Thursday, 22 May 2025
ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน

‘ถาวร’ ยังไม่ชัด ‘ไพเจน-แบน-สุพิศ’ ชัดเจนแล้ว ศึกเลือกตั้ง ครั้งใหญ่!! ชิงนายกฯ อบจ.สงขลา

(7 ธ.ค. 67) แม้ ‘ถาวร เสนเนียม’ อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม จะยังไม่ชัดว่าจะลงสมัครชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาหรือไม่ แต่สำหรับ ‘นายกฯแบน’ ประสงค์ บริรักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเขารูปช้าง ได้ตัดสินใจแล้ว ลงสมัครนายกฯอบจ.สงขลาแน่นอน แต่ไม่ส่ง ส.อบจ.นะ

“ลงสมัครแน่นอน ถ้าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ รอประชุมกับทีมทนายความประเมินคดี แนวทางการสู้คดี ถ้าทนายความประเมินผลออกมาทางบวก ก็จะลงสมัคร ถ้าผลออกมายังไม่แน่ใจ หรือออกมาเป็นลบ ก็จะไม่ลงสมัคร” ถาวร กล่าว

ถาวร กล่าวต่อว่า คดีในชั้นอุทธรณ์น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ถ้าตนลงสมัครแล้วได้รับเลือก แต่ประมาณ 1 ปี ถ้าศาลตัดสินจำคุก ก็จะขาดคุณสมบัตินายกฯ อบจ.ต้องจัดเลือกตั้งใหม่

“ผมไม่อยากให้ อบจ.สงขลาต้องสูญเสียงบประมาณร่วม 100 ล้านบาทมาจัดการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ใหม่ อันเป็นงบประมาณจากภาษีประชาชน 100 ล้านทำอะไรได้อีกมาก สร้างถนนในระดับหมู่บ้านได้หลายสาย” ถาวร กล่าว

ถาวร กล่าวย้ำว่า กลางเดือนธันวาคมจะทราบผลการประเมินคดีจากทีมทนายความ ทราบผลก็จะได้ตัดสินใจ และแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ

หลังสื่อบางสำนักรายงานว่า ถาวรจะจับมือกับโกเกี๊ยะ (ภูมิใจไทย) ส่งถาวรลงชิงนายกฯ อบจ.สงขลา มีกระแสตอบรับดีมาก ร้านน้ำชา-กาแฟ มีการพูดถึงในเชิงบวก บางคนพูดย้ำว่าพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือในการหาเสียง รอเพียงถาวรตัดสินใจเท่านั้น

สำหรับ ‘สุพิศ พิทักษ์ธรรม’ อดีตอธิบดีกรมฝนหลวง หลังเปิดตัวลงชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.สงขลา ครึกโครม แต่หลังจากนั้นเงียบไปในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของสงขลา เข้าใจว่าเดินทางไปต่างประเทศที่เตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วมแล้ว ประกอบกับไม่อยากแจกของในช่วงใกล้วันสมัคร จะวุ่นวายกับการถูกร้องเรียน แน่นอนว่าถ้าถาวรลงก็จะไปชิงคะแนนของสุพิศ เพราะถาวรอยู่คนละขั้วกับ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ และ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทั้งสองให้การสนับสนุนสุพิศ และคะแนนของไพเจน มากสุวรรณ์ นายกฯอบจ.คนปัจจุบันที่ไม่ลงสมัครต่อ ก็จะไหลไปทางอื่น ไม่ใช่ไหลไปสุพิศ ถ้าถาวรลง คะแนนไพเจนจะไหลไปถาวร ถ้าถาวรไม่ลงสมัครคะแนนอาจจะไหลไปพรรคประชาชน (นิรันดร์ จินดานาค)

แม้ไพเจนจะได้ประกาศชัดผ่านแถลงการณ์ ยืนยันไม่ลงสมัครต่อ แต่แฟนคลับ ขาเชียร์ก็ยังหนาแน่น วันที่ 19 ธันวาคม จะหมดวาระ ก็จะอำลาตำแหน่ง ทราบว่า จะมี ส.อบจ.ปัจจุบัน และว่าที่ผู้สมัคร ส.อบจ.ที่ไม่ใช่สายสุพิศ นำมวลชนมาให้กำลังใจไพเจน 2-3000 คน พร้อมกับโน้มน้าวให้กลับใจลงสมัครอีกสมัย

‘ศักดา นพสิทธิ์’ อดีตตัวตึง!! ‘นักการเมืองฝีปากกล้า’ แห่งชลบุรี ถูกยิง!! หลังร้านข้าวต้ม โดยเด็กในร้าน คาดเหตุ!! ทะเลาะวิวาท

(10 ธ.ค. 67) เปรี้ยง…เสียงมัจจุราชคำรามขึ้นในย่ำรุ่ง ร่างของ ‘ศักดา นพสิทธิ์' ลงไปนอนกองอยู่กับพื้น ณ ลานจอดรถ ร้านข้าวต้มบางปะกง 3

คำว่าย่ำรุ่ง คือเวลา 05.30 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสม็ด รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ พบร่างของศักดานอนจมกองเลือดอยู่บริเวณหลังร้านข้าวต้ม ซึ่งเป็นลานจอดรถ ใกล้ๆกันพบปลอกกระสุน 9 มม.1ปลอก และกระสุนที่ยังไม่ได้ยิงอีกจำนวนหนึ่ง

ศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกเพื่อไทย-พ่อ ส.ส.พรรคประชาชน ชลบุรี ”วรรณิดา นพสิทธิ์“ ซึ่งศักดามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ลูกสาวประสบความสำเร็จ เพราะศักดาทำกิจกรรมทางการเมืองในชลบุรีมายาวนาน และหลังชนะการเลือกตั้งก็ยังลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่อเนื่อง ลงพบปะพี่น้องประชาชนดึกๆดื่นๆกว่าจะกลับบ้านพักผ่อน บางวันก็นอนชลบุรี บางวันนอนกรุงเทพ

นายศักดา นพสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ในวัยเกษียณ อายุ 61 ปี อดีตเคยเป็นเลขานุการ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกฝีปากกล้าของพรรคเพื่อไทยมาก่อน ถ้ากล่าวถึงศักดา นักศึกษากิจกรรมการเมืองช่วงปี 25-28 คงรู้จักศักดาดี

ศักดาเข้ามาเรียนรามคำแหงปี 2525 ก็เริ่มเข้ามาสัมผัสกับกลิ่นไปของกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคนักศึกษา 7 คณะ พรรคนักศึกษาระดับหัวก้าวหน้า ปี 2527 ศักดาลงสมัครเป็นสมาชิกสภานักศึกษา อศ.มร.และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ในสมัยที่ ‘วันเลิศ กิตติธรกุล’ เป็นนายกองค์การนักศึกษา มร.

ในรุ่นไล่ๆกับกับศักดา ก็จะมี ‘นิกร จันพรม’ เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เป็นต้น หรือรุ่นไล่ขึ้นมาข้างบนหน่อยก็จะเป็น ‘ละม้าย เสนขวัญแก้ว’ อดีตประธานสภานักศึกษา มร.ปี 26 หรือ ‘นัดมุดดิน อูมาร์’ อดีต สส.นราธิวาส และอีกหลายๆคนที่ไม่อาจเอ่ยชื่อได้หมด

‘ศักดา’ เรียนจบนิติศาสตร์ แต่ด้วยความที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น เมื่อเดินพ้นรั้วรามคำแหง ก็ไม่มีกำแพงใดกีดกั้น การเมืองคือวิถี ศักดากระโดนเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างไม่ลังเล แต่ในวิถีของการเลือกตั้งศักดายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก้าวขึ้นไปเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทย และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ พร้อมผลักดันให้ลูกสาวในวัยจบเผาะ ก้าวขึ้นเป็น สส.ชลบุรี พรรคประชาชน สมใจนึก

ช่วงระยะหลังศักดาผันตัวเองมาเป็นนักวิเคราะห์ทางการเมืองในทุกสถานการณ์แบบทันต่อเหตุการณ์ ทีวีหลายช่องก็เชิญมากขึ้น เริ่มติดชาร์ดนักวิเคราะห์การเมือง แต่การที่ศักดาโดนยิง เสี่ยวแรกของการฉุกคิด ต้องพุ่งปมไปสู่การเมือง แต่ข้อเท็จจริงน่าจะไม่ใช่ ลูกสาวที่เป็น สส.ก็บอกว่าไม่ใช่ปมการเมือง

ในทางการสอบสวน สืบสวนของตำรวจ พบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กในร้านข้าวต้ม เมาแล้วทะเลาะกับแฟนสาว ก่อนจะไปทะเลาะกับเด็กในร้านข้าวต้มคนอื่นๆ และลามมาถึงแขกในร้าน

จากพยานแวดล้อมไม่น่าจะยากในการติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษ เพราะอาชญากรได้ทิ้งพยาน หลักฐานไว้มากมายในการก่ออาชญากรรม

อบจ.นครศรีฯ ตัดงบ!! อุดหนุน โรงพยาบาล ไม่ผ่านสภา!! ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(18 ม.ค. 67) ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) มีการตัดงบอุดหนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจริง มีการตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลยุพราช อ.ฉวาง จริง

ไม่ใช่แค่นี้ยังตัดงบอุดหนุนโรงเรียนต่าง ๆ อีกสี่สิบกว่าโรง รวมทั้งหมด 154 โครงการ เป็นวงเงิน 47 ล้านบาท เพื่อนำเงินงบประมาณไปใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

ต้นสายปลายเหตุมาจากการที่ ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’ อดีตนายกฯอบจ.นครศรีฯ ลาออกก่อนหมดวาระ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้ง คือเลือกนายกฯอบจ.ก่อน แล้วมาเลือกตั้ง ส.อบจ.อีกครั้ง ในขณะที่ อบจ.นครศรีฯ ตั้งงบประมาณเพื่อจัดการเลือกตั้งไว้ 86 ล้านบาท ใช้เพื่อเลือกตั้งนายกฯอบจ.ไปแล้ว 74 ล้านบาท เหลืองบเพื่อใช้จัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.เพียง 10 กว่าล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เพียงพอ อบจ.นครศรีฯจึงต้องจัดหางบเพิ่มเติม เพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.ให้แล้วเสร็จตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ช่วงเวลาสั้นๆ ง่ายๆ คือการ ‘ตัดงบอุดหนุน’ อันเป็นภารกิจรองของท้องถิ่น

ผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง อบจ.นครศรีฯในเวลานั้น เมื่อนายกฯอบจ.ลาออก ปลัด อบจ.ต้องทำหน้าที่แทน จนกว่าจะได้นายกฯคนใหม่ อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ส.อบจ. เมื่อได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการแล้ว จึงตัดสินใจหางบประมาณจัดการเลือกตั้งด้วยการตัดงบประมาณอุดหนุนส่วนราชการต่างๆ และเลือกที่จะตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาล โรงเรียน จึงทำให้เกิดกระแสดราม่าขึ้น เมื่อ ‘น้ำ-วาริน ชิณวงค์’ นายกฯอบจ.นครศรีฯ เป็นคนลงนามในหนังสือแจ้งการตัดงบประมาณอุดหนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบด้วยตัวเอง ทำให้ตกเป็นเหยื่อ เป็นขี้ปากของฝ่ายตรงข้ามทันที

เราจะลองย้อนหลังไปดูเส้นทางการตัดงบอุดหนุนของ อบจ.นครศรีฯ กันว่า เกิดในช่วงไหนอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

การดำเนินการพิจารณาตัดงบอุดหนุนนี้ได้ดำเนินเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 โดยปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในขณะนั้น ในระหว่างรอนายกฯคนใหม่

ความจำเป็นในการตัดงบอุดหนุน เนื่องจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้ตั้งงบประมาณเป็นค่าจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. และส.อบจ. ไว้ 86 ล้านบาท 

ภายหลังจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. มีงบประมาณคงเหลือประมาณ 10 กว่าล้านบาท ได้จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งส.อบจ แล้ว ต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติม 47 ล้านบาทเศษ

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของ อปท. พ.ศ.2559 ข้อ 4(3) อปท.ต้องให้ความสำคัญกับโครงการอันเป็นภารกิจหลักตามแผนพัฒนาท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการเอง และสถานะทางการคลังก่อนที่จะพิจารณาให้เงินอุดหนุน

แต่ประเด็นคือ อบจ.นครศรีฯ ภายใต้การบริหารชั่วคราวของ ‘ดุษฎี จันทร์พุ่ม’ เลือกที่จะตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลยุพราช ฉวาง (คุณภาพชีวิต)รวมถึงงบอุดหนุนโรงเรียน (การศึกษา) เมื่อเลือกตัดงบโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จึงหลีกหนีไม่พ้นการตกเป็นขี้ปากของฝ่ายตรงข้าม เพราะอย่าลืมว่า ฝ่ายตรงข้ามเขาอยู่ร่อนพิบูลย์ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.ในเขตนั้นจึงฟูมฟายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ทันที

จริง ๆ อบจ.ยังมีทางเลือกในการตัดงบก้อนอื่น เช่น งบกลาง งบสร้างถนน งบสร้างสะพาน ที่ตอนหาเสียงก็กล่าวหาเขาว่า สร้าง ๆๆๆ สร้างถนนเยอะ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ประเด็นพิจารณา คือ การตัดงบอุดหนุนโดยฝ่ายบริหารนั้น ชอบหรือไม่ อย่าลืมว่า ข้อบัญญัติงบประมาณ ได้รับอนุมัติจากสภา อบจ.การจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในข้อบัญญัติ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา.อบจ.ก่อนหรือไม่ ฝ่ายบริหารเปลี่ยนแปลงเอง โดยสภาไม่รับรู้ด้วย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติงบประมาณโดยสภาไม่รับรู้ น่าจะเป็นปัญหาต่อไปของ อบจ.นครศรีฯ

‘กำนันศักดิ์-เจ้โส’ จะประมาท ‘หมอมุดสัง’ ไม่ได้ ศึกเลือกตั้งนายกฯ อบจ. สมรภูมิเมืองหอยใหญ่

(20 ม.ค. 68) ‘กำนันศักดิ์’ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี หลังจากทิ้งรวมไทยสร้างชาติก็พาลูกสาว ‘แจง’ อนงค์นาถ จ่าแก้ว อดีตผู้สมัคร สส. สุราษฎร์ธานี มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรม ที่มี ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค มี รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กำกับบทอยู่

กล่าวถึงกำนันศักดิ์ ชาวสุราษฎร์รู้จักกันดี เป็นคนใจถึงพึ่งพาได้ พูดได้ว่าเป็นคนกว้างขวางของจังหวัด มีธุรกิจหลายตัว เช่น ธุรกิจเลี้ยงหอยแครง เขาเติบโตมาจากสายงานท้องที แล้วผันตัวเองมาสู่ท้องถิ่น จนได้เป็นนายกฯ อบจ.สุราษฎร์ และพยายามผลักดันลูกสาวเข้าสู่การเมืองระดับชาติ แต่ยังไม่สำเร็จ

สาเหตุที่กำนันศักดิ์ ตัดสินใจซบพรรคกล้าธรรม เพราะได้รู้จักสนิทสนมกันดีกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา มาตั้งแต่สมัยเป็น รมช.เกษตรฯ ในยุครัฐบาลประยุทธ์

ช่วงปีใหม่ 2567 กำนันศักดิ์ได้เข้าอวยพรปีใหม่ ร.อ.ธรรมนัส ที่กระทรวงเกษตรฯ และอีก 3 เดือนถัดมา กำนันศักดิ์ได้ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังจากโสภา กาญจนะ อดีต สส.สุราษฎร์ธานี เปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเจ้โส ก็คือภรรยาของชุมพล กาญจนะ ที่ยึดหัวหาดพรรครวมไทยสร้างชาติไว้แล้ว กำนันศักดิ์จึงต้องถอยออกไปร่วมงานกับ ร.อ.ธรรมนัส

ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 ที่ประชุม ครม. ได้แต่งตั้งให้ อนงค์นาถ จ่าแก้ว เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)

ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 กำนันศักดิ์กับชุมพล อยู่พรรคเดียวกัน นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง คว่ำ สส.ประชาธิปัตย์ไปหลายคน แต่เมื่อถึงเวลาเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลก็เดินหันหลังให้กัน

‘ลูกหมี’ ชุมพล จุลใส อดีต สส. ชุมพร เป็นคนชักชวนกำนันศักดิ์มาร่วมทีมรวมไทยสร้างชาติ แต่ปัจจุบัน ลูกหมี และพรรค รทสช. ประกาศสนับสนุน โสภา กาญจนะ ผู้สมัครนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี

สมรภูมินายก อบจ.เมืองหอยใหญ่ ไม่ใช่แค่เจ้โสกับกำนันศักดิ์เท่านั้น ให้จับตา หมอมุดสัง นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ที่ลาออกจากราชการมาสมัคร นายกฯอบจ.จากพรรคประชาชน ซึ่งหมอมุดสังเป็นที่รู้จักกันในสังคมคนสุราษฎร์ เมื่อเปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.ก็มีกระแสตอบรับที่ดี กับภาวะที่คนเบื่อการเมืองบ้านใหญ่ การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ คนสุราษฎร์เคย “เปลี่ยน” ด้วยการเลือก ”มนตรี เพ็ชรขุ้ม“ จากนายกฯอบต.มาเป็นนายกฯอบจ.มาแล้ว หลังมนตรีได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในนามของขาวท้องถิ่น ชื่อเสียงเริ่มปรากฎ ได้แรงบวกจาก วรพจน์ เพ็ชรขุ้ม นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นชาวไทย เจ้าของเหรียญเงินในกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่ประเทศกรีซ ทำให้มนตรีได้กระแสบวกไปด้วย

1 หรือ 2 วัน ก็ทำให้การเมืองเปลี่ยนได้ ยิ่งมีกระแสต้านการซื้อสิทธิขายเสียงแรง กระแสเต็มรังเพลิง แต่ยิงไม่ออก มันก็ยุ่งอยู่เหมือนกันนะ

‘มะม่วงแช่อิ่ม’ จิ้ม!! ‘วาซาบิ’ จากร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ สิงหนคร ถูกคัดเลือกขึ้นโต๊ะ!! เสิร์ฟ ครม.สัญจร ‘สงขลา’ อร่อยละมุนลิ้น

(15 ก.พ. 68) พิเศษ…มะม่วงเบาแช่อิ่ม สูตรพิเศษคิดเอง ทำเอง จิ้มวาซาบิ จากร้านมะม่วงเบา คาเฟ่ สิงหนคร ได้รับการคัดเลือกให้นำไปเสิร์ฟเป็นอาหารว่างเลี้ยงคณะรัฐมนตรีช่วงสัญจรไปประชุมที่สงขลา ช่วงวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์นี้

“มะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิ เป็นสูตรพิเศษไม่เหมือนใคร ทางร้านคิดขึ้นมาเอง ไม่มีที่ร้านอื่น รสชาติก็จะละมุนลิ้นขึ้น อร่อยในแบบที่แตกต่างกันออกไป” พงศ์ศักดิ์ มากสุวรรณ เจ้าของร้านสาธยาย

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า เราจะคัดมะม่วงอย่างดี ไม่อ่อน ไม่แก่จนเกินไปทางมาหั่น ล้างก่อนจะแช่อิ่มตามสูตรของร้าน เราสามารถเลือกมะม่วงได้ เนื่องจากสิงหนครเป็นแหล่งปลูกมะม่วงเบาที่ใหญ่ที่สุด เป็นผลิตผลที่มีจีไอ“

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โชตินรินทร์ เกิดสม เป็นคนตัดสินใจให้เอามะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิจากทางร้านไปขึ้นโต๊ะเสิร์ฟ ครม. เพราะผมเคยนำไปฝากท่านผู้ว่าฯให้ได้ชิมมาแล้ว ท่านผู้ว่าฯให้นายเอกสิทธิ์ สองเมือง นายอำเภอสิงหนคร คัดเลือกของว่างไปเลี้ยง ครม.นายอำเภอก็เสนอมะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิจากทางร้าน ผู้ว่าฯเคยชิมมาแล้ว จึงตัดสินใจเลย

“ทางร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ เราจะคิดสูตรอาหารใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่น เส้นบีหุ้นผัดเคย ล่าสุดเราลองทำปลาช่อนทะเลนึ่งด้วยมะม่วงเบา ไม่ต้องใช้มะนาว รสชาติก็จะนุ่มละมุนกว่า ไม่จี๊ดจ๊าดเหมือนมะนาว อร่อยกว่า”

พงศ์ศักดิ์ บอกอีกว่า ทางร้านจะเน้นอาหารประเภทปลา ปลาสดๆจากทะเลที่ชาวประมงในย่านนั้นนำมาขาย มีปลาเนื้ออ่อน (ทำได้หลายเมนู) จะฉู่ฉี่ หรือทอดกรอบ แกงส้มก็อร่อย แกงส้มเราก็มีแกงส้มมะม่วงเบาให้เป็นทางเลือกของลูกค้า นอกจากนี้เรายังมีหอยจ๊อปู เนื้อปูแน่น ๆ อีกด้วย

“รับรองว่ามารับประทานอาหารที่ร้านมะม่วงเบาแล้วจะไม่ผิดหวังกับบรรยากาศแนวลูกทุ่ง เมนูอาหารให้เลือกมากมาย เรากำลังทดลองทำเค้กจากมะม่วงเบาด้วย แต่สูตรยังไม่ลงตัวจึงยังไม่นำเสนอลูกค้า มีแต่เค้กรสชาติอื่นที่เราก็ผลิตเองเช่นกัน อีกไม่นานก็จะมีเค้กมะม่วงเบาให้บริการ”

กล่าวสำหรับร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ ตั้งแต่เปิดให้บริการมาก็ได้รับการผลักดันจาก “วิชาญ ช่วยชูใจ” นักจัดรายการวิทยุ และจัดทัวร์ทางไท เป็นทัวร์ท่องเที่ยวเชิงชุมชน วิชาญก็จะนำลูกทัวร์มาแวะที่ร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ตลอด

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า ดีใจและภูมิใจที่ทางร้านได้รับการคัดเลือกให้นำมะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิ ไปขึ้นโต๊ะเลี้ยงผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ขอบคุณนายอำเภอสิงหนคร ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ

สับ!! ‘กกต.’ กลางวงเสวนา จัดเลือกตั้ง อบจ.68 ล้มเหลว ‘นิพนธ์’ กังวล!! ปัญหาซื้อเสียง ‘นายหัวไทร’ ชี้!! คนลงคะแนนน้อยกว่าปกติ เพราะ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งผิดพลาด

เมื่อวันที่ (20 ก.พ.68) ที่ห้อง SB 0301 อาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จัดเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ เลือกตั้ง: อบจ.68 สะท้อนอะไร? โดยวิทยากรร่วมเสวนาอาทิ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทย รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อดีตสส.นครศรีฯ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสสายการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคอลัมน์ ‘นายหัวไทร’ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 100 คน

เฉลียว คงตุก เปิดวงเสวนาด้วยข้อกังวลกับการเลือกตั้ง อบจ.หลายประเด็น เช่น บ้านใหญ่ส่งผู้สมัครไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน การเมืองใหญ่เข้าไปครอบงำการเมืองท้องถิ่น ทำให้ท้องขาดอิสระ การใช้เงินซื้อเสียงมโหฬาร แต่ กกต.ไม่รู้ไม่เห็น การจัดเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก กกต.อ่อนด้อยในการประชาสัมพันธ์ เหล่านี้คือเหตุผลทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย โหวดโต บัตรเสีย

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทยและอดีตสส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้การจะทำให้ประเทศเข้มแข็งจะต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มในยุคพลเอกเปรม ติณนสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี  หลังมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและในปี 2528 มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นครั้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถือเป็นการกระจายอำนาจแรก ในขณะตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ.นั้นเป็นตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด 

“ตอนนั้นผู้ว่าฯ สวมหมวกสองใบ คือเป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกอบจ. หมวกหนึ่งเป็นตัวแทนราชการส่วนกลาง อีกหมวกเป็นส่วนท้องถิ่น นายอำเภอก็เป็นนายกสุขาภิบาล ต่อมารัฐธรรมนูญปี40 เริ่มเห็นบทบาทการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง โดยเขียนไว้ว่าให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง เริ่มจากนายกอบจ.ที่เลือกมาจากสจ. นายกเทศบาลก็เหมือนกันเลือกมาจากสท. แล้วต่อมาก็มาเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เริ่มเลือกตั้งครั้งแรกปี44 จนถึงวันนี้ ทำให้เลือกตั้งท้องถิ่นเข้มข้นมากขึ้น”

นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า แต่ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคการเมืองไม่ค่อยเข้าไปยุ่งมาก เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีผู้สมัครนายกอบจ.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นในนามพรรคการเมืองก็จะมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยในการช่วยคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมลงสมัคร หรือหากบริหารงานเกิดความผิดพลาดพรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากสมัครนามอิสระไม่มีใครกรองให้ประชาชน เมื่อเกิดการบริหารราชการความผิดพลาดเสียหายขึ้นมา ตัวเองผ่านพ้นไปใครจะรับผิดชอบ  

“เมื่อผมมาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในปีกกระจายอำนาจ มีกระแสไม่เห็นด้วยเหมือนกันในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น แต่สรุปเราเห็นแนวทางนี้แล้วว่าการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็น ผมเชื่อตรรกะนี้ว่าถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง”อดีตรมช.มหาดไทยกล่าวย้ำ 

ขณะที่ รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์และอดีตสส.นครศรีฯ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบันการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะมีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในทุกระดับทั้งนายกอบจ. นายกเทศบาล นายกอบต. หากแต่การบริหารราชการแผ่นดินในท้องถิ่นท้องที่ยังไม่มีความอิสระยังเป็นการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ โดยนายกอบจ.ไม่มีโอกาสจัดทำโครงการฯทำโปรเจกต์ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ที่สำคัญท้องถิ่นก็ไม่ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล แต่ขับเคลื่อนด้วยกระทรวงมหาดไทย ทำให้การบริหารงานท้องถิ่นผิดฝาผิดฝั่งไป

“วันนี้ท้องถิ่นไม่ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลแต่ขับเคลื่อนด้วยมหาดไทย พอเกิดปัญหาท้องถิ่นทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถจัดการปัญหาสาธารณะได้ มังคุดราคาตก ชาวบ้านเคยพาไปเททิ้งหน้าอบจ. อบต.ไม๊ ก็ไปเททิ้งหน้าศาลากลาง มันสะท้อนถึงรัฐบาลรวมศูนย์ ท้องถิ่นยังทำอะไรไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ตอบคำถามที่ว่าทำไมคนจึงไปเลือกตั้งอบจ.คราวนี้น้อยกว่าปกติ เพราะเลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้มาก”รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน  

ด้าน นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าในการเลือกตั้งอบจ.68 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริบทบางครั้งนโยบายของพรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในระดับพื้นที่เหมือนกัน อย่างบางพรรคการเมืองไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ก็จะไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครในนามพรรค หรืออาจมีทัศนคติก็ได้ที่ว่าในเรื่องของท้องถิ่นพรรคการเมืองไม่ควรเข้าไปสนับสนุน ควรอยู่ในระดับชาตินโยบายของประเทศเท่านั้น เพราะคำว่าท้องถิ่นหมายความว่าให้คนในพื้นที่ ให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการเลือกผู้นำของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้บริหาร นั่นคือนิยามสมบูรณ์ดีที่สุดในแง่การปกครองการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นนำเอานโยบายบางส่วนบางตอนของพรรคการเมืองใดไปใช้เป็น ก็แล้วแต่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในสภาพพื้นที่และบริบทของสังคม 

“กกตไม่ใช่มีแค่หน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จเท่านั้น แต่หลักการจะต้องสะท้อนการลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งด้วย เราจะได้รู้ว่าใครเป็นคนดีที่สุดเหมาะบริหารในท้องที่ในท้องถิ่นระดับชาติมากที่สุด ไม่เช่นนั้น คนที่มีการศึกษาดี มีคุณธรรม ไม่เคยมีประวัติทุจริตคดโกงก็ไม่ได้เป็นตัวแทน บางทีคนที่เลวร้ายที่สุดก็ยังได้รับการเลือก เพราะมีหลายบริบทที่รวมอยู่ในคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว

ส่วนนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสเชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคอลัมน์ ‘นายหัวไทร’ กล่าวว่า การเลือกตั้งอบจ.คราวนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง สิ่งที่ยังอยากพูดถึงในวันนี้ก็คือการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งปกติจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทุกองค์กร ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน ยกเว้นเกษตรกรที่ไม่มีวันหยุด แต่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นวันเสาร์ ซึ่งบริษัท ห้างร้าน โรงงาน หรือบริษัทเอกชนยังเปิดทำงานกันตามปกติ ทำให้การเลือกตั้งอบจ.ในหลายจังหวัดครั้งนี้มีการลงคะแนนเลือกตั้งน้อยเป็นประวัติการณ์ 

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เลือกตั้งวันเสาร์ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของประชาชนคนส่วนใหญ่จะสะดวกเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่วันทำงาน ผมเองให้ทีมงานไปถามเลขากกต.ทำไมจัดการเลือกตั้งวันเสาร์แล้วที่ประชุมสภาเองก็ได้มีการเชิญกกต.ไปชี้แจง ซึ่งเลขากกต.ชี้แจงว่าการที่จัดการเลือกตั้งวันเสาร์ เพราะถ้าขยับไปอีกวันเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.เกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่แล้วเสร็จตามกฎหมายที่กำหนดจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45วัน  อันที่จริงกกต.น่าจะร่นลงมาสักอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ทางกกต.เกรงว่าผู้สมัครจะมีเวลาหาเสียงน้อย พบปะประชาชนไม่ทั่วถึง ผมไม่เชื่อในตรรกะนี้”เจ้าของคอลัมน์”นายหัวไทรกล่าวทิ้งท้าย

สรุปภาพรวมวงเสวนามีน่าสนใจ พอจะประมวลจากการสะท้อนของวิทยากร ที่ทำให้มีบัตรเสียจำนวนมาก บัตรโหวตโนเยอะ คนใช้สิทธิ์น้อย เกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ

ประการแรก ข่าวหน้าหูเรื่องการใช้เงินมโหฬารในการจ่ายกับการเลือกตั้ง (ซื้อเสียง) อันจะนำไปสู่การถอนทุนในอนาคต (ทุจริต) ทำให้คนเบื่อการเมือง ชัดขึ้นกับคำว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” วิทยากรส่วนใหญ่แนะนำว่า ถ้าเขาเอาเงินมาให้ก็รับไว้ แต่การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เดินเข้าสู่คูหาไม่มีใครรู้ว่าเราเลือกใคร เหตุฆาตกรรมจากการเบี้ยวกันทางการเมือง เริ่มหายไปราว 1 ทศวรรษแล้ว

ประการต่อมา การที่นักการเมืองบ้านใหญ่เข้าไปจัดการ บงการส่งผู้สมัคร ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ จึงเลือกที่จะโหวตโน เพราะผู้สมัครยังไม่โดนใจพอ

ประการต่อมา คือที่พรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ ผิดหลักการกระจายอำนาจ แม้วิทยากรบางคนจะเห็นแย้งว่า เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยกับผลของการกระทำ

ประการที่สี่ ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการจัดเลือกตั้งว่าจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม เพราะเห็นมามากแล้ว ประชาชนรู้กันทุกหย่อมหญ้าว่ามีการซื้อเสียง แต่ กกต.หน่วยงานจัดการเลือกตั้งกลับไม่รู้ไม่เห็น ทำให้ประชาชนหมดหวังกับองค์อิสระอย่าง กกต. จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยจับทุจริตการเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง รอให้คนนำหลักฐานไปร้องเรียนถึงจะดำเนินการสอบสวน ไม่มีการสืบด้วยตัวเอง กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ทำงานไม่ได้ผล

ประการที่ห้า การจัดการเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่เป็นวันทำงาน ผู้มีสิทธิ์บางคนไม่สามารถละจากงานเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ทำให้ยอดผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.อ้างว่า ถ้าจัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ จะหมิ่นเหม่ถ้ามีเหตุฉุกเฉินจะจัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จในกรอบ 45 วัน จริง ๆ กกต.ร่นมาอีกอาทิตย์หนึ่งก็ยังได้ แต่ กกต.กลับกลัวว่า จะมีเวลาให้หาเสียงน้อย ซึ่งเป็นตรรกะที่จะรับฟังได้

ประการที่หก การไม่จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า สำหรับผู้ที่มีภารกิจ ไม่สามารถมาลงคะแนนเสียงได้ในวันเสาร์ทำให้เขาต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการ จะถูกปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง จะลงสมัครอะไรก็ไม่ได้ไประยะหนึ่ง

นี้คือประเด็นหลัก ๆ ที่มีการพูดคุยกันในวงเสวนา ‘เลือกตั้ง อบจ.68 สะท้อนอะไร’ ก็สะท้อนให้เห็นปัญหามากมายที่จะต้องปรับแก้กันต่อไปในอนาคต

‘เถ้าแก่หลี’ ประเดิมช่วยครอบครัว 4 ผู้พิการสิงหนคร มอบ!! แพมเพิร์ม เงินสด มูลค่า 40,000 บาท

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 มีนาคม 2568 น.ส.ชัชฎาภรณ์ ยิ้มแก้วชึ่งเป็นภรรยานายเฉลิมชัย ครุอำโพธิ์ (เถ้าแก่หลี) เศรษฐีผู้ใจบุญแห่ง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้เป็นตัวแทนของเถ้าแก่หลีนำสิ่งของ(แพมเพิร์ส)จำนวน 100โหลคิดเป็นเงิน 32,000 บาทพร้อมด้วยเงินสดอีก10,000บาทมามอบให้กับครอบครัวผู้เปราะบาง(พิการทั้งครอบครัว 4 คน ชึ่งครอบครัวดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ 1. นางปวีณา พรหมสถิตย์ อายุ 63 ปี 2. นายชัยยันต์ พรหมสถิตย์ อายุ 61 ปี 3. นายดำรงค์เดช พรหมสถิตย์ อายุ 36 ปี 4. นายนัทพงค์ พรหมสถิตย์ อายุ 29 ปี ซึ่งดำรงชีวิตด้วยเงินสวัสดิการจากภาครัฐ อาทิ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ 800 บาท และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 300 บาท อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน และมีรายได้เสริมจากการรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ

โดยนส.ชัชฎาภรณ์ได้พูดถึงการลงมาในครั้งว่าได้ทราบข่าวจากคุณพงค์ศักดิ์ มากสุวรรณ ชึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารมะม่วงเบาคาเฟ่ ในอำเภอสิงหนคร ช่วยเป็นสะพานบุญในการบริจาคในครั้งนี้ด้วยการแจ้งข่าวพบผู้เปราะบางอยู่ในบ้านเดียวกันถึง 4 คน เมื่อเถ้าแก่หลีทราบเรื่องจึงยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน แต่หากเดือดร้อนอะไรอย่างไรก็ขอให้แจ้งมายินดี และพร้อมให้ความช่วยเหลือ และอยากฝากถึงผู้ที่มีจิตศรัษธาที่มีกำลังทรัพย์อยากจะบริจาคถ้าเป็นสิ่งของก็สามารถบริจาคฝากไว้ที่ร้านอาหารมะม่วงเบาที่สิงหนครก็ได้หรือถ้าเป็นเงินก็สามารถบริจาคผ่านบัญชี9270437183กรุงไทย นายดำรงค์เดช พรหมสถิตย์ได้เลย นส.ชัชฎาภรณ์กล่าว

นับเป็นการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้เปราะบางโดยภาคเอกชน แต่สำหรับภาคราชการ นายอำเภอ ได้นำเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองสิงหนคร เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจแล้ว หลังทราบข่าว แต่ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ช่วยอะไรได้หรือไม่ เช่นเดียวกัน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจแล้ว พร้อมควักเงินส่วนตัว 3000 บาทช่วยเหลือไปก่อน แต่มาตรการภาครัฐ ยังไม่เห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร

ต้องขอขอบคุณพงค์ศักดิ์ มากสุวรรณ เจ้าของร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ สิงหนคร ที่พบเห็นแล้วไม่มองผ่าน แจ้งประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาใส่ใจดูแล ง่ายๆ คือไม่นิ่งดูดาย ขอบคุณเถ้าแก่หลีผู้มากบุญ มากด้วยน้ำใจยื่นมือเข้ามาช่วยคนบ้านเดียวกัน

เปิด 4 ตัวเลือกพรรคภูมิใจไทย สนามเลือกตั้งเขต 8 นครศรีฯ ศึกนี้!! ไม่มีใครหลีกใคร ‘สจ.กระวี-สุนทร’ ตัวเต็ง ตัวตึง

(16 มี.ค. 68) ถ้าผลการตัดสินของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ออกมาในทางลบ คดีใบแดงของ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” สส.เขต 8 นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย สนามเลือกตั้งนี้จะเป็นสนามเลือกตั้งที่สู้กันดุเดือด ไม่มีใครยอมใครในพรรคร่วมรัฐบาล

คำว่า “ให้เกียรติ์“ เจ้าของพื้นที่เดิม (เขต 8 ประกอบด้วย อ.ฉวาง นาบอน ช้างกลาง และพิปูน)
คงจะไม่ได้ยินแน่นอน เพราะจะเป็นสนามวัดดวง ชี้อนาคตทางการเมืองในภาคใต้ในอนาคต และทุกพรรคจะระดมระดับแกนนำของพรรคลงลุยเต็มอัตราศึกแน่นอน

พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ยืนยันจากปากของ ”ชินวรณ์ บุณยะเกียรติ์“เองว่า จะย้ายกลับมาลงสมัครเขต 8 ทวงคืนแชมป์ด้วยตัวเอง ซึ่งตรงกับ ”แทน-ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ก็ยืนยันว่า ส่งพี่ชินลง

พรรคกล้าธรรม “บิ๊กโอ” สจ.ก้องเกียรติ์ เกตุสมบัติ ฐานะหนึ่งคือลูกเจยของชินวรณ์ ที่ช่วงหลังใกล้ชิดกับ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม และ รอ.ธรรมนัส ก็สนับสนุนบิ๊กโอเต็มที่ด้วยบุคคลิก และอะไรที่เข้ากันได้ดี เมื่อจังหวะ และโอกาสมาถึงบิ๊กโอ จึงขอลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคกล้าธรรม

บิ๊กโอ ตั้งใจจะลงสมัคร สส.ตั้งแต่คราวที่แล้ว ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่การจัดสรรคนไม่ลงตัว เมื่อบุณยเกียรติ์ ลงสมัครถึงสองเขต ทำให้บิ๊กโอพลาดโอกาสนั้นไป ทั้งๆที่ลาออกจาก ส.อบจ.มานั่งรออยู่แล้ว 

สนามเลือกตั้งเขต 8 จะเป็นสนามแรกของพรรคกล้าธรรมในการกรุยศึกเลือกตั้ง เพราะเป็นพรรคใหม่ที่มี สส.จากพรรคพลังประชารัฐย้ายมาสังกัดถึง 23 คน และมี สส.เดิมที่ย้ายมาเช่นกันอีก 1 คน

สนามเลือกตั้งเขต 8 จึงเป็นสนามพิสูจน์ฝีมือ เพื่อเดินหน้าลุยสำหรับการเลือกตั้งปี 70 และสนามเลือกตั้งภาคใต้น่าจะเป็นสนามหลักที่พรรคกล้าธรรม จะเข้ามาหวังเสียบแทนพรรคเก่าที่ค่อยๆอ่อนแอลง โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ 12 ที่นั่ง น่าสนใจยิ่งเมื่อ “วันนอร์-วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” ประกาศวางมือทางการเมืองกับวัยที่เริ่มโรยรา

พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังพอมีพลังในการสู้สึกกับผลงานของสองขุนพล “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน และ “ขิง-เอกนัฐ พร้อมพันธ์” รมว.อุตสาหะกรรม ที่จับมือกันสร้างผลงาน สู้กับทุนพลังงาน รื้อโครงสร้างพลังงานใหม่ ถ้าผลงานผ่าน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน ภาคขนส่งลงไปได้มาก สามารถแปรมาเป็นคะแนนเสียงได้

เมื่อสนามเขต 8 ว่างลง ก็ต้องไม่พลาด เล็งไปที่ ดร.คมเดช มัชฌิมวงค์ ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 7 ทุ่งใหญ่ ในนามพรรคพลังประชารัฐ สนใจว่าย้ายมาลงเขตนี้ เนื่องจากเป็นคนพิปูน เคยเป็นนายกฯอบต.อยู่ที่พิปูน และสนใจพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ช่วงหลังเห็นภาพทางโซเขี่ยล ลงพื้นที่ถี่ยิบ

พรรคประชาชน กรรมการบริหารพรรคประชาชน มีมติให้ณัฐกิตต์ อยู่ด้วง ลงสมัครรับเขตเลือกตั้งที่ 8 จ.นครศรีธรรมราช ในนามของพรรคประชาชนไปแล้ว แต่โอกาสของพรรคประชาชนสำหรับพื้นที่ภาคใต้ น่าจะยังยากอยู่ เว้นแต่จะมีผู้สมัครที่โดดเด่นจริงๆ คนยังติดภาพกับการแก้ ม.112 อันเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์

น่าสนใจคือพรรคภูมิใจไทย เจ้าของพื้นที่เดิมจะหยิบใครมาลงสมัคร ที่ใช้คำว่าหยิบ เพราะมีตัวเลือกให้พิจารณาไม่น้อยกว่า 4 คน คนแรกคือ “ไสว เลื่องสีนิล” สามีของ สส.มุกนั้นเอง ที่ผ่านมาก็ทำงานพื้นที่ให้ สส.มุกอยู่ อยู่ที่พรรคว่าจะยังเลือกสกุล “เลื่องสีนิล”ให้ลงสมัครอีกหรือไม่กับตัวเลือกใหม่ ตัวเลือกใหม่ เช่น สุนทร รักษ์รงค์ ที่คราวที่แล้วได้มาอันดับ 2 พ่ายให้กับ สส.มุก เพียงไม่กี่คะแนน ซึ่งสุนทร น่าจะมีคะแนนเป็นกอบเป็นกำในแวดวงชาวสวนยาง ที่สุนทรทำงานคลุกคลีกับชาวสวนยางมานาน

อีกตัวเลือกหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย และถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าให้การสนับสนุน สจ.กระวี หวานแก้ว ที่เคยลงสมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย เขต 5. นครศรีธรรมราช 

มี อ.พิปูน อ.ฉวาง อ.ถ้ำพรรณรา อ.ทุ่งใหญ่ (ปี 2562) แต่ครั้งนั้น สจ.กระวี ยังสอบไม่ผ่าน เพราะยังใหม่กับการเมืองอยู่มาก

สจ.กระวี ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการประจำตัว สว.ณัฐกิตติ์ หนูรอด สว.นครศรีฯถือเป็นรุ่นใหม่ของพรรคภูมิใจไทย เป็นเด็กนักเรียนนอก 

จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ นิวเซาท์เวลส์(UNSW) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เกิดที่ ต.กะเปียด อ.ฉวาง ผลงานวิจัยเชิงวิชาการมากมาย จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต อิเล็กทรอนิคส์ ศรีปทุม ปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิตรามคำแหง รุ่น 22 เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครศรีธรรมราช เขต อ.ฉวาง นาน 7 ปี 

ผลงานที่ประจักษ์ และเป็นรูปธรรมมากมาย

ที่มุ่งมั่นมากคือการพัฒนาเขาศูนย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของ อยู่.ฉวาง

อีกตัวเลือกหนึ่งที่เสนอตัวจะขอลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทยเช่นกันคือ นาวาเอกสมเกียรติ์ ทรงสวัสดิ์ ผู้บังคับการหมวดเรือ ศรชล.ภาค 2 นักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 30 นักเรียนนายเรือ รุ่น 87 จบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ รุ่น 30 จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆมากมาย แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทหาร ส่วนประสบการณ์ และงานการเมืองยังถือว่าน้อย แม้จะเคยทำงานอยู่ในพื้นที่นครศรีฯก็ตาม

ถ้าพิจารณาจากโปรไฟล์ของ 4 คนของพรรคภูมิใจไทยแล้ว “สจ.กระวี -สุนทร” น่าสนใจมากที่สุด โดยพิจารณาคู่แข่งร่วมด้วย อีกสิบวันก็จะรู้แล้วว่า อนาคตของ สส.มุกดาวรรณ จะบวกหรือลบ แต่ขออนุญาตรีวิวให้เห็นภาพของการแข่งขันให้เห็นคร่าวๆ ขอจริงรอสนามเปิดครับ

‘สุนทร-กระวี’ ใครเหนือชั้นกว่ากัน!! ลงชิงชัย!! สส.เขต 8 นครศรีธรรมราช

(23 มี.ค. 68) ถ้าผลของคดีเป็นไปในทางบวกในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ก็ขอแสดงความยินดีกับ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” สส.เขต 8 นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กล่าวหามุกดาวรรณทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2566

แต่ถ้าผลทางคดีออกมาเป็นลบก็ขอแสดงความเสียใจต่อมุกดาวรรณ ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ที่อาจจะยาวนานถึง 10 ปี และต้องจ่ายค่าจัดการเลือกตั้งใหม่อีกหลายล้าน พร้อมกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กกต.ก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง

กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทยยังถือว่าเป็นพรรคทางเลือกของคนใต้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่ว่า พรรคภูมิใจไทยส่งส่งใครลงรักษาฐานตรงนี้ไว้ ถ้าเล็งไปในสายของ “เลื่องสีนิล” ก็จะมีไสว เลื่องสีนิล เป็นตัวเลือกส่งเข้าประกวด แต่บทบาททางการเมืองในฐานะเป็นครู ยังถือว่าไม่โดดเด่นมากนัก แต่มุกดาวรรณก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอคนของตัวเองเข้าแข่งขัน

แข่งขันกับใคร…ในสายตาผมมีอยู่ 2 คน คนแรก คือ กระวี หวานแก้ว อดีต สจ.ฉวาง คนย่านกะเบียด ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สว.ณัฐกิตติ์ หนูรอด เป็นคนทำข้อมูล ชงข้อมูลให้กับ สว.ณัฐกิตติ์ เพื่อนำไปหารือในสภา หรือประสานส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

กล่าวถึง สจ.กระวี ทำหน้าที่อยู่ในสภาฯอบจ.นครศรีฯร่วม 7 ปี ช่วงเป็น สจ.ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่ไม่น้อย

เท่าที่ประมวลได้ และนำมาเสนอ เช่น

1.เรื่องการพัฒนาเขาศูนย์ให้เป็นเหล่งท่องเที่ยว "จุดชมวิวทะเลหมอก "ของ จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ถ้าย้อนไปในอดีตเขาศูนย์เป็นแดนสนธยา กับการเปิดศึกแย่งชิงกันจองพื้นที่ขุดหาแร่แบบไม่มีสัมปทาน เป็นฐานที่ตั้งของคนอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐ ประชาชนเปิดฉากสู้รบกันเอง เพื่อแย่งพื้นที่ขุดหาแร่ จนรัฐบาลต้องประกาศปิดเขาศูนย์ เขาศูนย์อากาศดี ไม่แตกต่างจากคีรีวง จึงได้รับรู้การพัฒนาและยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ทุกวันนี้มีจุดให้ชมทะเลหมอก มีรีสอร์ตเกิดขึ้นมากมาย

2.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ (น้ำแล้ง และน้ำท่วม)จากอ่างเก็บน้ำคลองกะทูน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะกินพื้นที่ ฝั่งตะวันตก-ฝั่งเหนือของนครศรีธรรมราชทั้งหมด (พิปูน ฉวาง ช้างกลาง นาบอน ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่ ไปต่อเขต จ.สุราษฏร์ธานี  

3.เป็นผู้เสนอและติดตามการของบประมาณโครงการขยายถนนสาย 4015 นครศรีธรรมราช- สุราษฎร์ธานี สายใน( นครศรีฯ- บ้านส้อง)เพราะเป็นถนนสายสำคัญ ที่ผ่านมาทางลานสกา แหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย คือ บ้านคีรีวง ไปยังช้างกลาง (เขาธง เขาเหมน วิวาห์ในม่านหมอก) ฉวาง พิปูน ต่อเขต อ.เวียงสระ ถนนเส้นนี้ สำคัญสำหรับการท่องเที่ยว และการขนส่งพืชผลทางการเกษตรเช่นผลผลิตทุเรียน ไม้ยางพารา ซึ่ง อ.พิปูนถือว่าผลิตผลไม้ทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อยประดับประเทศและมีปริมาณมากที่สุดใน จ.นครศรีธรรมราชหรือภาคใต้ เชื่อมต่อไปยัง แหล่งท่องเที่ยวอื่นใน อ.พิปูน ต้นน้ำตาปี แหล่งน้ำจืดที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย ไปวัดพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จันดี และไปยังจุดชมวิวทะเลหมอก เขาศูนย์ ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง บนยอดเขาศูนย์ กำลังก่อสร้าง รูปหล่อ พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถนน 4015 ยังเชื่อมต่อไปยัง อ.เวียงสระ สุราษฎร์ธานี อีกด้วย

4.โครงการเชื่อมต่อถนนสาย 4189 อ.พิปูน- อ.นบพิตำ ข้ามเทือกเขาหลวง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป๋นถนนสายพระราชดำริ ที่มีการใช้งานสัญจรไปมาอยู่ก่อนแล้วจนถึงปี 2531 ได้เกิดภูเขาถล่ม ทะเลโคลนและไม้ซุงมาปิดกั้นเส้นทาง ในพื้นที่ อ.พิปูน ถนนก็ไม่ได้มีการใช้งานตั้งแต่บัดนั้นะเป็นต้นมา ซึ่งตอนนี้มีการรื้อฟื้นถนนเส้นนี้ เพื่อให้กลับมาสัญจรไปมาอีก แค่ต้องมีขั้นตอนของอุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่เขาเป็นเจ้าของพื้นที่

เหล่านี้คือผลงานอันเป็นฝีมือของ สจ.กระวี ที่ควรได้รับการพิจารณา และให้โอกาสคนพื้นที่ได้ทำงาน

คนที่สองคือสุนทร รักษ์รงค์ อดีตนักศึกษากิจการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยทำหน้าที่ผู้จัดการวงมาลีฮวนน่า วงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดัง จากนักศึกษากิจกรรมก็เดินเข้าสู่นักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง จับงานด้านการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา และชาวสวนปาล์ม กับการผลักดัน “สวนยางยั่งยืน” ปลูกพืชชนิดอื่นเสริมในร่องยาง สร้างรายได้ใหม่

จากนักกิจกรรมนักศึกษาในรั้วมหาลัยสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นสิทธิของเกษตรกร ทั้งเรื่องยาง ปาล์ม ที่ดินทำกิน หนี้สิน และอื่นๆ

ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.เขต 8 นครศรีฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมา 18000 กว่าคะแนน แต่พ่ายแพ้ให้กับมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล วันเวลาเปลี่ยนไป สุนทรเข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทย

เมื่อมาเป็นนักการเมือง ต้องกล้านำเสนอนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหา โดยวิธีการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงานฯ เข้าใจว่าน่าจะมีภารกิจในการร่วมกันยกร่างนโยบายด้านการเกษตร เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น นโยบายยางพารา นโยบายปาล์ม เป็นต้น

“หมดยุคการกำหนดนโยบายจากบนลงมาข้างล่าง โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะผู้มีส่วนได้เสียต้องออกแบบและกำหนดอนาคตของตนเอง 

ต้องสร้างอำนาจกำหนดใหม่ให้ประชาชนก่อน จึงสามารถใช้วาทกรรม “การทำงานการเมืองที่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน”

เส้นทางการต่อสู้ของสุนทรลูกชาวบ้าน จากแกนนำประท้วงราคายางข้างถนน สู่อดีดบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกตั้งจากชาวสวนยางทั่วโลกเป็นอดีตบอร์ดยางระดับสากล(GPSNR) 2 สมัย 

มีโอกาสได้ประชุมในเวทีระดับสากล ที่ประเทศสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ อีกทั้งยังได้รับโอกาสให้เป็นประธานร่วม(CO-Chairman) ของ GPSNR ในปี 2567

สุนทรจึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง สิ่งที่ภาคภูมิใจคือการเอาพี่น้องชาวสวนยางชายขอบ หรือชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนกรีดยาง เข้าสู่ระบบ นั่นคือสามารถขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยได้ เป็น “เกษตรกร”ได้

ในเวทีระดับสากล เมื่อมีข้อกำหนดของ EU ที่เรียกว่า EUDR ไม่รับซื้อยางจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ก็ต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายว่า หลังมติ ครม.26 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยไม่มีสวนยางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ยังวัดแปลงไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของชาวสวนยาง รัฐให้สิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว

ถ้าผลทางคดีออกมาในทางลบสำหรับมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล “สุนทร-กระวี” จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมของพรรคภูมิใจไทย ถ้าตัดกันด้วยดีเบตสู้สุนทรไม่ได้ แต่กระวีเหนือกว่าในแง่ของคนในพื้นที่

‘ภูมิใจไทย’ ลั่นกลองรบสนามเลือกตั้ง ‘พัทลุง’ เตรียมส่ง ‘บ่าววี’ แสดงเปิดตัว 3 ผู้สมัคร 26 มี.ค. นี้

(24 มี.ค. 68) ยังไม่ทันไก่โห่ แต่พรรคภูมิใจไทยพัทลุงเริ่มเชิดกลองรัวๆแล้ว ในวันที่ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” สส.เขต 8 พรรคภูมิใจไทย นครศรีธรรมราช ต้องเครียดกับการนั่งลุ้นผลคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวหา พร้อมส่งหลักฐานว่า มุกดาวรรณ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในเวลา 10.00 น.ของวันที่ 26 มีนาคม

แต่ที่พัทลุงในวันเดียวกันกำลังสนุกสนานกับ “วงบ่าววี” และอีก 2-3 วง ถูกว่างจ้างไปเล่นสร้างความสุขสนุกสนานในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส.ทั้ง 3 เขตของพัทลุง ซึ่ง 1 คน เป็นคนเก่า อีกสองคนจัดหามาใหม่เพื่อเสริมทัพสู้ศึกกับประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ เพราะการเลือกตั้งปี 2566 พรรคภูมิใจไทยเสียหน้าไม่น้อยกับผลการเลือกตั้งที่แพ้ในบ้านทั้ง 3 คน ในบ้านของ ดร.นาที รัฐกิจประการ ที่มีพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานฯ เป็นสามี

พัทลุงภูมิใจไทยแพ้แบบไม่น่าเชื่อ ในขณะที่นครศรีฯแจ้งเกิดได้ถึง 2 ที่นั่ง คือ ษฐา ขาวขำ เขต 7 และมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล เขต 8 แถมสุราษฎร์มาอีก 1 ที่นั่ง ถือว่าเจาะฐานเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ได้สำเร็จ

ประเด็นปัญหาของพรรคภูมิใจไทยพัทลุง คือ สส.3 คน โดนคดีให้คนอื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทน ทั้ง ดร.นาที รัชกิจประการ ภูมิศิษฐ์ คงมี และฉลอง เทอดวีระพงศ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกทั้ง 3 คน คนละ 9 เดือน และตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต เมื่อถูกจองจำครบกำหนด ทั้งสามเข้าเงื่อนไขพักโทษ ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา (ปี 67)

สำหรับ 3 ว่าที่ผู้สมัคร สส.พัทลุงของพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย เขต 1 นาวาเอกดอกเตอร์อธิคุณ คงมี (นามสกุลคุ้น) หรือผู้กองจุน เขต 2 วรท เทอดวีระพงศ์ (นามสกุลคุ้น) ลูกชายของฉลอง เทิดวีระพงศ์ คราวที่แล้วก็ลงสมัครแต่พ่ายแพ้ และเขต 3 เขมพล อุ้ยตยะกุล หน้าใหม่

กล่าวสำหรับ สส.ปัจจุบันของพัทลุง 3 คน ประกอบด้วย เขต 1 สุพัชรี ธรรมเพชร พรรคประชาธิปัตย์ จากบ้านใหญ่ เขต 2 นิติศักดิ์ ธรรมเพชร รวมไทยสร้างชาติ บ้านใหญ่อีกสาย และร่มธรรม ขำนุรักษ์ ทายาททางการเมืองของ “นริศ ขำนุรักษ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยสรุปคือ 3 สส.พัทลุง เป็นประชาธิปัตย์ 2 คน รวมไทยสร้างชาติ 1 คน พรรคภูมิใจไทยโดยฤทธิ์เสียบบัตรแทนกันกอดคอกันสอบตกหมด ที่หัวเรือใหญ่ก็โดยแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จด้วย

การเปิดตัวตั้งแต่ไก่โห่ของภูมิใจไทย ทั้ง ๆ ที่ยังมีเวลาอีก 2 ปี (ถ้าไม่ยุบสภา) สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อม เตรียมการ และสู้เต็มที่ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้าในสถานการณ์ที่พรรคกำลังถูกรุมเร้ารอบด้าน ทั้งเขากระโดง สนามกอล์ฟเขาใหญ่ แล้วยังมาถูกขย่มว่าด้วยเรื่องข่าวดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ “ล็อคโหวต สว.” ซึ่งรายชื่อผู้สมัครถูกล็อคไว้ถึง 140 คน เข้าเป้า 138 คน สำรอง 2 คน พรรคภูมิใจไทยจะเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ แต่ สว.ที่เคยใส่เสื้อสีน้ำเงินเข้าประชุมวุฒิสภา ต่างก็พากันว้าวุ่น กระวนกระวายใจกับความคืบหน้าของคดีทั้งในส่วนที่ กกต.ทำเอง ที่เบื้องต้นพบมีมูลแล้วถึง 28 คน ในส่วนของดีเอสไอก็รุกเร้าเข้ามาเก็บข้อมูลผู้ช่วย สว./ผู้เชี่ยวชาญ สว.ด้วย ยิ่งต้องกลัดกลุ้ม ไม่เห็นอาหารแข็งกร้าวเหมือนช่วงแรก ๆ

ต้องติดตามจับตามองก็รุกสนามภาคใต้ของภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้ากับเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น ในสถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์อ่อนกำลัง แต่พรรคกล้าธรรม เปิดฉากประเดิมสนามในภาคใต้เช่นกัน พรรคกล้าธรรมมี สส.อยู่ 24 คน ทั้งหมดย้ายมาจากพรรคอื่น ยังไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้งเองมาก่อนเลย เมื่อสนามภาคใต้เปิด ศึกนี้จึงใหญ่หลวงนัก

แต่สำหรับภูมิใจไทยแล้ว 26 มีนาคมนี้ ลุ้นอนาคตของ “มุกดาวรรณ”ก่อนก็แล้วกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top