Thursday, 22 May 2025
ทรงพระเจริญ

สำนักพระราชวัง ชวนประชาชนลงนามถวายพระพรชัยมงคล ‘พระราชินี’

สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th  ระหว่างวันที่ ๑ - ๕ มิถุนายน ๒๕๖๗

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม ‘จุฬาภรณ์’ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา อีกทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ. 2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ. 2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่าง ๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530

ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น ‘เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์’

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีตาร์

พ.ศ. 2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น ‘สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี’ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

13 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ'

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ในหลวงรัชกาลที่ 10

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

โดยพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’

>> การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ อาณาประชาราษฎร์ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการ เพื่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ

ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติส่วนพระองค์ ทั้งในด้านความมั่นคง ของประเทศ ด้านสังคมสงเคราะห์ การศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การทหาร การบิน การต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อ ความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองและ ประชาชนคนไทยทั้งปวง

ดั่งพระราชดำรัสในพิธี ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในการสถาปนาขึ้นเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ความว่า “ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ ต่อประชาชนจะปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและ โดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบ เท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

>> ทรงรับขึ้นทรงราชย์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19.16 น. ปวงชนชาวไทยทั้งผอง ต่างปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ ห้อง UPPER MAIN CR.M (ห้อง วปร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาทเสด็จ ขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา และกล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง” 

การทุ่มเทพระวรกายปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยมิทรงว่างเว้นของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สะท้อนถึงพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร สมดั่งพระราชปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษาต่อยอด ในหลวงรัชกาลที่ 9

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

‘ในหลวง’ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน ‘นร.-จนท.’ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ รร.วัดราชาธิวาส

(16 ก.ค.67) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็นประธาน เชิญอาหารพระราชทาน ไปพระราชทานเลี้ยงแก่นักเรียน คณะครู บุคลากรและเจ้าหน้าที่ โรงเรียนวัดราชาธิวาส เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จำนวน 890 คน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้นักเรียน และคณะครู รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ได้รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าตามหลักโภชนาการอันจะส่งผลให้มีสุขอนามัยที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี สำหรับเมนูอาหาร ประกอบด้วย ข้าวมันไก่ทอด ข้าวมันไก่ตอนข้าวหมูแดง หมูกรอบ บะหมี่แห้งหมูแดง ข้าวขาหมู ไข่พะโล้ และโดนัทไส้ต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงรับเป็นพระราชภารกิจที่สำคัญ ในการดูแลให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีโภชนาการที่ดีโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอาหาร แก่เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน และสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เนื่องในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษา วันคล้ายวันพระราชสมภพ วันคล้ายวันประสูติ และวันสำคัญต่าง ๆ มาโดยตลอด การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้ นักเรียน และคณะครู รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนวัดราชาธิวาส เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2446 โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อตั้งโดยทุนทรัพย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทว มหามงกุฎวิทยมหาราช นับแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีระยะเวลาถึง 121 ปี ซึ่งโรงเรียนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ ศิษย์เก่าหลายท่านที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้มีบทบาทและผลงานที่สำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 800 คน ครูและเจ้าหน้าที่ จำนวน 90 คน

‘ก.พลังงาน-หน่วยงานเกี่ยวข้อง’ จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง ร.10’ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

(24 ก.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งคณะผู้บริหารระดับสูงส่วนราชการและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมกันถวายราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับแถลงข่าว กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บ้านพิบูลธรรม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรุงเทพฯ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงพลังงาน รัฐวิสาหกิจในสังกัด และ กกพ. น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านในการจะ ‘สร้างประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลากหลายด้าน
ได้แก่ ด้านส่งเสริมสุขภาพประชาชน กกพ. ในฐานะหน่วยงานในกำกับฯ ได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าติดตั้งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับสถานพยาบาล 73 แห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าและนำงบประมาณที่เหลือใช้ไปดูแลประชาชนให้เข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนองพระบรมราโชบายที่ทรงต้องการสืบสาน ต่อยอด โครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงริเริ่มการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์อีกด้วย

ด้านส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ทั้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กฟผ. และ ปตท. ได้เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ 10 โครงการสืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน ของ กฟผ. และกิจกรรมปลูกป่า จำนวน 72,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนำมาซึ่งอากาศสะอาดและความชุ่มชื้นให้กับประเทศอย่างกว้างขวาง

ด้านเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ปตท. ได้การจัดทำหนังสือที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะรวบรวมพระราชประวัติพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ภาพถ่ายอันทรงคุณค่าจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชกรณียกิจการพัฒนาด้านพลังงาน พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ทรงมีแก่ประชาชนชาวไทย รวมทั้งการดำเนินโครงการต่าง ๆ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลฯ ซึ่งจัดพิมพ์จำนวน 1,072 เล่มด้วย

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กกพ. และสำนักงาน กกพ.ได้สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(4) ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 73 แห่ง เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 73 แห่ง ในวงเงินงบประมาณ จำนวน 457,192,500 บาท มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 15,597 กิโลวัตต์พีค โดยมุ่งหวังลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและคาดว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลของรัฐได้ถึง 86,213,686 บาทต่อปี อีกทั้งโรงพยาบาลสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ดังกล่าวไปสนับสนุนภารกิจในการดูแลประชาชนที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขกับโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 11,872 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“กกพ. และสำนักงาน กกพ. มีความมุ่งมั่นที่จะน้อมนำแนวทางพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข โดยจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(4) เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และจะขยายการสนับสนุนไปยังหน่วยงานของรัฐด้านการศึกษา และด้านการคุ้มครองทางสังคมและมีความมั่นคงให้กับประชาชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” นายเสมอใจ กล่าว

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. จัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 10 โครงการ ภายใต้ชื่อ ‘10 โครงการ สืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน’ ประกอบด้วย

1) โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ
โดยล้างเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ (City Tree)
สร้างอากาศที่ดีให้ผู้ป่วย พร้อมสนับสนุนเลนส์ตาเทียมสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 
2) โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 ในพื้นที่โครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก ขนาด 16 กิโลวัตต์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ ขนาด 72 กิโลวัตต์
3) โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เบอร์ 5 วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่
ขนาด 72 กิโลวัตต์
4) โครงการออกหน่วยให้บริการแว่นตาในพื้นที่เป้าหมาย 43 แห่ง รวมถึงมอบแว่นตาแก่
กลุ่มเปราะบาง จำนวนรวมทั้งสิ้น 72,000 แว่นตา
5) โครงการโคก หนอง นา ต่อยอด 72 แปลง ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

6) โครงการจัดตั้งห้องเรียนสีเขียว Smart Green Learning Room และปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ณ โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม จ.นครราชสีมา 
7) โครงการสนับสนุนชุดนักเรียนเบอร์ 5 จำนวน 72,000 ชุด ในกลุ่มโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ และกลุ่มโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา
8) โครงการสนับสนุนการดำเนินงานมูลนิธิกาญจนบารมี สนับสนุนรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวชพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 1 คัน
9) โครงการสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่ 72 ไร่ ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี  
โดยปรับพื้นที่เพื่อสร้างสนามแข่งขันจักรยาน พื้นที่ทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ  
10) โครงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 
25 - 28 กรกฎาคม 2567  

คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2,800 ตันต่อปี ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 5.3 หน่วยต่อปี ลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าประมาณ 26.6 ล้านบาทต่อปี

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมพิเศษเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่

1) โครงการพัฒนาพื้นที่กำแพงเพชร 6 ขนานแนวโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรเฉลิมพระเกียรติที่ ปตท. จัดสรรพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ ติดคลองเปรมประชากร เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและอาคารนิทรรศการ รวมถึงท่าเรือและพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน เพื่อสืบสาน และขยายผลต่อยอดพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ

2) ผลิตและเผยแพร่ หนังสั้นเฉลิมพระเกียรติฯ 2 เรื่อง คือ เรื่องรูปวาดจากอนาคต และ เรื่องคาเฟ่ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน ตามพระบรมราโชบาย จำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ เผยแพร่ตั้งแต่วันนี้ถึง 3 สิงหาคม 2567 ทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์

3) กิจกรรมแสดง แสง สี เสียง เฉลิมพระเกียรติ 'ลำนำนที วารีสมโภช' ณ สวนสันติชัยปราการ (ป้อมพระสุเมรุ) เพื่อให้ประชาชนได้รับชมหนังสั้นเฉลิมพระเกียรติ พร้อมร่วมกิจกรรม อาทิ การแสดงแสง สี เสียงและ 3D Mapping ที่ป้อมพระสุเมรุ การละเล่นจากชุมชนบางลำพู ดนตรีในสวน กิจกรรม workshop ร้านค้าชุมชน และนิทรรศการโครงการตามพระบรมราโชบาย พระราชกรณียกิจและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งล่องเรือในเส้นทางสุดพิเศษจากป้อมพระสุเมรุไปยังป้อมมหากาฬ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์

4) กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่ง ปตท. โออาร์ และโครงการหลวง ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร  

5) กิจกรรมปลูกป่า จำนวน 72,000 ไร่ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ แหล่งต้นน้ำ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คาดว่าจะสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 68,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

โครงการและกิจกรรมพิเศษที่ กลุ่ม ปตท. ร่วมดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจและโครงการตามพระบรมราโชบายของของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณีย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีความยินดีและพร้อมสนับสนุนโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็มีโครงการประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนภาคประชาชน เพื่อพัฒนานักออกแบบนวัตกรรมด้านพลังงานภาคประชาชน พัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่ใช้งานได้จริง และเชิดชูประชาชนผู้มีแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นการช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนั้น จะลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเชิงพาณิชย์ เพื่อการต่อยอดและขยายผลอย่างยั่งยืน ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2567 คาดว่าผลลัพธ์จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานของไทยอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพระราชกรณียกิจด้านพลังงานและคัดสรรภาพประกอบเพื่อนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ เชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า และสมพระเกียรติ

“จะเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของกระทรวงพลังงานมีครบทั้งมิติด้านพลังงาน มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมไม่ได้จัดแค่ช่วงเดือนกรกฎาคมเท่านั้น จะมีการจัดกิจกรรมไปตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 ประชาชนสามารถติดตามโครงการต่าง ๆ ผ่านทั้งหน้าเว็บไซต์ และ Facebook ของหน่วยงานต่าง ๆ สุดท้ายนี้ ดิฉันก็ขอขอบคุณอีกครั้ง ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกระดับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันผลักดันโครงการดี ๆ ให้เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในโอกาส มหามงคลในครั้งนี้” นางสาวนันธิกา กล่าว

‘นายกฯ’ เป็นประธานพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ที่ท้องสนามหลวง

(28 ก.ค. 67) เวลา 07.00 น. ที่บริเวณท้องสนามหลวง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยา เป็นประธานพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีคณะองคมนตรีและภริยา ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยราชการในพระองค์ คณะรัฐมนตรีพร้อมคู่สมรส เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพและภริยา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและภริยา ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และผู้แทนภาคเอกชนร่วมพิธี

โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีและภริยาเดินทางถึงปะรำพิธีท้องสนามหลวง สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ จำนวน 10 รูปขึ้นนั่งอาสน์สงฆ์ นายกรัฐมนตรีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายคำนับและถวายธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ จำนวน 10 รูป ให้ศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

จากนั้น คณะองคมนตรีและภริยา นายกรัฐมนตรีและภริยา ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป นายกรัฐมนตรีถวายผ้าไตรจำนวน 10 ไตร กรวดน้ำรับพร กราบลาพระรัตนตรัย แล้วถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีและภริยา นำผู้เข้าร่วมพิธีร่วมตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 173 รูป นำโดยเสด็จพระมหาวีรวงศ์ นำโดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นการเสร็จพิธี

จากนั้น เวลา 07.45 น. ณ บริเวณท้องสนามหลวง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567  โดยมีคณะรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ข้าราชการระดับสูงของทุกส่วนราชการ ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจมหาวิทยาลัยของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนเข้าร่วมพิธี ขณะที่ข้าราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ร่วมทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

เมื่อนายกรัฐมนตรีถึงบริเวณเวทีใหญ่ ท้องสนามหลวง ได้เดินขึ้นสู่เวที ถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วถวายธูปเทียนแพ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายเครื่องราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวถวายพระพรชัยมงคล และกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ความว่า

ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อมข้าพระพุทธเจ้า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในนามของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศต่างมีความปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่ได้มาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567 นี้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปวงข้าพระพุทธเจ้าต่างประจักษ์ในพระราชวิริยอุตสาหะ และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความเจริญงอกงามของประเทศชาติ และประโยชน์สุขของอาณาราษฎรทุกหมู่เหล่า ทรงดำรงพระองค์ เป็นแบบอย่างแก่บรรดาข้าราชการ ในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบแทนคุณของแผ่นดิน ด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม เน้นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้าจักเทิดทูนไว้ เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสืบไป

ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอตั้งจิตอธิษฐาน อาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลดลบันดาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเจริญพร้อมด้วยสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ พระบารมีเกริกไกรแผ่ไพศาล สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้า ปวงข้าพระพุทธเจ้า และเหล่าพสกนิกรตราบกาลนาน

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ดังต่อไปนี้

ข้าพระพุทธเจ้านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะประพฤติปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน มีความซื่อสัตย์สุจริต เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท มุ่งมั่นแน่วแน่ แก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชน สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่แผ่นดิน และดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนแห่งศาสนา ตามแนวทางพระบรมราโชวาทตลอดไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

จบแล้ว นายกรัฐมนตรีและผู้ร่วมพิธีถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วนายกรัฐมนตรีและผู้ร่วมพิธีร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และร่วมร้องเพลงสดุดีจอมราชา เป็นอันเสร็จพิธี

เวลา 08.00น. นายกรัฐมนตรีและภริยา ลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องแดง อาคารหน่วยราชการในพระองค์ 904 ในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้นเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี เฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

นายกฯ องคมนตรี คณะบุคคลสำคัญ ลงนามถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

(28 ก.ค. 67) ที่อาคารหน่วยราชการในพระองค์ 904 ศาลาสหทัยสมาคมฯ และเต็นท์สนามหญ้าข้างอาคารลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง มีบุคคลสำคัญ เช่น สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา , คณะองคมนตรี , นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี , คณะทูตานุทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย , ผู้นำศาสนา , ประธานรัฐสภา , ประธานวุฒิสภา , ประธานศาลฯ , ผู้บัญชาการเหล่าทัพ , ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ , องค์กรอิสระ , สมาคม , มูลนิธิ , หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจากทั่วทุกสารทิศ

นำแจกันดอกไม้มาทูลเกล้าฯ ถวายเบื้องหน้า พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมลงนามถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่เหล่าพสกนิกรชาวไทยตราบนานเท่านาน

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังเปิดให้ลงนามถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 12.00 น.

‘เนวิน’ ปัดไม่คุยเรื่องการเมือง พร้อมโชว์เสื้อที่ลูกสาวออกแบบ ย้ำ!! คิดถึงแต่เรื่องถวายพระพร เพราะวันนี้เป็นวันมหามงคล

(28 ก.ค. 67) ที่หน้าสนามช้าง อารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ สถานที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ‘ลมหายใจ ของแผ่นดิน’ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมืองในวันนี้ โดยยกมือ 2 ข้างก่อนหลังให้ผู้สื่อข่าว และชี้ไปข้างหลังที่เขียนว่า ‘ฅนบุรีรัมย์’

ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามว่า แล้วพรุ่งนี้จะได้เจอและสัมภาษณ์ท่านอีกหรือไม่ นายเนวิน หันมาตอบว่า "เจอได้ทุกวัน แต่ไม่มีเรื่องการเมือง" พร้อมยิ้มให้ผู้สื่อข่าวแล้วเดินออกไป

จากนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามเดินเข้าไปสอบถามถึง เสื้อ ‘ฅนบุรีรัมย์’ ที่เปิดตัวใหม่ในวันนี้ นายเนวิน จึงตอบว่า ลูกสาวเป็นผู้ออกแบบ และต่อไปนี้จะใช้คำนี้ แทนสัญลักษณ์คนเมืองนี้ ซึ่งที่ใช้ ‘ฅ’ เพราะเราเป็นคน ถ้าเราใช้ ‘ค’ เราจะเป็นควาย และทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ซึ่งการใส่เสื้อตัวนี้ เพราะรู้สึกว่า เป็นคนบุรีรัมย์ เปิดตัวที่งานนี้เป็นครั้งแรก ตนคิดว่า คงเป็นจังหวัด และเมืองเดียวที่คนภูมิใจกับความรู้สึกกับการได้เกิดเป็นคนที่นี่ ทุกคนอยากใส่ เพราะเป็นเมืองแห่งความภาคภูมิใจ และเมืองแห่งความจงรักภักดี

ส่วนจะชูเสื้อนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ นายเนวิน ตอบว่า ไม่รู้แปลว่าอะไร นึกไม่ออก รู้แต่ว่าเป็นเสื้อสำหรับคนบุรีรัมย์

เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่า เสื้อฅนบุรีรัมย์สีน้ำเงิน มีนัยยะหรือไม่ นายเนวิน ระบุว่า น้ำเงินมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าหลายคนแซวว่า สว.สีน้ำเงินพาดพิงมาถึงครูใหญ่ภูมิใจไทย นายเนวิน ถึงกลับมองผู้สื่อข่าวที่ถาม และมองขึ้นฟ้า พร้อมระบุว่า ถ้ามีคนพูดเรื่องการเมืองแถวนี้ อาจจะโดนอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะหันมาหัวเราะ เพราะวันนี้เป็นวันมหามงคล จะต้องร่วมกันถวายพระพรชัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาส 72 พรรษา ขอให้ทำใจให้กว้างๆ คิดถึงพระองค์ท่าน ทำเพื่อพระองค์ท่านสักวันหนึ่ง

"อย่าเอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา คนไทยจะรวมใจเป็นหนึ่งเดียว คิดถึงแต่เรื่องที่จะถวายพระพรท่าน ทำความดีเพื่อท่าน อย่าเอาเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องเลย ในสมองหากพักเรื่องการเมืองไปบ้าง บ้านเมืองก็จะสงบสุข และประชาชนก็จะมีความสุข" นายเนวิน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมอีกว่า ที่ได้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ จะให้ใส่ตำแหน่งนายเนวินว่าอะไรนั้น นายเนวิน ระบุว่า ตำแหน่ง ‘ฅนบุรีรัมย์’

‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ นำโปสการ์ดกว่า 7.2 แสนใบ จากปชช. ถวายในหลวง เพื่อแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

(28 ก.ค. 67) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จัดกิจกรรม ‘CIB LOVE รวมใจบอกรักในหลวง’ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษาในปีนี้  เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ผ่านโปสการ์ดพระราชกรณียกิจของพระองค์ โดยตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมแสดงความจงรักภักดีผ่านการ์ดอวยพรที่เขียนด้วยลายมือ ส่งความรักถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่าน กิจกรรม ‘CIB LOVE รวมใจบอกรักในหลวง’  ก่อนนำมารวบรวมใส่ไว้ในกล่องที่เต็มไปด้วยความรัก ความเคารพ และคำอวยพรจากประชาชนทั้งประเทศ ก่อนถวายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทย ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
.
พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือผู้บัญชาการก้อง กล่าวว่า  "ในวันนี้ ผมและพวกเรา ตำรวจสอบสวนกลาง ( CIB) จะขอทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ ในการนำส่งต่อโปสการ์ดที่แสดงความรักความเทิดทูนที่ทุกคนถ่ายทอด เขียนถึงพระองค์ท่าน ถวายแด่ในหลวง  โดยกิจกรรมนี้เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตำรวจกับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี และชื่นใจที่มีประชาชนต่างเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมบอกรักท่านมากมายขนาดนี้"
.
โดยกิจกรรมหลักในโครงการ CIB LOVE ที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้รวบรวมและส่งต่อกล่องดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ  CIB LOVE Postcard: ที่มีการนำเสนอพระราชกรณียกิจต่างๆของในหลวง , คลิปวิดีโอ ‘CIB LOVE’ : ตำรวจ CIB บอกรักในหลวง รวมทั้ง การเชิญชวนน้องๆ นักเรียน นักศึกษา ประกวดวาดภาพแสดงความรัก และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวง ในหัวข้อ “สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระราชปณิธาน” จาก4 ระดับชั้น ระดับชั้นละ 3 รางวัล ได้แก่ ระดับประถมศึกษา , ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  , ระดับชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา ( มหาวิทยาลัย) ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 72,000 บาท  
.
โดยในวันงาน พล.ต.ท.จิรภพ หรือ ผู้บัญชาการก้อง ได้มอบเงินรางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ชนะรางวัลประกวดภาพวาดในทุกระดับชั้นด้วยตนเอง พร้อมกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจเด็กๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณภาพต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top