Saturday, 11 May 2024
ทิศทางน้ำมันโลก

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19-23 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน เฉลี่ยโดยรวมลดลงกว่า 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนเทขายจากความวิตกต่ออุปสงค์พลังงานโลกที่อาจชะลอการฟื้นตัว หากธนาคารกลางรายใหญ่ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวสูงขึ้นหลังจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลางสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังจากสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดสูงสุดในรอบ 7 วัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก นำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น

รมว.กระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Nikolai Shulginov กล่าวในงานสัมมนา St. Petersburg International Economic Forum ว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในปี 2566 ลดลงจากปีก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียประกาศลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง มี.ค. 66 - ธ.ค. 67 เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ซึ่งออกมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล และราคา Brent จะกลับมาแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราคา Brent ต่ำกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นมา)

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จับตาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีน ซึ่งมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลัง รมว. กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย Anthony Blinken เยือนจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 18 มิ.ย. 66 และพบปะหารือกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Qing Gang ทั้งนี้นาย Blinken เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดของสหรัฐฯ คนแรก ที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการในรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• 14 มิ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ตามตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

• 15 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate), ดอกเบี้ยสำหรับสร้างสภาพคล่องให้ระบบธนาคารฯ (Main Refinancing Operations Rate) และดอกเบี้ยที่ให้ธนาคารฯ กู้ยืม (Marginal Lending Facility Rate) อยู่ที่ 3.50%, 4.0% และ 4.25% ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป

• EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.1 ล้านบาร์เรล

• Kpler รายงานอิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 15.4% อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561และส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 43% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% อยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน

• 13 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระยะเวลา 7 วัน แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (7-Day Reverse Repurchase Agreement) ลง 0.1% มาอยู่ที่ 1.9% ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสภาวะเงินฝืด

• Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2566 อยู่ที่ +2.7% จากปีก่อน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ในเดือน มี.ค. 66 ที่ +2.6%) โดยปรับเพิ่ม GDP จีน อยู่ที่ +5.6% (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ที่ +4.3%)

• IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน)

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 19-23 มิ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 26-30 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยวันที่ 20 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People's Bank of China: PBOC) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate : LPR) ระยะเวลา 1 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 3.55% และ 5 ปี ลดลง 0.1% อยู่ที่ 4.20% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี Reuters รวบรวมคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 2566 จากวาณิชธนกิจชั้นนำล่าสุดอยู่ในช่วง 5.1-5.7% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากคาดการณ์เดิมในช่วง 5.5-6.3% จากปีก่อนหน้า (เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 5% จากปีก่อนหน้า) สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง

ขณะที่วันที่ 20-21 มิ.ย. 66 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) กล่าวว่า Fed จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเพดานที่ +2% จากปีก่อนหน้า สะท้อนว่าที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00 -5.25% เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ยังมิใช่จุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินตึงตัว (Tightening) และวันที่ 22 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% มาอยู่ที่ 5.0% ปรับขึ้นต่อเนื่อง 13 ครั้งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

ด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ วันที่ 24 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ก่อกบฏโดยยึดครองกองบัญชาการทหารในเมือง Rostov-on-Don ทางตอนใต้ของรัสเซีย และจะเคลื่อนพลสู่กรุง Moscow อย่างไรก็ดี วันที่ 25 มิ.ย. 66 กลุ่มกองกำลัง Wagner ล้มเลิกภารกิจ พร้อมถอนกำลังจากเมือง Rostov-on-Don โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้นาย Yevgeny Prigozhin ผู้นำกองกำลัง Wagner ไม่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ และนำกองกำลังลี้ไปอยู่เบลารุสแทน ทั้งนี้ รัสเซียยังคงใช้มาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในกรุง Moscow โดยประกาศให้ประชาชนหยุดงานในวันที่ 26 มิ.ย. 66

ติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระยะสั้น โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วาณิชธนกิจ HSBC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ในปี 2566 อยู่ที่ +5.3% จากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า) จากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง

- S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index : PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 2.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 46.3 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

- 21 มิ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ภายในปี 2566

>>ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 66 ลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 15.3% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

- Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลงประมาณ 3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 7.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และผลิตน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 ส.ค. - 1 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 4 - 8 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบ (ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ออกไปถึงเดือน ต.ค. 66 จากเดิมช่วง ก.ค.- ก.ย. 66 ขณะที่รัสเซียจะขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบออกไปถึง ต.ค. 66 เช่นกัน (ก่อนหน้ารัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ก.ย. 66 ปริมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอาจจะอาสาลดการผลิตจนสิ้นปีนี้

พายุเฮอริเคน Idalia (ระดับ 3: ความเร็วลมสูงสุด 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนผ่านรัฐ Florida ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท Chevron อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Platforms) แถบ Gulf of Mexico (GoM) บางส่วน โดย Reuters คาดว่าจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ GoM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของการผลิตในสหรัฐฯ

ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (Core Personal Consumption Expenditure: PCE) ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งใช้วัดเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะอยู่ที่ +4.2 จากปีก่อน ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 88% ที่ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนัก 12% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ภาคการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 49.7 จุด รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 4-8 ก.ย. 66  จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 11-15 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซาอุดีอาระเบียประกาศขยายกรอบเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายกรอบเวลาลดปริมาณการส่งออก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดว่าทั้งสองประเทศจะขยายเวลาออกไปถึงเดือน ต.ค. 66

ความกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มทุเลาลง หลังจากวันที่ 1 ก.ย. 66 ผู้ถือหุ้นกู้ Onshore Private Bond ของบริษัท Country Garden ที่ออกขายภายในประเทศและจำกัดเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ลงมติเห็นชอบเลื่อนกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินหยวน มูลค่า 3.9 พันล้านหยวน (537 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีกำหนดให้ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมมีกำหนดจ่ายภายในวันที่ 2 ก.ย. 66 อีกทั้งบริษัท Country Garden สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ก.ย. 66 ทันกำหนดระยะผ่อนผัน 30 วัน

วันที่ 10 ก.ย. 66 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation: NOC) ประกาศปิดท่าส่งออกน้ำมันจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ Ras Lanuf, Zueitina, Brega และ Es Sider กำลังการผลิตรวม 6.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 3 วัน หลัง Arab Regional Weather Center คาดการณ์พายุเฮอริเคน Daniel จะพัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ลิเบียภายในวันที่ 12 ก.ย. 66 อนึ่ง ลิเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ติดตามพายุเฮอริเคน Lee และพายุโซนร้อน Margot ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หรัฐฯ โดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (National Hurricane Center: NHC) คาดว่าพายุ Lee ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับที่ 1 (ความเร็วลม 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะเพิ่มกำลังกลายเป็นเฮอริเคนระดับที่ 5 (ความเร็วลม 249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคาดว่าพายุ Margot จะยกระดับจากพายุโซนร้อนเป็นพายุเฮอริเคนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ พายุทั้งสองยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกในสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 88-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18 - 22 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ ชี้แนวโน้ม 25 - 29 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบทุกชนิดเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว หลังกระทรวงพลังงานรัสเซียประกาศห้ามส่งออก Gasoline และ ดีเซลไปยังทุกประเทศ ยกเว้นอดีตรัฐโซเวียต 4 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนียและคีร์กีซสถาน เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 66 เพื่อสร้างเสถียรภาพตลาดภายในประเทศ 

วันที่ 22 ก.ย. 66 บริษัทผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมัน Transneft ของรัสเซียหยุดลำเลียงดีเซลทางท่อสู่ท่าส่งออก Primorsk ชายฝั่งทะเล Baltic ปริมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และท่าส่งออก Novorossiysk ชายฝั่งทะเลดำ ปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน (รวมคิดเป็น 60% ของปริมาณส่งออกดีเซลของรัสเซีย) ซึ่งในช่วงปี 2566 รัสเซียส่งออกดีเซลเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ส่งออก Gasoline ประมาณ 160,000 บาร์เรลต่อวัน และอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวจากมาตรการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+

วันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 - 5.50% อย่างไรก็ตาม ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 5.50 - 5.75% ภายในสิ้นปี 2566 (การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66) และจะเริ่มปรับลดในปี 2567 และ 21 ก.ย. 66 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ของธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BoE) มีมติ 5-4 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25%  

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 16 - 20 ต.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 23 - 27 ต.ค. 66

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาทางอากาศอย่างต่อเนื่อง และเตรียมบุกด้วยกำลังภาคพื้นดินเพื่อกวาดล้างกลุ่ม ฮามาสออกจากพื้นที่ ขณะที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธสนับสนุนโดยอิหร่านมีที่ตั้งในเลบานอนเปิดฉากโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล ขณะที่สหรัฐฯ นำเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ลอยลำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อสนับสนุนอิสราเอล อย่างไรก็ดีกาตาร์และนานาชาติเจรจาต่อรองกับกลุ่มฮามาสทำให้ตัวประกัน 4 ราย ได้รับการปล่อยตัว

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันต่อเวเนซุเอลาระยะเวลา 6 เดือน (มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 18 เม.ย. 67) จากรัฐบาลของประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Nicolas Maduro ลงนามในข้อตกลงกับพรรคฝ่ายค้าน จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 ทั้งนี้เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ 760,00 บาร์เรลต่อวัน 

Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ลดลงจากเดือน 1.1% อยู่ที่ 8.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน และส่งออกลดลงจากเดือน 7.1% อยู่ที่ 5.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. - ธ.ค. 66

CEO ของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย นาย Amin Nasser กล่าวว่าขณะนี้ซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเหลือ (Spare Capacity) อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในครึ่งหลังของปี 2566 จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ธ.ค. 66 - ม.ค. 67 เพื่อเก็บในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) และมีแผนเพิ่มปริมาณสำรองต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค. 67 ที่ราคาเป้าหมายไม่เกิน 79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 23 - 27 ต.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66

สงครามฉนวนกาซากระทบราคาน้ำมันดิบผันผวนต่อเนื่อง นักลงทุนกังวลต่อความตึงเครียดจากสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งล่าสุดอิสราเอลโจมตีทางอากาศโดยทิ้งระเบิดอย่างหนัก และโจมตีภาคพื้นดินโดยเคลื่อนรถถังเข้าสู่ฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม อดีตผู้อำนวยการ Aman หน่วยข่าวกรองของกองทัพอิสราเอล นาย Amos Yadlin ชี้ว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการกระชับพื้นที่ และยังไม่เต็มอัตราศึก (Full Scale) บ่งชี้สงครามยังจำกัดวงและไม่เต็มรูปแบบ

บริษัท Equinor ของนอร์เวย์รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 3/66 เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากแหล่งผลิต Johan Sverdrup ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ธ.ค. 65 ทำให้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น

ทางด้าน รมว. กระทรวงพลังงานของคาซัคสถาน นาย Almasadam Satkaliyev แถลงคาซัคสถานอาจส่งออกน้ำมันดิบไปเยอรมนี ผ่านท่อขนส่ง Druzhba ปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ดำเนินการท่อดังกล่าวยังไม่ได้รับคำขอในการส่งน้ำมันดิบผ่านท่อเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันส่งผ่านท่ออยู่ที่ 1.2 ล้านตันต่อปี

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ +4.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

จับตาธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. 66 ซึ่งล่าสุดประธาน Fed นาย Jerome Powell ขึ้นกล่าวในงานประชุม Economic Club ณ เมือง New York ในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า Fed จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5-5.25%

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ต.ค. - 3 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 6 - 10 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบชะลอตัว หลังนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ

• ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจจีน ซึ่งล่าสุดสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลง 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 49.5 จุด ทั้งนี้ ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ในเดือน ต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 3.9% สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 65 และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว หลังสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers: UAW) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400,000 ราย มีการประท้วงหยุดงานจำนวน 46,000 ราย เพื่อขอขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66

• วันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 12 - 13 ธ.ค. 66

• ให้ติดตามการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (USDX) เทียบกับเงินสกุลหลักโลก 6 สกุล อยู่ที่ 104.8 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ 20 ก.ย. 66 โดย CEO ของบริษัทจัดการลงทุน DoubleLine Capital ในสหรัฐฯ นาย Jeffrey Gundlach คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) จากเงินสกุลดอลลาร์สู่สกุลเงินต่างประเทศอื่น ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะผลักดันอุปสงค์ของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน

• รมว. กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman ประกาศซาอุดีอาระเบียจะคงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มตั้งแต่ ก.ค. 66) แม้ว่าจะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งตลาดกังวลว่าจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 13 - 17 พ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 20 - 24 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากนักลงทุนเทขายทำกำไรและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย 

-ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping ได้ตกลงที่จะฟื้นฟูการเจรจาทางทหารระดับสูงตลอดจนการหารือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ

-สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อน  2.8% MoM อยู่ที่ 15.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวและค่าการกลั่นลดลง ส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลดลงจากเดือนก่อน 0.6% อยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท 2 ราย ด้วยราคาเฉลี่ย 77.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะออกประมูลซื้อเพิ่มเติมอย่างน้อยจนถึงเดือน พ.ค. 67

-รายงานฉบับเดือน พ.ย. 66 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  2.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 104.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน)

-คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ $80-85/BBL ติดตามบันทึกการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 20 พ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 26 พ.ย. 66 โดย ตลาดคาดการณ์ซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 MMBD จากเดิมสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มต้นเดือน ก.ค. 66) ไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาส 1/67 หรืออาจขยายถึงครึ่งแรกของปี 2567 และมองว่า OPEC+ จะมีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบรวม 3.66 MMBD ไปจนถึงสิ้นปี 2567

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 20 - 24 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 27 พ.ย. - 1 ธ.ค. 66

ตลาดน้ำมันติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 30 พ.ย. นี้

-ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุด 20-24 พ.ย. 66 เพิ่มขึ้นกว่า $0.67-1.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนและผู้ค้าที่ลดการถือครองสัญญาน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้า กลับมาเข้าซื้อเพื่อปรับสถานะการลงทุน และทำกำไร (Short Position Covering) ในตลาดล่วงหน้า

ทั้งนี้ ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 21 พ.ย. 66 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลง 15,880 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 155,105 สัญญา ส่วนตลาดนิวยอร์ก CFTC จะเลื่อนมารายงานในวันที่ 28 พ.ย. นี้ เนื่องจากในสัปดาห์ก่อน มีวันหยุด Thanksgiving ในสหรัฐฯ

-ตลาดติดตามการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 30 พ.ย. 66 เลื่อนจากกำหนดการเดิมวันที่ 26 พ.ย. 66 และเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ หลังประเทศสมาชิกในแอฟริกา อาทิ แองโกลา และไนจีเรีย ไม่ต้องการจะลดการผลิตในปี 2567 

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่า OPEC+ จะสามารถบรรลุข้อตกลง และยังคงมาตรการลดการผลิตรวม 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2567 และซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุด ธ.ค. 66 ไปจนถึงไตรมาส 1/67 หรือกลางปี 67

-สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่ม Hamas ในฉนวน Gaza ของปาเลสไตน์ ผ่อนคลาย หลัง Hamas ปล่อยตัวประกันตามข้อตกลงหยุดยิง 4 วัน ตั้งแต่ 24 พ.ย. 66 จำนวน 3 รอบ รวม 54 ราย ขณะที่อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์รวม 117 ราย 

ทั้งนี้ตามข้อตกลง Hamas จะปล่อยตัวประกัน 50 ราย แลกกับอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 150 ราย และให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปใน Gaza ทั้งนี้ Hamas แสดงท่าทีต้องการขยายเวลาหยุดยิงออกไป 2-4 วัน ซึ่งอาจทำให้มีการเจรจาเพิ่มเติม

-บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) เมื่อ 31 ต.ค.- 1 พ.ย. 66 ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า FOMC จะหยุดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ (วันที่ 12-13 ธ.ค. 66) 

อย่างไรก็ตาม FOMC ยังไม่แสดงท่าทีจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เช่นกัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงเหนือระดับเป้าหมาย ที่ 2% จากปีก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top