Thursday, 9 May 2024
ทหาร

‘เพนกวิน’ โพสต์เดือด เคยมีผลงานทางวิชาการ ตีพิมพ์ พร้อมขอแสดงความไว้อาลัย ต่อผู้บริหาร ม.นเรศวร

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ถูกยกเลิกการเชิญไปเป็นองค์ปาฐกในงานประชุมวิชาการนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีใจความว่า ...

เรียน สลิ่มทุกท่าน
เนื่องจากได้มีสลิ่มหลายท่านกังวลเรื่องว่าตัวผมได้รับเชิญไปเป็นองค์ปาฐกในงานประชุมวิชาการนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จนเป็นเหตุให้สลิ่มเหล่านี้ต้องไปดีดดิ้นกดดันผู้จัดจนทางผู้จัดเขาต้องยกเลิกงาน ขอชี้แจงต่อไปนี้
ผมไม่เคยเรียกตัวเองต่อสาธารณะว่าเป็นนักวิชาการ ส่วนใครจะเรียกผมเป็นนักวิชาการเป็นความเชื่อถือของท่านผู้ให้เกียรติเรียกผมเช่นนั้น แต่ที่มีสลิ่มบางท่านโจมตีผมว่าไม่มีผลงานทางวิชาการนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากผมได้เคยตีพิมพ์บทความทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาไว้ในหนังสือ Undergrad Review หนึ่งชิ้นเมื่อสมัยผมอยู่มัธยมปลาย และขณะนี้ก็ได้รับการตอบรับตีพิมพ์บทความจากวารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลวารสารวิชาการ TCI มีกำหนดเผยแพร่เดือนกรกฎาคมนี้ 

นอกจากนี้ ผมมีคอลัมน์ “ของบ่เล่ารู้ลืม” ของเว็บ The101.world เป็นบทความค้นคว้าอิสระและข้อคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา ทุกท่านสามารถเข้าไปอ่านผลงานได้ และผมทำรายการประวัติศาสตร์ราษฎรเป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ ในส่วนนี้ หากจะถือเป็นการค้นคว้าวิชาการอิสระก็ได้ แต่ถ้าไม่นับก็ไม่เป็นไร

ดังนั้น หากสลิ่มจะโจมตีผมว่าไม่มีผลงาน กรุณาใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยกเว้นว่าถนัดจะใช้ข่าวปลอมหลอกลวงกล่อมประสาทสลิ่มด้วยกันไปเรื่อย ๆ ก็สุดแท้แต่ อนึ่ง แม้ผมจะยังไม่ได้จบปริญญาโทปริญญาเอก แต่โปรดระลึกว่า บุคคลในดวงใจของพวกคุณที่ชื่นชมว่าเชี่ยวชาญศาสตร์สาขาสารพัดหนักหนานั้น ก็ไม่ได้จบแม้กระทั่งปริญญาตรีแต่อย่างใด
ส่วนผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีปัญหากับการเชิญผมไปบรรยายแต่ไม่มีปัญหากับการเชิญทหารเข้าไปบรรยายนั้น ขอแสดงความไว้อาลัยไว้ล่วงหน้า พวกท่านเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว หรือเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่าเป็นกะโหลกกะลานั่นเอง
ด้วยรักและเคารพยิ่ง
เพนกวิน
 

‘ใจสิงห์ ศิษย์นายกพันศักดิ์’ สอนท่ามวย ให้ทหารใหม่ ที่ จ.พิษณุโลก

เฟซบุ๊ก มวยสด.com ได้โพสต์ข้อความที่ ส.อ. สิทธิศักดิ์ จิตอิน หรือ ใจสิงห์  ศิษย์นายกพันศักดิ์ นักมวย ONE ลุมพินี ไปถ่ายทอดศิลปะแม่ไม้มวยไทย ให้กับนายทหารใหม่ โดยมีใจความว่า ...

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 66 เวลา 1630 หน่วยฝึกทหารใหม่ ส.พัน. 4 พล.ร. 4 ทำการฝึกทักษะแม่ไม้มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ให้กับ น้องทหารใหม่ ผลัดที่ 1/66 โดยมี ส.อ. สิทธิศักดิ์ จิตอิน หรือ ใจสิงห์ ศิษย์นายกพันศักดิ์ นักมวย ONE ลุมพินี เพื่อให้ทหารใหม่มีความรู้ความเข้าใจทักษะแม่ไม้มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ณ หน่วยฝึกทหารใหม่ ส.พัน.4 พล.ร.4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จังหวัดพิษณุโลก  

สำหรับ ใจสิงห์  ศิษย์นายกพันศักดิ์ นักมวย ONE ลุมพินี การชกล่าสุดบนเวที ONE ลุมพินี เอาชนะน็อกเอาต์ จาง จินฮู นักชกจากประเทศจีน  ไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66

‘วากเนอร์’ ยอมจำนน ส่งมอบอาวุธให้กองทัพรัสเซียแล้ว ด้าน ‘ปูติน’ เสนอเงื่อนไข เพื่อชี้ชะตา ‘ผู้นำเยฟเกนี’

(13 ก.ค. 66) กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมว่า กลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ได้ทำการส่งมอบอาวุธให้กับกองทัพรัสเซีย หลังเกิดการก่อกบฏช่วงสั้น ๆ เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในการให้ข่าวของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ยังได้มีการเผยแพร่ภาพอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่วากเนอร์ส่งมอบให้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความพยายามในการคลี่คลายภัยคุกคาม และดูเหมือนจะเป็นการประกาศยุติปฎิบัติการของกลุ่มทหารรับจ้างกลุ่มนี้ ในสนามรบภายในดินแดนยูเครน

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า อาวุธที่มีการส่งมอบการมีมากกว่า 2,000 ชิ้น ตั้งแต่รถถัง เครื่องยิงจรวด ปืนใหญ่ และระบบป้องกันภัยทางอากาศ พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์อีกมากกว่า 2,500 ตัน และอาวุธปืนมากกว่า 20,000 กระบอก

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลรัสเซียออกมายอมรับเมื่อต้นสัปดาห์ว่า นายเยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำกลุ่มวากเนอร์และผู้บัญชาการระดับสูง 34 นายของเขา ได้พบกับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เพียง 5 วันหลังจากการก่อกบฏ โดยผู้บัญชาการวากเนอร์ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อปูติน และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อมาตุภูมิต่อไป

ขณะที่ปูตินกล่าวว่า กองทหารของวากเนอร์ต้องเลือกว่าจะเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหม ย้ายไปอยู่เบลารุส หรือเกษียณจากการทำงาน

ภาพการส่งมอบอาวุธดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความให้ชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของพริโกซิน และเงื่อนไขข้อตกลงที่มีการนิรโทษกรรมให้กับเขาพร้อมกับทหารรับจ้างในสังกัด

'ปัตตานี' ระอุ!! ลอบบึ้มรถทหารตาย 1 เจ็บ 7 ราย เชื่อ!! ฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์

(3 ส.ค. 66) เมื่อเวลา 10.00 น. พ.ต.อ.ธีรพจน์ ยินดี ผกก.สภ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเหตุลอบวางระเบิดมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย เหตุเกิดบนถนนสายนราธิวาส-ปัตตานี ม.3 ต.ตันหยงดาลอ หลังรับแจ้งจึงรายงานให้ พล.ต.ต.อาซาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ทราบพร้อมประสานชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดและนำกำลังไปที่เกิดเหตุ ไปถึงเจ้าหน้าที่ได้ปิดเส้นทางฝั่งปัตตานี-นราธิวาส ชั่วคราวเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ พบรถบรรทุก 6 ล้อของทหาร ป้ายกงจักร 3036 ในสภาพรถด้านหน้าพังเสียหาย กระจกแตก ล้อขวาด้านหน้าแตก ทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บทันที 6 นายในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1 นาย ถูกนำส่ง รพ.ยะหริ่ง แพทย์พยายามช่วยชีวิตอย่างเต็มที่ ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทราบชื่อ ส.อ.ศุภกร ศิริเสถียร ทำหน้าที่พลขับมีบาดแผลถูกสะเก็ดระเบิดที่ใบหน้าและลำตัวหลายแห่ง ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย แพทย์ได้ทำการรักษาจนปลอดภัยแล้ว ทราบชื่อ จ.ส.อ. สถาพร กล้าจริง, พลฯ เจษฎา คงโต, พลฯ พัชรพล วิจิตรโสภา, พลฯ ธรรมรัก จิ้วบุญชู และ พลฯ ไตรวิชญ์ นุ่นด้วง นอกจากนี้ยังมีประชาชนถูกลูกหลงบาดเจ็บ 2 ราย ทราบชื่อ นายมะการิง สามะ อายุ 50 ปี และนายอับดุลรอฮิง หามะ อายุ 51 ปี ทั้งสองถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ขาซ้าย

จากการตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พบว่าจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากรถบรรทุกของทหารคันเกิดเหตุประมาณ 20 เมตร พบหลุมระเบิดอยู่บริเวณโค่นต้นไม้ บริเวณเกาะกลางถนนแรงระเบิดทำให้ต้นไม้หักทันทีและมีชิ้นส่วนระเบิด สะเก็ดระเบิดกระจายไปทั่วบริเวณ เจ้าหน้าที่จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

สอบสวนก่อนเกิดเหตุทราบว่า ทหารชุดดังกล่าวมาจาก กองพันทหารราบที่ 151 ค่ายกัลยานิวัฒนา อ.เมือง จ.นราธิวาส มี จ.ส.อ. สถาพร กล้าจริง เป็นหัวหน้าชุดนำกำลังมาจากค่ายเพื่อมารับสิ่งของสนับสนุนกำลังพลภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ปรากฏว่าเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายได้กดระเบิดแสวงเครื่อง น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ซุกไว้บริเวณโค่นต้นไม้เกาะกลางถนน จนเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ส.อ.ศุภกรพยายามแข็งใจขับรถหลบหนี แต่เนื่องจากสภาพลำตัวถูกสะเก็ดระเบิดหลายแห่งทำให้หมดสติรถเสียหลักชนเสาไฟฟ้าเกาะกลางถนนข้ามไปถนนอีกฝั่งก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด

หลังเกิดเหตุ พล.ต.ขจรศักดิ์ อินทร์ทอง ผบ.ฉก.ปัตตานี สั่งการให้หน่วยกำลังในพื้นที่กระจายกำลังปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เกิดเหตุทันทีในรัศมี 500 เมตร เชื่อคนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ หลังก่อเหตุมีแนวร่วมในพื้นที่ให้การช่วยเหลือเพื่อหลบหนี

ขณะที่เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 2 ส.ค. พ.ต.ท.สมศักดิ์ รัตนพันธ์ รอง ผกก. (สอบสวน) สภ.มายอ จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิต เหตุเกิดบนถนนบ้านเขาจ๊ะ ริมถนนคลองชลประทาน พื้นที่ ม.1 ต.มายอ นำกำลังไปตรวจสอบพบร่าง ส.ต.อ.ไซฟูดีน เจ๊ะซอ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.มายอ นอนเสียชีวิตอยู่ใกล้รถ จยย. สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายได้ขับขี่รถ จยย.ออกจากบ้านพักเพื่อไปพบแหล่งข่าวในพื้นที่ แต่ปรากฏว่าถูกคนร้ายขับรถ จยย.ไล่ตามหลังแล้วใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดกระหน่ำยิงจนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์

กลุ่มรัฐประหารไนเจอร์ 'ปิดน่านฟ้า-ขอแรงหนุน Wagner' เตรียมรับมือกองกำลังทหารจากแอฟริกาตะวันตก

สถานการณ์ภายในประเทศไนเจอร์ยังคงน่าเป็นห่วง หลังเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 และได้ก่อตั้งรัฐบาลทหาร ภายใต้ชื่อกลุ่มว่าสภาพิทักษ์มาตุภูมิแห่งชาติ - National Council for the Safeguard of the Homeland (CNSP) โดยมีนายพล อามาดู อับรามาเน ชีอานี เป็นผู้นำสูงสุด

ล่าสุด กลุ่มชาติพันธมิตรแห่งแอฟริกาตะวันตก ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า Economic Community of West African States (ECOWAS) ตัดสินใจยื่นคำขาดที่จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์ หากผู้นำทหารไม่ยอมปล่อยตัว และ คืนอำนาจให้ ประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม ภายในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม

แต่ทว่า คณะรัฐบาลทหารไนเจอร์ไม่นำพาคำขู่จากพันธมิตร ECOWAS ได้สั่งปิดน่านฟ้าทั่วประเทศ หลังถึงกำหนดเส้นตายของ ECOWAS โดยโฆษกของกองทัพไนเจอร์ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่ามีข้อมูลยืนยันแล้วว่า มีกองกำลังต่างชาติในแอฟริกากลางได้เตรียมพลล่วงหน้าเพื่อบุกโจมตี แทรกแซงกิจการของไนเจอร์ แต่กองทัพไนเจอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ในประเด็นนี้ กล่าวเพียงว่าพร้อมรับมือ และ ป้องกันดินแดนอยางเต็มที่ อันเป็นเหตุที่ต้องปิดน่านฟ้า และได้ขอแรงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สื่อตะวันตกจึงจับตามองไปที่ความเคลื่อนไหวของกองกำลัง ECOWAS ว่าจะมีการยกระดับอย่างไรในการกดดันรัฐบาลทหารไนเจอร์หลังจากพ้นกำหนดเส้นตายที่ทางกลุ่มได้เคยประกาศไว้

ด้านนาย อับเดล ฟาตู มูซาห์ กรรมาธิการด้านการเมือง สันติภาพ และความมั่นคง ได้กล่าวว่า "องค์ประกอบทั้งหมดในการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ที่ไนเจอร์ รวมถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ แผนการ และ เงื่อนไขเวลา ทางกลุ่มได้พิจารณาไว้หมดแล้ว แต่เรายังต้องการใช้วิธีทางการทูต ส่งสาส์นถึงคณะรัฐบาลทหารที่ไนเจอร์ว่าเรายังให้โอกาสพวกเขาได้แก้ไขในสิ่งที่ได้ทำลงไป"

ECOWAS หรือ กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐอาฟริกาตะวันตก ประกอบด้วยชาติสมาชิกถึง 15 ประเทศ กินพื้นที่รวมกันกว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร และประชากรมากกว่า 387 ล้านคน และเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรเสาหลักของทวีปแอฟริกา

แต่ด้วยคลื่นกระแสการรัฐประหารของหลายชาติสมาชิกในกลุ่ม เริ่มต้นตั้งแต่การรัฐประหารในมาลี และ กีนี ในปี 2021 ที่บูร์กินา ฟาโซ ในปี 2022 และล่าสุดที่ไนเจอร์ในปีนี้ ทำให้ทั้ง 4 ชาติถูกคว่ำบาตร และระงับสถานะความเป็นสมาชิก ECOWAS ซึ่งส่งผลต่อความเป็นเอกภาพและความมั่นคงในกลุ่มเศรษฐกิจแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านนาย มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีของไนจีเรีย ประเทศที่ถือเป็นพี่ใหญ่ที่สุดใน ECOWAS ได้ตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงไนเจอร์ แต่ทั้งนี้นโยบายการแทรกแซงการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของผู้นำไนจีเรีย ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาสูงด้วยเหตุว่าไนจีเรียไม่ควรเข้าไปวุ่นวายในกิจการภายในของประเทศอื่น

ด้าน มาลี และ บูร์กีนา ฟาโซ ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร รวมถึง แอลจีเรีย ออกมาคัดค้านการแทรกแซงไนเจอร์ด้วยกำลังทหาร เพราะนั่นหมายถึงการประกาศสงครามที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นไปอีก

ส่วนชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป ได้ออกมาประณามกลุ่มก่อการรัฐประหารที่ไนเจอร์ และประกาศพร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่ม ECOWAS การใช้กำลังกดดันรัฐบาลทหารไนเจอร์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด เพื่อคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม และปกป้องระบอบประชาธิปไตยของไนเจอร์

ในขณะเดียวกัน ด้านผู้นำทหารของไนเจอร์ก็ได้เตรียมแผนสอง หากกองกำลังของ ECOWAS บุกเข้าโจมตีไนเจอร์จริง ด้วยการขอกำลังเสริมจากกลุ่ม Wagner กองกำลังทหารรับจ้างของรัสเซีย เพื่อเสริมทัพรับมือกองทัพต่างชาติไว้แล้วเช่นกัน

เรียกได้ว่าสถานการณ์ที่ไนเจอร์ในวันนี้ กำลังเดินหน้าเข้าตามสูตรสงครามตัวแทนระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก ที่อาจทำให้ไนเจอร์กลายเป็นยูเครนแห่งแอฟริกาตะวันตกก็เป็นได้ 

‘สภาแคนาดา’ ปรบมืออวยทหารผ่านศึกยูเครนวัย 98 แต่หน้าแตก!! เพราะเขาดันเป็นทหารนาซีมาก่อน

ความผิดพลาด จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลก แต่ถ้าเกิดขึ้นกลางสภาผู้ทรงเกียรติ ต่อหน้าผู้นำประเทศ แขกบ้าน แขกเมือง และสื่อมวลชนที่กำลังนำเสนอข่าวไปทั่วโลก นั่นอาจไม่ใช่แค่ความผิดพลาด แต่เป็นความหายนะ ที่ไม่มีโอกาสแก้ตัวได้เลย

ดังเช่นเหตุการณ์กลางรัฐสภาแคนาดา เมื่อวันศุกร์ (22 กันยายน 66) ที่ผ่านมา เมื่อคณะรัฐบาลของนาย จัสติน ทรูโดว์ นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้เชิญ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนมากล่าวปราศรัยในสภาสามัญ เพื่อขอเสียงสนับสนุนและทุนช่วยเหลือให้แก่กองทัพยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซีย 

หลังจากที่เซเลนสกีกล่าวจบ นายแอนโธนี โรตา ประธานสภาก็ได้กล่าวแนะนำให้รู้จักกับ ยาโรสลาฟ ฮันกา อดีตทหารผ่านศึกชาวยูเครน ที่วันนี้มีอายุถึง 98 ปีแล้ว และเคยสังกัด The First Ukrainian Division แห่งกองทัพยูเครนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน 

โดยประธานสภาแคนาดาได้สรรเสริญ ยาโรสลาฟ ฮันกา ว่าเขาเป็นดังฮีโร่ของชาวยูเครน และ ฮีโร่ของชาวแคนาดาเช่นกัน และขอให้ชาวสภาขอบคุณในการอุทิศตนอย่างกล้าหาญเพื่อชาติของเขาด้วย 

หลังกล่าวจบ บรรดาสมาชิกสภาทั้งหมด ลุกขึ้นยืน ปรบมือเป็นเกียรติให้แก่ ทหารเฒ่า ยาโรสลาฟ ฮันกา อยู่นาน กว่าจะมีการตรวจเช็คข้อมูล และพบความจริงอีกด้านว่า กองทหารที่นายฮันกาสังกัดนั้น เป็นหน่วยรบของฝ่ายอักษะ นาซีเยอรมันต่างหาก ไม่ใช่ทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร 

จากข้อมูลในประวัติศาสตร์ แม้ชาวยูเครนนับล้านคนจะถูกเกณฑ์เข้าร่วมรบกับกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จริง แต่กลับมีเขตพื้นที่เมืองหนึ่งที่ชื่อว่า ‘กาลิเซีย’ ปัจจุบันคือดินแดนคาบเกี่ยวระหว่างประเทศโปแลนด์ และ ยูเครน ซึ่งชาวยูเครนในเมืองนี้นับหมื่นคนตั้งกองกำลังทหารอาสา เข้าร่วมรบให้กับฝ่ายนาซีเยอรมัน และรู้จักภายใต้ชื่อหน่วย 14th Waffen-SS Grenadier Division  หรือเรียกสั้นๆว่า กองทหารกาลิเซีย 

ซึ่งกองทหารกาลิเซียนี้ รบภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของกองทัพนาซี ที่นอกจากจะต่อสู้กับกองทัพของสหภาพโซเวียตแล้ว ยังสังหารหมู่ประชาชนชาวโปแลนด์ และ ชาวยิวมากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามหลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายนาซี กองทหารกาลิเซียจึงยอมจำนนต่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1945 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น The First Ukrainian Division ในภายหลัง ซึ่ง ยาโรสลาฟ ฮันกา คืออดีตทหารยูเครนที่สังกัดในหน่วยนี้นั่นเอง 

เมื่อความจริงปรากฏเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมประธานสภาแคนาดา ถึงได้แนะนำ ยาโรสลาฟ ฮันกา ต่อหน้ารัฐสภาให้ได้รับเกียรติในฐานะ ‘วีรบุรุษสงคราม’

แม้สื่อแคนาดาจะวิเคราะห์และมองในแง่ดีว่า นาย แอนโธนี โรตา อาจมองในแง่ที่ว่า ยาโรสลาฟ ฮันกา คือ ตัวแทนของทหารยูเครนที่เคยต่อสู้กับกองทัพของสหภาพโซเวียต หรือก็คือ รัสเซียในปัจจุบันมาก่อน และต้องการยกให้เขาเป็นฮีโร่สงครามที่เป็นตำนานในประวัติศาสตร์

แต่ทว่า ปิแอร์ พอยลิเยฟร์ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ชุมชนชาวยิวในแคนาดา กลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะถึงแม้กองทหารกาลิเซีย จะเคยต่อต้านกองทัพโซเวียตก็จริง แต่ไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า The First Ukrainian Division คือหน่วยหนึ่งในสังกัดของกองทัพนาซีเยอรมัน ที่มีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว และ ชาวโปแลนด์ อย่างโหดเหี้ยมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เปรียบเสมือนจุดด่างพร้อยที่ไม่สามารถลบออกได้ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

นั่นจึงทำให้วันนี้ เกิดกระแสด้านลบตีกลับมายังรัฐบาลแคนาดา จน แอนโธนี โรตา ประธานสภา ต้องออกมากล่าวขอโทษอย่างสุดซึ้งต่อชาวยิวในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเขา และขอรับผิดชอบความผิดพลาดครั้งนี้แต่เพียงผู้เดียว 

แต่เรื่องคงไม่จบลงง่ายๆ เพราะทีมฝ่ายค้านแคนาดา ได้ตั้งประเด็น โจมตี จัสติน ทรูโดว์ ผู้นำรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่อาจปัดความรับผิดชอบให้ลูกน้องรับแทน โดยอ้างว่า ไม่รู้ ไม่เห็น เรื่องการเชิญอดีตทหารยูเครนเข้าสภาได้ และกดดันให้ผู้นำแคนาดาต้องออกมากล่าวขอโทษประชาชนในการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตน จนทำให้ประเทศชาติต้องอับอายชาวโลกในวันนี้ 

จากจุดเริ่มต้นจากความหวังดีของรัฐบาลแคนาดา ที่ต้องการให้พื้นที่สื่อแก่ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แต่ทว่า ปรากฏการณ์ฮีโร่ผิดคิวกลางสภาแคนาดา ทำให้วันนี้ ชาวสภาเมืองเมเปิลต้องมานั่งระทมในสถานการณ์ที่ว่า เนื้อก็ไม่ได้กิน หนังก็ไม่ได้รอง แต่ดันเอากระดูกคนอื่นมาแขวนคอตัวเองซะนี่ 

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ โศกนาฏกรรมแห่งสงครามเวียดนาม จากน้ำมือของ ‘ทหารอเมริกัน’ และการปกปิดความผิดโดยกองทัพสหรัฐฯ

‘Mỹ Lai’ เหตุการณ์สังหารหมู่โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ

มีภาพยนตร์ Hollywood มากมายที่คอยตอกย้ำให้คนชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นอดีตศัตรู ต้องตกเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามต่าง ๆ การก่อการร้าย ฯลฯ โดยผู้ร้ายก็มักจะเป็นต่างชาติ เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, โซเวียต, อาหรับ, ตาลีบัน ฯลฯ แม้กระทั่งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในขณะนี้ สื่อตะวันตกต่างก็เสนอข่าวเพียงด้านเดียว กล่าวหาให้ร้ายปาเลสไตน์เป็นผู้ร้ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ถูกกระทำโดยกองทัพอิสราเอลแท้ ๆ

เรื่องของการสังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ เป็นการสังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ที่ไม่มีอาวุธมากถึง 504 คน โดยทหารสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1968 ในระหว่างสงครามเวียดนาม Mỹ Lai เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล Son My ตั้งอยู่ในจังหวัด Quang Ngai ห่างจากตัวจังหวัด Quang Ngai ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 11 กม. พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามโดยทหารสหรัฐฯ ว่า ‘Pinkville’ เนื่องจากมีสีแดงที่ใช้บ่งบอกถึงพื้นที่ Mỹ Lai ที่มีประชากรหนาแน่นบนแผนที่ทางทหาร

เมื่อ ‘กองร้อย Charlie’ แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลทหารราบที่ 11 มาถึงเวียดนามในเดือนธันวาคม 1967 พื้นที่ ‘Pinkville’ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งซ่องสุม’ ของเวียดกงที่ใช้ในการหลบซ่อน ในเดือนมกราคม 1968 กองร้อย Charlie เป็น 1 ใน 3 กองร้อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายกองพันที่ 48 ซึ่งเป็นหน่วยรบของเวียดกงที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยดังกล่าวปฏิบัติการในจังหวัด Quang Ngai ตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม ทหารสังกัดกองร้อย Charlie ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดและกับดักไปหลายสิบคน ทั้งยังประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองพันที่ 48 หลังจากความพ่ายแพ้ของการโจมตีใน ‘ปฏิบัติการตรุษญวน’ (Tet) เวียดกงได้กลับมาใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับกองกำลังสหรัฐฯ

‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie

หน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า กองพันเวียดกงที่ 48 ได้เข้าไปซ่อนตัวในพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai (แต่ในความเป็นจริงแล้วกองพันเวียดกงที่ 48 ได้ฝังตัวในที่ราบสูง Quang Ngai ทางตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างออกไปมากกว่า 65 กม.)

ในการบรรยายสรุปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie ได้บอกกับทหารของเขาว่า ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับโอกาสสู้รบกับศัตรูที่หลบหนีพวกเขามานานกว่าหนึ่งเดือน ด้วยเชื่อว่า พลเรือนชาวเวียดนามใต้ได้อพยพออกจากพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai ไปยังเขตเมือง Quang Ngai หมดแล้ว เขาจึงสั่งว่า “ใครก็ตามที่ยังอยู่ใน Mỹ Lai จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสมาชิกหรือแนวร่วมของเวียดกง ภายใต้กฎการสู้รบเหล่านี้ ทหารมีอิสระที่จะยิงใครหรืออะไรก็ได้”

นอกจากนี้ กองทหารของกองร้อย Charlie ยังได้รับคำสั่งให้ทำลายพืชผลและสิ่งปลูกสร้าง และฆ่าปศุสัตว์ทั้งหมดด้วย

‘ร้อยโท William Calley’ ผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อย Charlie

ก่อนเวลา 07.30 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 1968 ตำบล Son My ถูกปืนใหญ่ของสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนัก เพื่อเคลียร์พื้นที่ลงจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ของกองร้อย Charlie แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นการบังคับพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ทยอยออกจากพื้นที่ให้กลับไปที่หมู่บ้าน Mỹ Lai เพื่อหาที่กำบัง

ต่อมา หมวดที่ 1 ของกองร้อย Charlie นำโดย ‘ร้อยโท William Calley’ ได้บุกเข้าไปทางตะวันตกของหมู่บ้านขนาดเล็กที่รู้จักกันในชื่อ ‘Xom Lang’ แต่ถูกทำเครื่องหมายระบุว่า เป็นหมู่บ้าน Mỹ Lai บนแผนที่ทางทหารของสหรัฐฯ เวลา 7.50 น. ส่วนที่เหลือของกองร้อย Charlie ลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว และร้อยโท Calley นำทหารหมวดที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้าน Mỹ Lai ไป

แม้ว่าพวกเขาจะไม่พบการต่อต้านเลย แต่ทหารหมวดที่ 1 ก็เริ่มสังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ตามอำเภอใจ ในชั่วโมงถัดมา กลุ่มของผู้หญิง เด็ก และชายสูงอายุก็ถูกล้อมและยิงทิ้งในระยะประชิด นอกจากนั้นแล้วทหารสหรัฐฯ ยังทำการข่มขืนหญิงสาวอีกหลายคน

หมวดที่ 2 ของกองร้อย Charlie เคลื่อนพลขึ้นเหนือจากเขตลงพื้น สังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปอีกหลายสิบคน ในขณะที่หมวดที่ 3 ที่ตามมาก็ได้จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ และผู้รอดชีวิตที่เหลือถูกกราดยิง เวลา 09.00 น. ร้อยโท Calley สั่งประหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้มากถึง 150 คน โดยต้อนคนเหล่านั้นลงไปในคูน้ำ

ทหารสังกัดกองร้อย Charlie จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่ Mỹ Lai

‘จ่า Ron Haeberle’ ช่างภาพของกองทัพบกสหรัฐฯ สังกัดกองร้อย Charlie บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น โดยเขาใช้กล้องถ่ายภาพขาวดำสำหรับบันทึกอย่างเป็นทางการของกองทัพบก แต่ถ่ายเป็นสีด้วยกล้องส่วนตัวของเขา ภาพขาวดำหลายภาพเป็นภาพทหารขณะที่กำลังซักถามนักโทษ ค้นทรัพย์สิน และเผากระท่อม แม้ว่าการทำลายทรัพย์สินจะละเมิดคำสั่งบัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของภารกิจค้นหาและทำลาย และไม่ได้เป็นหลักฐานโดยตรงในกรณีอาชญากรรมสงคราม

ภาพถ่ายสีส่วนตัวของ Haeberle ซึ่งเขาไม่ได้ส่งต่อให้กองทัพบก ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘Cleveland Plain Dealer and Life’ ในเวลาต่อมา ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยที่เกลื่อนไปด้วยศพผู้หญิง เด็ก และทารกที่เสียชีวิต และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของผู้หญิงและเด็กที่กำลังหวาดกลัวกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะถูกยิง ภาพถ่ายเหล่านี้กระตุ้นการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม และจะกลายเป็นชุดภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

‘จ่า Hugh Thompson’ นักบินเฮลิคอปเตอร์ผู้ยุติการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

มีรายงานว่าการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai สิ้นสุดลงหลังจากที่ ‘จ่า Hugh Thompson’ ซึ่งเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภารกิจลาดตระเวน เขาได้นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดระหว่างทหารกับชาวบ้านที่กำลังล่าถอย และขู่ว่าจะเปิดฉากยิงทหารกองร้อย Charlie หากพวกเขายังคงโจมตีพลเรือนชาวเวียดนามใต้ต่อไป

เขาบอกว่า “เราบินไปมาเรื่อย ๆ… และในเวลาไม่นานนักเราก็เริ่มสังเกตเห็นศพจำนวนมากขึ้น ทุกที่ที่เรามอง เราจะเห็นศพเหล่านี้เป็นเด็กทารก เด็กอายุ 2-3 ขวบ และ 4-5 ขวบ ผู้หญิง ผู้ชายที่แก่มาก ไม่ใช่คนในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใด” Thompson กล่าวในเวทีการสัมมนา ‘เหตุการณ์ Mỹ Lai’ ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมื่อปี 1994

Thompson และลูกเรือของเขานำผู้รอดชีวิตหลายสิบคนบินไปรับการรักษาพยาบาล ในปี 1998 Thompson และลูกเรืออีก 2 คนได้รับเหรียญรางวัลทางทหาร ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลขั้นสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ สำหรับความกล้าหาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบโดยตรงกับศัตรู

‘พันตรี Colin Powell’ ในเวียดนามใต้

เมื่อการสังหารหมู่ Mỹ Lai สิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิต 504 ราย ในบรรดาเหยื่อเป็นผู้หญิง 182 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 17 คน และเด็ก 173 คน รวมถึงทารก 56 คน เมื่อทราบข่าวการสังหารหมู่ซึ่งจะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บังคับบัญชากองร้อย Charlie และกองพลที่ 11 จึงพยายามมองข้ามเหตุนองเลือดนี้ทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการภายใน หนึ่งในผู้สืบสวนภายในของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ Mỹ Lai คือ ‘พันตรี Colin Powell’ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ ‘ประธานาธิบดี George W. Bush’

ตามรายงานของ Powell ระบุว่า “แม้ว่าอาจมีบางกรณีของการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนและนักโทษเชลยศึก แต่สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงทัศนคติทั่วไปของทหารทั้งกองพล”

สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องความโหดร้ายที่กระทำโดยทหารอเมริกัน Powell กล่าวว่า “ในการหักล้างโดยตรงต่อการแสดงภาพนี้คือความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกองอเมริกากับชาวเวียดนามนั้นดีเยี่ยม” คำกล่าวนี้ ทำให้นักวิจารณ์หลายคนเยาะเย้ยว่าเป็น ‘การล้างบาป’ และกล่าวหาว่า Powell เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่ช่วยกันปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

‘Ronald Ridenhour’ ผู้เปิดเผยเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

การปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งทหารในกองพลที่ 11 ซึ่งเคยได้ทราบรายงานการสังหารหมู่ ซึ่งเขาไม่ได้เข้าร่วม ได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ กระจ่างขึ้น หลังจากเขียนจดหมายถึง ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานคณะเสนาธิการร่วม และสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยไม่มีการตอบกลับ ในที่สุด Ridenhour ก็ให้สัมภาษณ์กับ Seymour Hersh นักข่าวสืบสวนซึ่งรายงานเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน 1969 ท่ามกลางความโกลาหลระหว่างประเทศและการประท้วงสงครามเวียดนาม

ซึ่งมีการติดตามการเปิดเผยของ Ridenhour กองทัพบกสหรัฐฯ สั่งให้มีการสอบสวนเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai และความพยายามปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลัง

การสอบสวนนำโดย ‘พลโท William Peers’ ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเดือนมีนาคม 1970 ได้เสนอให้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ทหารไม่น้อยกว่า 28 นายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดการสังหารหมู่ การพิจารณาคดี Mỹ Lai เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1970 ต่อมา กองทัพได้ตั้งข้อหาทหารเพียง 14 คน รวมทั้งร้อยโท William Calley, ร้อยเอก Ernest Medina และพันเอก Oran Henderson ในข้อหาก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ Mỹ Lai

‘พลตรี Julian Ewell’ เจ้าของฉายา “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ทุกคนพ้นผิดยกเว้นร้อยโท Calley ซึ่งถูกตัดสินว่า ‘มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าจากการสั่งยิง’ แม้ว่าเขาจะโต้แย้งว่าเขาเพียงปฏิบัติตามคำสั่งของร้อยเอก Medina ผู้บังคับบัญชาก็ตาม ในเดือนมีนาคม 1971 ร้อยโท Calley ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะผู้สั่งการในการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

หลายคนมองว่า ร้อยโท Calley เป็นแพะรับบาป และเขาอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 20 ปี และต่อมาได้ลดโทษเหลือเพียง 10 ปี และเขาถูกปล่อยตัวในปี 1974 หลังจากถูกจำคุกเพียง 3 ปีเท่านั้น

การสืบสวนในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่า การสังหารที่ Mỹ Lai ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์เดียว ความโหดร้ายอื่น ๆ เช่น การสังหารหมู่พลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ Mỹ Khe ที่คล้ายกันนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ปฏิบัติการทางทหารฉาวโฉ่ที่เรียกว่า ‘Speedy Express’ คร่าชีวิตพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปหลายพันคน จนกระทั่งพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่อาศัยอยู่บริเวนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้ให้ฉายา ‘พลตรี Julian Ewell’ ผู้บัญชาการในปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามลดน้อยลง เนื่องจากฝ่ายบริหารของ ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ ที่ได้ดำเนินนโยบาย ‘การทำให้เป็นเวียดนาม’ (Vietnamization) ซึ่งรวมถึงการถอนกำลังทหารและโอนการควบคุมการปฏิบัติการภาคพื้นดินไปยังกองทัพเวียดนามใต้ ในบรรดากองทหารอเมริกันที่ยังอยู่ในเวียดนาม ล้วนแล้วแต่มีขวัญกำลังใจต่ำ มีความโกรธแค้นและความคับข้องใจสูง มีการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เพิ่มในหมู่ทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ และรายงานอย่างเป็นทางการในปี 1971 ประมาณการว่าทหารสหรัฐฯ 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นติดยาเสพติด

การเปิดเผยเรื่องราวของการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ทำให้ขวัญกำลังใจของทหารอเมริกันตกต่ำลดลงไปอีก เมื่อบรรดาทหารอเมริกันในเวียดนามใต้ต่างพากันสงสัยว่า ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาปกปิดความโหดร้ายอื่นใดอีก

ในสหรัฐฯ ความโหดร้ายของการสังหารหมู่ Mỹ Lai และความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านสงครามรุนแรงขึ้น และเพิ่มความขมขื่นต่อการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม ต่างจากเหตุการณ์สงครามอื่น ๆ ที่ทั้งศัตรูและอดีตศัตรูของสหรัฐฯ มักกลายเป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์ Hollywood ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน Mỹ Lai เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ 504 ศพ โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ ไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood เลย จะมีก็เพียงแต่ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีเท่านั้น

และในการแสดง The Lieutenant เป็นร็อกโอเปราที่มีทั้งหนังสือ ดนตรี และเนื้อร้องโดย Gene Curty, Nitra Scharfman และ Chuck Strand ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นศาลทหารของร้อยโท William Calley ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยแสดงบนเวทีละครบรอดเวย์ ในปี 1975 และ ‘Mỹ Lai Four’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์นั้นถูกสร้างโดยผู้สร้างและทีมงานชาวอิตาลี ไม่ใช่ผู้สร้างและทีมงานชาวอเมริกันจาก Hollywood แต่อย่างใด

มีการสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ณ ตำบล Sơn Mỹ และสวนสันติภาพ Mỹ Lai ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อ 16 มีนาคม 1998 สวนสันติภาพนี้อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว 2 กม. (1 ไมล์)

‘สุทิน’ ยัน!! ‘ทหาร’ จะเป็นไม้สองแก้ปัญหาเด็กตีกัน พร้อมช่วยปลูกฝังจิตสำนึก หากเกินกำลังของตำรวจ

(23 พ.ย.66) ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทว่า มีกลไกระดับล่างที่แก้ไขปัญหากันอยู่ ทั้งระดับกระทรวงและตำรวจ แต่ถ้าเกินกำลังเชื่อว่าทางทหารอาจจะใช้กลไกในเรื่องของกำลังสำรอง หรือนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ถือเป็นการปลูกฝังจิตสำนึก ป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ หากเกินกว่ากำลังตำรวจ ทหารก็รับเหตุได้อยู่แล้ว

นราธิวาส-ผบ.พล.ร.15 เยี่ยมน้องทหารใหม่ หน่วยฝึกทหารใหม่ เน้นย้ำต้องดูทหารใหม่เสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ หน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกรมนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบล มะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เดินทางมาเพื่อตรวจเยี่ยมดูความพร้อมของหน่วยฝึกทหารใหม่ เมื่อทหารกองประจำการ หรือน้องทหารใหม่ เข้าไปอยู่ในหน่วยฝึกทหารจะต้องได้รับการดูแลทั้งในเรื่องของหลักสูตรการฝึก และเรื่องของคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีเริ่มตั้งแต่การเข้านอนยันตื่นนอน การรับประทานอาหาร และการฝึก และยังรวมไปถึงการส่งเสริมในเรื่องของการต่อยอดด้านการศึกษา น้องทหารใหม่จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้านเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วทหาร พร้อมเน้นย้ำผู้บังคับหน่วยฝึก ผู้ฝึก รวมถึงครูทหารใหม่ ให้ยึดรูปแบบการฝึกตามระเบียบจากกรมยุทธศึกษาทหารบก และมาตรการการควบคุมโรคจากกระทรวงสาธารณสุข ต้องดูแลเอาใจใส่ทหารใหม่ในทุกนาย เสมือนดูแลคนในครอบครัว เพราะทหารกองประจำการ เมื่อเข้ามาอยู่ในรั้วทหาร เปรียบเสมือนเป็นน้องคนเล็ก ของกองทัพบก พร้อมทั้งเน้นย้ำในเรื่องมาตรการป้องกันโรคลมร้อน (Heat Stroke) โดยให้ครูฝึกต้องเป็นตัวอย่างที่ดี รวมถึงเรื่องสิทธิกำลังพลที่น้องทหารใหม่พึงได้ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์การเข้าสู่การเป็นทหารอาชีพ 

โดย พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชากองพลทหารราบที่ 15 กล่าวว่า "การฝึกทหารใหม่ ต้องคิดว่าน้องๆ ที่เข้ามาเป็นพลทหารกองประจำการ เข้ามาอยู่ในบ้านของเรา เปรียบเสมือนเป็นน้องคนเล็ก เรามีหน้าที่ดูแล บ่มเพาะ และปลูกฝังให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบในความเป็นทหาร และสุภาพบุรุษ เปลี่ยนทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของน้องๆ เปลี่ยนความคิดจากการเป็นพลเรือน ให้มีจิตใจเป็นทหารอย่างเต็มภาคภูมิ รักในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สำหรับวิธีการฝึกนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานบนความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบการฝึก ทั้งนี้ขอให้ผู้ปกครองได้มีความมั่นใจในกระบวนการฝึกของกองทัพบก ว่าจะทำให้บุตรหลานของทุกท่านเป็นผู้ที่มีศักยภาพ เป็นบุคลากรที่ดีของกองทัพบก และประเทศชาติต่อไป

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 ฝึกทบทวนการปฏิบัติส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติและฉุกเฉิน โดยอากาศยานกองทัพบก

วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่หน่วยบินทหารบกยุทธวิธีที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พลโท ประสาน  แสงศิริรักษ์  แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดการฝึกทบทวนการปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤต และฉุกเฉินโดยอากาศยาน กองทัพบก (ฮ.ท.145) และ (ฮ.ท.212) ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ที่เน้นย้ำในการนำยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่โดยได้อนุมัติแนวทางการใช้อากาศยานของกองทัพบก ในการสนับสนุนภารกิจส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศ ทั้งในยามปกติและในสนาม ด้วยการปรับปรุงและดัดแปลงอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ฮ.ท.145 จำนวน 4 เครื่อง ขนาดเบา ฮ.ท.212  จำนวน 4 เครื่อง 

ที่เดิมใช้สำหรับ การปฏิบัติทางธุรการทั่วไป มาพัฒนาขีดความสามารถให้เป็นเฮลิคอปเตอร์พยาบาล โดยกองทัพบกได้ดำเนินการแบ่งมอบเฮลิคอปเตอร์พยาบาลให้แต่ละกองทัพภาค  เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือประชาชนสำหรับการส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศ ทั้งนี้ได้อนุมัติแนวทางปฏิบัติในการขอรับการสนับสนุนอากาศยานกองทัพบก สำหรับส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉิน และในปัจจุบันทางกองทัพบกได้ใช้อากาศยานในการสนับสนุนภารกิจการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉิน ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งในบางพื้นที่จะมีการใช้อากาศยานของกองทัพบก แบบ ฮ.ท.212 ร่วมปฏิบัติการด้วย เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ผู้บัญชาการทหารบกกำหนด และเพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพล กองทัพภาคที่ 3 ในการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินกับอากาศยานจริง โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในฐานะโรงพยาบาลแม่ข่าย กองทัพภาคที่ 3 จึงได้จัดการอบรมและฝึกทบทวนการปฏิบัติ การส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉิน โดยอากาศยานกองทัพบก ฮ.ท.145 และ ฮ.ท.121 ให้กับชุดส่งกลับทางอากาศโรงพยาบาลกองทัพบก ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 จำนวน 10 โรงพยาบาล กองพันเสนารักษ์ที่ 4 และโรงพยาบาลพุทธชินราช 

ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมผู้เข้ารับการฝึกฯ จำนวน 70 นาย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกซ้อมและสร้างความชำนาญกับอากาศยานเฮลิคอปเตอร์พยาบาล ฮ.ท.145 และ ฮ.ท.212 กับสิ่งอุปกรณ์สายแพทย์ประจำอากาศยาน การอบรมและฝึกทบทวนประกอบด้วย การบรรยายวิชาการ ณ ห้องประชุมชินราชา โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฝึกทบทวนการปฏิบัติกับอากาศยานเฮลิคอปเตอร์พยาบาล ฮ.ท.145 และ ฮ.ท.212 แบบ Static ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อภาคบ่ายของวันที่ 30 พฤศจิกายน ๒๕๖๖ โดยวันนี้ เป็นการฝึกปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินโดยอากาศยาน กองทัพบก ฮ.ท.145 และ ฮ.ท.212 ตามสถานการณ์สมมุติ จำนวน 12 เที่ยวบิน 

กองทัพภาคที่ 3 เห็นความสำคัญในความปลอดภัยของประชาชน และมุ่งเน้นการฝึกบุคลากรให้มีความชำนาญในการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินโดยอากาศยาน กองทัพบก จึงได้อนุมัติให้แผนกแพทย์กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในฐานะโรงพยาบาลแม่ข่ายของกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้นำจัดการอบรมและฝึกทบทวนการปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉินโดยอากาศยาน กองทัพบก ฮ.ท.145 และ ฮ.ท.212 ให้กับชุดแพทย์ทหารเผชิญเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้การฝึกทบทวนการปฏิบัติดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัย  ในสถานการณ์จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้มาถึงนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิต อบอุ่นใจในคำมั่น กองทัพบกเพื่อประชาชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top