Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

เอกนัฏ’ ชื่นชม!! ‘ชาวไร่อ้อย - โรงงานน้ำตาล’ ชี้!! ฮีโร่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 หลังอ้อยเผาเหลือ 9% ดันแปรรูปสู่พลาสติกชีวภาพ ดึงเงินลงทุน 2 หมื่นล้าน

(12 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดเผาอ้อยก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM 2.5) ของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จากสถิติการรับอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือในการตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ที่ระดับ 9% ดันอ้อยสดพุ่งกว่า 91% ส่งผลให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ตนได้พบหารือกับนายโรเจอร์ มาร์คิโอนี่ ผู้อำนวยการธุรกิจทวีปเอเชีย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Braskem Siam บริษัท Braskem S.A. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสากรรมการพลาสติกชีวภาพ มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งต้องการเฉพาะวัตถุดิบเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยที่ปลูกโดยไม่ก่อมลพิษ และปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ จะต้องผลิตจากอ้อยตัดสดไม่เผาแปลงเท่านั้น โดยมีด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี โดยจะต้องใช้เอทานอล 500 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับทักษะการทำงานแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนและหารือแนวทางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการลดมลพิษทางอากาศและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

“ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นฮีโร่ของคนไทยช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากการร่วมมือร่วมใจผลักดันการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาอ้อยสดไม่เผาให้เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับพลาสติกชีวภาพจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ สั่ง!! ‘ทีมตรวจสุดซอย’ ลุยต่อเนื่องตรวจ 2 โรงงาน เชื่อมโยง!! ไฟไหม้โรงงานพลาสติกเถื่อน จ.สมุทรสาคร

(12 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งทีมตรวจสุดซอยลุยตรวจต่อเนื่อง นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ขยายผลเหตุเพลิงไหม้โกดังทลายเครือข่ายที่เคยพบเศษพลาสติกกว่า 6,900 ตัน พร้อมตรวจค้น 2 โรงงานที่มีความเชื่อมโยงกับโรงงานพลาสติกเถื่อน จ.สมุทรสาคร ที่ถูกสั่งปิด เมื่อวันที่ 1 ก.พ.68 ที่ผ่านมา

น.ส.ฐิติภัสร์กล่าวว่า ในที่เกิดเหตุเพลิงไหม้พบป้ายชื่อบริษัทที่ติดอยู่ คือ บริษัทเถิงฟา พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด ตั้งอยู่ที่ 288/6 หมู่ที่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายฟู่ซิน หลัว เป็นหนึ่งในกรรมการจากการขยายผลพบอีก 2 บริษัทที่มีความเชื่อมโยงกัน คือ 1) บริษัท ยูนิโบร เมทัล (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ที่ 288/6 หมู่ที่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายฟูควน ลัว และนายฟู่ซิน หลัว เป็นกรรมการ ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย 2) บริษัทเถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด ตั้งอยู่ที่ 288/12 หมู่ที่ 4 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีนายฟูควน ลัว เป็นกรรมการ ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากการตรวจค้นทั้ง 2 บริษัท พบเศษพลาสติกสายไฟนำเข้าจากต่างประเทศ บางส่วนมีลักษณะคล้ายกับเศษพลาสติกสายไฟในโกดังที่เกิดเหตุไฟไหม้ โดยนายฟูควน ลัว กรรมการบริษัท ยูนิโบร เมทัล (ไทยแลนด์) จำกัด รับสารภาพเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ยังตรวจพบขยะอิเล็กทรอนิกส์และแผ่น PCB ถูกบดย่อยกองอยู่และในถุง big bags เป็นจำนวนมากในพื้นที่ ซึ่งมีบริษัท บี เค รีไซเคิล จำกัด เป็นเจ้าของ ส่วนการตรวจค้นบริษัท เถิงต๋า ที่ตั้งอยู่ติดกัน พบมีการลักลอบประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนกกฎหมายไม่ปฏิบัติตามประกาศเรื่องสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมและส่งตัวนายฟูควน ลัว กรรมการบริษัท ยูนิโบร เมทัล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทเถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด และบริษัทเถิงฟา พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด ส่งตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปทส. พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้มีส่วนกระทำความผิดทั้งหมดอย่างถึงที่สุด

“หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้ ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการร่วมสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน

“เอกนัฏ” ล่องใต้ สุราษฎร์-สงขลา ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย

(18 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อติดตามการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะฯ ได้ลงตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมจักสานจากต้นกระจูดด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าหัตถกรรมคุณภาพ และได้รับมาตรฐานสินค้า OTOP ระดับประเทศ มีผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ ตะกร้า กระเป๋าจากกระจูด ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ ได้พัฒนารูปแบบของสินค้าหัตถกรรมให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามสมัยนิยม เช่น กระเป๋าเดินทางแบบมีล้อ กระเป๋าแฟชั่นแบบตัดเย็บ กระเป๋าเอกสาร หมอน แฟ้มเอกสาร ปกเมนูร้านอาหาร กล่องบรรจุภัณฑ์ 

แผ่นรองจาน เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 (ศภ.10) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาให้การสนับสนุน ด้านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเครื่องรีดเส้นกระจูดไปประยุกต์ใช้กับกิจการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แหล่งวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชกระจูด เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงสร้างเครือข่ายแหล่งวัตถุดิบในการรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 

แห่งที่ 2 ลงพื้นที่บริษัท ซีพีแรม จำกัด (สุราษฎร์ธานี) ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่อบสด ที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน แช่เยือกแข็งและแช่เย็น ผ่านกรรมวิธีเพื่อคงคุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหาร โดยส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ผ่านการควบคุม ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาคัดสรรสูตร และคัดเลือกส่วนผสม มีกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการยกระดับสถานประกอบการจนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประจำปี พ.ศ. 2567 และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอาหาร (สอห.) ในการพัฒนามาตรฐานโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน อย. ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคนิคการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ด้วย 

“พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยนับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่มีการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมัยนิยมเป็นที่สนใจของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ จนถึงผู้ประกอบการโรงงานก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้วัตถุดิบการผลิตจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนการใช้จ่ายในชุมชนรอบโรงงาน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 

‘เอกนัฏ’ ลุยตรวจเข้ม! จับสายไฟ-เหล็กเส้นไม่ได้มาตราฐาน ลั่น สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน

‘เอกนัฏ’ ลุยตรวจเข้ม! จับสายไฟ-เหล็กเส้นไม่ได้มาตราฐาน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท
ลั่นบังคับใช้กฎหมายให้สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าดีมีมาตรฐานให้กับประชาชน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นายสุตตะนนท์ โสวนิตย์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 2 สมอ. เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) เข้าตรวจร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่และโรงงานเหล็กร่วมทุนจีน โดยได้ยึดอายัดหลอดไฟ สายไฟและเหล็กเส้นตกเกรด มูลค่ารวมกว่า 49.2 ล้านบาท ใน 2 พื้นที่ 

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า ทีมชุดตรวจการสุดซอยได้เข้าตรวจร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัท นิว สตาร์ไลท์ เทค (ไทยแลนด์) จำกัด แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยระบุชื่อนายต้า ชิ่ง วู๋ เป็นกรรมการ ซึ่งบริษัทฯ เคยถูกดำเนินคดีและจับกุมเมื่อปี 2564 ได้ถูกยึดอายัดของกลางกว่า 11 ล้านบาท และทางคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีคำสั่งให้ทำลายของกลาง และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สมอ. ได้เข้าดำเนินการตามคำสั่ง กมอ. ปรากฏว่าของกลางทั้งหมดหายไป เจ้าหน้าที่จึงได้ลงบันทึกประจำวันและดำเนินคดี พร้อมขยายผลต่อโดยตรวจพบสินค้าไม่มี มอก. ล็อตใหม่มูลค่ากว่า 26.3 ล้านบาท เช่น หลอดไฟแอลอีดี โคมไฟ หลอดไฟขั้วเกลียว แหล่งจ่ายไฟสำหรับคอมพิวเตอร์ อะแดปเตอร์ สายไฟ และป้ายไฟ เป็นต้น จึงได้ยึดอายัดและดำเนินคดีข้อหาจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและนำของกลางมาเก็บรักษาไว้เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอีก

และได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องไปยังบริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน โดยมีบริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งทางบริษัท ชลบุรีฯ ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. 3 ฉบับ ได้แก่ เหล็กเส้นกลม มอก. เหล็กข้ออ้อย มอก. และเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งผลทดสอบเหล็กเส้นกลม ขนาด RB 9 ชั้นคุณภาพ SR24 จากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในรายการเครื่องหมายและฉลาก ระยะห่างระหว่างตัวนูน แม้ไม่ส่งผลต่อความปลอดภัย แต่ก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภคในการตรวจสอบ โดยได้ยึดอายัดเหล็กเส้นกลม ขนาด RB 9 ชั้นคุณภาพ SR24 รุ่นการผลิตเดือนมกราคม 2568 จำนวน 229,600 เส้น น้ำหนัก 1,148 ตัน มูลค่ากว่า 22.9 ล้านบาท และดำเนินคดีกับบริษัทฯ โทษฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งแจ้งให้แก้ไขกระบวนการผลิตภายในระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้นจะสั่งพักใช้ใบอนุญาต และสั่งให้บริษัทฯ เรียกคืนเหล็กที่จำหน่ายออกไปแล้วกลับคืนมา

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยทีมตรวจการสุดซอย พร้อมด้วย สอจ.ชลบุรี กรอ. จึงได้เข้าตรวจสอบโรงงานอีกครั้ง พบว่าโรงงานยังไม่ได้ปรับปรุงอีกทั้งมีการผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานอยู่ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงใช้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งให้ บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ให้โรงงานหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเสร็จ ภายใน 90 วัน นอกจากนี้จะมีการดำเนินคดีกับบริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด โทษฐานมีการตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกด้วย

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าดีมีมาตรฐานให้กับประชาชน โดยเฉพาะ “เครื่องใช้ไฟฟ้าและเหล็กเส้น” ถือเป็นสินค้าที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน หากไม่มีมาตรฐานอาจก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือ โครงสร้างบ้านเรือน ที่พักอาศัย สะพานถล่ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องมีการกำกับดูแลควบคุมคุณภาพของสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กเส้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. ต้องแสดงเครื่องหมาย มอก.รวมถึงคิวอาร์โค้ดบนสินค้า เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบนำเข้า-ผลิต และจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น “หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน "แจ้งอุต" https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘ลอรี่ พงศ์พล’ แจง!! การขนย้ายกากพิษ ‘วินโพรเสส’ เป็นผลงาน ‘รมว.เอกนัฏ’ พร้อมแบ่งปัน!! หาก ‘สส.ฝ่ายค้าน’ ต้องการเคลม แค่ให้เป็นประโยชน์กับปชช.

(24 ก.พ. 68) จากกรณีการอ้างถึงการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดีย ว่าเป็นผลงานของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ สส.ฝ่ายค้านในพื้นที่ ตามที่มีการกล่าวอ้างนั้น นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เพื่อคุมเข้มและติดตามการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียมหรืออลูมิเนียมดรอส ล็อตแรกทั้ง 7,000 ตัน ในทุกขั้นตอน 

โดยได้เริ่มขนย้ายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นำไปบำบัดกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการโดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้อำนาจทางกฎหมายตามอำนาจศาลเบิกเงินประกันของโรงงาน จำนวน 4 ล้านบาท มาดำเนินการขนย้ายอลูมิเนียมดรอส จำนวน 7,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันมีการขนย้ายไปแล้วกว่า 4,600 ตัน และมีแผนระยะยาว โดยจะดำเนินการของบกลาง จำนวน 40 ล้าน เพื่อขนย้ายกรดพิษอื่นๆ อีกกว่า 23,000 ตันออกจากพื้นที่ให้ครบถ้วน 

 "การแก้ไขมหากาพย์กากอุตสาหกรรม ที่วินโพรเสสที่ยืดเยื้อมายาวนานเป็นสิบปี ทำให้คลี่คลายในเวลาแค่ 5 เดือนแรก หลังจาก รมว.เอกนัฏ เข้ามารับช่วงตำแหน่ง ย่อมสะท้อนการขับเคลื่อนโดยภาครัฐที่เอาจริงเอาจัง ซึ่งประชาชนนั้นคงจะทราบดี ซึ่งไม่ว่า สส. ฝ่ายค้านในพื้นที่ ต้องการเคลมอ้างถึงการลงมาจัดการขนกากดังกล่าว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่มีปัญหา แค่ให้ผลลัพธ์เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด การบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์สามารถเข้ามาพบปะหารือกันได้ แต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมต่างๆ ควรนำเสนอข้อมูลบนพื้นฐานขั้นตอนอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดกระแสความไม่พอใจได้ 

ซึ่งหาก สส. ฝ่ายค้านในพื้นที่ท่านใด อยากมีส่วนร่วมในการทำงานในหลายๆจังหวัดที่กระทรวงอุตสาหกรรม ลงไปพังทุนสีเทา ปราบสินค้าไม่ได้มาตรฐานปราบโรงงานเถื่อน ก็สามารถแจ้งมากับ ทีมชุดตรวจการสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสมอ" นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เล็งขุดรากถอนโคนขนขยะอันตรายเข้าประเทศ เตรียมชงเคส รง.ไฟไหม้ สมุทรสาคร ให้ DSI รับช่วงจัดการต่อ

(25 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยตำรวจสอบสวนกลางและคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุโกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิลของบริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด มีนายฟูควน ลัว เป็นผู้เช่าอาคารโกดังต่อจากเจ้าของคนไทย ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เช่าและผู้ให้เช่ามีการกระทำความผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี อาทิ มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการลักลอบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบตั้งโรงงานในพื้นที่ขัดผังเมืองและมีการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกสายไฟเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาทำการคัดแยกโลหะมีค่าและบดบ่อยเป็นเม็ดพลาสติกก่อนที่จะทำการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. และความผิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งหมด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด และได้ทำการยึดอายัดของกลางประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้าและเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้ว ปริมาณกว่า 6,900 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร ผลักดัน ‘สมุทรสาครโมเดล’ ยกระดับมาตรการการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการอนุญาต โดยจะจัดให้มีคณะทำงานกลั่นกรองร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อร่วมกันให้ความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานคัดแยกหรือรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ เพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาครเพื่อร่วมกันเสริมกำลังให้กับชุดทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังการประกอบการที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการเฝ้าดูแลและบริหารจัดการของกลางที่ได้ทำการยึดอายัดเอาไว้ ควบคู่ไปกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เครื่องมือ ‘แจ้งอุต’ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาเผ้าระวังการประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้เตรียมหารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลเพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งจะต้องดำเนินการผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ในการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายและประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไร้มาตรฐานสินค้าไทย และยังนำออกจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที’ นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ ปิดเกมเร็ว ‘มหากาพย์ วิน โพรเสส’ หลังเรื้อรังกว่า 15 ปี เร่งขนย้ายสารพิษอลูมิเนียมดรอสเสร็จใน 46 วัน เซฟงบประมาณอื้อ

‘เอกนัฏ’ ชม ขรก. - เอกชน ร่วมใจขนย้ายอลูมิเนียมดรอส ‘วิน โพรเสส’ จบภารกิจใน 46 วัน ปิดจ็อบมหากาพย์เรื้อรังกว่า 15 ปี พร้อมวางแนวป้องกันรัดกุม ตัดตอนน้ำปนเปื้อนสารเคมีช่วงหน้าฝน ลั่นเดินหน้าสุดซอยเคลียร์ทุกพื้นที่-ปัญหา

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียม หรืออลูมิเนียมดรอส ที่ตรวจพบลักลอบกักเก็บสะสมในพื้นที่โรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ว่าภายหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งได้เร่งสะสางปัญหา บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลภายในระยะเวลา 5 เดือน ล่าสุดได้ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสที่เป็นกากของเสียอันตรายออกจากพื้นที่จนแล้วเสร็จ แม้เดิมทีจะติดปัญหาในส่วนตัวเลขค่าใช้จ่ายการบำบัดกำจัด รวมค่าขนส่ง ซึ่งสูงถึงประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตัน หรือต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างน้อย 70 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมแถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ขอเบิกเงินที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด วางไว้ต่อศาล จำนวน 4.94 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสราว 7,000 ตัน เป็นลำดับแรก อีกทั้งยังได้ผนึกกำลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านกิจกรรม ‘อุตสาหกรรมรวมใจ’ ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัด ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น

นายเอกนัฏ เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มปล่อยรถขนย้ายคันแรกออกจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โดยกำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมคุมเข้มการขนย้ายอย่างระมัดระวัง รัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในทุกขั้นตอน พร้อมเร่งรัดเดินรถขนย้ายเต็มกำลัง กระทั่งสามารถขนย้ายอลูมิเนียมดรอสทั้งหมดแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม-1 มีนาคม 2568 รวมระยะเวลาเพียง 46 วัน ด้วยรถขนย้าย 225 เที่ยว จำนวนกว่า 5,400 ตัน เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดการณ์ไว้ 60 วัน

‘กรณี วิน โพรเสส ถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานกว่า 15 ปี จนเรามาเร่งสะสาง และเห็นผลใน 5 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งก็ต้องชื่นชมและขอบคุณข้าราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจจนสามารถขนย้ายกากของเสียอันตราย บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ ที่สำคัญยังใช้งบประมาณในการขนย้ายและบำบัดกำจัดสุดคุ้มเพียง 3.09 ล้านบาท สามารถลดการใช้งบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 67 ล้านบาท’ นายเอกนัฏ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการรับมือช่วงฤดูฝน โดยบูรณาการความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองพะวา ในการบล็อกน้ำฝนเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำไม่ให้ไหลหลากผ่านพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารเคมี รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ซีลคันดินบ่อที่กักเก็บน้ำเสียปนเปื้อน ป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมรั่วไหลออกมา ตลอดจนสำรวจและแก้ไขจุดรั่วไหลที่ตรวจพบ ด้วยการนำหินมาเสริมความแข็งแรงแนวคันดิน และนำดินมากลบทับอุดจุดที่รั่วเพื่อเสริมแนวป้องกันการรั่วซึม พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ผมจะไม่หยุดแค่พื้นที่นี้ จะเดินหน้าเคลียร์ทุกพื้นที่ ทุกปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยจะนำทีมเฉพาะกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘ตรวจสุดซอย’ เฝ้าระวังการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากตรวจพบจะสั่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อปั้นภาคอุตสาหกรรมตามนโยบาย ‘สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย’ MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” นายเอกนัฏ ระบุ

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหาวิธีจัดการและผู้รับบำบัดกำจัดที่มีศักยภาพในการดำเนินการกับกากของเสียที่เหลือทั้งหมดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนให้น้อยที่สุด โดยจะใช้บทเรียนการทำงานจากโมเดลการจัดการกากของเสียตกค้างในพื้นที่กรณี บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี รวมถึงโกดัง อำเภอภาชี และบริษัท เอกอุทัย จำกัด ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเป็นต้นแบบการจัดการกากของเสียที่ตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งบำบัดกำจัดกากของเสียที่เหลือในพื้นที่บริษัทฯ ให้เร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบกลาง ปี 2568 จำนวน 40 ล้านบาท ที่จะใช้บำบัดของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ ประมาณ 4,000 ตัน โดยเฉพาะสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และถุงบิ๊กแบ็กที่อยู่นอกอาคารปริมาณ 2,600 ตัน รวมถึงวัตถุอันตรายในบ่อซีเมนต์อีกกว่า 1,400 ตัน ส่วนในปี 2569 อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบ EEC วงเงินงบประมาณ 459 ล้านบาท สำหรับบำบัดของเสียที่เหลือทั้งหมดอีกกว่า 24,300 ตัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาอุตสาหกรรม โรงงานเถื่อน โรงงานที่ทำให้เดือดร้อน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่แอปพลิเคชันไลน์ ‘แจ้งอุต’ ภายใต้ Traffy Fondue (https://landing.traffy.in.th/?key=gmyeYDBV) เปิดรับเรื่องทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน ‘เอกนัฏ’ เอาผิดทุนเทา - เร่งขจัดกากพิษ พร้อมเชื่อมั่นทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยเดินมาถูกทาง

(4 มี.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีมหากาพย์วินโพรเสส ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลงพื้นที่ไปดูการขนย้ายสารพิษอะลูมิเนียมดรอสว่า 

ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และการที่นายเอกนัฏ ได้ลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริงเอาจังและใส่ใจในความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ หลังจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้สามารถดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะติดขัดทั้งในเรื่องงบประมาณ บุคลากร และขั้นตอนต่าง ๆ

ทั้งนี้สิ่งที่ตนอยากขอให้นายเอกนัฏ ดำเนินการต่อ คือ ในเรื่องของมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดทั้งในส่วนของกากพิษและกลุ่มทุนเทาที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนของการปราบปราม นายเอกนัฏได้มีการตั้งทีมสุดซอยขึ้นมาดำเนินการตรวจเข้มโรงงานที่ทำผิดกฎหมายแล้ว จะเห็นได้จากข่าวที่มีการจับกุมโรงงานอุตสาหกรรมที่กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านมาตรการการป้องกัน ทราบว่าขณะนี้นายเอกนัฏ กำลังร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตนขอให้เร่งผ่านกฎหมายได้อย่างราบรื่นโดยเร็ว

“มั่นใจว่าทิศทางการทำงานของนายเอกนัฏ เดินมาถูกทางแล้ว จึงขอเป็นกำลังใจให้ และขอให้มุ่งมั่นเดินหน้าปราบปรามผู้กระทำผิดต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มทุนเทาที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องกากพิษอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันจัดเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องคนไทยอย่างมาก และขอย้ำว่าที่ผ่านมานายเอกนัฏ มีผลงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ทำงานไว และการที่ลงมาจัดการปัญหา ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ถูกแก้ไขได้เป็นอย่างดี” นายอัครเดช กล่าว

‘เอกนัฏ’ เผย ไทยนั่งประธานสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน หลังขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ “ปูนไฮดรอลิก” ลดโลกร้อน

(5 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดให้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นสินค้าควบคุม เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ที่ประชุมสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน (ASEAN Federation of Cement Manufacturers: AFCM) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประเทศไทย โดย ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย นั่งแท่นประธานสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน เป็นวาระ 2 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2568 -2570 แสดงถึงการยอมรับจากผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียน ให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการดำเนินงานที่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนสามารถผลักดันให้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เป็นปูนที่มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต ที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594-2567 เป็นสินค้าควบคุมตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

“มาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงจากมาตรฐาน ASTM ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นควบคุมที่คุณสมบัติและประสิทธิภาพ (Performance Based) เพื่อควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งาน โดยระบุเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งการใช้งานทั่วไป งานที่ต้องการแรงอัดต้นสูง งานที่ทนต่อการกัดกร่อนของซัลเฟต เหมาะสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่น้ำกร่อย รวมทั้งงานโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยจากประมาณการเบื้องต้นในการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 50 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ดังนั้น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้” ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่น ขออนุญาตผ่านระบบ e-license ของ สมอ. ที่ www.tisi.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘เอกนัฏ’ สั่ง 'ทีมสุดซอย' ฟัน!! 3 บริษัทจ้างขนกากอุตฯ หลังพบ ลักลอบทิ้งในไร่มันเมืองชลบุรี เกือบพันตัน

(6 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ส่งทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบและดำเนินคดีกลุ่มบริษัทและโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) ที่กระทำความผิดในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจากการติดตามและขยายผลรถบรรทุกขนกากอุตสาหกรรมของบริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด จ.ชลบุรี โดยก่อนหน้านี้ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีขนกากอุตสาหกรรมหลายชนิดจากหลายโรงงานนำไปทิ้งในไร่มันสำปะหลัง ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พร้อมยึดอายัดรถบรรทุกไว้ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านบึง ก่อนขยายผลไปยังโรงงานต้นกำเนิดกากอุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าทำเป็นขบวนการ กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งกวาดล้างดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

ด้านนางสาวฐิติภัสร์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สถานีตำรวจภูธรบ้านบึง จ.ชลบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ติดตามขยายผลจนสืบทราบถึงบริษัทและโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) 3 แห่ง ที่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทขนส่งให้นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในไร่มันสำปะหลัง จึงได้เข้าตรวจสอบบริษัททั้ง 3 แห่ง คือ 1) บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยว่าจ้าง บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จำนวน 72 ครั้ง รวมประมาณ 720 ตัน นำไปทิ้งในไร่มันสำปะหลังใน ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงได้ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมาย และทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สั่งให้ปรับปรุงและห้ามขนกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต 

2) บริษัท แฮนด์ดีแจ็ค อีควิปเมนท์ จำกัด ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยได้ว่าจ้าง บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จำนวน 18 ครั้ง รวมประมาณ 105 ตัน นำไปทิ้งที่ไร่มันสำปะหลังใน ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงได้ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมาย และทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งให้หยุดกิจการโรงงานชั่วคราว นอกจากนี้ยังได้ตรวจพบว่าไม่มีการทำระบบบำบัดน้ำเสีย จึงสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้อง 

3) บริษัท เทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อม จำกัด ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้ว่าจ้าง บริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ทิ้งกากอุตสาหกรรม จำนวน 16 ครั้ง รวมประมาณ 150 ตัน ทิ้งในไร่มันสำปะหลังใน ต.หนองอิรุณ เช่นกัน จึงได้ดำเนินคดีในข้อหาลักลอบทิ้งกากโดยผิดกฎหมาย และทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา สั่งให้ปรับปรุงและห้ามขนย้ายกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

“การขยายผลและเข้าตรวจสอบครั้งนี้มีการว่าจ้างบริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ให้นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งโดยผิดกฎหมาย จำนวนรวมกว่า 975 ตัน โดยรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้กำชับและสั่งการเร่งด่วนเพื่อขยายผลบริษัทและโรงงานที่ว่าจ้างบริษัท ฮิ้ว ทรานสปอร์ต จำกัด ขนกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในลักษณะเดียวกัน ให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน 'แจ้งอุต' https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top