Sunday, 19 May 2024
การเงิน

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ชี้!! ความเสี่ยงมากมายในปี 2024 รอไทยอยู่  โตช้า หนี้เสียมาก ส่งออกอืด นักท่องเที่ยวต่ำเป้า เงินดิจิทัลเสี่ยงไม่ผ่าน

(25 ธ.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ระบุว่า...

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ แข็งแกร่งเกินคาดแม้จะขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบยังเติบโตแข็งแกร่ง มีความเป็นไปได้ที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 

ส่วนไทยส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจชะลอมาก ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น การปล่อยสินเชื่อหดตัวหนัก บ้าน รถ SME กระทบรุนแรง

จีน ชะลอตัวหนัก หนี้เสียภาคอสังหาฯ ภาคก่อสร้าง กำลังส่งผลกระทบวงกว้าง 

ยุโรป กระทบจากสงครามรัสเซีย ยูเครนยาวนาน วิกฤต คลองซูเอส และ ฮามาส ซ้ำเติมสร้างปัญหาเงินเฟ้อทั่วยุโรป

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสร้างปัญหาเงินเฟ้อในญี่ปุ่นมาก คนญี่ปุ่นเริ่มมีกำลังซื้อถดถอย สัญญาณการสิ้นสุดนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยติดลบใกล้ถึงสิ้นสุด

อินเดียกำลังฉายแววเป็นผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่ตามด้วยอินโดเนเซีย และเวียดนามเกาะรถอย่างห่าง ๆ

ประเทศไทยมีระเบิดเวลา บริษัทใหญ่ล้ม และหนี้เสียจากบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลางรออยู่ใครถือ พันธบัตร ต้องรอบคอบ ความคาดหวังที่ประชาชนให้พรรคเพื่อไทยว่าเก่งเศรษฐกิจกำลังมีคำถาม 

ท่านนายกต้องรีบแก้ปัญหา โดยต้องมี รมต.คลังตัวจริงมาทำงาน ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจอื่นต้องพิจารณาว่าได้คนถูกฝาถูกตัวหรือไม่ หรือยังปรับงานไม่ลงตัว ยังทำงานไม่เข้าขากับฝ่ายราชการ

ท่านนายกฯ พยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับอีกมาก การขึ้นค่าแรงจะช่วยดึงกำลังซื้อหรือไม่หรือ เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการโรงงานให้ปิดตัว หรือย้ายฐานการผลิตมากขึ้น 

เอาใจช่วยรัฐบาลให้ประชาชนอยู่ดีกินดีครับ

กทท.จัดสัมมนาโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน


วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพ ถ.สุขุมวิท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดงานสัมมนาโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักของประเทศ โดยได้เกียรติจาก นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) นายสุทธิพจน์ ถาวรพิศาลเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมฯ เข้าร่วมงานสัมมนา “โครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ” และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (DC) และธุรกิจใหม่ในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือกรุงเทพฯ สู่การเป็น Smart  & Green Port” โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย เรือโท ภูมิ แสงคำ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ นายแถมสิน ศรีบางพลีน้อย รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ  คณะผู้บริหารและพนักงาน กทท. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ

สำหรับการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือดำเนินการระหว่าง กทท และมหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการตลาด ที่จะส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพสามารถรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการค้า-การลงทุนของประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป โดยการเสวนาฯ ในวันนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ประกอบด้วยคุณภาวิณา อัศวมณี รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ) ดร. ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (ผู้แทนจากผู้ใช้บริการด้านสินค้า) คุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ผู้แทนจากผู้ใช้บริการด้านเรือ) และกัปตัน ดร.เฉลิมวุฒิ แท่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาพาณิชยนาวี (ผู้แทนจากภาควิชาการ)

"การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคตเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของการท่าเรือในการทำให้ กทท. เป็นประตูหลักของการค้าและการขนส่งในภูมิภาคด้วยมาตรฐานการให้บริการในระดับโลกหรือ World Class Port โดยมีนโยบายการนำแนวคิด 3T (Transshipment, Transit, Traffic) และ 2D (Digitization, Decarbonization) เข้ามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ 

โดยโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC (Distribution Center) เป็น 1 ใน 3 โครงการพัฒนาหลักของท่าเรือกรุงเทพ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คือ 

1) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแบบ Smart Port ที่นำเอาระบบ Automation มาใช้ในการบริหารจัดการ 
2) โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษ S1 (อาจณรงค์-บางนา) ในการแก้ไขปัญหาการจราจร 

3) โครงการศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพหรือ Bangkok Port Distribution Center 
ซึ่งภายใต้โครงการฯ นี้ จะประกอบด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากร 138 ไร่ (220,800 ตร.ม.) เป็นอาคารทรงสูง (Multilevel Warehouse) เพื่อรองรับปริมาณสินค้า/ตู้สินค้า LCL/CFS และกิจกรรมของท่าเรือกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Free Zone, Cold Chain Warehouse, E-Commerce Fulfillment Center, Last-Mile Delivery, Value Added Services, Cross-Border E-Commerce เป็นต้น และพัฒนากิจกรรมท่าเรือสมัยใหม่ (New Business Venture) เพื่อรองรับพลวัตการเติบโตและขยายตัวของเมือง โดยในโครงการฯ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้บริการต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าทรงสูง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พื้นที่บริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Terminal) และอาคาร One Stop Services (OSS) เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต" ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว

รู้หรือไม่? ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ถือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลังของแต่ละประเทศ

รู้หรือไม่? ‘หนี้สาธารณะ’ ต่อ GDP ถือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดความยั่งยืนทางการคลังของแต่ละประเทศ 🌏 แล้วประเทศไหนมี ‘หนี้สาธารณะ’ สูงที่สุดในโลกประจำปี 2566 ไปดูกันเลย!! 🪙📈

ส่องผลสำรวจคนไทยกับสภาพการเงิน ‘คนอีสาน’ สาหัส!! การเงินเข้าขั้นวิกฤต

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

เรื่องที่ 1 จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ

เรื่องแรก จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50.5 การเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่ ร้อยละ 49.5 ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 การเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤต

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า สำรวจระดับความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ราย ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.9 รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึง มากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึงมากที่สุด เป็นอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่นับกลุ่มว่างงาน) รวมทั้ง รู้สึกไม่มั่นคงในการงานและรายได้ ร้อยละ 35.4

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.1 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา คือร้อยละ 78.1 ซื้อหวยไทย ใต้ดิน แน่นอนว่า คนเล่นหวย มีความหวังจากการจะถูกหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งหวยไทย ใต้ดิน หวยอื่น ๆ โดยมีตัวกระตุ้นเป็นเงินรางวัล 

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เล่นหวย ระหว่างถูกหวย หรือ ถูกกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 ระบุถูกกิน และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น ที่ระบุถูกหวย

จากทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และรายจ่าย ที่ใช้ในการ 'ซื้อความหวัง' เพื่อลุ้นให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

และพื้นที่ภาคอีสาน จากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ‘สุขภาพทางการเงิน’ เข้าขั้นวิกฤติ จากพื้นที่ที่มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นโยบายของรัฐบาล จึงมุ่งไปหว่านการช่วยเหลือทางภาคอีสานค่อนข้างมาก และอย่างที่ทราบกัน ว่าพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ เป็นของพรรคการเมืองใด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า 20 ปี ในช่วงไหน ที่นโยบายรัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หรือ นโยบายอะไร ที่เป็นเพียงแค่ให้ได้รับคะแนนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล

นโยบายที่เน้นแจก แต่ไม่สร้างความยั่งยืน ประชาชนเองต้องตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร? มุ่งทำงานเก็บเงิน พัฒนาการประกอบอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ หรือ รอคอยความหวังจากนโยบายรัฐ ภาพหาเสียงที่เน้นเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการแจก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุ้มค่าที่รอ หรือยัง?

ปรับทัศนคติเรื่องการเงิน กับ 'โจ มณฑานี ตันติสุข' 'วินัย' ที่สร้างได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือน

กลายเป็นประเด็นโด่งดัง ภายหลังจากกระแสข่าวที่ คุณโจ มณฑานี ตันติสุข ดีเจ พิธีกร นักวิจารณ์ นักเขียนและวิทยากรชื่อดัง ได้รีวิวการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท อย่างไรใน กทม. แบบชีวิตดี๊ดี จนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นจริงหรือไม่?

วันนี้รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอในประเด็นนี้ พร้อม ๆ ไปกับมุมมองชวนคิดที่จะชวนคนไทยได้ตระหนักถึงการใช้และบริหารการเงินในแบบที่ทุกคนสามารถอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ และสุขได้ในยุคที่เงินในกระเป๋าบางคนอาจจะไม่ได้แน่นฟูก็ตาม

โดย THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้เปิดบทสนทนา ด้วยการซักถามถึงจุดเริ่มต้นที่คุณโจได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเงิน ซึ่ง เธอ ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากชีวิตในช่วงวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง โดยสาเหตุเกิดจากเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องการเงิน เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร อีกทั้งยังปิดใจไม่ยอมรับว่าตัวเองประสบปัญหาการเงิน จนภายหลังก็เข้าใจว่า สาเหตุของวิกฤตการเงินของตนเกิดจากการใช้จ่ายเงินผิดพลาดนั่นเอง

ดังนั้น คุณโจ จึงหันมาศึกษาเรียนรู้เรื่องการเงินจากอินเทอร์เน็ต จากหนังสือ และงานสัมมนาต่าง ๆ อย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตวิทยาการเงิน ภายใต้ตัวแปรที่เรียกว่า 'คนเลี่ยงเงิน' 

คุณโจ เล่าต่อว่า 'คนเลี่ยงเงิน' ในที่นี้ คือ ไม่ใส่ใจในรายละเอียดว่าเราใช้เงินไปกับอะไร ใบแจ้งหนี้ส่งมาก็ไม่สนใจ ทำให้จ่ายหนี้ช้าตลอด จนถูกตัดน้ำตัดไฟเป็นประจำ 

การหลีกเลี่ยง ทำให้ไม่รู้สถานการณ์การเงินของตัวเอง จนนำพาชีวิตคุณโจไปสู่ความยากลำบากที่สุด ถึงขั้น บ้านโดนยึด ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ติดตัว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คุณโจ อยากนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ โดยให้คำแนะนำผู้คนผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อตั้งใจให้ทุกคนหลุดพ้นจากปัญหาการเงิน ซึ่งกล้าพูดเต็มปากเลยว่า 'มีแต่ความทุกข์ทรมาน'

เมื่อถามว่า อะไร คือ สัญญาณอันตรายทางการเงิน? คุณโจ กล่าวว่า เมื่อคุณเริ่มหมุนเงินไม่ทัน หรือเงินอยู่กับเราได้ไม่นาน เงินชักหน้าไม่ถึงหลังและเริ่มยืมเงินจากคนรอบข้างมากขึ้น จนกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อไร... สุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนล้มละลาย ฉะนั้นหากเริ่มมีสัญญาณเตือนเหล่านี้เข้ามา ต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน แต่อยากให้กำลังใจว่าไม่ว่าจะล้มตอนอายุเท่าไหร่ ล้มแล้วลุกได้เสมอ การล้มละลายไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตต่างหาก

เมื่อถามถึงนิยามในการบริหารจัดการการเงินที่ดีต้องทำอย่างไร? คุณโจ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ มุมมอง หรือ Mindset ทางการเงินของแต่ละคน ถ้าอยากมีเงิน แต่ไม่หารายได้ ไม่ตั้งใจทำงาน จะใช้ช่องทางกู้หนี้ยืมสินเพียงอย่างเดียว แน่นอนย่อมเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลับกันถ้าเรามีเงิน แต่ไม่มีวินัยทางการเงิน เช่น ไม่มีการบันทึกการใช้เงินในแต่ละวันหรือไม่ แบบนี้ก็อาจจะทำให้สุขภาพทางการเงินย่ำแย่ได้ในระยะยาว

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไปบังคับให้ผู้คนเลิกใช้? คุณโจ กล่าวว่า ถ้าต้องใช้ ก็อยากให้ปรับ Mindset ใหม่ เช่น คุณต้องเข้าใจว่า การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะทำให้คุณเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ และนั่นจะทำให้ปัญหาทางการเงินด้านอื่น ๆ ตามมา ควรซื้อเมื่อพร้อม

ขณะเดียวกันการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม (ในต่างประเทศมีโครงการในลักษณะนี้) และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น Mindset ในการใช้เงินก็สำคัญ อย่าปล่อยให้จิตใจเราถูกผลักด้วย Need หรือ Want ลองปรับวิธีคิด ซื้อแต่ของจำเป็น ก่อนของที่อยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใด ก็จะสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น

สรุปแล้วทั้งการจัดการและขจัดปัญหาทางด้านการเงิน ล้วนแล้วแต่ต้องแก้ที่ Mindset ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องยาก โดยคุณโจมองว่า คนที่มักจะมีวินัยการเงินได้ดี มักจะประสบวิกฤตมาก่อน แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็สามารถสร้างวินัยการเงินได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือนได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อถามว่าควรเริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่เมื่อไร? คุณโจ แนะว่า ควรเริ่มตั้งแต่วัยประถมเลย เพราะเด็ก ๆ จะได้รู้คุณค่าของเงิน รักเงิน มี Mindset เชิงบวกกับเงิน เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงทางการเงิน และมีสันติสุขทางการเงิน

สำหรับปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น โจ มณฑานี กล่าวว่า Mindset การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเป็นหนี้ในต่างประเทศ เขาจะให้ลูกหนี้เข้ามาเซ็นเพื่อหยุดก่อหนี้ก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ โดยเฉพาะ Mindset การใช้เงินว่าจิตใจเราถูกผลักด้วยอะไร need หรือ want ซื้อของจำเป็น หรือซื้อของที่ฉันอยากได้ เราต้องเลือกซื้อของจำเป็นก่อนอยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับอะไรแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น เช่น ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น 

เมื่อถามถึงประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในตอนนี้ กับหัวข้อ 'เงินเดือนละ 15,000 บาท ใช้ในเมืองหลวงได้พอจริงหรือไม่?' คุณโจ มองว่า จริง ๆ แล้วอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่เราเลือก และคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนก็แตกต่างกัน อย่างตนเลือกใช้คุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการปลดหนี้ การมีเงินออมเกษียณ ไม่ต้องรอหมายศาลว่าจะมาเมื่อไหร่ ได้กินของอร่อย ซึ่งพี่กินไข่ต้มราดน้ำปลาพริกก็อร่อยแล้ว เคยกินน้ำก๊อกมาแล้วในช่วงที่ยากลำบาก แต่ก็มีความสุขมากเพราะเปลี่ยนตัวเองแล้วและรู้ว่าจากนี้ไปจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

ในช่วงท้าย คุณโจ ได้กล่าวด้วยว่า "วิกฤตชีวิตที่เกิดขึ้นช่วยลอกเปลือกของเราออกเหลือแต่แก่นของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งความพอเพียง เป็นกุญแจไปสู่สันติสุขทางการเงิน อย่างทุกวันนี้ก็มีความสุขกับการเขียนหนังสือเล่มใหม่ ๆ หลายเล่ม และที่กำลังจะจัดจำหน่าย คือ เรื่อง 'เด็กๆ ที่ร่ำรวยและมีความสุข' เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อ่านและนำไปสอนลูก ๆ เกี่ยวกับการเงินได้"

ปัจจุบัน คุณโจ ยังคงเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย พร้อมให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่านทางเฟซบุ๊ก 'Montaneemoney' ท่านใดสนใจก็สามารถติดตามกันได้ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/montaneemoney?mibextid=ZbWKwL

3 สถาบันการเงินระดับโลก เชื่อมั่น!! เปิดตัวบริษัทในเซี่ยงไฮ้ หลังเปิดกว้างทางด้าน 'ธุรกิจ-การเงิน' ในระดับสูง

(1 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่างประเทศอันได้แก่ อัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์ (AllianceBernstein) อามันดิ (Amundi) และเคเคอาร์ (KKR) ได้จัดพิธีเปิดบริษัทพร้อมกันในมหานครเซี่ยงไฮ้ของจีน

บริษัทอัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์ ได้จัดตั้งบริษัทกองทุนสาธารณะที่บริษัทถือครองแต่เพียงผู้เดียวในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นบริษัทประเภทนี้แห่งที่ 5 ในจีน ขณะที่ อามันดิ ยังได้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค (fintech) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นบริษัทฟินเทคแห่งที่ 2 ในเซี่ยงไฮ้ที่ก่อตั้งโดยนักลงทุนต่างชาติ ส่วนเคเคอาร์ บริษัทจัดการสินทรัพย์ทางเลือกชั้นนำระดับโลกได้เปิดตัวบริษัทจัดการสินทรัพย์ ณ มหานครแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

การเปิดสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นผลสำเร็จมาจากการเปิดกว้างทางการเงินระดับสูงและการพัฒนาคุณภาพสูงของนครเซี่ยงไฮ้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อเศรษฐกิจและตลาดจีน

เซี่ยตง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้กล่าวในพิธีเปิดว่า การลงทุนในเซี่ยงไฮ้คือการลงทุนกับอนาคต และเซี่ยงไฮ้จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่ครอบคลุมอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด การลงทุน และการพัฒนา พร้อมสนับสนุนให้บรรดาสถาบันการเงินมาพัฒนาธุรกิจของตนในเซี่ยงไฮ้ 

อาเจย์ คาล (Ajai Kaul) ประธานกรรมการบริหารของของอัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์และผู้บริหาร Client Group ประจำเอเชียแปซิฟิก และจงเสี่ยวเฟิง รองประธานบริษัทอามันดิเอเชีย แสดงความมั่นใจในอุตสาหกรรมการจัดการสินทรัพย์ของจีนในอนาคต ทั้งคู่กล่าวว่าเหล่าสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์อันยาวนานที่สั่งสมมาจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์ระดับโลก เดินหน้าสำรวจตลาดจีน และจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐหาแรงจูงใจเอกชน ลุยธุรกิจลดโลกร้อน ปั้นระบบนิเวศให้พร้อม สู่การสร้างเงินจากสภาพภูมิอากาศ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ' (Climate Finance) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยการเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียว (Green Transition) ได้อย่างราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาคการเงินการคลังไม่ช่วยระดมทรัพยากรมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ประการแรก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรของรัฐบาล เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องมาจากภาคเอกชน ภาครัฐต้องจัดโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Structure) ที่เอื้อให้เอกชนกล้าลงทุนในโครงการ/อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตเป็นก้าวแรก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน (Carbon Subsidies) ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ประการที่สอง การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นมาตรฐานและมีการรับรอง รวมทั้งการจัดกลุ่ม/นิยามกิจกรรมที่ลดโลกร้อน (Green Taxonomy) จะช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงเป้ามากขึ้น

ตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มนำผลิตภัณฑ์สีเขียวมาให้บริการบ้างแล้ว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเป็นที่นิยม กองทุน ESG มีจำนวนมากขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ ESG ของตลาดกับเป้าหมายการลดคาร์บอนจะตรงกันหรือไม่ หรือบางทีอาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)

ในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่พึ่งพา Fossils อยู่ค่อนข้างสูง กล่าวคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอาศัยก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นตัวขับเคลื่อนถึงกว่า 80% และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระบบสายส่ง และภาคเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

การลงทุนและการแบ่งรับภาระความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชนร่วมกันในรูปแบบ PPP น่าจะเป็นทางออกสำคัญ IPP และ SPP เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในภาคพลังงาน มีความเป็นไปได้ที่จะขยาย PPP ในโครงการลดคาร์บอนในสาขาอื่นๆ ด้วย

ตลาดการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่สามารถเสริมทรัพยากรในประเทศได้ รัฐบาลประเทศร่ำรวยประกาศใน COP 28 สนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบริการพิเศษที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ประการสุดท้าย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย่อมมีกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมจากภาษีคาร์บอนไปช่วยเป็นมาตรการรองรับทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! Q2 'การคลัง-การเงิน-การท่องเที่ยว' เดินหน้าเต็มตัว ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้น คลายทุกข์คนไทย ต่างชาติสนใจแห่ลงทุน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การคลัง-การเงิน-การท่องเที่ยว แรงผลักเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาส 2' เมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้...

การเติบโตที่น่าผิดหวังของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกของปี 2567 ทำให้หลายสำนักต้องปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาเหลือไม่ถึง 3% ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนในประเทศเป็นอย่างมาก

แต่ท่ามกลางความหดหู่และความมืดมัว เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปรากฏขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โดยวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลจะแถลงความชัดเจนของมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ซึ่งถือเป็นมาตรการ Flagship ของรัฐบาลนี้ 

หลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายค้านมัวหลงประเด็นอยู่ที่เรื่องแหล่งที่มาของเงิน แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณแผ่นดินหรือกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน แหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็จะต้องมาจากเงินกู้ทั้งนั้น เพราะขณะนี้เรามีงบประมาณขาดดุล เนื่องจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงต้องมาจากการกู้เงินเท่านั้น หากไม่ออกกฎหมายให้อำนาจกู้เงิน ก็อาจออกเป็นงบประมาณกลางปี ซึ่งก็ดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเด็นอยู่ที่จังหวะเวลา หากออกมาได้เร็วก็จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี

ในเรื่องแหล่งเงิน ระยะต่อไปรัฐบาลต้องปฏิรูปภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการพึ่งพาการกู้เงิน แต่ไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนกล้าแตะประเด็นนี้เลย

พร้อมกันในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขความผิดพลาดเชิงนโยบาย (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยเสริมมาตรการทางการคลังที่กล่าวข้างต้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี แต่จะให้ดีกว่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องออกมาขอโทษประชาชนที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเดือดร้อนจากความผิดพลาดของตนเอง

แผนงาน Ignite Tourism Thailand ของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เริ่มปรากฏผลชัดเจนขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรก และคงจะคึกคักไปตลอดทั้งปี รัฐบาลไทยลงทุนด้านการท่องเที่ยวไปมากในรูปของรายได้จากค่าธรรมเนียมวีซ่าที่สูญเสียไป รายได้ภาษีสุราที่สูญเสียจากการลดอัตราจัดเก็บภาษีสุรา ดังนั้นต้องดูแลให้นโยบายการท่องเที่ยวเกิดผลสัมฤทธิ์และสร้างรายได้กลับคืนคลัง

เชื่อมั่นว่าด้วยการผสมผสานนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายการท่องเที่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ปี 2567 นี้จะเป็นปีทองของการลงทุนไทยอย่างแน่นอน

หวั่นใจ!! 'คลังชาติ' ใต้ความพยายามครอบงำ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย' การกระทำที่แม้แต่จอมเผด็จการตัวจริงของไทย 'ยังไม่เคยคิดจะทำ'

จากคำปราศรัยของ 'อุ๊งอิ๊ง' แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' จัดโดยพรรคเพื่อไทย โดยเธอกล่าวถึงปัญหา 3 เรื่องของธนาคารชาติคือ...

1. ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
2. กฎหมายที่กำหนดให้แบงก์ชาติเป็นอิสระเป็นต้นเหตุของปัญหา
3. หากแบงก์ชาติไม่ยอมทำความเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุที่ 'อุ๊งอิ๊ง' อ่านตามโพย จึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า เธอพูดโดยไม่ได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของธนาคารชาติจริง ๆ แต่พูดตามที่มีคนเขียนบทให้ และทำให้คิดว่า พรรคเพื่อไทยใช้ 'อุ๊งอิ๊ง' และการปราศรัยในงานนี้ โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงท่าทีที่ไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการลดดอกเบี้ย และการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ ธนาคารกลาง หรือ ธนาคารชาติเป็นองค์กรอิสระที่มีความเฉพาะตัว โดยทั่วไป แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นองค์กรของรัฐ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และผู้ว่าการได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล แต่จะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล เพราะหากไม่เป็นอิสระแล้ว ก็จะเกิดความเสี่ยงร้ายแรงจากการบิดเบือนและการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่รออยู่อย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญให้เกิดภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างธนาคารชาติกับนโยบายของรัฐบาล มีข้อดีสำหรับทั้งสองฝ่าย 

***ในด้านหนึ่ง รัฐบาลสามารถได้รับประโยชน์จากคำแนะนำด้านเทคนิคจากธนาคารชาติ (ที่มีความเป็นอิสระ) ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางการเงินจากโครงการเศรษฐกิจและการคลังที่เสนอโดยรัฐบาล 

นอกจากนี้ ธนาคารชาติอาจอำนวยความสะดวกในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสม และธนาคารชาติยังสามารถช่วยเหลือรัฐบาลได้โดยใช้ชื่อเสียงในฐานะสถาบันอิสระเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนของรัฐบาลในกรณีที่นโยบายทางเศรษฐกิจหรือการคลังที่รัฐบาลดำเนินการถูกมองว่าไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพ 

ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานที่เป็นกลางและการดำเนินงานด้วยความยุติธรรมในระบบเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารชาติเป็นอิสระจากกระทรวงการคลัง ธนาคารชาติก็สามารถตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันทางการเมือง เพราะความเป็นอิสระนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

***ในอีกมุมหนึ่ง มีหลายสถานการณ์ที่ธนาคารชาติต้องการหรืออย่างน้อยก็จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเสริมของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินที่กำหนดสามารถบรรลุผลได้ง่ายขึ้น หากมีการใช้มาตรการทางการคลังและมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงินร่วมกับมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ 

สรุปแล้ว นโยบายการเงินและสินเชื่อสามารถช่วยเหลือรัฐบาลในการดำเนินโครงการของตนได้ แต่ถ้าธนาคารชาติมีความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาล อย่างเช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลย่อมไม่เต็มใจที่จะให้ธนาคารชาติดำเนินการอย่างอิสระอีกต่อไป และอยากให้ธนาคารชาติอยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลของตน

แน่นอนว่า แนวคิดและมุมมองเช่นนี้ แม้แต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้ที่สังคมไทยมองว่าเป็น ‘จอมเผด็จการ’ ตัวจริงของไทยยังไม่เคยทำเลย เพราะจอมพลสฤษดิ์ไม่เคยเข้าไปวุ่นวายยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

ดังนั้นแนวคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยและเป็นกังวลในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของชาติในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top