Wednesday, 15 May 2024
กราดยิง

มือปืนหญิง บุก รร.ประถมเมืองแนชวิลล์ สหรัฐฯ ก่อเหตุกราดยิง เด็กและ จนท. เสียชีวิตรวม 6 ราย

หญิงวัย 28 ปีพร้อมอาวุธครบมือ บุกสังหารเด็ก 3 รายและเจ้าหน้าที่ 3 รายในโรงเรียนประถมเอกชนของเมืองแนชวิลล์ ก่อนถูกตำรวจวิสามัญ ถือเป็นการก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธปืนครั้งล่าสุดที่สร้างความตกตะลึงให้กับสหรัฐอเมริกา

(28 มี.ค.66) เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุกราดยิงอุกอาจในโรงเรียนของเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมือปืนหญิงรายหนึ่งนำปืนไรเฟิลจู่โจมอย่างน้อย 2 กระบอกและปืนพก 1 กระบอกเข้าไปในโรงเรียน Christian Covenant School ทางประตูด้านข้าง ก่อนจะเปิดฉากยิงจนมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย

ดอน อารอน โฆษกตำรวจแนชวิลล์กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผู้ก่อเหตุซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นอดีตนักเรียนของโรงเรียน ทำการกราดยิงหลายนัดโดยไม่เจาะจงเหยื่อ

เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 15 นาทีหลังจากรับสายแจ้งเหตุครั้งแรกในเวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และได้ยิงปะทะกับมือปืน ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะถูกตำรวจยิงเสียชีวิต

ดอน อารอน กล่าวว่า ตำรวจยังไม่พบข้อบ่งชี้เบื้องต้นเกี่ยวกับแรงจูงใจในการกราดยิง แต่เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวตนเบื้องต้นได้ว่า เด็กนักเรียน 3 รายที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 8-9 ขวบ และผู้ใหญ่ 3 รายที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 60-61 ปี เช่นเดียวกับตัวมือปืนเองที่ถูกระบุว่าเป็นหญิงข้ามเพศ

เขายังเสริมด้วยว่า นอกจากตำรวจบาดเจ็บ 1 นายแล้ว ก็ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บอื่นๆจากเหตุครั้งนี้ ส่วนนักเรียนที่เหลือทั้งหมดถูกนำตัวออกจากอาคารได้พร้อมกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่โรงเรียนคนอื่นๆ โดยกลุ่มคนทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์อุกอาจนี้จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อตรวจสอบอาการให้แน่ใจ

The Covenant School เป็นสถาบันเพรสไบทีเรียนเอกชนที่มีนักเรียนมากกว่า 200 คนในระดับอนุบาลจนถึงอายุประมาณ 12 ปี และผู้ใหญ่ 3 รายที่ถูกยิงเสียชีวิตนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงเรียนซึ่งมีจำนวนทั้งหมดราว 40-50 คน

‘หนุ่มแบงก์มะกัน’ ควงปืนไล่ยิงเพื่อนร่วมงาน พร้อมไลฟ์สดขณะก่อเหตุ โชว์ว่อนโลกออนไลน์

พนักงานธนาคารวัย 23 ปีรายหนึ่ง ก่อเหตุใช้อาวุธปืนไรเฟิลยิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต 4 ราย และมีคนอื่นได้รับบาดเจ็บ 9 คน ภายในที่ทำงานของเขาในวันจันทร์ (10 เม.ย.) ในเหตุโจมตีที่คนร้ายทำการไลฟ์สดระหว่างลงมือ ณ สาขาหนึ่งของธนาคารโอลด์ เนชันแนล แบงก์ ในย่านกลางเมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี สหรัฐฯ
.
กรมตำรวจนครบาลลุยส์วิลล์ เผยว่า คนร้ายถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมหรือลงมือปลิดชีพตนเอง
.
ตำรวจระบุตัวตนคนร้าย ได้แก่ นายคอนเนอร์ สเตอร์เจียน ซึ่งเพิ่งเข้าทำงานในฐานะพนักงานประจำของธนาคารโอลด์ เนชันแนล แบงก์สาขานี้เมื่อปีที่แล้ว
.
ในเหตุการณ์ล่าสุดของเหตุกราดยิงหมู่ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในสหรัฐฯ ตำรวจเผยว่าพวกเขาตอบสนองภายในเวลาแค่ 10 นาที หลังได้รับแจ้งว่ามีเหตุโจมตีที่อาคารธนาคาร ใกล้สนามเบสบอล สลักเกอร์ ฟิลด์ ตอนเวลาประมาณ 8.30 น.
.
เจ้าหน้าที่ยิงใส่คนร้ายซึ่งมีอาวุธปืนไรเฟิล จากการเปิดเผยของแจคลีน กวินน์-วิลลาโรเอล ผู้บัญชาการตรวจบอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมเผยว่าคนร้ายได้ทำการไลฟ์สดการโจมตีผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วย
.
ตำรวจเปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย โจชัย บาร์ริค วัย 40 ปี โธมัส เอลเลียต วัย 63 ปี จูเลียนา ฟาร์เมอร์ วัย 45 ปี และเจมส์ ทัตต์ วัย 64 ปี
.
แอนดี เบเชียร์ ผู้ว่าการรัฐเคนทักกี กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือระหว่างแถลงสรุป ว่าเขารู้จักเหยื่อบางคน ในนั้นรวมถึงเอลเลียต ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานอาวุโสของสาขาธนาคารดังกล่าว "เขาสอนผมให้รู้ถึงวิธีช่วยยกระดับวิชาชีพกฎหมายของตนเอง เขาช่วยให้ผมก้าวมาเป็นผู้ว่าการรัฐ เขามอบคำแนะนำต่างๆ กับผม เหมือนกับเป็นพ่อที่ดีคนหนึ่ง" เบเชียร์กล่าว "เขาเป็นหนึ่งคนที่ผมพูดคุยด้วยมากที่สุดในโลก"

เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 คน ในนั้นรวมถึงตำรวจวัย 26 ปีที่เพิ่งจบการศึกษาสถาบันตำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขาถูกยิงเข้าที่ศีรษะและอาการยังวิกฤตหลังเข้ารับการผ่าตัดสมองในวันจันทร์ (10 เม.ย.) นอกจากนี้ ยังมีเหยื่ออีก 2 คนที่อาการสาหัสเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดถูกส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยลุยส์วิลล์

สถานะตำแหน่งการงานในธนาคารของมือปืนยังคงไม่ชัดเจนในวันจันทร์ (10 เม.ย.) ในขณะที่ กวินน์-วิลลาโรเอล เผยระหว่างแถลงข่าวว่าเขายังเป็นลูกจ้างของที่นั่น แต่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เผยว่าคนร้ายได้รับแจ้งว่าเขาจะถูกไล่ออก

‘หนุ่มคลั่ง’ ยอมจำนน หลังก่อเหตุยิงในบ้าน กว่า 30 ชม. ตร.บุกเข้าจู่โจม พบอาวุธปืน 9 มม.1 กระบอก

(13 พ.ค. 66) พล.ต.ต.พงษ์พันธ์ วงศ์มณีเทศ ผบก.ภ.จว.ระยอง ได้วางแผนเข้าจับกุม นายพงศ์ ภูธนะกูล หนุ่มคลั่งก่อเหตุยิงในบ้านมากกว่า 30 ชั่วโมง โดยมีการใช้พลแม่นปืนสไนเปอร์ พร้อมเจ้าหน้าที่สืบสวนภาค 2 สืบสวนจังหวัดระยอง และ สืบสวน สภ.เมืองระยอง เข้ามาตรึงกำลัง พร้อมทั้งเจรจากับผู้ก่อเหตุตลอด

แต่ผู้ก่อเหตุได้ตะโกนด่าออกมาเป็นระยะ พร้อมบอกว่า “พร้อมเผาตัวเอง” โดยบอกว่ามีน้ำมันอยู่ 6 ขวด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่สแตนด์บายไว้ ได้ลากสายน้ำเข้าไปเตรียมพร้อมภายในซอย พร้อมพลแม่นปืนที่มีการหาพื้นที่เตรียมพร้อม แต่ก็ยังไร้การบุกเข้าไป

ต่อมาเวลา 16.00 น. นายพงศ์ ได้ยิงออกมา 2 นัด เสียงปืนดังสนั่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เตรียมพร้อมได้วิ่งกรูเข้าไป พร้อมกับทีมจู่โจม ใช้เวลา 30 นาที ผู้ก่อเหตุยอมมอบตัว โดยมีแม่เข้าไปรับ จึงยอมเดินลงมา และเดินออกมาจากบ้าน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวขึ้นรถตู้ไปควบคุมตัวที่ ภ.จว.ระยอง เพื่อทำการสอบสวน โดย พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.ภ.2 เตรียมเดินทางมาแถลงข่าว

‘ชาวเซอร์เบีย’ ส่งมอบปืนคืนรัฐฯ กว่าหมื่นกระบอก หลังเกิดโศกนาฏกรรมกราดยิงในโรงเรียน

‘เซอร์เบีย’ เป็นประเทศที่มีอัตราการถือครองอาวุธปืนมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในยุโรป ปัจจุบันจากจำนวนชาวเซอร์เบียราว 7 ล้านคน มีการถือครองปืนมากถึง 2.7 ล้านกระบอก และมากกว่าครึ่งเป็นอาวุธปืนที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย

วัฒนธรรมการถือครองปืนของชาวเซอร์เบีย เริ่มแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ช่วงหลังสิ้นสุดสงครามยูโกสลาเวียในปี 1989 ซึ่งชาวเซอร์เบียมองว่า การมีอาวุธปืนในครอบครองถือเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการป้องกันตนเอง อีกทั้งการใช้ปืน ยังเป็นส่วนหนึ่งในพิธีแต่งงาน งานเฉลิมฉลองในวันเกิดทารก หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในสมบัติประจำครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แต่ทั้งนี้ คดีอาชญากรรมที่ใช้ปืนเป็นอาวุธในเซอร์เบียอยู่ในระดับกลาง ราวๆ 0.3 คดีต่อประชากร 100,000 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อีกด้วย อาจทำให้ชาวเซอร์เบียชะล่าใจว่า การถือครองปืนไม่ได้ส่งผลต่อระดับคดีอาชญากรรมในประเทศ จนกระทั่ง เกิดเหตุโศกนาฎกรรม กราดยิงครั้งใหญ่ ติดต่อกันถึง 2 แห่งภายในระยะเวลาไม่ถึงสัปดาห์

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในโรงเรียน Vladislav Ribnikar Model Elementary School ชานกรุงเบลเกรด โดยนักเรียนอายุ 13 ปี ใช้ปืนของพ่อกราดยิงเพื่อน และ ครูในโรงเรียน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 คน และบาดเจ็บอีก 6 คน หลังจากนั้นเพียง 2 วัน เกิดเหตุชายวัย 21 ขับรถไล่ยิงคนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ทางใต้ของกรุงเบลเกรด จนมีผู้เสียชีวิตถึง 8 รายในคืนเดียว

จากเหตุสลดดังกล่าว ทำให้ชาวเซอร์เบียเริ่มตระหนักถึงอันตราย จากการมีอาวุธใกล้มือเกินไปที่บ้าน และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูซิส ออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนโดยทันที

ด้านผู้นำเซอร์เบีย ก็ได้ออกคำสั่งกวาดล้างอาวุธปืนเถื่อน และเพิ่มโทษการถือครองอาวุธปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ด้วยโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

แต่ประธานาธิบดี วูซิส ได้ประกาศช่วงนิรโทษกรรม 1 เดือนให้กับชาวเซอร์เบียทุกคนที่ยังครอบครองอาวุธปืนเถื่อน ให้นำมาส่งมอบคืนกับรัฐบาล จะได้รับการยกเว้นโทษ ซึ่งช่วงนิรโทษกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ไปจนถึง 8 มิถุนายนนี้ หากพ้นชวงนี้ไป ทางรัฐบาลเซอร์เบียจะเริ่มนโยบายกวาดล้างอาวุธปืนเถื่อน และใครที่ยังถือครองอยู่จะได้รับโทษตามกฏหมาย ไม่มีละเว้น

ซึ่งทันทีที่มีประกาศ ชาวเซอร์เบียก็ได้นำอาวุธไปคืนให้กับรัฐบาลเซอร์เบียเป็นจำนวนมาก จนกองพะเนินเป็นภูเขา และยังเป็นที่น่าตกตะลึงว่า ในจำนวนปืนที่นำมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ นอกจากจะมีปืนกล ปืนกึ่งอัตโนมัต ที่เป็นกลุ่มอาวุธที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้พลเรือนครอบครองอยู่แล้ว ยังพบปืนต่อสู้รถถัง และ ปืนยิงขีปนาวุธ บางส่วนด้วย ซึ่งนับรวมแล้วตอนนี้มีปืนจากประชาชน ส่งคืนให้รัฐบาลไม่น้อยกว่า 13,500 กระบอก

แม้ว่าการเปลี่ยนวัฒนธรรมการครอบครองปืนของชาวเซอร์เบียจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยผู้นำเซอร์เบียได้ออกมากล่าวชื่นชมชาวเซอร์เบียที่นำอาวุธมาส่งคืนให้ เพราะมีตัวเลขที่น่าสนใจว่า ในจำนวนปืนราวหมื่นกระบอกนี้ กว่าครึ่งเป็นปืนที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่ชาวเซอร์เบียบางส่วนก็ยินดีส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาล เพราะเห็นว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ปืนเหล่านี้แล้ว อีกทั้งไม่อยากเห็นเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในเซอร์เบียอีก

การออกมาตรการควบคุมอาวุธปืนในเซอร์เบีย กำลังจะเป็นที่สนใจอย่างมากในอีกประเทศที่มีปัญหาคดีอาชญากรรมจากอาวุธปืนอย่างหนัก นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา

โดยสื่อในสหรัฐ พยายามถอดรหัส ‘เซอร์เบียโมเดล’ การปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนลดการถือครองอาวุธปืน และสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยได้โดยปราศจากอาวุธ

แต่โมเดลเซอร์เบีย อาจจะเกิดขึ้นไม่ง่ายที่สหรัฐ เนื่องจากในเซอร์เบียไม่มี ‘สมาคมปืนแห่งชาติ’ ที่พร้อมทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อล็อบบี้นักการเมืองอเมริกัน ในการยกมือคัดค้านกฎหมายควบคุมอาวุธปืน โดยอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นสรณะ มานานนับร้อยปีนั่นเอง

ระทึก!! เกิดเหตุกราดยิงกลางเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง ดับแล้ว 2 บาดเจ็บอีก 5 ราย!!

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 สำนักข่าวบีบีซีและรอยเตอร์รายงานว่า เกิดเหตุกราดยิงในสถานที่ก่อสร้างในเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง นัดเปิดสนามระหว่างทีมชาตินอร์เวย์และนิวซีแลนด์จะเริ่มขึ้นที่สนามอีเดน พาร์ค ในเมืองโอ๊คแลนด์ เหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย บาดเจ็บ 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ขณะที่ผู้ก่อเหตุถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

นายแอนดรูว์ คอสเตอร์ ผู้บัญชาการตำรวจนิวซีแลนด์ระบุในการแถลงข่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการระบุตัวตนของผู้ก่อเหตุอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะเป็นชายวัย 24 ที่ทำงานในสถานที่ก่อสร้างที่เป็นจุดเกิดเหตุดังกล่าว โดยผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนลูกซองในการกราดยิงพร้อมกับเดินมุ่งหน้าไปในอาคารจุดเกิดเหตุ เมื่อไปถึงชั้นบนของอาคาร มือปืนได้ทำการสาดกระสุนต่อไปก่อนที่จะพบเป็นศพในเวลาต่อมาไม่นาน

ชายคนดังกล่าวต้องโทษกักบริเวณในบ้านพักแต่ได้รับการยกเว้นให้ทำงานในสถานที่ก่อสร้างดังกล่าว นายคอสเตอร์กล่าวว่า “ผู้ก่อเหตุมีประวัติใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นหลัก ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเขามีความเสี่ยงที่จะก่ออันตรายในระดับที่มากกว่าที่ระบุในประวัติของเขา”

นายคริส ฮิปกินส์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวว่า เหตุกราดยิงดังกล่าวไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการก่อการร้ายและไม่พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจมาจากการเมืองหรือคตินิยมแต่อย่างใด ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงที่ประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียร่วมกันเป็นเจ้าภาพจะดำเนินต่อไปตามปกติ

ฮิปกินส์กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชายและหญิงของนิวซีแลนด์ที่ได้เข้าระงับเหตุดังกล่าวอย่างทันท่วงทีเพื่อรักษาชีวิตประชาชน และขอให้สาธารณชนวางใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดการกับภัยคุกคามและไม่มีความเสี่ยงใดหลังเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่จะเพิ่มกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมือง

นายเวย์น บราวน์ นายกเทศมนตรีเมืองโอ๊คแลนด์ ให้ข้อมูลว่า เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ทุกคนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า และสมาชิกทุกคนของทีมฟุตบอลทุกทีมปลอดภัยดี ด้านฟีฟ่าก็ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตและทางฟีฟ่ากำลังติดต่อกับทางการนิวซีแลนด์

ทีมฟุตบอลหญิงของทีมชาตินิวซีแลนด์ นอร์เวย์ อิตาลี สหรัฐ เวียดนาม และโปรตุเกส กำลังพักอยู่ในเมืองโอ๊คแลนด์ขณะเกิดเหตุกราดยิง โดยสถานที่เกิดเหตุอยู่ใกล้กับโรงแรมของทีมชาตินอร์เวย์ ทำให้นักเตะของทีมหลายคนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรายงานว่าตนเองปลอดภัยดี

'รองต่อศักดิ์' เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมซ้อมแผนคนร้ายกราดยิง Active Shooter รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 24 ก.ค.66 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุคนร้ายกราดยิง (Active Shooter) โดยมีคณะครูฝึกนำโดย พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผกก.1 บก.ทท 1 พ.ต.ท.คงศักดิ์ ศรีโหร รอง ผกก.สายตรวจ บก.สปพ. พ.ต.ท.ชายวุธ ชายโอฬาร รอง ผกก.ต่อต้านก่อการร้าย บก.สปพและเจ้าหน้าที่สายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ 191 มาเป็นวิทยากร โดยมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 3- มัธยมศึกษาปีที่ 6 และคณะครู-อาจารย์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน รวมฝึกภาคทฤษฎีและปฏิบัติการหนี ซ่อน สู้ 

โดยการฝึกครั้งนี้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมผู้ปกครอง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดโครงการ ฝึกอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุกรณีคนร้ายยิงกราด Active shooter นั้นได้แบ่งเป็น สองส่วนคือการอบรมภาคทฤษฎี และการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ซึ่งได้ แบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อที่ 1 คือการปฏิบัติเพื่อพบ IED ระเบิด ทำให้รู้ว่าเมื่อพบวัตถุเข้าข่ายที่จะเป็นระเบิดควรปฏิบัติตัวอย่างไร หัวข้อที่ 2 คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อสร้างความรู้เบื้องต้นในการรักษาบาดแผลและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุร้าย เพื่อลดการสูญเสีย และหัวข้อที่ 3 คือ การหนี ซ่อน สู้ ซึ่งจะมีการสาธิตเหตุการณ์จริงว่าเมื่อมีคนร้ายก่อเหตุยิงกราดจะมีวิธีการในการเอาตัวรอดอย่างไร

นอกจากนี้ในกิจกรรมฝึกมีส่วนสถานการณ์จำลองโดยจะมีคนร้ายเข้ามาในสถานที่ที่กำหนดแล้วกราดยิงใส่กลุ่มผู้ฝึกซ้อม เพื่อให้ผู้ฝึกซ้อมใช้ทักษะที่อบรมมาในการปฎิบัติภารกิจ โดยจะสามารถประยุกต์ใช้ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานประกอบการห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานที่โล่งแจ้ง เป็นต้น

มือปืนเหยียดเชื้อชาติ กราดยิงคนผิวดำดับ 3 รายในแจ็กสันวิลล์ สลด!! เหตุเกิดตรงกับวันครบรอบสุนทรพจน์ ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 ตามเวลาท้องถิ่น มือปืนรายหนึ่งก่อเหตุกราดยิงใส่คนผิวสี 3 ราย จนเสียชีวิตในแจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ฆ่าตัวตายตาม ถือเป็นเหตุสลดใจล่าสุดที่เกิดขึ้นเพราะการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐฯ

มือปืนถูกระบุว่าเป็นคนผิวขาว อายุ 20 ต้นๆ ได้เข้าไปในร้านดอลลาร์เจเนอรัล และเปิดฉากยิงใส่คนผิวสีจนเสียชีวิต 3 ราย ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจที่เข้าระงับเหตุ แต่คนร้ายได้จบชีวิตตนเองในท้ายที่สุด

‘นายอำเภอที เค วอเตอร์ส’ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 2 รายและหญิง 1 ราย โดยมือปืนซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่ออย่างเป็นทางการ ใช้ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติที่มีน้ำหนักเบา และปืนพกในการก่อเหตุ

นายอำเภอวอเตอร์สเชื่อว่า มือปืนลงมือก่อเหตุตามลำพังและมีข้อมูลระบุว่า เขาต้องการฆ่าตัวตาย โดยมือปืนรายนี้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเขาในเคลย์เคาท์ตีของแจ็กสันวิลล์ โดยปืนอย่างน้อย 1 กระบอกของเขามีเครื่องหมายสวัสดิกะอยู่บนนั้น

ขณะที่ ‘ดอนนา ดีแกน’ นายกเทศมนตรีแจ็กสันวิลล์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังทางเชื้อชาติ และว่าแค่เหตุยิงเพียงครั้งเดียวก็มากเกินไป ยิ่งการกราดยิงหมู่เช่นนี้ยิ่งเป็นเรื่องเหลือที่จะรับได้

‘รอน เดอซานติส’ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา กล่าวว่า เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องน่ากลัว มือปืนพุ่งเป้าไปที่คนโดยดูจากเชื้อชาติของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และฆ่าตัวตายแทนที่จะเผชิญหน้า และรับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป เขาเลือกทางออกอย่างคนขี้ขลาด

ด้านทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว

เหตุกราดยิงดังกล่าวเกิดขึ้นในวันครบรอบ 60 ปีที่ ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ ได้กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดัง “I have a dream” เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้กับคนผิวสีในสหรัฐฯ

เปิดตัวเลขกราดยิงหมู่ในสหรัฐฯ ทะลุ 500 เคสในปีนี้ คู่ขนาน ปชช.ถือครองอาวุธปืนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

(19 ก.ย. 66) จำนวนเหตุกราดยิงหมู่ในสหรัฐฯ พุ่งผ่าน 500 เหตุการณ์แล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลของ ‘Gun Violence Archive’ (GVA) องค์กรไม่แสวงกำไรที่ศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงจากอาวุธปืน เฉลี่ยแล้วเท่ากับเกือบ 2 เหตุการณ์ต่อวันเลยทีเดียว

เมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ย.) ที่ผ่านมา กรมตำรวจเดนเวอร์ โพสต์แจ้งเตือนบนแฟลตฟอร์ม X (เดิมคือ ทวิตเตอร์) ยืนยันเกิดเหตุกราดยิงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งนับเป็นเหตุกราดยิงเหตุการณ์ที่ 500 ของปีนี้

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ตำรวจเอลปาโซ รัฐเทกซัส รายงานว่า พวกเขากำลังสืบสวนเหตุการณ์ยิงกันเหตุการณ์หนึ่งช่วงเช้าในอีสต์ เอลปาโซ ซึ่งคร่าชีวิตชายวัย 19 ปีรายหนึ่ง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ส่งผลให้ตัวเลขรวมของเหตุกราดยิงเพิ่มเป็น 501 เหตุการณ์

อ้างอิงข้อมูลบนเว็บไซต์ของ GVA ได้ให้คำจำกัดความเหตุกราดยิงว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 4 คน หรือมากกว่านั้น ไม่นับรวมผู้ก่อเหตุ

ปี 2021 กลายเป็นปีที่มีเหตุกราดยิงหมู่มากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ หลังมีรายงานเกี่ยวกับเหตุกราดยิง 689 เหตุการณ์ ก่อนที่จำนวนเหตุกราดยิงจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 647 เหตุการณ์ในปี 2022 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเอฟบีไอพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บกลับเพิ่มขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สถิติศึกษาแห่งชาติสหรัฐฯ (NCES) เผยแพร่รายงานอาชญากรรมและความปลอดภัยประจำปี พบว่า มีเหตุยิงกันที่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในโรงเรียน 188 เหตุการณ์ ในปีการศึกษา 2021-22 เพิ่มขึ้นจากหนึ่งปีก่อนหน้านี้กว่าเท่าตัว

เหตุกราดยิงหมู่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีเหตุกราดยิงหมู่เพียงแค่ 273 เหตุการณ์ในปี 2014

ผลการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่โดยวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ บ่งชี้ว่ามีประชาชนครอบครองอาวุธปืนเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างเดือนมกราคม 2019 ถึงเมษายน 2021 มีผู้ใหญ่ชาวสหรัฐฯ กลายเป็นเจ้าของอาวุธปืนรายใหม่มากถึง 7.5 ล้านคน

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มาตรา 2 บัญญัติว่า อนุญาตให้ชาวอเมริกันที่อายุ 21 ปีขึ้นไป (หรือ 18 ปีในบางรัฐ) มีสิทธิครอบครองอาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองโดยชอบธรรม และผลสำรวจความคิดเห็นพบว่ามีราว 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ มีอาวุธปืนในครอบครอง อย่างไรก็ตาม อีกโพลหนึ่งที่จัดทำโดยแกลลัพ ในเดือนตุลาคม 2022 พบว่าชาวอเมริกาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืน โดยมีถึง 57% ที่สนับสนุนกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มข้น

กระนั้น เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมอเมริกา โดยผลสำรวจอีกอันของแกลลัพ พบว่า ชาวเดโมแครตมีความเห็นเกือบเป็นเอกฉันท์สนับสนุนควบคุมอาวุธปืน แต่สำหรับชาวรีพับลิกันแล้ว มีไม่ถึง 1 ใน 4 ที่สนับสนุนกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

‘ชายวัย 32 ปี’ บุกกราดยิง รพ.มหาวิทยาลัยแพทย์ใน ‘เนเธอร์แลนด์’ ทำ ‘หมอ-พยาบาล-คนไข้’ วิ่งหนีตายระทึก พบมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

(29 ก.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ รายงานว่า มีชายวัย 32 ปีได้สวมชุดนักรบและเสื้อเกราะกันกระสุนบุกเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ที่อยู่ติดกับบ้านของตัวเอง ก่อเหตุกราดยิง 2 ครั้งในเมืองรอตเตอร์ดัม ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 ราย โดยเป็นหญิงวัย 39 ปี และลูกสาว วัย 14 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น มือปืนได้บุกเข้าไปที่ห้องเรียนในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีราสมุส เอ็มซี และยิงอาจารย์วัย 46 ปีเสียชีวิตเป็นรายต่อไป

ก่อนจะเปิดฉากยิงขึ้นอีกครั้งภายในอาคารโรงพยาบาลดังกล่าว ทำให้แพทย์ พยาบาล และคนไข้แตกตื่น จนต้องหนีมาอยู่นอกอาคาร ก่อนที่ตำรวจจะเข้าควบคุมสถานการณ์ และคุมตัวมือปืนไปสอบสวน เพื่อหาสาเหตุและแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ จากการตรวจสอบประวัติพบว่า มือปืนรายนี้ชอบทรมานสัตว์ และเคยทรมานกระต่ายที่เขาเลี้ยงเอาไว้

‘อดีตเจ้าหน้าที่ FBI’ เผย หัวใจหลักในการเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง ยกเคสการถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ที่สหรัฐฯ

จากกรณีเหตุสะเทือนขวัญที่มีคนร้ายเป็น ด.ช.วัย 14 ปี ลักลอบนำอาวุธปืน บุกเข้าก่อเหตุกราดยิงกลางห้างสยามพารากอน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กเพจ ‘ดร.โญ มีเรื่องเล่า’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแนะนำวิธีการเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง โดยระบุว่า…

หนี-ซ่อน-สู้ : วิธีเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง โดยอดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ FBI

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตการเหตุกราดยิงที่สยามพารากอนด้วยครับ เหตุกราดยิงในบ้านเราเริ่มจะมีมากขึ้น เพราะคนบ้าสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายขึ้น ในภาพยนตร์ต่างประเทศเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ถูกพักงานหรือถูกปลดหรือถูกไล่ออก สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้จะต้องทำคือ ส่งมอบตรา บัตรประจำตัว และอาวุธปืนประจำตัว

ในปี ค.ศ. 2023 จนถึงขณะนี้ (11 พฤษภาคม ค.ศ. 2023) มีเหตุกราดยิงมากกว่า 200 ครั้ง ในสหรัฐอเมริกา

ตามรายงานของ ‘Gun Violence Archive’ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้ให้นิยามเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างน้อย 4 คนขึ้นไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุกราดยิงเหล่านี้เกิดขึ้นในโบสถ์ คลีนิกหรือโรงพยาบาล โรงเรียนประถมศึกษา และสถานที่จัดกิจกรรมกลางแจ้ง

ศ. Alex del Carmen รองคณบดี และศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Tarleton มลรัฐ Texas กล่าวว่า การรู้วิธีโต้ตอบในการกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้

“ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังประสบกับสิ่งนี้ในชีวิตของพวกเขา” ศ. Alex del Carmen บอกกับ NPR (National Public Radio) ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “ตอนนี้เราเกือบจะมีหน้าที่ต้องสอนเด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้”

ศ. Alex del Carmen บอกกับลูก ๆ ของเขาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ว่า : มีแผนฉุกเฉินเสมอ คำแนะนำทั่วไปได้แก่ : 
- การหลบหนี
- การหลบซ่อน
- การสู้กลับ

จากบทความรำลึกถึงเหยื่อเหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ครบ 10 ปี Katherine Schweit อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ผู้เขียนเรื่อง ‘Stop the Killing : How to End the Mass Shooting Crisis’ (หยุดการฆ่า : จะยุติวิกฤตการณ์กราดยิงได้อย่างไร) ได้ออกแบบโครงการเผชิญเหตุกราดยิงของหน่วยงานนี้ หลังเหตุกราดยิงที่เหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ในปี ค.ศ. 2012

“การเตรียมตัวเป็นสิ่งที่ดี” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit บอกกับ NPR “แต่อย่ากลัวจนคิดมากไปว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดิฉันคิดว่า ถ้าคุณย้อนกลับไปดูว่าอาจจะเป็นการซ้อมดับเพลิงในโรงเรียน เราก็ได้ทำให้การฝึกซ้อมหนีไฟเป็นมาตรฐานแล้ว และเราไม่คิดว่าทุกครั้งที่มีการซ้อมดับเพลิงหรือคำเตือนพายุทอร์นาโดว่า เรากำลังจะถูกไฟครอกตายหรือเสียชีวิตในพายุทอร์นาโด”

อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อเกิดเหตุกราดยิง สำหรับพลเรือนที่ต้องทำคือ ‘การหลบหนีเสมอ’

แน่นอนว่า การตอบสนองต่อเหตุกราดยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นใน Uvalde มลรัฐ Texas ที่นั่น มือปืนใช้เวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงในโรงเรียนประถม Robb ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรออยู่ด้านนอก วิธีตอบสนองของเจ้าหน้าที่จะแตกต่างกันเสมอ ตราบเท่าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติตามวิธีการฝึกอบรมที่แตกต่างกันไป (มาตรฐานแห่งชาติที่แนะนำนั้นมีอยู่จริง แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะ)

อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit เสริมว่า สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า เหตุกราดยิงในที่สาธารณะประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของการบาดเจ็บจากอาวุธปืนทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ในทุกปีผู้คนถูกฆ่าในบ้านและในละแวกใกล้เคียงมากกว่าในสถานที่สาธารณะ

“ดังนั้น แม้ว่าจะมีข่าวเหตุกราดยิงมากมาย แต่เหตุกราดยิงก็ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก” อดีตเจ้าหนัาที่พิเศษ Schweit

ถึงกระนั้น กริยาสามคำก็มีคุณค่ามากมาย : หนี ซ่อน สู้ การหนีคือ ทางเลือกที่หนึ่ง ถ้าหนีไม่ได้ก็ต้องซ่อน และถ้าซ่อนไม่ได้ก็ต้องสู้

- หนี ไม่ว่ามือปืนจะใช้อาวุธปืนชนิดใดก็ตาม ยิ่งเราอยู่ห่างจากมือปืนได้มากเท่าไร โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น “นั่นฟังดูเหมือน ‘เราอยู่ในเขตสงคราม’ มาก แต่ในขณะที่เสียงยิงดังขึ้น เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ในเขตสงคราม และการหนีไปจะดีกว่า ถ้าสามารถทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าว

เมื่อไปที่ไหนก็ตามให้มองหาทางออกปกติหรือฉุกเฉินไว้เสมอ การอพยพออกไปโดยไม่ลังเลหรือรอรวบรวมข้าวของ และหนีต่อไปจนกว่าจะถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย

- ซ่อน “นั่นไม่ได้หมายความว่า จะต้องวิ่งหนีเมื่อมีคนยิงใส่เรา” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit อธิบาย หากไม่มีเส้นทางหลบหนีที่ปลอดภัย FBI แนะนำให้หาที่ซ่อนดี ๆ ล็อกประตูและกั้นประตู รวมทั้งปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ

- สู้ เมื่อต้นปีนี้ Brandon Tsay บรรยายใน Morning Edition ของ NPR ถึงสิ่งที่เขาคิดเมื่อตัดสินใจต่อสู้ และปลดอาวุธมือปืนใน Monterey Park มลรัฐ  California

“มันจะต้องจบลงที่นี่ นี่คือจุดสิ้นสุดของชีวิตของผม มันจบลงแล้ว ผมจะตายที่นี่” Tsay กล่าว “แต่ที่สุดผมก็รวบรวมความกล้าที่ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร ซึ่งก็สรุปได้ว่า ต้องแย่งปืนออกไปจากเขา ไม่งั้นจะมีคนเจ็บอีกเยอะมาก”

การใช้สิ่งของที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ร่วมกับการจู่โจมนั้น ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งมือปืนในสถานที่ต่าง ๆ เช่นที่ Colorado Springs มลรัฐ Colorado และ Noblesville มลรัฐ Indiana

การวิจัยของ FBI แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่มีอาวุธมักจะช่วยชีวิต และยุติเหตุกราดยิงได้มากกว่าผู้ที่มีอาวุธ “ดังนั้น อย่าเชื่อว่า เราไม่สามารถหยุดมือปืนได้ เราทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าว “และก็มีคนทำมาตลอด”

Credit : https://www.npr.org/

ส่วนตัว ในฐานะอดีตนักกีฬายิงปืนหลายมหาวิทยาลัย เคยได้เหรียญรางวัลกีฬามหาวิทยาลัยครบทุกเหรียญ อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝึกฝนการใช้อาวุธปืนให้ชำนาญและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจและจราจร ซึ่งมีโอกาสเผชิญเหตุก่อน ในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะซ้อมยิงปืนพกแทบจะทุกเดือน มีการบันทึกคะแนนที่ซ้อมยิงไว้ด้วย

รถยนต์สายตรวจทุกคันควรมีปืนยิงเร็วและปืนลูกซองอย่างละกระบอก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีอำนาจการยิงในการเผชิญเหตุมากกว่าผู้ก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับห้างร้านทางเข้าห้างใหญ่ ๆ มักจะมีซุ้มตรวจจับอาวุธอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ รปภ.ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องเกรงใจลูกค้า ตรวจสอบ ตรวจค้น สิ่งของที่อาจจะเป็นอันตราย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าส่วนใหญ่ นอกจากการซ้อมรับเหตุไฟไหม้แล้ว ต่อไปห้างร้านอาคารต่าง ๆ จะต้องมีการฝึกซ้อมการเผชิญเหตุกราดยิงอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top