Monday, 7 April 2025
ดิจิทัลวอลเล็ต

‘พาณิชย์’ เผย!! เริ่มจ่ายเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ภายใน ต.ค.นี้ ยัน!! ร้านค้าเข้าร่วมพร้อม แง้ม!! ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ก็เข้าข่าย

(23 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงพาณิชย์ได้สรุปสินค้าที่อยู่ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet แล้วหรือไม่ ว่า อยู่ในกระบวนการทำงาน ตอนนี้คืบหน้าไปเยอะแล้ว รวมถึงเรื่องร้านค้าก็คืบหน้าไปมาก ทั้งสินค้าต้องห้ามและสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ก็พิจารณามาเยอะแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 24 ก.ค.67 จะมีการชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ความคืบหน้าอย่างชัดเจน คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ไม่อยากพูดหลายเรื่องมารวมกัน เพราะมันเป็นเรื่องของรายละเอียด โดยในวันที่ 24 ก.ค.จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดว่าจะต้องทำอย่างไรและมีเงื่อนไขอย่างไร สำหรับคนมีสมาร์ตโฟนและไม่มีสมาร์ตโฟนต้องทำอย่างไร

เมื่อถามว่าคิดว่าจะมีร้านค้าตอบรับการลงทะเบียนมากน้อยแค่ไหน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีเยอะแล้ว สมาคมค้าปลีกก็ 500,000 กว่าร้านค้า ร้านธงฟ้า 146,000 ร้าน และร้านอาหารธงฟ้า 5,000 ร้าน ตอนนี้ก็ทยอยติดต่อมา ซึ่งบางส่วนได้มีการจัดการรายละเอียดแล้ว โดยมีการแยกกันทำงาน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หาบ เร่ แผงลอย ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ร้าน ร้านค้าเหล่านี้ได้มีการยื่นมาแล้ว และคิดว่าในวันที่ 24 ก.ค. เมื่อมีการชี้แจงเสร็จสิ้นในส่วนนี้ก็จะดำเนินการต่อ เข้าใจว่าภายในเดือนต.ค.2567 จะเริ่มจ่ายเงินให้เรียบร้อยไปตามกระบวนการ

เมื่อถามต่อว่าส่วนเรื่องของหมวดสินค้ามีความคืบหน้าไปเกือบ 80% แล้วหรือยัง นายภูมิธรรม กล่าวว่า คืบหน้าไปเยอะมาก ซึ่งคิดว่าหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet ที่ตึกภักดีบดินทร์ทำเนียบรัฐบาล และมีการแถลงหลักการก็จะชัดเจน ก่อนจะทยอยแถลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเดือน ต.ค.ก็จะเรียบร้อย

เมื่อถามย้ำว่าส่วนของร้านค้าร้านเล็ก ๆ อย่างเช่น ร้านหมูปิ้งจะลงทะเบียนได้ที่ไหน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ส่วนต่าง ๆ จะแถลงตามขั้นตอน ซึ่งเราจะได้เห็นและได้เข้าใจหมด โดยจะมีคอลเซนเตอร์ให้สอบถามด้วย

เมื่อถามอีกว่าร้านค้าเซเว่นสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เข้าใจว่าได้

'พิชัย' เผย!! เหตุผล ทำไม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จึงจำเป็น ชี้!! แม้จะกลัวหนี้ แต่ปชช.-ร้านค้าเดือดร้อน รัฐก็อยู่ไม่ได้

(24 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการแถลงข่าว ‘ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้’ โดยมีนาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ร่วมแถลงด้วย

นายพิชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า คำถามเรื่องรัฐบาลไม่กลัวเรื่องการก่อหนี้หรือ เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินก้อนโต แต่หนี้นั้นอาจจะได้รับการชดใช้จากการเก็บภาษี คำตอบคือโครงการนี้จะเก็บภาษีได้เท่าใด แล้วไปสร้างการเติบโตรูปอื่น ๆ ของการลงทุน เพื่อนำมาซึ่งภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างไร ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่โครงการแจกเงินธรรมดา แต่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบตามห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งนี้ ตนอยากย้ำว่า วันนี้มี 3 กลุ่ม

1.ประชาชนที่หนี้สูงถึงใกล้จมูก หายใจจะไม่ออก

2.ร้านค้าขนาดเล็กขายของไม่ได้และอาจปิดตัว ซึ่งอาจต้องดูว่าปิดเพราะไม่มีกำลังซื้อ หรือเพราะกำลังเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ธุรกิจสมัยใหม่ ก็อาจต้องดูอีกตัวเลขหนึ่ง คือการลงทุนในแพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Production Platform) โดยเฉพาะจากต่างประเทศที่มาเปิดใหม่ คือต้องดูว่าปิดกิจการเพราะไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกับผู้มาลงทุนใหม่ ต้องดูควบคู่กันไปด้วย

3.รัฐบาล แม้จะกลัวเรื่องหนี้ แต่หากอีก 2 เสาอยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนและร้านค้าคือพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ

“ดังนั้นคำว่าวินัยการเงินการคลัง วันนี้เราเดินตามวินัยการเงินการคลังภายใต้ข้อสมมติฐานว่า ไม่อยากเห็นหนี้ของรัฐเกิน 70% ของ GDP เกรงว่าจะผลักภาระนั้นให้ลูกหลาน แต่ถ้าเศรษฐกิจโตได้ รัฐบาลก็สามารถจะมีรายได้ในอนาคตมากขึ้น ก็จะสามารถดูแลภาระนั้นได้ ถ้าเศรษฐกิจไม่โต แน่นอนไม่ว่าจะ 70 หรือต่ำกว่า 70 หรือมากกว่า 70 มีปัญหากันถ้วนหน้า” นายพิชัย กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการฯ อย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมนั้น โครงการฯ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการฯ แล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ได้แก่

>> พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

>> พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่

>> พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ

>> พายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

‘ดีอี’ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนลงทะเบียน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ผ่าน ‘แอปทางรัฐ’ เท่านั้น ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโจรออนไลน์ ฉวยโอกาสส่งลิงก์ปลอมหลอกลวงประชาชน

(25 ก.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย กระทรวงการคลัง ได้แถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการลงทะเบียนของประชาชน ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567  โดยจะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ ตามกำหนดเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นได้ ซึ่งแยกกลุ่มผู้ลงทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  1.ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 , 2.ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 , 3.ร้านค้า เบื้องต้นเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้จ่ายสินค้าด้วยเงินดิจิทัลได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567

สำหรับคุณสมบัติของประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้ 
- สัญชาติไทย มีชื่อและที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 
- อายุ 16 ปีขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567) 
- เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี (นับตามปีภาษี 2566) 
- เงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท เป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ 
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ 
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ 

ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยไม่มีการจำกัดจำนวน ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการประชาชนเข้าร่วมโครงการไว้จำนวน 45 - 50 ล้านคน ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” พร้อมลงทะเบียนยืนยันตัวตน สมัครใช้งานแอปพลิเคชันได้ก่อนล่วงหน้า เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว ก่อนที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ต่อไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. GCC 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง  

“กระทรวง ดีอี ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ผู้มีสมาร์ตโฟนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เท่านั้น อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงส่งลิงก์ หรือแพลตฟอร์มปลอมต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นช่องทางการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการหลุดรอดของข้อมูลส่วนบุคคล หรือสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการส่งต่อ แชร์ลิงก์ปลอมดังกล่าวไป อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนในสังคม” นายประเสริฐ กล่าว

‘คลัง’ ปลดล็อก!! ‘ผู้ป่วยติดเตียง’ ใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ตได้ ชี้!! ลงทะเบียนไม่ต่าง อาจแตกต่างที่วิธีใช้สิทธิ รอเคาะ!!

(30 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากที่ประชุม ครม.รับทราบหลักการไปแล้ว สามารถดำเนินการลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้รับทราบอีกครั้งเมื่อได้ยอดจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ชัดเจนอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ที่สามารถดำเนินการแถลงถึงความชัดเจนในเรื่องของขั้นตอน และในส่วนของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อตรวจสอบถึงความพร้อมต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนรายละเอียดโดยเฉพาะของผู้ป่วยติดเตียงได้มีการระบุขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วหรือยัง รวมทั้งผู้ป่วยบางประเภทที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นผู้พิการ แต่ไม่สามารถไปใช้จ่ายด้วยตัวเองได้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยและหารือในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่จะต้องมีการเช็กรายละเอียดอีกครั้งร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในส่วนของผู้พิการจะต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด เพราะในการใช้เงินในโครงการดังกล่าวจะมีความแตกต่างกัน แต่การลงทะเบียนไม่แตกต่าง ใครมีมือถือระบบสมาร์ทโฟนก็ใช้ระบบดังกล่าว ใครไม่มีก็ใช้บัตรประชาชน ในส่วนของผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้นจะมีการประกาศความชัดเจนว่าให้ลงทะเบียน ณ สถานที่แห่งใดในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้

“ผู้ป่วยติดเตียงในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้มีการหารือกันว่าจะมีการใช้สิทธิอย่างไร แต่ในกระบวนการใช้ลงทะเบียนเหมือนกับบุคคลทั่วไปไม่มีความแตกต่าง แต่ในกระบวนการใช้สิทธิจะมีความแตกต่าง คนมีมือถือสมาร์ทโฟนก็ลงและใช้ผ่านสมาร์ทโฟน คนไม่มีสมาร์ทโฟนก็ต้องใช้ในกระบวนการที่แตกต่าง ซึ่งจะต้องปลดล็อกในกระบวนการ Face to Face หรือซื้อขายแบบตัวต่อตัว ผู้ที่ไม่มีมือถือสมาร์ตโฟน รัฐบาลจะประกาศรายละเอียดการลงทะเบียนเงินดิจิทัลอีกครั้งในช่วงเดือนก.ย.67 ส่วนรายละเอียด ขั้นตอน และคุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ จะแถลงความชัดเจนในวันที่ 1 ส.ค.67” รมช.คลัง กล่าว

เมื่อถามถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายหากสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในวาระ 2-3 จะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ เพราะมีการมองว่าเป็นการใช้งบเหลื่อมปีไปแล้ว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 8 หน่วยงาน ตามที่ทุกฝ่ายร้องขอและได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้มีความเข้าใจตรงกัน

“การที่มีบางฝ่ายมีข้อห่วงใย ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายนั้น ก็เป็นการชี้ชัดแล้วว่ามีการดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านกฎหมายก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็นไปตามกรอบสามารถดำเนินการได้ และทั้ง 8 หน่วยงานที่เชิญมาให้ความมั่นใจว่าเราดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว” รมช.คลัง กล่าว

‘ร้านชำ จ.ชัยนาท’ ประกาศไม่เข้าร่วมโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หวั่น!! ‘ทุนจม-ถอนเงินไม่สะดวก’ เผย รับเงินสดสบายใจกว่า

(31 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่งในวันนี้มีเสียงสะท้อนจากร้านขายของชำในพื้นที่ จ.ชัยนาท ที่ส่วนใหญ่บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการเพราะกังวลกับสารพัดปัญหาที่จะต้องเจอ

รายแรกเจ๊โบ๊ะ แม่ค้าร้านชำประจำหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท บอกกับทีมข่าวว่า ตนเองจะไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน เพราะเป็นการขายที่ไม่ได้รับเป็นเงินสด ซึ่งตนกังวลว่าจะจมทุน เพราะเงินดิจิทัลที่ได้มา ไม่สามารถเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้สะดวกนัก เพราะถ้าจะแปลงเป็นเงินสดก็ต้องใช้เวลา ซึ่งตนมองว่าจะเป็นการจมทุนเสียเปล่า ๆ ยิ่งร้านตนเป็นร้านเล็ก ๆ ทุนน้อย ยิ่งจะเอาทุนไปจมกับเงินดิจิทัลก็จะเกิดความเสี่ยง จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมดีกว่า ขายเงินสดก็เพียงพอที่จะมีกำไรและอยู่ได้

ด้านเฮียเป้า เจ้าของร้านขายของชำหน้าวัดท่าช้าง อ.เมืองชัยนาท ก็พูดทำนองเดียวกันว่า ตนเคยเหนื่อยกับโครงการบัตรคนจนมาแล้ว และจะไม่ขอเหนื่อยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีกอย่างแน่นอน เพราะตนมองเห็นปัญหาล่วงหน้า ทั้งระบบการสแกนจ่าย การยืนยันตัวตน ที่ระบบจะมีปัญหาเวลาคนใช้พร้อมกันมาก ๆ และที่สำคัญตนเองจะต้องเอาเงินสดลงทุนไปก่อน จึงจะมาขาย รับเป็นเงินดิจิทัล ที่จะดึงออกมาเป็นเงินสดก็ไม่สะดวกตามที่ต้องการ ดังนั้นตนจึงไม่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเห็นความยุ่งยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนลุงจงเจ้าของร้านชำอีกแห่งหนึ่งก็ยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลกับการแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินสดในโครงการนี้ แต่เมื่อนึกถึงว่า ลูกค้ามีเงินอยู่ในมือคนละ 10,000 บาท นั่นหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลที่รออยู่ จะปฏิเสธรายได้จุดนี้โดยไม่เข้าร่วมก็น่าเสียดาย ตนจึงจะลงทะเบียนร่วมโครงการในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม

‘ปชช.’ แห่ลงทะเบียน 'ทางรัฐ' รับสิทธิเงินดิจิทัล จนขึ้นเทรนด์ X หลายรายโอด!! แอปฯ ‘ค้าง-เด้งออก’ หลังเปิดให้กรอกมา 1 ชม.

(1 ส.ค. 67) วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนยืนยันรับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก โดยแฮชแท็ก #แอปทางรัฐขึ้นอันดับ 1 เทรนด์แอปพลิเคชัน X รวมถึง #ดิจิทัลวอลเล็ต ก็อยู่อันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดลงทะเบียนมาประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มมีหลายรายบ่นว่า แอปทางรัฐมีอาการค้าง หรือบางรายก็ล็อกอินเข้าระบบแล้วก็เด้งออก รวมถึงบางรายก็ได้รับข้อความ แจ้งขออภัย เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่บางคนก็สามารถลงทะเบียนได้

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเอส และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ตั้งวอร์รูม รองรับการแก้ไขปัญหาการลงทะเบียนที่อาจไม่คาดหมายที่จะเกิดขึ้น และหากประชาชนมีข้อสงสัย หรือติดปัญหาใด สามารถติดต่อ Call Center ได้ที่หมายเลข 1111

‘จุรินทร์’ เหน็บ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แค่เงินยาไส้ชั่วคราว หากพ้นช่วงกู้มาแจก ปัญหาปากท้องก็ยังวนมาเหมือนเดิม

จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้อภิปรายว่า... 

แนวความคิดทางเศรษฐกิจ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา อ่านหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์เมื่ออ่านพร้อมกัน มาวิเคราะห์ ก็มีข้อถกเถียงกันเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ขณะนี้ รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีก่อนที่อัตราการเจริญเติบโตตกต่ำ จนขณะนี้เจริญเติบโตในระดับต่ำสุดของภูมิภาค จึงยืนยันถึงความจำเป็นของการมีเม็ดเงินเติมลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนตัวเลขที่คณะกรรมการหลายท่านอ้างขึ้นมา เป็นตัวเลขที่รัฐบาลตระหนัก และดูอย่างใกล้ชิด สัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้รัฐ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่มีตัวเลขใดที่สุ่มเสี่ยงจะทะลุเกินจะผิดพลาดไปตามกลไกที่เราตรากฎหมายกำกับไว้ ซึ่งก็รับทราบ เพราะมีหน่วยงานรัฐมาชี้แจงในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ว่าขณะนี้ การประมาณการไปข้างหน้าอีกหลายปี ไม่มีกรอบว่าตัวเลขใดจะเป็นปัญหา รัฐบาลยืนยันว่า ทำไปด้วยความรอบคอบ และจะไม่ให้มีปัญหาวิกฤติใด ๆ เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนของโครงการนี้คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราโตต่ำ โดยในปีนี้ด้วยการผลักดันตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งการเปิดฟรีวีซ่า เสริมความง่ายในการดำเนินธุรกิจ ตัวเลขในไตรมาส 2 โตจากไตรมาส 1 ขึ้นมา ด้วยการเร่งเครื่องของรัฐบาล และประกอบกับนโยบายที่เติมลงไป และการเติมเงิน 10,000 บาท เชื่อมั่นว่า จะดึงการเจริญเติบโตไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมคือ 4-5% ให้ได้ หากทำได้เช่นนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นตัวหารของหนี้ต่าง ๆ ซึ่งหากเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐ ตัวเลขที่กังวลว่าจะไปเกิน หรือไปปริ่ม ก็จะสามารถแก้เรื่องนี้ได้

ประเด็นแรก การแสดงความห่วงใยด้านการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เกือบทุกท่านใช้คำว่าสุ่มเสี่ยง ซึ่งใจความหนึ่ง ก็หมายความว่ายังอยู่ในกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานได้มาชี้แจงในทุกประเด็นแล้ว ซึ่งประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุดคือการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ที่อาจมีการเบิกจ่ายในไตรมาส 4 จะสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่

ตามมาตรา 21 ของกรอบวินัยการเงินการคลัง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายปีถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงิน

พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 4 กำหนดคำว่าหนี้ คือ ข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย อาจจะต้องจ่ายเป็นเงิน สิ่งของ หรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อผูกพันที่เกิดจากการกู้ยืม ค้ำประกัน การซื้อ หรือการจ้าง โดยใช้เครดิต หรือการอื่นใด ดังนั้น การก่อหนี้ผูกพันจึงไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะกรณีมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเป็นที่แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงข้อผูกพันที่อาจทำให้ต้องจ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการโครงการของรัฐ อาจมีการทำสัญญากับประชาชนโดยตรง แต่ดำเนินการผ่านแผนงาน หรือโครงการประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 40 กำหนดให้การจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันของหน่วยงบประมาณ ต้องเป็นไปตามแผนการบริหารงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

ดังนั้น การที่รัฐบาลทำโครงการนี้ ให้ประชาชนลงทะเบียน โดยมีการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นข้อผูกพันที่ต้องจ่ายตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของหนี้ โดยในการชี้แจง ได้บอกชัดเจนในคณะกรรมาธิการว่าเป็นการเสนอ และสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิ์ ก็เสนอกับรัฐ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิ์ คือการสนองตอบตามข้อสัญญา ก็มีนิติกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่นเดียวกับโครงการในอดีตของรัฐบาล

ล่าสุด (1 ส.ค. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนสิงหาคมว่า อาจจะเป็นเดือนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในหลายกรณี เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่ประดังกันเข้ามาในช่วงเดือนสิงหาคมพอดี แต่ถ้าดูให้ลึกจะเห็นว่า แต่ละสถานการณ์มันมีที่มาที่ไปหรือเกิดแต่เหตุ ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจงใจสร้างขึ้นมาได้ และหลายเหตุก็มาจากการกระทำของรัฐบาลเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แต่ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร มันก็มีทางออกของมัน ในฐานะของผู้ที่อยู่กับการเมืองจึงไม่ได้รู้สึกห่วงใยอะไรเป็นพิเศษ แต่ที่เห็นว่าน่าห่วงเป็นอย่างยิ่งคือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของคนรากหญ้าไปถึงคนชั้นกลาง ที่กำลังประสบกับภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้มากขึ้นทุกวัน ทั้งภาวะค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน ที่มีรายได้มาเท่าไหร่ต้องใช้หนี้ 90 กว่า% จนคนไทยต้องจมปลักอยู่กับภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ธุรกิจจีนเข้ามากินรวบกิจการคนไทย ธุรกิจฐานรากไทยเข้าคิวปิดกิจการ เป็นต้น

“ที่สำคัญจนถึงวันนี้ยังไม่มีแสงสว่างใด ๆ จากปลายอุโมงค์ให้เห็น นอกจาก ‘เงินยาไส้ชั่วคราว’ ก้อนเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเมื่อพ้นจากดิจิทัลวอลเล็ตหรือเงินกู้มาแจกแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนจะมีอะไรหลงเหลือให้หวังได้อีก” นายจุรินทร์ กล่าว

น่าคิด!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ใช้จ่ายได้จริงเดือนสุดท้าย ปี 67 เป็น 'พายุหมุนเคลื่อน ศก.' หรือแค่ 'ต่อลมหายใจรัฐบาล'

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสิทธิโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแอปฯ 'ทางรัฐ' และปิดการลงทะเบียนในวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิฯ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเมื่อครั้งแถลงข่าวใหญ่ 'ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้' เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก คือ 

1.ระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับประชาชน 
2.ร้านค้าเล็กกับร้านค้าใหญ่ 
3.ร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ 
และ 4.เกิดการซื้อขายโปร่งใสกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยประชาชน 

สถานการณ์ของประเทศไทย ในขณะนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว และถดถอย GDP โตต่ำกว่า 2.0 % สาเหตุสำคัญคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก ด้วยความล่าช้าในการจัดตั้งงบประมาณ เพราะต้องรอการจัดสรรเม็ดเงินไปยังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หน่วยงานต่าง ๆ จึงแทบจะไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ กอปรกับการส่งออก ที่ยังคงติดลบ และขาดดุล การค้า ด้วยการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน เริ่มลดลงจากเดือนที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนก็ติดลบจากเดือนก่อน 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงต้นปี ทั้งมาตรการ Easy e-Receipt แพ็คเกจกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน แทบจะขยับได้เพียงเล็กน้อย ด้วยประชาชนเองก็ต้องควบคุมการใช้จ่ายโรงงานต่างๆ ปิดลงเป็นจำนวนมาก การเข้าถึงสินเชื่อแทบจะเป็นไปได้ยาก ดูได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อทั้งบ้าน รถ ที่สูง การจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงทุกเดือน

การลดราคาของรถยนต์ไฟฟ้า เหมือนจะเป็นข่าวดีที่มีสินค้าลดราคา เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ แต่กลับส่งผลบางด้านต่อการแข่งขัน โรงงานผลิตรถยนต์สันดาป ประกาศปิดโรงงาน ไปหลายแบรนด์ ปั๊มแก๊ส ทยอยปิดตัว ด้วยราคา NGV-LPG ที่ปรับราคาแพงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศผ่อนปรนขยายระยะเวลาการชำระหนี้บัตรเครดิต ขั้นต่ำ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่จะขยับเป็น 10% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ถึงแม้จะกำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ที่ชำระหนี้ขั้นต่ำได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนทุก 3 เดือน แต่จะมีลูกหนี้มากน้อยแค่ไหน ที่จะชำระได้มากขึ้น ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ 

ความหวังสุดท้ายของรัฐบาล จึงแทบจะฝากไว้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่หากสามารถโอนเม็ดเงินให้ประชาชนใช้จ่ายได้จริง ก็ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้ เพราะกำหนดการเริ่มใช้จ่าย ก็เป็นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีแล้ว 

จะสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ 4 ลูก เพื่อขยับจีดีพีประเทศให้ขยายตัวไปข้างหน้า? หรือเพียงแค่ต่อลมหายใจให้รัฐบาล ได้อยู่ต่อไปอีกระยะ ความหวังเฮือกสุดท้าย ของทั้งรัฐบาล และ ประชาชนคนไทย... 

'ภูมิธรรม' เลื่อนแถลงร้านค้า 'ดิจิทัลวอลเล็ต' หวังลดซ้ำซ้อนลงทะเบียน ปชช. พร้อมเปิดทาง 'ธงฟ้าของถูกทั่วไทย ลดค่าเช่าแผงค้า' เดินหน้าก่อน

(4 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะมีการเลื่อนแถลงข่าว ‘ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่กำหนดไว้วันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่กระทรวงพาณิชย์ ออกไปเป็นเดือนกันยายน เพราะไม่ต้องการให้ซ้ำซ้อนกับการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตของประชาชน อยากให้ผ่านขั้นตอนนี้ไปก่อน

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมความพร้อมเรื่องร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว โดยนายภูมิธรรม ย้ำว่า เบื้องต้นมีร้านธงฟ้าในเครือข่ายกว่า 1.44 แสนร้านค้าที่จะเข้าร่วม

และ ในสัปดาห์นี้ จะเริ่มโครงการลดภาระและต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยลดค่าเช่าพื้นที่หรือให้พื้นที่ขายของโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้
โดยกระทรวงพาณิชย์ ประเดิมยกเว้นเก็บค่าใช้พื้นที่ขายของรายเดือน แบ่งเป็น ร้านจำหน่ายในศูนย์อาหารสวัสดิการ 43 ร้านค้า และ แผงค้าในตลาดนัดที่จัดทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และศุกร์ จำนวน 993 แผง

‘จุลพันธ์’ แย้ม!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ มีทางออกที่ดี ชี้ ขอให้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจะแถลงครั้งเดียว

(20 ส.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีกระแสข่าวว่าจะยกเลิก ว่า ตอนนี้มีทางไป และมีทางออกที่ดี แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด ขอให้ขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจะแถลงครั้งเดียว 

เมื่อถามย้ำว่า ที่ระบุว่าจะมีทางออกที่ดี นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ใช่ แต่รอให้ชัดเจนสักนิดนึง ขอย้ำว่ามีทางออกที่ดี เมื่อถามว่าแสดงว่าจะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ หัวเราะพร้อมกล่าวว่า มีทางออกที่ดีครับ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง ที่มีข่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะถอนตัวจริงหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่าไม่รู้เลย เรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ขอไม่ตอบแล้วกัน ส่วนตัวตนไม่ทราบอะไร เมื่อถามว่าวันที่ 19 ส.ค. ได้พบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอคำแนะนำอะไรหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการขอคำแนะนำอะไรเป็นการพูดคุยถึงภารกิจที่ยังค้างอยู่ว่ามีอะไรบ้าง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top