ถึงขั้น ‘สงครามกลางเมือง’ ! ‘อดีตรองอธิการ มธ.’ เตือนหากได้ ‘นากยกหญิงคนที่ 2’ แล้วแก้ กม. พา ‘พ่อกลับบ้าน’ อาจนำบ้านเมืองวุ่นวาย ซ้ำรอยเดิม
(27 มี.ค.65) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Harirak Sutabutr” ระบุว่า...
"เมื่อครั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมประท้วงรัฐบาลด้วยคนหนึ่ง และไม่เคยเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารไม่ว่าครั้งใด แต่ต้องขอบอกตามตรงว่า อดรู้สึกโล่งใจไม่ได้ นั่นเป็นเพราะความเหนื่อยล้า และมองไม่เห็นทางออกอื่นว่าเรื่องจะจบลงได้อย่างไร
เมื่อถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ก็ถามท่านนายพลท่านหนึ่งว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้ มีการวางแผนมาก่อนนานแค่ไหน ท่านตอบว่า มีการวางแผนจริง แต่เป็นการวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมไว้เป็นทางออกสุดท้าย และท่านยืนยันซึ่งจะเชื่อหรือไม่ก็ตามว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจเดินหน้าเพื่อทำรัฐประหารตามแผนก็เมื่อได้รับคำตอบจากคุณ ชัยเกษม นิติศิริ ผู้ที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่ารัฐบาลจะไม่ลาออก ในวันที่เชิญทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเจรจาที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต
ก่อนการทำรัฐประหาร ก็มีข่าวลือ และว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นไม่อยากเชื่อ ว่าพลเอก ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่เมื่อในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็คือ พลเอก ประยุทธ์ ก็ยังหวังว่า เมื่อเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร สามารถเลือกคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องมีโควต้าจากกลุ่มการเมือง รายชื่อคณะรัฐมนตรีน่าจะออกมาดูดี แต่แล้วก็พบว่า แม้จะมีรายชื่อรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถอยู่ไม่น้อย แต่ก็เชื่อว่าการเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรี น่าจะมีระบบโควต้าด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็มีระบบต่างตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้องแน่ เนื่องจากมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาเป็นรัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก ประหนึ่งว่า หากจบโรงเรียนนายร้อยมาแล้วหรือได้ติดยศนายพลแล้ว จะมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศได้ทุกเรื่อง
เมื่อถึงเวลาที่ คสช. ยอมให้มีการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถชะลอเวลาให้นานกว่านี้ได้แล้ว ทั้งที่การปฏิรูปประเทศที่เป็นชิ้นเป็นอันมีเพียง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นในการเลือกตั้งเท่านั้น การปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด
ก่อนการเลือกตั้งประมาณ 4 เดือน คสช. เห็นท่าทางว่า ในการเลือกตั้งหากปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ มีโอกาสสูงมากที่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารไปจะได้รับเลือกตั้งกลับมาสู่อำนาจได้อีก จึงตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ และเพื่อไม่ให้อำนาจเดิมกลับมาได้อีก จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งให้ได้ รวมทั้งวิธีการเดิมที่พรรคคู่แข่งเคยทำ นั่นคือ การใช้พลังดูดอดีตส.ส.ต่างๆเข้ามาในพรรค คุณสมบัติที่สำคัญคือ มีโอกาสมากที่จะชนะเลือกตั้ง และมีผู้ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งอยู่ในมือกี่คน เรื่องความรู้ความสามารถเป็นคุณสมบัติรองลงมา พรรคนี้จึงกลายเป็นที่รวมของนักการเมืองน้ำเน่าไม่น้อยไปกว่าพรรคคู่แข่ง และมาจากที่ต่างๆร้อยพ่อพันแม่ ทำให้เป็นปัญหาที่ทำให้พรรคเกือบแตกอยู่ในขณะนี้
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือกตั้ง มีความรู้สึกว่า ไม่สามารถคาดหวังอะไรจากพรรคการเมืองพรรคดังกล่าวได้ จึงหันไปมองพรรคที่เกิดขึ้นใหม่ ก็พบว่ามีพรรคเกิดใหม่ มีคนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ มีนโยบายบางนโยบายที่น่าสนใจ แต่ดูบุคลิกของแกนนำแต่ละคนแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งเห็นตัวตนของคนในพรรคนี้มากขึ้น ยิ่งแน่ใจว่า พรรคนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีแน่ และยิ่งเห็นผู้ที่มีบทบาทในพรรคมากขึ้นเรื่อยๆก็ยิ่งรับไม่ได้ ทุกคนเหมือนมี DNA ชุดเดียวกัน ทุกคนมีอคติต่อสถาบันพระมาหกษัตริย์ มีอคติต่อทหาร และมีความประสงค์จที่จะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน้อยไม่ให้มีบทบาทใดๆเลยในประเทศ อย่างมากคือไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
แต่แกนนำพรรคทุกคนกลับมีความรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ผูกขาดความคิดและความเชื่อ ถนัดในการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวเพื่อโน้มน้าวให้คนเห็นคล้อยตามหรือเพื่อให้ตัวเองดูดี คุณสมบัติเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งก็เห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของนักการเมืองน้ำดีรุ่นใหม่ที่พึงมี
เมื่อไปดูพรรคการเมืองอื่นๆที่เกิดใหม่ ก็พบว่า มีจำนวนมากที่เกิดจากการแตกตัวของพรรคเก่า ที่มีเจ้านายคนเดียวกัน แตกตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ พรรคการเมืองเกิดใหม่อื่นๆก็เป็นพรรคเล็กๆที่มองเห็นช่องที่จะได้ ส.ส.จากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ พรรคเล็กขนาดกลางบางพรรค ถึงแม้ไม่ชัดเจนว่าเกิดจากการแตกตัวของพรรคใหญ่หรือไม่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเดินตามพรรคใหญ่แบบไม่มีออกนอกแถว จนไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากเจ้านายคนเดียวกันหรือไม่สุดท้ายก็ต้องหันไปเลือกพรรคการเมืองเดิมที่เคยเลือกมาตลอด แต่แล้วก็ต้องผิดหวังกับการกระทำ และแนวความคิดของหลายๆคนในพรรค ทำให้ตั้งใจว่า จะไม่เลือกพรรคนี้อีกแล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะเลือกพรรคใด
ต้องยอมรับว่า ในประเทศเรา การซื้อเสียงขายเสียงมีจริง และไม่เคยทำให้หมดไปได้ ว่ากันว่า พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีจำนวนส.ส.ที่มากพอที่จะมีอำนาจต่อรองได้บ้าง อย่างน้อยก็ต้องมีเงินเพื่อใช้ในการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งการซื้อเสียงไม่สามารถจะทำได้ทุกเขตเลือกตั้งในทุกจังหวัด แต่จากข้อมูลในอดีต สามารถบอกได้ว่า แต่ละเขตในแต่ละจังหวัด เขตใดซื้อเสียงได้มากน้อยแค่ไหน แต่ละเขตต้องใช้เงินเท่าใดจึงจะมีโอกาสสูงที่จะชนะเลือกตั้ง
นอกจากใช้เงินแล้ว หากมีกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นสนับสนุนด้วย ก็แทบจะแน่ใจได้เลยว่าจะชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะอย่างไรการซื้อเสียงก็จะยังคงมีอยู่ พรรคการเมืองเดิมที่เป็นรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารไป ยังคงมีสภาพเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือยังคงมีเจ้าของพรรคเหมือนเดิม คนเดิม นักการเมืองในพรรคยังคงต้องฟังคำสั่งเจ้าของพรรคเหมือนเดิม ยังคงต้องบินไปคุกเข่าขอโน่นขอนี่เหมือนเดิม
เพราะเจ้าของพรรคสามารถชี้นิ้วให้ใครได้ตำแหน่งไหนในพรรคก็ได้ จะเลือกส่งใครลงสมัครส.ส.ก็ได้ จะมองข้ามหัวหน้าพรรคแล้วส่งลูกสาวมาชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ หัวหน้าพรรคนอกจากไม่หือไม่อือแล้ว ยังโค้งคำนับลูกสาวที่อายุคราวลูกได้อย่างไม่ขัดเขิน ดังนั้นเจ้าของพรรคจึงมั่นใจมากว่าจะชนะเลือกตั้ง และได้กลับบ้านโดยไม่ต้องเดินเข้าคุก
