Sunday, 19 May 2024
การเงิน

‘UBS Group’ เข้าซื้อกิจการ ‘Credit Suisse’ คาด!! นักลงทุนรายย่อย-ใหญ่ เสี่ยงขาดทุนระนาว

(20 มี.ค. 66) World Maker รายงานว่า ธนาคารแห่งชาติซาอุฯ รวมถึงกาตาร์ และนอร์เวย์ถือเป็นผู้ขาดทุนรายใหญ่ -86% จากการซื้อ Credit Suisse ของ UBS 

น่าจะจบกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับวิกฤตที่ค้างคาของ Credit Suisse ซึ่งพร้อมกันนี้ ผู้ชนะอย่างไม่ต้องสงสัยคือ UBS Group ที่ได้กิจการของ Credit Suisse ไปในราคา Discount ถึง -60% ขณะที่ผู้แพ้นั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยหรือสถาบันรายใหญ่

โดยเฉพาะ Saudi National Bank ที่ถือหุ้นใหญ่ของ Credit Suisse มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ (9.9% ของหุ้นทั้งหมด) ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมีมูลค่าเหลือเพียง 215 ล้านดอลลาร์เมื่อถูกแปลงเป็นหุ้นของ UBS หรือพูดง่าย ๆ ว่ามูลค่าหายไปราว -86% เลยทีเดียว !

ซึ่งรายละเอียดที่เปิดเผยออกมาแล้วคือผู้ถือหุ้นเก่าของ Credit Suisse จะได้รับหุ้นของ UBS ในอัตราส่วน 22.48 ต่อ 1 ซึ่งเป็นไปตามราคา Take Over ที่ 0.82 $/หุ้น ต่ำกว่าราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ของ Credit Suisse ที่ 2.01 $/หุ้น

ผู้ขาดทุนรายใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ Qatar Investment Authority ของประเทศกาตาร์และ Norges Bank Investment Management ซึ่งเป็นกองทุนแห่งชาติของนอร์เวย์

เงินสำรองไทยแกร่งต่อเนื่อง แตะ 8.6 ล้านล้านบาท สะท้อนสถานะทางการเงินของประเทศสุดแข็งแกร่ง

ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 นับเป็นช่วงเวลาที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากต้องรับมือกระแสเก็งกำไรค่าเงินบาท ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต จนทำให้เหลือเงินสำรองฯ เพียง 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนั้น ฐานะเงินสำรองฯ ของประเทศไทยก็เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า จากปี 2540

และเมื่อมองย้อนกลับไป 5 ปี หลังสุด พบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2559 อยู่ที่ 6,155,783 ล้านบาท, ปี 2560 อยู่ที่ 6,615,482 ล้านบาท, ปี 2561 อยู่ที่ 6,666,266 ล้านบาท, ปี 2562 อยู่ที่ 6,756,943 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 7,747,644 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 8,212,110 ล้านบาท

ทว่าในปี 2565 ช่วงเดือนธันวาคม ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 8,491,594.33 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 ในเดือนเมษายน มีทุนสำรองอยู่ 8,604,607.56 ล้านบาท มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ใกล้เคียงกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและเป็นรองเพียงสิงคโปร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น 

ในส่วนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย มีทองคำด้วยมูลค่า 495,966.88 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีจำนวนทองคำมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน (244 ตัน)

นอกจากนี้ ไทย ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าหนี้’ ของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยได้เงินสบทบหรือให้กู้แก่ IMF เป็นจำนวน 41,508.51 ล้านบาทอีกด้วย

ทั้งนี้ เงินสำรองทางการ คือ เงินตรา/สินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของเศรษฐกิจไทย และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในไทยและต่างชาติ

ดังนั้น เงินสำรองทางการจึงทำหน้าที่เป็น ‘กันชน’ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย ซึ่งอาจจะกระทบกับอำนาจการซื้อของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้  

เงินสำรองทางการ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อธุรกิจไทยส่งออกสินค้า คนต่างชาติมาท่องเที่ยวมากขึ้น หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการที่จะแลกเงินบาทก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น

ฉะนั้น เงินสำรองฯ จึงเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคง และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า จากระดับของทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

3 ปัจจัยที่ทำให้ไทยด้อยกว่า 'เวียดนาม' 'การเมือง-ข้อตกลงการค้า-วัยทำงานสะพัด'

หลังจากได้ดูผลสรุปตารางเหรียญ กีฬาซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันพุธที่ 17 พ.ค. 2566 โดยอันดับ 1 ได้แก่ เวียดนาม มี 136 เหรียญทอง 105 เหรียญเงิน 118 เหรียญทองแดง รวม 359 เหรียญ ส่วนอันดับ 2 ไทย มี 108 เหรียญทอง 96 เหรียญเงิน 108 เหรียญทองแดง รวม 312 เหรียญ

อาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่ตอนนี้ พัฒนาการหลายด้านของเวียดนามเริ่มจะทำให้ไทยตุ้ม ๆ ต่อม ๆ

หากย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ประเทศเวียดนามเคยขึ้นชื่อเป็นประเทศที่ยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ทุกวันนี้เวียดนามกำลังกลายเป็นประเทศแห่งโอกาส จนบางครั้งก็ถูกมองว่าเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย และนี่คือเรื่องที่น่าห่วงต่อสถานภาพของประเทศไทย ในวันที่ยังทะเลาะกันเองไม่เลิก

เชื่อหรือไม่ว่า ในวันนี้ หากมองกลุ่มประเทศในอาเซียนที่น่าลงทุนนอกจากประเทศไทยเรา ชื่อชั้นของ เวียดนาม กำลังเนื้อหอมอย่างแรง ภายใต้เศรษฐกิจเวียดนามที่ทะยานเติบโตรอบด้าน มีแรงหนุนจนจีดีพีประเทศโตทะลุ 13% ไปแล้วเมื่อปี 2564 ส่วนปี 2565 ก็เติบโตมากถึง 8% 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เวียดนามเปลี่ยนแปลงได้เช่นนั้น มาจากการปรับเปลี่ยนแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง มาเป็นแบบระบบเศรษฐกิจตลาด แบบเชิงสังคมนิยม หรือ 'โด่ยเหมย' ด้วยการเพิ่มบทบาทของเอกชน แล้วลดบทบาทของภาครัฐลง ทำให้เศรษฐกิจเวียดนาม พลิกมาเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ผลลัพธ์ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี จากเดิมที่ก่อนหน้านี้เวียดนามเน้นส่งออกสินค้าเกษตกรเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ภาพเปลี่ยนไป เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในประเทศมากกว่า 67,000 แห่ง มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เวียดนามเนื้อหอมขึ้นมาเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากมองในแง่นักลงทุนว่าทำไมต้องเลือกมาลงทุนเวียดนาม ก็จะมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่...

>> ปัจจัยแรก เพราะการเมืองของเวียดนามมีเสถียรภาพ เนื่องจากมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นองค์กรที่มีอำนาจ สูงสุดเพียงพรรคการเมืองเดียว 

>> ปัจจัยที่ 2 สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่น่าสนใจ เวียดนามมีข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ มากกว่า 15 ฉบับ ครอบคลุมไปกว่า 50 ประเทศ

>> และอีกปัจจัยสำคัญ คือ ค่าแรงยังต่ำกว่าไทยมาก เฉลี่ยไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง

นอกจากเวียดนามจะมี 3 สิ่งใหญ่ ๆ ที่ไทยไม่มีแล้ว หากลองเทียบดูตอนนี้กลุ่มประชากรไทยส่วนใหญ่ ก็กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ในขณะที่ประชากรเวียดนามส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มคนทำงานอีกด้วย

สรุปได้ว่า หากประเทศไทยไม่อยากถูกเวียดนามแซงในทุก ๆ มิติของการเป็นหนึ่งแห่งอาเซียน ก็คงต้องเร่งเครื่องให้แรง เริ่มตั้งแต่สร้างเสถียรภาพการเมืองให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็คงต้องสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่ดูดใจนักลงทุนให้มาก ส่วนเรื่องสังคมสูงวัย เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ที่น่าหนักใจต่อไทยจริง

ธนาคารไทย แข็งแกร่งแค่ไหน? ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์

แข็งแกร่ง!! ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ชี้!! ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังมีเสถียรภาพและความเข้มแข็ง เผย ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1/66 มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

‘จีน’ สั่งชาวแบงค์ งดใช้แบรนด์เนม-อวดไลฟ์สไตล์หรูหรา หวังลดความเหลื่อมล้ำ หลังประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง

ถึงคิว ‘ชาวแบงค์’ และสถาบันการเงินต่างๆ แล้ว ที่จะต้องโดนใบเหลืองจากรัฐบาลจีน ในการสอดส่อง ไลฟ์สไตล์หรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อสังคมจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจการเงินของจีน นับเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าสูงกว่า 57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจจีน จึงไม่แปลกใจว่า กลุ่มคนทำงาน หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจการเงิน จะเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างตอบแทนสูงมากในจีน

และด้วยรายได้ที่ดีกว่าอาชีพอื่นๆ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูมั่งคั่ง และมั่นคง จึงนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ดูหรูหรา การเลือกใช้ของราคาแพง เพื่อให้ดูดีมีระดับ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของชาวจีนส่วนใหญ่ที่ยังต้องทำงานหนัก รายได้เดือนชนเดือน หรือยังหางานไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนทำงานในแวดวงการเงิน ถูกมองเป็นชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมจีน

ด้วยเหตุนี้ องค์กรเฝ้าระวังการฉ้อโกงของรัฐบาลจีน ได้ออกมาประกาศว่าจะขจัดแนวคิดของ ‘ชนชั้นสูงทางการเงิน’ ตามค่านิยมตามแบบตะวันตก ที่มุ่งแสวงหา ‘รสนิยมระดับไฮเอนด์’ มากเกินไป

จึงมีคำสั่งภายในองค์กรการเงิน และธนาคารตั้งแต่ขนาดใหญ่ จนถึงขนาดกลาง ไม่ให้บุคคลากรในทุกระดับ อวดโชว์ไลฟ์สไตล์โก้หรูจนเกินงาม ด้วยการโพสต์ภาพมื้ออาหารหรูๆ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงของตนลงในโซเชียล เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม
.
พนักงานธนาคารขนาดกลางแห่งหนึ่งของจีนเล่าว่า มีคำสั่งจากหน่วยงานให้เจ้าหน้าที่ทุกคนงดใช้กระเป๋า หรือสิ่งของแบรนด์เนมในที่ทำงาน รวมถึงการเข้าพักในโรงแรม 5 ดาว เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างเมือง

นอกจากข้อห้ามการใช้ข้าวของหรูหราแล้ว เบี้ยเลี้ยงที่ไม่จำเป็น และโบนัสอาจต้องถูกตัดด้วย

แหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่า ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ China Construction Bank Corp (CCB) มีแผนที่จะลดเบี้ยเลี้ยงพิเศษสำหรับพนักงานภายในปีนี้ หลายสถาบันการเงินอาจต้องปรับลดโบนัสลงตั้งแต่ 30% - 50%

การปรับลดเบี้ยเลี้ยง โบนัส หรือการออกข้อบังคับให้คนทำงานในองค์กรการเงินใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ เป็นผลพวงจากนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ของรัฐบาลจีนที่เล็งเป้ามาที่ภาคธุรกิจการเงิน และมีการแต่งตั้งองค์กรเฝ้าระวังการฉ้อฉลในภาคการเงินโดยเฉพาะในยุคของ ‘สี จิ้นผิง’ เทอม 3 เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลจีนทั้งแนวคิด และทางการเมือง

แต่อีกนัยยะหนึ่ง ที่สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องตักเตือนพนักงานของตนเรื่องการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย หรือการใช้สื่อโซเชียลโพสต์รูปอวดการใช้ชีวิตที่ทำให้หลายคนอิจฉา อาจทำเพื่อป้องกันไม่ให้สะดุดตาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีน ที่กำลังตรวจสอบหนักอยู่ในขณะนี้

ดังเช่นกรณีการหายตัวไปของนายเป่า ฟาน นักลงทุน และผู้ก่อตั้งบริษัท China Renaissance เมื่อไม่นานมานี้ ที่ต่อมาทราบแต่เพียงว่า กำลังเก็บตัวเพื่อให้ความร่วมมือกับทีมสอบสวนคดีทุจริตของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีในธุรกิจการเงินจีนอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องหายหน้าไปจากสื่อ เมื่อต้องพัวพันกับคดีทุจริต หรือการตรวจสอบจากรัฐบาลจีน อาทิ กั่ว กวงฉาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Fosun International ‘เสี่ยว เจี้ยนหัว’ นักลงทุนสัญชาติจีน - แคนาดา เจ้าของบริษัท Tomorrow Holding และเป็นที่รู้จักกว้างขวางของคนวงในรัฐบาลจีน แต่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง และ คอร์รัปชัน รวมถึง แจ็ก หม่า เจ้าของธุรกิจ Alibaba ที่ต้องหายหน้าจากสื่อจีนนานเกือบ 2 ปี ในช่วงที่จีนเริ่มตรวจสอบธุรกิจ Fin Tech

ดังนั้น นโยบายการลดค่านิยมหรูหรา ฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนทำงานในองค์กรธนาคาร และ สถาบันการเงิน อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการลดช่องวางทางสังคมหรือปัญหาการว่างงานในจีนแต่อย่างใด แต่ช่วยในด้านการลดกระแสสังคมที่มองว่าเป็นกลุ่มทุนชั้นสูง ที่มักถูกครหาว่าสร้างแนวคิดในการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ หรือไม่ก็เป็นการป้องกันตัวไม่ให้สะดุดตาจากองค์กรตรวจสอบทุจริตของภาครัฐ ที่มักจบลงด้วยคดีความที่ยุงยากตามมานั่นเอง

เรื่อง : ยีนส์​ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Channel News Asia / BBC
 

เปิดสถานะ ‘การเงิน-การคลังไทย’ แข็งแกร่ง  8 เดือนแรกปีงบฯ 66 จัดเก็บรายได้กว่า 1.22 แสน ลบ.

(27 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ฐานะการเงิน-การคลังของไทยมีความแข็งแกร่ง หลังรับทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าประมาณการ และรายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนกว่า 2.57 แสนล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,643,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่…

(1.) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ 

(2.) ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และรายได้จากใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM 

(3.) กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี 

และ (4.) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้ที่เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 69,248 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,569,515 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,221,328 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 384,243 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 256,857 ล้านบาท 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีสัญญาณเป็นไปในทิศทางบวก สถานะการเงินการคลังของไทยแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนทิศทางการทำงานที่ถูกต้องของรัฐบาลภายใต้วินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด รวมถึงความมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตลอดมา โดยยึดหลักของความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์ ผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ เชื่อ!! บีบไทยขึ้นตาม ในยาม ‘ส่งออกดิ่ง-ท่องเที่ยวทรง-ลงทุนเสี่ยง’

หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นั้น ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี 

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมา คงหนีไม่พ้นประเด็นของผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำการวิเคราะห์และให้มุมมองต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านรายการ ‘Meet THE STATES TIMES’ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดยระบุว่า…

การที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มอีก 0.25% นี้ ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งมีทั้งในแง่ดีและแง่ที่ไม่ดี 

‘ในแง่ดี’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนนี้ ไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ และน่าจะเป็นการขึ้น ‘ครั้งสุดท้าย’ แล้ว หลังจากเฟดได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 จนถึงวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 11 จากที่ระดับ 0% จนกระทั่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.25% ส่วนที่ว่าครั้งสุดท้ายนั้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตได้จากการที่ตลาดเงินและตลาดหุ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ดัชนีดาวโจนส์ ดัชนี SME-Chinext 500 เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจของตลาดการเงินสหรัฐฯ ว่า เฟดเริ่มจัดการกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในข่าวดี มักมีข่าวร้ายแฝงอยู่เสมอ!!

‘ในแง่ร้าย’ ผมคิดว่า แม้ว่า ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ (Headline Inflation) ที่เราพูดถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่เฟดใช้เป็นดัชนีในการทำนโยบาย เราเรียกว่า ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน และราคาอาหาร ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.8% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของเฟด เนื่องจากเฟดพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อในอยู่ภายในระดับ 2%...

… ดังนั้น ระดับ 4.8% ยังถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงมาก ในเรทของเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมพลังงานและอาหาร

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานทั่วโลก ในขณะนี้มีความตึงตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากที่ปิดตัวไปหลายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนในตลาด ออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะในภาคงานบริการที่มีปัญหาในเรื่องของความตึงตัวของแรงงานที่ค่อนข้างสูง… 

… เพราะฉะนั้น อัตราค่าจ้างแรงงาน มีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องมีการปรับให้สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้

ทีนี้มองดู ‘ประเทศไทย’ เราเองนั้น ยังมีความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยถือว่าประสบปัญหาพอสมควร นอกเหนือจากปัญหาทางด้านการเมืองแล้วนั้น ประเทศไทยยังมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกของไทยมีอัตราติดลบ พร้อม ๆ ไปกับอัตราการเติบโตที่ติดลบตามเช่นกัน

นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยวที่มีความคาดหวังว่า จะมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น จากที่จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งนึง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้นัก โดยอาจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรก ๆ ของปี แต่พอเข้าช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มมีการชะลอลง ซึ่งผมคิดว่า อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเองนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ด้วยไม่น้อย เนื่องจากสภาพของหนี้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังไม่มีการฟื้นตัว และยังมีหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก…

… ดังนั้น โอกาสที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และส่งนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่น้อยอยู่

ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 2.5% เพราะฉะนั้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็ย่อมสร้างแรงกดดันโดยเฉพาะตลาดอัตราการแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจมีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่การฟันธงอย่างแน่ชัดว่าจะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่

และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะสงครามในยุโรปที่ยังมีความยืดเยื้ออยู่ อีกทั้ง ราคาพลังงาน และราคาพืชพันธุ์อาหารต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการกระโดดขึ้นราคาอีกเมื่อไหร่

นายพงษ์ภาณุ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่มีต่อตลาดหุ้นและตลาดการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตอีกด้วยว่า…

แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่การอุปโภค-บริโภค และภาคธุรกิจที่มีการลงทุนนั้น เกิดการหยุดชะงัก เพราะฉะนั้น การบริโภคและการลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง นักลงทุนเองก็คงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักมากขึ้นในการลงทุนแต่ละครั้ง ว่า เมื่อต้นทุนของเงินแพงขึ้น ก็ย่อมต้องมีการคาดการณ์ในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ต้องมีการตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการลงทุนในโครงการใดก็ตาม มีระยะเวลายาวนาน ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจาก ‘อัตราคิดลด’ (Discount Rate) นั้นสูงขึ้น ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วก็จะเกิดการลดลง อีกทั้ง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อาจทำให้นักลงทุนพึงที่จะต้องคงสภาพคล่องทางการเงินไว้มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในอนาคตอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น ต้องเตรียม ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ (Economic Stimulus Measures) ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นทั้งในภาคของการบริโภค และภาคการลงทุน ให้สามารถพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้อ่อนแอลงไปมากกว่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปที่สถานการณ์ตลาดคริปโตแล้ว ก็ร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากทุกตลาดมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด จึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างเท่าเทียมกันหมดอีกด้วย

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' เตือน!! หยุดกู้เงินมาใช้บริโภค หากไม่อยากชีวิตพัง แนะ!! ค่านิยมฟุ้งเฟ้อ กำจัดได้ตั้งแต่ 'ครอบครัว-รั้วโรงเรียน'

(20 ก.ย.66) จากรายการ 'ถลกข่าว ถลกปัญหา' ทาง THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 19 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นการวางแผนวินัยทางการเงินของคนยุคใหม่ ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า…

“ประเทศไทยเริ่มมีการให้สินเชื่อหนี้บุคคลกว้างขวางขึ้น และง่ายขึ้นมาก ๆ แต่หากนำไปใช้เพื่อการบริโภคก็น่าเป็นห่วง ปกติส่วนใหญ่แล้วหากจะก่อหนี้ จะก่อหนี้เพื่อซื้อสิ่งของที่คงทนถาวร เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่หากกู้ไปเพื่อการบริโภคจะมีปัญหา เช่น การกู้ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าใช้โทรศัพท์นั้นมาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ไลฟ์ขายของ อันนี้ถือว่าเป็นหนี้คุณภาพ แต่ถ้ากู้มาเพื่อเอาไปเที่ยวต่างประเทศ อันนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่”

“จริง ๆ เรื่องแบบนี้ ต้องเริ่มสอนจากครอบครัวและโรงเรียน เริ่มสอนกันตั้งแต่เด็ก ๆ โรงเรียนในต่างประเทศจะสอนเรื่องวินัยการเงินตั้งแต่เด็ก ๆ เขาจะซื้อของใช้เท่าที่จำเป็น เช่น หากจะซื้อโทรศัพท์สักเครื่อง เขาจะซื้อรุ่นที่เขาจำเป็นต้องใช้ ไม่ได้ซื้อเพราะมีเงินพอที่จะซื้อได้ หรือแม้แต่เรื่องการซื้อกาแฟ เขาก็ซื้อดื่มเท่าที่จำเป็น ผมจึงขอยืนยันอีกครั้งว่า เรื่องพวกนี้ต้องสอนกันตั้งแต่เด็ก ๆ และเป็นวาระแห่งชาติครับ” นายพลัฏฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

รับชมสัมภาษณ์เต็มได้ที่ >> https://www.youtube.com/watch?v=raLF6-cwG08

'สถาบันคุ้มครองเงินฝาก' เผย เงินฝาก ‘คนไทย’ เริ่มหดตัวตั้งแต่ปี 65 น่ากังวล!! ส่วนใหญ่มีแค่ 'เศษเงินติดบัญชี' มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท

(3 พ.ย. 66) นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า สิ้นเดือน ส.ค. 2566 มีจำนวนผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครอง อยู่ที่ 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 0.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนดที่ 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.08% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

ขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ลดลง 1.32% ซึ่งเกิดจากปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจ

โดยในรายละเอียด พบว่า จำนวนผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท หรือส่วนมากไม่เกิน 5,000 บาท ในเดือน ส.ค. 2566 อยู่ที่ 81 ล้านราย จากทั้งหมด 93.46 ล้านราย เติบโต 4.45% ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 ที่ ติดลบ 0.63% และในเดือน ส.ค. 2566 ติดลบ 3.61%

ทั้งนี้ ผู้มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท มีการปรับตัวลดลง ทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนักจึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้

เช่นเดียวกับผู้มีเงินฝากตั้งแต่ 1,000,000-5,000,000 บาท ก็เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน

‘EXIM BANK’ เล็งออก ‘บลูบอนด์’ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 71

(13 ธ.ค. 66) นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในเวทีสัมมนา ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ ‘Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน’ ว่า ในมุมของสถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนทิศทาง ESG คือ การระดมทุน และการปล่อยสินเชื่อด้วยการสร้างกลไกให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ออกกรีนบอนด์ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อธุรกิจสีเขียวให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อคนตัวใหญ่ได้ต้นทุนการเงินที่ถูก คนตัวเล็กก็ต้องได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเช่นเดียวกัน

เขาเห็นว่า ในระยะต่อไป การระดมทุนจะไม่ได้มุ่งไปที่กรีนบอนด์เท่านั้น แต่จะพัฒนาไปยังบลูบอนด์คือ บอนด์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยในปีหน้า ธนาคารมีแผนจะระดมทุนผ่านบลูบอนด์จำนวน 5 พันล้านบาท จะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท หรือ 45% ของพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.8 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2571 พอร์ตสินเชื่อสีเขียวจะขยับเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า เครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวหรือสีฟ้ายังมีไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้ภาคเอกชน และภาคการเงินช่วยกัน เพราะสิ่งที่ออกมาช่วยกันทำให้มีซัพพลายทางการเงินตลาดสีเขียวมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจะได้รับต้นทุนที่ต่ำลง

“แม้เราพยายามแค่ไหน จำนวนความต้องการของโลกที่จะใช้กรีนไฟแนนซ์ เพื่อคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณสูงกว่าสิ่งที่ซัปพลายในวันนี้มากถึง 6 เท่า หมายความว่าผลิตภัณฑ์ในการออกกรีนบอนด์ กรีนโลน รวมทั้ง บลูบอนด์นั้น จะออกมายังไงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดปัจจุบัน เชื่อว่า ทุกคนในวันนี้อยากจะเดินหน้าสู่โลกสีเขียว เราจะต้องช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า” นายรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับสมการ การให้สินเชื่อ และการระดมทุนใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ดูเพียงกระแสเงินสดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังดูถึงเรื่องการจ้างแรงงาน รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่ทำดีมากๆ ธนาคารจะให้สินเชื่อกรีนสตาร์ต ที่ออกมาช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอสเอ็มอีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการดูแลชุมชน แม่น้ำ หรือลำคลองได้ดี จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

เขาย้ำว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องร่วมมือกันสร้างบุญใหม่กลบกรรมเก่า เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งขออธิบายง่ายๆ ในภาษาพุทธศาสตร์ว่า ที่เราทำมาในอดีต ถือเป็นกรรมเก่า ต่อไป เราต้องสร้างกรรมดี เพื่อกลบกรรมเก่า ที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง กล่าวคือ หากต้องการให้การปล่อยคาร์บอนจากในอดีต เหลือศูนย์ เราสามารถสร้างกรรมดีได้ด้วยการซื้อคาร์บอนจากชาวบ้าน แต่หากต้องการเป็น NET ZERO เราต้องปลูกป่า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่อาจจะใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เพราะการนำงบดุลย้อนหลังมาโชว์ 3-5 ปี แต่มีตัวเลขสีเขียวอันดับสุดท้าย ธนาคารก็ไม่ได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นหลักอีกแล้ว เราจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจาก DNA ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม” นายรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ธนาคารได้เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของหลายบริษัทในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเรามี KPI ในการตรวจวัดบริษัทเหล่านี้ เช่น เรือด่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และธนาคารก็ได้เดินหน้าทำโซล่าฟาร์มตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ธนาคารเดินทางมาตลอด ทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง DNA ให้กับเราด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top