Tuesday, 21 May 2024
ข้าราชการ

‘โฆษกรัฐบาล’ แจงปมขึ้นเงินเดือน ‘ขรก.-จนท.’ อยู่ระหว่างศึกษา อาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม

(5 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มี
รายงานข่าวว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือถึงกระทรวงและหน่วยงานราชการให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมถึงแนวทางความเป็นไปได้ และกรอบระยะเวลา ผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนฯ กับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ชัดเจน และรายงานผลให้ครม.ทราบภายในเดือน พ.ย.นี้ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรีแต่เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในที่ประชุม
ครม.โดยมอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน โดยให้พิจารณาอย่างรอบด้านและให้รายงานกลับมาให้ทราบเท่านั้น 

เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเมื่อผลออกมาแล้วนำเสนอให้นายกฯ ก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหนอย่างไร และอาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เท่านั้น 

'นายกฯ' ยัน!! สั่งศึกษาขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ-จนท.รัฐ’ เหตุไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ขีดเส้นสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุป

(6 พ.ย. 66) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคลัง กล่าวถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เรื่องดังกล่าวมีเอกสารสั่งการใช้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ ในการที่จะดูในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ถ้าจะยกระดับก็ต้องดูทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มอบให้คณะทำงานศึกษาและมารายงานภายในสิ้นเดือนนี้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรง หลังศึกษาแล้วจะมีกรอบหรือไม่ ว่าจะปรับขึ้นภายในปีงบประมาณใด นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องมาดูอีกครั้งถึงจะบอกได้ว่าต้องมีการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องตามที่เคยพูดไปแล้วว่าเงินเดือนของข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เราก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการด้วย

เมื่อถามว่า จะสอดรับในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หลักการถือว่าสอดคล้อง แต่จำนวนเงินเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นก็ต้องว่ากันไปแต่ละภาคส่วน

เมื่อถามว่า ในส่วนของแรงงานจะขยับขึ้นได้เมื่อไร เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า อาจจะไม่ได้ขึ้นเป็น 400 บาทในทุกพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องฟังรมว.แรงงาน อีกครั้ง ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาอีกครั้งทั้งหมด

‘สมาคมครูฯ’ เห็นด้วย!! ‘ปรับขึ้นเงินเดือน ขรก.’ หลังไม่ขยับเป็น 10 ปี เชื่อ!! ช่วยสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน - กระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

(6 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะยังไม่ได้ปรับขึ้นเป็นเวลานานนั้น

ต่อกรณีดังกล่าวนายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ระบุว่า เห็นด้วยที่จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมานานเป็น 10 ปีแล้ว 

ทั้งนี้ ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการนั้น จะทำให้ข้าราชการพึงพอใจ นอกจากนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นกำลังใจให้ข้าราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และช่วยแก้ไขปัญหาปากท้องหลายอย่าง เช่น การผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ เป็นต้น

ส่วนควรจะปรับขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่นั้น ไม่ขอก้าวล่วง แต่ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะถ้าปรับขึ้นมากไป ประชาชนทั่วไปอาจจะเดือดร้อนได้ เนื่องจากค่าใช้จ่าย สินค้าอุปโภค บริโภคก็จะขึ้นตามไปด้วย

‘เศรษฐา’ ยัน!! ยังไม่เคาะขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ ย้ำ!! แค่เตรียมศึกษาข้อมูล ไม่ได้แปลว่าจะปรับขึ้นทันที

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปดูเรื่องราคาสินค้าหรือไม่ ภายหลังมีข้อสั่งการเตรียมขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะขึ้นเงินเดือน แต่ให้ไปศึกษา และการให้ไปศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจะให้ขึ้นทันที

เมื่อถามว่า จะทำให้สินค้าจ่อขึ้นราคาล่วงหน้าหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้ขึ้นราคา มันยังตั้งไม่ได้ ยังไงเรื่องนี้กรมการค้าภายในก็ต้องดูแลอยู่แล้ว

‘ปานปรีย์’ ยัน!! ปรับขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ’ แน่นอน เตรียมชง ครม.พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม 28 พ.ย.นี้

(24 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมพิจารณา เรื่องการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า การประชุมดังกล่าวได้พิจารณารายละเอียดครั้งสุดท้าย ว่าอะไรที่ทำได้ในเวลานี้ อะไรที่ยังทำไม่ได้ และอะไรที่จะทำต่อไปในอนาคต แต่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการแน่นอน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ตนขอนำเสนอเรื่องนี้เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ก่อน เพราะ ครม.มอบหมายให้ตนกำกับดูแล

เมื่อถามว่า จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการระดับใดบ้าง และขึ้นเงินเดือนกี่เปอร์เซ็นต์ นายปานปรีย์ กล่าวว่า ขอให้รอดูรายละเอียดหลังจาก ครม.ให้ความเห็นชอบ

‘ครม.’ เห็นชอบปรับเพิ่มฐานเงินเดือน ขรก.บรรจุใหม่ สตาร์ต 18,000 บาท พร้อมปรับฐานแก่ ขรก.ที่บรรจุมาก่อนแล้วมีรายได้ไม่ถึง 18,000 บาทด้วย

(28 พ.ย. 66) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) โดยปรับขึ้นในส่วนของข้าราชการบรรจุใหม่ปีละ 10% ใน 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะทำให้เงินเดือนของข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ 18,000 บาทต่อเดือน ในปีงบประมาณ 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน การเริ่มปรับฐานเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ 10% จะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.ปีหน้า หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณ ประกาศใช้แล้ว

สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยอื่นๆ ที่เข้ามารับราชการก่อน และยังไม่ถึงระดับชำนาญการ (C8) และยังมีเงินเดือนไม่ถึง 18,000 บาทต่อเดือน จะมีการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปให้อยู่ในที่สูงกว่าข้าราชการบรรจุใหม่ โดยในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนให้กับข้าราชการที่เข้ามารับราชการก่อน และเงินเดือนยังไม่ถึง 18,000 บาท ก็จะได้รับการปรับขึ้นค่าครองชีพก่อน สำหรับข้าราชการที่เป็นระดับชำนาญการขึ้นไป หรือระดับ C9 ขึ้นไป จะไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนแต่อย่างไร

ส่วนงบประมาณที่ใช้นั้น ในปี 2567 จะใช้ 5-6 พันล้านบาท อาจจะใช้จากงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ส่วนปีงบประมาณ 2568 จะใช้งบประมาณหลักหมื่นล้านบาท จะตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้ในส่วนนี้ โดยตัวเลขการจัดทำงบประมาณที่แน่นอนสำหรับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ จะเป็นเท่าไหร่ สำนักงาน ก.พ., กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง จะหารือกันอีกครั้ง

นายดนุชา กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้จะให้กับข้าราชการที่บรรจุใหม่ และข้าราชการที่ยังรายได้น้อย และจะทำคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพราชการ และปรับลดจำนวนข้าราชการด้วย

ผบ.ทร. ตรวจติดตามการปรับปรุงบ้านพักข้าราชการ ทร. ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ

วันที่ 26 ก.พ.67 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เดินทางไปติดตามการซ่อมทำบ้านพักข้าราชการตามหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ หน่วยบัญชาชาการนาวิกโยธิน และศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ตรวจเยี่ยมการอบรมอาชีพให้กับพลทหารใหม่ ของศูนย์ฝึกทหารใหม่ฯ รวมถึงการพิจารณาปรับปรุงตลาดเช้าฐานทัพเรือสัตหีบ

ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบนโยบายให้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นตลาดสมัยใหม่ สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้พร้อมในการเป็นตลาดของเมืองท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ปรับปรุงร้านค้า ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และมีการปรับปรุงระบบการบำบัดและการระบายน้ำเสีย ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบนโยบาย เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของกำลังพลกองทัพเรือ โดยได้สั่งการให้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ดำเนินการปรับปรุงบ้านพักและสวัสดิการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีแก่กำลังพล ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของทางรัฐบาล โดยช่วงเช้าของวันเดียวกัน (26 ก.พ.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่ตรวจบ้านพักข้าราชการกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 

ซึ่งการเดินทางมาตรวจบ้านพักข้าราชการกองทัพเรือของนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของทหารชั้นผู้น้อย โดยจะปรับปรุงที่พักให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นอันดับแรกและในระดับสูงขึ้นในโอกาสต่อไป 

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645

‘นิด้าโพล’ เปิดมุมมอง สะท้อนความคิดเห็น ‘ขรก.-จนท.รัฐ’ เบื่อขั้นตอนมากมาย-เบื่อเจ้านาย แต่ ‘ไม่อยากย้าย-ไม่อยากออก’

(31 มี.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2567 จากข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกเบื่อของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐต่อระบบราชการไทย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเบื่อในระบบ หรืองานราชการ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ขั้นตอนการปฏิบัติราชการที่มากมายและยุ่งยากซับซ้อน , รองลงมา ร้อยละ 31.53 ระบุว่า ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ , ร้อยละ 28.24 ระบุว่า เงินเดือนน้อย , ร้อยละ 22.44 ระบุว่า ตัวชี้วัดทั้งหลาย , ร้อยละ 20.38 ระบุว่า โครงสร้าง การปกครองหรือสั่งการตามลำดับชั้น

ร้อยละ 18.93 ระบุว่า การประสานงานที่ไม่เป็นระบบ , ร้อยละ 17.02 ระบุว่า การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิง ความดีความชอบและตำแหน่งที่สำคัญ , ร้อยละ 16.49 ระบุว่า การคอร์รัปชันในระบบราชการ , ร้อยละ 16.18 ระบุว่า เจ้านาย , ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เบื่ออะไรเลย , ร้อยละ 14.05 ระบุว่า เพื่อนร่วมงาน , ร้อยละ 11.07 ระบุว่า การทำงานแบบผักชีโรยหน้า , ร้อยละ 10.23 ระบุว่า การแทรกแซง ของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล , ร้อยละ 8.47 ระบุว่า ลูกน้อง , ร้อยละ 7.25 ระบุว่า งานที่มีความเสี่ยงจะผิดกฎระเบียบ และร้อยละ 6.41 ระบุว่า ประชาชนที่ไม่เข้าใจในระบบงาน กฎระเบียบของราชการ

ด้านความศรัทธาต่อระบบราชการไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.47 ระบุว่า ค่อนข้างศรัทธา , รองลงมา ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ศรัทธามาก , ร้อยละ 21.53 ระบุว่า ไม่ค่อยศรัทธา , ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่ศรัทธาเลย และร้อยละ 0.14 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการลาออก หรือการย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.04 ระบุว่า ไม่อยากลาออกและไม่อยากย้ายหน่วยงาน , รองลงมา ร้อยละ 14.89 ระบุว่า อยากลาออกจากหน่วยงานของรัฐ , ร้อยละ 13.44 ระบุว่า อยากย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ , ร้อยละ 8.32 ระบุว่า ลาออกหรือย้ายหน่วยงานก็ได้ และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

'รัดเกล้า' เผย!! 1 พ.ค. ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ-เงินบำนาญขั้นต่ำ หวังดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการมากขึ้น

(30 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี นั้น วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 คือวันที่มติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก

นางรัดเกล้า กล่าวว่า นอกจากดูแลข้าราชการแรกเข้าแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญดูแลข้าราชการที่เกษียณและได้รับเบี้ยหวัดบำนาญอีกด้วย โดยคณะรัฐมนตรียังได้ออกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่าน โดยมีสาระสำคัญคือการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับ หรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่า เดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เช่นเดียวกัน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) มีความพร้อม 100% และได้มีหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทราบแล้ว ตามหนังสือที่ นร. 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 ทั้งนี้ หากหน่วยงานใด ดำเนินการปรับไม่ทัน การปรับขึ้นเงินเดือนจะให้มีผลย้อนหลัง รวมถึงได้มีการประสานกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้ข้าราชการและผู้ได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ มั่นใจได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแน่นอน

“การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการนั้น ก็เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการเพื่อให้ระบบราชการของไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังคงคำนึงถึงผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่จะต้องดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงได้ปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และจะส่งผลให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน” นางรัดเกล้า กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top