Monday, 7 July 2025
ชัชชาติ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมวางพวงมาลาและกล่าวรำลึก ในงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ประจำปี 2566

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมวางพวงมาลาและกล่าวรำลึก ในงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ประจำปี 2566 และกล่าวรำลึกในภายในงาน รวมทั้งผู้แทน 3 ศาสนา ได้แก่ พุทธ อิสลาม และคริสต์ ผู้แทนพรรคการเมือง ตลอดจนประชาชน ร่วมกิจกรรม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร

โดยในช่วงหนึ่งของงาน นายชัชชาติได้กล่าวสดุดีวีรกรรมของเหล่าวีรชนผู้กล้าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไว้ว่า…

“ขอกล่าวง่าย ๆ เพียงประเด็นเดียวว่า เผด็จการฉลาดขึ้น คนที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยฉลาดขึ้น เราดูบทเรียนจาก 14 ตุลา เขาก็ดูบทเรียนเหมือนกัน เช่นเดียวกับเผด็จการทั่วโลกที่ฉลาดขึ้น

ฉะนั้น เราต้องรู้เท่าทัน เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนทะเลาะกัน เมื่อนั้นเผด็จการจะเข้ามาฉวยโอกาสทุกที สิ่งสำคัญที่สุด คือ พวกเราต้องตื่นรู้ในตัวเราเอง เผยแพร่อุดมการณ์ ความคิด และเหตุการณ์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจด้วยตัวเอง เพราะเมื่อมีความเข้าใจถึงปัญหา มีความสามัคคีกัน ก็จะไม่หวั่นไหวต่อคนไม่หวังดีต่อประชาธิปไตยที่จะทำให้เราแตกกัน

ขอให้พวกเราร่วมมือกัน กทม.พร้อมจะสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในทุกด้าน ขอให้กรุงเทพมหานครและประเทศไทยของเรา มีความเป็นประชาธิปไตยที่เจริญ มั่นคง โดยมีรากจากเมล็ดพันธุ์ที่วีรชนได้หว่านไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว” นายชัชชาติ กล่าว

‘อดีตผู้ว่าอัศวิน-สส.รทสช.’ เตรียมลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ถามหา “ชัชชาติ...สิ่งดีๆ คลองโอ่งอ่าง...หายไปไหน?”

(11 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ แจ้งกำหนดการ ของอดีตผู้ว่า กทม.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน หลังมีการแชร์และพูดถึงกันในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าเปลี่ยนไปจากเดิม

โดยกำหนดการดังกล่าว แจ้งว่า สส. เกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ถามหา “ชัชชาติ…สิ่งดีๆ คลองโอ่งอ่าง….หายไปไหน“

สืบเนื่องจาก นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้หารือ ในสภาฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ถึงกรณีทำไม! กทม.จึงปล่อยทิ้งคลองโอ่งอ่าง ให้กลับสู่สภาพเดิม จนหมดคุณค่าความเป็น Landmark แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และเมินจัด ‘ถนนคนเดิน’ ทั้งที่สร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่

โดยทั้ง 2 ท่าน จะลงพื้นที่ ในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 ในเวลา 10.30 น. เดินสำรวจ และรับเรื่องร้องเรียน จากผู้ค้า และ เวลา 11.30 น. จะมีการสอบถามเพิ่มเติม

'อลงกรณ์-ชัชชาติ' ผนึกความร่วมมือ 'กทม.-จีน' แก้ปัญหาพีเอ็ม2.5และลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเปิดเผยวันนี้(15 มี.ค.)ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า10คนเข้าพบหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกทม.ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า

การพบปะหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น“มหานครโซลาร์เซลล์”และ“กรุงเทพสีเขียว2030 “ของกรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศจีนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างในที่ดีในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดซึ่งกรุงเทพมหานครมีกลไกและแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาpm.2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points)และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่ 

1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ 
4. การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร 
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก

นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารกทม.และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน“กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality)และซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในปีค.ศ.2050และ2065ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ50ปีในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ2ประเทศในปี2568นับแต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี2518ซึ่งม.ล.สุภาพ ปราโมชผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้นและสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการเดินทางไปจีนถึง148ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์2ประเทศจนถึงทุกวันนี้โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างกระตือรือร้นและจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่14มีนาคม2567มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

ลือสะพัด”อลงกรณ์จะย้ายพรรคไปเพื่อไทยหลังพบชัชชาติ” เจ้าตัวแจงสร้างมิติใหม่ ”การเมืองไร้รอยต่อ“

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รัฐมนตรีและอดีต ส.ส.6สมัย พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวกรณีมีคำถามเรื่องการย้ายพรรคไปเพื่อไทยหลังจากมีข่าวไปพบหารือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยนายอลงกรณ์เขียนชี้แจงเรื่องนี้เกี่ยวกับ“การเมืองที่ไร้รอยต่อ”ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

“การเมืองที่ไร้รอยต่อ“ Seamless politics กรณีมีข่าว”อลงกรณ์-ชัชชาติ“ผนึกความร่วมมือ“กทม.-จีน”ด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟัาโดยฝ่ายหนึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร (พรรคประชาธิปัตย์)กับอีกฝ่ายหนึ่งนำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พรรคเพื่อไทย) ทำให้เพื่อนๆและสื่อมวลชนหลายคนสอบถามด้วยความกังขาว่าคุยกันรู้เรื่องหรือ??? บางคนตีความไปว่าผมจะย้ายพรรคไปเพื่อไทยใช่ไหม??? ผมถามกลับไปว่า ทำไมถึงคิดเช่นนั้นก่อนจะถามต่อไปว่า เข้าใจคำว่า “การเมืองที่ไร้รอยต่อ”(seamless politics)ไหม???  ย้อนถามแบบนี้ก็งงกันสิครับ

ผมอธิบายสั้นๆว่า “การเมืองที่ไร้รอยต่อ” หมายถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่อยู่คนละพรรคทำงานร่วมมือกันได้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยก้าวความความแตกต่างทางการเมืองหรือการแข่งขันทางการเมือง ผมเชื่อว่าท่านผู้ว่าชัชชาติก็มีแนวความคิดความเชื่อเช่นเดียวกับผมในเรื่องการเมืองที่ไร้รอยต่อ ท่านให้เกียรติและแสดงออกอย่างกระตือรือร้นในระหว่างการประชุมหารือ และแสวงหาความร่วมมือที่เป็นไปได้ในทุกมิติ โดยปราศจากร่องรอยการแบ่งพรรค แบ่งฝ่าย ยิ่งกว่านั้นเรายังได้พูดถึงความร่วมมือในการยกระดับการศึกษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆเช่น เยเนอเรทีฟ เอไอ(Generative AI-ปัญญาประดิษฐ์) ในระบบ AI Classroom และความร่วมมือในโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030( Green Bangkok 2030)เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและคุณภาพของเมืองหลวงของประเทศ เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างท่านผู้ว่าชัชชาติและผมคือหนึ่งในตัวอย่างของการเมืองที่ไร้รอยต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความกันขาให้กับเพื่อนๆ และสื่อมวลชน ผมเข้าใจดีว่า การเมืองบ้านเรา เคยชินกับวัฒนธรรมทางการเมืองที่มุ่งต่อสู้แข่งขันแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายหมายเอาชนะคะคานกัน ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง แต่สำหรับผมคิดว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคือการแข่งขันอีกด้านหนึ่งคือความร่วมมือ การเมืองจึงไม่ได้มีแค่เรื่องการแข่งขันหรือการต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น แต่การเมืองสามารถร่วมมือกันได้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติและนี่คือวิถีของการเมืองสร้างสรรค์ที่ผมยึดถือเชื่อมั่นมาโดยตลอดและอยากเห็นวัฒนธรรมทางการเมืองไทยแบบนี้เป็นรากฐานใหม่ของการเมืองไทย สรุปคือไม่มีการย้ายพรรคครับ”

"Seamless politics" is a concept that refers to a political environment or system where different political parties or entities work together smoothly and effectively without experiencing significant disagreements, conflicts, or disruptions. In a seamless politics scenario, there is a high level of cooperation, collaboration, and communication among different stakeholders in the political arena. This leads to more efficient governance, better decision-making processes, and potentially improved outcomes for society as a whole.

ป้ายใหม่ ‘กทม.’ เริ่มปูดพอง หลังเปลี่ยนใหม่ ได้สัปดาห์เดียว

(4 มิ.ย. 67) PPTV ได้รายงานข่าวพร้อมเผยภาพป้าย... ว่า ป้ายสติกเกอร์ ‘กรุงเทพฯ-Bangkok’ บนคานรางรถไฟฟ้าที่สี่แยกปทุมวัน มีบางจุดเริ่มปูดพองขึ้นมา หลังจากได้เปลี่ยนป้ายใหม่ ได้สัปดาห์เดียว

ขณะที่นักท่องเที่ยวยังคงมาถ่ายรูปเช็กอินกันอย่างต่อเนื่อง โดยฟอนต์ ‘กรุงเทพฯ – Bangkok’ เป็นฟอนต์ใหม่ที่ กทม.จัดทำขึ้นภายใต้ CI (Corporate Identity) ของกรุงเทพมหานคร ชื่อว่าฟอนต์ ‘เสาชิงช้า’ มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

สำหรับการเปลี่ยนป้ายครั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ข้อความเก่าที่เห็นไม่ใช่การทาสีแต่เป็นสติกเกอร์ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ติดมานานทำให้ลอกได้ไม่หมด จึงใช้วิธีทำความสะอาดและติดสติกเกอร์ใหม่ทับลงไป

ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีผลกับชีวิต แต่ก็เป็นรายละเอียดของเมือง ดังนั้น หากใครว่างหรือผ่านไปผ่านมาก็สามารถถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ได้

'ชัชชาติ' เผยหลังหารือร่วม 'คีรี' อยู่ระหว่างทำเรื่องเข้าสภา กทม. ขออนุมัติจ่ายหนี้ BTS 1.1 หมื่นล้าน

(1 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ว่า ภาระหนี้มี 4 เรื่อง ที่จะต้องจ่าย โดยเรื่องแรก คือ ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้กทม.จ่ายเงินจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทม.ได้ทำเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครเพื่อขออนุมัติใช้เงินในการจ่ายหนี้ให้กับ BTS แล้ว

ส่วนหนี้ภาระก้อนที่ 2 และ 3 คือ ส่วนที่ยังฟ้องร้องอยู่ในคดีของศาลปกครองปี 2565 และจากปี 2565 ถึงปัจจุบัน ตามหลักแล้วก็น่าจะปฏิบัติตามหลักแนวทางเดียวกับหนี้ส่วนที่ 1 แต่เพื่อให้เดินอย่างรอบคอบและรวดเร็วขึ้น การหารือวันนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาส่วนนี้ว่าปัจจุบันและเรื่องที่ค้างในศาลปกครองที่ยังไม่มีการตัดสินจะทำอย่างไร

ในขณะที่ ส่วนที่ 4 คือเป็นเรื่องของอนาคต ว่าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่มีการเก็บเงินค่าโดยสารมาแล้ว จะมีหนี้ที่กทม.จะต้องจ่ายตาม สัญญามีหนี้การเดินรถอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่จ่ายต่อให้กับทาง BTS จึงมองว่าควรจ่ายเพื่อบรรเทาภาระให้กับ BTS หรือจะพิจารณาอย่างไร เพราะเป็นเงินที่เก็บมาแล้วซึ่งแม้ว่าไม่เยอะมาก แต่ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของ BTS ได้ จึงจะรีบพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องอนาคตซึ่งมีสัญญาระยะยาว จึงยิ่งต้องทำให้ถูกต้อง และทำงานร่วมกันได้ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

“ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน พิจารณาในส่วนภาระที่ยังค้างในส่วนที่ 2 และ 3 ส่วนที่ยังไม่ชำระ และเรื่องอนาคตว่าจะพิจารณาร่วมกันอย่างไร ซึ่งหนี้ก้อนที่ 1 จะเข้าสู่สภากทม. และได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาอยู่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ยืนยันว่าจะอยู่ในกรอบเวลาแน่นอน ส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องพิจารณาให้เร็วกว่า 180 วันด้วยซ้ำ ส่วนนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีการประชุมกันหลายรอบแล้ว”

ทั้งนี้ ยิ่งภาระส่วนที่ 1 ก็จะมีผลต่อส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไปด้วย ยอมรับว่าเห็นใจ BTS ส่วนตัวก็ขึ้น BTS มาทำงานทุกวัน เห็นพนักงานก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในขณะที่ กทม. เองก็ต้องทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย พยายามหาทางออกและเดินไปด้วยกัน

นายคีรี กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาที่กทม. ก็ขอบคุณผู้ว่าฯ ที่ได้ยินจากปากผู้ว่าฯ ตนเข้าใจแล้วว่า ท่านผู้ว่าฯ เข้าใจหมดแล้ว และพยายามจะทำให้ไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั้งกทม.และเอกชน ก็เชื่อว่าท่านผู้ว่าฯ เข้าใจในความลำบากของบริษัทที่เดินรถทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้าง วันนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ตัดสินไปแล้ว ในขณะที่ท่านผู้ว่าฯ ก็ได้เรียนทุกคนแล้วว่าท่านเข้าใจและพยายามทุกกระบวนการที่จะช่วยเหลือ และหวังว่าจะได้รับการชำระให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เปิดให้บริการในสถานีอื่นต่อไป

“วันนี้มีการหารือทั้ง 2 ทาง ทางกทม.เองก็อยากหารือ ทั้ง BTS เองก็ให้บริการกับกทม.มานาน ก็ต้องคุย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันแบกรับ 2.7 ล้านบาทต่อวัน รวมราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งรัดก้อนที่ 2 และ 3 อีก ก็กว่า 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ก้อนที่ 4 กทม. ต้องจ่ายเงินทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระแบ่งเป็น 4 ส่วน รวมหนี้ถึงวันที่ 25 ก.ค.2567 มีวงเงินถึง 39,402 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง พ.ค.2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึง พ.ค.2564 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วันพร้อมดอกเบี้ยสําหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดยBTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางวันที่ 22 พ.ย.2565 และอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง ถ้ามีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

4.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585

ส่อง ‘ชัชชาติ’ เลกเชอร์ระบบระบายน้ำ กทม. เตรียมรับ ‘น้อนน้ำ’ ย้ำ น้ำเหนือ-น้ำหนุน ไม่น่ากังวลแต่ไม่ประมาท ปิดครบจุดอ่อนริมเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ (2 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานคร แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ กรมชลประทานปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครต้องรับมือกับ 3 น้ำ คือ น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน สำหรับน้ำเหนือและน้ำหนุนจะอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ปัจจุบันน้ำเหนือเราจะดูที่สถานีจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยวันนี้ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,818 ลบ.ม./วินาที ระดับเตือนภัยอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที วิกฤตอยู่ที่ 3,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังเหลืออีกเยอะ 

ด้านน้ำทะเลหนุนสุงสุดจากนี้จะเป็นวันที่ 20 ตุลาคม สำหรับการป้องกันน้ำเหนือและน้ำหนุนของกรุงเทพฯ เรามีเขื่อนตลอดแนวเจ้าพระยายาว 88 กม. และเข้าไปในคลองทวีวัฒนา พระโขนง และมหาสวัสดิ์ โดยความสูงเขื่อนไล่ตามระดับน้ำจากทางด้านเหนือ +3.5 เมตร และด้านล่าง +3 เมตร เพราะด้านล่างน้ำน้อยกว่า 

โดยตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยามีจุดอ่อนน้ำท่วม 120 จุด ปัจจุบันแก้ไปแล้ว 64 จุด ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดและมีการเสริมกระสอบทรายป้องกันไว้ ซึ่งเรามั่นใจว่าเขื่อนแนวริมเจ้าพระยามีคุณภาพ คาดว่าปีนี้น้ำเหนือและน้ำหนุนไม่น่ากังวลแต่เราก็ไม่ประมาท

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือน้ำฝน ซึ่งฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่แล้วไหลลงสู่เจ้าพระยาโดยมาจากคลองย่อยสู่คลองหลัก หรือจากอุโมงค์ระบายน้ำซึ่งเรามี 4 จุด ยาวรวม 20 กม. แต่ปัญหาการระบายน้ำหลัก ๆ คือเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมาเราลอกท่อไปแล้ว 5,000 กม. และคลองหลัก 200 กม. เปิดทางน้ำไหล 2,000 กม. จึงทำให้โดยรวมน้ำไหลได้ดีขึ้น แต่ปริมาณฝนปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนภาพรวมยังน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าเดือนตุลาคมฝนจะตกมากขึ้น ซึ่ง กทม. พร้อมรับมือเพราะเตรียมการมาโดยตลอดและร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน แจ้งว่าปริมาณน้ำผ่านจุดสำคัญ ได้แก่ 
1.สถานีจุดวัดน้ำ จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,383 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำไหลผ่านที่เฝ้าระวัง อยู่ที่ 3,660 ลบ.ม./วินาที

2.จุดวัดน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,150 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำไหลผ่านที่เฝ้าระวัง อยู่ที่ 2,730 ลบ.ม./วินาที

3.สถานีจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,865 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำไหลผ่านที่เฝ้าระวัง อยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

ชัชชาติ ผนึกหลากภาคี ลุยมาตรการสู้ฝุ่น PM2.5 เล็ง!! สั่งแบนรถ 6 ล้อค่าฝุ่นสูงเข้าเขต กทม.

(29 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และนายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยร่วมแถลงข่าวด้วย

นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ กล่าวว่า จากการพยากรณ์คาดว่าในปีนี้ปริมาณของค่าฝุ่น PM2.5 จะมีจำนวนไม่มากเทียบเท่าปีที่ผ่าน ๆ มา 

โดยทางรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในการลดความรุนแรงในการเกิดไฟป่า พร้อมทั้งการเผาในทางเกษตร โดยเฉพาะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และอ้อยโรงงาน 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา กทม. ทบทวนทุกอำนาจที่มีเพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ฝุ่นได้อย่างเด็ดขาด 

และหากจำกันได้ เมื่อปีที่ผ่านมาทางสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการให้รถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยมลพิษเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายทางกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่น 

ทำให้ในปีนี้ตัดสินใจที่จะใช้อำนาจตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในกรณีเกิดเหตุหรือใกล้เกิดเหตุสาธษรณภัย สามารถออกมาตรการเพื่อกำจัดต้นเหตุได้

โดย กทม. จึงได้ออกประกาศให้ รถบรรทุกห้ามเข้าในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร โดยมีหลักการคือ ห้ามไม่ให้รถขนาดตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าในพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก หรือพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ตามแต่ช่วงความรุนแรงของฝุ่น โดยใช้กล้อง CCTV ในการตรวจจับการกระทำความผิด นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น การตั้งด่าน หรือ ตรวจตามไซต์งานก่อสร้าง ฯลฯ

ยกเว้น รถบรรทุก EV-NGV หรือรถบรรทุกที่มีเครื่องยนต์มาตรฐาน EURO 5 ขึ้นไป หรือรถบรรทุกที่มีการเปลี่ยนไส้กรองและน้ำมันเครื่องตั้งแต่ 1 พ.ย. 67 นี้เป็นต้นไป เนื่องจากการปล่อยมลพิษน้อย โดยจะมี Green List หรือบัญชีสีเขียว ซึ่งบันทึกข้อมูลรถดังกล่าว

นายชัชชาติยังได้ย้ำอีกว่า รถที่จะขึ้นทะเบียนคือรถที่มีขนาด 6 ล้อขึ้นไป สำหรับรถทั่วไปยังไม่ต้องลงทะเบียน 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า จากปีที่ผ่านมาที่กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการรณรงค์แคมเปญ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2.6 แสนคัน 

ในปีนี้กระทรวงพลังงานได้ประสานงานกับผู้ประกอบการผู้ค้าน้ำมันที่มีการให้บริการทั้งการเปลี่ยนไส้กรอง และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหลายราย โดยในปีนี้จะดำเนินการต่อเนื่องผ่านการให้ส่วนลดค่าบริการ มากที่สุดถึง 40%

นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์พร้อมที่จะดำเนินการตามที่มาตรการของภาครัฐกำหนด และจะช่วยสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของรถบรรทุกไฟฟ้าในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่จำนวนประมาณ 1 หมื่นคัน

รองผู้ว่าฯ กทม. ยัน ค่าเก็บขยะช่วยเพิ่มการคัดแยกต้นทาง คาด 180 วันเริ่มจัดเก็บ ทำรายรับ กทม. จากขยะพุ่งขึ้น 3 เท่า

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค.67) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และจะมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า เดิมข้อบัญญัติฯ ปี 2562 มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (ค่าเก็บขยะ) ตามครัวเรือนเดือนละ 80 บาท โดยมองว่ามีค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ผู้ว่าฯกทม. จึงให้จัดทำข้อบัญญัติฯ ใหม่ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 แบบ คือ 1.มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน 2.ไม่มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และสอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาหลักที่แตกต่างระหว่างปี พ.ศ. 2546 กับปี พ.ศ.2562 คือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะนำปริมาณขยะมาประกอบการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทิ้งขยะจำนวนน้อย ไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือผู้ที่คัดแยกขยะต้นทางจากครัวเรือนได้มากกว่า 

รวมถึงเก็บอัตราค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมากในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอัตราดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้คัดแยกขยะอีกทางด้วย ซึ่งการคาดการณ์รายได้จากการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะทำให้กทม.สามารถจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น จากเดิม 166 ล้านบาท เป็น 664 ล้านบาท ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บอัตราใหม่นี้ คือจะเก็บเงินกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขยะสู่เมืองในอัตราที่สูงขึ้น และหากใครมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยร่างข้อบัญญัตินี้ต้องการสร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่างต่อเนื่องและสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการให้บริการประชาชน

สำหรับสาระสำคัญอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็นค่าเก็บและขนสิ่งปฏิกูลต่อครั้ง คิดอัตราลูกบาศก์เมตรละ 300 บาท ส่วนอัตราค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท (เดิม 20 บาท) กลุ่มที่ 2 เกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน (เดิม 40 บาท/20 ลิตร) และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท) ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร กลุ่มที่ 3 เกิน 1 ลบ.ม.ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท/1 ลบ.ม.) ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลบ.ม. ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลบ.ม. รวม 8,000 บาท/1 ลบ.ม.

ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครยังไม่มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว แต่กรุงเทพทหานครมีโครงการ 'ไม่เทรวม' ซึ่งสามารถลดขยะได้มากกว่า 10% จากความร่วมมือของประชาชน ดังนั้นหากเริ่มการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว คาดการณ์ว่าจะสามารถลดขยะของกรุงเทพมหานครได้ปริมาณมหาศาลและสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอีกทางด้วย

หลังจากนี้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบให้มากที่สุด คาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ทั้งนี้ในกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนประชากรกว่า 2 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีประชาชนคัดแยกขยะประมาณ 50,000 ครัวเรือน โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน และที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ทั้ง 50 สำนักงานเขต โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ และเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ตามเดิม

ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” เปิดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง (ผู้นำเมือง รุ่น 10) 

วันที่ (13 ธ.ค. 67) ที่ห้องประชุมสภา กทม.(ดินแดน) ชั้น 2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการพัฒนาผู้นำเมือง (ผู้นำเมือง รุ่น 10) โดยได้รับเกียรติจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวต้อนรับผู้เข้ารับการศึกษาอบรม โดยมี รศ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯเป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และศิษย์เก่า (ผู้นำเมืองรุ่น 9)

สำหรับหลักสูตรผู้นำเมือง เป็นหลักสูตรที่เน้นการวิเคราะห์เชิงบูรณาการ ในด้านการบริหารจัดการเมืองและท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้นำทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดแนวคิดที่ดีระหว่างกัน และเกิดองค์ความรู้ในเชิงการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงงานภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่ดี และการนำสังคมที่ดี เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ การบริหารจัดการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารของทุกภาคส่วน ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประเด็นเชิงประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างอิสระ เพื่อให้ผู้นำภาครัฐ ภาคเอกชน สามารถบูรณาการแนวคิดแนวทางในการบริหารองค์กรบริหารเมืองและท้องถิ่นร่วมกันเป็นประโยชน์ต่อเมือง สังคม ประเทศชาติ

สำหรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำเมือง รุ่น 10 ประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพระดับผอ. ข้าราชการการเมืองกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพ ข้าราชการการเมืองระดับประเทศ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานรัฐ  / รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้แทนมูลนิธิ และสื่อมวลชน จำนวน 130 คน อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ท.เจษฎ์ จันทรสนาม  รอง ผอ.ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมัานคงภายในราชอาณาจักร พล.ท.ชนินทร์ สิงหนาทนิติรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์การปฏิบัติที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมัานคงภายในราชอาณาจักร นายพรชัย มงคลวนิช  อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top