Monday, 28 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

‘นิกิตา ครีลอฟ’ นักสู้ UFC ขอเปลี่ยนสัญชาติ จาก ‘ยูเครน’ เป็น ‘รัสเซีย’ จุดชนวนดราม่าระอุโลก MMA

(17 เม.ย. 68) นิกิตา ครีลอฟ (Nikita Krylov) นักสู้ MMA ชื่อดังชาวยูเครน ประกาศยินดีเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย พร้อมระบุว่าเขา “ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของรัสเซีย” ขึ้นชกในรายการ UFC 314 ซึ่งคำดังกล่าวกลายเป็นที่จุดชนวนความไม่พอใจและความโกรธเกรี้ยวในหมู่ชาวยูเครน และแฟนกีฬาทั่วโลกที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด

ครีลอฟ ซึ่งมีพื้นเพจากเมืองคราสนีย์ลุค ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และมีครอบครัวเชื้อสายรัสเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงมอสโกมานาน เขาเคยต่อสู้ภายใต้ธงชาติรัสเซียมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันจุดยืนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ในภาวะสงคราม

“เราคุยเรื่องนี้กับ UFC แม้กระทั่งสองงานก่อนที่ได้ถามเกี่ยวกับการเลือกเมืองคิสโลวอดสค์ รัสเซียเป็นสถานที่สำหรับการต่อสู้ของผม” ครีลอฟกล่าว “ผมอาศัยอยู่ที่นั่น 2-3 ปีแล้ว และคิดว่าตอนนี้ผมได้รับเกียรติในการเป็นตัวแทนของพวกเขา”

บนโซเชียลมีเดียของยูเครน การตัดสินใจของครีลอฟถูกมองว่าเป็น “การทรยศ” อย่างรุนแรง หลายคนโจมตีว่าเขาหันหลังให้กับชาติบ้านเกิดในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักจากการรุกรานของรัสเซีย บางคนถึงกับเรียกร้องให้ UFC พิจารณาถอดเขาออกจากการแข่งขัน

ครีลอฟมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยในอดีตเขาเคยแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลูฮันสค์ และกล่าวว่าเขายินดีรับหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ หากได้รับการรับรองในระดับสากล

สำหรับ ลูฮันสค์ (Luhansk) เป็นเมืองหลักในแคว้นลูฮันสค์ ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค ดอนบาส (Donbas) ซึ่งรวมถึงแคว้นลูฮันสค์และโดเนตสค์

หลังเหตุการณ์การปฏิวัติยูเครนปี 2014 (Euromaidan) และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในลูฮันสค์และโดเนตสค์ ได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลยูเครน ทำให้พวกเขาประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์” (Luhansk People's Republic – LPR) และแยกตัวจากยูเครน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ นิกิตา ครีลอฟ เป็นนักสู้ MMA วัย 33 ปี เจ้าของฉายา "The Miner" มีสถิติการชกอาชีพที่น่าประทับใจ โดยมีชัยชนะ 30 ครั้ง (ชนะน็อก 12 ครั้ง, ชนะซับมิชชัน 16 ครั้ง) และแพ้ 10 ครั้ง 

เขาเคยสร้างชื่อจากการเอาชนะนักสู้ชื่อดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟส์สัน และ ไรอัน สแปน ด้วยการน็อกเอาต์และซับมิชชันในยกแรก อย่างไรก็ตาม ในไฟต์ล่าสุดที่ UFC 314 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2025 ที่ไมอามี ครีลอฟพ่ายแพ้ให้กับ โดมินิค เรเยส (Dominick Reyes) ด้วยการน็อกเอาต์ในยกแรก หลังจากถูกหมัดซ้ายตรงของเรเยสส่งลงไปนอนบนพื้นเวที

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก UFC หรือองค์กร MMA อื่นๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสัญชาติของ นิกิตา ครีลอฟ จากยูเครนเป็นรัสเซีย เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “สัญชาติในพาสปอร์ต” แต่เป็นบทสะท้อนความซับซ้อนของกีฬาในโลกที่การเมืองและอุดมการณ์ไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป

ผบ.ตร. สั่งเด็ดขาดคดีรถ BMW ชนลุงป้าบาดเจ็บบนทางหลวง ให้ดำเนินคดีทุกข้อหาอย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นพฤติกรรมที่ขาดวุฒิภาวะ ขาดวินัยจราจร ขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น ให้ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ประสานกับตำรวจทางหลวงเร่งดำเนินการเด็ดขาด

วันนี้ (17 เม.ย.68) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏภาพคลิปลงในโซเชียล รถหรู BMW ปาดเบียดรถกระบะคันหนึ่งเป็นเหตุทำให้เสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ลุงกับป้าที่เป็นผู้ขับและผู้โดยสารภายในรถได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น 

ตำรวจทางหลวงได้รายงานเหตุเบื้องต้นทราบว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 08.32 น. บริเวณบนถนนกาญจนาภิเษก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วง กม.23+400 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงพื้นที่รับผิดชอบได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที แต่ขณะนั้นพบว่าเป็นเหตุอุบัติเหตุรถชนกันจำนวน 2 คัน เป็นรถกระบะ อีซูซุ สีดำ ทะเบียนลำปาง โดยมี นายประจักษ์ฯ อายุ 65 ปี เป็นผู้ขับขี่ และนางสาว สมศรีฯ อายุ 64 ปี เป็นผู้โดยสาร ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บ และรถเก๋ง BMW สีขาว ทะเบียนป้ายแดง โดยมี นายสมิทธิพัฒน์ฯ อายุ 28 ปี เป็นผู้ขับขี่ ตำรวจได้นำส่งผู้บาดเจ็บไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางปะกอกรังสิต 2 แล้วได้นำรถทั้งสองคันไปเก็บรักษาไว้ยังหน่วยสอบสวนตำรวจทางหลวงลำลูกกา เพื่อตรวจสภาพรถ พร้อมตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ นายสมิทธิพัฒน์ฯ ผู้ขับขี่รถ BMW ไม่พบปริมาณแอลกอฮอลล์ในกระแสเลือด ซึ่งนายสมิทธิพัฒน์ฯ ได้แจ้งว่าขับรถปาดหน้ากัน จึงสอบสวนปากคำไว้ 

ต่อมาวันนี้ตำรวจทางหลวงได้รับคลิปพยานหลักฐานเพิ่มเติมจากกล้องหน้ารถของประชาชน ทำให้ทราบว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเฉี่ยวชนแบบธรรมดา อาจะเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งตำรวจทางหลวงจะไม่ได้รับผิดชอบ จะรับเพียงคดีจราจรบนทางหลวงเท่านั้น ส่วนคดีอาญาทาง สภ.ลำลูกกา จะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้รับทราบรายงานแล้ว และได้ดูคลิปภาพในสื่อโซเชียลแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน ถือเป็นพฤติกรรมที่ขาดวุฒิภาวะ ขาดวินัยจราจร ขาดความสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีบุคคลทำพฤติกรรมการขับรถยนต์เช่นนี้บนถนน หากรถคันที่เสียหายมีเด็กเล็กอยู่ในรถจะเป็นอย่างไร แบบนี้อยู่ในสังคมยาก โดยการใช้รถใช้ถนนนั้น ผบ.ตร เคยพูดก่อนสงกรานต์แล้วว่า ขอให้ทุกคนมีสติและเอื้ออาทรในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน จะได้ไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นจนบานปลาย เป็นเรื่องใหญ่โต เรื่องนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้สังคมรับไม่ได้ ดังนั้น ต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง ผู้กระทำผิดนอกจากกระทำผิดแล้วยังไม่สำนึกผิด ยังแอบอ้างโอ้อวดไปทั่ว เช่นนี้ถือว่าเป็นผู้ไม่มีวุฒิภาวะ หรือจิตสำนึกที่ดี 

นอกจากนี้ ผบ.ตร. กล่าวว่า “แม้หากเป็นลูกชายแท้ๆ ถ้าทำผิดอะไร ก็ต้องรับผิด จะไม่มีช่วยเหลือ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ทำให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย มิใช่ทำตัวใหญ่กร่างอวดอ้างไปเรื่อยๆ เช่นนี้” 

ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุเกิดบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เบื้องต้นคดีนี้เป็นคดีจราจร ที่สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ต้องรับผิดชอบ ทำการสอบสวนก่อน และหากเป็นอาญาตำรวจพื้นที่ คือ สภ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จะรับผิดชอบ ซึ่ง ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำไปทางตำรวจทางหลวงและตำรวจพื้นที่ใน จ.ปทุมธานี แล้วว่าการดำเนินคดีต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา จะไม่มีการช่วยเหลือใครเด็ดขาดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของสังคม

ผบ.ตร.จวกพฤติกรรมชายซิ่ง BMW ชนกระบะ 'น่ารังเกียจ-ไร้วุฒิภาวะ' สั่งดำเนินคดีทุกข้อหา แม้เป็นลูกหลานนักการเมืองดังไม่มีละเว้น 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผย กรณีโลกโซเชียลแชร์คลิปเหตุการณ์รถยนต์ BMW ป้ายแดง ขับปาดหน้ากับรถกระบะ ก่อนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนขอบทางบนถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงทางออกรังสิต-นครนายก ส่งผลให้คนขับกระบะเป็นชายสูงอายุ ได้รับบาดเจ็บซี่โครงหัก ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู ขณะที่ผู้โดยสารหญิงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยผู้ขับ BMW มีรายงานว่าเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง

ผบ.ตร.กล่าวถึงกรณีนี้ โดยกล่าวว่า ได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อโซเชียลแล้ว และเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ขับรถ BMW เป็นสิ่งที่ “น่ารังเกียจ” และไม่สมควรเกิดขึ้นในสังคม “ผมเสียใจที่ยังมีคนขับรถแบบนี้บนถนน ถ้ารถคันที่เสียหายมีเด็กเล็กอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น? พฤติกรรมเช่นนี้อยู่ในสังคมยาก” ผบ.ตร. กล่าว

พร้อมย้ำว่า ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตนเคยฝากประชาชนให้มีสติและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในการใช้รถใช้ถนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ ต้องดำเนินคดีทุกข้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด 

ผบ.ตร. ยังกล่าวถึงผู้กระทำผิดว่า ไม่เพียงแต่ทำผิดกฎหมาย แต่ยังแสดงออกถึงความไร้จิตสำนึก โดยเฉพาะการอวดอ้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองชื่อดังในพื้นที่ เพื่อหวังให้ตนเองดูมีอิทธิพล ผู้กระทำผิดยังไม่สำนึกผิด ยังแอบอ้างโอ้อวดไปทั่ว แสดงให้เห็นว่าไม่มีวุฒิภาวะและจิตสำนึกที่ดีเลย ถ้าเป็นลูกชายผมเอง ทำผิดผมก็ไม่ช่วย ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่ใช่ทำตัวใหญ่กร่างอวดอ้างไปเรื่อย พร้อมย้ำว่าการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีชื่อเสียงหรือมีสายสัมพันธ์ทางการเมือง

ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานจากคลิปวิดีโอและคำให้การพยาน เพื่อเตรียมดำเนินคดีต่อผู้ขับ BMW รายนี้ในทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง โดยสังคมกำลังจับตามองว่า คดีนี้จะเป็นบททดสอบความยุติธรรมและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทยอีกครั้ง

 

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง

19 เมษายน พ.ศ. 2318 เสียงปืน 1 นัด ปลุกเปลวเพลิงแห่งเสรีภาพ จุดเริ่มต้น ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’ ณ เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด

สงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War) ถือเป็นเหตุการณ์พลิกประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การถือกำเนิดของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ การปะทะกันระหว่างกองกำลังอาณานิคมและกองทหารอังกฤษที่เมืองเล็กซิงตันและคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2318 (ค.ศ. 1775) เป็นเหตุการณ์จุดไฟแห่งความไม่พอใจที่สะสมมายาวนาน จนกลายเป็นเปลวไฟแห่งการปฏิวัติ

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ดินแดนอาณานิคมอเมริกาอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ อาณานิคมเหล่านี้มีความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเก็บภาษีและการจำกัดการค้าขาย อาทิ กฎหมายแสตมป์ (Stamp Act) และ กฎหมายชาน้ำชา (Tea Act) ซึ่งทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบโดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกกฎหมาย จนเกิดคำกล่าวว่า “No taxation without representation” หรือ “ไม่ยอมเสียภาษีหากไม่มีสิทธิ์ออกเสียง”

การเผชิญหน้า ณ เล็กซิงตัน (Lexington) เกิดขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 กองทหารอังกฤษประมาณ 700 นายได้รับคำสั่งให้เดินทางจากเมืองบอสตันไปยังคองคอร์ด เพื่อยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองกำลังอาณานิคม (เรียกว่า Minutemen) ซุกซ่อนไว้ อย่างไรก็ตาม ข่าวการเคลื่อนไหวของทหารอังกฤษรั่วไหล ทำให้ผู้นำฝ่ายอาณานิคมเช่น พอล รีเวียร์ (Paul Revere) และ วิลเลียม ดาวส์ (William Dawes) ออกเดินทางกลางดึกเพื่อเตือนชาวเมืองว่า ทหารอังกฤษกำลังมา! "The British are coming!"

เมื่อกองกำลังอังกฤษมาถึงเล็กซิงตัน พบว่ามี กองกำลังติดอาวุธอาสาสมัคร ของอาณานิคมอเมริกา ประมาณ 70 นาย ตั้งแนวรออยู่ในลานกว้างกลางเมือง แม้จะไม่ได้ตั้งใจเปิดฉากยิง แต่กระสุนปืนลึกลับหนึ่งนัด ได้จุดชนวนให้เกิดการยิงกันขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และถือเป็นการนองเลือดครั้งแรกของสงคราม

หลังจากนั้น ทหารอังกฤษได้เคลื่อนไปยังคองคอร์ดและเริ่มค้นหาอาวุธ และเมื่อกองทหารพยายามเผาสิ่งปลูกสร้าง ก็จุดความไม่พอใจในหมู่ชาวอาณานิคม ฝ่ายอาณานิคมซึ่งมีกำลังเสริมจากเมืองใกล้เคียงเริ่มตั้งแนวรบตอบโต้ การรบแบบกองโจร (Guerrilla Warfare) ถูกนำมาใช้ ขณะที่ทหารอังกฤษต้องล่าถอยกลับบอสตันภายใต้การลอบโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 250 คน

จากนั้นสงครามปะทุอย่างเต็มรูปแบบ ฝ่ายอาณานิคมเริ่มจัดตั้งกองทัพทวีป (Continental Army) โดยมี จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เป็นผู้บัญชาการ และการประกาศเจตจำนงแยกตัวจากอังกฤษก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

วอชิงตันมีความสามารถในการนำทัพอย่างยอดเยี่ยมในการวางแผนการรบ แม้ว่าเขาจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์การรบมากมาย แต่เขาก็สามารถรักษากำลังใจและสร้างความมุ่งมั่นให้กับทหารของเขาได้ พร้อมทั้งไดรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ จนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 

เหตุการณ์สู้รบกันในครั้งนั้นกินระยะเวลาสงครามปฏิวัติที่ยาวนานถึง 8 ปี จากปี 1775 และสิ้นสุดในปี 1783 เมื่ออังกฤษยอมรับความเป็นอิสระของสหรัฐอเมริกาภายใต้ สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris 1783) ส่งผลให้เกิดการตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐประชาธิปไตยแห่งแรกๆ ของโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการปฏิวัติในฝรั่งเศส (French Revolution), ละตินอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top