจิ้นผิง ถูกเปรียบเทียบกับ วินนี่ เดอะ พูห์ เพราะเป็น การเปรียบเทียบจากรูปลักษณ์ การเซ็นเซอร์และการปราบปราม เป็นสัญลักษณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังกล่าวสรุปด้วยว่า

 "การเรียกสีจิ้นผิงว่า วินนี่ เดอะ พูห์ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและควรพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ ในประเทศจีนหรือในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน การใช้คำนี้อาจส่งผลกระทบทางกฎหมายหรือความสัมพันธ์ ส่วนในบริบทอื่นๆ อาจใช้ได้แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและผลที่อาจตามมาเสมอ"

นอกจากนี้ เมื่อลองถามประเด็นละเอียดอ่อน อย่างเช่น ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 4 มิ.ย. 1989 DeepSeek สามารถให้คำตอบโดยกล่าวถึง ภูมิหลังของเหตุการณ์ ผลกระทบของเหตุการณ์ อย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังให้ข้อสรุปไว้ว่า "เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตยกับการควบคุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกเซ็นเซอร์ในจีน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่โลกจดจำ" 

เมื่อถามว่า 'คุณไม่ถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์หรอ?' DeepSeek ให้คำตอบว่า "ฉันเป็น AI ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีน ฉันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ โดยยึดตามข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและความรู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม  แต่ฉันมีข้อจำกัดในการให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือถูกปิดกั้นในประเทศจีน ฉันพยายามให้ข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะทำได้"

โดยรวมแล้วหลังจากการทดลองใช้ DeepSeek นับว่าเป็นโมเดลเอไอ ที่ประมวลผลเร็วและสามารถให้ข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ถือว่าเป็นคู่แข่งของ ChatGPT ที่น่าจับตามอง ความสำเร็จของ DeepSeek ลดทอนความเชื่อที่ว่า งบประมาณที่มากขึ้นและชิปที่มีสมรรถนะระดับสูงสุดเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาเอไอ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความต้องการและอนาคตของชิปประสิทธิภาพสูง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top