‘อาจารย์อุ๋ย’ ฟาด ‘เศรษฐา’ วางตัวไม่เหมาะสม เหตุไปขอคำปรึกษาจาก ‘นักโทษคดีทุจริต’ ชี้ ทำต่างชาติ หมดความเชื่อมั่น

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า 

บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า หลักนิติธรรม ซึ่งหมายถึง หลักการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่และบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตัวกฎหมายมีความเป็นธรรม ทันสมัย มีที่มาชอบธรรม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเที่ยงธรรม ประชาชนเข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง 

เพราะหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในระบบกฎหมายของประเทศที่ตนจะมาลงทุน ไม่ต้องกังวลกับ 'ต้นทุน' หรือ cost ที่มองไม่เห็น และคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องหมดไปกับการคอร์รัปชันและการเผชิญกับอุปสรรคที่เกิดจากกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบือน และตั้งแต่ พ.ศ. 2558 สหประชาชาติได้ประกาศให้หลักนิติธรรมเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง Word Justice Project (WJP) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินความมีนิติธรรมของแต่ละประเทศในทุกปี ประกอบด้วย 8 ปัจจัยชี้วัดหลัก ได้แก่ การจำกัดอำนาจรัฐอย่างเหมาะสม การปราศจากการคอร์รัปชัน รัฐบาลโปร่งใส สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 82 จาก 142 ประเทศทั่วโลก ถดถอยลงจากปี 2565 ที่ได้คะแนน 0.50 และต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ประเทศไทยเข้าสู่การสำรวจ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวัน 11 กันยายน 2566 ว่า “รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทําให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ” 

แต่วันนี้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกลับหน้าระรื่นไปดินเนอร์กับคุณทักษิณ ซึ่งยังคงอยู่ในสถานะของ 'นักโทษคดีทุจริต' ซึ่งอยู่ระหว่างพักโทษ ออกสื่อไปทั่วโลก แถมบอกหน้าตาเฉยด้วยว่าได้ขอคำปรึกษาการบริหารเศรษฐกิจจากคุณทักษิณ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า ต่างชาติเขาจะมองเราอย่างไรที่ผู้นำประเทศต้องไปขอคำปรึกษาจากผู้ต้องโทษคดีทุจริตต่อบ้านเมือง ซึ่งสวนทางกับมาตรฐานของสากลโลกในเรื่องระบบนิติธรรม และสวนทางกับนโยบายที่ท่านนายกแถลงออกจากปาก สงสัยว่าที่ท่านนายกและคณะบินไปประเทศนู้นนี้ (ด้วยเงินภาษี) และจีบแขกบ้านแขกเมืองมาลงทุน จะสูญเปล่าเสียแล้วกระมัง เมื่อต่างชาติเขาเห็นผู้นำประเทศของเราไปสนิทสนมและปรึกษาราชการงานเมืองกับนักโทษคดีทุจริต แล้วเขาจะคาดหวังได้มั้ยว่าประเทศไทยจะมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการลงทุนของเขา

ด้วยความปรารถนาดี   


ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ)