‘อดีตเจ้าหน้าที่ FBI’ เผย หัวใจหลักในการเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง ยกเคสการถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ที่สหรัฐฯ

จากกรณีเหตุสะเทือนขวัญที่มีคนร้ายเป็น ด.ช.วัย 14 ปี ลักลอบนำอาวุธปืน บุกเข้าก่อเหตุกราดยิงกลางห้างสยามพารากอน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กเพจ ‘ดร.โญ มีเรื่องเล่า’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแนะนำวิธีการเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง โดยระบุว่า…

หนี-ซ่อน-สู้ : วิธีเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง โดยอดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ FBI

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตการเหตุกราดยิงที่สยามพารากอนด้วยครับ เหตุกราดยิงในบ้านเราเริ่มจะมีมากขึ้น เพราะคนบ้าสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายขึ้น ในภาพยนตร์ต่างประเทศเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ถูกพักงานหรือถูกปลดหรือถูกไล่ออก สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้จะต้องทำคือ ส่งมอบตรา บัตรประจำตัว และอาวุธปืนประจำตัว

ในปี ค.ศ. 2023 จนถึงขณะนี้ (11 พฤษภาคม ค.ศ. 2023) มีเหตุกราดยิงมากกว่า 200 ครั้ง ในสหรัฐอเมริกา

ตามรายงานของ ‘Gun Violence Archive’ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้ให้นิยามเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างน้อย 4 คนขึ้นไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุกราดยิงเหล่านี้เกิดขึ้นในโบสถ์ คลีนิกหรือโรงพยาบาล โรงเรียนประถมศึกษา และสถานที่จัดกิจกรรมกลางแจ้ง

ศ. Alex del Carmen รองคณบดี และศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Tarleton มลรัฐ Texas กล่าวว่า การรู้วิธีโต้ตอบในการกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้

“ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังประสบกับสิ่งนี้ในชีวิตของพวกเขา” ศ. Alex del Carmen บอกกับ NPR (National Public Radio) ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “ตอนนี้เราเกือบจะมีหน้าที่ต้องสอนเด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้”

ศ. Alex del Carmen บอกกับลูก ๆ ของเขาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ว่า : มีแผนฉุกเฉินเสมอ คำแนะนำทั่วไปได้แก่ : 
- การหลบหนี
- การหลบซ่อน
- การสู้กลับ

จากบทความรำลึกถึงเหยื่อเหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ครบ 10 ปี Katherine Schweit อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ผู้เขียนเรื่อง ‘Stop the Killing : How to End the Mass Shooting Crisis’ (หยุดการฆ่า : จะยุติวิกฤตการณ์กราดยิงได้อย่างไร) ได้ออกแบบโครงการเผชิญเหตุกราดยิงของหน่วยงานนี้ หลังเหตุกราดยิงที่เหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ในปี ค.ศ. 2012

“การเตรียมตัวเป็นสิ่งที่ดี” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit บอกกับ NPR “แต่อย่ากลัวจนคิดมากไปว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดิฉันคิดว่า ถ้าคุณย้อนกลับไปดูว่าอาจจะเป็นการซ้อมดับเพลิงในโรงเรียน เราก็ได้ทำให้การฝึกซ้อมหนีไฟเป็นมาตรฐานแล้ว และเราไม่คิดว่าทุกครั้งที่มีการซ้อมดับเพลิงหรือคำเตือนพายุทอร์นาโดว่า เรากำลังจะถูกไฟครอกตายหรือเสียชีวิตในพายุทอร์นาโด”

อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อเกิดเหตุกราดยิง สำหรับพลเรือนที่ต้องทำคือ ‘การหลบหนีเสมอ’

แน่นอนว่า การตอบสนองต่อเหตุกราดยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นใน Uvalde มลรัฐ Texas ที่นั่น มือปืนใช้เวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงในโรงเรียนประถม Robb ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรออยู่ด้านนอก วิธีตอบสนองของเจ้าหน้าที่จะแตกต่างกันเสมอ ตราบเท่าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติตามวิธีการฝึกอบรมที่แตกต่างกันไป (มาตรฐานแห่งชาติที่แนะนำนั้นมีอยู่จริง แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะ)

อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit เสริมว่า สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า เหตุกราดยิงในที่สาธารณะประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของการบาดเจ็บจากอาวุธปืนทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ในทุกปีผู้คนถูกฆ่าในบ้านและในละแวกใกล้เคียงมากกว่าในสถานที่สาธารณะ

“ดังนั้น แม้ว่าจะมีข่าวเหตุกราดยิงมากมาย แต่เหตุกราดยิงก็ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก” อดีตเจ้าหนัาที่พิเศษ Schweit

ถึงกระนั้น กริยาสามคำก็มีคุณค่ามากมาย : หนี ซ่อน สู้ การหนีคือ ทางเลือกที่หนึ่ง ถ้าหนีไม่ได้ก็ต้องซ่อน และถ้าซ่อนไม่ได้ก็ต้องสู้

- หนี ไม่ว่ามือปืนจะใช้อาวุธปืนชนิดใดก็ตาม ยิ่งเราอยู่ห่างจากมือปืนได้มากเท่าไร โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น “นั่นฟังดูเหมือน ‘เราอยู่ในเขตสงคราม’ มาก แต่ในขณะที่เสียงยิงดังขึ้น เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ในเขตสงคราม และการหนีไปจะดีกว่า ถ้าสามารถทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าว

เมื่อไปที่ไหนก็ตามให้มองหาทางออกปกติหรือฉุกเฉินไว้เสมอ การอพยพออกไปโดยไม่ลังเลหรือรอรวบรวมข้าวของ และหนีต่อไปจนกว่าจะถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย

- ซ่อน “นั่นไม่ได้หมายความว่า จะต้องวิ่งหนีเมื่อมีคนยิงใส่เรา” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit อธิบาย หากไม่มีเส้นทางหลบหนีที่ปลอดภัย FBI แนะนำให้หาที่ซ่อนดี ๆ ล็อกประตูและกั้นประตู รวมทั้งปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ

- สู้ เมื่อต้นปีนี้ Brandon Tsay บรรยายใน Morning Edition ของ NPR ถึงสิ่งที่เขาคิดเมื่อตัดสินใจต่อสู้ และปลดอาวุธมือปืนใน Monterey Park มลรัฐ  California

“มันจะต้องจบลงที่นี่ นี่คือจุดสิ้นสุดของชีวิตของผม มันจบลงแล้ว ผมจะตายที่นี่” Tsay กล่าว “แต่ที่สุดผมก็รวบรวมความกล้าที่ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร ซึ่งก็สรุปได้ว่า ต้องแย่งปืนออกไปจากเขา ไม่งั้นจะมีคนเจ็บอีกเยอะมาก”

การใช้สิ่งของที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ร่วมกับการจู่โจมนั้น ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งมือปืนในสถานที่ต่าง ๆ เช่นที่ Colorado Springs มลรัฐ Colorado และ Noblesville มลรัฐ Indiana

การวิจัยของ FBI แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่มีอาวุธมักจะช่วยชีวิต และยุติเหตุกราดยิงได้มากกว่าผู้ที่มีอาวุธ “ดังนั้น อย่าเชื่อว่า เราไม่สามารถหยุดมือปืนได้ เราทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าว “และก็มีคนทำมาตลอด”

Credit : https://www.npr.org/

ส่วนตัว ในฐานะอดีตนักกีฬายิงปืนหลายมหาวิทยาลัย เคยได้เหรียญรางวัลกีฬามหาวิทยาลัยครบทุกเหรียญ อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝึกฝนการใช้อาวุธปืนให้ชำนาญและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจและจราจร ซึ่งมีโอกาสเผชิญเหตุก่อน ในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะซ้อมยิงปืนพกแทบจะทุกเดือน มีการบันทึกคะแนนที่ซ้อมยิงไว้ด้วย

รถยนต์สายตรวจทุกคันควรมีปืนยิงเร็วและปืนลูกซองอย่างละกระบอก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีอำนาจการยิงในการเผชิญเหตุมากกว่าผู้ก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับห้างร้านทางเข้าห้างใหญ่ ๆ มักจะมีซุ้มตรวจจับอาวุธอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ รปภ.ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องเกรงใจลูกค้า ตรวจสอบ ตรวจค้น สิ่งของที่อาจจะเป็นอันตราย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าส่วนใหญ่ นอกจากการซ้อมรับเหตุไฟไหม้แล้ว ต่อไปห้างร้านอาคารต่าง ๆ จะต้องมีการฝึกซ้อมการเผชิญเหตุกราดยิงอีกด้วย