Sunday, 20 April 2025
ปราชญ์สามสี

‘ปราชญ์ สามสี’ ย้อนรอยเครือข่าย ‘พอล แชมเบอร์-ตั๋วปารีส’ ชี้!! การถูกจับด้วย ม.112 คือจุดจบของเกมที่คนเหล่านี้เริ่มไว้

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก 'ปราชญ์ สามสี' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ย้อนรอยไม่ลืม — จากข้อมูลเครือข่าย ‘ตั๋วปารีส’ สู่วันที่คนเหล่านี้โดนจับ
โดย ป.สามสี

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือ ‘เรื่องเก่า’ ที่ข้าพเจ้าและอีกหลายคนเคยพูด เคยเตือน และเคยเขียนไว้แล้วนับตั้งแต่หลายปีก่อน

ชื่อของ Paul Wesley Chambers และเครือข่ายนักวิชาการต่างชาติ-ไทย ที่สนิทชิดเชื้อกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ไม่ได้โผล่มาแบบไร้ร่องรอย แต่มีประวัติปรากฏชัดเจนในฐานข้อมูลสาธารณะและแหล่งทุนต่างชาติหลายแห่ง

พวกเขาคือขบวนการที่อ้างชื่อวิชาการ แต่แฝงไว้ด้วยแนวคิดแทรกแซงประเทศ ใช้วาทกรรมเสรีนิยมครอบสังคมไทยด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติ บั่นทอนสถาบันหลัก และสร้างภาพจำแบบตะวันตกให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านหนังสือ บทความ สัมมนา และทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ

ในปี 2564 ชื่อของเขาถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนจาก Taiwan Foundation for Democracy เพื่อผลิตผลงานในเครือข่าย Milk Tea Alliance ซึ่งเราเคยชี้ไว้แล้วว่านี่คือกลไกแทรกแซงทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ ที่แฝงตัวอยู่ในวงวิชาการอาเซียน

และวันนี้ — ปี 2568 — ความจริงที่เคยถูกมองข้ามก็ย้อนกลับมาทวงถาม
เมื่อข่าวออกมาว่า หนึ่งในบุคคลที่เคยได้รับการกล่าวถึงในข้อมูลนี้ ถูก เจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัว และ ตรวจสอบสถานะการพำนัก-การทำงานในประเทศ โดยมีหลักฐานเชื่อมโยงทั้งทางเครือข่าย ทุนต่างชาติ และกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวีซ่า

นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจสำหรับผู้ติดตาม ‘ขบวนการตั๋วปารีส’ และพฤติกรรมแทรกแซงของนักวิชาการข้ามชาติ แต่เป็นเพียง ‘จุดจบของเกม’ ที่คนพวกนี้เริ่มเล่นไว้นานแล้ว

สิ่งที่น่าคิดคือ… ทำไมหน่วยงานไทยเพิ่ง ‘กล้าจับ’ ในวันนี้? หรือว่าวันนี้ เราเริ่มตาสว่างและเลิกกลัวเสียงจากต่างชาติแล้วจริง ๆ

เรื่องนี้ไม่ใช่บทสรุปของการต่อสู้ทางความคิด — แต่มันคือเครื่องเตือนใจว่า หากเราไม่เฝ้าระวัง สิ่งที่เรียกว่า ‘วิชาการ’ อาจกลายเป็นอาวุธที่ย้อนกลับมาทำลายชาติเราเอง

นอกจากนี้ ยังได้แชร์โพสต์ที่ทางเพจเคยโพสต์ไว้เมื่อ 17 ส.ค. 66 ที่ระบุว่า…

เรามารื้อเครือข่ายอาจารย์ ในเครือข่าย #ตั๋วปารีส ที่สนิท ชิดเชื้อ ปวิน กันมั่งดีกว่า 
พอล แชมเบอร์ (Dr. Paul Wesley Chambers)

-อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
-นักวิจัยในสังกัด Peace Research Institute Frankfurt (PRIF)
-เกิดที่เมืองนอร์แมน รัฐโอกลาโฮมา สหรัฐฯ
-จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะ Southeast Asian Studies and Political Science มหาวิทยาลัย Northern Illinois University

-อดีตผู้ช่วยอาจารย์มหาวิทยาลัย Northern Illinois University
-เคยทำงานให้กับ Cambodian Institute for Cooperation and Peace
-อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย Institute of South East Asian Affairs (ISEAS) - Yusof Ishak Institute องค์กร Think Tank ประเทศสิงคโปร์
-อดีตเจ้าหน้าที่ Peace Corps หน่วยงานในสังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ

นายพอล แชมเบอร์ เคลื่อนไหวในรูปแบบของนักวิชาการ ร่วมกับเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ มีข้อมูลสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลและเครือข่ายของ National Endowment for Democracy (NED) คือนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

และเว็บไซต์ the101.world อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับคนในขบวนการต่อต้านสถาบันฯ หลายคน เช่น นาย เซอฮัด อูนาลดิ (Serhat Ünaldi) มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์แห่งเบอร์ลิน.  ผู้เขียนหนังสือ Working towards the Monarchy: The Politics of Space in Downtown Bangkok

นายเดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) นายเคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้เขียนหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand (Southeast Asia Studies Monographs), ASEAN-U.S. Relations: What Are the Talking Points, มนุษย์ต่างด้าว, การทูตทักษิณ, Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand เป็นต้น

แล้วถึงแม้ว่านายพอลจะเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย ISEAS แต่เมื่อเดือนกันยายน 2565 นายพอลก็ยังเขียนบทความเกี่ยวการเมืองไทยให้กับ ISEAS (บริหารโดย Choi Shing Kwok อดีตผอ.ข่าวกรองฯ กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์) และเดือนกรกฎาคม 2564 นายพอลเป็น 1 ใน 4 คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับทุนจาก The Taiwan Foundation for Democracy (NGO ในเครือพันธมิตร NED ของไต้หวัน) สำหรับงานวิจัย ‘Strengthening the Milk Tea Alliance: Building Democracy and Freedom through Film and Discussion’

จะเห็นได้ว่า เครือข่ายอาจารย์ทั้งไทยและต่างชาติที่ไปปรากฏตัวที่ปารีส ส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งขบวนการ พันธมิตรชานม ที่เข้าแทรกแซง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเอง

ตัวนาย พอล แชมเบอร์ เข้าใจว่า ที่อยู่ในไทยได้เพราะได้รับการสนับสนุน จาก อาจารย์บางท่าน ใน ม.นเรศวร ให้การสนับสนุน ให้ข้าวให้น้ำมากเลยทีเดียว ไม่รู้เป็นไรกันน่อ…

เรื่อง : ปราชญ์ สามสี

สถาปัตยกรรมแห่งโรงเบียร์ Carlsberg กับคำ “จงทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด” สะท้อนภาพทั้งไทย - เดนมาร์ก ยังต้องการคนทำงานที่รักชาติรักแผ่นดิน

กลางเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นแห่งหนึ่งที่ไม่ใช่พระราชวังหรือมหาวิทยาลัยเก่าแก่ หากแต่เป็น 'ประตูช้าง' ของโรงเบียร์ Carlsberg ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1901 รูปปั้นช้างหินทั้งสี่ตัวแบกเสาหินขนาดใหญ่ไว้บนหลัง ด้วยสายตาที่สงบนิ่งแต่ทรงพลัง เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์เงียบแห่งอุตสาหกรรมเบียร์ที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในยุโรป

บนซุ้มด้านบนของประตู มีอักษรละตินสลักไว้ว่า “Laboremus pro Patria” แปลว่า
“จงทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด”

คำเพียงไม่กี่คำนี้ กลายเป็นหัวใจของบทเรียนทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างสยามกับเดนมาร์กได้อย่างแนบแน่น

ย้อนกลับไปในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1934 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จเยือน Carlsberg อย่างเป็นทางการ นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายของความสัมพันธ์ทางการทูตและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งระหว่างสองราชวงศ์ Carlsberg ถึงกับผลิตเบียร์พิเศษที่มีชื่อว่า Royal Siam Lager พร้อมสัญลักษณ์ตราครุฑ ธงช้างเผือก และธงชาติเดนมาร์ก เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จครั้งนั้น

สิ่งที่น่าประทับใจคือ การที่สัญลักษณ์ 'ช้าง' ปรากฏทั้งในฝั่งไทยและเดนมาร์กโดยมิได้นัดหมาย ในสยาม ช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และอำนาจอันชอบธรรม ขณะที่ในเดนมาร์ก ช้างทั้งสี่ตัวคือภาพแทนของพลัง ความมั่นคง และความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง

คำว่า “จงทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด” ที่ถูกสลักไว้อย่างมั่นคงบนประตูแห่งนี้ มิใช่เพียงถ้อยคำปลุกใจในยุคอุตสาหกรรม หากยังเป็นหลักคิดอันทรงพลังที่ส่งผ่านมายังผู้คนในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคที่โลกหมุนเร็ว ความรักชาติไม่ควรเป็นแค่คำพูด หรือสัญลักษณ์ แต่ควรเป็นการลงมือทำ—ในสิ่งเล็กที่สุดแต่เต็มไปด้วยความหมาย

ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด ศาสนาใด หรือแผ่นดินใด คำว่า “ทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด” ย่อมไม่สิ้นความหมาย หากยังมีผู้ศรัทธาว่าการลงมือทำ ด้วยความซื่อสัตย์และมุ่งมั่น คือการตอบแทนบ้านเกิดด้วยมือของเราเอง

บางที... ช้างหินที่นิ่งเงียบเหล่านั้น อาจไม่ได้เป็นแค่ประติมากรรมเพื่อการเฉลิมฉลอง หากแต่เป็นคำเตือนใจอันมั่นคง ว่าแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่แผ่นดินยังคงต้องการคนทำงานรักชาติรักแผ่นดิน

ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ เคยคิดสร้าง 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย' หวังโชว์เสรีภาพให้โลกเห็น แต่สุดท้ายได้เพียงภาพร่างและพิมพ์เขียว

รู้ไหมว่า… สหรัฐอเมริกาไม่เคยมี 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย'?

ใช่—อเมริกามีเทพีเสรีภาพ มีอนุสรณ์สถานประธานาธิบดี มีอาคารรัฐสภา และเทพีต่าง ๆ ที่ยืนถือคบเพลิงหรือคัมภีร์กฎหมาย แต่... ไม่มีอนุสาวรีย์แห่ง 'ประชาธิปไตย' โดยตรงเลยสักแห่ง

นั่นคือเหตุผลที่ในปี 1954 มีคนกลุ่มหนึ่งฝันจะสร้างมันขึ้นมาที่ซานเปโดร
ฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่ซึ่งผืนน้ำแปซิฟิกทอดตัวยาวออกสู่เอเชีย ออสเตรเลีย และทั่วโลก

โครงการนี้มีชื่อว่า Monument to Democracy — อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

มันไม่ได้เป็นแค่โครงสร้างเหล็กและทองสัมฤทธิ์ แต่มันเป็นถ้อยแถลงของอุดมการณ์ เป็นคำตอบที่อเมริกาต้องการจะมอบให้โลก ในยุคที่กำลังต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อจิตวิญญาณของมนุษยชาติ

ผู้ผลักดันคือ John Anson Ford สมาชิกสภาเขตลอสแองเจลิส ที่เชื่อมั่นว่า

> “ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นสิ่งสงวนของคนผิวขาว... ประชาชนจากทุกเชื้อชาติกำลังจับตามองอเมริกา ว่าจะรักษาคำมั่นแห่งเสรีภาพไว้ได้จริงหรือไม่”

รูปแบบอนุสาวรีย์ถูกออกแบบโดย Millard Sheets และ Albert Stewart อย่างวิจิตรยิ่งใหญ่ รูปปั้นสูงกว่าเทพีเสรีภาพถึงเท่าตัว ตั้งอยู่บนฐานพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าเส้นทางของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในการไขว่คว้าสู่เสรีภาพ

แต่... ความฝันนี้ถูกพับเก็บ
ถูกกลืนหายไปกับการเมือง งบประมาณ และความเฉยชา
สหรัฐฯ จึงยังคงไม่มี "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" จนถึงทุกวันนี้
ไม่มีสถานที่ที่บอกกับเด็ก ๆ ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร และใครเป็นเจ้าของมัน
ไม่มีพื้นที่ที่คนผิวดำ ผิวเหลือง หรือผิวแดงจะรู้สึกว่า “ที่นี่ของฉันด้วย”

สิ่งที่หลงเหลือมีเพียงภาพร่าง พิมพ์เขียว และความเศร้าลึกในใจของนักประวัติศาสตร์ ว่าอเมริกา... อาจเคยใกล้จะมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สุดในโลกแล้ว — แต่กลับปล่อยให้มันสูญหายไปในม่านหมอกของอดีต

‘พีระพันธ์’ เริ่มภารกิจดับไฟน้ำมันกลางพายุการเมือง เรือหลวงหลงทิศเจอคลื่นคาสิโนถาโถม สูตร ‘อุ้งอิ้ง’ x ‘เนวิน’ อาจไม่รอดฝั่ง

(18 เม.ย. 68) จากโพสต์ล่าสุดของเพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี ได้ตีแผ่ภาพสถานการณ์การเมืองไทยผ่านลีลาภาษาสะท้อนอารมณ์ชวนติดตาม โดยพุ่งเป้าไปที่บทบาทของ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับมอบหมายภารกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนฉ่า

พีระพันธ์ร้อยลีลาเริ่มภารกิจดับไฟราคาน้ำมัน แต่ติดอยู่กลางรัฐบาลผสมสูตร 
'อุ้งอิ้ง x เนวิน' ที่หัวเรือใหญ่ดูจะพากันล่องทะเลการเมืองแบบไม่มี GPS — แถมมีหินโสโครกชื่อว่า 'คาสิโน' โผล่มาเป็นอุปสรรคใหญ่เบ้อเร่อ!

ลูกแรกหักหลบทันอย่างเท่ ลูกสองลูกสามนี่สิ...อุ่ย ส่วนใหญ่จม!

กรกฎาคมนี้รู้กันว่าเรือรอดหรือร่วง พีระพันธ์ที่เคยนั่งเป็น ผู้ช่วยรปภ.ใหญ่มาก่อน น่าจะเข้าใจเกมทำใจดีสู้เสือ ใส่ชูชีพแต่เนิ่น ๆ แอบประคองพวงมาลัยให้....แต่กับกัปตันคนนี้ที่พาเลี้ยวซ้ายเฉี่ยวขวาแถมมีเรือลำอื่นแอบหนีตัดหน้า ก็ไม่รู้ว่าควรจะเกาะให้แน่น หรือต้องผูกสลิงเตรียมโดด!

ที่แน่ ๆ ก๊วนเสี่ยหนู-เนวิน ทิ้งเรือไปนั่งเรือยางแล้ว แต่จะถึงฝั่งไหมไม่มีใครกล้าฟันธง โดยเฉพาะตอนนี้ที่นายเรือดูจะหรี่ตาเขียวใส่ พร้อมตั้งข้อหา 'ทรยศกลางทะเล'

หรือท้ายที่สุด...พีระพันธ์จะกลายเป็นนักว่ายน้ำดีเด่นในพายุการเมือง? หรือ ประคองเรือหลบ คาสิโนได้ .. อันนี้ก็ต้องลองลุ้นกัน

เมื่อความประมาทบนถนน!! กลายเป็น ‘บาดแผล’ ในใจสังคม เกิดคำถาม ถึงคนในบ้าน ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ให้มีวุฒิภาวะ เข้าใจการเคารพผู้อื่น ไม่ใช่แสดงอำนาจ อวดบารมี

เหตุการณ์รถยนต์ BMW ป้ายแดงขับเบียดรถกระบะบนทางด่วน จนทำให้ผู้สูงวัยสองท่านได้รับบาดเจ็บสาหัส กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคม เมื่อมีการเปิดเผยภายหลังว่า ผู้ขับขี่เป็นลูกชายของนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงแค่อุบัติเหตุบนท้องถนนเท่านั้น หากแต่คือสิ่งที่สังคมสะท้อนกลับว่า "การกระทำของลูกคนหนึ่ง อาจส่งผลกระทบถึงศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของทั้งครอบครัวโดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่"

การที่บุตรหลานของผู้มีตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ย่อมทำให้คนทั่วไปตั้งคำถามถึงการเลี้ยงดู และคุณธรรมที่ครอบครัวนั้นยึดถือ ถึงแม้ผู้เป็นพ่อจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งต่อชื่อเสียงและหน้าที่การงาน

สังคมไทยยังคงให้ความสำคัญกับ 'เกียรติ' ของครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำชุมชนหรือผู้มีอำนาจ ดังนั้นพฤติกรรมใด ๆ ที่หลุดจากกรอบของความมีวินัย ความเคารพต่อกฎหมาย และความรับผิดชอบ ย่อมกลายเป็นประเด็นรุนแรงในสายตาสาธารณชน

ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้เตือนสติ ไม่ใช่เพื่อตำหนิหรือซ้ำเติม หากแต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า การมีลูกหลานเติบโตมาในโลกที่หมุนเร็ว มีทั้งแรงกดดันและค่านิยมมากมาย พ่อแม่ควรใส่ใจในการปลูกฝังความรับผิดชอบมากกว่าความเก่งกล้า และความถ่อมตนมากกว่าความกล้าได้กล้าเสีย

ลูกก็คือตัวแทนของครอบครัว หากเขาล้ม ก็เหมือนบ้านสะเทือน และถ้าสังคมเห็นว่าเขาไม่ยืนอยู่บนความถูกต้อง คนในบ้านก็ย่อมถูกตั้งคำถามไปด้วย — แม้จะไม่ได้ทำผิดด้วยก็ตาม

ขอให้เหตุการณ์นี้ไม่จบลงแค่ในห้องพิจารณาคดี แต่เป็นบทเรียนที่ขยายไปถึงทุกบ้าน เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่รู้เท่าทันตนเอง เคารพผู้อื่น และไม่ใช้ชีวิตบนท้องถนนเป็นเวทีแสดงอำนาจใด ๆ อีกต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top