Monday, 20 May 2024
ดิจิทัลวอลเล็ต

‘สส.วันนิวัติ’ บอก!! ปชช.ต้องการเงินดิจิทัล 1 หมื่น เพื่อต่อยอดธุรกิจ

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ 286 หมู่บ้าน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน อยากได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท คาดหวังนำเงินไปต่อยอดทำธุรกิจ ความคิดเห็นนักวิชาการบางส่วนเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์ เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนำไปพิจารณาต่อ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน คนเกิดมาไม่เท่ากัน แต่รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้สิทธิประชาชนทุกคนใกล้เคียงกัน ลดความเหลื่อมล้ำให้มากที่สุด

‘สส.จิรัชยา’ ชี้!! ปชช. ผิดหวัง หลังนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ค้านเงินดิจิทัล 1 หมื่น ชี้!! หลายคนวางแผนใช้เงินเพื่อต่อยอดอาชีพ หวั่นไม่ได้รับเงิน

น.ส.จิรัชยา สัพโส สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบประชาชน อ.พรรณานิคม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร พบว่าหลังจากมีความเห็นนักวิชาการบางส่วนคัดค้านโครงการนี้ ทำให้ประชาชนผิดหวัง เนื่องจากวางแผนช่วงต้นปี 67 จะนำเงินดิจิทัลไปต่อยอดอาชีพ ซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าว อุปกรณ์ซ่อมบ้านที่ผุพัง สะท้อนให้เห็นประชาชนรอคอยเงินดิจิทัลเข้ามาเติมเต็มชีวิตที่ยากลำบากตลอดหลายปีที่ผ่านมา

‘สส.สุดารัตน์’ ชี้!! ชาวบ้านหวั่นใจไม่ได้เงิน 1 หมื่น ถาม!! เสียง ปชช. กับนักวิชาการ ใครดังกว่ากัน

น.ส.สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้สภาพเศรษฐกิจแย่มาก พื้นที่ในเมืองหรือชนชั้นกลางอาจมองไม่เห็น แต่ประชาชนในพื้นที่ลำบากมาก ที่ผ่านมาประชาชนหมดความหวัง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จจึงมีความหวังกับหลายนโยบายพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อมั่นเศรษฐกิจต้องดีขึ้นจากหลายนโยบายที่เป็นความหวัง การได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีได้ การหาเงินให้ถึง 1 หมื่นบาท ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นความหวังประชาชน ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 3-4 คน สามารถวางแผนรวบรวมกัน นำเงินไปต่อยอดอาชีพ แต่พอมีกระแสคัดค้าน ชาวบ้านถามว่า จะได้เงินไหม ถ้าไม่ได้เงินนี้ไปต่อยอดความหวัง คงต้องทุกข์แล้ว ทุกข์ต่อ ทุกข์อีก อยากรู้เสียงชาวบ้าน กับเสียงนักวิชาการ เสียงใครดังกว่า

‘สามารถ แก้วมีชัย’ ข้องใจ ‘ผลดี-ผลเสีย’ แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น จะเชื่อ ‘รัฐบาล’ หรือ ’นักเศรษฐศาสตร์’ ดีกว่ากัน?

(8 ต.ค. 66) นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า…

นโยบายแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท ที่ต้องใช้งบประมาณทันทีถึงห้าแสนหกหมื่นล้านบาท กับผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จะให้เชื่อใครดี ระหว่างรัฐบาลกับนักการเงิน การธนาคารและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์    

‘คลัง’ เตรียมเปิดลงทะเบียนร้านค้าร่วม ‘เงินดิจิทัล’ พ.ย.นี้ ยัน!! จ่าย 1 หมื่นครั้งเดียว-ไม่แบ่งงวด ใช้จริง ก.พ. 67

(10 ต.ค. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566 จะเริ่มเปิดลงทะเบียนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หลังจากนี้

ดังนั้นจึงยืนยันว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้ทัน ที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้โครงการรัฐที่ผ่านมามีประชาชนยืนยันตัวตนมาแล้ว 40 ล้านคน ที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ แต่ยังมีผู้ที่ยังไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลอีกประมาณ 10 ล้านคน ด้วยกฎหมายที่กำหนด ทั้งรัฐบาลยืนยันจะเติมเงินดิจิทัลให้ทุกคนที่มีสิทธิครั้งเดียว 10,000 บาท โดยไม่มีการแบ่งจ่ายเงินเป็นงวด ๆ แน่นอน แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อเสนอให้เปลี่ยนเงื่อนไขแบ่งเป็นงวด เพราะเห็นว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่ที่ผ่านมามีข้อเสนอให้แบ่งจ่ายเป็นงวดเข้ามาจริง

สำหรับนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จำเป็นต้องเปิดให้ลงทะเบียน แต่การลงทะเบียนในโครงการ ไม่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนโครงการเพื่อไม่ให้โครงการต้องใช้เงินมากถึง 5.6 แสนล้านบาทใช่หรือไม่

รมช.คลังบอกว่า ไม่เกี่ยวกันเนื่องจากเมื่อมีการเดินหน้าโครงการนี้แล้วรัฐบาลก็ต้องหาแหล่งเงินมาเพื่อรองรับโครงการอยู่แล้วโดยไม่ได้รอว่าจะมีจำนวนการลงทะเบียนจำนวนเท่าไหร่ในการทำโครงการ โครงการนี้จะใช้งบประมาณเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้มีตัวเลือกให้กับรัฐบาลหลายทางเลือก แต่จะใช้ทางเลือกที่ดีที่สุด คือการเกลี่ยงบประมาณและปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และขณะนี้เป็นช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

ยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่มีแนวคิดที่จะขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ หรือลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจลงโดยการขายหุ้นออกมากเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการนี้อย่างแน่นอน โดยเบื้องต้นทางเลือกแรกที่รัฐบาลจะใช้คือการเกลี่ยงบประมาณและปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้งบประมาณที่เป็นไขมันส่วนเกินแล้วจะนำงบประมาณที่เหลือมาใช้ในการพัฒนาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะไปดูในรายละเอียดว่ามีโครงการใดบ้างที่ไม่จำเป็น

ขณะนี้เป็นช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 อยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ ดังนั้นโครงการใดที่ไม่จำเป็นหรือเป็นไขมันส่วนเกินที่สามารถปรับลดได้หรือตัดได้ โดยนำงบประมาณที่เหลือมาใช้ในการพัฒนาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะไปดูในรายละเอียดว่ามีโครงการใดบ้างที่ไม่จำเป็น

‘ตรีชฏา’ ชี้!! มีขาประจำปล่อยเฟกนิวส์โจมตี ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ซัด!! ออกตัวขวางสุดลิ่ม ไม่สนว่าเป็นนโยบายเพื่อประชาชน

(19 ต.ค. 66) น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า การออกมาแสดงความเห็นของกลุ่มที่คัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถือเป็นเรื่องปกติของการกำหนดนโยบายสาธารณะใหม่ ๆ ที่ย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟังทุกฝ่าย แต่สำหรับกลุ่มขาประจำในทางการเมืองที่อยู่ในวุฒิสภาและอดีตนักการเมืองไม่กี่คน จะออกมาเป็นระยะ ๆ เพื่อขวางไม่ให้นโยบายนี้เดินหน้าได้สำเร็จ โดยหลงลืมไปว่านโยบายนี้ กกต.ได้รับรองแล้วว่าเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงได้และไม่เป็นการสัญญาว่าจะให้ เพราะเป็นการใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ชี้แจงยืนยันหลายครั้งแล้วว่านโยบายนี้จะเดินหน้าต่อและจะไม่มีวันยุติอย่างแน่นอน อีกทั้งยังไม่ใช่นโยบายแจกเงิน แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อนำมาปรับปรุงบางอย่างให้ตอบโจทย์การปลุกเศรษฐกิจให้คืนชีพ และมีแรงที่เข้มแข็งทางด้านเงินหมุนเวียน ซึ่งภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายกำลังเร่งประชุมคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งจะสามารถตอบคำถามต่าง ๆ เช่น แหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขผู้ได้รับเงินดิจิทัล กระบวนการแจกเงินซึ่งรายละเอียดที่มาของเงิน วิธีการใช้ ความคุ้มค่าและประโยชน์การดำเนินการ ซึ่งอีกไม่กี่วันผู้เกี่ยวข้องจะออกมาอธิบายต่อสาธารณะโดยละเอียด

น.ส.ตรีชฎา กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีผู้กล่าวหาว่าจะเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องเรื่องการจัดทำแอปพลิเคชัน นายกฯ ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีการจ้างบริษัทเอกชนใด ๆ มาจัดทำโดยมีค่าใช้จ่าย 12,000 ล้านบาทอย่างที่มีการกล่าวหากัน และเป็น Fake News จึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจเพราะการดำเนินการใด ๆ ล้วนอยู่ในสายตาของสื่อและสังคม ขอให้ประชาชนอย่าไปหลงเชื่อ Fake News ที่หลอกลวงทำให้เข้าใจผิด แปลงเจตนาดีเป็นเจตนาร้าย ยืนยันว่ารัฐบาลเพื่อไทยดำเนินนโยบายทุกอย่างตามที่ได้หาเสียงไว้ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ 

ขณะนี้มีความพยายามปล่อยข่าวว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะคนเลือกพรรคเพื่อไทยมีแค่ 10 ล้านคน อีก 60 ล้านคนไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ตรรกะและเหตุผล เพราะตามระบอบประชาธิปไตยมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะนี้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกำลังมุ่งแก้ปัญหาให้ประเทศ ทำให้คนส่วนใหญ่มีเงินใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนเป็นแสนล้านบาท ประการสำคัญคือการช่วยคนจนให้มีเงินทองใช้จ่ายซื้อข้าวของมาใช้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ร้านค้าร้านขายมีรายได้ ภาครัฐก็จะได้เป็นภาษีตามระบบ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลตั้งใจมาแก้วิกฤตประเทศ และต้องการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นฐานรากสำคัญของประเทศเหล่านี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

'พปชร.' ส่งกำลังใจ โครงการดิจิทัล 1 หมื่นรัฐบาล เชื่อ!! ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ร่วมโหนวิจารณ์

(21 ต.ค.66) ที่รร.อินเตอร์คอนติเนนตัน จ.ภูเก็ต นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์การแจกเงิน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ของรัฐบาล วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ว่า เรื่องระบบการเงิน การคลัง อยู่ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะระดมเงินอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล

นายสันติ กล่าวต่อว่า โดยพรรคพลังประชารัฐ มีการคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคแล้ว จึงขอส่งกำลังใจไปถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขณะนี้หัวหน้ารัฐบาล กำลังเร่งรัดทำโครงการให้สำเร็จ และการที่ประชาชนจะได้เงินคนละ 1 หมื่นบาท ถือเป็นประโยชน์ ส่วนการวิจารณ์หรือพูดอะไรเห็นว่าไม่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากโครงการนี้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ รัฐมนตรีในส่วนของพรรคพปชร. จะสนับสนุนหรือไม่ นายสันติ กล่าวว่า ตอนนี้โครงการยังไม่เข้าไป พูดล่วงหน้าอาจจะยังไม่เหมาะเท่าไหร่

เมื่อถามว่าระหว่างที่กำลังดำเนินโครงการ มีเรื่องใดที่น่ากังวล หรือจะมีประสิทธิภาพอย่างไร นายสันติ กล่าวว่า เรื่องแหล่งเงินหรือความเหมาะสม ประชาชนที่มีความรู้ ความสามารถ นักวิชาการ หรือผู้บริหารการเงิน ผู้เชี่ยวชาญ มีความคิดหลากหลาย ได้มีการวิจารณ์พูดคุย เพื่อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามว่าความคิดเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เกรงว่าจะมีความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ นายสันติ กล่าวว่า โครงการนี้ถ้าแจกได้ 56 ล้านคน ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ซึ่งก็ต้องดูพรรคแกนนำดำเนินการ เราก็เอาใจช่วยตลอด

‘จุลพันธ์’ ยัน!! ไม่ได้ลอกดิจิทัลวอลเล็ตจาก ‘ญี่ปุ่น’ ชี้ บริบทต่างกัน เผย กำลังเร่งพิจารณา ถ้าไม่ทันขยับเวลาแจก ย้ำ สัปดาห์นี้ชัดเจนแน่

(23 ต.ค. 66) ที่ลานพระบรมราชวัง ราชานุสรณ์ พระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยข้อมูลว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นว่า ต้นแบบไม่ใช่แต่มีกระบวนการที่เขาเคยดำเนินการลักษณะคล้ายคลึงกันในปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องของการแจกคูปอง ซึ่งตนเห็นแล้วและได้ไลน์ไปขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก น.ส.ศิริกัญญา เป็นของประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน และเราก็ได้นำมาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อที่จะได้นำข้อดีและข้อเสียของสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันเคยใช้ เรานำมาศึกษาก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนการเปรียบเทียบนั้น ตนคิดว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าบริบทมีความแตกต่างในปี 1999 และในปัจจุบัน ขณะเดียวกันประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นก็มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

เมื่อถามถึง กรณีเลื่อนประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนสงสัยว่าได้รับเงินจากนโยบายนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป้าหมายยังคงอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่หากมีการประชุมคณะอนุกรรมการในสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ขอให้อดใจรอนิดหนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า จะยังคงเป็นในกรอบเวลาเดิมหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า “จะพยายามครับ จะพยายาม”

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการระบุว่า หากไม่ทันจริงๆ จะมีการรายงานนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับกรอบเวลาของโครงการ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมั่นใจว่าเมื่อเปิดใช้บริการจะต้องมีความปลอดภัย ข้อมูลของประชาชนมีการรักษาความปลอดภัย ทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่สามารถละเลยได้ หากมีอะไรที่ยังเป็นข้อติดขัด เราต้องค่อยๆ หาทางสอบถามและแก้ไข ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการสั่งการหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ และยังตอบไม่ได้ว่าการประชุมคณะอนุกรรมการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

เมื่อถามว่า หากจำเป็นต้องเลื่อนจริงๆ จะเลื่อนไปเป็นช่วงใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่จะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้

เมื่อถามว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้มีไม่ทันกรอบเวลา นายจุลพันธ์กล่าวว่า เยอะแต่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ได้หมายความว่าเราจะเลื่อน เรายังยึดมั่นในกรอบเดิมตามที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

เมื่อถามว่า แหล่งที่มาของเงิน หรือแอพพลิเคชั่น ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะต้องทำให้เลื่อนการแจกเงินใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า แหล่งที่มาของเงินเป็นปัจจัยหลักแน่นอน ทุกอย่างถือเป็นปัจจัยหลักไม่มีปัจจัยสำรอง ทุกเรื่องมีความสำคัญเท่ากันหมด เราต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เรามีความระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องเงินกู้กับธนาคารออมสิน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันตลอดว่าที่มาของเงินดำเนินโครงการไม่มีปัญหาแต่ตอนนี้กลับไม่มีความชัดเจนติดปัญหาในส่วนใด นายจุลพันธ์กล่าวว่า เนื่องจากต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อคณะอนุกรรมการมีการประชุมและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลและรวบรวมรายงานส่งมายังคณะอนุกรรมการ ขณะนี้จึงต้องรอรายงานเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นตามกฎหมายไม่สามารถลัดวงจรได้ ไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้

'อนุทิน' ยัน 320 เสียงพรรคร่วมฯ หนุนดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 แต่หากในอนาคตมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็ต้องตรวจสอบ

(24 ต.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกระแสพรรคร่วมรัฐบาลพยายามลอยแพพรรคเพื่อไทย หลังมีกระแสด้านลบเกี่ยวกับเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ยืนยันว่าไม่มีการลอยแพ ตนเองก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่หากในอนาคตมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็ต้องตรวจสอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะมาเป็นนโยบายรัฐบาลไม่ได้ และเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคร่วมจะต้องช่วยกันสนับสนุน แต่ก่อนจะออกเป็นนโยบายจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และการตราเป็นพระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้วเราก็มีหน้าที่ในการทำให้นโยบายของรัฐบาลได้รับการผลักดัน พร้อมย้ำว่าไม่มีการลอยแพอยู่แล้ว แต่อยู่ในเรือนแพ

เมื่อถามว่า กรณีที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าอยากให้เป็นการใช้เงินเฉพาะกลุ่ม จะมีผลกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำมาพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ตามรัฐธรรมนูญและทำได้จริง ขออย่าไปมองว่า มีนโยบายอะไรที่เป็นพิเศษขึ้นมา เพราะนโยบายนี้ถือเป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องมั่นใจว่าการนำไปใช้ ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักกฎหมาย ส่วนที่ขณะนี้มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังขาดเสียงสนับสนุนนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาล 320 เสียง ต้องสนับสนุน 

เมื่อถามว่า ในฐานะคณะรัฐมนตรีหากในท้ายที่สุดนโยบายนี้มีปัญหาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ นายอนุทิน ย้ำว่า นโยบายนี้ไม่ใช่ว่าจะนำออกมาใช้ได้เลย ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา แต่ในขณะนี้ก็ยังสนับสนุนในฐานะเป็นรัฐบาล แต่หากดูแล้วมีอะไรที่เป็นปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ระเบียบ ก็ต้องคุยกันเพื่อหาทางออกให้ได้

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหดตัว คือ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพราะโดยปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตต่อปีประมาณ 1.5 เท่าของอัตราเติบโตของ GDP แต่หลายเดือนที่ผ่านมาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์กลับติดลบแบบ YOY ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก ซึ่งผมหวังว่านักวิชาการและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหัดดูตัวเลขเหล่านี้บ้าง ยังจะเป็นประโยชน์กว่าไปลอกตำราฝรั่งมา

ฉะนั้น หากมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะจำเป็นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะ และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

อ.พงษ์ภาณุ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมแจกทุกคนเหมือนกันหมด อยากเรียนว่ามาตรการนี้ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคม แต่เป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คนไทยทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ได้รับผลกระทบจากโควิดหรือสงครามเหมือนกันหมด และคนไทยทุกคนก็ควรมีโอกาสใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งทรัมป์และไบเดน ก็ได้จ่ายเช็คไปยังทุกครัวเรือนในจำนวนเท่ากันเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top