Saturday, 5 April 2025
ประชาธิปัตย์

สส. ภูมิใจไทย - ประชาธิปัตย์ รุมจี้ถาม ‘ธนดล’ ปมสอบที่ดินปากช่อง มองเป็นการกลั่นแกล้งการเมือง

‘กมธ.ปกครอง’ เดือด สส.ภท.-ปชป. จี้ถาม ‘ธนดล’ เหตุตรวจสอบที่ดินปากช่อง มองเป็นการกลั่นแกล้งการเมือง ไม่ห่วงแรนโช ชาญวีร์-ทอสคาน่า-โบนันซ่า แต่ห่วงประชาชนที่ได้ที่ดินมาถูกต้อง

(26 ก.พ. 68) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา การทับซ้อนที่ดินของรัฐ กรณีศึกษาพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการเชิญ นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล โดยมี นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน

นายกรวีร์ กล่าวว่า เราได้ติดตามและเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการในเรื่องของปัญหาที่ดินทับซ้อน ซึ่งมีการลงพื้นที่ของนายธนดล ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จึงนำมาเป็นกรณีศึกษา อย่างแรกก็ขอชื่นชมและขอบคุณคณะทำงานหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาและลงพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้กรรมาธิการเองก็ได้ศึกษาปัญหาที่ดินทับซ้อนมาก่อนแล้วพบว่าที่ดินของ ส.ป.ก.หลายแห่งมีทั้งการถูกบุกรุก และใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงได้ขอสอบถามเบื้องต้นถึงขอบเขตและอำนาจในการตรวจสอบ

ด้านนายธนดลชี้แจงว่า ตนเป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นประธานตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด 72 จังหวัด จากการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตนตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินปี 2534 และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินปี พ.ศ.2518 ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งตนต้องประสานงานกับ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดก่อนจะลงพื้นที่ และต้องยอมรับข้อเท็จจริงจากการที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่า แทบจะไม่มีผู้ที่ได้รับจัดสรรเป็นที่ ส.ป.ก.และใช้พื้นที่จริง กลายเป็นว่ามีผู้อื่นมาใช้พื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจพบเป็นรีสอร์ต ร้านกาแฟ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ทางปฏิรูปที่ดิน ก็จะทำหนังสือเรียกมาชี้แจง สุดท้ายก็จะเป็นดุลพินิจของปฏิรูปที่ดินในจังหวัดนั้นๆ ว่าจะเพิกถอนหรือไม่

“ก่อนที่เราจะทำอะไรต่างๆ ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียดรอบคอบ ไม่งั้นเราไม่กล้าที่จะทำเวลาเราไปตรวจสอบแต่ละพื้นที่ ก็จะมีผู้มีอิทธิพล อดีตนักการเมืองหรือนักการเมืองท้องถิ่น พร้อมที่จะฟ้องกลับเรามาได้ตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำคือสิ่งที่น้อยคนจะทำจริงๆ เพราะต้องไปเจอผู้มีอิทธิพลผู้มีอำนาจพิเศษ” นายธนดลกล่าว

นายธนดลระบุว่า ได้ลงพื้นที่และไปตรวจสอบพยานหลักฐานให้ครบถ้วน จึงมาแถลงข่าว แต่ตอนแถลงอยู่ในช่วงการเมืองร้อนแรงก็อาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นประเด็นกลั่นแกล้งกันหรือไม่ แต่ยืนยันว่าทำตามหน้าที่และกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่ นายกรวีร์ระบุว่า เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่านายธนดลไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นจังหวะการเมืองจึงอยากทราบว่าที่ตรวจสอบที่ดินปากช่องมีหลักเกณฑ์อย่างไร ไม่เช่นนั้น ส.ป.ก.อาจถูกกล่าวหาว่า ทำให้เป็นประเด็นการเมือง

นายธนดลยังยืนยันว่า ที่ไปตรวจสอบที่ดินปากช่อง เพราะเป็นที่ดินกลุ่มที่ 3 ตามที่มีการจัดทำวันแมป ซึ่งตนไปมาหลายที่แต่ไม่เป็นข่าว ซึ่งที่ดินปากช่องมีประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไม่ได้นำไปทำการเกษตร แต่นำที่ดินที่ได้รับจัดสรรไปขายทำให้ผิดวัตถุประสงค์ ผิดกฎหมาย แต่การที่ชุดตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบ ยอมรับว่าไม่ได้เจอทำผิดทั้งหมด แต่เป็นการทำเพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนที่ดินที่มีปัญหาทับซ้อนจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือให้เอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งตนพร้อมทำตามกฎหมาย

ด้านนายพลพีร์ สุวรรณฉวี สส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ได้จี้ถามว่า เมื่อวันแมปยังไม่เสร็จ ก็ไม่ค่อยสบายใจ การไปตรวจสอบเป็นสิ่งที่ถูก แต่เมื่อวันแมปยังไม่เสร็จ ไปตรวจสอบก็ต้องรอวันแมปอยู่ดี เมื่อให้เกียรติโคราชและปากช่องในการตรวจสอบ ในฐานะที่ตนเป็นคนโคราช ขอถามอธิบดีกรมที่ดิน รวมถึงผู้ชี้แจงทุกคนว่าในพื้นที่โคราชที่ถูกตรวจ และคาดว่าจะมีธุรกิจที่คาดว่าอยู่ในที่บุกรุกเท่าไหร่

“ที่ถามเพราะเขาใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่มากของจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งคนทำธุรกิจและเป็นลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไปตรวจแล้วยังไม่สิ้นสุดกระบวนความ มันทำลายปากช่องไปแล้ว วันนี้คนที่จะมาลงทุนก็ไม่อยากมา จริงๆ คนที่ถือโฉนดที่ปากช่อง ก็กลัวขาสั่นกันหมด ปวดหัวว่าสิ่งที่ได้ซื้อมา หรือที่ถืออยู่มันถูกต้องหรือไม่ และมองไม่เห็นแสงไฟปลายอุโมงค์ว่าที่ดินของเราจะโดนหรือไม่ และพอวันแมปมา ก็มายื่นคัดค้านกันอีก” นายพลพีร์กล่าว

นอกจากนี้ นายพลพีร์ยังกล่าวว่า วันแมปจะเสร็จในปีนี้หรือไม่ ก็ไม่รู้ ตอนนี้ภาคเหนือก็มีทั้งคาเฟ่ สวนน้ำ ที่พักต่างๆ แต่ก็ไม่เห็นมีตรวจสอบ จึงมองเป็นมิติอื่นไม่ได้จริงๆ และอยากได้คำตอบว่าควรจะบอกกับคนโคราชอย่างไร ว่าโฉนดที่ถือมา 30-40 ปี เป็นโฉนดปลอมหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่โคราช จะไปฟื้นให้เขาอย่างไร 22 ที่ ที่ไปไม่ดังเท่าที่นี่ทีเดียว ไม่ต้องถามว่าทำไมที่นี่ถึงดัง มันมองมิติอื่นไม่ได้

ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนได้ผลประโยชน์อะไรแต่ที่เห็นคือประชาชนที่เป็นหนี้เป็นสินได้โฉนดมากะว่าจะเอาที่ไปขายเพื่อเอาเงินเลี้ยงดูครอบครัวหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ทำไม่ได้แล้วจะทำได้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นที่ไม่ว่าจะกี่หมื่นไร่ที่คิดว่ามันบวมหรือทับซ้อน ก็บอกมาเลยว่า ธุรกิจที่ไปตรวจมา มันบวม มันมีกี่ธุรกิจ ประชาชนที่ถูกผลกระทบมีเท่าไหร่ สำคัญที่สุดพื้นที่ราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นข้อพิพาททับซ้อน มีพื้นที่ราชการที่ไหนบ้าง เพราะหากที่ราชการบุกรุก ใครโดน การให้บริการประชาชนในพื้นที่จะทำอย่างไรต่อ ยกตัวอย่าง ถ้า อบต.ตั้งผิดที่ แล้วไปรื้อ จะให้ อบต.ไปอยู่ไหน วันนี้ก่อนที่ท่านจะไปตรวจ มันควรต้องประชุมให้เสร็จก่อน ยื่นหนังสือให้ประชาชนที่ครอบครองโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ต่างๆ ได้เข้ามาชี้แจงว่าได้มาอย่างไร รวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน มาคุยกันเมื่อวันแมปของประเทศยังไม่เสร็จ ก็ขอให้ทำวันแมปของปากช่องก่อน

“ผมไม่ได้เป็นห่วงแรนโช ชาญวีร์ เมื่อเพิกถอนเมื่อไหร่กรมที่ดินก็ต้องชดเชย ไม่ได้ห่วงทอสคาน่า โบนันซ่า แต่เป็นห่วงนาย ก. นาย ข. ที่มีที่ดิน 200 วา หรือ 1 ไร่ จะเดินกันต่ออย่างไร” นายพลพีร์กล่าว

ด้าน นายธนดลกล่าวว่า ที่ดินโคราชทำวันแมปแล้วแต่ยังไม่ได้โอน ยืนยันว่าการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินโคราชของตนไม่ผิด ถ้าไม่มั่นใจจะไม่ลงพื้นที่ให้เป็นที่ครหา และยอมรับว่า ที่ดิน ส.ป.ก.มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพไปแล้ว และจากการตรวจสอบพื้นที่บวมงอกมาจากนิคมทับที่ ส.ป.ก. จึงเป็นปัจจัยหลักในการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เอกสารซึ่งตนเห็นด้วยกับกรมที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์ที่ได้จากนิคม คือแต่ประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วย คือที่ดินบวมออกไปทับที่ ส.ป.ก.เรื่อย ๆ หากวันหน้า ที่ดินของรัฐกลายเป็นที่ที่ดินของเอกชน จะเป็นช่องว่างทางกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่ออกมาต่อสู้

ด้าน นายราชิต สุดพุ่ม สส.ประชาธิปัตย์ ได้จี้ถามนายธนดล ถึงเหตุผลของการไปตรวจสอบที่ดินปากช่อง ว่าเพราะอะไรเพราะปกติส.ป.ก.ก็งานเยอะอยู่แล้ว จึงอยากทราบที่มาของการไปตรวจสอบเพราะหากไม่มีคนร้องก็คงไม่ไป ตนไม่ได้เกี่ยวกับใครตนอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่แค่อยากทราบที่มา

ขณะที่นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สส.สระบุรี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานและโฆษก กมธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโอกาสไปตรวจในพื้นที่สระบุรี ก็ต้องขอบคุณที่ไปตรวจสอบบางที่ที่เป็นประเด็น โดยเฉพาะการออกโฉนดทับที่ ส.ป.ก. ซึ่งตนเห็นด้วยที่ท่านต้องนำกลับมาเป็นสมบัติของชาติ แต่ตนไปเห็นในรายการหนึ่งเปิดประเด็นว่า ป.ป.ช. ได้เปิดสัญญาจัดการหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบธุรกิจโรงแรมหรูเขาใหญ่ ก็เป็นที่สนใจว่า นายธนดลมีแนวคิดหรือมีโครงการที่จะไปตรวจสอบหลายโรงแรมที่อยู่พื้นที่เขาติดเขาใหญ่หรือไม่ ตนอยากให้ไปตรวจสอบหลายๆ โรงแรมที่เป็นประเด็นข้อสงสัย เพื่อทำให้ชัดเจนต่อประชาชน

ทำให้นายธนดลกล่าวว่า เห็นตามข่าวคือโรงแรมเทมส์วัลลีย์เขาใหญ่ ซึ่งอยู่ก่อนถึงทางเข้าเขาใหญ่ประมาณ 5 นาที ถ้าให้ตรวจสอบก็พร้อมที่จะตรวจสอบ หากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอนุญาต แต่ตนมีอำนาจตรวจสอบเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ได้มีอำนาจตรวจสอบนิคม

ด้าน นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่า กรมที่ดินได้แถลงข่าวชัดเจนไปแล้วว่าปัญหาทับซ้อน ไม่เกี่ยวกับกรมที่ดิน กรมที่ดินน่าจะเป็นปลายทาง เพราะเป็นการทับซ้อนระหว่างที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินนิคม ถ้าผลตรวจสอบเป็นอย่างไรกรมที่ดิน เป็นปลายทางก็พอซึ่งเป็นปลายทางก็พร้อมจะทำตาม แต่ในชั้นดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว อีกทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ยกเว้นเนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมแผนที่ทหาร

'ประชาธิปัตย์' จัด 'เดโมแครต ฟอรัมครั้งที่ 4' 'วาระน้ำเพื่อประชาชน' มุ่งยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมาย “น้ำประปาสะอาดทั่วไทย ทุกประปาต้องดื่มได้” 

พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดสัมมนา เดโมแครต ฟอรั่ม ครั้งที่ 4 “วาระน้ำเพื่อประชาชน : ก้าวใหม่ประปาหมู่บ้าน” ขึ้นที่ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การดำริของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งงานดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาเป็นประธาน 

ตลอดจนมีตัวแทนจากหน่วยภาครัฐหลายหน่วยงาน อาทิ กรมอนามัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกรมทรัพยากรน้ำ กรมป่าไม้ตลอดจน สส. อดีตรัฐมนตรี อดีต สส. เช่น นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตรมช.มหาดไทย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต สส. นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายปรพล อดิเรกสารและไพศาล จันทวารา ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกุลเดช พัวพัฒนกุล อดีตประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศ นายสุรศักดิ์ วงศ์วนิช คณะรมช.สธ. นายบุญมี สรรพคุณ โครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดอุทัยธานี นายอารยะ โรจนวณิชชากร อดีตคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายสาธุ อนุโมทามิ และ นายราม คุรุวาณิชย์ รองประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก โดยมีวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆเช่น นายรัชชผดุง  ดำรงพิงคสกุล  รักษาการผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัยนายเกรียงศักดิ์  ภิระไร  ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายพลกฤต ปุญญอมรศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นายชาตี ปานทอง  รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหอมศีล จังหวัดฉะเชิงเทรา นางลัดดาวัลย์  มีสุวรรณ์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหีบ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายปรีชา สเลม เลขานุการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการโดย นางสาวพลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่พิธีกร

นายธนิตพล ไชยนันทน์ ผู้อำนวยการพรรคฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับนำไปสู่การจัดทำนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และจัดทำโครงการน้ำเพื่อประชาชนตลอดทั้งประปาหมู่บ้านเพื่อประชาชนให้ประสบผลสำเร็จ 

นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและกล่าวว่าปาฐกถาพิเศษว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประปาหมู่บ้านกว่า 69,000 แห่ง แต่จากการตรวจสอบของกรมอนามัยในจำนวนกว่า 10,000 แห่ง พบว่ามีเพียง 420 แห่ง หรือ 4% เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประชาชนถึง 96% กำลังใช้น้ำที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่สะอาด ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขโดยด่วน

ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการเข้าถึงน้ำสะอาดต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 73% โดยไทยติดอันดับรั้งท้ายที่มีเพียง 4% ที่ใช้น้ำสะอาด การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการระดมความคิดจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปเป็นข้อสรุปสำหรับพัฒนานโยบายพรรคฯ เพื่อให้ทุกประปาหมู่บ้านต้องสามารถดื่มได้ เพราะการแก้ไขปัญหาน้ำสะอาดเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์มุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการใช้น้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า 

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานจัดงานเดโมแครต ฟอรัม (Democrat Forum) กล่าวว่า งานดังกล่าว ดร.เฉลิมชัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเปลี่ยนแปลงให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่พึ่งของประชาชนและเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความก้าวหน้าและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมุ่งหวังที่จะนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของทุกคนจึงมีแนวทางเปิดพรรคกว้างสร้างวิสัยทัศน์เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแบบไร้รอยต่อมุ่งวาระประชาชนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศและจัดทำนโยบายที่ตอบโจทย์วันนี้และอนาคตโดยให้กลไกพรรคทุกระดับร่วมขับเคลื่อนโดยที่ผ่านมาพรรคฯ ได้มีการจัด เดโมแครต ฟอรัม มาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่

“เศรษฐกิจคาร์บอน :วิกฤติในโอกาส สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่กำกับดูแลกระทรวง ทส. และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ที่กำกับดูแลกรมอนามัยโดยเล็งเห็นความสำคัญของน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้มาก หากสามารถยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านได้ จะทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนกว่า 6 หมื่นหมู่บ้านดีขึ้น 

ดังนั้นการนำเสนอแนวทางนโยบายจากการเสวนาครั้งนี้ มีเป้าหมายสุดท้ายคือทุกประปาต้องดื่มได้  โดยเริ่มจากเป้าหมายแรกคือทุกประปาต้องสะอาด และน้ำประปาต้องเข้าถึงทุกครัวเรือน ทั้งนี้พรรคฯ.จะยกร่าง พ.ร.บ. น้ำสะอาดเป็นฉบับแรกของประเทศเช่นเดียวที่เสนอร่างพรบ.อากาศสะอาดต่อสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้

ทางด้านนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค และที่ปรึกษา รมว. ทส. ได้กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าน้ำประปาจะต้องดื่มได้ในทุกน้ำประปา จากแนวคิดของตัวแทนจากกรมอนามัย ที่ต้องการเห็นการบริหารจัดการน้ำประปาในประเทศด้วยการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กรมอนามัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ ตลอดจนกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ขณะที่ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งทำให้เห็นงานของกรมที่มีสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้ง 12 เขต เพื่อให้บริการน้ำใต้ดินที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถติดต่อประสานงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้

สำหรับปีงบ 2568 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทส. มีแผนงานโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่ออุปโภคบริโภค เพิ่มเติมอีก 143 แห่ง สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ถึง 14.716 ล้าน ลบ.เมตรต่อปี ประชาชนจะได้ประโยชน์ 27,600 ครัวเรือน มีโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น โดยมีโครงการก่อสร้างระบบอีก 300 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร ที่พร้อมใช้งานสำหรับการขุดเจาะน้ำบาดาล ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลเคลื่อนที่ ชุดซ่อมแซมประปา ชุดจ่ายน้ำอีกจำนวนมาก รวมทั้งโครงการเสริมศักยภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประเมินคุณภาพน้ำให้กับ อปท. ทั่วประเทศ 520 แห่ง 

“ทรัพยากรน้ำ ถึงแม้จะมีมากแค่ไหน ก็มีจำกัด จึงต้องใช้อย่างรู้คุณค่า ไม่ว่าจะดึงขึ้นมาใช้เพื่ออุปโภค บริโภค หรือเพื่อการเกษตรก็ตาม จึงอยากให้ช่วยกันตระหนัก” นายอภิชาต กล่าว 

สำหรับ นายสมบัติ ยะสินธุ์ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะ กมธ. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญ ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการน้ำประปาเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นอกจากต้องใช้บุคลากรที่มีความเหมาะสมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจ และมีองค์ความรู้ ในการบริหารจัดการระบบประปาหมู่บ้านและงบประมาณอีกด้วยจึงต้องมีการเสริมความรึและทักษะเพิ่มเติม

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการเสวนา ได้มีการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นจากผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางโดยแสดงความชื่นชมและขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านและสุขภาพของประชาชนอย่างเอาจริงเอาจัง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top