Sunday, 20 April 2025
ประพฤติฉัตรประภาชัย

'อ.อุ๋ย' กระตุก 'ก้าวไกล' ต้องขับ 'ไอซ์ รักชนก' ออกจากพรรคโดยเร็ว หากยังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(15 ธ.ค.66) 'อ.อุ๋ย-ประพฤติ ฉัตรประภาชัย' นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

พรรคก้าวไกลต้องขับ ไอซ์ รักชนก ออกจากพรรค เพราะทำผิดวินัยร้ายแรง

จากคำพิพากษาในคดีที่ สส. ไอซ์ รักชนก ถูกตัดสินให้จำคุก 6 ปี ในความผิดตามมาตรา 112 และ พรบ. คอมฯ ที่มีการเผยแพร่เป็นการทั่วไปนั้น เมื่ออ่านแล้วจะเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นฯ หรือต่อสู้ว่าภาพที่แสดงข้อความดังกล่าวถูกตัดต่อแต่อย่างใด เท่ากับว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ 

นอกจากนี้ หากวิญญูชนทั่วไปได้อ่านข้อความที่จำเลยโพสต์ ก็จะเห็นว่า ข้อความนั้น หาใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แต่เป็นการ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทด้วยข้อความอันไม่มีมูลความจริง และอาฆาตมาดร้ายถึงชีวิตด้วย

ซึ่งจากข้อบังคับพรรคก้าวไกล ที่ใช้บังคับตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2563 ข้อ 9 กำหนดว่า อุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลคือการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในข้อ 119 (2) กำหนดว่า สมาชิกผู้ใดแสดงออกในทางตรงข้ามกับอุดมการณ์หรือมติพรรคโดยประการที่น่าจะทําให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง กรรมการวินัยสมาชิกพรรคสามารถลงโทษให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ตาม ข้อ 118 (4) 

ดังนั้น การที่นางสาวรักชนก กล่าวอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่การวิจารณ์โดยสุจริต โดยศาลได้ตัดสินแล้วในข้อเท็จจริง เท่ากับว่า นางสาวรักชนก แสดงออกในทางตรงข้ามกับอุดมการณ์ของพรรคที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยประการที่น่าจะทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง อันเป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามข้อ 119 (2) ซึ่งพรรคสามารถลงโทษโดยการให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ตามข้อ 118 (4) 

ผมจึงขอเรียกร้องให้พรรคก้าวไกลมีมติขับ สส. ไอซ์ ออกจากพรรคโดยเร็ว ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ สส. ปูอัด และ สส แจ้ ซึ่งกระทำผิดวินัยร้ายแรงเช่นเดียวกัน และสองรายนั้นคดียังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำไป แต่ของ สส. ไอซ์ นี่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วด้วย ดังนั้น ไม่มีเหตุที่จะต้องประวิงเวลาใด ๆ อีก ฝากด้วยครับ ด้วยความปรารถนาดี 

'อ.อุ๋ย ปชป.' แนะ!! นายกฯ ควรดึงเงินลงทุนต่างชาติ เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ควบคู่  วอน!! อย่าปล่อยไทยเป็นแค่แหล่งสูบผลประโยชน์จากต่างชาติจนแห้งเหี่ยว

(29 ม.ค.67) จากกรณีที่ช่วงนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐบาลเดินสายต่างประเทศ เพื่อชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นั้น 'นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย' หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านแพลทฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ ระบุว่า...

ช่วงนี้เห็นท่านนายกเดินสายชวนประเทศนู้นประเทศนี้มาลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทําให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในประเทศ กระจายความมั่งคั่งให้คนไทย 

อย่างไรก็ตาม หนทางเดียวที่จะทําให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและทําให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางคือการ 'พึ่งตนเอง' ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นเพียงแรงดีดสปริงบอร์ดตอนแรกเท่านั้น 

ที่สําคัญคือ ทุกความตกลงในการลงทุนจากต่างประเทศต้องมีข้อกําหนดที่ให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชาวไทย กําหนดมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม และนําความมั่งคั่งจากการลงทุนจากต่างประเทศมากระจายให้กับชุมชนรอบๆ ให้ได้ เพื่อนําไปสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้กับประเทศ เพื่อก้าวไปเป็นประเทศที่ส่งออกนวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด

หาไม่แล้ว!! ประเทศไทยก็จะเป็นเพียงแค่ทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่งที่ให้ต่างชาติเข้ามาสูบผลประโยชน์จนแห้งเหี่ยว โดยที่ประชาชนคนไทยก็ก้มหน้ารับกรรมกับค่าแรงตํ่าๆ ไปตลอดชีวิต รอคอยแต่เศษเงินที่นักการเมืองจะโปรยมาให้ 

ด้วยความปรารถนาดี 

'อ.อุ๋ย-ปชป.' วอนรัฐสนับสนุนวิชาชีพช่างแว่นตา ชี้!! สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาท

(12 มี.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็น ว่า...

"วันนี้สวมหมวกที่ปรึกษากฎหมายของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ บรรยายหัวข้อ 'กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช่างแว่นตา' ซึ่งจัดโดยชมรมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาแห่งประเทศไทย

"วิชาชีพช่างแว่นหรือช่างวัดสายตาประกอบแว่น (optician) เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของวิชาชีพทางด้านจักษุ ซึ่งได้แก่ จักษุแพทย์ นักทัศนมาตร และช่างแว่น ซึ่งต้องทํางานสอดประสานกันเพื่อเติมเต็มบริการสาธารณสุขทางด้านจักษุ ปัจจุบันตลาดแว่นตาไทยมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท มีร้านแว่นตาทั่วประเทศกว่า 20,000 ร้าน และเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% 

"จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรเข้ามากํากับดูแลเพื่อรักษามาตรฐาน และยกระดับ/พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการของกิจการแว่นตาไทย สร้างมูลค่าเพิ่มและ productivity เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สําคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

"ปัจจุบันร่างกฎกระทรวงกำหนดให้กิจการตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ....ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งหากประกาศใช้แล้วจะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพช่างแว่นให้เทียบเท่าสากล พัฒนากลไกเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานะต่างๆตามกฎหมายซึ่งนําไปสู่การสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ จากภาครัฐต่อไปในอนาคต ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกอบวิชาชีพนี้และผู้บริโภคครับ"

‘อาจารย์อุ๋ย’ ฟาด ‘เศรษฐา’ วางตัวไม่เหมาะสม เหตุไปขอคำปรึกษาจาก ‘นักโทษคดีทุจริต’ ชี้ ทำต่างชาติ หมดความเชื่อมั่น

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า 

บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า หลักนิติธรรม ซึ่งหมายถึง หลักการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่และบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตัวกฎหมายมีความเป็นธรรม ทันสมัย มีที่มาชอบธรรม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเที่ยงธรรม ประชาชนเข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง 

เพราะหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในระบบกฎหมายของประเทศที่ตนจะมาลงทุน ไม่ต้องกังวลกับ 'ต้นทุน' หรือ cost ที่มองไม่เห็น และคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องหมดไปกับการคอร์รัปชันและการเผชิญกับอุปสรรคที่เกิดจากกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบือน และตั้งแต่ พ.ศ. 2558 สหประชาชาติได้ประกาศให้หลักนิติธรรมเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง Word Justice Project (WJP) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินความมีนิติธรรมของแต่ละประเทศในทุกปี ประกอบด้วย 8 ปัจจัยชี้วัดหลัก ได้แก่ การจำกัดอำนาจรัฐอย่างเหมาะสม การปราศจากการคอร์รัปชัน รัฐบาลโปร่งใส สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 82 จาก 142 ประเทศทั่วโลก ถดถอยลงจากปี 2565 ที่ได้คะแนน 0.50 และต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ประเทศไทยเข้าสู่การสำรวจ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวัน 11 กันยายน 2566 ว่า “รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทําให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ” 

แต่วันนี้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกลับหน้าระรื่นไปดินเนอร์กับคุณทักษิณ ซึ่งยังคงอยู่ในสถานะของ 'นักโทษคดีทุจริต' ซึ่งอยู่ระหว่างพักโทษ ออกสื่อไปทั่วโลก แถมบอกหน้าตาเฉยด้วยว่าได้ขอคำปรึกษาการบริหารเศรษฐกิจจากคุณทักษิณ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า ต่างชาติเขาจะมองเราอย่างไรที่ผู้นำประเทศต้องไปขอคำปรึกษาจากผู้ต้องโทษคดีทุจริตต่อบ้านเมือง ซึ่งสวนทางกับมาตรฐานของสากลโลกในเรื่องระบบนิติธรรม และสวนทางกับนโยบายที่ท่านนายกแถลงออกจากปาก สงสัยว่าที่ท่านนายกและคณะบินไปประเทศนู้นนี้ (ด้วยเงินภาษี) และจีบแขกบ้านแขกเมืองมาลงทุน จะสูญเปล่าเสียแล้วกระมัง เมื่อต่างชาติเขาเห็นผู้นำประเทศของเราไปสนิทสนมและปรึกษาราชการงานเมืองกับนักโทษคดีทุจริต แล้วเขาจะคาดหวังได้มั้ยว่าประเทศไทยจะมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการลงทุนของเขา

ด้วยความปรารถนาดี   

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้ ศึกสองบิ๊กตำรวจ แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง  ยังมีปมอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ แนะ!! ดึง ปชช.ร่วมตรวจสอบกาะทำงาน 

(24 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่าง ผบ.ตร และรอง ผบ.ตร. จนสุดท้ายทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาหย่าศึก โดยการสั่งย้ายทั้งสองคนกลับเข้าสำนักนายก ฯ ว่า...

กรณีการสั่งย้ายดังกล่างเป็นแค่การลูบหน้าปะจมูก เพื่อแก้ปัญหาหาเฉพาะหน้าให้จบ ๆ ไปเท่านั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างสองบิ๊กตำรวจ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาพ้นน้ำให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งต้องรอการสะสาง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ปัญหาการรับส่วยสินบน ปัญหาการไม่รับแจ้งความ ปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งตนขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้...

1. ค่าตอบแทนและสวัสดิการของตำรวจ ต้องเพียงพอให้ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหาเศษหาเลย โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการทำงานต้องเบิกได้เต็มจำนวน
2. ต้องใช้ระบบคุณธรรมในการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ใครทำดี บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อประชาชนต้องได้ดี ใครทำชั่วทุจริตกินสินบาทคาดสินบนต้องได้ชั่ว (ถูกลงโทษ)  
3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญกว่า (Decentralization) เช่น การสอบสวน ควรให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งการย้ายภาระงานบางส่วนให้ อปท. เช่น งานจราจร หรือคดีที่มีโทษเล็กน้อยหรือปรับเพียงสถานเดียว โดยใช้วิธีกระจายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนที่มีความรู้กฎหมายระดับเนติบัณฑิต
4. ออกกฎหมายกำหนดขอบเขตการใช้กำลังและหลักการการใช้กำลังขั้นถึงตาย (Use of Deadly Force) แยกต่างหากไปจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน เพื่อคุ้มครองตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ตำรวจมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
5. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจมากขึ้น สร้างระบบให้ประชาชนสามารถรีวิว (Review) การทำงานของตำรวจได้ และมีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง 

ทั้งนี้ย้ำว่าที่ตนเสนอมาเป็นเพียงข้อเสนอแนะในกรอบกว้าง ๆ เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าทุกคนในแวดวงตำรวจรู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ไขอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีความกล้าที่จะลงมือทำหรือไม่ สุดท้ายแล้วตำรวจต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่าประชาชนต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทย คนไทยต้องการอะไร และอยากจะปรับปรุงตำรวจไปในทิศทางไหน แล้วเลือกวิถีทางของตัวเอง

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ยก รธน.มาตรา 211 ชี้!! คําวินิจฉัยศาล รธน.เด็ดขาด-ผูกพันรัฐสภา พรรคที่ล้มล้างการปกครองไม่มีสิทธิเข้าสภาประชุมใดๆ แม้แต่วินาทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงมุมมองทางกฎหมาย ว่า...

รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 211 ว่าคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเด็ดขาดและผูกพันรัฐสภาด้วย 

ดังนั้นไม่ต้องรอให้ยุบพรรคหรอก เพราะพรรคที่ล้มล้างการปกครองไม่มีสิทธิเดินเข้าสภาอันทรงเกียรติเพื่อประชุมใด ๆ ทั้งสิ้นแม้แต่วินาทีเดียว 

เพราะตามคําปรารภของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เขียนไว้ชัดเจนว่า สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และธํารงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ดังนั้น หากท่านวันนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา ซึ่งต้องผูกพันตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังปล่อยให้ สส.จากพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ากระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้าสภามาใช้อํานาจนิติบัญญัติต่อไป 

จะเท่ากับว่าท่านสนับสนุนให้กลุ่มคนที่กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เข้ามาใช้อํานาจนิติบัญญัตินะครับ และจะกลายเป็นว่า ประธานรัฐสภาเป็นผู้ทําผิดข้อบังคับเสียเอง ฝากไว้ให้คิด

‘อาจารย์อุ๋ย’ ชี้!! ‘เมียนมาร์’ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงเรือประมงไทย ละเมิด!! หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จี้!! รัฐบาลดำเนินการตอบโต้

(1 ธ.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กว่า

กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย 3 ลำ จนทำให้ลูกเรือบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 คน และจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำพร้อมลูกเรือ 31 ไว้นั้น กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) มาตรา 51 ให้สิทธิแก่รัฐสมาชิกในการใช้กำลังป้องกันตนเองโดยใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการรุกล้ำน่านน้ำหรือไม่ ด้วยหลักจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea) ซึ่งได้เคยวางหลักไว้ในคดี SAINT VINCENT AND THE GRENADINES V. GUINEA ว่า การใช้กำลังอาวุธด้วยการยิงเข้าใส่เรือประมงจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของลูกเรือ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจักต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทำการเข้าจับกุมเรือ แม้ว่าจะเป็นเรือที่ทำผิดกฎหมายก็ตาม เพราะการใช้กำลังอาวุธจะทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้คนของชาติอื่นต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในทางระหว่างประเทศเมื่อพบเรือต่างชาติที่ต้องสงสัย คือการเตือนด้วยเสียงหรืออาณัติสัญญาณในรูปแบบที่เห็นได้ชัดให้เรือต้องสงสัยนั้นหยุด และหากเรือต้องสงสัยนั้นไม่ตอบสนองหรือไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าขึ้นเรือและใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ หรือหากเรือต้องสงสัยนั้นมีการใช้กำลังอาวุธยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธยิงตอบโต้ได้ หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เมียนมายิงเข้าใส่เรือประมงไทยโดยไม่มีการเตือนหรือแจ้งล่วงหน้าให้หยุดเรือจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเยียวยาความเสียหาย และปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกจับโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (retortion/reprisal) เช่น ส่งทูตกลับประเทศ ปิดน่านน้ำ ปิดชายแดน จำกัดการนำเข้าสินค้า บอยคอตสินค้า ตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ กับประเทศเมียนมา ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนไทยที่ประสบเหตุ อย่างเต็มที่ ด้วยความปรารถนาดี 

‘อาจารย์อุ๋ย’ ชี้!! ‘เมียนมาร์’ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงเรือประมงไทย ละเมิด!! หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จี้!! รัฐบาลดำเนินการตอบโต้

(1 ธ.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กว่า

กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย 3 ลำ จนทำให้ลูกเรือบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 คน และจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำพร้อมลูกเรือ 31 ไว้นั้น กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) มาตรา 51 ให้สิทธิแก่รัฐสมาชิกในการใช้กำลังป้องกันตนเองโดยใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการรุกล้ำน่านน้ำหรือไม่ ด้วยหลักจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea) ซึ่งได้เคยวางหลักไว้ในคดี SAINT VINCENT AND THE GRENADINES V. GUINEA ว่า การใช้กำลังอาวุธด้วยการยิงเข้าใส่เรือประมงจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของลูกเรือ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจักต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทำการเข้าจับกุมเรือ แม้ว่าจะเป็นเรือที่ทำผิดกฎหมายก็ตาม เพราะการใช้กำลังอาวุธจะทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้คนของชาติอื่นต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในทางระหว่างประเทศเมื่อพบเรือต่างชาติที่ต้องสงสัย คือการเตือนด้วยเสียงหรืออาณัติสัญญาณในรูปแบบที่เห็นได้ชัดให้เรือต้องสงสัยนั้นหยุด และหากเรือต้องสงสัยนั้นไม่ตอบสนองหรือไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าขึ้นเรือและใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ หรือหากเรือต้องสงสัยนั้นมีการใช้กำลังอาวุธยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธยิงตอบโต้ได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เมียนมายิงเข้าใส่เรือประมงไทยโดยไม่มีการเตือนหรือแจ้งล่วงหน้าให้หยุดเรือจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเยียวยาความเสียหาย และปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกจับโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (retortion/reprisal) เช่น ส่งทูตกลับประเทศ ปิดน่านน้ำ ปิดชายแดน จำกัดการนำเข้าสินค้า บอยคอตสินค้า ตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ กับประเทศเมียนมา ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนไทยที่ประสบเหตุ อย่างเต็มที่ ด้วยความปรารถนาดี 

‘อาจารย์อุ๋ย’ จี้!! ‘นายกฯ อิ๊งค์’ ผลักดันนโยบาย ‘Thailand First’ ตามแบบ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ตั้งหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพ ปราบทุจริต

(15 ก.พ. 68) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า “หลายท่านที่ติดตามข่าวต่างประเทศโดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสไตล์การบริหารที่แปลกแหวกแนว มีสีสันไม่ค่อยเหมือนใคร โดยเฉพาะนโยบาย America First หรืออเมริกาต้องมาก่อน ซึ่งเป็นแคมเปญสั้น ๆ แต่ครอบคลุมทุกมิติของนโยบาย คือทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของอเมริกาและชาวอเมริกัน

ซึ่งผมมองว่าประเทศไทยก็สามารถใช้นโยบายในลักษณะนี้ได้เช่นเดียวกัน แม้เราจะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจ แต่ก็ไม่เล็กเกินไปที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศไทยต้องการที่จะปกป้องปผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทย โดยไม่ให้ประเทศอื่นมาเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต่างด้าวหรือผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย จะมาได้รับสิทธิ์ทัดเทียมคนไทยนั้น ไม่ควรมีข่าวออกมาให้เห็น หรือถ้าการยกเลิก MOU44 จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในการถือกรรมสิทธิ์ในขุมพลังงานบริเวณน่านน้ำรอบเกาะกูด ก็ต้องรีบทำ เพราะ ผลประโยชน์ของประเทศไทยต้องมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด หรือแม้แต่การกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ปักหลักอยู่บริเวณชายแดน หากยึดถือหลักการ ประเทศไทยต้องมาก่อน แล้ว คงไม่ต้องรอให้ทางจีนเขาส่งคนใหญ่คนโตเอาแส้มาหวดจนก้นลายกันทั้ง ครม. ถึงจะขยับเขยื้อนกัน 

อีกอันหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือการที่ ปธน. ทรัมป์ตั้ง อีลอน มัสค์ มหาเศรษฐีชื่อดังผู้ก่อตั้ง SpaceX และ Tesla เข้ามานั่งหัวโต๊ะคุมหน่วยงานพิเศษที่เรียกว่ากระทรวงเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ Department of Government Efficiency (DOGE) ทำหน้าที่ลดขนาดรัฐ ขจัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ตัดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่ามัสค์จะทำหน้าที่ได้สมกับที่คุยโวได้หรือไม่ จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า แต่ล่าสุดทาง DOGE ก็ทำผลงานโดยเตรียมตรวจสอบการใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงกลาโหม และอ้างว่าตัดลดการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็นได้ถึงวันละหนึ่งพันล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าจะประหยัดงบให้ได้ถึง 3 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน

สุดท้ายนี้ผมมองว่าหากประเทศไทยจะนำหลักการ นโยบายแบบทรัมป์กับคู่หูอีลอน มัสค์ มาประยุกต์ใช้เสียบ้าง คงไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะประชาชนคนไทยกับประเทศไทยมีแต่ได้ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการและการปราบคอร์รัปชัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนขึ้นอีกหลายเท่าเพราะดัชนีเรื่องความโปร่งใสก็เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่สากลโลกเขาใช้วัดกันว่าประเทศนี้ประเทศนั้นน่าไปลงทุนมากแค่ไหน ก็ขอฝากท่านนายกไปคิดดูครับ ด้วยความปรารถนาดี”

‘อ.อุ๋ย’ ยัน!! ‘ชาวยิว’ ที่ปาย มีสิทธินับถือ ประกอบพิธีศาสนา อันเป็นสิทธิตาม ‘รธน.’ แต่ต้อง!! เคารพกฎหมาย และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ของประเทศไทยด้วย

(22 ก.พ. 68) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า “กรณีข่าวชุมชนชาวยิวที่ปาย ซึ่งมีชาวบ้านออกมาร้องเรียนว่ามีจำนวนมากและก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนนั้น ผมเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 31 บัญญัติว่า ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’

อีกทั้งในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติอีกว่า ‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น’ และมาตรา 27 วรรคสาม กำหนดว่า ‘การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้’

ดังนั้นไม่ว่าชนชาติใด ศาสนาใด จึงมีสิทธิในการอยู่อาศัย พำนัก และนับถือศาสนาของตนโดยเสรีบนผืนแผ่นดินไทย ตราบใดที่เคารพต่อกฎหมายไทย ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกรณีปัญหาชุมชนชาวยิวที่ปาย จึงต้องแยกปลาออกจากน้ำเสียก่อน กล่าวคือ ชาวยิวคนไหนที่เข้ามาท่องเที่ยวตามปกติ อยู่ไม่เกินอายุวีซ่า ก็ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ต้องปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงนักท่องเที่ยวทั่วไป 

ส่วนกลุ่มใดที่เข้ามาโดยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ซ่องซุม อยู่เกินอายุวีซ่า ลักลอบทำงาน ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่เคารพกฎหมายและประเพณีอันดีงามของไทย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ลงโทษอย่างเด็ดขาด ส่งกลับประเทศและแบล็กลิสท์ไม่ให้เข้าประเทศไทยอีก รวมถึงพัฒนาระบบไบโอเมตริกซ์ เชื่อมโยงฐานข้อมูลตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับตำรวจสากล เพื่อคัดกรองผู้มีประวัติอาชญากรรม หรือมีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพื่อสกัดไม่ให้เข้าประเทศไทยได้ตั้งแต่ต้นทาง  

หรือหากต้องการให้ปายกลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สงบและรักษาประเพณีอันดีงามไว้ในระยะยาว ก็ต้องกำหนดโควตาหรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ และเก็บค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวในอัตราสูง เช่น ประเทศภูฏานเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวถึงเกือบสี่พันกว่าบาทต่อคืน เพื่อคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และนำเงินตรงนี้มาพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในระยะยาวต่อไป ก็ขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาครับ ด้วยความปรารถนาดี”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top